บทที่หนึ่ง

ศักดิ์ศรีความเป็นบุคคลของมนุษย์

 1700   ศักดิ์ศรีความเป็นบุคคลของมนุษย์มีรากฐานอยู่ในการที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเขาตามภาพลักษณ์ให้เหมือนพระองค์ (ตอนที่หนึ่ง) ศักดิ์ศรีนี้บรรลุความสมบูรณ์ในการที่พระเจ้าทรงเรียกเขาไปรับความสุขกับพระองค์ (ตอนที่สอง) มนุษย์จึงต้องดำเนินชีวิตโดยอิสระให้บรรลุถึงความสมบูรณ์ดังกล่าวนี้ (ตอนที่สาม) บุคคลมนุษย์ใช้การกระทำตามเจตนาของตนเพื่อปฏิบัติพันธกิจ (ตอนที่สี่) ให้สอดคล้องหรือไม่กับความดีที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้และที่มโนธรรมด้านศีลธรรมเป็นพยานได้ (ตอนที่ห้า) มนุษย์เสริมสร้างตนเองและเจริญเติบโตภายใน ใช้ชีวิตทั้งหมดของตน ทั้งด้านจิตวิญญาณและประสาทสัมผัสสร้างการเจริญเติบโตนี้ (ตอนที่หก) เขาเจริญเติบโตขึ้นด้านคุณธรรมอาศัยความช่วยเหลือจากพระหรรษทาน (ตอนที่เจ็ด) หลีกเลี่ยงบาป และถ้าได้ทำบาปไปแล้ว ก็ปฏิบัติตนเหมือนกับลูกล้างผลาญ[1]มอบตนแก่พระเมตตาของพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเรา (ตอนที่แปด) และดังนี้ย่อมบรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์

[1] เทียบ ลก 15:11-31.

ตอนที่หนึ่ง

มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า

 

 1701   “พระคริสตเจ้า […] เมื่อทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระบิดาและความรักของพระองค์ ทรงทำให้มนุษย์รู้จักตนเองอย่างสมบูรณ์และทรงเปิดเผยให้มนุษย์รู้ถึงกระแสเรียกสูงส่งของตน”[2] ในพระคริสตเจ้า “ผู้ทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” (คส 1:15)[3] มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมา “ตามภาพลักษณ์ให้เหมือน” พระผู้เนรมิตสร้าง ภาพลักษณ์ของพระเจ้าในมนุษย์ที่บิดเบี้ยวไปเพราะบาปประการแรกได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้มีความงดงามเหมือนเดิมและยังได้รับเกียรติให้สูงส่งขึ้นเดชะพระหรรษทานของพระเจ้าในพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่และช่วยให้รอดพ้น[4]

 1702   ภาพลักษณ์ของพระเจ้ามีอยู่ในมนุษย์แต่ละคน ภาพลักษณ์นี้ปรากฏเด่นชัดในความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ คล้ายกับเอกภาพของพระบุคคล(ทั้งสาม)ของพระเจ้าระหว่างกัน (เทียบ บทที่สอง)

 1703   บุคคลมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยวิญญาณที่เป็นจิตและอมต[5] “ในโลกนี้เป็นสิ่งสร้างเพียงอย่างเดียวที่พระเจ้าทรงประสงค์เพราะตัวเขาเอง”[6]  เขาถูกกำหนดไว้สำหรับความสุขนิรันดรนับตั้งแต่เขาปฏิสนธิแล้ว

 1704   บุคคลมนุษย์มีส่วนในแสงสว่างและพลังของพระจิตของพระเจ้า สามารถคิดตามเหตุผลเข้าใจระเบียบของสิ่งต่างที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ สามารถใช้เจตนานำตนเองไปพบความดีแท้จริงของตนได้ บุคคลมนุษย์พบความสมบูรณ์ของตนโดยแสวงหาและรักความดีแท้จริง[7]

 1705   เพราะมนุษย์มีวิญญาณและความสามารถทางจิตของสติปัญญาและเจตนา จึงมีอิสระเสรีซึ่ง “แสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้อย่างดีเลิศ”[8]

 1706   อาศัยเหตุผล มนุษย์ย่อมรับรู้พระสุรเสียงของพระเจ้าที่ดลใจเขา “ให้ทำความดีและหลีกหนีความชั่ว”[9] แต่ละคนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งสะท้อนอยู่ในมโนธรรมและได้รับการปฏิบัติตามโดยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ การดำเนินชีวิตที่มีศีลธรรมจึงเป็นพยานยืนยันถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์

 1707   “ถึงกระนั้น ตั้งแต่แรกเริ่มประวัติศาสตร์แล้ว มนุษย์ได้ถูกปีศาจชักชวนให้ใช้อิสรภาพของตนอย่างไม่ถูกต้อง”[10] เขาพ่ายแพ้ต่อการผจญและได้ทำผิด เขายังรักษาความปรารถนาที่จะทำดีไว้ แต่ธรรมชาติของเขาก็มีบาดแผลของบาปกำเนิดอยู่ด้วย เขาจึงมีความโน้มเอียงไปหาความชั่วและอยู่ในอำนาจของความหลงผิด

“ดังนั้น มนุษย์จึงถูกแบ่งแยกในตนเอง เพราะเหตุนี้ ชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ ไม่ว่าแต่ละคนหรือส่วนรวม จึงปรากฏว่าอยู่ในการต่อสู้ และเป็นการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจด้วย ระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างความสว่างและความมืด”[11]

 1708  พระคริสตเจ้าทรงรับทรมานช่วยเราให้รอดพ้นจากอำนาจของปีศาจและบาป พระองค์ทรงบำเพ็ญคุณธรรมให้เราได้รับชีวิตใหม่ในพระจิตเจ้า พระหรรษทานของพระองค์คืนสิ่งที่บาปได้ทำลายในเรากลับมาอีก

 1709  ผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้าก็กลายเป็นบุตรของพระเจ้า การรับเป็นบุตรบุญธรรมนี้เปลี่ยนแปลงเขา
ทำให้เขามีพลังที่จะปฏิบัติตามพระฉบับของพระคริสตเจ้า ทำให้เขาสามารถปฏิบัติถูกต้องและกระทำความดี ศิษย์ซึ่งร่วมสนิทกับพระผู้กอบกู้ย่อมบรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์หรือความศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตด้านศีลธรรมที่พัฒนาขึ้นอาศัยพระหรรษทานก็เจริญเติบโตกลายเป็นชีวิตนิรันดรในสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์

สรุป

 1710   “พระคริสตเจ้า […] ทรงทำให้มนุษย์รู้จักตนเองอย่างสมบูรณ์และทรงเปิดเผยให้มนุษย์รู้ถึงกระแสเรียกสูงส่งของตน[12]

 1711   บุคคลมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยวิญญาณที่เป็นจิต สติปัญญาและเจตนา ถูกกำหนดไว้สำหรับความสุขนิรันดรนับตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิแล้ว เขามุ่งหน้าหาความสมบูรณ์ โดยแสวงหาและรักความจริงและความดี[13]

 1712   อิสรภาพแท้จริงแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้อย่างดีเลิศในมนุษย์[14]

 1713   มนุษย์จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎศีลธรรมซึ่งเร่งเร้าเขาให้ทำดี […] หลีกหนีความชั่ว[15] กฎนี้ดังก้องอยู่ในมโนธรรมของเขา

 1714   มนุษย์ได้รับบาดแผลจากบาปในธรรมชาติของตน จึงทำผิดพลาดได้ง่ายและมีความโน้มเอียงที่จะใช้เสรีภาพของตนเพื่อทำชั่ว

 1715   ผู้ที่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าย่อมมีชีวิตใหม่ในพระจิตเจ้า ชีวิตด้านศีลธรรมซึ่งเจริญเติบโตและพัฒนายิ่งๆ ขึ้นอาศัยพระหรรษทานนี้ต้องบรรลุถึงความสมบูรณ์ในสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์

 

[2] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.

[3] เทียบ 2 คร 4:4.              

[4] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.

[5] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 14: AAS 58 (1966) 1036.

[6] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 24: AAS 58 (1966) 1045.

[7]  Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 15: AAS 58 (1966) 1036.

[8] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 17: AAS 58 (1966) 1037.

[9] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 16: AAS 58 (1966) 1037.

[10] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 13: AAS 58 (1966) 1034.  

[11] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 13: AAS 58 (1966) 1035.  

[12] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042. 

[13] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 15: AAS 58 (1966) 1036.

[14] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 17: AAS 58 (1966) 1037.  

[15] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 16: AAS 58 (1966) 1037.  

ตอนที่สอง

เรามนุษย์ได้รับเรียกมาให้บรรลุถึงความสุขแท้

I.  ความสุขแท้

I.  ความสุขแท้

 1716 ความสุขแท้เป็นสาระสำคัญในคำเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า การประกาศเรื่องความสุขแท้เป็นการย้ำถึงพระสัญญาที่ทรงทำไว้กับประชากรที่ทรงเลือกสรรนับตั้งแต่อับราฮัมเป็นต้นมา ความสุขแท้ทำให้พระสัญญาดังกล่าวสำเร็จบริบูรณ์ จัดให้พระสัญญาไม่หมายถึงเพียงการครอบครองแผ่นดินส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการได้ครอบครองเมืองสวรรค์

“ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน

ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก

ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม

ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา

ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า

ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุขเมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหง และใส่ร้ายต่างๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก” (มธ 5:3-12)

 1717  ความสุขแท้เหล่านี้แสดงภาพของพระเยซูคริสตเจ้าและบรรยายถึงความรักของพระองค์ แสดงถึงการเรียกบรรดาผู้มีความเชื่อให้มาร่วมรับสิริรุ่งโรจน์ของพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ แสดงให้เห็นการกระทำและท่าทีที่เป็นลักษณะเฉพาะของชีวิตคริสตชน เป็นคำสัญญาที่คาดไม่ถึงซึ่งค้ำจุนความหวังในความยากลำบาก ความสุขแท้เหล่านี้กล่าวล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์รู้อย่างลางๆ ถึงพระพรและรางวัลที่เขาจะได้รับ รางวัลเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นแล้วในชีวิตของพระนางมารีย์พรหมจารีและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

II.  ความปรารถนาจะได้รับความสุข

II.  ความปรารถนาจะได้รับความสุข

 1718 ความสุขแท้เหล่านี้ตรงกับความปรารถนาตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความสุข ความปรารถนาที่ว่านี้มีที่มาจากพระเจ้า พระองค์ทรงวางความปรารถนานี้ไว้ในใจมนุษย์เพื่อทรงดึงดูดเขามาหาพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้เดียวที่จะตอบสนองความปรารถนานี้ได้อย่างสมบูรณ์

“เราทุกคนล้วนอยากจะมีความสุข และไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้ก่อนที่จะถูกกล่าวออกมาเสียด้วย”[16]

“ดังนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ได้อย่างไร ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็แสวงหาชีวิตที่เป็นสุข ขอให้ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ เพื่อวิญญาณข้าพเจ้าจะได้มีชีวิต เพราะร่างกายของข้าพเจ้ามีชีวิตจากวิญญาณ และวิญญาณข้าพเจ้าก็มีชีวิตจากพระองค์”[17]

“พระเจ้าเท่านั้นทำให้อิ่มได้”[18]

 1719   ความสุขแท้เปิดเผยให้เห็นว่ามนุษย์มีความเป็นอยู่เพื่ออะไร มนุษย์ทำงานต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ใด พระเจ้าทรงเรียกเราเพื่อจะได้ร่วมความสุขกับพระองค์ การที่ทรงเรียกเช่นนี้มุ่งถึงบุคคลมนุษย์แต่ละคน แต่ก็ยังมุ่งถึงพระศาสนจักรทั้งหมด ซึ่งเป็นประชากรใหม่ของผู้ที่ได้รับพระสัญญาและดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระองค์อีกด้วย

 

[16] Sanctus Augustinus, De moribus Ecclesiae catholicae, 1, 3, 4: CSEL 90, 6 (PL 32, 1312).          

[17] Sanctus Augustinus, Confessiones, 10, 20, 29: CCL 27, 170 (PL 32, 791).         

[18] Sanctus Thomas Aquinas, In Symbolum Apostolorum scilicet « Credo in Deum » expositio, c. 15: Opera omnia, v. 27 (Parisiis 1875) p. 228.

III.  ความสุขของคริสตชน

III.  ความสุขของคริสตชน

 1720 พันธสัญญาใหม่ใช้วิธีพูดหลายอย่างเพื่อบรรยายถึงความสุขที่พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์มารับ เช่น อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว[19] การเห็นพระเจ้า “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มธ 5:8)[20] การเข้าร่วมยินดีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า[21] การเข้าไปพักผ่อนกับพระเจ้า[22]

“ที่นั่นเราจะพักผ่อนและจะแลเห็น เราจะแลเห็นและจะรัก เราจะรักและจะสรรเสริญ นี่คือสิ่งที่จะเป็นมาในที่สุดโดยไม่มีที่สิ้นสุด อะไรเล่าจะเป็นจุดหมายของเราถ้าไม่ใช่การไปถึงพระอาณาจักรที่ไม่มีวันจะจบสิ้น”[23]

 1721   พระเจ้าทรงวางเราไว้ในโลกเพื่อให้เรารู้จักพระองค์ รับใช้พระองค์ และรักพระองค์ เพื่อเราจะได้บรรลุถึงสวรรค์ ความสุขแท้ทำให้เรา “มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4) และมีส่วนในชีวิตนิรันดร[24] มนุษย์ย่อมเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า[25]และร่วมชีวิตของพระตรีเอกภาพพร้อมกับความสุขแท้

 1722   ความสุขแท้เช่นนี้อยู่เหนือความเข้าใจและกำลังของมนุษย์เท่านั้น แต่เกิดมาจากการที่พระเจ้าประทานให้เราเปล่าๆ จึงได้ชื่อว่า “เหนือธรรมชาติ” เหมือนกับพระหรรษทานที่ช่วยให้มนุษย์เข้าไปรับความสุขกับพระเจ้า

“‘ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า’ แต่ก็ ‘ไม่มีใครจะเห็นพระเจ้าและมีชีวิตอยู่ได้’ เพราะความยิ่งใหญ่และพระสิริรุ่งโรจน์เหลือที่จะพรรณนาได้ของพระองค์ เพราะเราไม่อาจเข้าถึงพระบิดาได้  แต่เพราะความรักและพระกรุณาและเพราะทรงทำได้ทุกสิ่ง พระองค์จึงประทานสิ่งนี้ให้แก่ผู้ที่รักพระองค์ คือให้เห็นพระองค์ […] เพราะว่า ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์นั้น เป็นไปได้สำหรับพระเจ้า’”[26]

