ตอนที่สาม

คำวอนขอเจ็ดประการ

 2803  หลังจากที่เราเข้ามาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดาเพื่อนมัสการพระองค์ เพื่อรักและถวายพระพรแด่พระองค์แล้ว พระจิตที่โปรดให้เราเป็นบุตรของพระองค์ก็บันดาลใจเกิดคำวอนขอเจ็ดประการ คำถวายพรเจ็ดประการ ออกมาจากใจของเรา คำวอนขอสามประการแรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระเจ้ามากกว่า ดึงดูดเราให้คิดถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา ส่วนคำวอนขอสี่ประการหลังเป็นเสมือนหนทางไปพบพระองค์กราบทูลความน่าสงสารของเราแด่พระทัยดีของพระองค์      “น้ำลึกกู่หาน้ำลึก” (สดด 42:7)

 2804   ความเคลื่อนไหวชุดแรกนำเราเข้าไปหาพระองค์ เพื่อพระองค์โดยตรง นั่นคือ พระนาม ของพระองค์ พระอาณาจักรของพระองค์ พระประสงค์ของพระองค์ คุณลักษณะประการแรกของความรักก็คือความคิดก่อนใดหมดถึงผู้ที่เรารัก ในคำขอแต่ละข้อทั้งสามประการนี้เราไม่กล่าวถึง “ตัวเรา” เลย แต่ “ความปรารถนาเร่าร้อน” “ความกังวลใจ” ซึ่งบุตรที่รักมีต่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดายึดตัวเราไว้[55] “[พระนามพระองค์] จงเป็นที่สักการะ  [พระอาณาจักร] จงมาถึง [พระประสงค์] จงสำเร็จ...” พระบิดาเจ้าทรงฟังคำขอร้องทั้งสามข้อนี้แล้วในการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ แต่เหตุการณ์เหล่านี้จะบรรลุถึงความสมบูรณ์สุดท้ายในความหวังเท่านั้น เพราะพระเจ้ายังไม่ได้เป็นทุกสิ่งในทุกคน[56]

 2805  คำวอนขอกลุ่มที่สองยังขยายความมากขึ้นในข้อความของบท Epiclesis (อัญเชิญพระจิตเจ้า) ในพิธีบูชาขอบพระคุณบางแบบ ในฐานะที่บท Epiclesis นี้เป็นการถวายการรอคอยของเราและทูลเชิญพระบิดาผู้ทรงพระเมตตาให้ทอดพระเนตรมาหาเรา คำวอนขอเหล่านี้ขึ้นไปจากเราแล้วตั้งแต่เวลานี้ อยู่ในโลกนี้ และเกี่ยวข้องกับเรา “โปรดประทาน [...] แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย [...] โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้ [...] โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้น...เทอญ” คำวอนขอที่สี่และห้าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรง ไม่ว่าเพื่อหล่อเลี้ยง หรือช่วยบำบัดรักษาให้พ้นจากบาป  ส่วนคำวอนขอสองข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชีวิต – เพื่อการต่อสู้ให้อธิษฐานภาวนาได้

 2806  โดยคำวอนขอสามข้อแรก เราได้รับความมั่นคงในความเชื่อ มีความหวังเต็มเปี่ยม และมีความกระตือรือร้นในความรัก ในเมื่อเรายังเป็นสิ่งสร้างและเป็นคนบาป เราจึงต้องวอนขอเพื่อตนเองด้วยวลีว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” นี้จำกัดเราไว้กับมาตรฐานของโลกและประวัติศาสตร์ แต่เราถวายตนแก่ความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้าของเรา เพราะพระบิดาของเราทรงบันดาลให้แผนการ
ความรอดพ้นที่ทรงปรารถนาจะประทานให้เราและทั้งโลกจักรวาลสำเร็จไป เดชะพระนามของพระคริสตเจ้าและพระอาณาจักรของพระจิตศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

 

[55] เทียบ ลก 22:15; 12:50.      

[56] เทียบ 1 คร 15:28.           

I.  “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ”

I.  “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ

 2807  “พระนามจงเป็นที่สักการะ” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “พระนามจงรับความศักดิ์สิทธิ์” กริยานี้ต้องเข้าใจไม่ใช่ในความหมายเป็นเหตุเป็นผล (พระเจ้าเท่านั้นทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ได้) แต่โดยเฉพาะในความหมายการประเมินคุณค่า ยอมรับว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังที่เราแปลเป็นภาษาไทยว่า “จงเป็นที่สักการะ” ดังนั้น ในการนมัสการพระเจ้า วลีเรียกหาเช่นนี้บางครั้งจึงเข้าใจเหมือนกับเป็นการสรรเสริญและขอบพระคุณ[57] แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้วอนขอในแบบความปรารถนา เป็นการวอนขอ เป็นความปรารถนา และคาดหวังให้พระเจ้าและมนุษย์มีความสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้น ตั้งแต่คำวอนขอข้อแรกของบทภาวนานี้แล้ว เราก็จุ่มตัวลงไปในพระธรรมล้ำลึกแห่งพระเทวภาพของพระเจ้าและในขั้นตอนต่างๆ ของการที่พระเจ้าประทานความรอดพ้นแก่มนุษยชาติ การวอนขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่สักการะจึงรวมเราไว้ใน “พระประสงค์ที่ทรงพอพระทัยดำริไว้ล่วงหน้า” (อฟ 1:9) แล้วด้วย “เพื่อให้เราศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์พระองค์ด้วยความรัก” (อฟ 1:4)

 2808  พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้สำหรับแผนการความรอดพ้นของพระองค์ แต่ทรงเปิดเผยเมื่อทรงทำให้ผลงานนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ถึงกระนั้น ผลงานเพื่อเรานี้ไม่อาจสำเร็จเป็นจริงในตัวเรา ถ้าพระนามของพระองค์ไม่เป็นที่สักการะโดยเราและในตัวเราก่อน

 2809  ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางพระธรรมล้ำลึกนิรันดรของพระองค์ที่เราไม่อาจเข้าถึงได้ พระคัมภีร์เรียกสิ่งที่ทรงสำแดงเกี่ยวกับพระองค์ในการเนรมิตสร้างและในประวัติศาสตร์ว่า “พระสิริรุ่งโรจน์” หรือความรุ่งเรืองแห่งพระอานุภาพของพระองค์[58] เมื่อพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ “ตามภาพลักษณ์ให้มีความคล้ายคลึงกับพระองค์” (ปฐก 1:26) พระองค์ก็ประทานความรุ่งโรจน์และเกียรติยศให้เป็นเหมือนมงกุฏประดับศีรษะ[59] แต่เมื่อมนุษย์ทำบาป เขาก็ “ขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”[60] หลังจากนั้นพระเจ้าจะทรงสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์โดยทรงเปิดเผยและประทานพระนามของพระองค์แก่มนุษย์เพื่อทรงบันดาลให้เขาได้รับสภาพคืนมา “ตามภาพลักษณ์ขององค์พระผู้สร้างเขา” (คส 3:10)

 2810   เมื่อทรงสัญญาต่ออับราฮัมพร้อมกับทรงปฏิญาณต่อเขา[61] พระเจ้าทรงผูกมัดพระองค์โดยไม่ทรงเปิดเผยพระนาม พระองค์ทรงเริ่มเปิดเผยพระนามแก่โมเสส[62] และทรงสำแดงพระนามนี้ต่อหน้าประชากรเมื่อทรงช่วยเขาให้รอดพ้นจากชาวอียิปต์ “พระองค์ทรงชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่” (อพย 15:1) หลังจากพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย ประชากรนี้ก็เป็น “ของพระองค์”  และต้องเป็น “ชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (หรือ “ถวายแด่พระเจ้า” ซึ่งเป็นคำเดียวกันในภาษาฮีบรู)[63] เพราะพระนามของพระเจ้าพำนักอยู่ในหมู่เขา

