ตอนที่เจ็ด

ศีลสมรส

 

1601    “พันธสัญญาการสมรสที่ชายและหญิงกระทำต่อกันว่าจะใช้ชีวิตทั้งหมดร่วมกัน โดยธรรมชาติแล้วถูกจัดไว้เพื่อประโยชน์ของคู่สมรสและเพื่อให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนบุตรนั้น ในหมู่ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว ได้รับการยกย่องจากพระคริสตเจ้าขึ้นให้มีศักดิ์ศรีเป็น ศีลศักดิ์สิทธิ์”[93]

 

[93] CIC canon 1055, § 1.        

I.  การแต่งงานในแผนการณ์ของพระเจ้า

I.  การแต่งงานในแผนการณ์ของพระเจ้า

 1602   พระคัมภีร์เริ่มต้นจากการเนรมิตสร้างชายและหญิงตามภาพลักษณ์ให้มีความคล้ายคลึงกับพระเจ้า[94] และจบด้วยภาพนิมิตของ “งานวิวาหมงคลของลูกแกะ” (วว 19:9)[95] ตั้งแต่ต้นจนจบ พระคัมภีร์กล่าวถึงการแต่งงานและธรรมล้ำลึก การแต่งตั้ง และความหมายที่พระเจ้าทรงให้แก่สถาบันนี้ กล่าวถึงบ่อเกิดและจุดหมาย และวิธีการต่างๆ เพื่อบรรลุถึงจุดหมายนี้ในช่วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น กล่าวถึงความยากลำบากต่างๆ ที่เกิดมาจากบาปและการรื้อฟื้น “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 คร 7:39) ในพันธสัญญาใหม่ของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร[96]


การสมรสในแผนการเนรมิตสร้าง

 1603   “สังคมการดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิดด้วยความรักฉันสามีภรรยาได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมีกฎเกณฑ์เฉพาะของตน พระเจ้าเองทรงเป็นผู้เนรมิตสร้างการสมรส”[97] การเรียกให้มาสมรสกันนั้นมีจารึกอยู่แล้วในธรรมชาติของชายและหญิงตามที่พระผู้เนรมิตสร้างทรงกำหนดไว้ การสมรสจึงไม่เป็นเพียงสถาบันของมนุษย์เท่านั้น แม้ว่าตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมาการสมรสได้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยในวัฒนธรรมต่างๆ ในโครงสร้างทางสังคมและท่าทีด้านจิตใจ ความแตกต่างเหล่านี้ต้องไม่ทำให้เราลืมโครงสร้างถาวรทั่วไปของการสมรส แม้ว่าศักดิ์ศรีของสถาบันนี้อาจไม่เด่นชัดเช่นเดียวกันเสมอไปทั่วทุกแห่ง[98] ถึงกระนั้นในทุกวัฒนธรรมก็ยังคงมีความรู้สึกอย่างหนึ่งถึงความยิ่งใหญ่ของความสัมพันธ์ของการสมรส “มาตรการความเป็นอยู่ของบุคคลและสังคมมนุษย์หรือคริสตชนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างดีของสามีภรรยา”[99]

 1604  พระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างมนุษย์จากความรัก ยังทรงเรียกเขาให้มีความรักซึ่งเป็นการเรียกพื้นฐานและฝังลึกอยู่ในมนุษย์ทุกคน พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์เหมือนกับพระองค์[100] ผู้ “ทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8,16) เมื่อพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิงแล้ว ความรักระหว่างกันของเขาจึงเป็นภาพลักษณ์ของความรักไม่มีเงื่อนไขและไม่มีวันเหือดแห้งที่พระเจ้าทรงรักมนุษย์ นี่จึงเป็นสิ่งที่ดี และดีมากด้วย เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า[101] และพระเจ้าทรงกำหนดให้ความรักนี้ที่ทรงอวยพระพรนี้ เขาทั้งสองจะได้ร่วมกันรักษาไว้และทำให้บังเกิดผลในการเนรมิตสร้าง “พระเจ้าทรงอวยพรเขาทั้งสองคนและตรัสว่า ‘จงมีลูกมากและทวีขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงปกครองแผ่นดิน’” (ปฐก 1:28)

 1605  พระคัมภีร์ยืนยันว่าชายและหญิงถูกเนรมิตสร้างมาเพื่อกันและกัน “มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย” (ปฐก 2:18) หญิงซึ่งเป็น “เนื้อจากเนื้อ” ของชาย[102] ซึ่งหมายความว่า ‘เท่ากับเขา อยู่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเขา’ นั้น พระเจ้าจึงประทานให้เป็น “ผู้ช่วย”[103] ของเขา และดังนี้จึงเป็นผู้แทนพระเจ้าผู้ทรงเป็นความช่วยเหลือสำหรับเรา[104] “เพราะฉะนั้น ชายจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันกับภรรยา และทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐก 2:24) องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงชี้ให้เห็นว่าข้อความนี้หมายความว่าเอกภาพของทั้งสองชีวิตไม่มีวันยกเลิกได้เมื่อทรงเตือนให้ระลึกว่าพระประสงค์ของพระผู้เนรมิตสร้างนี้มีมาตั้งแต่ “เมื่อแรกเริ่ม” แล้ว[105] “เขาจึงไม่เป็นสองอีก่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน” (มธ 19:6)


การสมรสหลังจากที่มนุษย์ได้ทำบาปแล้ว

 1606   มนุษย์ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ความชั่วที่อยู่รอบตัวและในตนเอง ประสบการณ์นี้รู้สึกได้ในความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงด้วย ความเห็นไม่ตรงกัน ความคิดจะมีอำนาจเหนือผู้อื่น ความไม่ซื่อสัตย์ ความอิจฉาริษยาและความเป็นอริกันคอยคุกคามความเป็นหนึ่งเดียวของเขาทั้งสองอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ่งเหล่านี้อาจนำไปถึงความเกลียดชังและการแตกแยกกันได้ด้วย ความสับสนเช่นนี้อาจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากหรือน้อย และอาจเอาชนะได้มากหรือน้อยตามวัฒนธรรม อายุ บุคลิกของแต่ละคน แต่ก็ดูเหมือนจะมีลักษณะเป็น  สากลจริงๆ

 1607   ตามความเชื่อ ความสับสนนี้ที่เรารู้สึกได้ด้วยความทุกข์ มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และจากธรรมชาติของความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองคน แต่มาจากบาป บาปประการแรก ซึ่งเป็นการแยกจากพระเจ้า ก็มีการแตกแยกความสัมพันธ์ดั้งเดิมของชายและหญิงเป็นดังผลตามมาประการแรกด้วย ความสัมพันธ์ที่ทั้งสองคนมีต่อกันถูกบิดเบือนเป็นการกล่าวโทษกัน[106] ความดึงดูดต่อกันซึ่งเป็นของประทานจากพระผู้เนรมิตสร้างโดยเฉพาะ[107] ก็เปลี่ยนแปลงเป็นความสัมพันธ์ที่จะแสดงอำนาจเป็นนายและความใคร่[108] การเรียกชายและหญิงมาให้มีลูกหลานมากมายเพื่อปกครองแผ่นดิน[109] ก็มีความทุกข์ยากเพิ่มเข้ามาในการคลอดบุตรและในการทำงานเพื่อจะได้มีอาหารเลี้ยงชีวิต[110]

 1608  ถึงกระนั้น ระเบียบของสิ่งสร้างก็ยังคงอยู่ แม้ว่าได้สับสนไปอย่างร้ายแรง เพื่อจะบำบัดรักษาบาดแผลของบาป ชายและหญิงต้องการความช่วยเหลือจากพระหรรษทานที่พระเจ้าไม่เคยทรงปฏิเสธแก่มนุษย์เลย ในพระกรุณาไร้ขอบเขตที่ทรงมี[111] หากไม่มีความช่วยเหลือเช่นนี้ ชายและหญิงก็ไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ชีวิตร่วมกัน ตามที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเขาไว้ให้มี “ตั้งแต่แรกเริ่ม”ได้