 1723   ความสุขแท้ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้นี้ทำให้เราต้องเลือกปฏิบัติตามศีลธรรม เชิญชวนให้เราชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความโน้มเอียงเลวๆ ของเราเพื่อแสวงหาความรักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง สอนเราว่าความสุขแท้จริงไม่อยู่ในทรัพย์สมบัติหรือความสะดวกสบาย ไม่อยู่ในความรุ่งโรจน์หรือความสำเร็จของมนุษย์ ไม่ใช่ในกิจการงานใดๆ ของมนุษย์ แม้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เช่นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศิลปะ ไม่อยู่ในสิ่งสร้างใดๆ แต่อยู่ในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความดีและความรักทุกประการ

“ทุกวันนี้ใครๆ ก็กราบไหว้ความร่ำรวยเป็นพระเจ้า ผู้คนจำนวนมาก มนุษย์ทุกคนยินดีกราบไหว้ความร่ำรวย ใครๆ ก็วัดความสุขตามทรัพย์สมบัติ และยังวัดความน่าเคารพนับถือตามทรัพย์สมบัติด้วย […] สภาพเช่นนี้เกิดมาจากความมั่นใจว่าทรัพย์สมบัติสามารถบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ ทรัพย์สมบัติจึงเป็นรูปเคารพแบบหนึ่งในปัจจุบัน และชื่อเสียงเกียรติยศก็เป็นรูปเคารพอีกแบบหนึ่ง […] ชื่อเสียงเกียรติยศ การเป็นที่ยอมรับและการสร้างชื่อเสียงในโลกได้กลายเป็นความดีสูงสุด เป็นสิ่งที่ควรได้รับการเคารพกราบไหว้ในตัวเอง […] สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นชื่อเสียง ‘ฉาบฉวย’”[27]

1724  พระบัญญัติสิบประการ คำเทศน์บนภูเขา และคำสอนของบรรดาอัครสาวกล้วนบอกให้เรารู้จักหนทางไปสู่อาณาจักรสวรรค์ เราค่อยๆ ร่วมเดินทางไปตามทางนี้ทีละก้าวโดยกิจการประจำวันที่ได้รับการค้ำจุนจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้า อาศัยพระวาจาของพระคริสตเจ้าคอยช่วยเหลือ เราย่อมค่อยๆ บังเกิดผลในพระศาสนจักรเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า[28]

 

[19] เทียบ มธ 4:17.

[20] เทียบ 1 ยน 3:2; 1 คร 13:12.  

[21] เทียบ มธ 25:21,23.          

[22] เทียบ ฮบ 4:7-11.            

[23] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 22, 30: CSEL 402, 670 (PL 41, 804).       

[24] เทียบ ยน 17:3.              

[25] เทียบ รม 8:18.              

[26] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 20, 5: SC 100, 638.       

[27] Ioannes Henricus Newman, Discourses addressed to Mixed Congregations, 5 [Saintliness the Standard of Christian Principle] (Westminster 1966) p. 89-91.

[28] เทียบ อุปมาเรื่องผู้หว่าน มธ 13:3-23.            

สรุป

สรุป

1725    ความสุขแท้ย้ำพระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้ตั้งแต่อับราฮัมและทำให้พระสัญญานี้สำเร็จไปโดยจัดให้นำไปสู่พระอาณาจักร ความสุขแท้เหล่านี้ตอบสนองความปรารถนาความสุขที่พระเจ้าทรงวางไว้ในใจของมนุษย์

1726    ความสุขแท้สอนเราถึงจุดหมายสุดท้ายที่พระเจ้าทรงเรียกเราให้บรรลุถึง คือพระอาณาจักร     การชมพระพักตร์พระเจ้า การมีส่วนร่วมพระเทวภาพ ชีวิตนิรันดร การเป็นบุตร และการพักผ่อนในพระเจ้า

1727    ความสุขแท้ของการมีชีวิตนิรันดรเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้เราโดยไม่คิดมูลค่า    ความสุขแท้นี้อยู่เหนือธรรมชาติเช่นเดียวกับพระหรรษทานซึ่งนำเราไปรับ

1728    ความสุขแท้ตั้งเราไว้ให้ตัดสินใจว่าจะเลือกความสุขแท้หรือผลประโยชน์ของโลกนี้ ชำระจิตใจเราเพื่อสอนเราให้รักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง

1729    ความสุขแท้ของสวรรค์กำหนดมาตรการให้เรารู้จักเลือกใช้สิ่งของของโลกนี้ตามกฎของพระเจ้า

ตอนที่สาม

อิสรภาพของมนุษย์

 

 1730   พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ให้รู้จักคิดตามเหตุผล ประทานเกียรติให้เขาเป็นบุคคลที่มีความสามารถริเริ่มและควบคุมการกระทำของตนได้ “พระเจ้าทรงประสงค์ ‘ปล่อยให้มนุษย์ตัดสินใจด้วยตนเอง’ (บสร 15:14) อย่างที่ว่าเขาอาจเลือกพระผู้สร้างของตนได้ด้วยตนเองและบรรลุถึงความสมบูรณ์เต็มเปี่ยมและมีความสุขได้อย่างอิสระโดยยึดมั่นอยู่กับพระองค์”[29]

           “มนุษย์มีเหตุผล และดังนี้จึงเหมือนกับพระเจ้า มีอิสระเสรีในการตัดสินใจและควบคุมการกระทำของตนได้”[30]

 

[29] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 17: AAS 58 (1966) 1037.  

[30] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 4, 3: SC 100, 424 (PG 7, 983).             

I.  อิสรภาพและความรับผิดชอบ

I.  อิสรภาพและความรับผิดชอบ

 1731   อิสรภาพเป็นความสามารถที่ฝังอยู่ในการคิดตามเหตุผลและในเจตนา ที่จะทำหรือไม่ทำ ที่จะทำสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น และดังนี้ที่จะทำกิจการที่ตนได้ตกลงใจไว้ด้วยตนเอง แต่ละคนใช้การตัดสินใจโดยอิสระจัดการเกี่ยวกับตนเอง อิสรภาพในมนุษย์จึงเป็นพลังเพื่อเจริญเติบโตและบรรลุถึงวุฒิภาวะในความจริงและความดี อิสรภาพบรรลุถึงความสมบูรณ์ของตนเมื่อถูกจัดให้มุ่งหาพระเจ้า ความสุขแท้ของตน

 1732   ตราบใดที่อิสรภาพยังไม่ผูกมัดอยู่อย่างเด็ดขาดกับความดีสุดท้ายของตนซึ่งได้แก่พระเจ้า ก็ยังหมายถึงความสามารถที่จะเลือกได้ระหว่างความดีกับความชั่ว จึงหมายถึงความสามารถที่จะเติบโตขึ้นในความดีบริบูรณ์หรือที่จะพลาดพลั้งและทำบาป อิสรภาพเป็นคุณสมบัติเฉพาะของกิจกรรมแบบมนุษย์ เป็นบ่อเกิดของคำชมสรรเสริญหรือคำตำหนิติเตียน เป็นบ่อเกิดของบุญกุศลหรืออกุศล

 1733   ใครทำดีมากขึ้น เขาก็ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้น อิสรภาพแท้จริงมีไม่ได้นอกจากเพื่อรับใช้ความดีและความยุติธรรม การเลือกจะไม่เชื่อฟังและทำชั่วเป็นการใช้อิสรภาพอย่างไม่ถูกต้องและนำเราให้เป็นทาสของบาป[31]

 1734   อิสรภาพทำให้มนุษย์ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนในฐานะที่เขาจงใจทำการเหล่านี้ ความก้าวหน้าในคุณธรรม ความรู้เรื่องความดีงาม และการบำเพ็ญพรตทำให้เจตนาสามารถควบคุมการกระทำได้มากขึ้น

 1735   การต้องรับผิดและความรับผิดชอบเมื่อประกอบกิจการหนึ่งอาจลดน้อยลงได้ และอาจไม่ต้องรับผิดเลยก็ได้เพราะความไม่รู้ ความไม่ตั้งใจ การถูกบังคับ ความกลัว ความเคยชิน ความติดอกติดใจที่ควบคุมไม่ได้ และสาเหตุอื่นๆ ทางจิตวิทยาหรือสังคม

 1736   กิจการทุกอย่างที่ผู้ทำตั้งใจทำโดยตรงต้องนับว่าเป็นการกระทำของผู้นั้น ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงถามอาดัมในสวนอุทยานหลังจากที่เขาได้ทำบาปแล้วว่า “ท่านทำอะไรไป” (ปฐก 3:13) พระองค์ทรงถามกาอินเช่นเดียวกัน[32] ประกาศกนาธันก็ทูลถามกษัตริย์ดาวิดเช่นเดียวกันหลังจากทรงเป็นชู้กับภรรยาของอุรียาห์และฆ่าเขาแล้ว[33]การกระทำหนึ่งอาจเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาโดยตรงเมื่อการกระทำนั้นเกิดจากความเลินเล่อเกี่ยวกับสิ่งที่เขาควรรู้หรือต้องทำ เช่นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการไม่รู้จักกฎจราจร

 1737   ผลบางประการของการกระทำอาจเป็นที่ยอมรับได้โดยที่ผู้ทำอาจไม่ตั้งใจ เช่นแม่คนหนึ่งอาจดูแลบุตรที่ป่วยไม่ได้เพราะเหนื่อยมาก ผู้กระทำอาจไม่ต้องรับผิดชอบผลร้ายที่เกิดขึ้น ถ้าเขาไม่ต้องการให้เป็นผลหรือเป็นเครื่องมือของการกระทำนั้น เช่นความตายที่ได้รับขณะที่เขากำลังช่วยเหลือผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในอันตราย  เพื่อให้ผู้ทำการต้องรับผิดชอบต่อผลร้ายที่เกิดขึ้น จำเป็นที่เขาต้องคาดการณ์ได้ก่อนแล้วและสามารถจะหลีกเลี่ยงผลร้ายนั้นได้  ตัวอย่างเช่นในกรณีที่คนหนึ่ง(ที่รู้ตัวว่า)กำลังเมาขับรถไปชนคนหนึ่งตาย

 1738   อิสรภาพเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์แต่ละคน ในฐานะบุคคลที่ถูกเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า ย่อมมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้มีความเป็นอยู่ที่เป็นอิสระและมีความรับผิดชอบ สิทธิที่จะแสดงอิสรภาพเป็นข้อเรียกร้องที่แยกไม่ได้จากศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนา[34] สิทธิประการนี้ต้องได้รับการยอมรับและปกป้องจากอำนาจปกครองทางบ้านเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและระเบียบสาธารณะ[35]

 

[31] เทียบ รม 6:17.

[32] เทียบ ปฐก 4:10.            

[33] เทียบ 2 ซมอ 12:7-15.        

[34] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 2: AAS 58 (1966) 930-931. 

[35] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 7: AAS 58 (1966) 934-935. 

II. อิสรภาพของมนุษย์ในแผนการณ์ความรอดพ้น

II. อิสรภาพของมนุษย์ในแผนการณ์ความรอดพ้น

 1739   อิสรภาพและบาป อิสรภาพของมนุษย์มีขอบเขตและผิดพลาดได้ ในความเป็นจริง มนุษย์ผิดพลาดเขาทำบาปโดยเสรี ถ้าเขาไม่ยอมรับแผนการณ์ความรักของพระเจ้า เขาก็หลอกตนเอง กลายเป็นทาสของบาป การแยกตนออกไปครั้งแรกนี้ก่อให้เกิดการแยกตนออกไปอื่นๆ อีกหลายครั้ง ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่เริ่มแรกแล้วเป็นพยานแสดงให้เห็นความวุ่นวายและการเบียดเบียนกันที่เกิดมาจากใจของมนุษย์ เป็นผลร้ายสืบเนื่องมาจากการใช้อิสรภาพอย่างไม่ถูกต้อง

 1740   อันตรายที่คุกคามอิสรภาพ การใช้อิสรภาพมิได้หมายถึงสิทธิที่จะพูดหรือทำอะไรได้ทุกอย่าง  เป็นความเข้าใจผิดที่จะคิดว่า “มนุษย์แต่ละคนซึ่งเป็นผู้มีอิสรภาพนี้เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาใคร อาจใช้สิ่งของต่างๆ ของโลกนี้ได้ตามใจตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเอง”[36] นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่จำเป็นเพื่อใช้อิสรภาพอย่างถูกต้องบ่อยครั้งมากทีเดียวกลับถูกมองข้ามและล่วงละเมิด สภาพความมืดบอดและอยุติธรรมเหล่านี้ล้วนทำร้ายชีวิตด้านศีลธรรมและมักจะชักนำทั้งผู้เข้มแข็งและผู้อ่อนแอให้ถูกผจญที่จะทำบาปผิดต่อความรัก ถ้ามนุษย์ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎศีลธรรม เขาก็ย่อมทำร้ายต่ออิสรภาพของตน จองจำตนเอง ทำลายความเป็นพี่น้องกับเพื่อนมนุษย์และขัดสู้ต่อต้านความจริงของพระเจ้า

 1741   การช่วยให้รอดพ้นและความรอด พระคริสตเจ้าทรงนำความรอดพ้นมาให้มนุษย์ทุกคนเดชะไม้กางเขนรุ่งโรจน์ของพระองค์ พระองค์ทรงไถ่เขาคืนมาจากบาปที่เคยจองจำเขาไว้เป็นทาส
“พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระแล้ว” (กท 5:1) ในพระองค์เรามีความสัมพันธ์กับความจริงที่ช่วยเราให้รอดพ้น[37] พระเจ้าประทานพระจิตเจ้าแก่เรา และ “พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตที่ใด เสรีภาพย่อมอยู่ที่นั่น” (2 คร 3:17) ดังที่ท่านอัครสาวกสอนเรา ตั้งแต่เวลานี้แล้วเรารู้สึกภูมิใจที่มีอิสรภาพของบรรดาบุตรของพระเจ้า[38]

 1742   อิสรภาพและพระหรรษทาน พระหรรษทานของพระคริสตเจ้ามิได้ปรากฏว่าขัดสู้กับอิสรภาพของเราเลยแม้แต่น้อย เพราะอิสรภาพสอดคล้องกับความรู้สำนึกถึงความจริงและความดีที่พระเจ้าทรงจัดวางไว้ในใจของมนุษย์ ตรงกันข้าม ประสบการณ์ของคริสตชนเป็นพยานยืนยัน โดยเฉพาะในการอธิษฐานภาวนา ว่ายิ่งเราเชื่อฟังการดลใจของพระหรรษทานมากขึ้นเท่าไร อิสรภาพภายในและความมั่นใจในความถูกต้องของเราก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น เช่นกับเมื่อเราต้องเผชิญกับแรงกดดันและการถูกบังคับจากโลกภายนอก อาศัยพลังของพระหรรษทาน พระจิตเจ้าทรงอบรมเราให้ไปรับอิสรภาพฝ่ายจิต เพื่อเราจะได้เป็นผู้ร่วมงานของพระองค์โดยอิสระในพระศาสนจักรและในโลก

“ข้าแต่พระผู้ทรงสรรพานุภาพและทรงพระเมตตา ขอทรงพระกรุณาขจัดอุปสรรคทั้งมวลให้ข้าพเจ้าทั้งหลายปลอดภัยทั้งกายและใจ จะได้ถวายตนรับใช้พระองค์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระตลอดไป”[39]

 

[36] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Libertatis conscientia, 13: AAS 79 (1987) 559.