 2811   ถึงกระนั้น ประชากรอิสราเอล แม้จะมีธรรมบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์[64]ประทานให้ครั้งแล้วครั้งเล่า และแม้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงความอดทนต่อเขา “เพราะพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” เขาก็ยังหันเหไปจากองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของอิสราเอลและ “ทำให้พระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์เป็นมลทินในชนชาติต่างๆ”[65] ดังนั้น บรรดาผู้ชอบธรรมในพันธสัญญาเดิม บรรดาผู้ยากจนที่กลับมาจากแดนเนรเทศ และบรรดาประกาศกจึงมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งต่อพระนามของพระองค์

 2812   ในที่สุด พระนามของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้รับการเปิดเผยและประทานให้เราในพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ที่ทรงรับสภาพมนุษย์[66] ได้รับการเปิดเผยจากสภาพที่พระองค์เองทรงเป็น จากพระวาจาที่ตรัสและจากการถวายบูชาของพระองค์[67] การเปิดเผยนี้เป็นหัวใจของคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในฐานะมหาสมณะ เมื่อตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยน 17:19) เพราะว่าพระเยซูเจ้าทรง “บันดาลความศักดิ์สิทธิ์”[68] แก่พระนามของพระองค์ ก็ยังทรง “แสดง”[69] พระนามของพระบิดาให้แก่เราด้วย เมื่อปัสกาของพระเยซูเจ้าสิ้นสุดแล้ว พระบิดาก็ประทานพระนามที่ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นให้แก่พระองค์ด้วยโดยทรงประกาศว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าพระบิดา[70]

 2813   ในน้ำของศีลล้างบาป พวกเรา “ได้รับการชำระล้าง ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ ได้รับความชอบธรรมเดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา” (1 คร 6:11) ตลอดชีวิต พระบิดาของเราทรงเรียกเรา “ให้เป็นคนศักดิ์สิทธิ์” (1 ธส 4:7) และเนื่องจากว่าเพราะพระองค์พระบิดา เราอยู่ในพระคริสต์เยซู “ผู้ที่พระเจ้าทรงตั้งให้เป็น […] ความศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา” (1 คร 1:30) ทั้งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และชีวิตของเราในพระองค์จึงขึ้นอยู่กับการที่พระนามของพระองค์เป็นที่สักการะทั้งในและจากพวกเรา คำวอนขอข้อแรกจึงมีความสำคัญเช่นนี้

            “นอกจากนั้น พระเจ้าทรงเป็นที่สักการะ (หรือ “รับความศักดิ์สิทธิ์”) จากผู้ใด พระองค์เองทรงความศักดิ์สิทธิ์ “ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” (ลนต 11:44) เราวอนขอเช่นนี้ ให้เราที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในศีลล้างบาปได้มั่นคงในสภาพที่เราได้เริ่มไว้ และเราวอนขอเช่นนี้ทุกวัน เพราะเราต้องการจะมีความศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน เพื่อเราที่ทำผิดทุกๆ วันจะได้ชำระความผิดนั้นโดยความพยายามทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตลอดเวลา […] เราอธิษฐานภาวนาเพื่อให้การทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์นี้จะได้คงอยู่ในตัวเราตลอดไป”[71]

 2814  การที่พระนามของพระเจ้าจะเป็นที่สักการะในชนชาติต่างๆ ได้นั้นขึ้นอยู่ทั้งจากชีวิตและการอธิษฐานภาวนาของเราอย่างแยกกันไม่ได้

          “เราวอนขอให้พระเจ้าทรงบันดาลให้พระนามได้รับความศักดิ์สิทธิ์ พระนามนี้บันดาลความรอดพ้นและความศักดิ์สิทธิ์แก่สิ่งสร้างทั้งหมด [...] พระนามนี้เป็นพระนามที่ให้ความรอดพ้นแก่โลกที่พินาศไปแล้ว แต่เราวอนขอให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่สักการะ (หรือตามตัวอักษรว่า “รับความศักดิ์สิทธิ์”) ในตัวเรา เมื่อเราทำดี พระนามของพระเจ้าก็ได้รับพระพร เมื่อเราทำชั่ว พระนามของพระองค์ก็ถูกดูหมิ่น ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “เป็นเพราะความผิดของท่านที่พระนามของพระเจ้าถูกดูหมิ่นในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย” (รม 2:24)[72] ดังนั้น เราจึงวอนขอ วอนขอให้เรามีความศักดิ์สิทธิ์ในความประพฤติของเราสมกับที่พระนามของพระเจ้ามีความศักดิ์สิทธิ์”[73]

            “เมื่อเรากล่าวว่า ‘พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ’ เราก็วอนขอให้พระนามเป็นที่สักการะ (หรือ ‘มีความศักดิ์สิทธิ์’) ในตัวเราซึ่งอยู่ในพระองค์ พร้อมกับในผู้อื่นที่พระหรรษทานของพระเจ้ายังคอยให้เราเชื่อฟังพระบัญชานี้โดยอธิษฐานภาวนาสำหรับทุกคน แม้กระทั่งสำหรับศัตรูของเราด้วย ดังนั้นเราจึงไม่กล่าวว่า ‘จงเป็นที่สักการะในตัวเรา’ แต่เรากล่าวถึงการที่พระนามของพระองค์เป็นที่สักการะในทุกคน”[74]

 2815  คำวอนขอประการนี้ ซึ่งรวมคำวอนขอทุกข้อ พระเจ้าทรงฟังเหมือนกับเป็นการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับคำวอนขออีกหกข้อที่เหลือซึ่งตามมา การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเราเป็นการอธิษฐานภาวนาของเรา ถ้าเราอธิษฐานในพระนามของพระเยซูเจ้า[75] พระเยซูเจ้าทรงวอนขอในคำอธิษฐานมหาสมณะของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดเฝ้ารักษาบรรดาผู้ที่ทรงมอบให้ข้าพเจ้าไว้ในพระนามของพระองค์” (ยน 17:11)

 

[57] เทียบ สดด 111:9; ลก 1:49.   

[58] เทียบ สดด บทที่ 8; อสย 6:3. 

[59] เทียบ สดด 8:5.             

[60] เทียบ รม 3:23.              

[61] เทียบ ฮบ 6:13.

[62] เทียบ อพย 3:14.            

[63] เทียบ อพย 19:5-6.          

[64] เทียบ ลนต 19:2: “ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเรา องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์”

[65] เทียบ อสค บทที่ 20 และ 36.  

[66] เทียบ มธ 1:21; ลก 1:31.      

[67] เทียบ ยน 8:28; 17:8; 17:17-19.

[68] เทียบ อสค 20:39; 36:20-21. 

[69] เทียบ ยน 17:6.              

[70] เทียบ ฟป 2:9-11.            

[71] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 12: CCL 3A, 96-97 (PL 4, 544).          

[72] เทียบ อสค 36:20-22.        

[73] Sanctus Petrus Chrysologus, Sermo 71, 4: CCL 24A, 425 (PL 52, 402).          

[74] Tertullianus, De oratione, 3, 4: CCL 1, 259 (PL 1, 1259).        

[75] เทียบ ยน 14:13; 15:16; 16:24,26.             

