บทที่สาม

ความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้กฎหมายและพระหรรษทาน

1949    มนุษย์ผู้ได้รับเรียกให้รับความสุข แต่ได้รับบาดแผลจากบาป จึงต้องการความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้ ความช่วยเหลือจากพระเจ้ามาถึงเขาในพระคริสตเจ้าผ่านทางธรรมบัญญัติซึ่งช่วยนำทางเขาและพยุงเขาไว้ให้อยู่ในพระหรรษทาน

           “ท่านจงออกแรงด้วยความเกรงกลัวจนตัวสั่นเพื่อให้รอดพ้นเถิด พระเจ้าทรงทำงานในท่าน เพื่อให้ท่านมีทั้งความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงานตามพระประสงค์” (ฟป 2:12-13)

ตอนที่หนึ่ง

กฎด้านศีลธรรม

 1950   กฎด้านศีลธรรมเป็นผลงานของพระปรีชาญาณของพระเจ้า ตามความหมายในพระคัมภีร์ ปรีชาญาณอาจนิยามได้ว่าเป็นคำสั่งสอนของบิดา เป็นการอบรมสั่งสอนของพระเจ้า กำหนดแนวทางให้มนุษย์ วางกฎการกระทำซึ่งนำไปพบความสุขที่ทรงสัญญาจะประทานให้ คอยกันหนทางความชั่วที่หันเหเราไปจากพระเจ้าและความรักต่อพระองค์ ในเวลาเดียวกันยังมั่นคงในข้อกำหนดและน่ารักในคำสัญญาของตน

 1951   กฎหมายเป็นแนวความประพฤติที่ผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรมตราไว้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม กฎศีลธรรมสมมุติแล้วว่ามีระเบียบตามเหตุผลในหมู่สิ่งสร้างเพื่อความดีของทุกคนและเพื่อจุดประสงค์ที่พระอานุภาพ พระปรีชาและความดีของพระผู้เนรมิตสร้างทรงกำหนดไว้ กฎหมายทั้งหลายพบความจริงเริ่มแรกและสุดท้ายของตนในกฎหมายนิรันดร(ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้) กฎหมาย ในฐานะที่มีส่วนร่วมพระพรเอื้ออาทรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระผู้เนรมิตสร้างและพระผู้กอบกู้ของมวลมนุษย์ ได้รับการประกาศและกำหนดตามเหตุผล  “ข้อกำหนดตามเหตุผลนี้
เรียกว่า ‘กฎหมาย’[1]

          “ในฐานะที่มนุษย์อาจภูมิใจได้ในฐานะที่ตนเท่านั้นเหมาะสมที่จะรับกฎหมายจากพระเจ้าได้ และในฐานะที่เป็นสัตว์ที่คิดตามเหตุผล เขาจึงใช้สติปัญญาและมีความรู้ได้ แต่อิสรภาพในการใช้เหตุผลก็ยังมีขอบเขตจำกัด เขายังต้องเชื่อฟังพระผู้ที่ทรงมอบทุกสิ่งให้อยู่ในอำนาจของเขา”[2]

1952    กฎศีลธรรมแสดงออกในหลายรูปแบบต่างกัน แต่ทุกรูปแบบก็มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน – กฎหมายนิรันดร บ่อเกิดของกฎหมายทั้งหลายอยู่ในพระเจ้า – กฎธรรมชาติ – กฎหมายที่พระเจ้าทรงเปิดเผยรวมกฎหมาย(แห่งพันธสัญญา)เดิมและกฎหมายใหม่หรือกฎตามพระวรสาร – ในที่สุดยังมีกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายของพระศาสนจักร

 1953   กฎศีลธรรมพบความสมบูรณ์และเอกภาพของตนในพระคริสตเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าเองทรงเป็นหนทางแห่งความดีบริบูรณ์  พระองค์ทรงเป็นจุดหมายของกฎหมาย  เพราะพระองค์แต่ผู้เดียวทรงสอนและประทานความยุติธรรมของพระเจ้าให้เราได้ “จุดหมายของธรรมบัญญัติก็คือองค์พระคริสตเจ้า ดังนั้น ทุกคนที่มีความเชื่อจะได้รับความชอบธรรม” (รม 10:4)

 

[1] Leo XIII, Litt. enc. Libertas praestantissimum: Leonis XIII Acta 8,218; cf Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 90, a. 1: Ed. Leon. 7, 149-150.

[2] Tertullianus, Adversus Marcionem, 2, 4, 5: CCL 1, 479 (PL 2, 315).

I. กฎศีลธรรมตามธรรมชาติ

I. กฎศีลธรรมตามธรรมชาติ

 1954   มนุษย์มีส่วนร่วมพระปรีชาญาณและความดีของพระผู้เนรมิตสร้างผู้ประทานให้เขามีอำนาจควบคุมการกระทำของตนและสามารถปกครองตนเองได้ตามความจริงและความดี กฎตามธรรมชาติแสดงความหมายพื้นฐานด้านศีลธรรมที่ช่วยให้มนุษย์ใช้เหตุผลแยกแยะได้ว่าอะไรดีอะไรเลว อะไรเป็นความจริงและเป็นความเท็จ

          “กฎตามธรรมชาติ […] มีเขียนและจารึกไว้ในใจของมนุษย์แต่ละคน เพราะเป็นเหตุผลของมนุษย์ที่สั่งให้ทำสิ่งที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงที่จะทำบาป คำสั่งของเหตุผลของมนุษย์นี้ไม่อาจมีพลังของกฎหมายได้ เว้นแต่ว่าจะเป็นเสียงและการตีความของเหตุผลสูงกว่า ที่จิตใจและอิสรภาพของเราต้องอยู่ใต้บังคับ”[3]

 1955   กฎของพระเจ้าและธรรมชาติ[4]ชี้ให้มนุษย์และเห็นหนทางที่จะต้องเดินตามเพื่อทำความดีและบรรลุถึงจุดหมายของตน กฎตามธรรมชาติบอกให้เราทราบถึงกฎเกณฑ์แรกที่เป็นสาระสำคัญซึ่งควบคุมชีวิตด้านศีลธรรม กฎนี้มีพื้นฐานอยู่บนการแสวงหาพระเจ้าและอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและผู้พิพากษาตัดสินความดีทั้งปวง และยังให้ความหมายของสิ่งอื่นที่มีค่าเท่ากับพระองค์ด้วย กฎของพระเจ้านี้ส่วนใหญ่ที่สำคัญแสดงออกในพระบัญญัติสิบประการ กฎนี้เรียกว่ากฎธรรมชาติไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่รู้จักคิดตามเหตุผล แต่เพราะว่าเหตุผลที่ประกาศกฎเหล่านี้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติมนุษย์โดยตรง

           “[กฎเหล่านี้] มีเขียนไว้ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหนังสือแห่งแสงสว่างนั้นที่เรียกว่า ‘ความจริง’ กฎหมายเที่ยงธรรมทั้งหลายมีเขียนไว้ในหนังสือนี้และภายในใจของมนุษย์ผู้ปฏิบัติความยุติธรรม ไม่ใช่โดยย้ายถิ่นเข้าไปในนั้น แต่โดยประทับลงเหมือนกับรูปภาพจากแหวนที่ประทับลงบนขี้ผึ้ง แต่ก็ไม่ออกไปจากแหวนนั้น”[5]

             กฎของธรรมชาติ “ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากแสงสว่างของสติปัญญาที่พระเจ้าทรงฝังไว้ในตัวเรา ช่วยให้เรารู้ว่าอะไรควรทำ อะไรควรหลีกเลี่ยง พระเจ้าประทานแสงนี้และกฎนี้แก่มนุษย์เมื่อทรงเนรมิตสร้าง”[6]

 1956   กฎธรรมชาติที่อยู่ในใจและถูกกำหนดไว้ในเหตุผลของมนุษย์แต่ละคนมีผลบังคับเป็นสากล และขยายอำนาจไปถึงมนุษย์ทุกคน แสดงให้เห็นศักดิ์ศรีของบุคคลและเป็นฐานกำหนดสิทธิและหน้าที่พื้นฐานของเขา

           “เหตุผลถูกต้องเป็นกฎหมายแท้จริง สอดคล้องกับธรรมชาติ ครอบคลุมทุกคน มั่นคง ดำรงอยู่ตลอดไป สั่งให้ทุกคนทำหน้าที่ ห้ามไว้ไม่ให้กล้าคดโกง […] กฎนี้จึงต้องไม่ถูกยกเลิก และไม่อาจกำหนดเป็นอย่างอื่นหรือยกเลิกเสียทั้งหมดได้”[7]

 1957    กฎธรรมชาติอาจถูกนำมาใช้ได้หลากหลายวิธี โดยต้องพิจารณาปรับให้เข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ ของชีวิต ตามสถานที่ เวลาและกรณีแวดล้อม ถึงกระนั้น ในอารยธรรมที่แตกต่างกัน กฎธรรมชาติซึ่งยังคงเป็นกฎที่รวมมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ก็ยังเป็นกฎที่มีผลบังคับทั่วไป ยกเว้นความแตกต่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 1958   กฎธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไม่ได้[8] และมั่นคงอยู่ในความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ ตั้งมั่นอยู่ในความเปลี่ยนแปลงของความคิดและความประพฤติและสนับสนุนความก้าวหน้าของสิ่งต่างๆเหล่านี้ ระเบียบที่สะท้อนกฎเหล่านี้ยังคงใช้ได้ในสาระสำคัญ แม้ว่าบางครั้งหลักการกฎธรรมชาตินี้จะถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่อาจถูกทำลายหรือลบล้างไปจากใจของมนุษย์ได้ กฎธรรมชาตินี้ย่อมฟื้นขึ้นมาอีกในชีวิตของแต่ละคนและของสังคม

           “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า กฎหมายของพระองค์ลงโทษการขโมยอย่างแน่นอน และกฎหมายที่เขียนไว้ในใจของมนุษย์ และที่ความชั่วก็ไม่อาจทำลายได้นี้ (ก็ลงโทษการขโมยนี้ด้วย)”[9]

 1959   กฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลงานดีที่สุดของพระผู้เนรมิตสร้าง เป็นพื้นฐานมั่นคงที่มนุษย์อาจสร้างโครงสร้างกฎศีลธรรมต่างๆ เพื่อช่วยแนะนำในการเลือกกระทำของตน นอกจากนั้นกฎธรรมชาติยังกำหนดฐานทางศีลธรรมที่จำเป็นเพื่อก่อสร้างชุมชนมนุษย์อีกด้วย ในที่สุดกฎธรรมชาติยังเป็นฐานที่จำเป็นให้แก่กฎหมายบ้านเมืองที่ต้องมีความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาตินี้ด้วย ไม่ว่าด้วยการพิจารณาที่สรุปแนวทางปฏิบัติจากหลักการของกฎธรรมชาตินี้ หรือด้วยการเพิ่มเติมข้อกำหนดปลีกย่อยที่มีผลใช้บังคับทางกฎหมาย

 1960   ทุกคนอาจไม่รับรู้ข้อกำหนดของกฎธรรมชาติได้ชัดเจนหรือทันที ในสถานการณ์ปัจจุบัน        พระหรรษทานและการเปิดเผยจากพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่เป็นคนบาป เพื่อความจริงด้านศาสนาและศีลธรรม “จะเป็นที่รู้จักแก่ทุกคนได้โดยง่าย ด้วยความมั่นใจและไม่มีความหลงผิดเข้ามาปะปน”[10] กฎธรรมชาติปูพื้นฐานให้แก่ธรรมบัญญัติที่พระเจ้าจะทรงเปิดเผยให้ทราบและเป็นพื้นฐานสำหรับพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เหมาะสำหรับงานของพระจิตเจ้า

 

[3] Leo XIII, Litt. enc. Libertas praestantissimum: Leonis XIII Acta 8,219.