การสมรสภายใต้การอบรมสั่งสอนของธรรมบัญญัติในพันธสัญญาเดิม

 1609  โดยที่ทรงพระกรุณา พระเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งมนุษย์ที่ทำบาปเลย โทษที่สืบเนื่องมาจากบาป เช่น ความทุกข์ของการคลอดบุตร[112] การทำงาน “ด้วยหยาดเหงื่อบนใบหน้า” (ปฐก 3:19) ยังเป็นการเยียวยาที่ทำให้ผลร้ายของบาปลดน้อยลง หลังจากที่มนุษย์ตกในบาปแล้ว การสมรสช่วยให้มนุษย์เอาชนะการเก็บตัว “ความเห็นแก่ตัว”ที่รักแต่ตนเอง การแสวงหาความสุขส่วนตัว แล้วเปิดตนให้แก่ผู้อื่น มีความช่วยเหลือกัน มอบตนเองแก่กันได้

 1610   มโนธรรมด้านศีลธรรมเกี่ยวกับการสมรสซึ่งมีสามีภรรยาเพียงคนเดียวที่แยกจากกันไม่ได้ค่อยๆเพิ่มขึ้นในพันธสัญญาเดิมเป็นดังการอบรมสั่งสอน แม้การที่บรรดาบรรพบุรุษและกษัตริย์มีภรรยาหลายคนยังไม่ถูกประณามโดยตรง ถึงกระนั้นธรรมบัญญัติที่พระเจ้าทรงมอบแก่โมเสสก็มีแนวโน้มที่จะปกป้องสตรีจากการที่บุรุษแสดงอำนาจทำตัวเป็นนายตามใจชอบ แม้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกการทำเช่นนี้ว่าเป็นร่องรอย “ใจดื้อแข็งกระด้าง” ของบุรุษ ซึ่งทำให้โมเสสอนุญาตให้สตรีหย่าร้างได้[113]

 1611   เมื่อบรรดาประกาศกพิจารณาเห็นพันธสัญญาของพระเจ้ากับอิสราเอลในภาพของความรักซื่อสัตย์ของสามีภรรยาที่ไม่ยอมให้มีมือที่สามเข้ามาแทรกเลยนั้น[114] ท่านก็เตรียมมโนธรรมของประชากรที่ทรงเลือกสรรให้เข้าใจถึงความลึกล้ำแห่งเอกภาพและความแตกแยกไม่ได้ของการสมรส[115] เรื่องราวน่าประทับใจในหนังสือนางรูธและโทบิตยังแสดงให้เห็นความหมายลึกซึ้งของการสมรส ความซื่อสัตย์และอ่อนโยนระหว่างสามีภรรยา ธรรมประเพณีในหนังสือเพลงซาโลมอนแลเห็นการแสดงออกอย่างพิเศษของความรักประสามนุษย์ในฐานะที่ความรักนี้สะท้อนให้เห็นความรักของพระเจ้า ความรักที่ “แข็งแรงเหมือนความตาย” และที่ “น้ำมากมายไม่อาจดับได้” (พซม 8:6-7)


การสมรสในองค์พระผู้เป็นเจ้า

 1612   พันธสัญญาการสมรสระหว่างพระเจ้ากับประชากรอิสราเอลของพระองค์ได้เตรียมพันธสัญญานิรันดรที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และทรงมอบชีวิตของพระองค์ ได้ทรงรับมนุษยชาติทั้งมวลที่ได้รับการไถ่กู้จากพระองค์แล้วเข้ามาร่วมสนิทกับพระองค์[116] และดังนี้จึงเป็นการเตรียม “งานวิวาหมงคลของลูกแกะ”[117]

 1613    เมื่อพระเยซูเจ้ากำลังจะทรงเริ่มเทศนาสั่งสอนประชาชน ได้ทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรกของพระองค์ – ตามการวอนขอของพระมารดา - ในงานเลี้ยงฉลองงานสมรสครั้งหนึ่ง[118] พระศาสนจักรให้ความสำคัญมากแก่การที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในงานวิวาหมงคลที่หมู่บ้านคานา พระศาสนจักรเห็นว่าเหตุการณ์ที่นั่นเป็นการยืนยันถึงความดีของการสมรสและงานสมรสที่นั่นยังจะเป็นเครื่องหมายทรงประสิทธิภาพถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า
อีกด้วย

 1614   เมื่อทรงเทศน์สอน พระเยซูทรงสอนอย่างชัดเจนถึงความหมายดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงตามที่พระผู้สร้างทรงประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่ม การอนุญาตที่โมเสสยอมให้หย่าร้างจากภรรยาของตนได้นั้นเป็นการยอมอนุโลมตามความดื้อกระด้างของจิตใจ[119] ความสัมพันธ์การสมรสของชายและหญิงจึงลบล้างไม่ได้ พระเจ้าเองทรงกำหนดไว้ ดังนั้น “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย” (มธ 19:6)

 1615   การกล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่าพันธะการสมรสไม่มีวันจะลบล้างได้นั้นอาจทำให้หลายคนมีความข้องใจและเห็นว่าการเรียกร้องเช่นนี้แทบจะปฏิบัติไม่ได้[120] ถึงกระนั้นพระเยซูเจ้าก็มิได้ทรงกำหนดให้คู่สมรสต้องแบกภาระหนักเกินกำลังจนแบกไม่ไหว[121] หนักกว่าธรรมบัญญัติของโมเสส  พระองค์เสด็จมาเพื่อทรงรื้อฟื้นระเบียบของการเนรมิตสร้างตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ถูกบาปรบกวน พระองค์จึงประทานกำลังและพระหรรษทานเพื่อดำเนินชีวิตการสมรสตามมาตรการใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า สามีภรรยาที่ดำเนินชีวิตตามพระคริสตเจ้า สละตนเอง แบกไม้กางเขนของตน[122] จะสามารถ “เข้าใจ”[123] ความหมายดั้งเดิมของการสมรสและดำเนินชีวิตตามความหมายนี้ได้อาศัยความช่วยเหลือของพระคริสตเจ้า พระหรรษทานของการสมรสแบบคริสตชนนี้เป็นผลจากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของชีวิตคริสตชนทั้งหมด

 1616    อัครสาวกเปาโลก็กล่าวให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วยว่า “สามีจงรักภรรยาดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักรและทรงพลีพระองค์เพื่อพระศาสนจักร ทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 5:25-26) แล้วยังเสริมทันทีว่า “‘เพราะเหตุนี้ ชายจะละบิดามารดาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน’ ธรรมล้ำลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร” (อฟ 5:31-32)

 1617   ชีวิตทั้งหมดของคริสตชนเป็นเครื่องหมายความรักฉันท์สามีภรรยาของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ตั้งแต่ศีลล้างบาป ซึ่งเป็นการเข้ามาอยู่ในประชากรของพระเจ้า ก็เป็นพระธรรมล้ำลึกการสมรสแล้ว เป็นเสมือนการใช้น้ำชำระในการสมรส[124]ที่ทำกันก่อนการเลี้ยงในงาน ได้แก่ศีลมหาสนิท การสมรสแบบคริสตชนจึงเป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผล เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร เพราะหมายถึงพันธสัญญานี้และประทาน
พระหรรษทานให้ด้วย การสมรสระหว่างผู้รับศีลล้างบาปแล้วจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่อย่างแท้จริง[125]