II.  “พระอาณาจักรจงมาถึง”

II.  “พระอาณาจักรจงมาถึง

 2816  ในพันธสัญญาใหม่ คำภาษากรีกคำเดียวว่า basileia อาจแปลได้ว่า “การเป็นกษัตริย์” (อาการนาม– abstract noun) หรือ “พระอาณาจักร” (วัตถุนาม – concrete noun) หรือ “รัชสมัย” “ช่วงเวลาที่เป็นกษัตริย์” (นามการกระทำ – noun of action) พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ก่อนเรา เข้ามาใกล้เราในพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์ ได้รับการประกาศในพระวรสารทั้งหมด มาถึงในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงตั้งแต่การเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายและในศีลมหาสนิท พระอาณาจักรนี้ยังคงอยู่ในหมู่เรา พระอาณาจักรจะมาในสิริรุ่งโรจน์เมื่อพระคริสตเจ้าจะทรงมอบพระอาณาจักรนี้แด่พระบิดาของพระองค์

             “พระอาณาจักรของพระเจ้ายังอาจหมายถึงพระคริสตเจ้าเองที่เราปรารถนาให้เสด็จมาถึงทุกวัน และเราอยากให้เสด็จมาถึงเราโดยเร็วด้วย เพราะในเมื่อพระองค์ทรงเป็นการกลับคืนชีพ เพราะเราก็กลับคืนชีพในพระองค์ ดังนี้พระอาณาจักรของพระเจ้ายังอาจเข้าใจได้ว่าเป็นพระองค์ เพราะเราจะเป็นกษัตริย์ครองราชย์ในพระองค์ด้วย”[76]

 2817   คำขอข้อนี้ก็คือคำขอ “Marana tha” ที่พระจิตเจ้าตรัสพร้อมกับเจ้าสาวของลูกแกะว่า “เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า”

            “แม้ไม่ได้มีการกำหนดล่วงหน้าไว้ในการอธิษฐานภาวนาเรื่องขอให้พระอาณาจักรมาถึง เราก็คงยินดีที่จะรีบออกเสียงแสดงความหวังของเรา วิญญาณของบรรดามรณสักขีภายใต้พระแท่นบูชาร้องเสียงดังด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า ‘ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงรีรออีกนานเท่าใดเล่าที่จะทรงตัดสินลงโทษผู้อาศัยบนแผ่นดินเป็นการแก้แค้นแทนโลหิตของเรา’ (วว 6:10)? เพราะการแก้แค้นถูกกำหนดไว้แล้วโดยวันสิ้นพิภพ ยิ่งกว่านั้น ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึงโดยเร็ว”[77]

 2818  ในบทข้าแต่พระบิดา วลี “พระอาณาจักรจงมาถึง” เกี่ยวข้องโดยเฉพาะถึงการที่พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมาอีก[78] แต่ความปรารถนานี้ก็ไม่หันเหพระศาสนจักรออกไปจากพันธกิจของตนในโลกนี้ ตรงกันข้ามกลับเร่งรัดให้เอาใจใส่ต่อพันธกิจนี้มากขึ้น นับตั้งแต่วันเปนเตกอสเตแล้ว การมาถึงของพระอาณาจักรก็คือบทบาทของพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า “ซึ่งยังทรงประกอบพระราชกิจของพระองค์ในโลกนี้สืบมา ทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าทั้งหลายศักดิ์สิทธิ์สมบูรณ์”[79]

 2819  “อาณาจักรของพระเจ้า […] เป็นความชอบธรรม สันติ และความชื่นชมยินดีในพระจิตเจ้า” (รม 14:17) ยุคสุดท้ายที่เราอยู่เป็นยุคที่พระเจ้าทรงหลั่งพระจิตเจ้าแก่เรา นับตั้งแต่นั้นมาจึงมีการต่อสู้อย่างเด็ดขาดระหว่าง “เนื้อหนัง” (หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำของมนุษย์) และพระจิตเจ้า[80]

           “จิตใจที่สะอาดเท่านั้นอาจกล่าวอย่างมั่นใจได้ว่า ‘พระอาณาจักรจงมาถึง’ เพราะผู้ที่ได้ยินเปาโล     กล่าวว่า ‘ดังนั้น อย่าให้บาปครอบงำร่างกายที่ตายได้ของท่าน’ (รม 6:12) และแสดงตนบริสุทธิ์ด้วยการกระทำ ความคิดและคำพูดเท่านั้นอาจกล่าวได้ว่า ‘พระอาณาจักรจงมาถึง’”[81]

 2820  ในการรู้จักแยกแยะตามพระจิตเจ้า บรรดาคริสตชนต้องแยกแยะระหว่างความเจริญเติบโตของพระอาณาจักรของพระเจ้ากับพัฒนาการของวัฒนธรรมและสังคมที่เขาดำเนินชีวิตอยู่ด้วย การแยกแยะเช่นนี้ไม่ใช่การแยกตัวออกไป การที่พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์สำหรับชีวิตนิรันดรไม่ขจัด แต่กลับผลักดันให้เขาทำหน้าที่ที่จะใช้พลังของตนและเครื่องมือต่างๆ ที่เขาได้รับจากพระผู้สร้างเพื่อนำมารับใช้ความยุติธรรมและสันติภาพในโลกนี้[82]

 2821   คำวอนขอนี้ได้รับการสนับสนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าและพระเจ้าทรงฟังในการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า[83] ที่มีอยู่และเกิดผลในพิธีบูชาขอบพระคุณ และบังเกิดผลในชีวิตใหม่ตามคำสอนเรื่องความสุขแท้จริง[84] 

 

[76] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 13: CCL 3A, 97 (PL 4, 545).             

[77] Tertullianus, De oratione, 5, 2-4: CCL 1, 260 (PL 1, 1261-162).   

[78] เทียบ ทต 2:13.              

[79] Cf Prex Eucharistica IV, 118: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 468.

[80] เทียบ กท 5:16-25.          

[81] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses mystagogicae, 5, 13: SC 126, 162 (PG 33, 1120).     

[82] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042-1044; Ibid., 32: AAS: 58 (1966) 1051; Ibid., 39: AAS 58 (1966) 1057; Ibid., 45: AAS 58 (1966) 1065-1066; Paulus VI, Adh. ap. Evangelii nuntiandi, 31: AAS 68 (1976) 26-27.         

[83] เทียบ ยน 17:17-20.          

[84] เทียบ มธ 5:13-16; 6:24; 7:12-13.             

III. “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”

III. พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์

 2822  พระประสงค์ของพระบิดาของเราก็คือ “ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1 ทธ 2:4) พระองค์ “ทรงอดกลั้น […] ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดต้องพินาศ” (2 ปต 3:9)[85] พระบัญชาของพระองค์ซึ่งสรุปรวมพระบัญชาอื่นๆ ทั้งหมดและแสดงถึงพระประสงค์ทั้งหมดของพระองค์ก็คือให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา[86]

 2823  พระองค์ “ทรงเผยให้เรารู้ถึงพระประสงค์เร้นลับของพระองค์ ซึ่งพอพระทัยดำริไว้ล่วงหน้าในพระคริสตเจ้า […] โดยทรงนำทุกสิ่ง […] ให้มารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระคริสตเจ้า […] ในองค์พระคริสตเจ้านี้ เราได้รับเลือกเป็นพิเศษไว้ล่วงหน้าตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงกระทำทุกสิ่งให้เป็นไปตามแผนการนั้น” (อฟ 1:9-11) เราจึงวอนขออย่างแข็งขันให้แผนการที่ทรงประสงค์นี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสวรรค์

