ตอนที่สิบ

พระบัญญัติประการที่สิบ

                 “อย่าโลภมักได้ […] ทุกสิ่งที่เป็น […] ของ [เพื่อนบ้านของท่าน] (20:17)

                 “อย่าโลภมักได้บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน ไร่นา บ่าวไพร่ชายหญิง โค ลา และทรัพย์สินใดๆ ที่เป็นของเพื่อนบ้าน” (ฉธบ 5:21)

                 “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (มธ 6:21)

2534   พระบัญญัติประการที่สิบขยายความพระบัญญัติประการที่เก้าที่เกี่ยวกับเรื่องความโลภให้สมบูรณ์ พระบัญญัติประการนี้ห้ามความโลภซึ่งเป็นรากของการลักขโมย แย่งชิงและคดโกงที่พระบัญญัติประการที่เจ็ดห้ามไว้ “ความโลภอยากได้ทุกสิ่ง (ตามตัวอักษรว่า ‘ความใคร่ของตา’)” (1 ยน 2:10) นำเราไปถึงความรุนแรงและความอยุติธรรมที่พระบัญญัติประการที่ห้าห้ามไว้[267] ความโลภอยากได้ เช่นเดียวกับการผิดประเวณีที่มีต้นตออยู่ในการนับถือรูปเคารพที่ธรรมบัญญัติสามประการแรกได้ห้ามไว้[268] พระบัญญัติประการที่สิบกล่าวถึงเจตนาของจิตใจ เมื่อรวมเข้ากับพระบัญญัติประการที่เก้าจึงรวบรวมข้อห้ามทุกประการของธรรมบัญญัติ

 

[267] เทียบ มคา 2:2.             

[268] เทียบ ปชญ 14:12.          

I. ความปรารถนาที่ไร้ระเบียบ

I. ความปรารถนาที่ไร้ระเบียบ

 2535 ความต้องการทางประสาทชวนให้เราปรารถนาอยากได้สิ่งชื่นชอบที่เราไม่มี ดังนั้น เราจึงอยากกินเมื่อรู้สึกหิว หรืออยากทำตัวให้อุ่นเมื่อรู้สึกหนาว ความต้องการเหล่านี้ในตัวเองเป็นสิ่งที่ดี ถึงกระนั้น บางครั้งมันก็ไม่รักษาความพอดีและผลักดันเราให้ปรารถนาอยากได้อย่างไม่ถูกต้องสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา แต่ที่เป็นของผู้อื่นหรือที่เขามีสิทธิจะได้

 2536 พระบัญญัติประการที่สิบห้ามความโลภและความปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติของโลกอย่างไร้ขอบเขต ห้ามความมักได้ไร้ระเบียบที่เกิดมาจากความอยากได้และครอบครองทรัพย์สมบัติ และยังห้ามความปรารถนาที่จะทำการอยุติธรรมที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อเพื่อนพี่น้องและต่อทรัพย์สินทางโลกของเขา

                  “เมื่อธรรมบัญญัติสั่งว่า อย่าโลภ ถ้อยคำนี้หมายความว่าเราต้องขจัดความอยากได้สิ่งของของผู้อื่นออกไป เพราะความอยากได้สิ่งของของผู้อื่นนั้นยิ่งใหญ่ไม่มีขอบเขตและไม่มีวันอิ่มได้ ดังที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า คนโลภได้เงินเท่าไรก็ไม่อิ่ม (บสร 5:9 – Vulg.)”[269]

 2537   การอยากได้สิ่งของของเพื่อนพี่น้องไม่เป็นการผิดพระบัญญัติประการนี้ ถ้าเป็นการได้มาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง หนังสือคำสอนที่เคยใช้กันมาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าผู้ที่ “มีความโลภมากกว่าธรรมดาเช่นนี้” จึงควร “ได้รับเตือนมากกว่าผู้อื่นให้ถือพระบัญญัติข้อนี้อย่างเคร่งครัด”