[4] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 89: AAS 58 (1966) 1111-1112.

[5] Sanctus Augustinus, De Trinitate, 14, 15, 21: CCL 50A, 451 (PL 42, 1052).

[6] Sanctus Thomas Aquinas, In duo praecepta caritatis et in decem Legis praecepta expositio, c. 1: Opera omnia, v. 27 (Parisiis 1875) p. 144.

[7]  Marcus Tullius Cicero, De re publica, 3, 22, 33: Scripta quae manserunt omnia, Bibliotheca Teubneriana fasc. 39, ed. K. Ziegler, (Leipzig 1969) p. 96.

[8] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 10: AAS 58 (1966) 1033.

[9] Sanctus Augustinus, Confessiones, 2, 4, 9: CCL 27, 21 (PL 32, 678).

[10] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c. 2: DS 3005; Pius XII, Litt. enc. Humani generis: DS 3876.        

II. ธรรมบัญญัติดั้งเดิม

II. ธรรมบัญญัติดั้งเดิม

 1961   พระเจ้า พระผู้เนรมิตสร้างและกอบกู้ชาวเรา ได้ทรงเลือกสรรอิสราเอลไว้เป็นประชากรของพระองค์และทรงเปิดเผยธรรมบัญญัติของพระองค์ให้เขาเป็นการเตรียมการเสด็จมาของ       พระคริสตเจ้า ธรรมบัญญัติของโมเสสแสดงความจริงหลายประการที่เราอาจเข้าถึงได้อาศัยสติปัญญาโดยธรรมชาติ ความจริงเหล่านี้ได้รับการประกาศและรับรองไว้ภายในพันธสัญญาว่าพระองค์จะประทานความรอดพ้นให้มนุษย์

 1962   ธรรมบัญญัติดั้งเดิมเป็นขั้นตอนแรกของธรรมบัญญัติที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่มนุษย์ ข้อกำหนดด้านศีลธรรมของธรรมบัญญัตินี้สรุปอยู่ในธรรมบัญญัติสิบประการ ข้อกำหนดของธรรมบัญญัติสิบประการวางพื้นฐานของการเรียกมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ห้ามสิ่งที่ขัดกับความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ และกำหนดสิ่งที่เป็นสาระสำคัญสำหรับการนี้ ธรรมบัญญัติสิบประการเป็นแสงสว่างที่พระเจ้าประทานแก่มโนธรรมของมนุษย์ทุกคนเพื่อแสดงให้เขาเห็นการเรียกจากพระเจ้าและหนทางไปพบพระองค์ และยังคอยปกป้องเขาให้พ้นจาก
ความชั่ว

              “พระเจ้าทรงบันทึกธรรมบัญญัตินี้ไว้ใน(แผ่นศิลาจารึกแห่ง)จิตใจ แต่มนุษย์ก็ไม่อ่าน”[11]

 1963   ธรรมประเพณีของคริสตชนสอนว่าธรรมบัญญัติดั้งเดิมนี้ศักดิ์สิทธิ์[12] เป็นเรื่องฝ่ายจิต[13] และดี[14] แต่ยังไม่สมบูรณ์ เป็นเสมือนครูพี่เลี้ยง[15] ธรรมบัญญัติบอกให้เรารู้ว่าต้องทำอะไร แต่โดยตนเองไม่ให้พลัง ไม่ประทานพระหรรษทานของพระจิตเจ้าเพื่อจะปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ได้ ธรรมบัญญัติดั้งเดิมนี้ เพราะบาปที่ตนไม่อาจลบล้างได้ จึงยังคงเป็นกฎหมายของการเป็นทาส ตามคำสอนของนักบุญเปาโล ธรรมบัญญัติดั้งเดิมมีบทบาทโดยเฉพาะเพื่อแจ้งและแสดงให้เรารู้ว่าอะไรเป็นบาป เพราะกำหนด “กฎแห่งความใคร่”[16] ไว้ในใจของมนุษย์ ถึงกระนั้น ธรรมบัญญัติก็ยังคงเป็นก้าวแรกในหนทางไปสู่พระอาณาจักร เตรียมและจัดประชากรที่ทรงเลือกสรรและคริสตชนแต่ละคนไว้ให้พร้อมที่จะกลับใจและเข้ามารับความเชื่อในพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้น ให้คำสอนซึ่งจะดำรงอยู่ตลอดไปในฐานะพระวาจาของพระเจ้า

 1964   ธรรมบัญญัติดั้งเดิมเป็นการเตรียมทางอย่างหนึ่งไว้สำหรับพระวรสาร “ธรรมบัญญัติเป็นการอบรมสั่งสอนสำหรับพวกเขาและเป็นการประกาศพระวาจาสำหรับอนาคต”[17] ธรรมบัญญัตินี้ประกาศและกล่าวล่วงหน้าถึงงานกอบกู้ซึ่งจะสำเร็จไปในพระคริสตเจ้า แสดงให้เห็นสัญลักษณ์เดียวกันที่เป็นภาพลักษณ์ “รูปแบบ” ซึ่งแสดงถึงชีวิตตามพระจิตเจ้า ในที่สุด ธรรมบัญญัติยังเป็นคำสอนที่จะสำเร็จบริบูรณ์จากคำสอนของหนังสือของบรรดาผู้มีปรีชาและประกาศกที่นำธรรมบัญญัตินี้ไปถึงพันธสัญญาใหม่และพระอาณาจักรสวรรค์

            “มีบางคนในพันธสัญญาเดิมซึ่งมีความรักและพระหรรษทานของพระจิตเจ้า ท่านเหล่านี้มีความรักและพระหรรษทานของพระจิตเจ้า และเหนือสิ่งอื่นใด กำลังรอคอยพระสัญญานิรันดรของพระจิตเจ้าซึ่งทำให้ท่านเหล่านี้มีส่วนในธรรมบัญญัติใหม่ เช่นเดียวกัน ในพันธสัญญาใหม่ ยังมีบางคนที่ยึดติดอยู่กับธรรมชาติเก่า ยังไม่บรรลุถึงความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติใหม่ เขายังต้องถูกนำให้เข้าถึงผลงานของคุณธรรมอาศัยความกลัวจะถูกลงโทษ และอาศัยคำสัญญาว่าจะได้ความสุขในโลกนี้ ถึงแม้ว่าธรรมบัญญัติดั้งเดิมให้บัญญัติแห่งความรักแล้ว แต่พระเจ้าก็ยังไม่ประทานพระจิตเจ้าให้อาศัยธรรมบัญญัติเหล่านี้ พระจิตเจ้า ‘ผู้ทรงหลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา’ ตามที่กล่าวไว้ใน รม 5:5”[18]

 

[11] Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 57, 1: CCL 39, 708 (PL 36, 673).      

[12] เทียบ รม 7:12.

[13] เทียบ รม 7:14.

[14] เทียบ รม 7:16.

[15] เทียบ กท 3:24.              

[16] เทียบ รม 7.  

[17] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 15, 1: SC 100, 548 (PG 7, 1012).            

[18] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 107, a. 1, ad 2: Ed. Leon. 7, 279.             

III.  ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร

III.  ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร

 1965   ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสารเป็นการทำให้กฎของพระเจ้า กฎของธรรมชาติและกฎที่พระเจ้าทรงเปิดเผยเป็นความสมบูรณ์ในโลกนี้ ธรรมบัญญัติใหม่นี้เป็นผลงานของพระคริสตเจ้าและแสดงออกอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในบทเทศน์บนภูเขา ธรรมบัญญัตินี้ยังเป็นผลงานของ  พระจิตเจ้าด้วย และอาศัยพระองค์กลายเป็นกฎภายในแห่งความรัก “เราจะทำพันธสัญญาใหม่กับตระกูลอิสราเอลและตระกูลยูดาห์ […] เราจะใส่บทบัญญัติของเราในจิตใจของเขา เราจะจารึกไว้ในดวงใจของเขา และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชากรของเรา” (ฮบ 8:8 และ 10)[19]

 1966    ธรรมบัญญัติใหม่เป็นพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่พระเจ้าประทานให้แก่ผู้มีความเชื่ออาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้า ธรรมบัญญัติใหม่นี้ทำงานอาศัยความรักและใช้คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อสอนเราว่าต้องทำอะไร และใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อประทานพระหรรษทานให้เราทำการนี้ได้

           “บทเทศน์ที่พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ตรัสสอนบนภูเขา ดังที่เราอ่านในพระวรสารตามคำบอกเล่าของมัทธิว ถ้าผู้ใดพิจารณาด้วยความศรัทธาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ข้าพเจ้าก็คิดว่าเขาจะพบในบทเทศน์นี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติที่ดีที่สุด วิถีทางที่สมบูรณ์เพื่อดำเนินชีวิตคริสตชน […] ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เพื่อให้เห็นว่าบทเทศน์นี้มีกฎเกณฑ์ทุกอย่างที่จะช่วยให้ชีวิตคริสตชนบรรลุความสมบูรณ์ได้”[20]

 1967   กฎแห่งพระวรสารปรับปรุงให้ธรรมบัญญัติดั้งเดิมสมบูรณ์ขึ้น[21] ขัดเกลา ก้าวข้ามและทำให้สมบูรณ์ ในบทเทศน์เรื่องความสุขแท้จริง กฎแห่งพระวรสารทำให้พระสัญญาสำเร็จไปโดยยกย่องและจัดไว้ให้มุ่งหา “พระอาณาจักรสวรรค์” กฎนี้มุ่งหาผู้ที่เตรียมพร้อมด้วยความเชื่อเพื่อจะไปรับความหวังใหม่นี้ เช่นผู้ยากจน สุภาพถ่อมตน เป็นทุกข์โศกเศร้า มีใจบริสุทธิ์ ถูกเบียดเบียน   เพราะพระคริสตเจ้า และดังนี้จึงขีดเส้นทางไปสู่พระอาณาจักรอย่างที่ไม่มีใครคาด

 1968   กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ  เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทิน[22] เลือกสิ่งบริสุทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย  พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์[23]โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า[24]