 2824  พระประสงค์ของพระบิดาได้สำเร็จแล้วในพระคริสตเจ้า และโดยพระประสงค์แบบมนุษย์ของพระองค์ก็ได้สำเร็จไปแล้วโดยสมบูรณ์สำหรับตลอดไป เมื่อเสด็จมาในโลกนี้ พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์” (ฮบ 10:7)[87] พระเยซูเจ้าเท่านั้นอาจตรัสได้ว่า “เราทำตามที่พระองค์พอพระทัยเสมอ” (ยน 8:29) ในคำอธิษฐานภาวนาเมื่อทรงเป็นทุกข์อย่างสาหัส พระองค์ทรงยอมรับพระประสงค์นี้ของพระบิดา “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42)[88] นี่เป็นเหตุผลที่พระเยซูเจ้า “ทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป […] ตามพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดาของเรา” (กท 1:4) “โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เดชะการถวายพระวรกายเป็นการบูชาของพระคริสต์เยซู”(ฮบ 10:10)

 2825  พระเยซูเจ้า “แม้ว่าทรงเป็นพระบุตร ก็ยังทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน” (ฮบ 5:8) แล้วเราซึ่งเป็นเพียงสิ่งสร้างและคนบาป แต่พระเจ้าทรงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรมในพระองค์  จะไม่ต้องเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังมากกว่านั้นเทียวหรือ เราวอนขอจากพระบิดาของเราให้ทรงรวมความปรารถนาของเราเข้ากับพระประสงค์ของพระบุตรของพระองค์เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ นั่นคือตามแผนการความรอดพ้นเพื่อให้โลกมีชีวิต โดยแท้จริงแล้ว เราไม่มีความสามารถแต่อย่างใดที่จะทำเช่นนี้ได้ แต่ถ้าเราร่วมสนิทกับพระเยซูเจ้าและพระอานุภาพของพระจิตเจ้าของพระองค์ เราก็อาจมอบความปรารถนาของเราให้แก่พระองค์ได้ และอาจเลือกตามที่พระบุตรของพระองค์ทรงเลือกได้ด้วย นั่นคือเลือกปฏิบัติตามที่พระบิดาพอพระทัย[89]

           “เราสามารถร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และเป็นจิตใจเดียวกับพระองค์ และดังนี้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ได้  เพื่อว่าพระประสงค์ของพระองค์สำเร็จไปในสวรรค์อย่างไร ก็จะสำเร็จไปเช่นเดียวกันในแผ่นดินนี้ด้วย”[90]

             “ท่านเห็นแล้วไม่ใช่หรือว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงสอนเราอย่างไรให้ปฏิบัติตนอย่างถ่อมตน เมื่อทรงแสดงว่าคุณธรรมไม่ได้ขึ้นกับความเอาใจใส่ของเราเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับพระหรรษทานจากเบื้องบนด้วย นอกจากนั้น ยังทรงบัญชาให้เราแต่ละคนที่อธิษฐานภาวนามีความสนใจต่อมนุษย์ทั่วโลกด้วยเช่นเดียวกัน เพราะพระองค์ไม่ได้ตรัสสอนว่า ‘พระประสงค์จงสำเร็จ’ ในตัวข้าพเจ้า หรือในท่านทั้งหลาย แต่ตรัสถึงทุกแห่งทั่วโลก เพื่อความหลงผิดจะได้ถูกกำจัดออกไป คุณธรรมได้กลับคืนมาและพัฒนาขึ้นในโลกนี้ และตั้งแต่นี้ไปสวรรค์จะไม่แตกต่างจากโลกแต่อย่างใด”[91]

 2826   เมื่ออธิษฐานภาวนา เราอาจแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า[92] และได้รับความพากเพียรที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์นั้น[93] พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เข้าในพระอาณาจักรไม่ใช่ด้วยคำพูด แต่โดยปฏิบัติตาม “พระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 7:21)

 2827  “พระเจ้าทรงฟัง [...] ผู้ที่ [...] ปฏิบัติตามพระประสงค์เท่านั้น” (ยน 9:31)[94] การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ ทรงพลังอย่างยิ่ง การอธิษฐานภาวนานี้ยังเป็นการวอนขอร่วมกับพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า[95] และร่วมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เคยเป็น “ที่โปรดปราน” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะเขาเหล่านี้ไม่ได้ปรารถนาอะไรอื่นนอกจากพระประสงค์ของพระองค์

          “ไม่มีอะไรผิดจากความจริงเมื่อเราเข้าใจว่า ‘พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์’ มีความหมายเหมือนกับว่า ‘สำเร็จในพระศาสนจักรเหมือนในองค์พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา’ เหมือนดังในบุรุษผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา และในสตรีที่เป็นเจ้าสาวของพระองค์”[96]

 

[85] เทียบ มธ 18:14.             

[86] เทียบ ยน 13:34; 1 ยน บทที่ 3 และ 4; ลก 10:25-37.             

[87] เทียบ สดด 40:7-8.           

[88] เทียบ ยน 4:34; 5:30; 6:38. 

[89] เทียบ ยน 8:29.             

[90] Origenes, De oratione, 26, 3: GCS 3, 361 (PG 11, 501).        

[91] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In Matthaeum homilia 19, 5: PG 57, 280.         

[92] เทียบ รม 12:2; อฟ 5:17.     

[93] เทียบ ฮบ 10:36.            

[94] เทียบ 1 ยน 5:14.            

[95] เทียบ ลก 1:38,49.           

[96] Sanctus Augustinus, De sermone Domini in monte, 2, 6, 24: CCL 35, 113 (PL 34, 1279).          

IV.  “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”

IV.  “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้

 2828 “โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายวลีที่ไพเราะนี้สะท้อนความไว้วางใจของบุตรที่หวังจะได้รับทุกสิ่งจากพระบิดา “ผู้โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:45) และประทาน “อาหารแก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในยามต้องการ” (สดด 104:27) พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้วอนขอสิ่งนี้ คำวอนขอนี้ถวายพระเกียรติแด่พระบิดาของเราอย่างแท้จริง เพราะยอมรับว่าพระองค์ทรงความดีเพียงใดเหนือความดีทั้งปวง

 2829  “โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ยังเป็นสำนวนของพันธสัญญาอีกด้วย – เราเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นของเรา เพื่อเรา แต่คำว่า “เรา” (หรือ “ข้าพเจ้าทั้งหลาย”) ยังรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของมวลมนุษย์ และเราวอนขอเพื่อเขาทุกคน โดยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับความต้องการและความทุกข์ของเขาทั้งหลายด้วย

 2830  อาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายพระบิดาผู้ประทานชีวิตให้เรา จะไม่ประทานอาหารจำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา รวมทั้งสิ่งที่ดีทั้งหลาย “ที่เหมาะสม” ทั้งที่เป็นวัตถุและเป็นจิตด้วยไม่ได้ ในบทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราให้มีความวางใจเยี่ยงบุตรที่ร่วมมือกับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาของเรา[97] พระองค์ไม่เคยทรงแนะนำเราให้รอคอยอยู่เฉยๆ[98] แต่ทรงประสงค์ให้เราพ้นจากความวุ่นวายใจและความกังวลทั้งหลาย ความเชื่อมั่นและไว้วางใจเยี่ยงบุตรของพระเจ้าเป็นเช่นนี้

          “พระองค์ทรงสัญญาจะประทานทุกสิ่งให้แก่ผู้ที่แสวงหาพระอาณาจักรและความยุติธรรมของพระเจ้า ผู้ที่มีพระเจ้าจะไม่ขาดสิ่งใดเลย ถ้าเขาไม่ทิ้งพระองค์ไปก่อน”[99]