                  “พ่อค้าบางคนอยากให้มีความขาดแคลนและสินค้าขึ้นราคา และเป็นผู้ผูกขาดซื้อขายเพียงคนเดียว เพื่อจะได้ขายสินค้าได้แพงขึ้นและกดราคาซื้อได้ถูกลงก็ทำบาปเหมือนกับผู้ที่อยากให้ผู้อื่นขัดสนเพื่อตนเองจะได้กำไรจากการซื้อขาย.... บรรดาแพทย์ก็เช่นเดียวกันที่อยากให้มีโรคต่างๆ เหมือนกับบรรดาทนายความที่อยากให้มีคดีความจำนวนมากๆ....”[270]

 2538 พระบัญญัติประการที่สิบเรียกร้องให้ขจัดความอิจฉาริษยาออกไปจากใจมนุษย์ด้วย เมื่อประกาศกนาธันปรารถนาปลุกกษัตริย์ดาวิดให้สำนึกผิดและเล่าเรื่องคนยากจนที่ไม่มีอะไรนอกจากแกะเพียงตัวเดียวที่เขาดูแลเหมือนกับบุตรสาวของตน และเรื่องคนร่ำรวยที่แม้จะมีสัตว์เลี้ยงจำนวนมากแล้วกลับไปอิจฉาคนยากจน แล้วในที่สุดขโมยแกะของเขาไป[271] ความอิจฉาอาจชักชวนให้ทำผิดที่ร้ายแรงได้[272]  “เพราะความอิจฉาของปีศาจ ความตายจึงเข้ามาในโลก” (ปชญ 2:24)

                 “พวกเราต่อสู้กัน โดยที่ความอิจฉายื่นอาวุธให้เรา [...] ถ้าเราทุกคนทำเช่นนี้เพื่อทำร้าย [พระกายของพระคริสตเจ้า] แล้วจะจบลงอย่างไร [...] เราทำให้พระกายของพระคริสตเจ้ากลายเป็นศพ […] แม้เราประกาศว่าเราทุกคนเป็นส่วนพระวรกายของพระองค์ แต่เรากลับกัดกินกันเองเหมือนกับสัตว์ร้าย”[273]

 2539  ความอิจฉาริษยาเป็นนิสัยชั่วสำคัญอย่างหนึ่ง (บาปต้นกำเนิด) หมายถึงความทุกข์ที่ผู้หนึ่งรู้สึกเมื่อเห็นความสุขของผู้อื่น และความปรารถนาที่จะได้ความสุขนั้นบ้างอย่างที่ไม่อาจบังคับได้ แม้จะต้องใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องด้วย เมื่อความอิจฉาริษยานี้อยากให้เพื่อนพี่น้องได้รับอันตรายอย่างหนัก ความรู้สึกเช่นนี้ก็เป็นบาปหนัก

                 นักบุญออกัสตินเห็นว่าความอิจฉาริษยาเป็น “นิสัยชั่วของปีศาจ”[274]

                   “ความอิจฉาริษยาเป็นบ่อเกิดของความเกลียดชัง การนินทา ใส่ความ ความรู้สึกดีใจเมื่อผู้อื่นได้รับทุกข์ รู้สึกเสียใจเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ”[275]

 2540 ความอิจฉาริษยาเป็นรูปแบบหนึ่งของความทุกข์ใจและดังนั้นจึงเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับความรัก ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วจะต้องต่อสู้กับนิสัยชั่วนี้ด้วยความปรารถนาดี หลายครั้งความอิจฉาริษยาเกิดจากความเย่อหยิ่งจองหอง ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วจะต้องฝึกฝนตนเองให้ดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมตน

               “ข้าพเจ้าอยากให้พระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยข้าพเจ้าใช่ไหม? ถ้าเช่นนั้นก็จงยินดีเมื่อพี่น้องประสบความสำเร็จ และทุกคนจะกล่าวว่า ‘ขอพระเจ้าจงได้รับพระพรเถิด’  ขอพระองค์มีผู้รับใช้ที่ไม่มีความอิจฉาริษยา แต่ร่วมยินดีด้วยกันเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ”[276]

 

[269] Catechismus Romanus, 3, 10, 13: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 518.     