 1969   ธรรมบัญญัติใหม่ปฏิบัติศาสนกิจ เช่นการให้ทาน การอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหาร โดยจัดให้กิจการเหล่านี้มุ่งไปหา “พระบิดา […] ผู้ทรงหยั่งรู้ในที่ลับ” ผิดกับผู้ที่ต้องการ “ให้ใครๆเห็น”[25] บทภาวนาของธรรมบัญญัติใหม่นี้ก็คือบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”[26]

 1970   กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง”[27] และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ[28] ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก” (มธ 7:12)[29]

           กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่[30]ของพระเยซูเจ้า ที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา[31]

 1971   นอกจากคำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว เรายังต้องเพิ่มคำสั่งสอนด้านศีลธรรมของบรรดาอัครสาวกเข้าไปอีกด้วย เช่น รม บทที่ 12-15; 1 คร บทที่ 12-13;  คส บทที่ 3-4; อฟ บทที่ 4-6;ฯลฯ คำสอนเหล่านี้ถ่ายทอดคำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าอาศัยอำนาจของอัครสาวก โดยเฉพาะโดยอธิบายถึงคุณธรรมต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในพระคริสตเจ้า และได้รับพลังบันดาลใจจากความรักซึ่งเป็นพระพรสำคัญของพระจิตเจ้า “จงรักด้วยใจจริง […] จงรักกันฉันพี่น้อง […] จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงมีความอดทนต่อความทุกข์ยาก จงพากเพียรในการภาวนา จงเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในยามขัดสน จงต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี” (รม 12:9-13) คำสั่งสอนเช่นนี้ยังสอนเราให้แก้ปัญหามโนธรรมของเราอาศัยเหตุผลความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้าและกับพระศาสนจักรด้วย[32]

 1972   ธรรมบัญญัติใหม่นี้ยังได้ชื่อว่า กฎแห่งความรัก เพราะผลักดันให้เราปฏิบัติงานด้วยความรักที่ พระจิตเจ้าทรงหลั่งให้เรา มากกว่าด้วยความกลัว ได้ชื่อว่า กฎแห่งพระหรรษทาน เพราะประทานพลังแห่งพระหรรษทานให้ปฏิบัติงานอาศัยความเชื่อและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ได้ชื่อว่า  กฎแห่งอิสรภาพ[33] เพราะช่วยเราให้เป็นอิสระจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และจารีตพิธีต่างๆของธรรมบัญญัติดั้งเดิม โน้มนำเราให้เต็มใจปฏิบัติงานเพราะได้รับพลังบันดาลใจจากความรัก และในที่สุดช่วยเราให้ผ่านจากสภาพการเป็นทาสที่ “ไม่รู้ว่านายของตนทำอะไร” มาสู่สภาพการเป็นมิตรของพระคริสตเจ้า “เพราะเราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา”  (ยน 15:15) และยังนำเรามาสู่สภาพการเป็นทายาทของบุตรด้วย[34]

 1973   ธรรมบัญญัติใหม่นี้ นอกจากบทบัญญัติข้อบังคับแล้ว ยังรวมเอาคำแนะนำของพระวรสารเข้าไว้ด้วย ความแตกต่างตามธรรมประเพณีระหว่างบทบัญญัติของพระเจ้าจากคำแนะนำของพระวรสารมักจะเกี่ยวข้องกับความรัก ความครบครันของชีวิตคริสตชน บทบัญญัติมีเจตนาเพื่อให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่เข้ากันไม่ได้กับความรัก ส่วนคำแนะนำมีเจตนาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการ กระทำที่แม้จะไม่ขัดกับความรักโดยตรง แต่ก็อาจขัดขวางไม่ให้ความรักก้าวหน้าได้เท่าที่ควร[35]

 1974   คำแนะนำของพระวรสารแสดงให้เห็นว่าความรักสมบูรณ์ที่มีชีวิตชีวาไม่เคยพอใจที่จะไม่ให้อะไรเพิ่มเติมอีก คำแนะนำเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าเรายังมีแรงผลักดันและมีจิตใจพร้อมที่จะแสดงความรักอยู่เสมอ สาระสำคัญของความดีบริบูรณ์ของกฎใหม่นี้อยู่ที่ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ คำแนะนำ(ของพระวรสาร)ชี้มากขึ้นให้เห็นหนทางตรง วิธีการง่ายขึ้นที่เราจะต้องปฏิบัติตามกระแสเรียกของแต่ละคน

           “พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้แต่ละคนปฏิบัติตามข้อแนะนำทุกประการ แต่ทรงประสงค์ให้เราปฏิบัติตามเพียงแต่ข้อแนะนำที่เหมาะกับลักษณะเฉพาะตัว เวลา โอกาสและกำลังของแต่ละคน ตามที่ความรักเรียกร้องเท่านั้น เพราะความรักซึ่งเป็นเสมือนราชินีของคุณธรรมทั้งปวง ของบทบัญญัติทุกข้อของคำแนะนำทุกเรื่อง และในที่สุด ของกฎหมายและการปฏิบัติทุกประการของคริสตชน ย่อมจัดให้ทุกสิ่งมีที่อยู่ มีระเบียบตามลำดับ มีเวลา และมีคุณค่าของตน”[36]

 

[19] เทียบ ยรม 31:31-34.         

[20] Sanctus Augustinus, De sermone Domini in monte, 1, 1, 1: CCL 35, 1-2 (PL 34, 1229-1231).        

[21] เทียบ มธ 5:17-19.            

[22] เทียบ มธ 15:18-19.          

[23] เทียบ มธ 5:48.              

[24] เทียบ มธ 5:44.              

[25] เทียบ มธ 6:1-6,16-18.        

[26] เทียบ มธ 6:9-13.            

[27] เทียบ มธ 7:13-14.            

[28] เทียบ มธ 7:21-27.           

[29] เทียบ ลก 6:31.              

[30] เทียบ ยน 13:34.            

[31] เทียบ ยน 15:12.             

[32] เทียบ รม บทที่ 14 ; 1 คร บทที่ 5-10.           

[33] เทียบ ยก 1:25; 2:12.        

[34] เทียบ กท 4:1-7,21-31; รม 8:15-17.             

[35] Cf Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 184, a. 3: Ed. Leon. 10, 453-454.         

[36] Sanctus Franciscus de Sales, Traite de l’amour de Dieu, 8, 6: Oeuvres, v. 5 (Annecy 1894) p. 75.  

สรุป

สรุป

1975    ตามคำสอนของพระคัมภีร์ ธรรมบัญญัติเป็นคำสั่งสอนเยี่ยงบิดาของพระเจ้า ที่กำหนดแนวทางเพื่อนำเราไปพบความสุขที่ทรงสัญญาไว้และเพื่อหลีกเลี่ยงหนทางแห่งความชั่ว

1976    ธรรมบัญญัติเป็นการจัดระเบียบอย่างหนึ่งของเหตุผลเพื่อความดีส่วนรวมที่ได้รับการประกาศใช้บังคับจากผู้มีอำนาจปกครองดูแลชุมชน[37]

1977    พระคริสตเจ้าทรงเป็นจุดหมายของธรรมบัญญัติ[38] พระองค์ทรงเป็นคนเดียวเท่านั้นที่สอนและประทานความยุติธรรมของพระเจ้า

1978    กฎตามธรรมชาติเป็นการที่มนุษย์ ซึ่งถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระผู้เนรมิตสร้าง มีส่วนร่วมกับพระปรีชาญาณและความดีของพระเจ้า กฎนี้แสดงให้เห็นศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์และกำหนดที่มาของสิทธิและหน้าที่ขั้นพื้นฐานของเขา

1979    กฎตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และมั่งคงอยู่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ กฎระเบียบต่างๆ ที่แสดงออกถึงกฎตามธรรมชาตินี้ยังคงมีผลบังคับใช้ในสาระสำคัญ กฎนี้เป็นพื้นฐานจำเป็นสำหรับการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องความประพฤติและกฎหมายบ้านเมือง

1980    ธรรมบัญญัติดั้งเดิมเป็นสภาพแรกของการเปิดเผยธรรมบัญญัติจากพระเจ้า ข้อกำหนดด้านความประพฤติของธรรมบัญญัตินี้มีสรุปไว้ในพระบัญญัติสิบประการ

1981    ธรรมบัญญัติของโมเสสมีความจริงหลายข้อที่เราเข้าถึงได้โดยใช้เหตุผลตามธรรมชาติ พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงเหล่านี้ก็เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้อ่านความจริงเหล่านี้ซึ่งอยู่ในใจของตน

1982    ธรรมบัญญัติดั้งเดิมเป็นการเตรียมแบบหนึ่งไว้สำหรับพระวรสาร

1983    ธรรมบัญญัติใหม่เป็นพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่เราได้รับผ่านทางความเชื่อในพระคริสตเจ้าและทำงานอาศัยความรัก ธรรมบัญญัติใหม่นี้แสดงให้ปรากฏเป็นพิเศษในบทเทศน์บนภูเขาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อประทานพระหรรษทานให้แก่เรา

1984    กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติดั้งเดิมสมบูรณ์ขึ้น ก้าวข้ามธรรมบัญญัติดั้งเดิมและนำธรรมบัญญัตินี้ให้บรรลุถึงความสมบูรณ์ ทำให้คำสัญญาของธรรมบัญญัติดั้งเดิมบรรลุความสมบูรณ์โดยกล่าวถึงความสุขแท้ของพระอาณาจักรสวรรค์ ทำให้ข้อกำหนดของธรรมบัญญัติดั้งเดิมบรรลุความสมบูรณ์โดยปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นบ่อเกิดของกิจกรรมต่างๆ ที่ธรรมบัญญัตินั้นกำหนดไว้

1985    ธรรมบัญญัติใหม่เป็นธรรมบัญญัติของความรัก ธรรมบัญญัติของพระหรรษทาน ธรรมบัญญัติของเสรีภาพ

1986    นอกจากบทบัญญัติข้อบังคับแล้ว ธรรมบัญญัติใหม่ยังรวมคำแนะนำของพระวรสารไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรยังได้รับการส่งเสริมจากคำแนะนำหลากหลายด้วยวิธีการพิเศษที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเสนอแนะไว้ในพระวรสารให้บรรดาศิษย์ของพระองค์ปฏิบัติอีกด้วย[39]

 

[37] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 90, a. 4, c: Ed. Leon. 7, 152. 

[38] เทียบ รม 10:4.              

[39] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42: AAS 57 (1965) 48.   

