บทที่สอง

ชุมชนมนุษย์

 1877   กระแสเรียกของมนุษย์คือการได้รับเรียกให้แสดงภาพลักษณ์ของพระเจ้าและรับการเปลี่ยนแปลงให้เหมือนภาพลักษณ์ของพระบุตรพระเจ้า กระแสเรียกนี้มีลักษณะเป็นส่วนตัว เนื่องจากว่าแต่ละคนได้รับเรียกให้เข้าไปรับความสุขกับพระเจ้า การเรียกนี้ยังเกี่ยวข้องกับชุมชนมนุษย์โดยส่วนรวมด้วย

ตอนที่หนึ่ง

บุคคลและสังคม

I. มนุษย์ได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นชุมชน

I. มนุษย์ได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นชุมชน

 1878   มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้มุ่งไปหาจุดหมายเดียวกัน คือมุ่งหาพระเจ้านั่นเอง มีความละม้ายคล้ายกันอย่างหนึ่งระหว่างเอกภาพของ(สาม)พระบุคคลของพระเจ้ากับความเป็นพี่น้องที่มนุษย์ต้องสร้างให้มีขึ้นระหว่างกันในความจริงและความรัก[1] ความรักต่อเพื่อนมนุษย์แยกไม่ได้จากความรักต่อพระเจ้า

 1879   บุคคลมนุษย์จำเป็นต้องมีชีวิตสังคม เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นอะไรพิเศษสำหรับมนุษย์ แต่เป็นข้อเรียกร้องของธรรมชาติมนุษย์ โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยการรับใช้และสนทนากับเพื่อนพี่น้อง มนุษย์ย่อมพัฒนาสมรรถภาพทุกอย่างของตน และดังนี้จึงตอบสนองกระแสเรียกของตน[2]

 1880  สังคม เป็นการที่บุคคลจำนวนหนึ่งมารวมกันอย่างมีระเบียบโดยมีหลักการเรื่องเอกภาพที่อยู่เหนือแต่ละบุคคล สังคมซึ่งเป็นสิ่งที่แลเห็นได้และเป็นจิตในเวลาเดียวกันย่อมดำรงอยู่ในกาลเวลา รับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและเตรียมอนาคต อาศัยสังคม มนุษย์แต่ละคนเป็น “ทายาท” เขารับมรดกเป็น “พรสวรรค์” (talent) ที่ทำให้ตนร่ำรวยและต้องทำให้พรสวรรค์นี้เจริญเติบโตผลิตผลเพิ่มขึ้น[3] ถูกต้องแล้วที่แต่ละคนต้องสละตนเองเพื่อชุมชนที่เขามีส่วนเป็นสมาชิกและมีหน้าที่ต้องเคารพผู้มีอำนาจปกครองเพื่อความดีของส่วนรวม

 1881   แต่ละชุมชนถูกจำกัดโดยจุดหมายของตนและดังนี้จึงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่ “บุคคลมนุษย์ย่อมเป็นและต้องเป็นจุดเริ่มต้น เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และเป็นจุดหมายของสถาบันทุกอย่างในสังคม”[4]

 1882  สังคมบางชนิด เช่นครอบครัวและรัฐ สอดคล้องโดยตรงกับธรรมชาติของมนุษย์ จึงมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ เพื่อจะส่งเสริมให้ผู้คนมากที่สุดเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตสังคม จึงต้องส่งเสริมการก่อตั้งสมาคมและสถาบันต่างๆ ที่มีการเลือกได้อย่างอิสระเสรี “เพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการหย่อนใจ การกีฬา การอาชีพต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับชาติใดชาติหนึ่งหรือกับนานาชาติ”[5]  การก่อตั้งสมาคม” เช่นนี้แสดงออกถึงแนวโน้มตามธรรมชาติที่ผลักดันมนุษย์ให้รวมตัวกันเพื่อบรรลุจุดหมายที่อยู่เหนือความสามารถของแต่ละคน การก่อตั้งสมาคมเช่นนี้ย่อมพัฒนาคุณภาพของบุคคล โดยเฉพาะการมีความคิดริเริ่มและความรับผิดชอบ และยังช่วยปกป้องสิทธิของเขาด้วย[6]