การเป็นพรหมจารีเพื่อพระอาณาจักร

 1618   พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชนทั้งหมด ความสัมพันธ์กับพระองค์จึงมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งหมดด้านครอบครัวหรือสังคม[126] นับตั้งแต่สมัยแรกของพระศาสนจักรแล้ว มีชายและหญิงหลายคนที่ได้สละผลดียิ่งใหญ่ของการสมรสเพื่อติดตามลูกแกะไปทุกแห่งที่พระองค์เสด็จ[127] เพื่อจะได้สาละวนในการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า หาวิธีทำให้พระองค์พอพระทัย[128] เพื่อออกไปพบเจ้าบ่าวเมื่อพระองค์เสด็จมา[129] พระคริสตเจ้าทรงเรียกบางคนให้ตามเสด็จพระองค์ในชีวิตชนิดที่พระองค์เองทรงเป็นแบบอย่าง “บางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด” (มธ 19:12)

 1619   การถือพรหมจรรย์เพื่ออาณาจักรสวรรค์เป็นการพัฒนาพระหรรษทานของศีลล้างบาป เป็นเครื่องหมายชัดเจนถึงความยิ่งใหญของพันธะกับพระคริสตเจ้าและการรอคอยอย่างกระตือรือร้นถึงการเสด็จกลับมาของพระองค์ เป็นเครื่องหมายที่ชวนให้ระลึกด้วยว่าการสมรสเป็นความเป็นจริงของโลกปัจจุบันที่กำลังผ่านไป[130]

 1620   ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คือศีลสมรสและการถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักรพระเจ้า พระองค์ประทานความหมายแก่ทั้งสองสิ่งนี้และประทานพระหรรษทานที่จำเป็นเพื่อดำเนินชีวิตในสภาพดังกล่าวตามพระประสงค์ของพระองค์[131] คุณค่าของการถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักร[132] และความหมายแบบคริสตชนของการสมรสนั้นแยกกันไม่ได้และเกื้อกูลกัน “ใครที่ประณามการสมรส เขาก็ตีค่าพรหมจรรย์น้อยลงด้วย ใครที่ยกย่องการสมรส เขาก็ทำให้การถือพรหมจรรย์เป็นที่น่านับถือยิ่งขึ้นด้วย เพราะเมื่อสิ่งหนึ่งดูเหมือนว่าดีเมื่อเทียบกับสิ่งที่เลวกว่า สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ว่าดีมากนัก แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นว่าดีกว่าสิ่งใดๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีเลิศ”[133]

 

[94] เทียบ ปฐก 1:26-27.

[95] เทียบ วว 19:7.

[96] เทียบ อฟ 5:31-32.          

[97] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1067.

[98] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 47: AAS 58 (1966) 1067.

[99] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 47: AAS 58 (1966) 1067.

[100] เทียบ ปฐก 1:27.            

[101] เทียบ ปฐก 1:31.            

[102] เทียบ ปฐก 2:23.           

[103] เทียบ ปฐก 2:18.           

[104] เทียบ สดด 121:2.          

[105] เทียบ มธ 19:4.             

[106] เทียบ ปฐก 3:12.           

[107] เทียบ ปฐก 2:22.           

[108] เทียบ ปฐก 3:16.           

[109] เทียบ ปฐก 1:28.           

[110] เทียบ ปฐก 3:16-19.         

[111] เทียบ ปฐก 3:21.

[112] เทียบ ปฐก 3:16.            

[113] เทียบ มธ 19:8; ฉธบ 24:1.   

[114] เทียบ ฮชย บทที่ 1-3; อสย บทที่ 54; 62; ยรม บทที่ 2-3; 31; อสค บทที่ 16; 23.     

[115] เทียบ มลค 2 :13-17.        

[116] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.

[117] เทียบ วว 19:7 และ 9.

[118] เทียบ ยน 2:1-11.            

[119] เทียบ มธ 19:8.             

[120] เทียบ มธ 19:10.            

[121] เทียบ มธ 11:29-30.         

[122] เทียบ มก 8:34.            

[123] เทียบ มธ 19:11.            

[124] เทียบ อฟ 5:26-27.         

[125] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 24a, Doctrina de sacramento Matrimonii: DS 1800; CIC canon 1055, § 1.           

[126] เทียบ ลก 14:26; มก 10:28-31.

[127] เทียบ วว 14:4.              

[128] เทียบ 1 คร 7:32.           

[129] เทียบ มธ 25:6.             

[130] เทียบ มก 12:25; 1 คร 7:31. 

[131] เทียบ มธ 19:3-12.          

[132] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42: AAS 57 (1965) 48; Id., Decr. Perfectae caritatis, 12: AAS 58 (1966) 707; Id., Decr. Optatam totius, 10: AAS 58 (1966) 720-721.           

[133] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De virginitate, 10, 1: SC 125, 122 (PG 48, 540); cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 16: AAS 74 (1982) 98.            

II.  การประกอบพิธีศีลสมรส

II.  การประกอบพิธีศีลสมรส

 1621   ในจารีตละติน การประกอบพิธีศีลสมรสระหว่างผู้มีความเชื่อคาทอลิกสองคนส่วนใหญ่มักมีขึ้นภายในพิธีบูชามิสซาเนื่องจากศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกศีลมีความสัมพันธ์กับพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า[134] ในพิธีบูชาขอบพระคุณมีการระลึกถึงพันธสัญญาใหม่ ในพันธสัญญานี้ พระคริสตเจ้าทรงสร้างความสัมพันธ์ถาวรกับพระศาสนจักร เจ้าสาวที่ทรงรักและมอบพระองค์ให้[135] ดังนั้น คู่สมรสจึงต้องประทับตราการแสดงความสมัครใจที่จะมอบชีวิตของตนแก่กัน โดยรวมความสมัครใจนี้กับการที่พระคริสตเจ้าทรงทำให้การถวายพระองค์เพื่อพระศาสนจักรนี้เป็นปัจจุบันในพิธีบูชาขอบพระคุณ และรับศีลมหาสนิทเพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ร่วม “เป็นกายเดียวกัน” ในพระคริสตเจ้า[136]

 1622   “ในฐานะกิจการศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้รับ การประกอบพิธีสมรส –ซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ – จึงจำเป็นต้องมีผลบังคับตามกฎหมาย มีศักดิ์ศรีและมีประสิทธิผล”[137] ดังนั้น ผู้ที่กำลังจะเป็นคู่สมรสจึงควรเตรียมตนเพื่อประกอบพิธีศีลสมรสโดยรับศีลอภัยบาป

 1623    ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรละตินเข้าใจว่าคู่สมรส ในฐานะศาสนบริกรพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ประกอบพิธีศีลสมรสแก่กันเมื่อแสดงความสมัครของตนต่อหน้า
พระศาสนจักร ส่วนในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรจารีตตะวันออก พระสงฆ์ – พระสังฆราชหรือพระสงฆ์ – เป็นพยานถึงการแสดงความสมัครใจที่คู่สมรสแสดงให้เห็น[138] แต่การอวยพรจากพระสงฆ์หรือพระสังฆราชก็จำเป็นด้วยเพื่อให้พิธีมีผลใช้บังคับ[139]

 1624  พิธีกรรมต่างๆ มีบทภาวนาอวยพรและอัญเชิญพระจิตเจ้าหลายบทเพื่อวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้าและพระพรสำหรับผู้ที่เพิ่งเป็นสามีภรรยา โดยเฉพาะสำหรับเจ้าสาว ในบทอัญเชิญพระจิตเจ้าของศีลนี้ คู่สามีภรรยารับพระจิตเจ้าเป็นเสมือนการมีส่วนร่วมความรักของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร[140] พระจิตเจ้าทรงเป็นตราประทับพันธสัญญาของคู่สมรส เป็นบ่อเกิดไม่มีวันเหือดแห้งแห่งความรัก เป็นพลังที่ช่วยรื้อฟื้นความซื่อสัตย์ของเขาทั้งสอง

 

[134] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 61: AAS 56 (1964) 116-117.          