[37] เทียบ ยน 8:32.              

[38] เทียบ รม 8:21.              

[39] Dominica XXXII « Per annum », Collecta: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 371.

สรุป

สรุป

1743    พระเจ้าทรงเนรมิตมนุษย์แต่แรกเริ่ม ทรงปล่อยให้เขาตัดสินใจด้วยตนเอง” (บสร 15:14) เขาจะได้เลือกอย่างอิสระที่จะยึดมั่นอยู่กับพระผู้สร้างของตนและบรรลุถึงความสุขสมบูรณ์เต็มเปี่ยมได้”[40]

1744    อิสรภาพเป็นความสามารถที่จะทำหรือไม่ทำ และดังนี้ที่จะทำกิจการที่ตนได้ตกลงใจไว้ด้วยตนเอง อิสรภาพบรรลุถึงความสมบูรณ์ของตนเมื่อถูกจัดให้มุ่งหาพระเจ้า ความสุขแท้ของตน

1745    อิสรภาพเป็นลักษณะเฉพาะของการกระทำแบบมนุษย์ ทำให้มนุษย์รับผิดชอบกิจการที่เขาจงใจทำลงไป การกระทำที่เขาจงใจทำจึงเป็นของเขาโดยตรง

1746    การเป็นผู้กระทำหรือความรับผิดชอบของกิจการหนึ่งอาจลดน้อยลงหรือไม่มีเลยเพราะความไม่รู้ การถูกบังคับ ความกลัวและสาเหตุอื่นด้านจิตใจหรือสังคม

1747    สิทธิที่จะใช้อิสรภาพของตนเป็นข้อเรียกร้องที่แยกไม่ออกจากศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรม แต่การใช้อิสรภาพมิได้รวมไปถึงสิทธิที่คิดเอาเองที่จะทำหรือพูดอะไรก็ได้

1748    พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระแล้ว” (กท 5:1)

 

[40] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 17: AAS 58 (1966) 1037.

ตอนที่สี่

ความผิดถูกของการกระทำแบบมนุษย์

 1749   อิสรภาพทำให้มนุษย์เป็นผู้มีศีลธรรม เราอาจกล่าวได้ว่าเมื่อมนุษย์สมัครใจทำกิจการหนึ่ง เขาก็เป็นเสมือนบิดาของการกระทำของตน การกระทำแบบมนุษย์ นั่นคือ เมื่อได้ใช้มโนธรรมตัดสินใจเลือกแล้ว ก็ต้องถือว่ามีค่าทางศีลธรรม คือ เป็นกิจการดีหรือชั่ว

I.  ที่มาของความดีความชั่ว

I.  ที่มาของความดีความชั่ว

1750    ความดีหรือชั่วของการกระทำแบบมนุษย์ขึ้นอยู่กับ

          - สิ่ง(หรือกิจการ)ที่มนุษย์ได้เลือก(ทำ)

          - เจตนาหรือความตั้งใจ

          - สภาพแวดล้อมของการกระทำ

          สิ่ง(หรือกิจการ)ที่ทำ เจตนา และสภาพแวดล้อมประกอบเป็น “บ่อเกิด” หรือองค์ประกอบความดีความชั่วของการกระทำแบบมนุษย์

 1751   สิ่ง(หรือกิจการ)ที่ทำเป็นสิ่งที่เจตนาจงใจมุ่งไปหา นับเป็น “วัตถุ” ของการกระทำแบบมนุษย์ สิ่ง(หรือกิจการ)ที่เลือกทำกำหนดศีลธรรม (ความดีเลว) การกระทำของเจตนาตามที่เหตุผลรับรู้และตัดสินว่าสอดคล้องกับความดีจริงๆ หรือไม่ กฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมตามที่เป็นจริงแจ้งให้รู้ระเบียบตามเหตุผลว่าอะไรดีอะไรเลว ซึ่งมโนธรรมก็เป็นพยานด้วย

 1752   นอกจากสิ่ง(หรือกิจการ)ที่ทำแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาในส่วนของผู้กระทำ เนื่องจากเจตนาเป็นที่มาของความสมัครใจที่จะทำกิจการและกำหนดจุดประสงค์ของการกระทำนั้น จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินว่าการกระทำนั้นดีหรือชั่ว  จุดประสงค์เป็นจุดหมายแรกที่เจตนามุ่งถึงและที่การกระทำกำลังดำเนินไปหา เจตนาเป็นการที่ความตั้งใจมุ่งไปหาจุดหมาย จึงเกี่ยวข้องกับจุดหมายของการกระทำ เจตนามุ่งไปยังสิ่งที่คาดหวังไว้เมื่อเริ่มกิจการ เจตนาไม่จำกัดอยู่แต่เพียงกับกิจการเดียว แต่อาจนำหลายกิจการมุ่งไปสู่จุดประสงค์เดียวกันได้ อาจจัดการนำทั้งชีวิตไปสู่จุดหมายสุดท้ายได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การให้บริการมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็จริง แต่ก็ยังอาจได้รับแรงบันดาลใจจากความรักพระเจ้าเพื่อให้ความรักนี้เป็นจุดหมายสุดท้ายของกิจการทุกอย่างของเราได้ในเวลาเดียวกันด้วย กิจการเดียวกันอาจรับแรงบันดาลใจจากเจตนาหลายประการก็ได้ เช่นการให้บริการ (นอกจากเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังอาจมีเจตนา) เพื่อรับความดีความชอบหรือเพื่อโอ้อวดได้อีกด้วย

 1753   เจตนาที่ดี (เช่นเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น) ไม่ทำให้การกระทำที่ในตัวเองไม่ถูกต้อง (เช่นการมุสาหรือกล่าวร้าย) กลายเป็นการกระทำที่ดีและถูกต้องได้ จุดประสงค์ไม่ทำให้วิธีการที่ใช้กลับดีขึ้นได้ (Finis media non iustificat) ดังนั้น การตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์ไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องเพื่อช่วยประชาชนได้ ตรงกันข้าม เจตนาไม่ถูกต้องที่เพิ่มเข้ามา (เช่นการโอ้อวด) ย่อมทำให้กิจการที่ดีกลายเป็นกิจการชั่วได้ (เช่นการให้ทาน[41])

 1754   สภาพแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งผลที่ตามมา เป็นองค์ประกอบอันดับรองที่ทำให้การกระทำหนึ่งมีผลทางศีลธรรม (ดีหรือชั่ว) องค์ประกอบเหล่านี้อาจทำให้ความดีหรือความชั่วของการกระทำแบบมนุษย์เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลงได้ (เช่น จำนวนเงินที่ขโมยมา) สภาพแวดล้อมเหล่านี้ยังอาจลดหรือเพิ่มความรับผิดชอบของผู้กระทำ (เช่นการกระทำเพราะกลัวความตาย) ในตัวเอง สภาพแวดล้อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางศีลธรรมของการกระทำได้ ไม่อาจทำให้การกระทำที่ชั่วในตัวเองกลายเป็นการกระทำที่ดีและถูกต้องได้

 

[41] เทียบ มธ 6:2-4.             

II. การกระทำที่ดีและการกระทำที่ชั่ว

II. การกระทำที่ดีและการกระทำที่ชั่ว

 1755    การกระทำที่ดีทางศีลธรรมต้องประกอบด้วยความดีทั้งของกิจการที่ทำ จุดประสงค์(หรือเจตนา)และสภาพแวดล้อม เจตนาชั่วทำให้การกระทำชั่วไปด้วย แม้กิจการที่ทำจะดีในตนเอง (เช่นการอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหารเพื่อโอ้อวดให้คนอื่นแลเห็น)

           กิจการที่เลือกทำในตนเองเพียงอย่างเดียวอาจทำให้การกระทำทั้งหมดชั่วไปได้ กิจการหนึ่งอาจทำได้หลายวิธี – เช่นการผิดประเวณี – ซึ่งการเลือกเหล่านี้ล้วนไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะการเลือกวิธีการเหล่านี้หมายถึงความสับสนของเจตนาซึ่งก็คือความชั่วทางศีลธรรมนั่นเอง

 1756   จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะตัดสินความผิดถูกของการกระทำแบบมนุษย์จากเจตนาที่เป็นแรงบันดาลใจของการกระทำดังกล่าวเท่านั้น หรือโดยพิจารณาสภาพแวดล้อม (สภาพความเป็นอยู่ของสิ่งต่างๆ ความกดดันทางสังคม การถูกบังคับหรือความจำเป็นที่ต้องทำกิจการนั้น) ซึ่งเป็นเสมือนฉากหลังของการกระทำเหล่านี้ มีการกระทำที่โดยตนเองและในตนเอง โดยไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมและจากเจตนา เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างหนักเสมอเนื่องจากกิจการที่ทำนั้นเอง เช่นการสาปแช่งพระเจ้าและ การเป็นพยานเท็จ การฆ่าคนและผิดประเวณี เป็นการไม่ถูกต้องที่จะทำชั่วเพื่อให้เกิดผลดีตามมา

สรุป

สรุป

 1757    สิ่ง(หรือกิจการ)ที่ทำ เจตนา และสภาพแวดล้อมนับเป็น “ที่มา” แห่งความดีความชั่วของการ กระทำแบบมนุษย์

 1758    สิ่ง(หรือกิจการ)ที่เลือกทำเป็นตัวกำหนดความดีความชั่วกิจการที่มนุษย์ตั้งใจทำตามที่เหตุผลยอมรับและตัดสินว่าดีหรือชั่ว

 1759    เราไม่อาจแก้ตัวว่าได้เลยว่าเราทำการชั่วโดยมีเจตนาดี[42] จุดประสงค์ไม่ทำให้วิธีการที่ใช้กลับดีขึ้นได้

 1760    กิจการดีตามหลักศีลธรรมเรียกร้องให้ทั้งกิจการที่ทำ จุดประสงค์และสภาพแวดล้อม ต้องดีพร้อมกันด้วย

 1761    ในความเป็นจริง มีเหตุผลที่เลือกการกระทำบางประการเป็นการไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะการเลือกการกระทำเหล่านี้ล้วนหมายถึงเจตนาที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือ เป็นความชั่วทางศีลธรรม เราจะทำชั่วโดยมีเจตนาให้เกิดผลดีไม่ได้

 

[42] Sanctus Thomas Aquinas, In duo praecepta caritatis et in decem Legis praecepta expositio, c. 6: Opera omnia, v. 27 (Parisiis 1875) p. 149.

ตอนที่ห้า

อารมณ์และความผิดถูก

(The Morality of the Passions)

 

 1762    บุคคลมนุษย์ใช้การกระทำโดยมีเจตนามุ่งหาความสุขแท้ อารมณ์หรือความรู้สึกที่เขามีอาจจัดเตรียมและช่วยเขาบรรลุถึงความสุขนี้ได้

I. อารมณ์  (Passions)

I. อารมณ์  (Passions)

 1763    คำว่า “อารมณ์” (passions) เป็นคำที่คริสตชนรู้จักดี ความรู้สึกหรืออารมณ์หมายถึงความสะเทือนใจหรือแนวโน้มที่ชวนให้เราทำหรือไม่ทำสิ่งที่เรารู้สึกหรือจินตนาเอาเองว่าดีหรือชั่ว

 1764   อารมณ์เป็นองค์ประกอบโดยธรรมชาติของจิตวิทยาของมนุษย์ เป็นทางผ่านและเครื่องค้ำจุนความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตประสาทสัมผัสกับชีวิตจิต องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงกำหนดว่าใจของมนุษย์เป็นบ่อเกิดของอารมณ์ต่างๆ[43]

 1765    อารมณ์มีหลายประการ อารมณ์พื้นฐานที่สุดคือความรักที่เกิดจากการดึงดูดของความดี  ความรักก่อให้เกิดความปรารถนาความดีที่ยังไม่มีและความหวังที่จะได้ความดีนี้มา กระบวนการนี้จะสำเร็จได้ก็เมื่อได้ความดีนี้มาแล้วและรู้สึกยินดีที่ได้มา การได้รับสิ่งเลวก่อให้เกิดความเกลียด ความรังเกียจและความกลัวสิ่งเลวในอนาคต กระบวนการนี้ย่อมจบลงในความทุกข์ที่ได้รับสิ่งเลวร้ายในปัจจุบันและในความโกรธที่ต่อต้านสิ่งเลวร้ายนี้

 1766   “การรักคือการปรารถนาให้ใครคนหนึ่งได้รับความดี”[44] ความชื่นชอบอื่นๆ ทั้งหมดล้วนเกิดมาจากการที่ใจมนุษย์มีความโน้มเอียงเบื้องต้นประการนี้ไปหาความดี เรารักอะไรไม่ได้นอกจาก
ความดี[45] “ดังนั้น อารมณ์ย่อมเป็นสิ่งไม่ดี ถ้าความรักไม่ดี อารมณ์เป็นสิ่งดี ถ้าความรักดี”[46]

 

[43] เทียบ มก 7:21.              

[44] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 26, a. 4, c: Ed. Leon. 6, 190.

[45] Cf Sanctus Augustinus, De Trinitate, 8, 3, 4: CCL 50, 271-272 (PL 42, 949).     

[46] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 14, 7: CSEL 402, 13 (PL 41, 410).          