 1883  แต่การก่อตั้งสมาคมก็มีอันตรายด้วยเหมือนกัน การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงมากเกินไปอาจคุกคามอิสรภาพและความคิดริเริ่มส่วนตัวของแต่ละบุคคลได้ด้วย คำสอนของพระศาสนจักรมักขยายความเน้นหลักการที่เรียกว่า การกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่า “สังคมในระดับสูงกว่าต้องไม่เข้าไปจัดการเกี่ยวกับชีวิตภายในของสังคมในระดับต่ำกว่า ทำให้สังคมนี้พ้นจากบทบาทของตน แต่ตรงข้ามต้องเข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือในความจำเป็นให้สังคมนี้ทำงานร่วมกับสังคมส่วนอื่นๆ โดยมุ่งหาแต่ประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น”[7]

 1884  พระเจ้าไม่ทรงประสงค์จะสงวนการใช้อำนาจทั้งหมดไว้สำหรับพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงมอบให้สิ่งสร้างแต่ละอย่างที่มีความสามารถได้ทำหน้าที่ต่างๆ ตามที่ธรรมชาติของตนทำได้ เราจึงต้องเอาอย่างวิธีการปกครองเช่นนี้ในชีวิตสังคมด้วย วิธีการที่พระเจ้าทรงใช้ในการปกครองโลกนี้ที่แสดงให้เห็นว่าทรงคำนึงถึงเสรีภาพของมนุษย์ด้วยนี้ควรต้องเป็นพลังบันดาลใจผู้ที่ปกครองสังคมมนุษย์ด้วย  เขาเหล่านี้ต้องปฏิบัติตนเป็นผู้รับใช้พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า

1885   หลักการ “การกระจายอำนาจ” อยู่ตรงข้ามกับทุกรูปแบบของการรวมอำนาจ กำหนดขอบเขตของการที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง พยายามที่จะนำปัจเจกบุคคลกับสังคมให้เข้ามามีความสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน พยายามที่จะรื้อฟื้นระเบียบความกลมกลืนแท้จริงระหว่างชาติให้เกิดขึ้นอีก

 

[1]  Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 24: AAS 58 (1966) 1045.

[2] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 25: AAS 58 (1966) 1045.

[3] เทียบ ลก 19:13,15.

[4] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 25: AAS 58 (1966) 1045.

[5] Ioannes XXIII, Litt. enc. Mater et magistra, 60: AAS 53 (1961) 416.             

[6] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 25: AAS 58 (1966) 1045-1046; Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 16: AAS 83 (1991) 813.

[7]  Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 48: AAS 83 (1991) 854; cf Pius XI, Litt. enc. Quadragesimo anno: AAS 23 (1931) 184-186.

II. การกลับใจและสังคม

II. การกลับใจและสังคม

 1886 สังคมจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อทำให้กระแสเรียกของมนุษย์บรรลุจุดหมาย เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ จำเป็นต้องรักษาลำดับค่านิยมว่า “สิ่งที่เป็นวัตถุและตามสัญชาติญาณต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่ขึ้นอยู่กับจิตใจ”[8]

        “ดังนั้น ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ต้องนับว่าสังคมมนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตใจโดยเฉพาะ  มนุษย์ต้องใช้สังคมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันอาศัยแสงสว่างของความจริง เพื่อเรียกร้องสิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของตน รับการผลักดันให้มุ่งหาความดีด้านจิตวิญญาณ แบ่งปันความสุขระหว่างกันจากทุกสิ่งที่งดงาม พร้อมเสมอที่จะถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของตนให้แก่ผู้อื่น และคอยเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับผลสำเร็จด้านจิตใจเช่นเดียวกับตนด้วย ผลสำเร็จเหล่านี้มีอิทธิพลและนำประโยชน์ทุกอย่างมาให้ ไม่ว่าในด้านความรู้ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความสงบเรียบร้อย และโครงสร้างอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้สังคมได้ตั้งมั่นและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป”[9]

 1887 การสับเปลี่ยนระหว่างวิธีการกับจุดหมาย[10] ซึ่งอาจมีผลให้ทำให้คิดว่าสิ่งที่เป็นเพียงวิธีการมีค่าเป็นจุดหมายสุดท้าย หรือคิดว่าบุคคลเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อใช้นำไปสู่จุดหมายเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดโครงสร้างซึ่ง “ทำให้วิธีการดำเนินชีวิตแบบคริสตชนที่สอดคล้องกับการปฏิบัติตาม      กฎเกณฑ์ของพระเจ้าผู้ทรงวางกฎต่างๆ ไว้นั้นยากลำบากหรือแทบจะปฏิบัติตามไม่ได้”[11]