[135] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 9.  

[136] เทียบ 1 คร 10:17.           

[137] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 67: AAS 74 (1982) 162.        

[138] Cf CCEO canon 817.        

[139] Cf CCEO canon 828.       

[140] เทียบ อฟ 5:32.            

III.  การแสดงความสมัครใจของคู่สมรส

III.  การแสดงความสมัครใจของคู่สมรส

 1625  ผู้มีบทบาทสำคัญในพันธสัญญาการสมรสคือชายและหญิงที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว มีอิสระที่จะสมรสด้วยกัน และแสดงความสมัครใจของตนออกมาอย่างอิสระเสรี “มีอิสระ” หมายความว่า
          - ไม่ถูกบังคับ 
          - ไม่มีข้อขัดขวางตามกฎธรรมชาติและตามกฎหมายของพระศาสนจักร

 1626  พระศาสนจักรถือว่าการแลกเปลี่ยนความสมัครใจระหว่างคู่สมรสเป็นองค์ประกอบจำเป็น “ที่ทำให้เกิดการสมรส”[141] ถ้าไม่มีการแสดงความสมัครใจก็ไม่มีการสมรส

 1627    การแสดงความสมัครใจอยู่ที่ “กิจการแบบมนุษย์ (actus humanus) ที่คู่สมรสมอบและรับตนเองระหว่างกัน”[142] “ผมรับคุณเป็นภรรยา....” “ดิฉันรับคุณเป็นสามี....”[143] การแสดงความสมัครใจนี้ที่รวมคู่สมรสไว้ด้วยกันบรรลุถึงความสำเร็จสมบูรณ์ในการที่ทั้งสองคนร่วม “เป็นเนื้อเดียวกัน”[144]

 1628  การแสดงความสมัครใจต้องเป็นกิจการที่แสดงเจตนาของคู่สมรสแต่ละคนโดยปราศจากการถูกบังคับหรือความกลัวอย่างหนักเพราะถูกข่มขู่จากภายนอก[145] ไม่มีอำนาจใดของมนุษย์จะมาแทนการแสดงความสมัครใจนี้ได้[146] ถ้าขาดอิสรภาพนี้ การสมรสย่อมเป็นโมฆะ

 1629     เพราะเหตุผลนี้ (หรือเพราะเหตุผลอื่นที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ[147]) พระศาสนจักร หลังจากที่ศาลพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเงื่อนไขต่างๆ แล้ว จึงอาจประกาศว่า “การสมรสเป็นโมฆะ” ได้ ซึ่งหมายความว่าการสมรสนั้นไม่เคยมีอยู่เลย ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาจึงมีอิสระที่จะแต่งงานได้ แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากความสัมพันธ์ที่เคยมีก่อนหน้านั้น[148]

 1630    พระสงฆ์ (หรือสังฆานุกร) ที่เป็นประธานในพิธีสมรสเป็นผู้รับการแสดงความสมัครใจของคู่สมรสในนามของพระศาสนจักรและประทานพรของพระศาสนจักรแก่เขา การที่ศาสนบริกรของพระศาสนจักร (และพยาน) อยู่ที่นั่นแสดงว่าพิธีสมรสเป็นกิจกรรมแท้จริงของพระศาสนจักร

 1631   เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรโดยปกติจึงขอร้องจากบรรดาผู้มีความเชื่อของตนให้ใช้รูปแบบของพระศาสนจักรเพื่อประกอบพิธีสมรส[149] มีเหตุผลหลายประการร่วมกันเพื่ออธิบายการกำหนดเช่นนี้

         - การสมรสที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นกิจกรรมด้านพิธีกรรม ดังนั้นจึงควรประกอบพิธีนี้ในพิธีกรรมทางการของพระศาสนจักร

         - การสมรสทำให้เกิดมีลำดับขั้น ของพระศาสนจักร ทำให้เกิดทั้งข้อบังคับในพระศาสนจักรระหว่างสามีภรรยาและเกี่ยวข้องกับบุตรด้วย

         - เนื่องจากการสมรสเป็นสถานภาพชีวิตในพระศาสนจักร จึงจำเป็นต้องมีความแน่ใจเกี่ยวกับการสมรสด้วย (ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดให้มีพยาน)

         - ลักษณะการแสดงความสมัครใจอย่างเปิดเผยเป็นทางการเป็นการปกป้องการแสดงความสมัครใจนี้หลังจากที่ได้แสดงออกแล้ว และช่วยให้คู่สมรสมีความซื่อสัตย์ต่อการแสดงความสมัครใจนี้ด้วย

 1632 เพื่อให้การแสดงความสมัครใจของคู่สมรสเป็นการกระทำโดยอิสระและมีความรับผิดชอบ และเพื่อให้พันธสัญญาการสมรสมีรากฐานอย่างมั่นคงแบบมนุษย์และคริสตชน การเตรียมตัวเพื่อการสมรสจึงมีความสำคัญยิ่ง

         - แบบฉบับและการสั่งสอนที่ได้รับมาจากบิดามารดาและครอบครัวจึงเป็นวิธีการสำคัญของการเตรียมตัวนี้

           - บทบาทของผู้อภิบาลและชุมชนคริสตชนในฐานะที่เป็น “ครอบครัวของพระเจ้า” จึงมีความจำเป็นเพื่อจะมอบคุณค่าแบบมนุษย์และคริสตชนของการสมรสและครอบครัวแก่คู่สมรส[150] ยิ่งกว่านั้นในสมัยของเรา เยาวชนจำนวนมากรู้จากประสบการณ์ของครอบครัวแตกแยก ซึ่งไม่อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างเพียงพออีกต่อไป

           “บรรดาเยาวชนควรได้รับความรู้อย่างเหมาะสมและทันเวลาในเรื่องศักดิ์ศรีของความรักฉันสามีภรรยา เรื่องหน้าที่และการงาน โดยเฉพาะภายในแวดวงครอบครัวเอง เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของความบริสุทธิ์ และเมื่อถึงอายุที่เหมาะสม เขาจะได้ผ่านจากการเป็นคู่หมั้นอย่างมีเกียรติไปสู่พิธีสมรสได้”[151]


การสมรสของคริสตชนต่างนิกาย และการสมรสของคริสตชนคาทอลิกกับผู้นับถือศาสนาอื่น

(mixed marriages and disparity of cult)

 1633     ในท้องที่หลายแห่ง อาจมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยใช้ได้ที่คริสตชนคาทอลิกสมรสกับผู้รับศีลล้างบาปที่มิใช่คาทอลิก (mixed marriage) สถานการณ์นี้จึงเรียกร้องความเอาใจใส่เป็นพิเศษของคู่สมรสและผู้อภิบาล กรณีของการสมรสของคริสตชนคาทอลิกกับคนต่างศาสนายิ่งเรียกร้องให้มีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