ตอนที่สอง

พระหรรษทานและการประทานความชอบธรรม

I. การประทานความชอบธรรม

I. การประทานความชอบธรรม

 1987   พระหรรษทานของพระจิตเจ้ามีพลังที่จะประทานความชอบธรรมแก่เรา นั่นคือ ชำระล้างเราให้พ้นจากบาปและทำให้เราได้รับความชอบธรรมของพระเจ้าอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า[40] และศีลล้างบาป[41]

            “ถ้าเราตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว เราก็จะมีชีวิตพร้อมกับพระองค์ด้วย เรารู้ว่าพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้วจะไม่สิ้นพระชนม์อีก ความตายไม่มีอำนาจเหนือพระองค์อีกต่อไป เพราะเมื่อสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ทรงตายครั้งเดียวจากบาปตลอดไป เมื่อมีพระชนมชีพก็มีพระชนมชีพเพื่อพระเจ้า ดังนี้ ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ต้องถือว่าท่านตายจากบาปแล้ว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าในพระคริสตเยซู” (รม 6:8-11)

 1988  เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า เรามีส่วนร่วมพระทรมานของพระคริสตเจ้า ตายจากบาป และมีส่วนร่วมการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ บังเกิดมีชีวิตใหม่ เราเป็นส่วนพระวรกายของพระองค์ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร[42] เป็นเสมือนกิ่งองุ่นที่ติดอยู่กับเถาองุ่น คือพระองค์นั่นเอง[43]

           “เดชะพระจิตเจ้า เราได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมพระธรรมชาติกับพระเจ้า […] อาศัยการมีส่วนร่วมกับพระจิตเจ้า เราก็มีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า […] ไม่ใช่เพราะเหตุอื่นใด ผู้ที่พระจิตเจ้าประทับอยู่ด้วย ก็มีพระธรรมชาติของพระเจ้า”[44]

 1989  งานแรกจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้าก็คือ การกลับใจ ซึ่งทำให้เกิดการประทานความชอบธรรมตามข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงแจ้งไว้ในตอนต้นของพระวรสาร “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (มธ 4:17) อาศัยพลังดลใจของพระหรรษทาน มนุษย์หันกลับมาหาพระเจ้าและปลีกตนออกจากบาป และดังนี้จึงรับการอภัยและความชอบธรรมจากเบื้องบน “การประทานความชอบธรรม […] ไม่เป็นแต่เพียงการให้อภัยบาปเท่านั้น แต่ยังเป็นการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์และรื้อฟื้นมนุษย์ภายในด้วย”[45]

 1990  การประทานความชอบธรรมทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากบาป ซึ่งเป็นการปฏิเสธความรักของพระเจ้า และชำระจิตใจของเขาให้พ้นจากบาป การประทานความชอบธรรมเกิดจากการริเริ่มของพระกรุณาของพระเจ้าผู้ประทานการให้อภัย การประทานความชอบธรรมนี้ทำให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้า ช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระและบำบัดรักษาเขาจากอำนาจของบาป

 1991  การประทานความชอบธรรมในเวลาเดียวกันยังเป็นการยอมรับความชอบธรรมของพระเจ้าอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ที่นี่ ความชอบธรรมยังหมายถึงความเที่ยงตรงของความรักของพระเจ้า พร้อมกับการประทานความชอบธรรม พระเจ้าทรงหลั่งความเชื่อ ความหวังและความรักลงมาในใจของเรา และยังโปรดให้เราเชื่อฟังพระประสงค์ของพระองค์ได้อีกด้วย

 1992  การประทานความชอบธรรมเป็นบุญกุศลที่พระคริสตเจ้าทรงได้มาเพื่อเราอาศัยพระทรมานที่ทรงรับเพื่อถวายพระองค์เป็นเครื่องบูชามีชีวิต ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าบนไม้กางเขน และพระโลหิตของพระองค์เป็นเครื่องมือที่ทรงใช้เพื่อชดเชยบาปของมวลมนุษย์ พระเจ้าประทานความชอบธรรมให้เราอาศัยศีลล้างบาป ซึ่งเป็นศีลแห่งความเชื่อ การประทานความชอบธรรมนี้ทำให้เราเข้าร่วมมีความชอบธรมกับพระเจ้าผู้ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรมภายในอาศัยพลังแห่งพระกรุณาของพระองค์ การประทานความชอบธรรมนี้มีพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและของ
พระคริสตเจ้าเป็นจุดหมายและมีชีวิตนิรันดรเป็นของประทาน[46]

           “แต่บัดนี้ ความเที่ยงธรรมที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้นตามที่หนังสือธรรมบัญญัติและประกาศกเป็นพยานถึงนั้นปรากฏให้เห็นแล้วนอกเหนือธรรมบัญญัติ ความเที่ยงธรรมที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้นซึ่งพระองค์ประทานให้ทุกคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าไม่มีความแตกต่างใดๆ อีก ทุกคนทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า แล้วทุกคนก็ได้รับความชอบธรรมเป็นของประทานโดยทางพระหรรษทานอาศัยการไถ่กู้เราให้เป็นอิสระในพระคริสตเยซู พระเจ้าทรงสถาปนาพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปโดยอาศัยความเชื่อและโดยอาศัยการหลั่งโลหิต เพื่อจะได้แสดงความเที่ยงธรรมของพระองค์ โดยทรงอดกลั้น ไม่ทรงลงโทษบาปในอดีต ในเวลาแห่งความพากเพียรของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงความเที่ยงธรรมในปัจจุบันเพื่อทรงเป็นผู้ที่เที่ยงธรรม และเพื่อทรงบันดาลให้ผู้มีความเชื่อในพระเยซูเจ้ากลับเป็นผู้ชอบธรรม” (รม 3:21-26)

 1993   การประทานความชอบธรรมทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพระหรรษทานของพระเจ้ากับเสรีภาพของมนุษย์  เสรีภาพของมนุษย์ ในด้านของมนุษย์ แสดงออกโดยการยอมรับพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงเชิญเขาให้กลับใจ และในการร่วมมือด้วยความรักกับการดลใจของพระจิตเจ้าซึ่งนำหน้าและคอยช่วยเหลือให้เขาเห็นด้วยกับพระองค์

          “เมื่อพระเจ้าทรงสัมผัสจิตใจของมนุษย์อาศัยการดลใจของพระจิตเจ้า หาใช่ว่ามนุษย์จะไม่ต้องทำอะไรเลยเมื่อรับการดลใจนั้น ทั้งนี้ก็เพราะเขายังอาจปฏิเสธการดลใจนั้นได้ และถ้าไม่มีพระหรรษทานของพระเจ้าคอยช่วยเหลือ เขาก็ไม่อาจเคลื่อนตนไปรับความชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าได้อย่างอิสระโดยความสมัครใจของตนเอง”[47]

 1994   การประทานความชอบธรรมเป็นกิจการประเสริฐสุดแห่งความรักของพระเจ้าที่แสดงให้ปรากฏในพระคริสตเยซูและประทานให้เราเดชะพระจิตเจ้า นักบุญออกัสตินคิดว่าการประทานความชอบธรรมเป็นงาน “ยิ่งใหญ่กว่าการเนรมิตสร้างสวรรค์และแผ่นดิน […] ทั้งสวรรค์และแผ่นดินจะผ่านพ้นไป […] แต่ความรอดพ้นและการรับความชอบธรรมของผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรนั้นจะคงอยู่ตลอดไป”[48] ท่านนักบุญยังคิดว่าการที่คนบาปได้รับความชอบธรรมนั้นยิ่งใหญ่กว่าการเนรมิตสร้างบรรดาทูตสวรรค์ในความชอบธรรมเสียอีก เพราะแสดงให้เห็นพระเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่กว่า(ของพระเจ้า)

 1995   พระจิตเจ้าทรงเป็นพระอาจารย์สอนชีวิตภายใน การประทานความชอบธรรม เพราะบันดาลให้ “มนุษย์ภายใน”[49] เกิดมา จึงหมายถึง การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ของมนุษย์ครบทั้งตัว

          “เมื่อก่อนนี้ ท่านได้มอบร่างกายเป็นทาสของความโสมมและความอธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีกฉันใด บัดนี้ ท่านจงมอบร่างกายให้เป็นทาสของความชอบธรรม เพื่อจะได้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ฉันนั้นเถิด […] บัดนี้ ท่านได้รับอิสระจากบาปมาเป็นทาสรับใช้พระเจ้าแล้ว ท่านได้รับประโยชน์อันนำไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ผลสุดท้ายก็คือชีวิตนิรันดร” (รม 6:19,22)

 

[40] เทียบ รม 3:22.              

[41] เทียบ รม 6:3-4.             

[42] เทียบ 1 คร บทที่ 12.          

[43] เทียบ ยน 15:1-4.            

[44] Sanctus Athanasius Alexandrinus, Epistula ad Serapionem, 1, 24: PG 26, 585-588.

[45] Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 7: DS 1528.       

[46] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 7: DS 1529.    

[47] Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 5: DS 1525.       

[48] Sanctus Augustinus, In Iohannis evangelium tractatus, 72, 3: CCL 36, 508 (PL 35, 1823).         

[49] เทียบ รม 7:22; อฟ 3:16.     

II. พระหรรษทาน

II. พระหรรษทาน

 1996   การรับความชอบธรรมของเรามาจากพระหรรษทานของพระเจ้า พระหรรษทานเป็นความโปรดปราน ความช่วยเหลือให้เปล่าที่พระเจ้าประทานแก่เรา เพื่อเราจะได้ตอบสนองการที่ทรงเรียกเราให้มาเป็นบุตรของพระเจ้า[50] เป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์[51] มีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า[52] และชีวิตนิรันดร[53]

 1997   พระหรรษทานเป็น การมีส่วนร่วมพระชนมชีพของพระเจ้า นำเราเข้ามาร่วมสนิทกับชีวิตพระตรีเอกภาพ อาศัยศีลล้างบาป คริสตชนมีส่วนรับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นศีรษะแห่งพระวรกาย(ทิพย์)ของพระองค์ ในฐานะ “บุตรบุญธรรม” ตั้งแต่นี้ไปเขาอาจเรียกพระเจ้าได้ว่า “พระบิดา” ร่วมกับพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เขารับชีวิตของพระจิตเจ้าผู้ประทานความรักให้เขาและทรงบันดาลให้เกิดพระศาสนจักร

 1998   การเรียกให้มารับชีวิตนิรันดรเช่นนี้เป็นการเรียกเหนือธรรมชาติ เพราะขึ้นอยู่กับการริเริ่มโดยอิสระเสรีของพระเจ้าทั้งหมด เพราะพระองค์เท่านั้นอาจทรงเปิดเผยและประทานพระองค์แก่เราได้ การนี้อยู่เหนือความสามารถเข้าใจและพลังความปรารถนาของมนุษย์ เช่นเดียวกับของสิ่งสร้างทั้งหลายด้วย[54]

 1999   พระหรรษทานของพระคริสตเจ้าเป็นของประทานที่ทรงให้เราเปล่าๆ สิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราเป็นชีวิตของพระองค์ที่ทรงหลั่งลงในวิญญาณของเราเดชะพระจิตเจ้าเพื่อบำบัดรักษาวิญญาณจากบาปและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้ เป็นพระหรรษทานที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ หรือ ทำให้เราเป็นเหมือนพระเจ้า (พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร) ที่เรารับในศีลล้างบาป พระหรรษทานนี้เป็นบ่อเกิดงานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเรา[55]