[270] Catechismus Romanus, 3, 10, 23: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 523.    

[271] เทียบ 2 ซมอ 12:1-4.        

[272] เทียบ ปฐก 4:3-8; 1 พกษ 21:1-29.            

[273] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In epistulam II ad Corinthios, homilia 27, 3-4: PG 61, 588.       

[274] Sanctus Augustinus, De disciplina christiana, 7, 7: CCL 46, 214 (PL 40, 673); Id., Epistula 108, 3, 8: CSEL 34, 620 (PL 33, 410).   

[275] Sanctus Gregorius Magnus, Moralia in Iob, 31, 45, 88: CCL 143b, 1610 (PL 76, 621).            

[276] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In epistulam ad Romanos, homilia 7, 5: PG 60, 448.             

II.  ความปรารถนาของพระจิตเจ้า   

II.  ความปรารถนาของพระจิตเจ้า     

 2541  แผนการกอบกู้ของพระเจ้าตามพระธรรมบัญญัติหันเหจิตใจของมนุษย์เราออกไปจากความโลภและความอิจฉาริษยา ฝึกฝนเขาให้ปรารถนาพระจิตเจ้าที่อาจทำให้จิตใจของเขาอิ่มได้

                      พระเจ้าแห่งพระสัญญาทรงเตือนมนุษย์อยู่เสมอให้ระมัดระวังการประจญล่อลวงในเรื่องที่ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วปรากฏเหมือนกับว่าเป็น “สิ่งดีน่ากินและงดงามชวนมอง ทั้งยังน่าปรารถนาเพราะให้ปัญญา” (ปฐก 3:6)

 2542  ธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้แก่อิสราเอลไม่เพียงพอที่จะประทานความชอบธรรมให้แก่ผู้อยู่ใต้ธรรมบัญญัตินั้นได้ ธรรมบัญญัตินี้ยังกลายเป็นอุปกรณ์ “ของความโลภ” อีกด้วย[277] ความแตกต่างระหว่างความปรารถนาและการกระทำ[278]ชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างธรรมบัญญัติของพระเจ้า ซึ่งเป็นกฎของจิตใจ และอีกกฎหนึ่ง “ในร่างกาย ซึ่งล่ามข้าพเจ้าไว้กับกฎของบาป”
(รม 7:23)

 2543  “บัดนี้ ความเที่ยงธรรมที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้นตามที่หนังสือธรรมบัญญัติและประกาศกเป็นพยานถึงนั้นปรากฏให้เห็นแล้วนอกเหนือธรรมบัญญัติ ความเที่ยงธรรมที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้นซึ่งพระองค์ประทานให้ทุกคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า” (รม 3:21-22) ดังนั้น คริสตชนผู้มีความเชื่อ “ก็ตรึงธรรมชาติของตนพร้อมกับกิเลสตัณหาไว้กับไม้กางเขนแล้ว” (กท 5:24) เขามีพระจิตของพระเจ้าเป็นผู้นำ[279]และติดตามความปรารถนาของพระจิตเจ้า[280]

 

[277] เทียบ รม 7:7.

[278] เทียบ รม 7:15.             

[279] เทียบ รม 8:14.             

[280] เทียบ รม 8:27.             

III.  การมีจิตใจยากจน

III.  การมีจิตใจยากจน

 2544  พระเยซูเจ้าทรงสั่งบรรดาศิษย์ให้ถือว่าพระองค์สำคัญมากกว่าทุกสิ่งและทุกคน และยังทรงเสนอให้เขาสละทุกสิ่งที่ตนมี[281]เพราะพระองค์และเพราะข่าวดี[282] ไม่นานก่อนที่จะทรงรับทรมาน  พระองค์ทรงเสนอหญิงม่ายชาวกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นตัวอย่างแก่เขา หญิงม่ายผู้นี้ ทั้งๆ ที่ขัดสน ได้ให้ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับเลี้ยงชีพมาทำทาน[283] บัญญัติให้มีใจเป็นอิสระไม่ผูกพันกับทรัพย์สมบัติเป็นข้อบังคับที่จำเป็นเพื่อจะเข้าในอาณาจักรสวรรค์ได้