 1634    การที่คู่สมรสเป็นคริสตชนต่างนิกายกันไม่ใช่อุปสรรคที่เอาชนะไม่ได้สำหรับการสมรส เพราะเขาทั้งสองคนอาจนำสิ่งที่แต่ละคนรับมาจากชุมชนของตนมารวมกันและเรียนรู้ร่วมกันว่าแต่ละคนอาจดำเนินชีวิตในความซื่อสัตย์ของตนต่อพระคริสตเจ้าได้อย่างไร แต่เราไม่อาจมองข้ามความยากลำบากของการสมรสระหว่างคริสตชนต่างนิกายได้ ความยากลำบากเช่นนี้เกิดขึ้นจากความจริงที่ว่า เรายังไม่อาจเอาชนะความแตกแยกระหว่างคริสตชนต่างนิกายได้ทั้งหมด คู่สมรสจึงอยู่ในอันตรายที่จะต้องประสบกับความยากลำบากหนักยิ่งขึ้น การแต่งงานระหว่างคริสตชนกับคนต่างศาสนาอาจนำความยากลำบากหนักยิ่งขึ้นมาให้ได้ ความแตกต่างกันเกี่ยวกับความเชื่อ ความเข้าใจไม่เหมือนกันเกี่ยวกับการสมรสเอง วิธีคิดเรื่องศาสนาที่ต่างกัน อาจเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในการสมรส โดยเฉพาะเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูบุตร  เวลานั้นการผจญอย่างหนึ่งจึงอาจเกิดขึ้น ได้แก่การไม่สนใจในเรื่องศาสนา (religious indifference)

 1635     ตามกฎหมายในพระศาสนจักรจารีตละติน การสมรสระหว่างคริสตชนต่างนิกายจะมีความถูกต้องได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากผู้มีอำนาจปกครองของพระศาสนจักร[152] ในกรณีการสมรสระหว่างคริสตชนกับคนต่างศาสนาจำเป็นต้องมีการยกเว้นชัดเจนจากข้อขัดขวางเพื่อให้การสมรสมีผลบังคับตามกฎหมาย[153] การอนุญาตหรือการยกเว้นเช่นนี้สมมุติว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายรู้และยอมรับจุดประสงค์และคุณสมบัติสำคัญของการสมรส และฝ่ายคาทอลิกยังยืนยันถึงข้อบังคับที่จะต้องบอกให้ฝ่ายที่ไม่ใช่คาทอลิกรู้ข้อบังคับเหล่านี้ว่าตนต้องรักษาความเชื่อของตนและต้องให้บุตรได้รับศีลล้างบาปและรับการอบรมศึกษาในพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย[154]

 1636    เนื่องจากมีการเสวนาคริสตศาสนิกสัมพันธ์ในท้องถิ่นหลายแห่ง ชุมชนคริสตชนที่มีการเสวนาเช่นนี้จึงได้จัดตั้งกิจกรรมด้านอภิบาลร่วมกันสำหรับการสมรสของคริสตชนต่างนิกาย บทบาทของกิจกรรมนี้คือช่วยคู่สมรสเหล่านี้ให้ได้ดำเนินชีวิตตามความเชื่อในสภาพพิเศษเช่นนี้ของตน กิจกรรมนี้ยังต้องช่วยเหลือให้เขาเอาชนะความขัดแย้งระหว่างข้อบังคับระหว่างกันของคู่สมรสและที่แต่ละคนมีต่อชุมชนศาสนาของตน กิจกรรมนี้ยังต้องช่วยส่งเสริมเรื่องที่เขามีร่วมกันในความเชื่อ และให้ความเคารพต่อเรื่องที่ทำให้เขาแตกต่างกันด้วย

 1637     ในการสมรสของคริสตชนกับคนต่างศาสนา คู่สมรสฝ่ายคาทอลิกยังมีบทบาทหน้าที่พิเศษ “เพราะสามีที่ไม่มีความเชื่อได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางภรรยา และภรรยาที่ไม่มีความเชื่อก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางสามีที่มีความเชื่อ” (1 คร 7:14) เป็นความยินดียิ่งใหญ่สำหรับคู่สมรสที่เป็นคริสตชนและสำหรับพระศาสนจักร ถ้า “การรับความศักดิ์สิทธิ์” นี้นำคู่สมรสอีกคนหนึ่งให้มารับความเชื่อในพระคริสตเจ้าโดยอิสระเสรี[155]  ความรักจากใจจริงของคู่สมรส การปฏิบัติคุณธรรมในครอบครัวด้วยความถ่อมตนและอดทน รวมทั้งการอธิษฐานภาวนาอย่างต่อเนื่องย่อมเตรียมคู่สมรสที่ยังไม่มีความเชื่อให้มารับพระหรรษทานกลับใจมาเป็นคริสตชนได้

 

[141] CIC canon 1057, § 1.       

[142] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1067; CIC canon 1057, § 2.            

[143] Ordo celebrandi Matrimonium, 62, Editio typica altera (Typis Polyglottis Vaticanis 1991) p. 17.      

[144] เทียบ ปฐก 2:24; มก 10:8; อฟ 5:31.         

[145] Cf CIC canon 1103.        

[146] Cf CIC canon 1057, § 1.    

[147] Cf CIC canones 1083-1108. 

[148] Cf CIC canon 1071, § 1, 3.  

[149] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 24a, Decretum «Tametsi»: DS 1813-1816; CIC canon 1108.        

[150] Cf CIC canon 1063.        

[151] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 49: AAS 58 (1966) 1070.

[152] Cf CIC canon 1124.        

[153] Cf CIC canon 1086.        

[154] Cf CIC canon 1125.        

[155] เทียบ 1 คร 7:16.            

IV.  ผลของศีลสมรส

IV.  ผลของศีลสมรส

 1638   “จากการสมรสที่ถูกต้องย่อมเกิดมีพันธะที่ผูกขาดและคงอยู่ตลอดไปโดยธรรมชาติ นอกจากนั้นในการสมรสแบบคริสตชนคู่สมรสยังได้รับพลังของศีลนี้โดยเฉพาะและได้รับการเจิมถวายเพื่อทำหน้าที่และดำเนินชีวิตให้สมกับหน้าที่และศักดิ์ศรีของตนด้วย”[156]


พันธะของการสมรส

 1639   การแลกเปลี่ยนความสมัครใจที่คู่สมรสมอบตนและรับกันและกันนี้ได้รับการประทับตราจากพระเจ้า[157] จากพันธสัญญาของเขาทั้งสอง “ย่อมเกิดมีสถาบันมั่นคงตามแผนการณ์ของพระเจ้าขึ้นในสังคมด้วย”[158] พันธสัญญาของคู่สมรสมีส่วนร่วมในพันธสัญญาของพระเจ้ากับมนุษย์ “ความรักแท้จริงของคู่สมรสย่อมถูกรับเข้ามาอยู่ในความรักของพระเจ้า”[159]

 1640  ดังนั้น พันธะการสมรส จึงถูกสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าเองจนว่าการสมรสที่ถูกต้องและสมบูรณ์โดยเพศสัมพันธ์ของผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมไม่มีวันจะถูกลบล้างได้ พันธะนี้ซึ่งเกิดจากกิจการอิสระเสรีแบบมนุษย์และการมีเพศสัมพันธ์ตามมาด้วยนั้นเป็นสภาวะที่เพิกถอนเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกต่อไปทำให้เกิดมีพันธสัญญาที่มีความซื่อสัตย์ของพระเจ้าเป็นประกัน พระศาสนจักรจึงไม่มีอำนาจตัดสินอะไรคัดค้านแผนการณ์นี้ตามพระปรีชาญาณของพระเจ้าได้[160]


พระหรรษทานของศีลสมรส

 1641    คู่สมรสคริสตชน “มีพระพรของพระเจ้าในสถานภาพชีวิตและตำแหน่งของตนภายในประชากรของพระเจ้า”[161] พระหรรษทานนี้โดยเฉพาะของศีลสมรสมีเจตนาเพื่อทำให้ความรักของสามีภรรยามีความสมบูรณ์ เพื่อทำให้เอกภาพที่แตกแยกไม่ได้ของทั้งสองมีความมั่นคงโดยพระหรรษทานนี้ “สามีภรรยาย่อมช่วยเหลือกันในชีวิตสมรส รวมทั้งในการรับบุตรที่จะเกิดมาและอบรมให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์”[162]