“ดังนั้น ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ สภาพเก่าผ่านพ้นไป สภาพใหม่เกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งมาจากพระเจ้า พระองค์ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์เดชะพระคริสตเจ้า” (2 คร 5:17-18)

 2000    พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรเป็นของประทานถาวร เป็นความพร้อมมั่นคงเหนือธรรมชาติที่ทำให้วิญญาณสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อจะได้ดำรงชีวิตกับพระเจ้าและปฏิบัติงานเพราะความรักต่อพระองค์ เราต้องแยกพระหรรษทานถาวร (habitual grace) ซึ่งเป็นความพร้อมมั่นคงเพื่อดำเนินชีวิตและปฏิบัติงานตามการเรียกร้องของพระเจ้า จากพระหรรษทานปัจจุบัน (actual grace) ซึ่งหมายถึงการที่พระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องจัดการไม่ว่าในการเริ่มกลับใจ หรือในการปฏิบัติงานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์สืบต่อไป

 2001   การเตรียมมนุษย์เพื่อรับพระหรรษทานก็เป็นผลงานของพระหรรษทานแล้ว พระหรรษทานเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปลุกและช่วยอุดหนุนความร่วมมือของเราเพื่อรับความชอบธรรมอาศัยความเชื่อและเพื่อรับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยความรัก พระเจ้าทรงทำให้งานที่ทรงเริ่มไว้ในตัวเราบรรลุผลสำเร็จ “เพราะพระองค์ทรงทำงานเมื่อทรงเริ่มทำให้ให้เรามีความปรารถนาอยากทำ และทรงร่วมงานกับเราที่อยากทำจนสำเร็จ”[56]

           “เมื่อทำงาน เราก็ทำงานจริงๆ แต่เราก็ร่วมทำงานกับพระองค์ที่ทรงทำงานด้วย เพราะพระกรุณาของพระองค์นำหน้าเราไปแล้ว พระกรุณานำหน้าเราเพื่อเราจะได้รับการบำบัดรักษา เพราะพระกรุณาจะตามเราเพื่อเลี้ยงดูเราที่ได้รับการบำบัดรักษาแล้วด้วย พระกรุณานำหน้าเราเพื่อเรียกเรา จะตามหลังเราเพื่อประทานความรุ่งโรจน์ให้เรา นำหน้าเพื่อให้เราดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสศรัทธา จะตามหลังเพื่อให้เราดำเนินชีวิตกับพระองค์เสมอไป เพราะถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย”[57]

 2002   การริเริ่มโดยเสรีของพระเจ้าย่อมเรียกร้องการตอบสนองโดยเสรีของมนุษย์ด้วย เพราะพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ประทานให้เขามีอิสระเสรี มีความสามารถที่จะรู้จักและรักพระองค์ด้วย วิญญาณจะมีความสัมพันธ์รักใครได้ก็โดยอิสระเสรีเท่านั้น พระเจ้าทรงสัมผัสและปลุกจิตใจมนุษย์โดยตรงไม่ต้องผ่านสิ่งใด พระองค์ทรงจัดไว้ในมนุษย์ให้ต้องการแสวงหาความจริงและความดีที่พระองค์เท่านั้นอาจตอบสนองได้เต็มที่ พระสัญญาจะประทาน “ชีวิตนิรันดร” ตอบสนองความต้องการนี้เกินกว่าความคาดหวังทั้งหลาย

          “เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงหยุดพักในวันที่เจ็ดหลังจากที่ได้ทรงปฏิบัติกิจการที่ดีมากของพระองค์แล้ว ดังที่ได้ตรัสไว้กับเราในหนังสือของพระองค์ ดังนั้น หลังจากที่เราได้ทำงานของเรา ‘ดีมาก’ เพราะพระองค์ประทานให้แล้ว เราก็จะหยุดพักในวันสะบาโตแห่งชีวิตนิรันดรในพระองค์ด้วย”[58]

 2003  ก่อนสิ่งใดอื่นทั้งหมดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระหรรษทานเป็นของประทานของพระจิตเจ้าซึ่งประทานให้เราเป็นผู้ชอบธรรมและศักดิ์สิทธิ์ แต่พระหรรษทานยังรวมถึงพระพรอื่นๆ ที่พระจิตเจ้าประทานแก่เราเพื่อทำให้เราร่วมงานของพระองค์ด้วย ทำให้เราช่วยให้ผู้อื่นสามารถรับความรอดพ้นและร่วมงานเสริมสร้างพระวรกาย(ทิพย์)ของพระคริสตเจ้า คือพระศาสนจักรได้ด้วย พระหรรษทานเหล่านี้เป็นพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพรเฉพาะของศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละศีล นอกจากนี้ยังมีพระหรรษทานพิเศษ ที่ยังเรียกอีกว่า พระพรพิเศษ (charismata) ตามคำภาษากรีกที่นักบุญเปาโลใช้ หมายถึง ‘ความโปรดปราน’ ‘พระพรที่ประทานให้เปล่า’ ‘ผลประโยชน์’[59] ไม่ว่าพระพรพิเศษเหล่านี้จะมีลักษณะอย่างไร และบางครั้งอาจจะพิเศษสุดๆด้วย เช่นพระพรทำอัศจรรย์หรือพูดภาษาต่างๆ พระพรพิเศษเหล่านี้ล้วนมีจุดหมายมุ่งหาพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร และมีจุดหมายเพื่อความดีส่วนรวมของพระศาสนจักร เพื่อรับใช้ความรักซึ่งเสริมสร้างพระศาสนจักร[60]

 2004    ในจำพวก “พระหรรษทานพิเศษ” เราต้องกล่าวถึง พระหรรษทานประจำสถานะ” (graces of state) ซึ่งหมายถึงพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ ควบคู่กับความรับผิดชอบในชีวิตคริสตชนและศาสนบริการที่คนใดคนหนึ่งต้องปฏิบติในพระศาสนจักร

            “เรามีพระพรพิเศษแตกต่างกันตามพระหรรษทานที่พระองค์ประทานให้ ผู้ได้รับพระพรที่จะประกาศพระวาจา ก็จงใช้พระพรนั้นมากน้อยตามส่วนความเชื่อของตน ผู้ที่ได้รับพระพรที่จะรับใช้ ก็จงรับใช้ ผู้ที่ได้รับพระพรที่จะสอน ก็จงสอน ผู้ที่ได้รับพระพรที่จะตักเตือน ก็จงตักเตือน ผู้ที่บริจาค ก็จงบริจาคด้วยความเอื้อเฟื้ออย่างจริงใจ ผู้ที่เป็นผู้นำ ก็จงทำหน้าที่ผู้นำด้วยความเอาใจใส่ ผู้ที่แสดงความเมตตากรุณา ก็จงแสดงความเมตตากรุณาด้วยใจยินดี” (รม 12:6-8)

 2005    เนื่องจากว่าพระหรรษทานเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติจึงไม่อยู่ใต้อำนาจของประสบการณ์ของเรา และเป็นที่รู้จักได้อาศัยความเชื่อเท่านั้น เราจึงไม่อาจใช้ประสาทสัมผัสหรือการทำงานของเรายืนยันหรือสรุปได้ว่าเราได้รับความชอบธรรมหรือรอดพ้นแล้ว[61] ถึงกระนั้น ตามพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา” (มธ 7:20) การพิจารณาจึงพระพรต่างๆ ของพระเจ้าในชีวิตของเราและของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นประกันให้เรารู้ว่าพระหรรษทานกำลังทำงานอยู่ในตัวเราและผลักดันเราให้มีความเชื่อและมีท่าทีแห่งความยากจนที่วางใจในพระเจ้ามากยิ่งๆ ขึ้นเสมอ

           ตัวอย่างงดงามของท่าทีเช่นนี้พบได้ในคำตอบของนักบุญโยนแห่งอาร์คต่อคำถามเพื่อจับผิดของผู้พิพากษาของพระศาสนจักรที่ถามว่าเธอรู้ไหมว่าตนอยู่ในสถานะพระหรรษทานของพระเจ้าหรือเปล่า เธอตอบว่า “ถ้าดิฉันไม่อยู่(ในสถานะพระหรรษทาน) ก็ขอให้พระเจ้าทรงบันดาลให้ดิฉันอยู่  ถ้าดิฉันอยู่(ในสถานะพระหรรษทาน)  ก็ขอพระเจ้าทรงยึดดิฉันมั่นไว้(ในสถานะนั้น)”[62]

 

[50] เทียบ ยน 1:12-18.           

[51] เทียบ รม 8:14-17.            

[52] เทียบ 2 ปต 1:3-4.           

[53] เทียบ ยน 17:3.              

[54] เทียบ 1 คร 2:7-9.            

[55] เทียบ ยน 4:14; 7:38-39.     

[56] Sanctus Augustinus, De gratia et libero arbitrio, 17,33: PL 44, 901.

[57] Sanctus Augustinus, De natura et gratia, 31, 35: CSEL 49, 258-259 (PL 44, 264).

[58] Sanctus Augustinus, Confessiones, 13, 36, 51: CCL 27, 272 (PL 32, 868).        

[59] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 16-17.

[60] เทียบ 1 คร บทที่ 12.          

[61] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 9: DS 1533-1534.

[62] Sancta Ioanna de Arco, Dictum: Proces de condamnation, ed. P. Tisset (Paris 1960) p. 62. 