 2545  คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนต้องเอาใจใส่ “จัดลำดับความรักของตนให้ถูกต้อง เพื่อมิให้การใช้สิ่งของต่างๆ ทางโลกและการติดใจกับทรัพย์สมบัติซึ่งตรงข้ามกับจิตตารมณ์ความยากจนตามพระวรสารขัดขวางเขาไม่ให้บรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์ได้”[284]

 2546  “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (มธ 5:3) ความสุขแท้ในพระวรสารเปิดเผยลำดับของความสุขและพระหรรษทาน ของความงดงามและสันติ พระเยซูเจ้าทรงเฉลิมฉลองความยินดีของผู้ยากจนที่อาณาจักรสวรรค์เป็นของเขาแล้ว[285]

                 “ข้าพเจ้าคิดว่าพระวจนาตถ์ทรงเรียกความสุภาพถ่อมตนโดยสมัครใจว่า ‘การมีจิตใจยากจน’ และท่านอัครสาวก(เปาโล)แสดงแบบอย่างความยากจนของพระเจ้าให้เราเห็นเมื่อท่านกล่าวว่า ‘แม้ทรงร่ำรวย พระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่เรา’ (2 คร 8:9)”[286]

 2547  องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงคร่ำครวญถึงคนร่ำรวยเพราะเขาได้รับความเบิกบานใจแล้ว[287] “ให้ผู้หยิ่งผยองแสวงหาและรักอาณาจักรของโลกนี้เถิด แต่ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”[288] ถ้าการมอบตนไว้กับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ช่วยเราให้พ้นจากความกังวลของวันพรุ่งนี้ ความไว้วางใจในพระเจ้าก็เป็นการจัดเตรียมไว้สำหรับความสุข
ของผู้ยากจน[289] เขาจะเห็นพระเจ้า

 

[281] เทียบ ลก 14:33.           

[282] เทียบ มก 8:35.            

[283] เทียบ ลก 21:4.            

[284] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42: AAS 57 (1965) 49.  

[285] เทียบ ลก 6:20.            

[286] Sanctus Gregorius Nyssenus, De beatitudinibus, oratio 1: Gregorii Nysseni opera, ed. W. Jaeger, v. 72 (Leiden 1992) p. 83 (PG 44, 1200).

[287] เทียบ ลก 6:24.            

[288] Sanctus Augustinus, De sermone Domini in monte, 1, 1, 3: CCL 35, 4 (PL 34, 1232).            

[289] เทียบ มธ 6:25-34.         

IV.  “ข้าพเจ้าอยากเห็นพระเจ้า”

IV.  ข้าพเจ้าอยากเห็นพระเจ้า

 2548  ความปรารถนาอยากได้ความสุขแท้จริงแยกมนุษย์ออกมาจากความรักติดใจเกินไปต่อทรัพย์สมบัติของโลกนี้ เพื่อจะได้พบความบริบูรณ์ในการแลเห็นและมีความสุขกับพระเจ้า “พระสัญญา [ว่าจะได้เห็นพระเจ้า] นั้นยิ่งใหญ่เหนือขอบเขตสูงสุดของความสุข [...] สำหรับพระคัมภีร์ ‘แลเห็น’ มีความหมายเดียวกันกับ ‘ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์’ [...] ดังนั้น ผู้ที่แลเห็นพระเจ้าย่อมได้รับอะไรๆ ไม่ว่าที่นับว่าเป็น ‘ของดี’ ได้ทั้งหมด”[290]

 2549  ประชากรศักดิ์สิทธิ์จึงจำเป็นต้องต่อสู้อาศัยความช่วยเหลือของพระหรรษทานจากเบื้องบนเพื่อจะได้สิ่งดีต่างๆ ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ คริสตชนผู้มีความเชื่อย่อมควบคุมความปรารถนาของตนเพื่อจะได้ครอบครองและชมพระบารมีพระเจ้า และอาศัยความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระเจ้า จะได้เอาชนะการล่อลวงของความสะดวกสบายและการอยากได้อำนาจ