 1642  พระคริสตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดของพระหรรษทานนี้  “ครั้งหนึ่ง พระเจ้าทรงพบกับประชากรของพระองค์โดยพันธสัญญาแห่งความรักและความซื่อสัตย์ฉันใด บัดนี้ พระผู้ไถ่ของมนุษย์และเจ้าบ่าวของพระศาสนจักรก็เสด็จมาพบคู่สมรสคริสตชนโดยศีลสมรสฉันนั้น”[163] ประทานพลังให้เขาแบกไม้กางเขนของตนขึ้นติดตามพระองค์ เพื่อเขาจะได้ให้อภัยกันอีกหลังจากที่ได้พลาดพลั้งไปแล้ว สามารถแบกภาระของกันและกันได้”[164] เพื่อเขาจะได้ “ยอมอยู่ใต้อำนาจของกันและกันด้วยความเคารพยำเกรงพระคริสตเจ้า” (อฟ 5:21) และรักกันด้วยความรักเหนือธรรมชาติ อ่อนโยน และบังเกิดผล ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว พระองค์ประทานให้เขาทั้งสองคนมีความยินดีในความรักและให้ชีวิตครอบครัวของเขาเป็นการชิมลางความชื่นชมยินดีของงานวิวาหมงคลของลูกแกะ

“เราจะบรรยายให้เพียงพอได้อย่างไรถึงความสุขแห่งการสมรสที่พระศาสนจักรนำมารวมกัน ถวายให้มั่นคง อวยพรให้เด่นชัด บรรดาทูตสวรรค์ประกาศให้ทุกคนทราบ พระบิดาทรงรับรอง […] ช่างน่าชื่นชมที่ผู้มีความเชื่อสองคนมารวมในความวางใจเดียวกัน ความปรารถนาเดียวกัน ระเบียบเดียวกัน การรับใช้ร่วมกัน ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน เป็นผู้รับใช้เจ้านายคนเดียวกัน ไม่มีความขัดแย้งกันทั้งจิตใจและร่างกาย แต่ทั้งสองคนอยู่ในเนื้อเดียวกันโดยแท้จริง ที่ใดมีเนื้อเดียวกัน ที่นั่นก็มีจิตใจเดียวกันด้วย”[165]

 

[156]  CIC canon 1134.          

[157] เทียบ มก 10:9.             

[158] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1067.

[159] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1068.

[160] Cf CIC canon 1141.        

[161] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.    

[162] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15-16; cf Ibid., 41: AAS 57 (1965) 47.

[163] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1068.

[164] เทียบ กท 6:2.              

[165] Tertullianus, Ad uxorem, 2, 8, 6-7: CCL 1, 393 (PL 1, 1415-1416); cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 13: AAS 74 (1982) 94.

V.  ผลดีและข้อเรียกร้องจากความรักของคู่สมรส

V.  ผลดีและข้อเรียกร้องจากความรักของคู่สมรส

 1643  “ความรักของคู่สมรสรวมทุกสิ่งที่ทุกส่วนของบุคคลหนึ่งแทรกแซงเข้าไปไว้ในตัว – การเรียกร้องของร่างกายและสัญชาติญาณ พลังความรู้สึกและความรัก ความปรารถนาของจิตใจและเจตนา – ความรักนี้มุ่งหาเอกภาพที่เป็นส่วนตัวที่สุด คือเอกภาพที่นอกจากความสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกันแล้วยังไม่ทำอะไรอื่นนอกจากใจเดียวจิตเดียวกัน เอกภาพนี้จึงเรียกร้องไม่ให้มีการแยกจากกันได้และเรียกร้องความซื่อสัตย์ของการมอบตนแก่กันอย่างที่สุดและนำไปสู่การให้กำเนิดชีวิต พูดสั้นๆ เรากำลังกล่าวถึงคุณสมบัติตามธรรมชาติของความรักฉันสามีภรรยา แต่ยังมีความหมายใหม่ซึ่งไม่เพียงแต่ชำระและทำให้ความรักนี้มั่นคงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้คุณสมบัติเหล่านี้สูงขึ้นจนกลายเป็นการประกาศถึงคุณค่าที่เป็นคุณค่าเฉพาะของคริสตชนด้วย”[166]


เอกภาพและการไม่มีวันยกเลิกได้ของการสมรส

 1644   ความรักของคู่สมรสโดยธรรมชาติแล้วเรียกร้องเอกภาพและการไม่มีวันยกเลิกได้ซึ่งครอบคลุมชีวิตทั้งหมดของเขาทั้งส่วนตัวและในสังคม “ดังนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย” (มธ 19:6)[167] คู่สมรส “ได้รับเรียกมาให้เติบโตขึ้นตลอดเวลาในความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยความซื่อสัตย์ประจำวันต่อคำสัญญาในการสมรสที่จะมอบตนแก่กันโดยสมบูรณ์”[168] การร่วมชีวิตกันเยี่ยงมนุษย์นี้รับการชำระและความสมบูรณ์จากความสัมพันธ์ในพระเยซูคริสตเจ้าที่พระองค์ประทานให้จากศีลสมรส  ความสัมพันธ์นี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยชีวิตความซื่อสัตย์ต่อกันและการร่วมรับศีลมหาสนิทด้วยกัน

 1645  “เอกภาพของการสมรสที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรับรองแล้วนี้ปรากฏอย่างชัดเจนและต้องเป็นที่ยอมรับโดยศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันและความรักอย่างเต็มเปี่ยมต่อกันของหญิงและชาย”[169] การมีภรรยาหลายคนจึงขัดกับศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และกับความรักระหว่างสามีภรรยาซึ่งเป็นความรักที่ผูกขาดและแบ่งแยกไม่ได้[170]

 
ความซื่อสัตย์ของความรักระหว่างสามีภรรยา

 1646   ความรักระหว่างสามีภรรยา โดยธรรมชาติแล้ว เรียกร้องให้มีความซื่อสัตย์ต่อกันอย่างล่วงละเมิดไม่ได้ เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการที่คู่สมรสทั้งสองคนมอบตนเองแก่กัน ความรักต้องการความเด็ดขาด ไม่อาจรอ “จนกว่าจะแจ้งการตัดสินใจใหม่ให้ทราบ” ได้ “ความสัมพันธ์ลึกซึ้งนี้ ในฐานะที่เป็นการมอบตนเองระหว่างบุคคลสองคน เช่นเดียวกับความดีของบุตร เรียกร้องความซื่อสัตย์ที่สมบูรณ์ของคู่สมรสและต้องการเอกภาพที่ไม่มีวันแยกจากกันได้ของเขาทั้งสอง”[171]

 1647    เหตุผลลึกที่สุดของเรื่องนี้พบได้ในความซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อพันธสัญญาของพระองค์ คือพันธสัญญาของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร โดยศีลสมรส คู่สมรสกลายเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนของและเป็นพยานถึงความซื่อสัตย์นี้ โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ การที่การสมรสแยกจากกันไม่ได้จึงรับความหมายใหม่และลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 1648   ดูเหมือนจะเป็นการยาก ยิ่งกว่านั้นเป็นไปไม่ได้ ที่จะมนุษย์คนหนึ่งจะผูกมัดตนเองตลอดชีวิตกับอีกคนหนึ่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศข่าวดีว่า พระเจ้าทรงรักเราด้วยความรักเด็ดขาดและเพิกถอนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คู่สมรสมีส่วนร่วมความรักนี้ที่นำและช่วยพยุงเขาไว้ ทำให้เขาสามารถเป็นพยานถึงความรักที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าได้ด้วยความซื่อสัตย์ของตน คู่สมรสที่อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้าเป็นพยานเช่นนี้ และบ่อยๆ ในสภาพการณ์ที่ยากลำบาก สมควรจะได้รับการขอบคุณและสนับสนุนของชุมชนพระศาสนจักร[172]