 2831   แต่การที่ยังมีคนที่ขาดแคลนอาหารก็เปิดเผยความหมายที่ลึกซึ้งอีกประการหนึ่งของคำขอนี้ การที่ยังมีความหิวโหยขาดแคลนอาหารอยู่ในโลกนี้อีกนั้นเชิญชวนบรรดาคริสตชนที่อธิษฐานภาวนาจากใจจริงให้มีความรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อบรรดาเพื่อนพี่น้อง ทั้งในวิธีการปฏิบัติตนส่วนตัวและในการร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันกับครอบครัวเพื่อนมนุษย์ทุกคน คำวอนขอของบทข้าแต่พระบิดานี้ไม่อาจแยกได้จากนิทานอุปมาเรื่องลาซารัสผู้ยากจน[100]และเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย[101]

 2832  ความใหม่ของพระอาณาจักรต้องช่วยให้พระจิตของพระคริสตเจ้าทำให้โลกนี้ฟูขึ้นเหมือนกับเชื้อแป้งในเนื้อแป้ง[102] เรื่องนี้ต้องแสดงออกในการรื้อฟื้นความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและในสังคม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระหว่างชาติโดยไม่ลืมว่าโครงสร้างที่ยุติธรรมนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ที่อยากเป็นคนยุติธรรม

 2833  อาหาร “ของเรา” เป็นอาหาร “หนึ่งเดียว” สำหรับ “หลายคน”  ความยากจนที่เป็น “ความสุขแท้”ประการหนึ่งเป็นคุณธรรมการแบ่งปันซึ่งเชิญชวนให้เรานำทรัพย์สมบัติด้านวัตถุและจิตใจมารวมและแบ่งปันกัน ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ แต่ด้วยความรัก เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของคนกลุ่มหนึ่งจะได้ช่วยแก้ไขความขัดสนของคนอีกกลุ่มหนึ่ง”[103]

 2834  “จงอธิษฐานภาวนาและจงทำงาน”[104] “จงอธิษฐานภาวนาประหนึ่งว่าทุกสิ่งขึ้นอยู่กับพระเจ้า และจงทำงานประหนึ่งว่าทุกสิ่งขึ้นอยู่กับท่าน”[105] หลังจากที่เราทำงานเสร็จแล้ว อาหารก็ยังคงเป็นของประทานของพระบิดาของเรา เป็นการดีที่เราจะขออาหารนี้จากพระบิดาของเรา และขอบพระคุณพระองค์ในเรื่องนี้ด้วย นี่คือความหมายของการอธิษฐานภาวนาก่อนรับประทานอาหารในครอบครัวคริสตชน

 2835   การวอนขอนี้และความรับผิดชอบที่มากับการวอนขอนี้ ยังใช้ได้กับความหิวอีกอย่างหนึ่งที่ทำร้ายชีวิตมนุษย์ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ 4:4)[106] นั่นคือด้วยพระวาจาและพระจิตของพระองค์ คริสตชนทุกคนต้องใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อ “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” ในโลกนี้มีหลายคนที่มีความหิว“ไม่ใช่หิวอาหารหรือหิวน้ำ แต่หิวที่จะฟังพระวาจา” (อมส 8:11)  เพราะฉะนั้น ความหมายพิเศษสำหรับคริสตชนของคำขอข้อสี่นี้จึงหมายถึงอาหารสำหรับชีวิต นั่นคือพระวาจาของพระเจ้าที่จะต้องรับด้วยความเชื่อ และพระกายของพระคริสตเจ้าที่เรารับในศีลมหาสนิท[107]

 2836  ในวันนี้ยังเป็นข้อความที่หมายถึงความไว้วางใจที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเรา[108] เราไม่อาจสรุปเรื่องนี้ได้เอง เพราะเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับพระวาจาและพระกายของพระบุตรของพระองค์ วลี “วันนี้” วลีนี้ไม่หมายความถึงเพียงเวลาของเราที่รู้จักตาย แต่เป็น “วันนี้” ของพระเจ้า “ถ้าท่านรับ(อาหารนี้)ทุกวัน ‘ทุกวัน’ ก็คือ ‘วันนี้’ สำหรับท่าน ถ้าพระคริสตเจ้าเป็นของท่าน ‘วันนี้’ พระองค์ก็ทรงกลับคืนพระชนมชีพสำหรับท่าน ‘ทุกวัน’ การนี้เป็นไปได้อย่างไร ‘ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว’ (สดด 2:7) ดังนั้น ‘วันนี้’ ก็คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ”[109]

 2837  ประจำวันคำนี้ในภาษากรีกว่า ‘epiousion’ ไม่มีใช้ที่อื่นในพันธสัญญาใหม่ ในความหมายบอกเวลา คำนี้เป็นการย้ำวลี “วันนี้”[110] เพื่อย้ำให้เรายึดมั่นในความไว้วางใจ(ต่อพระเจ้า) “โดยไม่มีข้อยกเว้น” แต่ถ้าเข้าใจในความหมายเชิงคุณภาพก็หมายถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต และมีความหมายกว้างกว่าสิ่งที่เพียงพอเพื่อการดำรงชีพ[111] ถ้าเข้าใจความหมายตามตัวอักษร (epiousion = เหนือจำเป็น [super-substantiale, super-essential]) จึงมีความหมายโดยตรงถึงอาหาร(ที่จำเป็นสำหรับ)เลี้ยงชีวิต นั่นคือพระกายของพระคริสตเจ้า “โอสถบันดาลความไม่รู้จักตาย”[112] ซึ่งถ้าไม่มี เราจะมีชีวิตในตัวเราไม่ได้[113] ในที่สุด ถ้านำคำนี้มารวมกับคำที่อยู่ก่อนหน้านั้น ความหมายเกี่ยวกับเมืองสวรรค์ก็ย่อมชัดเจน “วัน” ที่กล่าวถึงนี้ก็คือ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” วัน “งานเลี้ยงของพระอาณาจักร” ที่ถูกกล่าวถึงล่วงหน้าแล้วในศีลมหาสนิท (หรือ “พิธีบูชาขอบพระคุณ”) ซึ่งเป็นการชิมลางของพระอาณาจักรที่จะมาถึง เพราะเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องถวายบูชาขอบพระคุณ “ทุกๆ วัน”

         “ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงเป็นอาหารประจำวันของเรา […] พลังที่มาจากอาหารนี้ก็คือเอกภาพ เพื่อให้เราที่มารวมกันในพระกายของพระองค์ กลายเป็นส่วนพระวรกายของพระองค์ เป็นสิ่งที่เรารับมา […] และสิ่งที่ท่านได้ยินทุกๆ วันในวัด ก็เป็นอาหารประจำวัน และบทเพลงสรรเสริญที่ท่านได้ยินและเรียนรู้ก็เป็นอาหารประจำวันด้วย ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางของเราในโลกนี้”[114]

           พระบิดาในสวรรค์ทรงเตือนพวกเราให้เป็นเสมือนบุตรเมืองสวรรค์ วอนขออาหารจากสวรรค์[115] พระคริสตเจ้า “ผู้ทรงเป็นอาหารที่หว่านไว้ในพระนางพรหมจารี ฟูขึ้นในร่างกาย ถูกนวดในพระทรมาน ถูกอบในพระคูหาเหมือนในเตาอบ ได้รับการปรุงรสในวัดต่างๆ ถูกนำมาวางไว้บนพระแท่นบูชาเป็นดังอาหารจากสวรรค์ทุกๆ วันสำหรับผู้มีความเชื่อทั้งหลาย”[116]

 

[97] เทียบ มธ 6:25-34.           