 2550  ในเส้นทางความครบครันนี้ พระจิตเจ้าตรัสพร้อมกับเจ้าสาวเชิญชวนทุกคนที่ยินดีรับฟัง[291]ให้มีความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์กับพระเจ้า

                 “จะมีสิริรุ่งโรจน์แท้จริงในที่ที่จะไม่มีผู้ใดจะได้รับคำสรรเสริญผิดและรับคำสรรเสริญจากการประจบประแจง ที่นั่นผู้ที่ควรได้รับเกียรติจริงๆ จะได้รับเกียรตินั้น ผู้ที่ไม่สมจะได้รับก็จะไม่ได้รับ แต่ผู้ที่ไม่สมจะได้รับเกียรติก็จะไม่ปรารถนาจะรับ ไม่มีผู้ใดนอกจากผู้ที่เหมาะสมเท่านั้นจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ ที่นั่นจะมีสันติแท้จริง จะไม่ยอมรับอะไรที่ขัดแย้งกับตนหรือกับสิ่งอื่นใด พระองค์จะทรงเป็นรางวัลของคุณธรรม พระองค์ประทานคุณธรรมและทรงสัญญาว่าไม่มีสิ่งใดดีกว่าหรือยิ่งใหญ่กว่าพระองค์ได้ […] ‘เราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชากรของเรา’ (ลนต 26:12) […] ท่านอัครสาวก(เปาโล)ก็เข้าใจเช่นนี้และเข้าใจถูกต้องด้วยเมื่อกล่าวว่า “เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) พระเจ้าจะทรงเป็นจุดหมายของความปรารถนาของเรา เราจะแลเห็นพระองค์ตลอดไปไม่มีสิ้นสุด เราจะรักพระองค์โดยไม่มีวันเบื่อหน่าย จะสรรเสริญพระองค์โดยไม่เหน็ดเหนื่อย ทุกคนจะได้รับของประทานนี้ สภาพนี้ กิจกรรมนี้ เช่นเดียวกับชีวิตนิรันดรซึ่งเป็นของทุกคนโดยแท้จริง”[292]  

 

[290] Sanctus Gregorius Nyssenus, De beatitudinibus, oratio 6: Gregorii Nysseni opera, ed. W. Jaeger, v. 72 (Leiden 1992) p. 138 (PG 44, 1265).

[291] เทียบ วว 22:17.            

[292] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 22, 30: CSEL 402, 665-666 (PL 41, 801-802).             

สรุป

สรุป

 2551   “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (มธ 6:21)

 2552   พระบัญญัติประการที่สิบห้ามความโลภที่เกิดจากกิเลสตัณหาเกินขอบเขต อยากได้ทรัพย์สมบัติและอำนาจที่เกิดจากทรัพย์สมบัติเหล่านี้

 2553   ความอิจฉาริษยาคือความทุกข์ที่ผู้หนึ่งรู้สึกเมื่อเห็นทรัพย์สมบัติของผู้อื่นและมีความปรารถนาเกินขอบเขตที่จะทำให้ทรัพย์สมบัตินั้นมาเป็นของตน ความอิจฉาริษยาเป็นบ่อเกิดของบาปอื่นได้ (บาปต้นกำเนิด)

 2554   ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมใช้ความใจกว้าง ความสุภาพถ่อมตนและการมอบตนแก่พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าเพื่อต่อสู้กับความอิจฉาริษยา

 2555   คริสตชนผู้มีความเชื่อ “ก็ตรึงธรรมชาติของตนพร้อมกับกิเลสตัณหาไว้กับไม้กางเขนแล้ว” (กท 5:24) เขามีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์

 2556   การปลีกตนจากความรักทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะเข้าในอาณาจักรสวรรค์ “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (มธ 5:3)

 2557   เป็นความปรารถนาของมนุษย์ที่จะกล่าวว่าข้าพเจ้าอยากเห็นพระเจ้ามีแต่น้ำเพื่อชีวิตนิรันดรเท่านั้นที่ดับความกระหายพระเจ้าได้[293]

 

[293] เทียบ ยน 4:14.