 1888 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสามารถด้านจิตใจและศีลธรรมของบุคคลมนุษย์ รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องกลับใจอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมารับใช้ทุกคนโดยแท้จริง การยอมรับว่าการกลับใจจำเป็นต้องมาก่อนเช่นนี้มิได้ทำลาย แต่ตรงกันข้าม กลับเป็นการบังคับให้มีการปรับปรุงแก้ไขสถาบันและสภาพความเป็นอยู่ที่เป็นโอกาสชักชวนให้ทำบาป เพื่อให้สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับกฎแห่งความยุติธรรม ไม่ขัดขวาง แต่ส่งเสริมความดี”[12]

 1889 ถ้าไม่มีพระหรรษทานคอยช่วยเหลือ มนุษย์คงไม่รู้ว่า “หนทางแคบนั้นหลายครั้งแตกต่างจากความขลาดที่ยอมแพ้ต่อความชั่ว และบางครั้งการใช้ความรุนแรงที่เราหลงคิดไปว่าอาจเอาชนะความชั่วได้นั้นกลับทำให้สถานการณ์เลวลงไปอีก”[13] นี่คือทางแห่งความรัก นั่นคือความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นกฎสำคัญที่สุดของสังคม ความรักเคารพผู้อื่นและสิทธิของเขา ความรักเรียกร้องให้ปฏิบัติความยุติธรรม และความรักเท่านั้นทำให้เราปฏิบัติความยุติธรรมได้ ความรักเป็นพลังบันดาลใจชีวิตให้รู้จักสละตนเอง “ผู้ใดที่พยายามรักษาชีวิตของตนไว้ ก็จะสูญเสียชีวิตนั้น และผู้ใดที่เสียชีวิตของตน ก็จะรักษาชีวิตนั้นไว้” (ลก 17:33)

 

[8] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 36: AAS 83 (1991) 838.

[9] Ioannes XXIII, Litt. enc. Pacem in terris, 36: AAS 55 (1963) 266.

[10] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 41: AAS 83 (1991) 844.      

[11] Pius XII, Nuntius radiophonicus (1 iunii 1941): AAS 33 (1941) 197.

[12] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 36: AAS 57 (1965) 42. 

[13] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 25: AAS 83 (1991) 823.         

สรุป

สรุป

1890    มีความละม้ายคล้ายกันอย่างหนึ่งระหว่างเอกภาพของ(สาม)พระบุคคลของพระเจ้ากับความเป็นพี่น้องที่มนุษย์ต้องสร้างให้มีขึ้นระหว่างกัน

1891    บุคคลมนุษย์จำเป็นต้องมีชีวิตสังคมเพื่อจะพัฒนาตนเองขึ้นตามธรรมชาติ สังคมบางอย่าง เช่นครอบครัวและรัฐ สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์โดยตรง

1892  “บุคคลมนุษย์ย่อมเป็นและต้องเป็นจุดเริ่มต้น เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และเป็นจุดหมายของสถาบันทุกอย่างในสังคม[14]

1893  ควรส่งเสริมให้มีการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในสมาคมและสถาบันที่เปิดรับให้เลือกเข้าเป็นสมาชิกได้อย่างอิสระ

1894  ตามหลักการ การกระจายอำนาจ รัฐหรือสังคมที่ใหญ่กว่าต้องไม่เข้าไปแทรกแซงทำการแทนการริเริ่มและความรับผิดชอบของบุคคลและองค์กรที่เล็กกว่า

1895  สังคมต้องส่งเสริม ไม่ใช่ไปขัดขวาง การปฏิบัติคุณธรรม สังคมต้องเป็นพลังบันดาลใจให้รู้จักจัดลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ

1896   ที่ใดที่บาปทำลายบรรยากาศทางสังคม จำเป็นต้องเข้าไปหาการกลับใจและพระหรรษทานของพระเจ้า ความรักเร่งรัดให้มีการปรับปรุง การแก้ไขปัญหาสังคมย่อมมีไม่ได้ถ้าไม่คำนึงถึงหลักการสอนของพระวรสาร[15]

 

[14] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 25: AAS 58 (1966) 1045. 

[15] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 5: AAS 83 (1991) 800.       