III. คุณความดี (ความดีความชอบหรือบุญกุศล)

III. คุณความดี (ความดีความชอบหรือบุญกุศล)

           “พระองค์ทรงได้รับเกียรติท่ามกลางบรรดานักบุญในสวรรค์

              อันคุณความดีของนักบุญก็คือของประทานจากพระองค์”[63]

 2006   คำว่า “คุณความดี” หรือ “ความดีความชอบ” (merit) โดยปกติแล้วหมายถึง รางวัล (หรือค่าตอบแทน”) ที่ชุมชนหรือสังคมต้องตอบแทนให้เพราะการกระทำของสมาชิกคนหนึ่งไม่ว่าดีหรือชั่วตามที่เขาควรได้รับ ความดีความชอบเกี่ยวข้องกับคุณธรรมความยุติธรรมตามหลักการความเสมอภาคที่คอยควบคุมอยู่

 2007   เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ตามสิทธิอย่างเคร่งครัด มนุษย์ไม่อาจมีความดีความชอบได้เลย ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์มีความไม่เท่ากันที่ไม่อาจวัดได้ เพราะเราได้รับทุกสิ่งจากพระองค์ผู้ทรงเป็นพระผู้ทรงเนรมิตสร้างเรา

 2008   ความดีความชอบของมนุษย์เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าในชีวิตคริสตชนมาจากการที่ว่าพระเจ้าทรงจัดให้มนุษย์ร่วมแผนงานพระหรรษทานของพระองค์ได้โดยอิสระ การกระทำเยี่ยงบิดาของพระเจ้าเป็นงานแรกโดยการริเริ่มจากพระองค์ ตามมาด้วยการกระทำอย่างอิสระของมนุษย์ที่ร่วมงานกับพระองค์ ดังนั้นความดีความชอบของกิจการที่ดีเหล่านี้ก่อนอื่นใดจึงต้องถือว่าเป็นผลจากพระหรรษทานของพระเจ้า แล้วจึงถือว่าเป็นผลงานของผู้มีความเชื่อ นอกจากนั้น ความดีความชอบของมนุษย์เองก็เป็นของพระเจ้า เพราะกิจการที่ดีของพระองค์ในพระคริสตเจ้านี้สืบเนื่องมาจากการริเริ่มและความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า

 2009   การรับเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งอาศัยพระหรรษทานทำให้เรามีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า อาจทำให้เรามีความดีความชอบแท้จริงได้เดชะความเที่ยงธรรมของพระเจ้าที่พระองค์ประทานให้เราเปล่าๆ นี่จึงเป็นสิทธิของเราอาศัยพระหรรษทาน เป็นสิทธิแห่งความรักล้วนๆ ที่ทำให้เราเป็น “ทายาทร่วม” กับพระคริสตเจ้า และสมที่จะได้รับชีวิตนิรันดรเป็นมรดกตามที่ทรงสัญญาไว้[64] ความดีความชอบกิจการดีของเราเป็นของประทานจากความดีของพระเจ้า[65] “ก่อนอื่นหมด พระเจ้าประทานพระหรรษทานให้เรา แล้วเราจึงได้รับรางวัลที่ควรได้รับ […] ความดีความชอบของเราจึงเป็นของประทานจากพระองค์”[66]

 2010   ในเมื่อการริเริ่มในลำดับของพระหรรษทานที่เริ่มจากการกลับใจ การให้อภัยบาป และการบันดาลความชอบธรรมนั้นมาจากพระเจ้า จึงไม่มีผู้ใดมีความดีความชอบสมจะรับพระหรรษทานได้ แต่เมื่อได้รับพลังของพระจิตเจ้าและความรักแล้ว เราจึงอาจเหมาะสมจะรับพระหรรษทานทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่นเพื่อทำให้ตนศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเพิ่มพูนพระหรรษทานและความรัก และเพื่อจะรับชีวิตนิรันดรได้ เรายังอาจมีความดีความชอบที่จะรับแม้กระทั่งสิ่งดีๆ ชั่วคราวได้ เช่นสุขภาพดี มิตรภาพ ตามพระปรีชาญาณของพระเจ้า พระหรรษทานและของประทานเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้มาจากการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชน คำอธิษฐานภาวนานี้ยังจัดให้เรามีพระหรรษทานที่จำเป็นเพื่อเราจะประกอบกิจการที่เป็นคุณงามความดีสำหรับเราด้วย

 2011   ความรักของพระคริสตเจ้าเป็นบ่อเกิดความดีความชอบทุกอย่างในตัวเราเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระหรรษทานซึ่งรวมเรากับพระคริสตเจ้าอาศัยความรักที่แสดงออกทางกิจการ แสดงให้เห็นลักษณะเหนือธรรมชาติของกิจการที่เราทำ และดังนี้จึงแสดงให้เห็นความดีความชอบของกิจการเหล่านี้เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์ บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์มีความสำนึกที่มีชีวิตชีวาอยู่เสมอว่าความดีความชอบของตนเป็นพระหรรษทานล้วนๆ

            “หลังจากการถูกเนรเทศในโลกนี้แล้ว ดิฉันหวังว่าจะไปพบพระองค์เพื่อรับความสุขจากพระองค์ในบ้านแท้ แต่ดิฉันไม่ต้องการสะสมความดีความชอบไว้สำหรับเมืองสวรรค์ ดิฉันต้องการทำงานเพราะความรักต่อพระองค์เท่านั้น […] ในตอนเย็นของชีวิตนี้ดิฉันอยากปรากฏตัวเฉพาะพระพักตร์พระองค์โดยไม่มีอะไรในมือ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะดิฉันไม่ขอพระองค์ให้ตีค่าการงานของดิฉัน ความชอบธรรมทั้งหลายของเราล้วนมีมลทินเฉพาะพระพักตร์พระองค์ ดังนั้น ดิฉันจึงอยากสวมตนเองด้วยความเที่ยงธรรมโดยเฉพาะของพระองค์เท่านั้น และอยากรับพระองค์เองเป็นสมบัตินิรันดรจากความรักของพระองค์....”[67]

 

[63] Praefatio de sanctis, I: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 428; cf « Doctor gratiae », Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 102, 7: CCL 40, 1457 (PL 37, 1321).           

[64] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 16: DS 1546.   

[65] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 16: DS 1548.   

[66] Sanctus Augustinus, Sermo 298,4-5: SPM 1, 98-99 (PL 38, 1367).

[67] Sancta Theresia a Iesu Infante, Acte d’offrande à l’Amour miséricordieux: Récréations pieuses - Prières (Paris 1992) p. 514-515.       

IV. ความศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชน

IV. ความศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชน

 2012   “พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์ […]  เพราะผู้ที่พระองค์ทรงทราบล่วงหน้านั้น พระองค์ทรงกำหนดจะให้เป็นภาพลักษณ์ของพระบุตรของพระองค์ด้วย เพื่อพระบุตรจะได้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก ผู้ที่ทรงกำหนดไว้แล้วนั้น พระองค์ทรงเรียก ผู้ที่ทรงเรียกนั้น พระองค์ทรงบันดาลให้เป็นผู้ชอบธรรม ผู้ที่ทรงบันดาลให้ชอบธรรมนั้น พระองค์ประทานพระสิริรุ่งโรจน์ให้ด้วย” (รม 8:28-30)

 2013   “คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรืออาชีพใดๆ ต่างก็ได้รับเรียกให้มาดำเนิน   ชีวิตคริสตชนอย่างครบครันและบรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์”[68] ทุกคนได้รับเรียกให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ “ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48)

            “เพื่อบรรลุถึงความดีอย่างสมบูรณ์นี้ บรรดาผู้มีความเชื่อต้องใช้พลังตามส่วนพระพรของพระคริสตเจ้าที่เขาได้รับ เพื่อว่า […] เมื่อเขาปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาในทุกสิ่ง เขาจะได้สละตนอย่างสุดจิตใจรับใช้เพื่อนพี่น้องด้วย ดังนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของประชากรของพระเจ้าก็จะบังเกิดผลอย่างอุดมบริบูรณ์ ดังที่ได้ปรากฏชัดเจนในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรผ่านทางการดำเนินชีวิตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จำนวนมาก”[69]

 2014   ความก้าวหน้าด้านจิตวิญญาณมุ่งไปสู่ความสนิทสัมพันธ์ยิ่งขึ้นอยู่เสมอกับพระคริสตเจ้า ความสนิทสัมพันธ์นี้ได้ชื่อว่าความสัมพันธ์ “ล้ำลึก” (mystica) เพราะมีส่วนร่วมกับพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ – หรือ “พระธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์” (sancta mysteria) –  และในพระธรรมล้ำลึกนี้ กับพระธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง พระเจ้าทรงเรียกเราทุกคนให้เข้ามาร่วมความสัมพันธ์ลึกซึ้งนี้กับพระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะประทานเครื่องหมายพิเศษของชีวิตสนิทสัมพันธ์ “ล้ำลึก” เช่นนี้แก่บางคนเท่านั้นเพื่อแสดงว่าพระพรนี้เป็นพระพรที่พระองค์ประทานเปล่าๆ ให้แก่ทุกคน

 2015   หนทางไปสู่ความดีบริบูรณ์ย่อมผ่านทางไม้กางเขน ความศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจมีได้โดยไม่มีการสละตนและโดยไม่ต้องสู้รบทางจิตใจ[70] ความก้าวหน้าด้านจิตใจหมายถึงการบำเพ็ญพรตและการสละตนซึ่งค่อยๆ นำเราให้ดำเนินชีวิตในสันติและความยินดีแห่งความสุขแท้

         “เมื่อเราเริ่มต้นแล้ว เราต้องไต่ขึ้นเสมอไปไม่มีวันหยุด ความปรารถนาของผู้ที่ไต่ขึ้นต้องไม่เคยหยุดอยู่ที่สิ่งที่เรารู้แล้วเลย”[71]

 2016   เป็นการถูกต้องแล้วที่บรรดาบุตรของพระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ของเรามีความหวังจะได้รับพระหรรษทานที่จะมั่นคงอยู่จนถึงวาระสุดท้าย และรางวัลตอบแทนจากพระเจ้าพระบิดาของตนเพราะกิจการดีที่ได้ทำอาศัยพระหรรษทานจากพระองค์โดยร่วมสนิทกับพระพระเยซูเจ้า[72] โดยหลักการเดียวกันนี้ บรรดาผู้มีความเชื่อย่อมมีส่วนใน “ความหวังในความสุข” ของบรรดาผู้ที่พระกรุณาของพระเจ้ารวบรวมเข้าไว้ใน “นครศักดิ์สิทธิ์ คือนครเยรูซาเล็มใหม่ที่ลงมาจากสวรรค์ ลงมาจากพระเจ้า เตรียมพร้อมเหมือนกับเจ้าสาวที่แต่งตัวรอเจ้าบ่าว” (วว 21:2)

 

[68] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 40: AAS 57 (1965) 45.   

[69] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 40: AAS 57 (1965) 45.   

[70] เทียบ 2 ทธ บทที่ 4.          

[71] Sanctus Gregorius Nyssenus, In Canticum homilia 8: Gregorii Nysseni opera, ed. W. Jaeger-H. Langerbeck, v. 6 (Leiden 1960) p. 247 (PG 44,941).

[72] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canon 26: DS 1576.