[98] เทียบ 2 ธส 3:6-13.          

[99] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 21: CCL 3A, 103 (PL 4, 551).            

[100] เทียบ ลก 16:19-31.         

[101] เทียบ มธ 25:31-46.         

[102] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 5: AAS 58 (1966) 842.

[103] เทียบ 2 คร 8:1-15.         

[104] E traditione benedictina. Cf Sanctus Benedictus, Regula, 20: CSEL 75, 75-76 (PL 66, 479-480); Ibid., 48: CSEL 75, 114-119 (PL 66, 703-704).

[105] Dictum sancto Ignatio de Loyola attributum; cf Petrus de Ribadeneyra, Tractatus de modo gubernandi sancti Ignatii, c. 6, 14: MHSI 85, 631.

[106] เทียบ ฉธบ 8:3.             

[107] เทียบ ยน 6:26-58.         

[108] เทียบ มธ 6:34; อพย 16:19. 

[109] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 5, 26: CSEL 73, 70 (PL 16, 453).         

[110] เทียบ อพย 16:19-21.        

[111] เทียบ 1 ทธ 6:8.             

[112] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Ephesios, 20, 2: SC 10bis, 76 (Funk 1, 230).           

[113] เทียบ ยน 6:53-56.         

[114] Sanctus Augustinus, Sermo 57, 7, 7: PL 38, 389-390.         

[115] เทียบ ยน 6:51.             

[116] Sanctus Petrus Chrysologus, Sermo 67, 7: CCL 24A, 404-405 (PL 52, 402).     

V.  “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า(ทั้งหลาย) เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”

V.  “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า(ทั้งหลาย) เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

 2838  คำวอนขอข้อนี้ทำให้เราแปลกใจ ถ้าคำวอนขอนี้มีแต่เพียงส่วนแรก – “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า(ทั้งหลาย)” [แปลตามตัวอักษรว่า “โปรดยกหนี้ของเราให้แก่เรา”] – คำวอนขอข้อนี้น่าจะรวมเป็นนัยอยู่แล้วในคำวอนขอสามข้อแรกของบทข้าแต่พระบิดา เพราะการที่พระคริสตเจ้าทรงถวายพระองค์เป็นบูชานั้นก็เพื่อ “เป็นการอภัยบาป” อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาดูส่วนที่สองของประโยคนี้ พระเจ้าจะไม่ทรงฟังคำวอนขอของเราถ้าเราไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประการหนึ่งเสียก่อน คำวอนขอของเรามองไปถึงอนาคต คำตอบของเราต้องมาก่อน มีคำหนึ่งที่เชื่อมข้อความทั้งสองนี้ คือคำว่า “เหมือน”


“โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า”....
[โปรดยกหนี้ของเราให้แก่เรา]

 2839  เราเริ่มวอนขอพระบิดาของเราด้วยความมั่นใจอย่างกล้า(บ้าบิ่น) เมื่อวอนขอพระองค์ให้พระนามจงเป็นที่สักการะ เราได้วอนขอให้เราเองได้รับความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นด้วยเสมอ แต่แม้ว่าเราได้สวมอาภรณ์ของศีลล้างบาปแล้ว เราก็ยังไม่เลิกทำบาปและหันเหไปจากพระเจ้า บัดนี้ ในคำวอนขอประการใหม่นี้ เรากลับมาหาพระองค์เหมือนกับลูกล้างผลาญ[117] และยอมรับต่อพระองค์ว่าเราเป็นคนบาป เหมือนกับคนเก็บภาษี[118] คำวอนขอของเราเริ่มด้วย “การสารภาพบาป” ที่เรากล่าวถึงความน่าสงสารของเราและกล่าวถึงพระกรุณาของพระองค์ ความหวังของเรามั่นคง เพราะในพระบุตรของพระองค์ “เราได้รับการไถ่กู้และได้รับการอภัยบาป” (คส 1:14)[119] เราพบเครื่องหมายการอภัยบาปที่มีประสิทธิผลอย่างไม่ต้องสงสัยในศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรของพระองค์[120]

 2840  แต่ทว่า – และนี่เป็นเรื่องน่ากลัว – การหลั่งไหลของพระเมตตานี้ไม่อาจเข้าไปในใจของเราได้ ตราบใดที่เราไม่ได้ให้อภัยแก่ผู้ที่ทำผิดต่อเรา ความรักเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้เหมือนกับพระวรกายของพระคริสตเจ้า เราไม่อาจรักพระเจ้าที่เราไม่อาจแลเห็นได้ นอกจากเราจะรักพี่น้องชายหญิงที่เราแลเห็นได้[121] เมื่อเราไม่ยอมให้อภัยแก่พี่น้องชายหญิงของเรา ใจของเราย่อมปิดสนิทและความแข็งแกร่งนี้ก็ทำให้ความรักที่ทรงเมตตาของพระบิดาเข้าไปไม่ได้ เมื่อเราสารภาพบาปของเรา ใจของเราก็เปิดออกรับพระหรรษทานของพระองค์

 2841  คำวอนขอข้อนี้มีความสำคัญมาก จนกระทั่งว่าเป็นคำวอนขอเพียงข้อเดียวที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งและทรงขยายความในบทเทศน์บนภูเขา[122] ข้อเรียกร้องประการหลักของพระธรรมล้ำลึกแห่งพันธสัญญาข้อนี้เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ “แต่สำหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 19:26)


 ….
เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

 2842  คำว่า “เหมือน” นี้ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในคำสอนของพระเยซูเจ้า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “(ท่าน)จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) การปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงการปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเจ้าเพียงภายนอก แต่นี่เป็นเรื่องการมีส่วนความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตากรุณา และความรักของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา “จากส่วนลึกของจิตใจ” มีเพียงพระจิตเจ้า “ที่เราดำเนินชีวิต” (กท 5:25) ตามพระองค์เท่านั้น อาจทำให้ความรู้สึกนึกคิด “ของเรา” เป็นเหมือนกันกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในพระคริสต์เยซู[123] เมื่อนั้นแหละ การให้อภัยหนึ่งเดียวกันจึงเป็นไปได้ เมื่อเรา “ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านในองค์พระคริสตเจ้า” (อฟ 4:32)

 2843  พระวาจาให้อภัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงมีชีวิตขึ้นมาจากความรักนี้ที่รักจนถึงที่สุด[124] นิทานอุปมาเรื่องผู้รับใช้ไร้เมตตา ซึ่งเป็นจุดยอดคำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับชุมชนพระศาสนจักร[125] สรุปด้วยถ้อยคำว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน ถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง” อันที่จริง ที่นี่เอง ใน “ส่วนลึกของจิตใจ” ที่ทุกสิ่งถูกผูกไว้หรือถูกแก้ออก การไม่รู้สึกถูกทำร้ายจิตใจอีกต่อไปและลืมมันไปได้นั้นไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่ดวงใจที่ถวายตัวแด่พระจิตเจ้า ย่อมเปลี่ยนบาดแผลให้เป็นความเห็นอกเห็นใจและชำระความทรงจำให้สะอาด เปลี่ยนการถูกทำร้ายให้เป็นการวอนขอแทน