ตอนที่สอง

การมีส่วนร่วมในชีวิตสังคม

I. อำนาจปกครอง

I. อำนาจปกครอง

 1897 “สังคมของมนุษย์ไม่อาจมีระเบียบและพัฒนาขึ้นได้ถ้าไม่มีผู้ที่ได้รับอำนาจปกครองมาอย่างถูกต้องให้รับใช้องค์กรต่างๆ และสละตนเองเท่าที่จำเป็นเพื่อความดีของทุกคน”[16]

               “อำนาจปกครอง” เป็นคุณสมบัติที่ทำให้บุคคลหรือสถาบันต่างๆ กำหนดกฎเกณฑ์และคำสั่งให้ผู้อื่นปฏิบัติ และหวังว่าทุกคนจะเชื่อฟังปฏิบัติตาม

 1898    ทุกชุมชนของมนุษย์ต้องมีผู้มีอำนาจเพื่อปกครอง[17] อำนาจนี้มีพื้นฐานตั้งอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเอกภาพของรัฐ บทบาทของอำนาจนี้ก็คือเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเท่าที่จะทำได้

 1899   อำนาจปกครองที่ระเบียบศีลธรรมเรียกร้องนั้นมาจากพระเจ้า “ทุกคนจงนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจปกครอง เพราะไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า และอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ก็ล้วนได้รับจากพระเจ้า ดังนั้น ผู้ที่ต่อต้านอำนาจก็ต่อต้านพระบัญชาของพระเจ้า และผู้ที่ต่อต้านก็จะถูกตัดสินลงโทษ” (รม 13:1-2)[18]

 1900   ทุกคนมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังและให้เกียรติแก่ผู้ปกครอง และให้ความเคารพแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่เขาควรจะได้รับด้วยความกตัญญูและเต็มใจ

           ในข้อเขียนของนักบุญเคลเมนส์พระสันตะปาปาที่กรุงโรม เราพบบทภาวนาเก่าแก่ที่สุดบทหนึ่งสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง[19] “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานสุขภาพ สันติ ความสามัคคี ความมั่นคงแก่เขาเหล่านี้ เพื่อเขาจะได้ใช้อำนาจปกครองที่พระองค์ประทานให้โดยสะดวก ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า กษัตริย์แห่งสวรรค์ผู้ทรงปกครองศตวรรษทั้งหลาย พระองค์ประทานสิริรุ่งโรจน์ เกียรติและอำนาจเหนือทุกสิ่งที่อยู่ในโลกนี้แก่บรรดาบุตรแห่งมนุษย์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงแนะนำความคิดอ่านของเขาตามที่ทรงเห็นว่าดีและพอพระทัยเฉพาะพระพักตร์พระองค์ เพื่อว่าเมื่อใช้อำนาจที่พระองค์ประทานให้ในสันติและความอ่อนโยนอย่างเลื่อมใสศรัทธาแล้ว เขาจะได้รับพระกรุณาจากพระองค์”[20]

 1901  ขณะที่อำนาจปกครองเป็นระเบียบที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ ก็ยังจำเป็นที่ “การกำหนดระบอบการปกครองและแต่งตั้งผู้ปกครองต้องปล่อยไว้ให้ประชาชนกำหนดได้อย่างเสรี”[21]

                ความแตกต่างของระบอบการเมืองเป็นที่ยอมรับได้ทางศีลธรรม ขอแต่เพียงให้ระบอบเหล่านี้ร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ที่ถูกต้องของชุมชนที่รับระบอบนี้มาใช้ ระบอบการปกครองที่ขัดกับระเบียบสาธารณะและสิทธิพื้นฐานของบุคคลย่อมไม่สามารถบรรลุถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชนชาติต่างๆ ที่จำเป็นต้องรับระบอบการปกครองเช่นนี้

 1902        ผู้มีอำนาจปกครองไม่ได้มีความถูกต้องทางศีลธรรมมาจากตนเอง เขาต้องไม่ปฏิบัติในแบบ      ทรราชย์ แต่ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม “ในฐานะพลังทางศีลธรรมซึ่งตั้งอยู่บนอิสรภาพและมีสำนึกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ”[22]

               “กฎหมายของมนุษย์มีคุณสมบัติเป็นกฎหมายได้ตามส่วนที่ว่าถูกต้องตามเหตุผลมากน้อยเท่าใด ถ้าไม่ถูกต้องตามเหตุผล กฎหมายนี้ก็จะได้ชื่อว่าไม่ยุติธรรม และดังนี้จะไม่ใช่กฎหมาย แต่จะเป็นกฎความโหดร้ายทารุณเสียมากกว่า”[23]