II. อารมณ์และศีลธรรมในชีวิต

II. อารมณ์และศีลธรรมในชีวิต

 1767   อารมณ์ไม่ดีไม่เลวในตัวเอง อารมณ์จะดีหรือเลวก็ขึ้นกับเหตุผลหรือเจตนา เราเรียกอารมณ์ว่า ‘จงใจ’ “หรือเพราะว่าเกิดขึ้นโดยเจตนา หรือเพราะว่าไม่ถูกขัดขวางโดยเจตนา”[47] การใช้เหตุผลควบคุมอารมณ์จึงเป็นเรื่องของความสมบูรณ์ของความดีทางศีลธรรมหรือแบบมนุษย์[48]

 1768   ความรู้สึกของจิตใจอย่างรุนแรงไม่เป็นตัวกำหนดความดีชั่วและความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคล ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเพียงคลังใหญ่ที่สะสมภาพพจน์และความรู้สึกที่ความประพฤติชั่วดีแสดงตนออกมา อารมณ์เป็นสิ่งดีทางศีลธรรมเมื่อช่วยให้เกิดการกระทำที่ดี และเป็นสิ่งที่เลวในกรณีตรงข้าม เจตนาถูกต้องจัดระเบียบกระบวนการความรู้สึกในความควบคุมของตนไปสู่ความดีและความสุข เจตนาเลวร้ายยอมแพ้ต่ออารมณ์ไร้ระเบียบและทำให้เลวร้ายลงไปอีก อารมณ์และความรู้สึกอาจพัฒนาขึ้นเป็นคุณธรรมหรือถูกความเลวร้ายทำลายลง

 1769    ในชีวิตคริสตชน พระจิตเจ้าทรงทำงานโดยทรงขับเคลื่อนบุคลิกของเขาทั้งหมด รวมทั้งความยากลำบาก ความกลัวและความโศกเศร้าของเขา เช่นเดียวกับที่เราเห็นเมื่อพระคริสตเจ้าทรงเป็นทุกข์โศกเศร้าในสวนเกทเสมนี ในพระคริสตเจ้า อารมณ์ความรู้สึกประสามนุษย์บรรลุความบริบูรณ์ได้ในความรักและความสุขของพระเจ้า

 1770   ความสมบูรณ์ทางศีลธรรมหมายความว่ามนุษย์มุ่งทำดีไม่ใช่ตามเจตนาของตนเท่านั้น แต่ยังตามอารมณ์ความรู้สึกด้วยตามถ้อยคำในเพลงสดุดีที่ว่า “ทั้งใจและกายของข้าพเจ้าโห่ร้องด้วยความยินดีแด่พระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (สดด 84:3)

 

[47] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 24, a. 1, c: Ed. Leon. 6, 179. 

[48] Cf Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 24, a. 3, c: Ed. Leon. 6, 181.              

สรุป

สรุป

1771    คำว่าอารมณ์หมายถึงความสะเทือนใจหรือความรู้สึก มนุษย์เราอาจใช้อารมณ์ความรู้สึกนี้คาดคะเนถึงความดีและหวาดระแวงถึงความชั่วได้

1772    อารมณ์ที่สำคัญคือความรักและความเกลียด ความปรารถนาและความกลัว ความยินดี ความเศร้าและความโกรธ

1773    ไม่มีความดีและความชั่วทางศีลธรรมในอารมณ์ที่เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น แต่ความดีและ ความชั่วอาจมีอยู่ในอารมณ์ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอารมณ์นั้นมาจากเหตุผลหรือเจตนาหรือไม่

1774    อารมณ์และความรู้สึกอาจเปลี่ยนเป็นคุณธรรมหรือกลายเป็นนิสัยเลวก็ได้

1775    ความสมบูรณ์ของความดีทางศีลธรรมมีได้เมื่อมนุษย์ทำดีไม่ใช่เพราะเจตนาเท่านั้น แต่ยังเพราะมีใจรักด้วย

ตอนที่หก

มโนธรรมทางศีลธรรม

 1776   “มนุษย์พบกฎหนึ่งในส่วนลึกของมโนธรรมที่เขาเองไม่ได้ให้ไว้ แต่เขาต้องเชื่อฟัง และเสียงของกฎนี้ที่ดังก้องในใจของเราตลอดเวลา คอยเรียกเราอยู่เสมอให้รักและทำดี แต่ให้หลีกเลี่ยงความชั่ว เมื่อจำเป็น […] มนุษย์มีกฎหมายที่พระเจ้าทรงจารึกไว้อยู่ในใจของตน […] มโนธรรมเป็นแก่นแท้ลึกลับที่สุดและเป็นเสมือนสักการสถานของมนุษย์ที่เขาเท่านั้นอยู่กับพระเจ้า และพระสุรเสียงของพระองค์ดังก้องอยู่ในส่วนลึกที่สุดของเขา”[49]

 

[49] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 16: AAS 58 (1966) 1037. 

I.  การตัดสินของมโนธรรม

I.  การตัดสินของมโนธรรม

 1777   มโนธรรมทางศีลธรรม[50]ซึ่งอยู่ในใจของแต่ละคนเตือนเขาในเวลาที่เหมาะให้ทำดีและหลีกหนีชั่วทั้งยังตัดสินการเลือกแต่ละครั้ง โดยเห็นด้วยกับการเลือกที่ดีและตำหนิการเลือกที่ไม่ดี[51] เป็นพยานยืนยันพลังความจริงเกี่ยวกับความดีสูงสุดที่แต่ละคนรู้สึกว่าตนถูกดึงดูดเข้าหาและรับคำสั่งของความดีนี้ เมื่อคนรอบคอบฟังเสียงมโนธรรม เขาก็อาจได้ยินเสียงพระเจ้าตรัสได้

 1778   มโนธรรมทางศีลธรรมเป็นการตัดสินของเหตุผล ช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งรู้ว่ากิจการที่เขากำลังจะทำกำลังทำ หรือทำแล้ว มีลักษณะทางศีลธรรมอย่างไร (ดีหรือชั่ว) มนุษย์เราจำเป็นต้องปฏิบัติทุกสิ่งที่เขาพูดหรือทำอย่างซื่อสัตย์ตามที่เขารู้ว่าเหมาะสมและถูกต้อง มนุษย์เรารับรู้และรู้จักข้อกำหนดของกฎหมายที่พระเจ้าทรงบัญชาไว้อาศัยการตัดสินของมโนธรรมของตน

              มโนธรรม “เป็นกฎหมายของจิตใจของเรา แต่ก็อยู่เหนือจิตใจ มโนธรรมบอกข้อกำหนดให้เรา ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ ความกลัวและความหวัง […] มโนธรรมเป็นผู้แจ้งข่าวของพระองค์ซึ่งตรัสกับเรา สอนเราและปกครองเรา ทั้งในตามธรรมชาติและโดยพระหรรษทาน อย่างคลุมเครือ มโนธรรมจึงเป็นผู้แทนแรกในบรรดาผู้แทนทั้งหลายของพระคริสตเจ้า”[52]

 1779   แต่ละคนจึงจำเป็นต้องรู้สำนึกตนเพียงพอที่จะฟังและปฏิบัติตามเสียงของมโนธรรม ความรู้สำนึกตนนี้จำเป็นยิ่งขึ้นเพราะว่าบ่อยๆ ชีวิตมักจะนำอันตรายทำให้เราขาดความยั้งคิด การไตร่ตรอง
หรือการสำรวจตนเอง

          “จงกลับเข้าไปในมโนธรรมของท่าน จงไต่ถามมโนธรรม […] พี่น้องทั้งหลาย จงกลับเข้าไปภายในเถิด และในทุกๆ สิ่งที่ท่านทำ จงมองดูว่าพระเจ้าทรงเป็นพยานอยู่”[53]

 1780   ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์หมายถึงและเรียกร้องให้เขามีมโนธรรมทางศีลธรรมที่ถูกต้อง มโนธรรมทางศีลธรรมนี้รวมไปถึงการรับรู้หลักการทางศีลธรรม (synderesis) รู้จักนำหลักการเหล่านี้มาใช้กับกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยรู้จักใช้เหตุผลทางปฏิบัติแยกแยะความดี แล้วจึงตัดสินว่ากิจการที่กำลังจะทำหรือทำแล้วนี้ดีหรือชั่ว ในทางปฏิบัติตามที่เป็นจริง มโนธรรมรู้จักความจริงว่าอะไรดีทางศีลธรรมตามที่กฎของเหตุผลบอกไว้ก็โดยอาศัยคำตัดสินที่รอบคอบของมโนธรรม มนุษย์ผู้เลือกปฏิบัติตามคำตัดสินนี้ย่อมได้ชื่อว่า “ผู้รอบคอบ”

 1781   มโนธรรมทำให้เราต้องมีความรับผิดชอบกิจการที่เขาได้ทำ ถ้ามนุษย์คนหนึ่งทำชั่ว คำตัดสินที่ถูกต้องของมโนธรรมยังอาจคงเป็นพยานที่ยืนยันถึงความจริงสากลของความดี พร้อมกับเป็นพยานถึงความชั่วของการเลือกเฉพาะครั้งนี้ด้วย คำตัดสินของมโนธรรมยังคงเป็นหลักประกันของความหวังและพระกรุณา เมื่อมโนธรรมเป็นพยานถึงความผิดที่ได้ทำก็ย่อมเตือนให้เราคิดถึงการอภัยโทษที่เราต้องวอนขอ คิดถึงความดีที่ต้องทำและคิดถึงคุณธรรมที่เราต้องปลูกฝังอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า

           “เราจะมั่นใจเฉพาะพระพักตร์พระองค์ แม้ใจของเราอาจจะยังกลาวโทษเราอยู่ก็ตาม เพราะพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าใจของเรา และทรงล่วงรู้ทุกสิ่ง” (1 ยน 3:19-20)

 1782   มนุษย์มีสิทธิที่จะทำตามมโนธรรมและมีอิสระที่จะตัดสินใจทำดีหรือชั่วได้โดยตนเอง “มนุษย์จึงต้องไม่ถูกบังคับให้กระทำขัดกับมโนธรรมของตน แต่ก็ต้องไม่ถูกขัดขวางไม่ให้กระทำตามมโนธรรมของตน โดยเฉพาะให้เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา”[54]

 

[50] เทียบ รม 2:14-16.           

[51] เทียบ รม 1:32.

[52] Ioannes Henricus Newman, A Letter to the Duke of Norfolk, 5: Certain Difficulties felt by Anglicans in Catholic Teaching, v. 2 (Westminster 1969) p. 248.

[53] Sanctus Augustinus, In epistulam Ioannis ad Parthos tractatus 8, 9: PL 35, 2041. 

[54] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 3: AAS 58 (1966) 932.       

II. การเสริมสร้างมโนธรรม

II. การเสริมสร้างมโนธรรม

 1783   มโนธรรมต้องมีความแน่นอนยิ่งๆ ขึ้นและการตัดสินว่าอะไรดีอะไรชั่วต้องชัดเจน มโนธรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างดีจึงถูกต้องและสะท้อนความจริง ตัดสินถูกต้องตามเหตุผล สอดคล้องกับความดีแท้จริงตามที่ปรีชาญาณของพระผู้สร้างต้องการ การอบรมมโนธรรมจึงจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่อยู่ใต้อิทธิพลด้านลบและถูกผจญจากบาปให้ตัดสินตามใจตนเองและไม่ยอมรับคำสั่งสอนตามอำนาจ(ของพระเจ้า)

 1784   การอบรมมโนธรรมเป็นงานที่ต้องทำตลอดชีวิต ตั้งแต่เยาว์วัย การอบรมนี้ต้องปลุกเยาวชนให้รู้จักและปฏิบัติตามกฎในใจที่รู้ได้จากมโนธรรมทางศีลธรรม การอบรมที่รอบคอบสอนให้รู้จักคุณธรรม ปกป้องหรือบำบัดรักษาให้พ้นจากความกลัว จากความรักตนเองอย่างตาบอด (“ความเห็นแก่ตัว”) และจากความเย่อหยิ่งจองหอง จากความขุ่นเคืองรู้สึกผิด และจากความรู้สึกพึงพอใจซึ่งเกิดจากความอ่อนแอและความผิดประสามนุษย์ การอบรมมโนธรรมก่อให้เกิดอิสรภาพและสันติภายในใจ

 1785   พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่างส่องทางในการเสริมสร้างมโนธรรม จึงจำเป็นที่เราจะต้องทำให้พระวาจาเป็นของเราโดยความเชื่อและการอธิษฐานภาวนาพร้อมกับนำมาปฏิบัติด้วย เรายังต้องพิจารณามโนธรรมของเราด้วยโดยพิจารณาไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้า เราได้รับความช่วยเหลือจากพระพรของพระจิตเจ้า จากการเป็นพยานชีวิตและคำแนะนำของผู้อื่น และยังรับการนำทางจากคำสอนทางการของพระศาสนจักรอีกด้วย[55]

 

[55] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 14: AAS 58 (1966) 940.    

III.  การเลือกปฏิบัติตามมโนธรรม

III.  การเลือกปฏิบัติตามมโนธรรม

 1786    เมื่อจะต้องเลือกความดีหรือความชั่ว มโนธรรมอาจตัดสินถูกต้องตามเหตุผลและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของพระเจ้า หรือตรงกันข้ามอาจตัดสินผิดพลาดเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามเหตุผลและกฎเหล่านั้น

 1787   บางครั้งมนุษย์พบว่าตนอยู่ในสภาพที่ทำให้การตัดสินทางศีลธรรมไม่สู้ชัดเจนตัดสินใจได้ยาก ถึงกระนั้นเขาก็ต้องแสวงหาสิ่งที่ดีและถูกต้องอยู่เสมอ และต้องแยกแยะให้เห็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่แสดงไว้ในพระบัญญัติได้อย่างชัดเจน

 1788   เพื่อทำเช่นนี้ มนุษย์จึงพยายามอธิบายความหมายข้อมูลของประสบการณ์และเครื่องหมายของกาลเวลาโดยใช้คุณธรรมความรอบคอบ ใช้คำแนะนำของผู้มีประสบการณ์และใช้ความช่วยเหลือของพระจิตเจ้าและจากพระพรของพระองค์

 1789   ในทุกกรณีเหล่านี้จึงต้องใช้กฎบางประการ คือ

- ต้องไม่มีวันอนุญาตให้ทำชั่วเพื่อจะได้ผลดีจากการนั้น

- “กฎทางปฏิบัติ” ก็คือ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด” (มธ 7:12)[56]

- ความรักต้องคำนึงถึงเพื่อนพี่น้องและมโนธรรมของเขาเสมอ “ถ้าท่านทำบาปต่อพี่น้องและทำร้ายมโนธรรมที่อ่อนไหวของเขา ท่านก็ย่อมทำบาปต่อพระคริสตเจ้า” (1 คร 8:12) “เป็นการดีที่จะงด [...] [ทำ]ทุกสิ่งที่เป็นเหตุทำให้พี่น้องของท่านไม่สบายใจ” (รม 14:21)

 

[56] เทียบ ลก 6:31; ทบต 4:15.   