 1649  ถึงกระนั้น มีสถานการณ์บางอย่างที่คู่สมรสไม่อาจอยู่ด้วยกันได้เพราะสาเหตุต่างๆ ในกรณีเช่นนี้ พระศาสนจักรยอมให้คู่สมรสแยกกันอยู่และเลิกอยู่ด้วยกันได้ คู่สมรสยังไม่เลิกเป็นสามีภรรยากันเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า จึงไม่มีอิสระที่จะแต่งงานใหม่ได้ ในกรณียากลำบากเช่นนี้ การคืนดีกัน ถ้าเป็นไปได้ น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด ชุมชนคริสตชนจึงรับเชิญให้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้ดำเนินชีวิตแบบคริสตชนในความซื่อสัตย์ต่อพันธะการสมรสที่ยังคงแยกกันไม่ได้อยู่[173]

 1650  ในหลายประเทศ มีคาทอลิกหลายคนที่ไปหย่าร้างตามกฎหมายบ้านเมืองแล้วไปแต่งงานใหม่ตามกฎหมาย เพราะความซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเยซูคริสตเจ้า (“ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่าร้างกับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน” มก 10:11-12) พระศาสนจักรจึงยึดมั่นว่าตนไม่อาจยอมรับว่าการแต่งงานใหม่นี้ถูกต้องมีผลบังคับได้ ถ้าหากว่าการสมรสครั้งแรกถูกต้องแล้ว ถ้าผู้ที่หย่าร้างแล้วไปแต่งงานใหม่ตามกฎหมายบ้านเมือง เขาก็อยู่ในสภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าโดยแท้จริง ดังนั้น ตราบใดที่เขายังคงอยู่ในสภาพเช่นนี้ เขาจึงไม่อาจเข้าไปรับศีลมหาสนิทได้ เพราะสาเหตุเดียวกัน เขาไม่อาจทำหน้าที่รับผิดชอบบางประการของพระศาสนจักรได้ ผู้ที่จะรับการคืนดีโดยศีลอภัยบาปได้ก็คือผู้ที่เป็นทุกข์เสียใจที่ได้ล่วงละเมิดเครื่องหมายของความซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า และยอมผูกมัดตนเองที่จะดำเนินชีวิตโสดโดยสมบูรณ์เท่านั้น

 1651    เกี่ยวกับคริสตชนที่ดำเนินชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้และบ่อยๆ ปรารถนาจะรักษาความเชื่อและอบรมสั่งสอนบุตรในแบบคริสตชน บรรดาพระสงฆ์และทั้งชุมชนต้องแสดงความเอาใจใสอย่าให้เขารู้สึกว่าตนเป็นเสมือนผู้แยกตนจากพระศาสนจักร ที่เขาในฐานะผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วยังสามารถและต้องมีส่วนร่วมชีวิตด้วย

“นอกจากนั้น เขาควรได้รับเตือนในฟังพระวาจาของพระเจ้า ร่วมพิธีบูชามิสซา สวดภาวนาต่อไป ช่วยงานเมตตาจิตและงานที่ชุมชนริเริ่มเพื่อความยุติธรรม อบรมสั่งสอนบุตรในความเชื่อคริสตชน ปลูกฝังเจตนารมณ์และงานชดเชยบาป เพื่อวอนขอพระหรรษทานของพระเจ้าเช่นนี้ทุกๆ วัน”[174]


 
เปิดใจพร้อมจะมีบุตร

 1652  “โดยลักษณะตามธรรมชาติ สถาบันการสมรสและความรักของคู่สมรสย่อมมุ่งสู่การให้กำเนิดและการอบรมเลี้ยงดูบุตร และจุดประสงค์เหล่านี้เป็นประดุจเกียรติสูงสุดของการสมรสด้วย”[175]

“บุตรย่อมเป็นของขวัญสุดประเสริฐของการสมรสและนำผลดีอย่างใหญ่หลวงมาให้บิดามารดา พระเจ้าเองซึ่งตรัสว่า ‘มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย’ (ปฐก 2:18) และ ‘เมื่อแรกนั้นพระผู้สร้างทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง’ (มธ 19:4) ทรงพระประสงค์ให้มนุษย์มีส่วนร่วมเป็นพิเศษในงานเนรมิตสร้างของพระองค์ด้วย พระองค์จึงทรงอวยพรชายและหญิงว่า ‘จงมีลูกมากและทวีจำนวนขึ้น’ (ปฐก 1:28) ดังนั้น ความรักแท้จริงของคู่สมรสและเหตุผลทั้งหมดของชีวิตครอบครัวที่เกิดมาจากความรักนี้จึงมุ่งให้คู่สมรสมีความตั้งใจมั่นคงที่จะร่วมมือกับความรักของพระผู้สร้างและผู้ไถ่กู้ซึ่งใช้เขาเพื่อขยายครอบครัวของพระองค์ให้กว้างขวางและมีจำนวนยิ่งวันยิ่งมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็มิได้ลดความสำคัญของจุดประสงค์อื่นๆ ของการสมรสลงเลย”[176]

 1653  ความอุดมสมบูรณ์ของความรักของคู่สมรสยังขยายผลไปถึงชีวิตด้านศีลธรรม จิตวิญญาณและชีวิตเหนือธรรมชาติที่บิดามารดามอบให้แก่บุตรของตนโดยการอบรมสั่งสอน บิดามารดาเป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนคนแรกของบุตร[177] ในความหมายนี้ หน้าที่พื้นฐานของการสมรสและครอบครัวก็คือเพื่อการรับใช้ชีวิต[178]

 1654   คู่สมรสที่พระเจ้าไม่ได้โปรดให้มีบุตรก็ยังอาจดำเนินชีวิตคู่ที่มีความหมายแบบมนุษย์และคริสตชนที่สมบูรณ์ได้ การสมรสของเขายังอาจมีคุณค่าจากผลของความรัก การต้อนรับเพื่อนพี่น้องและชีวิตการอุทิศตน

 

[166] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 13: AAS 74 (1982) 96.        

[167] เทียบ ปฐก 2:24.           

[168] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 19: AAS 74 (1982) 101.        

[169] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 49: AAS 58 (1966) 1070.

[170]  Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 19: AAS 74 (1982) 102.    

[171] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1068.

[172] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 20: AAS 74 (1982) 104.     

[173] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 83: AAS 74 (1982) 184; CIC canones 1151-1155.

[174] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 84: AAS 74 (1982) 185.       

[175] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1068.

[176] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 50: AAS 58 (1966) 1070-1071.            

[177] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Gravissimum educationis, 3: AAS 58 (1966) 731.

[178]  Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 28: AAS 74 (1982) 114.       