 1903  อำนาจปกครองถูกใช้อย่างถูกต้องก็เมื่ออำนาจนี้พยายามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนที่เกี่ยวข้อง และใช้วิธีการที่ถูกต้องเพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นี้ ถ้าหากว่าผู้ปกครองออกกฎหมายไม่ยุติธรรมหรือให้คำแนะนำที่ขัดกับหลักศีลธรรม คำสั่งเช่นนี้ก็ไม่อาจมีผลบังคับมโนธรรมได้ “ในกรณีนี้อำนาจปกครองเองก็ล่มสลาย และผลเสียหายร้ายแรงย่อมตามมา”[24]

 1904   “เพราะฉะนั้น จึงเป็นการเหมาะสมที่อำนาจทุกอย่างจะมีการถ่วงดุลกันกับหน้าที่และความรับผิดชอบอื่นๆ ที่มุ่งหาจุดประสงค์เดียวกัน นี่เป็นหลักการเรื่อง “หลักนิติธรรม” ที่กฎหมายต้องมีอำนาจสูงสุด ไม่ใช่การทำตามอำเภอใจของมนุษย์”[25]

 

[16] Ioannes XXIII, Litt. enc. Pacem in terris, 46: AAS 55 (1963) 269.

[17] Cf Leo XIII, Litt. enc. Diuturnum illud: Leonis XIII Acta 2, 271; Id., Litt. enc. Immortale Dei: Leonis XIII Acta 5, 120.

[18] เทียบ 1 ปต 2:13-17.          

[19] เทียบ เหมือนกับที่มีเขียนไว้ใน 1 ทธ 2:1-2.        

[20] Sanctus Clemens Romanus, Epistula ad Corinthios, 61, 1-2: SC 167, 198-200 (Funk 1, 178-180).     

[21] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 74: AAS 58 (1966) 1096. 

[22] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 74: AAS 58 (1966) 1096. 

[23] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-II, q. 93, a. 3, ad 2: Ed. Leon. 7, 164.             

[24] Ioannes XXIII, Litt. enc. Pacem in terris, 51: AAS 55 (1963) 271.

[25] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 44: AAS 83 (1991) 848.         

II. ผลประโยชน์ส่วนรวม

II. ผลประโยชน์ส่วนรวม

 1905   เนื่องจากมนุษย์มีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ผลประโยชน์ของแต่ละคนจึงสัมพันธ์กับผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งไม่อาจนิยามได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลมนุษย์

          “ท่านทั้งหลายอย่าดำเนินชีวิตแยกตนออกมาตามลำพังโดยตนเองประหนึ่งว่าได้รับความชอบธรรมแล้ว แต่จงพยายามรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแสวงหาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สำหรับทุกคน”[26]

 1906    ต้องเข้าใจว่าผลประโยชน์ส่วนรวมหมายถึง “สภาพการณ์ทั้งหมดของชีวิตสังคมที่เอื้ออำนวยให้ทั้งชุมชนและสมาชิกแต่ละคนบรรลุถึงความสมบูรณ์ของตนได้เต็มที่และโดยสะดวกยิ่งขึ้น”[27] ผลประโยชน์ส่วนรวมเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ในด้านหนึ่งเรียกร้องความรอบคอบของแต่ละคน และยิ่งกว่านั้นยังเรียกร้องความรอบคอบจากผู้ที่มีหน้าที่ใช้อำนาจปกครองด้วย ผลประโยชน์ส่วนรวมมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ

 1907   ก่อนอื่นหมด ผลประโยชน์ส่วนรวมยอมรับศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลโดยเท่าเทียมกัน เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ผู้มีอำนาจปกครองสังคมจำเป็นต้องเคารพสิทธิพื้นฐานของบุคคลมนุษย์แต่ละคนซึ่งจะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ สังคมต้องอนุญาตให้สมาชิกแต่ละคนทำให้ความคาดหวังของตนเป็นจริงขึ้นได้ ในแต่ละกรณี ผลประโยชน์ส่วนรวมตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่แต่ละคนจะใช้เสรีภาพโดยธรรมชาติของตนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาความสามารถเฉพาะตน เช่นสิทธิ “ที่จะปฏิบัติตามกฎถูกต้องของมโนธรรมของตน เพื่อปกป้องชีวิตส่วนตัวและเพื่อเสรีภาพที่ถูกต้องในการนับถือศาสนาด้วย”[28]