IV. การตัดสินไม่ถูกต้อง

IV. การตัดสินไม่ถูกต้อง

 1790    มนุษย์เราต้องเชื่อฟังคำตัดสินแน่นอนของมโนธรรมของตนเสมอ ถ้าเขาจงใจทำขัดกับมโนธรรมเช่นนี้ เขาก็ตัดสินลงโทษตนเอง แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่มโนธรรมทางศีลธรรมไม่มีความรู้และตัดสินไม่ถูกต้องเกี่ยวกับกิจการที่ต้องทำหรือที่ทำไปแล้ว

 1791   ความไม่รู้เช่นนี้บ่อยๆ ต้องนับว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น “เมื่อมนุษย์เอาใจใส่น้อยไปในการแสวงหาความจริงและความดี จึงทำให้มโนธรรมค่อยๆ มืดมัวไปจากความเคยชินทำบาป”[57] ในกรณีเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดในความชั่วที่เขาทำ

 1792   ความไม่รู้จักพระคริสตเจ้าและพระวรสารของพระองค์ ตัวอย่างไม่ดีที่ได้รับจากผู้อื่น การเป็นทาสของตัณหา การเรียกร้องอัตตานะของมโนธรรมที่เข้าใจอย่างไม่ถูกต้อง การไม่ยอมรับอำนาจปกครองและคำสอนของพระศาสนจักร การไม่กลับใจและขาดความรัก ทั้งหมดนี้ล้วนอาจเป็นบ่อเกิดการตัดสินผิดพลาดทางศีลธรรมเรื่องความประพฤติได้

 1793   ตรงกันข้าม ถ้าความไม่รู้นี้ไม่อาจแก้ไขได้ หรือถ้าผู้ทำกิจการไม่ต้องรับผิดชอบการตัดสินที่ผิดพลาดนี้ด้านศีลธรรม ความชั่วที่คนนั้นทำก็ไม่ต้องให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบ ถึงกระนั้นการกระทำนั้นก็ยังคงเป็นความชั่ว ความบกพร่อง ความสับสนอยู่ดี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ที่จะแก้ไขมโนธรรมทางศีลธรรมให้พ้นจากความหลงผิด

 1794   ความเชื่อแท้จริงเป็นแสงสว่างส่องมโนธรรมที่ดีและบริสุทธิ์ ในเวลาเดียวกันความรักก็ออกมา “จากใจบริสุทธิ์ มาจากมโนธรรมที่ถูกต้องและมาจากความเชื่อแท้จริง” (1 ทธ 1:5)[58]

“ดังนั้น มโนธรรมยิ่งถูกต้องมากขึ้นเท่าใด บุคคลและกลุ่มชนก็ยิ่งออกห่างจากการคาดคะเนอย่างตาบอดและพยายามทำตามกฎศีลธรรมโดยปราศจากอคติมากขึ้นเท่านั้น”[59]

 

[57] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 16: AAS 58 (1966) 1037.  

[58] เทียบ 1 ทธ 3:9; 2 ทธ 1:3; 1 ปต 3:21; กจ 24:16.

[59] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 16: AAS 58 (1966) 1037. 

สรุป

สรุป

1795    “มโนธรรมเป็นแก่นแท้ลึกลับที่สุดและเป็นเสมือนสักการสถานของมนุษย์ที่เขาเท่านั้นอยู่กับพระเจ้า และพระสุรเสียงของพระองค์ดังก้องอยู่ในส่วนลึกที่สุดของเขา[60]

1796    มโนธรรมทางศีลธรรมเป็นการตัดสินของเหตุผล ช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งรู้ว่ากิจการที่เขาทำมีลักษณะทางศีลธรรมอย่างไร

1797    สำหรับคนที่ทำผิดไปแล้ว คำตัดสินของมโนธรรมของเขายังคงเป็นประกันให้เขากลับใจและมีความหวัง

1798    มโนธรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างดีถูกต้องและสะท้อนความจริง ตัดสินถูกต้องตามเหตุผล สอดคล้องกับความดีแท้จริงตามที่ปรีชาญาณของพระผู้สร้างต้องการ แต่ละคนจึงต้องมีวิธีการเพื่อเสริมสร้างมโนธรรมของตน

1799    เมื่อจะต้องเลือกความดีหรือความชั่ว มโนธรรมอาจตัดสินถูกต้องตามเหตุผลและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของพระเจ้า หรือตรงกันข้ามอาจตัดสินผิดพลาดเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามเหตุผลและกฎเหล่านั้น

1800    มนุษย์ต้องเชื่อฟังคำตัดสินแน่ชัดของมโนธรรมของตนเสมอ

1801    มโนธรรมทางศีลธรรมอาจคงอยู่ในความไม่รู้หรืออาจตัดสินผิดพลาดได้ ความไม่รู้และความหลงผิดเหล่านี้ไม่อาจเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดได้เสมอไป

1802    พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่างส่องก้าวเดินของเรา เราจึงต้องใช้ความเชื่อและการอธิษฐานภาวนาทำให้พระวาจานี้เป็นของตนและนำมาใช้ในทางปฏิบัติ นี่จึงเป็นวิธีการเสริมสร้างมโนธรรม

 

[60] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 16: AAS 58 (1966) 1037. 

ตอนที่เจ็ด

คุณธรรม

 

 1803   “สิ่งใดจริง สิ่งใดประเสริฐ สิ่งใดชอบธรรม สิ่งใดบริสุทธิ์ สิ่งใดน่ารัก สิ่งใดควรยกย่อง ถ้ามีสิ่งใดเป็นคุณธรรม  ถ้ามีสิ่งใดน่าสรรเสริญ ท่านจงพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วยการใคร่ครวญเถิด” (ฟป 4:8)

           คุณธรรมคือความโน้มเอียงมั่นคงเป็นประจำที่จะทำดี คุณธรรมไม่เพียงแต่ปล่อยให้บุคคลหนึ่งทำกิจการดี และยังช่วยให้เขามอบส่วนดีที่สุดของเขาด้วย บุคคลที่มีคุณธรรมใช้พลังทั้งหมดของตนทั้งด้านประสาทสัมผัสและด้านจิตวิญญาณมุ่งหาความดี เขาพยายามแสวงหาและเลือกความดีในการกระทำที่เป็นรูปธรรมของตน

             “จุดหมายของการดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมก็คือเพื่อแต่ละคนจะได้เป็นเหมือนกับพระเจ้า”[61]

 

[61] Sanctus Gregorius Nyssenus, De beatitudinibus, oratio 1: Gregorii Nysseni opera, ed. W. Jaeger, v. 72 (Leiden 1992) p. 82 (PG 44, 1200).

I. คุณธรรมของมนุษย์

I. คุณธรรมของมนุษย์

 1804   คุณธรรมของมนุษย์เป็นอุปนิสัยมั่นคง เป็นความโน้มเอียงไม่หวั่นไหว เป็นสติปัญญาประจำและเจตนาครบครันที่คอยกำกับการกระทำของเรา จัดระเบียบอารมณ์ของเรา และนำความประพฤติของเราตามเหตุผลและความเชื่อ คุณธรรมเหล่านี้ช่วยเราให้ควบคุมตนและมีความยินดีที่จะดำเนินชีวิตศีลธรรมอย่างดี คนที่มีคุณธรรมคือผู้ที่ทำดีโดยอิสระเสรี

           คุณธรรมทางศีลธรรมได้มาด้วยความพยายามอย่างมนุษย์ เป็นผลและบ่อเกิดของกิจการที่ดีทางศีลธรรม สนับสนุนความสามารถทุกอย่างของมนุษย์ให้เชื่อมโยงกับความรักของพระเจ้า


คุณธรรมหลัก

1805    คุณธรรมสี่ประการทำหน้าที่เสมือน “หลัก” (หรือ “บานพับ”) ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า “คุณธรรมหลัก”คุณธรรมอื่นทุกประการล้วนจัดอยู่โดยรอบคุณธรรมเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ความรอบคอบ ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และความรู้ประมาณ “ถ้าผู้ใดรักความชอบธรรมก็จะรู้ว่าคุณธรรมต่างๆ เป็นผลงานของปรีชาญาณ ปรีชาญาณสอนความรู้ประมาณและความรอบคอบ สอนความยุติธรรมและความกล้าหาญ” (ปชญ 8:7) คุณธรรมเหล่านี้รับคำชมสรรเสริญภายใต้ชื่ออื่นๆ ในพระคัมภีร์อีกหลายตอน

 1806   ความรอบคอบเป็นคุณธรรมที่ช่วยจัดเหตุผลทางปฏิบัติให้รู้จักแยกแยะความดีที่แท้ในสถานการณ์ต่างๆ และเลือกวิธีการที่ถูกต้องเพื่อทำความดีนั้น “คนฉลาดระวังก้าวเดินของตน” (สภษ 14:15) “ดังนั้น จงมีความสุขุมรอบคอบ รู้จักประมาณตนเพื่ออธิษฐานภาวนา” (1 ปต 4:7) นักบุญโทมัส[62]มีความเห็นเหมือนอริสโตเติลเขียนไว้ว่า ความรอบคอบเป็น “เหตุผลที่ถูกต้องของกิจการที่ต้องทำ” เราจึงต้องไม่นำความรอบคอบไปปะปนกับความขลาดหรือความกลัว และไม่ต้องไปปะปนกับการตีสองหน้าหรือการตลบตะแลง ความรอบคอบได้ชื่อว่า “Auriga virtutum” (ผู้บังคับคุณธรรมต่างๆ) เพราะคอยปกครองคุณธรรมอื่นๆ โดยช่วยชี้แนะหลักการและความมากน้อย ความรอบคอบคอยช่วยแนะนำการตัดสินของมโนธรรมอย่างใกล้ชิด คนรอบคอบตัดสินใจและจัดระเบียบการกระทำของตนโดยทำตามคำตัดสินนี้ อาศัยคุณธรรมประการนี้ เรานำหลักการด้านศีลธรรมมาใช้กับกรณีเฉพาะโดยไม่ผิดหลงและเอาชนะความสงสัยในการทำดีหนีชั่วได้

 1807   ความยุติธรรม เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่มีเจตนามั่นคงที่จะให้แก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์สิ่งที่เป็นสิทธิของพระองค์และของเขา ความยุติธรรมต่อพระเจ้าจึงได้ชื่อว่า “คุณธรรมของศาสนา” คุณธรรมต่อมนุษย์จัดให้เราเคารพสิทธิของแต่ละคนและจัดให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีความสามัคคีกลมเกลียวกันที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลและความดีส่วนรวม คนยุติธรรม (หรือ “ผู้ชอบธรรม”) ซึ่งได้รับการกล่าวถึงบ่อยๆ ในพระคัมภีร์ เห็นได้ชัดจากอุปนิสัยความคิดถูกต้องของเขาและวิธีปฏิบัติที่ตรงไปตรงมาของเขาต่อเพื่อนพี่น้อง  “ท่านจะต้องไม่ลำเอียงเข้าข้างคนยากจนหรือคนมีอำนาจ แต่จงตัดสินคดีของเพื่อนบ้านอย่างยุติธรรม” (ลนต 19:15)
“ท่านที่เป็นเจ้านาย จงให้ทาสของท่านได้รับความยุติธรรมตามความเหมาะสม ท่านรู้แล้วว่าท่านก็มีเจ้านายองค์หนึ่งในสวรรค์เช่นเดียวกัน” (คส 4:1)

 1808   ความกล้าหาญ เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่แสดงความเข้มแข็งในความยากลำบากและความมั่นคงในการทำความดี คุณธรรมประการนี้สร้างความมั่นคงเมื่อเผชิญการผจญและเอาชนะอุปสรรคในการดำเนินชีวิตตามศีลธรรม คุณธรรมความกล้าหาญทำให้เรามีความสามารถที่จะเอาชนะความกลัวแม้กระทั่งความตาย สามารถเผชิญการทดลองและการเบียดเบียน ทำให้พร้อมที่จะก้าวหน้าไปจนยอมเสียสละและถวายชีวิตของตนเพื่อความถูกต้อง “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพละกำลังและทรงเป็นบทเพลงของข้าพเจ้า” (สดด 118:14) “ในโลกนี้ท่านจะมีความทุกข์ยาก แต่อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว” (ยน 16:33)

 1809   ความรู้ประมาณ เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่คอยควบคุมให้ความสุขและการใช้สิ่งสร้างที่คอยดึงดูดเราอยู่ในสมดุล ช่วยเสริมกำลังเจตนาให้เข้มแข็งสามารถควบคุมสัญชาติญาณและความปรารถนาไว้ภายในขอบเขต บุคคลที่รู้ประมาณจัดระเบียบความต้องการทางประสาทของตนให้มุ่งหาความดี รู้จักแยกแยะว่าอะไรดีไม่ดีและไม่ดำเนินตามแรงที่ผลักดันให้ทำตามที่ใจของตนปรารถนา[63] ความรู้ประมาณได้รับคำชมเชยบ่อยๆ ในพันธสัญญาเดิม (บสร 18:30) ในพันธสัญญาใหม่ “ความรู้ประมาณ” ยังได้ชื่อว่า “สติสัมปชัญญะ” อีกด้วย เราต้อง “ดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะด้วยความชอบธรรมและเคารพเลื่อมใสพระเจ้าในโลกนี้” (ทต 2:12)

            “การดำเนินชีวิตอย่างดีไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากรักพระเจ้าสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดความคิด […] เพื่อจะรักษาความรักไว้ให้ครบสมบูรณ์ไม่ขาดตอน (ซึ่งก็คือความรู้ประมาณ) เพื่อจะได้ไม่หมดกำลังใจเมื่อประสบความยากลำบาก (ซึ่งก็คือความกล้าหาญ) เพื่อจะไม่รับใช้สิ่งใดอื่น (ซึ่งก็คือความยุติธรรม) ต้องคอยระวังในการแยกแยะสิ่งต่างเพื่อไม่ให้ความหลงผิดหรือความหลอกลวงค่อยๆ แทรกเข้ามา (ซึ่งก็คือความรอบคอบ)”[64]


คุณธรรมและพระหรรษทาน

 1810   คุณธรรมของมนุษย์ที่ได้มาจากการศึกษา จากการกระทำโดยจงใจและซ้ำๆ ในความพยายามอยู่เสมอนี้ย่อมรับการชำระและยกให้สูงขึ้นโดยพระหรรษทาน อาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า คุณธรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างอุปนิสัยและช่วยให้ทำดีได้ง่ายขึ้น คนที่มีคุณธรรมจึงมีความสุขในการปฏิบัติคุณธรรมเหล่านี้

 1811   แต่สำหรับมนุษย์ที่ได้รับบาดแผลจากบาปแล้ว ไม่เป็นการง่ายเลยที่จะรักษาสมดุลทางศีลธรรม ความรอดพ้นซึ่งเป็นของประทานเดชะพระคริสตเจ้านำพระหรรษทานที่จำเป็นมาให้เราเพื่อจะแสวงหาคุณธรรมได้อย่างมั่นคง แต่ละคนต้องวอนขอพระหรรษทานความสว่างและพละกำลังนี้อยู่เสมอ ต้องเข้าไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์ ต้องร่วมงานกับพระจิตเจ้า เดินตามการเรียกของพระองค์เพื่อจะรักความดีและรักษาตนให้พ้นจากความชั่ว

 

[62] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 47, a. 2, sed contra: Ed. Leon. 8, 349.       

[63] เทียบ บสร 5:2; 37:27-31.    

[64] Sanctus Augustinus, De moribus Ecclesiae catholicae, 1, 25, 46: CSEL 90, 51 (PL 32, 1330-1331).  

II. คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า

II. คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า

 1812   คุณธรรมของมนุษย์มีรากตั้งอยู่บนคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งปรับสมรรถนะของมนุษย์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้าได้[65] คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระเจ้า จัดเตรียมคริสตชนไว้ให้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพ คุณธรรมเหล่านี้จึงมีพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคลเป็นบ่อเกิด แรงบันดาลใจ และจุดหมาย

 1813   คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าเป็นรากฐานความประพฤติด้านศีลธรรมโดยเฉพาะของคริสตชน เป็นพลังบันดาลใจและทำให้ความประพฤติเหล่านี้มีลักษณะเด่นชัด คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าทำให้คุณธรรมด้านศีลธรรมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ พระเจ้าทรงหลั่งคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้านี้ในวิญญาณของบรรดาผู้มีความเชื่อเพื่อทรงบันดาลให้เขามีความสามารถที่จะประพฤติตน เช่นบุตรของพระเจ้าและสมที่จะรับชีวิตนิรันดร คุณธรรมเหล่านี้เป็นประกันว่าพระจิตเจ้าประทับอยู่และทรงทำงานในสมรรถนะของมนุษย์ คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้ามีสามประการคือ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก[66]

 
ความเชื่อ

 1814   ความเชื่อเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ทำให้เราเชื่อในพระเจ้าและทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทรงเปิดเผยให้เรารู้และที่พระศาสนจักรเสนอให้เราเชื่อ เพราะพระเจ้าเองทรงเป็นความจริง อาศัยความเชื่อ “มนุษย์ยอมมอบตนเองโดยเสรีแก่พระเจ้าอย่างสิ้นเชิง”[67] ดังนั้นผู้ที่เชื่อจึงพยายามที่จะรู้และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า “ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตโดยอาศัยความเชื่อ” (รม 1:17) ความเชื่อที่มีชีวิต “ย่อมแสดงออกเป็นการกระทำอาศัยความรัก” (กท 5:6)

 1815    พระพรความเชื่อคงอยู่ในผู้ที่ไม่ได้ทำบาปผิดต่อความเชื่อนั้น[68] แต่ทว่า “ความเชื่อที่ไม่มีการกระทำก็ย่อมตายแล้ว” (ยก 2:26) ความเชื่อที่ไม่มีความหวังและความรักย่อมไม่ทำให้ผู้มีความเชื่อมีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าได้อย่างเต็มที่และไม่ทำให้เขาเป็นอวัยวะที่มีชีวิตของพระวรกายของพระองค์

 1816   ศิษย์ของพระคริสตเจ้าต้องไม่เพียงแต่รักษาความเชื่อไว้เท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินชีวิตจากความเชื่อนี้ด้วย นอกจากนั้น ยังต้องประกาศความเชื่อ เป็นพยานถึงและเผยแผ่ความเชื่อนี้ด้วย
“ทุกคนต้องพร้อมที่จะเป็นพยานยืนยันถึงพระคริสตเจ้าต่อหน้ามวลมนุษย์และเมื่อถูกเบียดเบียนด้วย พระศาสนจักรซึ่งติดตามพระองค์ในหนทางไม้กางเขน ไม่เคยขาดการเบียดเบียนเช่นนี้เลย”[69] เพื่อจะรับความรอดพ้นได้ เราต้องรับใช้และเป็นพยานถึงความเชื่อ “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วย” (มธ 10:32-33)


ความหวัง

 1817   ความหวังเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ช่วยให้เราใฝ่หาพระอาณาจักรสวรรค์และชีวิตนิรันดรเป็นความสุขของเรา โดยวางความมั่นใจของเราไว้กับพระสัญญาของพระคริสตเจ้า ไม่วางใจในกำลังของเรา แต่วางใจในความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้า “เราจงยึดมั่นโดยไม่หวั่นไหวในการประกาศความหวังที่เรามีอยู่ เพราะว่าพระองค์ผู้ประทานพระสัญญานั้นทรงซื่อสัตย์”(ฮบ 10:23) พระองค์ “ทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงเหนือเราอย่างอุดมโดยทางพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเรา เพื่อพระหรรษทานของพระองค์จะบันดาลให้เรากลับเป็นผู้ชอบธรรมและเป็นทายาทในความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร” (ทต 3:6-7)

 1818   คุณธรรมความหวังตอบสนองการแสวงหาความสุขที่พระเจ้าทรงวางไว้ในในของมนุษย์แต่ละคน รวบรวมการคาดหวังที่เป็นพลังบันดาลใจให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมต่างๆ ชำระพลังบันดาลใจเหล่านี้ให้มุ่งหาอาณาจักรสวรรค์ ช่วยป้องกันไม่ให้หมดกำลังใจ คอยพยุงใจไว้ไม่ให้ท้อแท้ ช่วยเปิดใจให้กว้างมีความหวังว่าจะได้รับความสุขนิรันดร  พลังผลักดันของความหวังช่วยปกป้องเราไว้จากความรักตนเอง (“ความเห็นแก่ตัว”) และนำเราให้แสวงหาความสุขที่มาจากความรัก

 1819   ความหวังของคริสตชนสืบเนื่องมาจากความหวังของประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรและทำให้ความหวังนี้สมบูรณ์ ความหวังนี้ถือกำเนิดและมีตัวอย่างในความหวังของอับราฮัมที่ได้รับตาม พระสัญญาของพระเจ้าเมื่ออิสอัคเกิดมา และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เมื่อถูกทดลองให้ถวายบุตรเป็นบูชายัญ[70] “แม้ดูเหมือนจะไม่มีความหวัง แต่อับราฮัมก็หวังและเชื่อว่าเขาจะเป็นบิดาของประชาชาติจำนวนมาก” (รม 4:18)

 1820   นับตั้งแต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนแล้ว ความหวังของคริสตชนก็ได้รับคำอธิบายในการประกาศสอนเรื่องความสุขแท้ ความสุขแท้เหล่านี้ยกความหวังของเราขึ้นไปหาสวรรค์ซึ่งเป็นประหนึ่งแผ่นดินใหม่แห่งพระสัญญา ชี้แนวทางไปสู่แผ่นดินใหม่นี้ผ่านการทดลองต่างๆ ที่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องพบ แต่เดชะบุญกุศลของพระเยซูคริสตเจ้าและพระทรมานของพระองค์ พระเจ้าทรงปกป้องเราไว้ในความหวังซึ่ง “ไม่ทำให้เราผิดหวัง” (รม 5:5)  “เรามีความหวังนี้เป็นดังสมอเรือที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับชีวิต” ผ่านเข้าไปถึงที่ซึ่ง “พระเยซูเจ้าเสด็จล่วงหน้าเข้าไปก่อนแล้วเพื่อเรา” (ฮบ 6:19-20) ความหวังนี้ยังเป็นเสมือนยุทธภัณฑ์ที่ปกป้องเราในการต่อสู้เพื่อความรอดพ้นด้วย “เราสวมความเชื่อและความรักเป็นเกราะป้องกัน สวมความหวังที่จะได้รับความรอดพ้นเป็นเกราะป้องกันศีรษะ” (1 ธส 5:8) ความหวังนี้นำความยินดีมาให้เราแม้ในยามถูกทดลอง “(เรา)ชื่นชมยินดีในความหวัง มีความอดทนต่อความทุกข์ยาก”
(รม 12:12) ความหวังนี้แสดงออกและได้รับการหล่อเลี้ยงในการอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในบท “ข้าแต่พระบิดา” ซึ่งเป็นบทสรุปทุกสิ่งที่ความหวังชวนให้เราใฝ่หา

 1821   ดังนั้น เราจึงอาจหวังสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ผู้ที่รักพระองค์[71] และทำตามพระประสงค์[72] ในสถานการณ์ใดไม่ว่า แต่ละคนต้องมีความหวัง และอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า มั่นคงอยู่ในความหวังนี้จนถึงที่สุด[73] ไปรับความยินดีที่เป็นรางวัลนิรันดรจากพระเจ้าตอบแทนกิจการดีที่เขาได้ทำไว้อาศัยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาด้วยความหวังขอให้ “ทุกคนได้รับความรอดพ้น” (1 ทธ 2:4) พระศาสนจักรปรารถนาที่จะร่วมสนิทกับพระคริสตเจ้าพระสวามีของตนในสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์

           “วิญญาณเอ๋ย จงหวัง จงหวังเถิด เจ้าไม่รู้ว่าวันและเวลาจะมาถึงเมื่อไร จงเอาใจใส่ตื่นเฝ้าไว้ เพราะทุกสิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความปรารถนาที่มั่นใจของเจ้าจะกลับเป็นไม่มั่นใจ และเวลาสั้นๆ จะกลับยาวขึ้น จงระวังตัวไว้ ยิ่งเจ้าจะต่อสู้มากขึ้นเท่าใด เจ้าก็จะแสดงความรักที่เจ้ามีต่อพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น เจ้าจะมีความยินดีชื่นชมผู้ที่เจ้ารักด้วยความยินดีและความรักที่ไม่มีวันจะจบสิ้นได้เลย”[74]


ความรัก

 1822   ความรักเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ช่วยให้เรารักพระเจ้าเหนือสิ่งใดเพราะเห็นแก่พระองค์และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองเพราะเห็นแก่ความรักของพระเจ้า     

 1823   พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความรักเป็นบัญญัติใหม่ของพระองค์[75] พระองค์ทรงรักบรรดาศิษย์ของพระองค์ “จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) ทรงแสดงความรักของพระบิดาที่ทรงรับมา เมื่อบรรดาศิษย์รักกัน เขาก็ประพฤติตามแบบความรักของพระเยซูเจ้าที่เขารับเข้ามาในตนด้วย ดังนั้น พระเยซูเจ้า
จึงตรัสว่า “พระบิดาทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด” (ยน 15:9) และยังตรัสอีกว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

 1824   ความรักซึ่งเป็นผลของพระจิตเจ้าและความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติ ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าและพระคริสต์ของพระองค์ “จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา” (ยน 15:9-10)[76]

 1825   พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเราขณะที่เรายังเป็น “ศัตรูอยู่” (รม 5:10) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องเราให้รักแม้กระทั่งศัตรู[77]ของเราเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ให้เราทำให้ผู้อยู่ห่างไกลจากเราเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา[78] ให้เรารักเด็กเล็กๆ[79] และคนยากจน[80] เหมือนกับที่เรารักพระองค์ด้วย

            นักบุญเปาโลอัครสาวกบรรยายถึงความรักไว้อย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ “ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง   หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:4-7)

 1826    ท่านอัครสาวกยังกล่าวอีกว่า ถ้าไม่มีความรัก “ข้าพเจ้าก็ไม่เป็นอะไรเลย” และสิ่งใดๆ ไม่ว่าที่เป็นสิทธิพิเศษ เป็นการรับใช้ แม้กระทั่งเป็นคุณธรรม....ถ้าข้าพเจ้าไม่มีความรัก “ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยสำหรับข้าพเจ้า”[81] ความรักอยู่เหนือคุณธรรมทุกอย่าง เป็นที่หนึ่งในบรรดาคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า “ขณะนี้ยังมีความเชื่อ ความหวังและความรักอยู่ทั้งสามประการ แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดทั้งหมดคือความรัก” (1 คร 13:13)

 1827   การปฏิบัติคุณธรรมทุกประการต้องได้รับอิทธิพลและพลังบันดาลใจจากความรักเป็น “ที่รวม
ความสมบูรณ์” (เทียบ คส 3:14) ความรักเป็นรูปแบบของคุณธรรมทั้งหลาย รวมคุณธรรมต่างๆไว้และจัดให้สัมพันธ์กัน เป็นบ่อเกิดและจุดหมายของการที่คริสตชนปฏิบัติคุณธรรม ความรักให้กำลังและชำระสมรรถนะแบบมนุษย์ของเราที่จะรัก ทำให้สมรรถนะนี้สูงขึ้นให้มีความสมบูรณ์เหนือธรรมชาติเหมือนความรักของพระเจ้า

 1828   การดำเนินชีวิตตามศีลธรรมที่ได้รับพลังบันดาลใจจากความรักทำให้คริสตชนมีอิสรภาพทางจิตของบรรดาบุตรของพระเจ้า เขาย่อมอยู่ต่อหน้าพระเจ้าไม่ใช่ในฐานะผู้รับใช้ด้วยความกลัวเยี่ยงทาส และเหมือนลูกจ้างที่คอยรับค่าจ้าง  แต่เหมือนกับบุตรที่ตอบสนองความรักของพระองค์ผู้ “ทรงรักเราก่อน” (1 ยน 4:19).

           “ถ้าเราหลีกเลี่ยงความชั่วเพราะกลัวจะถูกลงโทษ เราก็ยังอยู่ในความรู้สึกแบบทาส ถ้าเราแสวงหาผลประโยชน์แบบค่าจ้าง ทำตามคำสั่งเพื่อผลประโยชน์ของเรา และดังนี้เราก็ทำตัวเราเป็นเหมือนกับลูกจ้าง หรือถ้าเราทำตนซื่อสัตย์และมีความรักต่อพระผู้ทรงวางกฎไว้ให้เรา […] เราก็ทำตนเป็นเสมือนบุตรในที่สุด”[82] 

 1829   ผลของความรักคือ ความยินดี สันติ ความเมตตากรุณา ความรักเรียกร้องให้ทำดีต่อทุกคน    ตักเตือนกันฉันพี่น้อง เอื้อเฟื้อต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ใกล้ชิดโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน มีใจกว้าง เป็นมิตรภาพและการอยู่ร่วมกัน

           “ความรักเป็นความสำเร็จของกิจกรรมทุกอย่างของเรา ความรักเป็นจุดหมายทำให้เราวิ่งไปหา เมื่อเรามาถึงความรักแล้ว เราก็จะพักผ่อนได้”[83]

 

[65] เทียบ 2 ปต 1:4.             

[66] เทียบ 1 คร 13:13.           

[67] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 5: AAS 58 (1966) 819.       

[68] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 15: DS 1544.   

[69] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42: AAS 57 (1965) 48; cf Id., Decl. Dignitatis humanae, 14: AAS 58 (1966) 940.

[70] เทียบ ปฐก 17:4-8;  22:1-18.  

[71] เทียบ รม 8:28-30.           

[72] เทียบ มธ 7:21.

[73] เทียบ มธ 10:22; Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 13: DS 1541        

[74] Sancta Theresia a Iesu, Exclamaciones del alma a Dios, 15, 3: Biblioteca Mística Carmelitana, v. 4 (Burgos 1917) p. 290.

[75] เทียบ ยน 13:34.             

[76] เทียบ มธ 22:40; รม 13:8-10. 

[77] เทียบ มธ 5:44.              

[78] เทียบ ลก 10:27-37.          