VI.  พระศาสนจักรในบ้าน

VI.  พระศาสนจักรในบ้าน

 1655 พระคริสตเจ้าทรงประสงค์จะสมภพและเจริญวัยขึ้นภายในแวดวงของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญโยเซฟและพระแม่มารีย์ พระศาสนจักรจึงมิใช่อะไรอื่นนอกจาก “ครอบครัวของพระเจ้า” นับตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว แก่นแท้ของพระศาสนจักรบ่อยๆ จึงประกอบด้วยผู้ที่มารับความเชื่อ “พร้อมกับสมาชิกทุกคนในบ้านของตน”[179] เมื่อกลับใจ คนเหล่านี้ก็ปรารถนาที่จะช่วย “ทุกคนในครอบครัวของตน” ให้รอดพ้นด้วย[180] เมื่อครอบครัวเหล่านี้มารับความเชื่อ ก็มาเป็นเสมือนเกาะเล็กๆ ของชีวิตคริสตชนภายในโลกที่ยังไม่มีความเชื่อ

 1656 ในสมัยของเรา ในโลกที่บ่อยๆ ยังไม่มีความเชื่อหรือยังเป็นอริกับความเชื่อเสียด้วยนี้ ครอบครัวที่มีความเชื่อจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะเป็นเสมือนเตาไฟที่มีชีวิตและส่องแสงแห่งความเชื่อ เพราะเหตุนี้สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จึงเรียกครอบครัวโดยใช้สำนวนที่เคยใช้มาแต่โบราณว่า พระศาสนจักรในบ้าน[181] ภายในขอบเขตของครอบครัว บิดามารดาเป็น “ผู้ประกาศความเชื่อคนแรกด้วยวาจาและแบบอย่างแก่บุตรของตน และเขาต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษที่จะส่งเสริมกระแสเรียกศักดิ์สิทธิ์เฉพาะสำหรับบุตรแต่ละคนด้วย”[182]

 1657 ที่นี่ สมาชิกทุกคนของครอบครัว พ่อบ้าน แม่บ้าน บรรดาบุตรต่างก็ปฏิบัติบทบาทสมณภาพของผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปอย่างน่าชมเชย “โดยการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยการอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณ โดยการเป็นพยานชีวิตศักดิ์สิทธิ์ การปฏิเสธตนเองและการแสดงกิจการเมตตาจิต”[183]โดยวิธีนี้ ครอบครัวจึงเป็นโรงเรียนสอนชีวิตคริสตชนแห่งแรกและเป็น “โรงเรียนที่ส่งเสริมค่านิยมแบบมนุษย์อย่างกว้างขวาง”[184] ที่นั่น ทุกคนเรียนรู้ถึงความพากเพียรและความยินดีของการทำงาน ความรักฉันพี่น้อง การรู้จักให้อภัยกันอย่างใจกว้าง และยังเน้นโดยเฉพาะถึงการถวายคารวกิจต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานภาวนาและการถวายชีวิตของตนอีกด้วย

 1658 เรายังควรต้องระลึกถึงบุคคลอื่นๆ อีกหลายคนที่เพราะสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะต้องดำเนินชีวิต บ่อยๆ เพราะไม่มีทางเลือก – ที่มีความใกล้ชิดกับพระหทัยของพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษ และสมควรรับความรักและเอาใจใส่ของพระศาสนจักรและโดยเฉพาะความเอาใจใส่ด้วยความรักของบรรดาผู้อภิบาล นั่นคือผู้ที่เป็นโสดจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้จำนวนมากยังคงไม่อาจมีครอบครัวเพราะฐานะยากจน มีบางคนที่ดำเนินชีวิตในสภาพของตนเช่นนี้ตามจิตตารมณ์ความสุขแท้ เพื่อรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องด้วยวิธีการที่เป็นตัวอย่าง ประตูของครอบครัวต้องเปิดแก่คนเหล่านี้ ทุกคน คือประตู “ของพระศาสนจักรตามบ้าน” และประตูของครอบครัวใหญ่ซึ่งก็คือพระศาสนจักร “ต้องไม่มีผู้ใดในโลกที่ไม่มีครอบครัว เพราะพระศาสนจักรคือบ้านและครอบครัวสำหรับทุกคน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ ‘เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก’ (มธ 11:28)”[185]

 

[179] เทียบ กจ 18:8.             

[180] เทียบ กจ 16:31; 11:14.      

[181] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16; cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 21: AAS 74 (1982) 105.

[182] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.   

[183] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 15.   

[184] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 52: AAS 58 (1966) 1073.

[185] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 85: AAS 74 (1982) 187.       

สรุป

สรุป

 1659 นักบุญเปาโลกล่าวว่า “สามีจงรักภรรยาดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักร […] ธรรมล้ำลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร” (อฟ 5:25,32)

 1660 พันธสัญญาการสมรส ที่ชายและหญิงใช้สร้างชุมชนใกล้ชิดแห่งชีวิตและความรักระหว่างกันนี้ พระผู้เนรมิตสร้างทรงตั้งไว้และทรงกำหนดให้มีกฎเกณฑ์เฉพาะของตน โดยธรรมชาติ ชุมชนนี้ถูกจัดไว้เพื่อความดีของคู่สมรส และยังเพื่อให้กำเนิดและอบรมเลี้ยงดูบุตรด้วย การสมรสระหว่างผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วได้รับการยกย่องจากพระคริสตเจ้าให้มีศักดิ์ศรีเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย[186]

 1661 ศีลสมรสมีความหมายถึงความสัมพันธ์ของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร ประทาน
พระหรรษทานให้คู่สมรสมีความรักต่อกันด้วยความรักที่พระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักร ดังนี้
พระหรรษทานของศีลนี้จึงบันดาลให้ความรักประสามนุษย์ของคู่สมรสมีความสมบูรณ์ ทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวกันของเขาทั้งสองมีความมั่นคงลบล้างไม่ได้ และยังบันดาลให้เขาศักดิ์สิทธิ์ในการเดินทางไปสู่ชีวิตนิรันดร[187]

 1662 การสมรสตั้งอยู่บนการแสดงความสมัครใจของคู่สมรส นั่นคือ ความตั้งใจว่าจะมอบตนให้แก่กันอย่างเด็ดขาดเพื่อจะดำเนินชีวิตในพันธะแห่งความรักที่ซื่อสัตย์ที่พร้อมจะให้กำเนิดบุตร

 1663 เนื่องจากว่าการสมรสทำให้คู่สมรสมีสภาพชีวิตร่วมกันอย่างเปิดเผยในพระศาสนจักร การประกอบพิธีสมรสจึงต้องทำภายในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่อหน้าพระสงฆ์ (หรือพยานที่พระศาสนจักรรับรอง) พยาน(สองคน)และชุมชนผู้มีความเชื่อ

 1664 เอกภาพ การแยกจากกันไม่ได้และเจตนาพร้อมจะมีบุตรเป็นสาระสำคัญของการสมรส การมีภรรยาหลายคนขัดแย้งกับเอกภาพของการสมรส การหย่าร้างแยกสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมไว้ด้วยกัน การไม่ยอมมีบุตรทำให้ชีวิตของคู่สมรสต้องแยกจาก “พระพรประเสริฐสุด” (ของการสมรส) คือการมีบุตร[188]

 1665 การแต่งงานใหม่ของผู้ที่หย่าร้าง ขณะที่คู่สมรสที่ถูกต้องยังมีชีวิตอยู่ เป็นการขัดกับพระประสงค์และกฎหมายของพระเจ้าตามที่พระคริสตเจ้าทรงสอนไว้ เขาเหล่านี้ไม่ได้แยกตนจาก
พระศาสนจักร แต่ไม่อาจเข้าไปรับศีลมหาสนิทได้ เขาจะดำเนินชีวิตคริสตชนของตนโดยเฉพาะเมื่ออบรมเลี้ยงดูบุตรในความเชื่อ

 1666 บ้านคริสตชนเป็นสถานที่ซึ่งบรรดาบุตรรับข่าวดีประการแรกของความเชื่อ นอกจากนั้น บ้านของครอบครัวจึงรับชื่อได้อย่างถูกต้องว่า “พระศาสนจักรในบ้าน” เป็นชุมชนแห่งพระหรรษทานและการอธิษฐานภาวนา เป็นโรงเรียนสอนคุณธรรมแบบมนุษย์และความรักแบบคริสตชน

 

[186] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1067-1068; CIC canon 1055, § 1.

[187] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 24a, Doctrina de sacramento Matrimonii: DS 1799.

[188] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 50: AAS 58 (1966) 1070.