 1908   ประการที่สอง ผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้องให้ชุมชนมีความเจริญและการพัฒนาด้านสังคม การพัฒนาเป็นการรวมหน้าที่ทุกอย่างทางสังคมไว้ด้วยกัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจปกครองที่จะตัดสินว่าผลประโยชน์ปลีกย่อยใบ้างเป็นประโยชน์สำหรับส่วนรวม แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้แต่ละคนเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นเพื่อเขาจะดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์ได้ด้วย ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพ การมีงานอาชีพ การศึกษาและศิลปวัฒนธรรม การรับทราบข้อมูลข่าวอย่างเหมาะสม สิทธิที่จะจัดตั้งครอบครัว[29] ฯลฯ

 1909   ในที่สุด ผลประโยชน์ส่วนรวมยังรวมถึง สันติภาพ ด้วย นั่นคือเสถียรภาพและความมั่นใจในระเบียบความเป็นอยู่ ดังนั้น จึงสมมุติว่าผู้มีอำนาจปกครองต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องเพื่อประกันความปลอดภัยให้แก่สังคมและบรรดาสมาชิก สถานการณ์เช่นนี้เป็นรากฐานของสิทธิเพื่อแต่ละบุคคลและชุมชนจะปกป้องตนเองได้โดยชอบธรรม

 1910   ถ้าแต่ละชุมชนมนุษย์มีผลประโยชน์ส่วนรวมที่ยอมให้รับการรับรู้เป็นชุมชนได้ ผลประโยชน์เช่นนี้ย่อมพบได้อย่างสมบูรณ์ในชุมชนทางการเมือง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของสังคมพลเมือง ผลประโยชน์ของประชาชนและองค์กรต่างๆ ในสังคม

 1911   มนุษย์ยิ่งทียิ่งต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น การพึ่งพาอาศัยกันนี้ค่อยๆ แผ่ขยายไปทั่วโลก เอกภาพของมวลมนุษย์ซึ่งรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน รวบรวมสมาชิกที่มีศักดิ์ศรีเดียวกันตามธรรมชาติ จึงหมายถึงผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของมวลมนุษย์ด้วย สภาพการณ์เช่นนี้จึงเรียกร้องให้มีองค์กรในระดับนานาชาติที่สามารถ “ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นต่างๆ ของมนุษย์ตามส่วนของตน […] ในชีวิตความเป็นอยู่ด้านสังคม เกี่ยวกับอาหาร สุขภาพ การศึกษา […] ที่อาจเกิดขึ้นแก่บางคนในสถานการณ์พิเศษ เช่นความจำเป็น […] ที่จะต้องช่วยเหลือความทุกข์ยากของผู้อพยพลี้ภัยในที่ต่างๆ ทั่วโลก หรือช่วยเหลือผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและครอบครัวของเขา”[30]

 1912   ผลประโยชน์ส่วนรวมต้องจัดไว้เพื่อความก้าวหน้าของบุคคลเสมอ “การจัดระเบียบสิ่งของต้องมีไว้เพื่อระเบียบของบุคคลเสมอ ไม่ใช่กลับกัน”[31] ระเบียบดังกล่าวมีรากฐานอยู่บนความจริง สร้างอยู่บนความยุติธรรม และรับพลังบันดาลใจจากความรัก

 

[26] Epistula Pseudo Barnabae, 4. 10: SC 172, 100-102 (Funk 1, 48). 

[27] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 26: AAS 58 (1966) 1046; cf Ibid., 74: AAS 58 (1966) 1096.

[28] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 26: AAS 58 (1966) 1046. 

[29] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 26: AAS 58 (1966) 1046.

[30] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 84: AAS 58 (1966) 1107. 

[31] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 26: AAS 58 (1966) 1047. 

III. ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมงาน

III. ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมงาน

1913    การมีส่วนร่วมงานคือการที่บุคคลหนึ่งเต็มใจและผูกมัดตนเองปฏิบัติกิจการด้านสังคมด้วยใจกว้าง จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีส่วนส่งเสริมผลประโยชน์ส่วนรวมโดยที่แต่ละคนปฏิบัติบทบาทและหน้าที่ของตน นี่เป็นหน้าที่ซึ่งควบคู่อยู่กับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์แต่ละคน

 1914   ก่อนอื่นใดหมด การมีส่วนร่วมงานเกิดขึ้นโดยการรับภาระหน้าที่ในส่วนที่เรียกร้องให้มีความรับผิดชอบส่วนตัว มนุษย์เรามีส่วนในผลประโยชน์ของผู้อื่นและของสังคมโดยความเอาใจใส่ให้การศึกษาอบรมแก่ครอบครัวของตน โดยทำงานของตนด้วยความสำนึกในหน้าที่[32]

 1915   พลเมืองต้องมีส่วนแข็งขันในชีวิตความเป็นอยู่ส่วนรวมเท่าที่จะทำได้ วิธีการ การมีส่วนร่วมเช่นนี้อาจมีความแตกต่างกันไปได้ในแต่ละชาติและแต่ละอารยธรรม “น่าชมเชยวิธีการปฏิบัติของหลายชาติที่เปิดโอกาสอย่างกว้างขวางที่สุดให้พลเมืองมีอิสระแท้จริงที่จะมีส่วนในงานสาธารณะ”[33]

 1916   การที่ทุกคนมีส่วนร่วมในงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เช่นเดียวกับทุกหน้าที่ด้านศีลธรรม เรียกร้องให้ผู้ร่วมงานด้านสังคมต้องกลับใจอยู่ตลอดเวลา การหลอกลวงหรือใช้เล่ห์เหลี่ยมอื่นๆเพื่อหลบเลี่ยงข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบในการปฏิบัตหน้าที่ต้องได้รับการตัดสินลงโทษอย่างจริงจัง เพราะไม่อาจประนีประนอมได้กับข้อเรียกร้องของความยุติธรรม จำเป็นต้องเอาใจใส่ทำให้สถาบันต่างๆ ที่จะช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์ดีขึ้นได้ก้าวหน้าอยู่เสมอ[34]

 1917   เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจปกครองที่จะต้องย้ำถึงคุณค่าต่างๆ ที่เชิญชวนสมาชิกในชุมชนให้มีความวางใจและปลุกเร้าสมาชิกทุกคนให้สละตนรับใช้เพื่อนสมาชิกคนอื่น การมีส่วนร่วมงานเริ่มจากการให้การศึกษาอบรม “เราอาจเชื่อมั่นได้ว่าอนาคตของมนุษยชาติอยู่ในมือของผู้ที่สามารถจัดให้อนุชนในภายหน้ามีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่และมีความหวัง”[35]

 

[32] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 43: AAS 83 (1991) 847.      

[33] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 31: AAS 58 (1966) 1050. 

[34] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 30: AAS 58 (1966) 1049.

[35] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 31: AAS 58 (1966) 1050. 

สรุป

สรุป

1918    ไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า และอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ก็ล้วนได้รับจากพระเจ้า” (รม 13:1)

1919    ทุกชุมชนของมนุษย์ต้องมีผู้อำนาจปกครองเพื่อคงอยู่และเติบโตขึ้นได้

1920    เห็นได้ชัดว่า […] พรรคการเมืองและอำนาจปกครองชุมชนตั้งอยู่บนธรรมชาติของมนุษย์ และดังนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว[36]

1921    อำนาจปกครองถูกใช้อย่างถูกต้องถ้าใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องเพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นี้ด้วย

1922    ความหลากหลายของระบอบการเมืองเป็นเรื่องถูกต้อง ขอเพียงแต่ว่าระบอบเหล่านี้ต้องมุ่งหาผลประโยชน์ของชุมชน

1923    อำนาจปกครองทางการเมืองต้องจำกัดอยู่ภายในขอบเขตของระเบียบด้านศีลธรรมและต้องปกป้องดูแลเงื่อนไขการใช้เสรีภาพ

1924    ผลประโยชน์ส่วนรวมครอบคลุมเงื่อนไขทั้งหมดของชีวิตสังคมที่อนุญาตให้ทั้งกลุ่มชนและสมาชิกแต่ละคนบรรลุถึงความสมบูรณ์ของตนได้อย่างเต็มที่และโดยสะดวกยิ่งขึ้น[37]

1925    ผลประโยชน์ส่วนรวมมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ ได้แก่ (1) การเคารพและส่งเสริมสนับสนุนสิทธิพื้นฐานของบุคคล (2) การเพิ่มความเจริญพัฒนาหรือผลประโยชน์ทั้งด้านจิตใจและวัตถุของสังคม และ (3) สันติภาพและความปลอดภัยของชุมชนและสมาชิก

1926    ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์เรียกร้องให้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย แต่ละคนต้องเอาใจใส่เสริมสร้างและปกป้องสถาบันต่างๆ ที่ช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์ดียิ่งๆ ขึ้น

1927    รัฐมีหน้าที่จะต้องปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมบ้านเมือง ผลประโยชน์ร่วมกันของครอบครัวมนุษยชาติเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรของสังคมในระดับนานาชาติด้วย

 

[36] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 74: AAS 58 (1966) 1096. 