 2844  การอธิษฐานแบบคริสตชนแผ่ขยายไปถึงการให้อภัยแก่ศัตรู[126] เปลี่ยนรูปของศิษย์ ทำให้มีลักษณะเหมือนพระอาจารย์ การให้อภัยเป็นจุดยอดหนึ่งของการอธิษฐานแบบคริสตชน เรารับผลของการอธิษฐานภาวนาได้ก็เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจเหมือนกับพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น การให้อภัยยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าในโลกของเรานั้นความรักทรงพลังมากกว่าบาป บรรดามรณสักขีทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นพยานถึงเรื่องนี้ต่อพระเยซูเจ้า การให้อภัยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการคืนดี[127] ของบุตรพระเจ้ากับพระบิดาของเขาและการคืนดีระหว่างกันของมนุษย์[128]

 2845  การให้อภัยนี้ ซึ่งในสาระสำคัญเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า ไม่มีขอบเขตและไม่มีขนาด[129] ถ้าเป็นเรื่องของ “ความผิด” (“บาป” ตาม ลก 11:4 หรือ “หนี้” ตาม มธ 6:12 ในต้นฉบับภาษากรีก) พวกเราทุกคนล้วนเป็น “ลูกหนี้” เสมอ “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8)ความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพเป็นบ่อเกิดและมาตรการของความจริงในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ[130] ความสัมพันธ์นี้ยังเป็นชีวิตในการอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ[131]

          “พระเจ้าไม่ทรงรับเครื่องบูชาของผู้ก่อให้เกิดการแตกแยก และทรงสั่งให้เขาละพระแท่นบูชากลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน เพื่อจะได้มีใจสงบและอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงพระกรุณาได้ ของถวายของเราที่มีค่ามากกว่าสำหรับพระเจ้าก็คือสันติและความสามัคคีกันฉันพี่น้องของเรา และการเป็นประชากรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเอกภาพของพระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้า”[132]

 

[117] เทียบ ลก 15:11-32.          

[118] เทียบ ลก 18:13.            

[119] เทียบ อฟ 1:7.

[120] เทียบ มธ 26:28; ยน 20:23. 

[121] เทียบ 1 ยน 4:20.           

[122] เทียบ มธ 5:23-24; 6:14-15; มก 11:25.       

[123] เทียบ ฟป 2:1,5.            

[124] เทียบ ยน 13:1.             

[125] เทียบ มธ 18:23-35.        

[126] เทียบ มธ 5:43-44.         

[127] เทียบ 2 คร 5:18-21.         

[128] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Dives in misericordia, 14: AAS 72 (1980) 1221-1228.             

[129] เทียบ มธ 18:21-22; ลก 17:3-4.

[130] เทียบ 1 ยน 3:19-24.        

[131] เทียบ มธ 5:23-24.          

[132] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 23: CCL 3A, 105 (PL 4, 535-536).      

VI. “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ” (ตามตัวอักษรว่า “อย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการประจญ”)

VI. “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ(ตามตัวอักษรว่าอย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการประจญ”)

 2846  คำขอข้อนี้เข้าไปถึงรากของคำขอก่อนหน้านี้ เพราะบาปของเราล้วนเป็นผลมาจากการยอมทำตามการประจญ เราวอนขอพระบิดาของเราให้ช่วยเราไม่ให้แพ้การประจญ (หรือตามตัวอักษร “อย่าทรงนำเราเข้าไปในการทดลอง”) ภาษากรีกคำนี้ใช้ถ้อยคำ คำเดียวแปลได้ยาก ถ้อยคำนี้มีความหมายว่า “อย่ายอม อย่าอนุญาตให้เข้าไป”[133] “อย่าปล่อยให้เราพ่ายแพ้แก่การทดลอง” “ความชั่วไม่อาจผจญพระเจ้าได้ และพระองค์ไม่ทรงผจญผู้ใด” (ยก 1:13) แต่ตรงข้าม ทรงประสงค์ช่วยเราให้พ้นจากการผจญ เราวอนขอพระองค์อย่าทรงปล่อยเราให้เราเข้าไปในทางที่นำเราไปหาบาป ให้เราต้องเข้าไปอยู่ในการต่อสู้ระหว่าง “เนื้อหนัง (หรือ “ธรรมดาฝ่ายต่ำ”) กับพระจิตเจ้า”อยู่ตลอดเวลา คำขอข้อนี้จึงวอนขอพระจิตเจ้าให้เรารู้จักแยกแยะและมีกำลังที่จะเอาชนะความชั่วให้ได้

 2847  พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เรารู้จักแยกแยะระหว่างการทดสอบที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าด้านจิตใจ[134] และมุ่งหา “คุณธรรมที่แท้จริง”[135] กับการผจญที่นำไปหาบาปและความตาย[136] เรายังต้องแยกแยะระหว่าง “ถูกผจญ” และ “ยอมแพ้” แก่การผจญ ในที่สุด การรู้จักแยกแยะยังเปิดเผยให้เรารู้จักการมุสาของการประจญ ซึ่งดูภายนอกเกี่ยวกับเรื่อง “ดี […] งดงามชวนมองและยังน่าปรารถนา” (ปฐก 3:6) แต่โดยแท้จริงแล้ว ผลของมันก็คือความตาย

          “พระเจ้าไม่ทรงบังคับให้เราต้องทำดีด้วยความจำเป็น แต่โดยอิสระ [...] การประจญนี้จึงมีประโยชน์ด้วย สิ่งที่อยู่ในใจของเรานั้นไม่มีใครรู้นอกจากพระเจ้า และบางทีเราเองก็ไม่รู้ด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมปรากฏออกมาโดยการประจญ เพื่อเราจะได้รู้จักตัวเองด้วยว่าเราเป็นอย่างไร แต่เมื่อเรารู้จักตัวเองแล้ว เราก็รู้ว่าเราอยากทำชั่วหรือเปล่า และเรายังอาจขอบพระคุณสำหรับความดีที่ปรากฏให้เรารู้โดยการประจญเหล่านี้ด้วย”[137]

 2848  “ไม่ให้แพ้การผจญ” (ตามตัวอักษรว่า “ไม่ถูกนำเข้าสู่การผจญ”) ยังหมายถึงการตัดสินใจ “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย […] ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้” (มธ 6:21,24) “ถ้าเรามีชีวิตเดชะพระจิตเจ้า เราจงดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้าด้วย” (กท 5:25) พระบิดาประทานพลังให้เราในการ “เห็นพ้อง” เช่นนี้กับพระจิตเจ้า “ท่านทั้งหลายไม่เคยเผชิญกับการผจญใดๆ ที่เกินกำลังมนุษย์ พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านถูกผจญเกินกำลังของท่าน แต่เมื่อถูกผจญ พระองค์จะประทานความสามารถให้ท่านยืนหยัดมั่นคงและหาทางออกได้” (1 คร 10:13)

 2849  การต่อสู้เช่นนี้และชัยชนะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากด้วยการอธิษฐานภาวนา อาศัยการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงพิชิตมารผจญตั้งแต่แรก[138] รวมทั้งในการต่อสู้กับการทนทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย[139] ในการวอนขอพระบิดาของเราครั้งนี้ พระคริสตเจ้าทรงรวมเราไว้กับการต่อสู้กับการทนทุกข์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ด้วย มีการกล่าวอยู่ตลอดเวลาให้เรามีใจตื่นเฝ้าระวัง ร่วมกับการตื่นเฝ้าระวังของพระองค์[140] การตื่นเฝ้าเป็น “การคอยเฝ้าระวังจิตใจ” และพระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงเฝ้ารักษาพวกเราไว้ในพระนามของพระองค์[141] พระจิตเจ้าทรงพยายามปลุกเร้าเราไว้ตลอดเวลาให้คอยตื่นเฝ้าเช่นนี้[142] คำขอข้อนี้มีความหมายจริงจังเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับการผจญในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเราในโลกนี้ คำวอนขอข้อนี้วอนขอให้เรามีความยืนหยัดมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย “ดูเถิด เรามาเหมือนขโมย ผู้ที่ตื่นเฝ้า....ย่อมเป็นสุข” (วว 16:15)

 

[133] เทียบ มธ 26:41.            