[79] เทียบ มก 9:37.              

[80] เทียบ มธ 25:40-45.         

[81] เทียบ 1 คร 13:1-3.           

[82] Sanctus Basilius Magnus, Regulae fusius tractatae, prol. 3: PG 31, 896.           

[83] Sanctus Augustinus, In epistulam Ioannis ad Parthos tractatus, 10, 4: PL 35, 2056-2057.          

III.  พระพรและผลของพระจิตเจ้า

III.  พระพรและผลของพระจิตเจ้า

 1830    ชีวิตด้านศีลธรรมของคริสตชนได้รับการทำนุบำรุงโดยพระพรของพระจิตเจ้า พระพรเหล่านี้เป็นอุปนิสัยถาวรที่ทำให้มนุษย์ว่านอนสอนง่ายพร้อมจะปฏิบัติตามการดลใจของพระจิตเจ้า

 1831   พระพรเจ็ดประการของพระจิตเจ้าได้แก่ปรีชาญาณ ความเข้าใจ ความคิดอ่าน อานุภาพ ความรู้
ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า พระพรเหล่านี้เป็นของพระคริสตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมในฐานะโอรสของกษัตริย์ดาวิด[84] พระพรเหล่านี้ทำให้คุณธรรมของผู้รับเต็มเปี่ยมอย่างสมบูรณ์ ทำให้ผู้มีความเชื่อพร้อมจะรับการสั่งสอนและเชื่อฟังการดลใจของพระเจ้า

          “พระจิตเอื้ออารีของพระองค์จะทรงนำข้าพเจ้าไปยังแผ่นดินราบเรียบ” (สดด 143:10)

            “ทุกคนที่มีพระจิตของพระเจ้าเป็นผู้นำย่อมเป็นบุตรของพระเจ้า […] เมื่อเราเป็นบุตร เราก็เป็นทายาทด้วย เป็นทายาทของพระเจ้าและเป็นทายาทร่วมกับพระคริสตเจ้า” (รม 8:14,17)

 1832   ผลของพระจิตเจ้าก็คือความสมบูรณ์ที่พระจิตเจ้าในฐานะผลแรกของสิริรุ่งโรจน์นิรันดรทำให้เป็นรูปร่างขึ้นในตัวเรา ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรนับผลเหล่านี้ได้สิบสองประการ ได้แก่ “ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน  ความเมตตา ความใจดี ความพากเพียร ความอ่อนหวาน ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง ความบริสุทธิ์” (กท 5:22-23 vulg.)

 

[84] เทียบ อสย 11:1-2.           

สรุป

สรุป

1833    คุณธรรมคือความโน้มเอียงมั่นคงเป็นประจำที่จะทำดี

1834    คุณธรรมของมนุษย์เป็นอุปนิสัยมั่นคงของสติปัญญาและเจตนาที่คอยจัดระเบียบอารมณ์ของเรา และนำความประพฤติของเราตามเหตุผลและความเชื่อ คุณธรรมต่างๆ เหล่านี้อาจจัดไว้รอบๆ คุณธรรมหลักสี่ประการ ได้แก่ ความรอบคอบ ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และความรู้ประมาณ

1835    ความรอบคอบช่วยจัดเหตุผลทางปฏิบัติให้เรารู้จักแยกแยะความดีที่แท้ในสถานการณ์ต่างๆ และเลือกวิธีการที่ถูกต้องเพื่อทำความดีนั้น

1836    ความยุติธรรม ตั้งอยู่บนเจตนามั่นคงที่จะให้แก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์สิ่งที่เป็นสิทธิของพระองค์และของเขา

1837    ความกล้าหาญ ช่วยให้เรามีความเข้มแข็งในความยากลำบากและมีความมั่นคงในการทำความดี

1838    ความรู้ประมาณคอยควบคุมให้ความสุขและการใช้สิ่งสร้างที่คอยดึงดูดเราอยู่ในสมดุล

1839    คุณธรรมทางศีลธรรมเกี่ยวกับความประพฤติเติบโตขึ้นโดยการศึกษา การกระทำโดยจงใจและพยายามทำซ้ำๆ อยู่เสมอ พระหรรษทานของพระเจ้ายังชำระและยกคุณธรรมเหล่านี้ให้สูงขึ้นด้วย

1840    คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าจัดเตรียมคริสตชนให้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพ คุณธรรมเหล่านี้จึงมีพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคลเป็นบ่อเกิด แรงบันดาลใจและจุดหมาย คือพระเจ้าที่เรารู้จักโดยความเชื่อ หวังและรักเพราะพระองค์

1841    คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้ามีสามประการ คือ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก[85] คุณธรรมทั้งสามประการนี้ทำให้คุณธรรมด้านศีลธรรมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้

1842    อาศัยความเชื่อ เราเชื่อในพระเจ้าและความจริงทุกข้อที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้เรารู้ และที่พระศาสนจักรสอนให้เราเชื่อ

1843    โดยความหวัง เราปรารถนาจะได้รับและรอคอยชีวิตนิรันดรจากพระเจ้าและพระหรรษทานที่จะช่วยให้เราได้รับชีวิตนี้ด้วยความมั่นใจแน่วแน่

1844    อาศัยความรัก เรารักพระเจ้าเหนือทุกสิ่งและยังรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองเพราะความรักที่เรามีต่อพระเจ้า ความรักเป็นที่รวมความสมบูรณ์” (เทียบ คส 3:14) เป็นรูปแบบของคุณธรรมทั้งหลาย

1845    พระพรเจ็ดประการของพระจิตเจ้าได้แก่ปรีชาญาณ ความเข้าใจ ความคิดอ่าน อานุภาพ ความรู้ ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า

 

[85] เทียบ 1 คร 13:13.           

ตอนที่แปด

บาป

I. พระเมตตาและบาป

I. พระเมตตาและบาป

 1846   พระวรสารเป็นการเปิดเผยพระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อคนบาปในพระเยซูคริสตเจ้า[86] ทูตสวรรค์แจ้งข่าวนี้แก่โยเซฟว่า “ท่านจงตั้งชื่อเขาว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ข้อความนี้ยังเป็นจริงอีกด้วยกับศีลมหาสนิท ศีลแก่การไถ่กู้ “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)

 1847   พระเจ้า “ผู้ทรงเนรมิตสร้างท่านมาโดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไรนั้นทำให้ท่านเป็นผู้ชอบธรรมไม่ได้ถ้าท่านไม่ร่วมมือด้วย”[87] การจะรับพระเมตตาของพระเจ้าได้นั้นเรียกร้องให้เราสารภาพว่าเราได้ทำผิด “ถ้าเราพูดว่าเราไม่มีบาป เรากำลังหลอกตนเอง และความจริงไม่อยู่ในเรา ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์จะทรงอภัยบาปของเราและจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง” 
(1 ยน 1:8-9)

 1848   นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่าดังนี้ “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า”(รม 5:20) แต่เพื่อพระหรรษทานจะทำงานได้ก็จำเป็นต้องเปิดเผยบาปเพื่อเปลี่ยนใจของเราและเพื่อให้ “ความชอบธรรมนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดรเดชะพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 5:21) พระเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์ที่ตรวจดูบาดแผลก่อนที่จะรักษา ทรงใช้พระวาจาและพระจิตของพระองค์ ทรงส่องแสงสว่างให้เราแลเห็นบาปได้ชัดเจน

           “การกลับใจเรียกร้องให้เรายอมรับว่าได้ทำบาป ยังรวมไปถึงการตัดสินของมโนธรรมภายใน การตัดสินนี้เป็นการพิสูจน์ของพระจิตเจ้าแห่งความจริงภายในส่วนลึกของมนุษย์ ในขณะเดียวกันยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของพระกรุณาที่ประทานพระหรรษทานและความรัก ‘จงรับพระจิตเจ้าเถิด’ ดังนั้น ในการ ‘แสดงให้เห็นความหมายของบาป’ ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนั้น เราพบของประทานสองประการ คือพระพรแห่งความจริงจากมโนธรรมและพระพรแห่งความมั่นใจว่าเราจะได้รับการไถ่กู้ พระจิตเจ้า องค์ความจริงทรงเป็น ‘พระผู้บรรเทา’ อีกด้วย”[88]

 

[86] เทียบ ลก บทที่ 15.           

[87] Sanctus Augustinus, Sermo 169, 11, 13: PL 38, 923.            

[88] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Dominum et vivificantem, 31: AAS 78 (1986) 843.   

II. คำนิยามของบาป

II. คำนิยามของบาป

 1849   บาปเป็นการทำผิดต่อเหตุผล ต่อความจริง ต่อมโนธรรมที่ถูกต้อง เป็นความบกพร่องความรักแท้จริงต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ สืบเนื่องมาจากความรักที่บิดเบือนต่อบางสิ่งบางอย่าง บาปเป็นบาดแผลของธรรมชาติของมนุษย์และทำร้ายความสามัคคีระหว่างมนุษย์ บาปจึงได้รับคำนิยามว่าเป็น “การกระทำ หรือคำพูด หรือความปรารถนาอะไรบางอย่างที่ผิดต่อกฎหมายนิรันดร”[89]

 1850   บาปเป็นการทำผิดต่อพระเจ้า “ข้าพเจ้าทำบาปผิดต่อพระองค์ ต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ข้าพเจ้าทำสิ่งที่ทรงเห็นว่าชั่วร้าย” (สดด 51:4) บาปตั้งตัวขึ้นต่อสู้กับความรักของพระเจ้าต่อเราและทำให้ใจของเราหันเหไปจากพระองค์ นอกจากนั้น เช่นเดียวกับบาปแรก บาปเป็นการไม่เชื่อฟังพระเจ้า เป็นการกบฏต่อพระเจ้า เนื่องจากความต้องการที่จะ “เป็นเหมือนพระเจ้า” (ปฐก 3:5)
รู้และตัดสินความดีชั่วด้วยตนเอง ดังนี้ บาปจึงเป็น “ความรักตนเองจนดูหมิ่นพระเจ้า”[90] เพราะความเย่อหยิ่งทะนงตนนี้ บาปจึงอยู่ตรงกันข้ามสุดขั้วกับความเชื่อฟังของพระเยซูเจ้าผู้ทรงนำความรอดพ้นมาให้เรา[91]

 1851   โดยเฉพาะในพระทรมาน เมื่อพระเมตตาของพระคริสตเจ้ากำลังจะมีชัยชนะอยู่นั้น บาปก็สำแดงความรุนแรงและความหลายหลากของมันออกมาอย่างชัดเจนที่สุด ได้แก่ความไม่เชื่อ ความอาฆาตเกลียดชัง การไม่ยอมรับและด่าทอของบรรดาผู้นำและประชาชน ความอ่อนแอของปีลาต ความโหดร้ายของบรรดาทหาร การทรยศของยูดาส – ซึ่งขมขื่นอย่างยิ่งสำหรับพระเยซูเจ้า – การปฏิเสธของเปโตรและการทอดทิ้งของบรรดาศิษย์ ถึงกระนั้น ในเวลาแห่งความมืดและของเจ้านายแห่งโลกนี้[92] การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าก็กลายเป็นเสมือนพุน้ำอย่างลึกลับที่หลั่งการอภัยบาปของเราออกมาโดยไม่มีวันเหือดแห้ง

 

[89] Sanctus Augustinus, Contra Faustum manichaeum, 22, 27: CSEL 25, 621 (PL 42, 418); cf Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II,
q. 71, a. 6: Ed. Leon. 7,8-9.     

[90] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 14, 28: CSEL 402, 56 (PL 41, 436).        

[91] เทียบ ฟป 2:6-9.             

[92] เทียบ ยน 14:30.            

III. บาปชนิดต่าง ๆ

III. บาปชนิดต่าง ๆ

 1852    บาปมีความหลากหลายอย่างมาก พระคัมภีร์แสดงรายการของบาปไว้หลายแบบด้วยกัน จดหมายถึงชาวกาลาเทียกล่าวถึงกิจการของธรรมชาติมนุษย์ (ตามตัวอักษรว่า “ของเนื้อหนัง”) ไว้ตรงกันข้ามกับผลของพระจิตเจ้าดังนี้ “กิจการของธรรมชาติมนุษย์นั้นปรากฏชัดแจ้ง คือ การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราคะตัณหา การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวทมนต์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก การแบ่งพรรค  แบ่งพวก การเมามาย การสำมะเลเทเมา และอีกหลายประการในทำนองเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งดังที่เคยเตือนมาแล้วว่า ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้จะไม่ได้อาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก” (กท 5:19-21)[93]

 1853   เราอาจแยกบาปต่างๆ ได้ตามวัตถุของมันเช่นเดียวกับที่เราทำกับกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ หรือตามคุณธรรมที่บาปเหล่านี้อยู่ตรงข้ามเพราะมากเกินไปหรือน้อยเกินไป หรือตามพระบัญญัติที่มันฝ่าฝืน เรายังอาจจัดแบ่งบาปตามที่มันเกี่ยวข้องกับพระเจ้า กับเพื่อนมนุษย์ หรือเกี่ยวข้องกับตัวเราเอง เรายังอาจแบ่งบาปว่าเป็นบาปเกี่ยวกับจิตใจหรือเกี่ยวกับร่างกาย หรือยังแยกบาปของความคิด คำพูด การกระทำ หรือการละเว้นไม่ทำ รากที่เกิดของบาปอยู่ในใจมนุษย์ ในเจตนาอิสระเสรีของเขา ดังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนไว้ว่า “ใจเป็นที่เกิดของความคิดชั่วร้าย การฆ่าคน การประพฤติผิดทางเพศ การผิดประเวณี การลักขโมย การเป็นพยานเท็จ การใส่ร้าย การกระทำเหล่านี้ทำให้มนุษย์มีมลทิน” (มธ 15:19-20) ความรักก็ยังตั้งอยู่ในใจด้วย ใจเป็นบ่อเกิดของกิจการดีและบริสุทธิ์ บาปทำให้ความรักนี้เป็นบาดแผล

 

[93] เทียบ รม 1:28-32; 1 คร 6:9-10; อฟ 5:3-5; คส 3:5-9; 1 ทธ 1:9-10; 2 ทธ 3:2-5.   