สรุป

สรุป

 2017    พระหรรษทานของพระจิตเจ้าประทานความชอบธรรมของพระเจ้าแก่เรา อาศัยความเชื่อและศีลล้างบาป  พระจิตเจ้าทรงรวมเราไว้กับพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ทรงทำให้เรามีส่วนในพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าด้วย

 2018    การประทานความชอบธรรมมีลักษณะสองประการเช่นเดียวกับการกลับใจ พระหรรษทานผลักดันมนุษย์ให้หันกลับมาหาพระเจ้าและปลีกตัวจากบาป และดังนี้จึงได้รับการอภัยและความชอบธรรมจากเบื้องบน

 2019    การประทานความชอบธรรมรวมการให้อภัยบาป การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และการรื้อฟื้นจิตใจภายในของมนุษย์ด้วย

 2020    การประทานความชอบธรรมแก่เราเป็นความดีความชอบอาศัยพระทรมานของพระคริสตเจ้า พระเจ้าประทานความชอบธรรมแก่เราอาศัยศีลล้างบาป การประทานความชอบธรรมทำให้เราละม้ายคล้ายกับความเที่ยงธรรมของพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้เราเป็นผู้ชอบธรรม การนี้มีจุดประสงค์คือ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และของพระคริสตเจ้า รวมทั้งชีวิตนิรันดร การนี้จึงเป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดจากพระเมตตาของพระเจ้า

 2021    พระหรรษทานเป็นความช่วยเหลือที่พระเจ้าประทานให้เราตอบสนองการที่ทรงเรียกเราเพื่อเราจะได้กลับเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ พระหรรษทานทำให้เราเข้ามาชิดสนิทกับพระชนมชีพของพระตรีเอกภาพ

 2022    การริเริ่มจากพระเจ้าในการปฏิบัติงานของพระหรรษทานนำหน้า ตระเตรียม และปลุกการตอบรับอย่างอิสระของมนุษย์ พระหรรษทานตอบสนองความปรารถนาลึกซึ้งของมนุษย์ที่จะได้รับอิสรภาพ เรียกหาอิสรภาพให้มาร่วมงานกับตน และทำให้อิสรภาพนี้สมบูรณ์

 2023    พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรเป็นของประทานที่ทรงให้เราเปล่าๆ สิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราเป็นชีวิตของพระองค์ที่ทรงหลั่งลงในวิญญาณของเราเดชะพระจิตเจ้าเพื่อบำบัดรักษาวิญญาณจากบาปและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้

 2024    พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรทำให้เราเป็นที่โปรดปรานแด่พระเจ้าบรรดาพระพรและพระหรรษทานพิเศษของพระจิตเจ้าล้วนมุ่งไปหาพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรและมีความดีส่วนรวมของพระศาสนจักรเป็นจุดหมาย พระเจ้ายังทรงทำงานอาศัยพระหรรษทานปัจจุบันอีกหลายประการซึ่งต่างจากพระหรรษทาน(ศักดิ์สิทธิกร)ถาวรที่อยู่กับเราเสมอไป

 2025    เรามีคุณงามความดีเฉพาะพระเจ้าไม่ได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามแผนงานอิสระที่ทรงให้มนุษย์ร่วมงานกับพระหรรษทานของพระองค์ ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด คุณงามความดีจึงเกี่ยวข้องกับพระหรรษทานของพระเจ้า ต่อมาจึงเกี่ยวข้องกับความร่วมมือของมนุษย์ คุณงามความดีของมนุษย์จึงนับได้ว่าเป็นผลงานของพระเจ้า

 2026    พระหรรษทานของพระจิตเจ้าอาจประทานคุณงามความดีแท้จริงแก่เราตามความเที่ยงธรรมของพระเจ้า เพราะการที่เราเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ แต่เราก็ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องคุณงามความดีนี้ได้ ความรักเป็นบ่อเกิดสำคัญของคุณงามความดีในตัวเราเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า

 2027    ไม่มีผู้ใดสมควรจะได้รับพระหรรษทานซึ่งเป็นบ่อเกิดการกลับใจได้ แต่จากการดลใจของพระจิตเจ้าเราทุกคนอาจทำความดีสมที่จะรับพระหรรษทานที่เป็นประโยชน์สำหรับตนเองและสำหรับผู้อื่นเพื่อบรรลุถึงชีวิตนิรันดรได้ เช่นเดียวกันเพื่อรับพระพรทางโลกที่จำเป็นด้วย

 2028    คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน […] ต่างก็ได้รับเรียกให้มาดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างครบครันและบรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์[73]ในเรื่องคุณธรรม เราได้เรียนรู้จากท่านอัครสาวกว่ามีขอบเขตนี้เท่านั้น นั่นคือในเรื่องคุณธรรมนั้นไม่มีขอบเขตใดเลย[74]

 2029    ถ้าผู้ใดอยากตามเรา  ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง  จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ 16:24)

 

[73] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 40: AAS 57 (1965).    

[74] Sanctus Gregorius Nyssenus, De vita Moysis, 1, 5: ed. M. Simonetti (Vicenza 1984) p. 10 (PG 44, 300).             

ตอนที่สาม

พระศาสนจักร มารดาและอาจารย์

 2030   ในพระศาสนจักร คริสตชนทำให้การเรียกของตนสมบูรณ์ในความสัมพันธ์กับทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว จากพระศาสนจักร เขารับพระวาจาซึ่งบรรจุคำสอนเรื่อง “กฎหมายของพระคริสตเจ้า”[75] จากพระศาสนจักร เขารับพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่คอยค้ำจุนเขาไว้ใน “หนทาง”  จากพระศาสนจักร เขาเรียนรู้ แบบอย่างของความศักดิ์สิทธิ์ และรู้ว่ารูปแบบและบ่อเกิดของความศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ในพระนางพรหมจารีมารีย์  เขาแลเห็นความศักดิ์สิทธิ์ในการเป็นพยานแท้จริงของคนเหล่านั้นที่ดำเนินชีวิตตามความศักดิ์สิทธิ์ เขาค้นพบความศักดิ์สิทธิ์ในธรรมประเพณีด้านจิตใจและในประวัติศาสตร์ยาวนานของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ล่วงหน้าเขาไปแล้วและที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เฉลิมฉลองตามลำดับในปฏิทินของบรรดานักบุญ

 2031   การดำเนินชีวิตตามศีลธรรมเป็นคารวกิจฝ่ายจิต “เราถวายร่างกายของเราเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พอพระทัยแด่พระเจ้า”[76] ในพระวรกายของพระคริสตเจ้าที่เรารวมกันเป็นและโดยร่วมกับการถวายบูชาขอบพระคุณของพระองค์  ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คำภาวนาและคำสอนรวมกับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าเพื่ออธิบายและหล่อเลี้ยงกิจกรรมต่างๆแบบคริสตชน  เช่นเดียวกับชีวิตคริสตชนทั้งหมด ชีวิตศีลธรรมของคริสตชนมีจุดกำเนิดและจุดยอดอยู่ที่พิธีบูชาขอบพระคุณ

 

[75] เทียบ กท 6:2.

[76] เทียบ รม 12:1.

I. ชีวิตศีลธรรมและอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร

I. ชีวิตศีลธรรมและอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร

 2032 พระศาสนจักร “ซึ่งเป็นหลักและรากฐานของความจริง” (1 ทธ 3:15) “ได้รับพระบัญชาอย่างสง่าของพระคริสตเจ้าจากบรรดาอัครสาวกให้ประกาศความจริงที่บันดาลความรอดพ้น”[77] “เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่จะต้องประกาศหลักการด้านศีลธรรมและเกี่ยวกับระเบียบของสังคมทุกเวลาและสถานที่  รวมทั้งให้คำตัดสินเกี่ยวกับกิจกรรมบางประการของมนุษย์ในฐานะที่สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลมนุษย์หรือความรอดพ้นของวิญญาณเรียกร้องเช่นนี้”[78]

 2033   บรรดาผู้อภิบาลของพระศาสนจักรใช้อำนาจสั่งสอนของตนในเรื่องศีลธรรมโดยปกติในการสอนคำสอนและเทศน์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากผลงานของบรรดานักเทววิทยาและผู้ปฏิบัติเรื่องชีวิตจิต ด้วยวิธีนี้ โดยการนำและคอยดูแลของบรรดาผู้อภิบาล “คลัง”คำสั่งสอนด้านศีลธรรมคริสต์ที่ประกอบด้วยการรวมกฎเกณฑ์ คำสั่งสอนและคุณธรรมต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในพระคริสตเจ้าและส่งเสริมชีวิตเนื่องมาจากความรัก ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากชั่วอายุหนึ่งถึงอีกชั่วอายุหนึ่ง  โดยธรรมประเพณี การสอนคำสอนเช่นนี้ได้รับพระบัญญัติสิบประการมาเป็นดังพื้นฐาน พร้อมกับสูตรประกาศยืนยันความเชื่อ บท “ข้าแต่พระบิดา” บัญญัติสิบประการนี้ประกาศหลักการเบื้องต้นของชีวิตศีลธรรมที่มีผลบังคับใช้ได้สำหรับมนุษย์ทุกคน

 2034    สมเด็จพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราช ในฐานะ “ผู้สอนทางการหรือได้รับมอบหมายอำนาจของพระคริสตเจ้า […] ย่อมเทศน์สอนประชากรที่พระเจ้าทรงมอบไว้ให้ปกครองดูแลรู้จักความเชื่อที่ได้รับมอบไว้ให้เชื่อและนำไปปฏิบัติใช้ในการดำเนินชีวิต”[79] อำนาจสอนสามัญและครอบคลุมทั่วพระศาสนจักรของสมเด็จพระสันตะปาปาและพระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับพระองค์ย่อมสอนบรรดาผู้มีความเชื่อถึงความจริงที่ต้องเชื่อ ความรักที่ต้องปฏิบัติ และความสุขแท้ที่ต้องหวัง

 2035    การมีส่วนในพระอำนาจของพระคริสตเจ้าขั้นสูงสุดมีประกันจากพระพรพิเศษของการไม่รู้จัก หลงผิด (infallibilitas) การไม่รู้จักหลงผิดนี้ “ครอบคลุมไปถึงขุมทรัพย์ความจริงเท่าที่พระเจ้าทรงเปิดเผย”[80] และยังขยายไปถึงองค์ประกอบทุกประการของคำสอนด้วย รวมทั้งคำสอนเรื่องศีลธรรม ซึ่งถ้าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว เราก็ไม่อาจรักษาไว้ อธิบาย หรือปฏิบัติตามได้[81]

 2036   ขอบเขตของอำนาจสอนของพระศาสนจักรนี้ยังขยายไปถึงบัญญัติของกฎธรรมชาติด้วย เพราะการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ได้รับการขอร้องจากพระผู้เนรมิตสร้างและจำเป็นสำหรับความรอดพ้น เมื่อผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักรเชิญชวนให้ระลึกข้อกำหนดของกฎธรรมชาติ ท่านเหล่านี้ก็ปฏิบัติบทบาทสำคัญของหน้าที่ประกาศกที่จะต้องประกาศให้มนุษย์รู้ว่าโดยแท้จริงแล้วตนเป็นอะไรและเตือนให้ระลึกด้วยว่าตนต้องเป็นอะไรเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า[82]

 2037   กฎของพระเจ้าที่ทรงมอบไว้แก่พระศาสนจักรยังถูกมอบไว้ให้เป็นหนทางแห่งชีวิตและความจริงแก่ผู้มีความเชื่อ บรรดาผู้มีความเชื่อจึงมีสิทธิ[83]ที่จะได้รับการสอนถึงกฎบัญญัติของพระเจ้าเรื่องความรอดพ้น ซึ่งใช้พระหรรษทานชำระคำตัดสินและบำบัดรักษาบาดแผลเหตุผลของมนุษย์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามธรรมนูญและกฤษฎีกาที่ประกาศโดยอำนาจปกครองตามกฎหมายของพระศาสนจักร ข้อกำหนดเหล่านี้ แม้ว่าเป็นระเบียบจะต้องปฏิบัติ ก็ยังเรียกร้องให้ปฏิบัติตามอย่างว่านอนสอนง่ายในความรัก