[134] เทียบ ลก 8:13-15; กจ 14:22; 2 ทธ 3:12.     

[135] เทียบ รม 5:3-5.            

[136] เทียบ ยก 1:14-15.          

[137] Origenes, De oratione, 29, 15 et 17: GCS 3, 390-391 (PG 11, 541-544).         

[138] เทียบ มธ 4:1-11.            

[139] เทียบ มธ 26:36-44.        

[140] เทียบ มก 13:9,23,33-37; 14:38; ลก 12:35-40. 

[141] เทียบ ยน 17:11.             

[142] เทียบ 1 คร 16:13; คส 4:2; 1 ธส 5:6; 1 ปต 5:8.

VII.  “แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”

VII.  “แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ

 2850  คำวอนขอสุดท้ายต่อพระบิดาของเรายังพบด้วยในคำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้า “ข้าพเจ้าไม่ได้วอนขอพระองค์ให้ทรงยกเขาออกจากโลก แต่วอนขอให้ทรงรักษาเขาให้พ้นจากมารร้าย” (ยน17:15) คำวอนขอนี้เกี่ยวข้องกับเรา เกี่ยวข้องกับแต่ละคนโดยตรง แต่เป็น “พวกเรา” เสมอที่อธิษฐานวอนขอร่วมกับพระศาสนจักรทั้งหมด และเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติทั้งหมด บทข้าแต่พระบิดาจึงยังเปิดใจของเราให้กว้างเท่ากับขอบเขตของแผนการความรอดพ้น การที่เราแต่ละคนยังคงเกี่ยวข้องกับชะตากรรมเรื่องบาปและความตายร่วมกันนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปภายในพระวรกายของพระคริสตเจ้า ใน“ความสัมพันธ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรดา
ผู้ศักดิ์สิทธิ์”[143]

 2851  ในคำวอนขอข้อนี้ “ความชั่วร้าย” ไม่ใช่อาการนามคำหนึ่ง แต่หมายถึง “บุคคล” คือ “มารร้าย” ทูตสวรรค์ที่ต่อต้านพระเจ้า  “ปีศาจ” ตามรากศัพท์ (dia-bolos) หมายถึงผู้ “วางตัวขัดขวาง” แผนการของพระเจ้าและ “กิจการงานความรอดพ้น” ที่สำเร็จไปในพระคริสตเจ้า

 2852   ปีศาจนี้ “เป็นฆาตกรมาตั้งแต่แรกเริ่ม […] เป็นผู้พูดเท็จ […] และเป็นบิดาของการพูดเท็จ” (ยน 8:44) “ซาตานผู้ล่อลวงผู้อาศัยอยู่ทั่วแผ่นดินให้หลงไป” (วว 12:9) เป็นผู้ที่ทำให้บาปและความตายเข้ามาในโลก และเมื่อมันต้องพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดแล้ว สิ่งสร้างทั้งหลายจึงจะ “รอดพ้นจากความเสื่อมสลายของบาปและความตาย”[144] “เรารู้ว่าทุกคนที่เกิดจากพระเจ้าย่อมไม่ทำบาป เพราะพระผู้ทรงบังเกิดจากพระเจ้าทรงเฝ้ารักษาเขาไว้ และมารร้ายไม่อาจแตะต้องเขาได้ เรารู้ว่าเรามาจากพระเจ้า โลกทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจของมารร้าย” (1 ยน 5:18-19)

        “องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงลบล้างบาปของท่านและทรงอภัยความผิดของท่าน ทรงพระอานุภาพที่จะดูแลและปกปักรักษาท่านต่อสู้กับเล่ห์กลของปีศาจฝ่ายตรงข้าม เพื่อศัตรูที่คอยชักชวนท่านให้ทำผิดจะเอาชนะท่านไม่ได้ แต่ผู้ที่มอบตนไว้กับพระเจ้าย่อมไม่กลัวปีศาจ เพราะ ‘ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ข้างเรา ใครจะสู้เราได้’ (รม 8:31)”[145]

 2853  ชัยชนะเหนือ “เจ้านายแห่งโลกนี้”[146] ครั้งเดียวสำหรับตลอดไปนี้ได้มาในเวลานั้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงยินดีมอบพระองค์แก่ความตายเพื่อประทานชีวิตให้แก่เรา เวลานั้นถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว  และเจ้านายแห่งโลกนี้ “กำลังจะถูกขับไล่ออกไป”[147] มัน “ได้เบียดเบียนสตรี” (วว 12:13)[148] แต่ก็จับนางไม่ได้ นางคือนางเอวาคนใหม่ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ของพระจิตเจ้า ได้รับการปกป้องไว้ให้พ้นจากบาปและความเสื่อมสลายของความตาย (การปฏิสนธินิรมลและการได้รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ของพระมารดาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ) “มังกรโกรธสตรีและออกไปทำสงครามกับเผ่าพันธุ์ที่เหลือของนาง” (วว 12:17) เพราะเหตุนี้ พระจิตเจ้าจึงตรัสพร้อมกับพระศาสนจักรว่า “เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า” (วว 22:17,20) เพราะการเสด็จมาของพระองค์จะช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย (หรือ “จากมารร้าย”)

 2854  เมื่อวอนขอให้รอดพ้นจากความชั่วร้าย (หรือ “จากมารร้าย”) เราก็วอนขอให้รับการช่วยให้พ้นจากอันตรายทั้งหลาย ในปัจจุบัน อดีตและอนาคตที่มารร้ายเป็นผู้ก่อหรือบันดาลให้ก่อขึ้น ในคำวอนขอข้อสุดท้ายนี้ พระศาสนจักรนำความทุกข์ยากทั้งหลายของโลกมาไว้เฉพาะพระพักตร์พระบิดา พร้อมกับการช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายที่รบกวนมนุษยชาติ พระศาสนจักรจึงวอนขอของประทานที่มีค่า คือสันติภาพและการมีความยืนหยัดมั่นคงรอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า เมื่ออธิษฐานภาวนาเช่นนี้ พระศาสนจักรรวบรวมมนุษย์ทุกคนและทุกสิ่งล่วงหน้าในความเชื่อที่ถ่อมตนไว้ในพระองค์ผู้ทรงมีอำนาจเหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18) “พระองค์ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ผู้ทรงดำรงอยู่ในอดีตและผู้เสด็จมา พระผู้ทรงสรรพานุภาพ” (วว 1:8)[149]

            “โปรดเถิด พระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นภยันตรายทั้งสิ้น โปรดประทานสันติสุขทุกวันนี้ ทรงพระกรุณาให้พ้นบาปและปลอดภัยจากความวุ่นวายใดๆ ตลอดไป ขณะที่หวังจะได้รับความสุขและรอรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้กอบกู้ข้าพเจ้าทั้งหลาย”[150]

 

[143] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Reconciliatio et paenitentia, 16: AAS 77 (1985) 214-215.          

[144] Prex eucharistica IV, 123: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 471. 

[145] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 5, 30: CSEL 73, 71-72 (PL 16, 454).       

[146] เทียบ ยน 14:30.           

[147] เทีบบ ยน 12:31; วว 12:10.   

[148] เทียบ วว 12:13-16.          

[149] เทียบ วว 1:4.

[150] Ritus Communionis [Embolismus]: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 472.