IV. ความหนักของบาป – บาปหนักและบาปเบา

IV. ความหนักของบาปบาปหนักและบาปเบา

 1854    เราต้องตัดสินบาปตามความหนักเบาของมัน เราเห็นความแตกต่างระหว่างบาปหนักกับบาปเบา ที่เราพบแล้วในพระคัมภีร์[94] ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ประสบการณ์ของคนเราก็สนับสนุนเรื่องนี้

 1855   บาปหนัก ทำลายความรักในใจมนุษย์เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายสำคัญของพระเจ้า ทำให้มนุษย์ออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นจุดหมายสุดท้ายและความสุขของเขา โดยชอบความดีที่ด้อยกว่าพระองค์

           บาปเบา ยอมให้ความรักยังคงอยู่ แม้ว่าทำร้ายและทำให้ความรักบาดเจ็บ

 1856        บาปหนักซึ่งทำร้ายความรักที่เป็นบ่อเกิดชีวิตในตัวเรา เรียกร้องให้พระเจ้าทรงเริ่มพระเมตตาขึ้นใหม่และเรียกร้องให้มีการกลับใจ ซึ่งโดยวิธีปกติแล้วเกิดขึ้นภายในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี

               “เมื่อเจตนามุ่งหาบางสิ่งที่ในตัวเองขัดสู้กับความรักซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายที่มนุษย์ถูกจัดไว้ให้มุ่งไปหา บาปก็มีลักษณะเป็นบาปหนักจากวัตถุของตน […] หรือถ้าเป็นการกระทำที่ขัดสู้กับความรักต่อพระเจ้า เช่นการสาปแช่งพระเจ้า การเป็นพยานเท็จหรืออะไรทำนองนี้ หรือเป็นการกระทำที่ขัดสู้กับความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เช่นการฆ่าคน การล่วงประเวณีหรืออะไรทำนองนี้ […] แต่บางครั้งเจตนาของผู้ทำบาปมุ่งหาสิ่งที่ในตัวเองมีความผิดระเบียบอยู่บ้าง แต่ไม่ขัดสู้กับความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ เช่น คำพูดไร้สาระ การหัวเราะมากเกินควรหรืออะไรทำนองนี้ กิจการเช่นนี้ก็เป็นบาปเบา”[95]

 1857    เพื่อบาปจะเป็นบาปหนักได้จำเป็นต้องมีเงื่อนไขสามประการ บาปใดๆ ไม่ว่าเป็นบาปหนัก “เมื่อมีวัตถุเป็นเรื่องหนัก ยิ่งกว่านั้นบาปนั้นยังต้องทำไปโดยรู้ตัวเต็มที่และตั้งใจทำ”[96]

 1858   มีเรื่องหนักที่พระบัญญัติสิบประการกำหนดไว้และพระเยซูเจ้าทรงตอบแก่ชายหนุ่มร่ำรวยคนนั้น “อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย อย่าเป็นพยานเท็จ อย่าฉ้อโกง จงนับถือบิดามารดา” (มก 10:19) ความหนักของบาปอาจมากหรือน้อยก็ได้ การฆ่าคนย่อมเป็นความผิดหนักกว่าการขโมย เรายังต้องพิจารณาถึงลักษณะของบุคคลที่รับความเสียหายด้วย ความเสียหายที่ทำกับญาติพี่น้องในตัวเองแล้วย่อมหนักกว่าความเสียหายที่ทำกับบุคคลภายนอก

 1859   จะเป็นบาปหนักได้จำเป็นต้องมีความรู้ตัวเต็มที่ และมีความจงใจเต็มที่ด้วย บาปหนักสมมุติว่าต้องมีความรู้ว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นบาป ขัดกับพระบัญญัติของพระเจ้า  บาปหนักยังเรียกร้องให้มีความตั้งใจที่รู้ตัวเพียงพอที่จะเป็นการเลือกส่วนตัวได้ การแสร้งว่าไม่รู้และใจดื้อด้าน[97]ไม่ทำให้ความจงใจทำบาปน้อยลง แต่ยิ่งทำให้เพิ่มมากขึ้น

 1860   ความไม่รู้โดยไม่ตั้งใจ (Unintentional ignorance) อาจทำให้ความรับผิดชอบต่อความผิดหนักน้อยลงได้ หรืออาจทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบเลยก็ได้ แต่ไม่ควรคิดว่าผู้หนึ่งผู้ใดไม่รู้หลักการด้านศีลธรรมที่มีจารึกไว้ในมโนธรรมของมนุษย์แต่ละคนเสียเลย แรงผลักดันของความรู้สึกและอารมณ์อาจทำให้ความรู้สำนึกและเสรีภาพในการทำผิดลดน้อยลงได้อีกด้วย เช่นเดียวกับการถูกบีบคั้นจากภายนอกหรือถูกโรคภัยรบกวน บาปที่เกิดจากความชั่วร้าย จากการจงใจเลือกความชั่วจึงเป็นบาปหนักที่สุด

 1861   เพราะมนุษย์มีเสรีภาพจึงสามารถทำบาปหนักได้ เช่นเดียวกับสามารถรักได้ บาปหนักมีผลทำให้สูญเสียความรักและพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร  นั่นคือสูญเสียสถานะพระหรรษทาน ถ้าไม่ได้รับการกอบกู้จากการเป็นทุกข์กลับใจและการอภัยจากพระเจ้า บาปหนักทำให้เข้าพระอาณาจักรพระเจ้าไม่ได้และนำความตายนิรันดรของนรกมาให้ เพราะเสรีภาพของเรามีอำนาจทำการเลือกได้อย่างเด็ดขาดหันกลับอีกไม่ได้ ถึงกระนั้น แม้เราอาจตัดสินได้ว่ากิจการหนึ่งเป็นความผิดหนักในตัวเอง เรายังต้องมอบการตัดสินเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ไว้กับพระยุติธรรมและพระเมตตาของพระเจ้า

 1862    บาปเบาเกิดขึ้นเมื่อมีการละเมิดไม่ปฏิบัติกฎศีลธรรมในเรื่องเบาๆ หรือเมื่อไม่มีการเชื่อฟังกฎศีลธรรมในเรื่องหนัก แต่โดยไม่มีความรู้สำนึกหรือความจงใจเต็มที่

 1863   บาปเบาทำให้ความรักอ่อนแอลง แสดงถึงความพึงพอใจไร้ระเบียบต่อสิ่งสร้าง ขัดขวางไม่ให้วิญญาณก้าวหน้าในการปฏิบัติคุณธรรมและในการดำเนินชีวิตตามศีลธรรมความดี บาปเบาสมรับโทษชั่วคราว บาปเบาที่จงใจทำและยังคงไม่สำนึกผิดค่อยๆ ทำให้เราพร้อมที่จะทำบาปหนัก ถึงกระนั้น บาปเบาก็ไม่ทำลายพันธสัญญาของเรากับพระเจ้า และมนุษย์อาจแก้ไขได้โดยร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้า “(บาปเบา)ไม่ทำให้สูญเสียพระหรรษทานหรือมิตรภาพกับพระเจ้า ความรักและความสุขนิรันดร”[98]

           “ตราบใดที่ยังมีเนื้อหนังร่างกาย มนุษย์ไม่อาจไม่มีแม้แต่บาปเบาได้ แต่ก็อย่าประมาทสิ่งที่เราเรียกว่า บาปเบา นี้ ถ้าท่านประมาทเมื่อชั่งดู ก็จงกลัวเมื่อนับจำนวน บาปเบาหลายๆ บาปทำให้เกิดหนึ่งบาปหนัก น้ำหลายๆ หยดทำให้แม่น้ำเต็ม เมล็ดข้าวหลายๆ เมล็ดทำให้เกิดกองข้าว และยังมีความหวังอะไรอีก? ก่อนอื่นหมด มีการสารภาพบาป....”[99]

 1864   “มนุษย์จะได้รับการอภัยบาปทุกชนิดรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าด้วย แต่คำดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย” (มธ 12:31)[100] พระเมตตาของพระเจ้าไม่มีขอบเขต และผู้ที่จงใจไม่ยอมรับพระเมตตาของพระเจ้าโดยการเป็นทุกข์กลับใจ เขาย่อมไม่ยอมรับการอภัยบาปของตนและความรอดพ้นที่พระจิตเจ้านำมาให้[101] ความใจกระด้างเช่นนี้อาจนำไปจนถึงการไม่ยอมเป็นทุกข์กลับใจในวาระสุดท้ายและการถูกลงโทษตลอดนิรันดร

 

[94] เทียบ 1 ยน 5:16-17.         

[95] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 88, a. 2, c: Ed. Leon. 7, 135.

[96] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Reconciliatio et paenitentia, 17: AAS 77 (1985) 221.  

[97] เทียบ มก 3:5-6; ลก 16:19-31.

[98] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Reconciliatio et paenitentia, 17: AAS 77 (1985) 221.  

[99] Sanctus Augustinus, In epistulam Iohannis ad Parthos tractatus, 1, 6: PL 35, 1982.

[100] เทียบ มก 3:29; ลก 12:10.  

[101] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Dominum et vivificantem, 46: AAS 78 (1986) 864-865.          

V. การทวีจำนวนของบาป

V. การทวีจำนวนของบาป

 1865   บาปหนึ่งทำให้เกิดความเคยชินให้ทำอีกบาปหนึ่ง การทำกิจการ(ไม่ดี)อย่างเดียวซ้ำๆ กันทำให้เกิดนิสัยชั่ว จากนั้นก็เกิดความโน้มเอียงเลวๆ ที่ทำให้มโนธรรมมืดมัวและทำลายการรู้จักประเมินอย่างเป็นรูปธรรมว่าอะไรดีอะไรชั่ว ดังนี้ บาปจึงมีแนวโน้มที่จะทวีจำนวนและมีความแข็งแรงขึ้น แต่ก็ไม่อาจทำลายความสำนึกพื้นฐานด้านศีลธรรมลงได้จนหมดสิ้น

 1866   เราอาจกำหนดนิสัยชั่วได้ตามคุณธรรมที่อยู่ตรงกันข้าม หรืออาจรวมไว้ด้วยกันเป็น บาปต้นกำเนิด (capital sins) ซึ่งประสบการณ์ของคริสตชนแยกแยะไว้ตามคำสอนของยอห์นคัสเซียน (Ioannes Cassianus)[102] และนักบุญเกรโกรี มหาสมณะ (Gregory the Great)[103] ที่บาปเหล่านี้ได้ชื่อว่า “บาปต้นกำเนิด” ก็เพราะว่ามันก่อให้เกิดบาปและนิสัยชั่ว (vices) อื่นๆ อีก บาปต้นกำเนิด เหล่านี้ได้แก่ ความจองหอง ความโลภ ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความใคร่ทางเพศ (lust, luxuria) ความตะกละ ความเกียจคร้านหรือเฉื่อยชา

 1867   ธรรมประเพณีด้านคำสอนยังชวนให้เราคิดอีกว่ามี “บาปซึ่งเรียกร้องถึงสวรรค์” เช่น โลหิตของอาแบล[104] บาปของชาวเมืองโสดม[105] เสียงร้องของประชากร(อิสราเอล)ซึ่งถูกเบียดเบียนในอียิปต์[106] เสียงคร่ำครวญของคนต่างด้าว หญิงม่ายและลูกกำพร้า[107] ความอยุติธรรมต่อลูกจ้าง[108]

 1868    บาปเป็นการกระทำส่วนตัว ยิ่งกว่านั้น เรายังมีความรับผิดชอบในบาปที่ผู้อื่นทำด้วย เมื่อเราร่วมทำผิดพร้อมกับเขา

 - เมื่อเรามีส่วนร่วมในการกระทำโดยตรงและโดยเจตนา

 - เมื่อเราสั่ง โน้มน้าว ชมสรรเสริญ หรือเห็นด้วยกับการกระทำเหล่านั้น

 - เมื่อเราไม่เปิดเผย หรือไม่ขัดขวาง ในเมื่อเรามีหน้าที่ต้องทำเช่นนั้น

 - เมื่อเราปกป้องผู้ที่ทำความชั่ว

 1869   ดังนี้ บาปทำให้มนุษย์มีส่วนร่วมกันทำบาป ทำให้ความใคร่ทางเพศ ความรุนแรง และความอยุติธรรมยังคงพลังอยู่ในโลก บาปชักชวนให้เกิดเงื่อนไขและสภาพทางสังคมที่ขัดแย้งกับความดีของพระเจ้า “โครงสร้างของบาป” เป็นชื่อและผลของบาปส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ชักชวนเหยื่อของมันให้ทำความชั่วต่อไป จึงนับได้ว่าเป็น “บาปของสังคม” ได้ในใจความหนึ่ง[109]

 

[102] Cf Sanctus Ioannes Cassianus, Conlatio, 5, 2: CSEL 13, 121 (PL 49, 611).       

[103] Cf Sanctus Gregorius Magnus, Moralia in Iob, 31, 45, 87: CCL 143B, 1610 (PL 76, 621).          

[104] เทียบ ปฐก 4:10.           

[105] เทียบ ปฐก 18:20; 19:13.    

[106] เทียบ อพย 3:7-10.          

[107] เทียบ อพย 22:20-22.       

[108] เทียบ ฉธบ 24:14-15; ยก 5:4.

[109] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Reconciliatio et paenitentia, 16: AAS 77 (1985) 216.

สรุป

สรุป

1870    “พระเจ้าทรงปล่อยให้มนุษย์ทุกคนไม่เชื่อฟังพระองค์ เพื่อจะได้ทรงแสดงพระกรุณา” (รม 11:32)

1871    บาปเป็นการกระทำ หรือคำพูด หรือความปรารถนาอะไรบางอย่างที่ผิดต่อกฎหมายนิรันดร[110]เป็นการทำผิดต่อพระเจ้า เป็นการตั้งตนขึ้นต่อสู้พระเจ้าโดยการไม่ยอมเชื่อฟัง ตรงกันข้ามกับการเชื่อฟังของพระคริสตเจ้า

1872    บาปเป็นการกระทำที่ขัดกับเหตุผล  เป็นบาดแผลสำหรับธรรมชาติและทำร้ายต่อความสัมพันธ์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมนุษย์

1873    รากเหง้าของบาปทุกชนิดอยู่ในใจมนุษย์ การกำหนดชนิดและความหนักเบาของบาปโดยเฉพาะขึ้นอยู่กับวัตถุของบาปเหล่านี้

1874    การเลือกโดยสมัครใจ นั่นคือโดยรู้ตัวและจงใจ สิ่งที่ขัดอย่างหนักกับกฎของพระเจ้าและจุดหมายสุดท้ายของมนุษย์ก็คือการทำบาปหนัก บาปหนักทำลายความรักในตัวเรา ซึ่งถ้าไม่มีความรัก ก็จะมีความสุขนิรันดรไม่ได้ ถ้าไม่มีการเป็นทุกข์กลับใจ บาปหนักย่อมนำความตายนิรันดรมาให้

1875    บาปเบาก่อให้เกิดความสับสนทางศีลธรรมที่ยังแก้ไขได้อาศัยความรักที่บาปเบายังยอมให้มีเหลืออยู่อีกในตัวเรา

1876    การทำบาปซ้ำๆ กัน แม้บาปเบา ทำให้เกิดนิสัยชั่วที่บาปต้นกำเนิดเป็นนิสัยชั่วสำคัญ

 

[110] Sanctus Augustinus, Contra Faustum manichaeum, 22, 27: CSEL 25, 621 (PL 42, 418).