 2038   ในงานสอนและนำคำสอนด้านศีลธรรมมาบังคับใช้ พระศาสนจักรต้องการความเอาใจใส่ของบรรดาผู้อภิบาล ความรู้ของบรรดานักเทววิทยา ความช่วยเหลือของคริสตชนและของผู้มีน้ำใจดีทุกคน ความเชื่อและการปฏิบัติตามพระวรสารช่วยให้แต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิต “ในพระคริสตเจ้า” ซึ่งเป็นแสงส่องนำชีวิตของเขาและทำให้เขารู้จักตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ตามมาตรการของพระจิตเจ้า[84] ดังนี้ พระจิตเจ้าอาจใช้ผู้ต่ำต้อยที่สุดเพื่อส่องสว่างแก่ผู้มีปรีชาและมีเกียรติสูงส่งได้

 2039   ศาสนบริการในพระจิตเจ้าต้องใช้เพื่อรับใช้พี่น้องและพระศาสนจักรเดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า[85] ในขณะเดียวกัน มโนธรรมของแต่ละคนในการตัดสินด้านศีลธรรมเกี่ยวกับการ กระทำส่วนตัวต้องหลีกเลี่ยงไม่ปิดตัวคิดถึงแต่เรื่องของตนเองเท่านั้น เท่าที่จะทำได้ เขาต้องพยายามที่จะเปิดตัวคิดถึงผลประโยชน์ของทุกคนตามที่มีกล่าวไว้ในกฎศีลธรรมตามธรรมชาติและที่ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า และดังนี้ในกฎหมายของพระศาสนจักรและในคำสั่งสอนทางการของอำนาจสั่งสอนเกี่ยวกับปัญหาด้านศีลธรรม มโนธรรมส่วนตัวและเหตุผลต้องไม่ขัดสู้กับกฎด้านศีลธรมหรืออำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร

 2040   ดังนี้ จิตตารมณ์เยี่ยงบุตรอย่างแท้จริงต่อพระศาสนจักรย่อมพัฒนาขึ้นได้ในหมู่คริสตชน จิตตารมณ์นี้เป็นการขยายตัวตามปกติของพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปซึ่งทำให้เราเกิดในครรภ์ของพระศาสนจักรและเป็นส่วนต่างๆ ในพระวรกายของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเอาใจใส่ต่อเราเยี่ยงมารดา ประทานพระกรุณาของพระเจ้าแก่เรา พระกรุณานี้ทรงพลังเหนือบาปของเราและทำงานโดยเฉพาะในศีลแห่งการคืนดี พระศาสนจักรในฐานะมารดาที่คอยเอาใจใส่ดูแลยังจัดในพิธีกรรมของตนให้เราได้รับพระวาจาและพิธีบูชาขอบพระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของเราทุกวัน

 

[77] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 17: AAS 57 (1965) 21.     

[78] CIC canon 747, § 2.         

[79] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 29.    

[80] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 30.   

[81] Cf Sacra Congregatio pro Doctrina fidei, Decl. Mysterium Ecclesiae, 3: AAS 65 (1973) 401.         

[82] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 14: AAS 58 (1966) 940.    

[83] Cf CIC canon 213.          

[84] เทียบ 1 คร 2:10-15.         

[85] เทียบ รม 12:8,11.           

II. บทบัญญัติของพระศาสนจักร

II. บทบัญญัติของพระศาสนจักร

 2041    บทบัญญัติของพระศาสนจักรถูกจัดไว้ตามแนวชีวิตศีลธรรมโดยเกี่ยวข้องและได้รับการหล่อเลี้ยงจากชีวิตด้านพิธีกรรม ลักษณะเป็นข้อบังคับของกฎที่ผู้มีอำนาจปกครองด้านอภิบาลประกาศใช้เหล่านี้มีเจตนาช่วยให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้มีหลักการที่จำเป็นให้น้อยที่สุดเกี่ยวกับจิตตารมณ์การภาวนาและความพยายามในเรื่องความประพฤติให้เพิ่มพูนความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง

 2042   บทบัญญัติประการแรก (“จงร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณและหยุดทำงานในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ”) เรียกร้องให้ผู้มีความเชื่อทำให้วันที่ระลึกถึงการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันสมโภชสำคัญทางพิธีกรรมที่เฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระนางพรหมจารีมารีย์และบรรดานักบุญ เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะโดยการร่วมเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณ ที่ชุมชนคริสตชนมาร่วมชุมนุมกัน พร้อมทั้งพักผ่อนจากการงานและธุรกิจที่อาจขัดขวางมิให้ทำให้วันเหล่านี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ได้[86]

             บทบัญญัติประการที่สอง (“จงรับศีลอภัยบาปอย่างน้อยปีละครั้ง”) ช่วยการเตรียมตัวเพื่อรับศีลมหาสนิทโดยการรับศีลแห่งการคืนดีซึ่งเป็นการสืบต่องานการกลับใจและรับอภัยบาปของศีลล้างบาป[87]

             บทบัญญัติประการที่สาม (“จงรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้งในกำหนดปัสกา”) แสดงการเรียกร้องน้อยที่สุดในการรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าในความสัมพันธ์กับการฉลองต่างๆในเทศกาลปัสกาซึ่งเป็นบ่อเกิดและศูนย์กลางของพิธีกรรมของคริสตชน[88]

 2043  บทบัญญัติประการที่สี่ (“จงอดอาหารและอดเนื้อในวันที่กำหนด”) กำหนดเวลาการสละตนเองและปฏิบัติกิจชดเชยบาปช่วยเราให้เตรียมวันฉลองทางพิธีกรรมและฝึกฝนให้รู้จักควบคุมตนเองและมีอิสระทางจิตใจ[89]

            บทบัญญัติประการที่ห้า (“จงบำรุงพระศาสนจักรตามความสามารถ”) ประกาศว่าบรรดาผู้มีความเชื่อแต่ละคนยังมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือความจำเป็นด้านวัตถุของพระศาสนจักรตามความสามารถของตน[90]

 

[86] Cf CIC canones 1246-1248; CCEO canones 880, § 3. 881, §§ 1. 2. 4.           

[87]  Cf CIC canon 989; CCEO canon 719.         

[88] Cf CIC canon 920; CCEO canones 708. 881, § 3.              

[89] Cf CIC canones 1249-1251; CCEO canon 882. 

[90] Cf CIC canon 222; CCEO canon 25. นอกจากนั้น สภาพระสังฆราชยังอาจกำหนดบทบัญญัติอื่นๆของพระศาสนจักรสำหรับเขตปกครองของตนได้ด้วย; cf CIC canon 455.

III.  ชีวิตด้านความประพฤติและการเป็นพยานในการประกอบพันธกิจ        

III.  ชีวิตด้านความประพฤติและการเป็นพยานในการประกอบพันธกิจ        

 2044 ความซื่อสัตย์ของผู้รับศีลล้างบาปแล้วเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดสำหรับการประกาศพระวรสารและสำหรับพันธกิจของพระศาสนจักรในโลก ถ้าการประกาศข่าวดีเรื่องความรอดพ้นต้องการแสดงพลังแห่งความจริงและความรุ่งโรจน์ของตนต่อหน้ามนุษย์   ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นพยานรับรองควบคู่ไปด้วย “การเป็นพยานยืนยันของชีวิตคริสตชนและกิจการดีที่ทำโดยจิตตารมณ์เหนือธรรมชาติย่อมมีพลังดึงดูดมนุษย์เข้ามาหาความเชื่อและพระเจ้า”[91]

 2045 เนื่องจากบรรดาคริสตชนล้วนเป็นอวัยวะของพระกาย(ทิพย์)ที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะ[92] ความมั่นคงในความเชื่อมั่นและความประพฤติของเขาจึงมีส่วนช่วยเสริมสร้างพระศาสนจักร   พระศาสนจักรเจริญเติบโตและพัฒนาขึ้นโดยความศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้มีความเชื่อ[93] จนกระทั่งเขาทุกคน “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 4:13)

 2046 เมื่อบรรดาคริสตชนดำเนินชีวิตของตนตามเจตนารมณ์ของพระคริสตเจ้าย่อมเร่งให้พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงโดยเร็ว พระอาณาจักรนี้เป็น “พระอาณาจักรแห่งความยุติธรรม ความรัก และศานติ”[94] ดังนั้น เขาทั้งหลายจึงไม่ละเลยบทบาทของโลกนี้ แต่ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้อย่างซื่อสัตย์ ด้วยความเที่ยงธรรม ความอดทนและความรัก

 

[91] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 6: AAS 58 (1966) 842.  

[92] เทียบ อฟ 1:22.              

[93] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 39: AAS 57 (1965) 44. 

[94] Domini Nostri Iesu Christi universorum Regis sollemnitas, Praefatio: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 381.

สรุป

สรุป

2047  การดำเนินชีวิตตามศีลธรรมเป็นคารวกิจฝ่ายจิต การปฏิบัติตนของคริสตชนรับการหล่อเลี้ยงในพิธีกรรมและการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

2048  บทบัญญัติของพระศาสนจักรเกี่ยวข้องกับชีวิตศีลธรรมของคริสตชนที่มีความสัมพันธ์กันและได้รับการหล่อเลี้ยงจากพิธีกรรม

2049  อำนาจสั่งสอนของบรรดาผู้อภิบาลพระศาสนจักรในเรื่องศีลธรรมโดยปกติแล้วแสดงออกในการสอนคำสอนและเทศน์สอน มีรากฐานอยู่บนพระบัญญัติสิบประการซึ่งประกาศหลักการชีวิตศีลธรรมที่มีผลบังคับสำหรับมนุษย์ทุกคน

2050  สมเด็จพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สอนทรงอำนาจแท้จริง ประกาศสอนประชากรของพระเจ้าถึงความจริงที่ต้องเชื่อและกฎศีลธรรมที่ต้องปฏิบัติ ท่านเหล่านี้ยังมีหน้าที่ตัดสินปัญหาด้านศีลธรรมที่เกี่ยวกับกฎธรรมชาติและเหตุผล

2051  ความไม่รู้จักผิดพลั้งในอำนาจสั่งสอนของบรรดาผู้อภิบาลครอบคลุมองค์ประกอบของคำสอนทุกข้อ รวมทั้งคำสอนเรื่องศีลธรรมที่มีอยู่ในคำสอนเหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่มีแล้วเราก็ไม่อาจรักษา อธิบาย หรือปฏิบัติตามความจริงแห่งความเชื่อที่นำความรอดพ้นมาให้เหล่านี้ได้