[37] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 26: AAS 58 (1966) 1046. 

ตอนที่สาม

ความยุติธรรมด้านสังคม

 1928   สังคมแสดงให้เห็นความยุติธรรมด้านสังคมเมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่อนุญาตให้แต่ละสมาคมและปัจเจกบุคคลได้รับสิ่งที่จำเป็นต้องมีตามธรรมชาติและกระแสเรียกของตน ความยุติธรรมด้านสังคมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมและกับการใช้อำนาจปกครองทางปฏิบัติ

I. การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์

I. การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์

 1929 ความยุติธรรมด้านสังคมพบได้เพียงในการให้ความสำคัญแก่ศักดิ์ศรีที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใดหมดของมนุษย์เท่านั้น บุคคลเป็นจุดหมายสุดท้ายของสังคมที่ถูกจัดไว้สำหรับมนุษย์

           “พระผู้เนรมิตสร้างทรงมอบหมายการปกป้องและส่งเสริมศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ไว้ให้เรา และ […] เมื่อได้รับหน้าที่นี้แล้ว ไม่ว่าในเวลาใดของประวัติศาสตร์ มนุษย์ทั้งชายและหญิงก็ล้วนเป็นเสมือนลูกหนี้ที่ต้องรับผิดชอบโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”[38]

 1930   การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์หมายถึงการเคารพสิทธิอันสืบเนื่องมาจากศักดิ์ศรีของเขาในฐานะสิ่งสร้าง สิทธิเหล่านี้มาก่อนสังคมและสังคมต้องให้ความเคารพ  สิทธิเหล่านี้เป็นรากฐานความถูกต้องด้านศีลธรรมของอำนาจปกครองทั้งหลาย สังคมที่ไม่เคารพสิทธิเหล่านี้หรือไม่ยอมรับรู้ในการตรากฎหมายใช้บังคับย่อมทำให้ความถูกต้องด้านศีลธรรมของตนล้มเหลว[39] ถ้าไม่เคารพหลักการนี้ อำนาจปกครองก็อาจพึ่งพิงได้แต่เพียงการใช้กำลังและความรุนแรงเพื่อให้ผู้อยู่ใต้ปกครองเชื่อฟัง เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่จะเรียกร้องให้มนุษย์ผู้มีน้ำใจดีระลึกถึงสิทธิเหล่านี้ และแยกแยะสิทธิเหล่านี้ให้ชัดเจนจากการใช้สิทธิอย่างไม่ถูกต้องและอ้างถึงสิทธิที่ไม่มีอยู่จริงๆ

 1931   การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์หมายถึงการยึดหลักการนี้คือ “แต่ละคนต้องถือว่าเพื่อนพี่น้องเป็น ‘ตนเองอีกคนหนึ่ง’ โดยไม่มีข้อยกเว้น คิดถึงชีวิตของเขาและให้เขามีสิ่งที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เสมอ”[40] คงไม่มีประมวลกฎหมายใดๆ ที่อาจขจัดความกลัว อคติ นิสัยหยิ่งจองหองและเห็นแก่ตัวอย่างมืดบอดที่ขัดกับการจัดตั้งสังคมที่มีความเป็นพี่น้องกันจริงๆ ออกไปให้หมดได้ ความประพฤติเช่นนี้จะหยุดได้อาศัยความรักที่พบ “เพื่อนพี่น้อง” ของตนในมนุษย์แต่ละคน

 1932   หน้าที่ทำตนเป็นเพื่อนพี่น้องของผู้อื่นและรับใช้เขาอย่างจริงจังเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งขึ้น ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นไม่ว่าเพราะเหตุผลใด “ทุกครั้งที่ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

 1933   หน้าที่เดียวกันนี้ยังขยายออกไปถึงผู้ที่คิดหรือทำแตกต่างไปจากเราด้วย คำสอนของพระคริสตเจ้ายังเรียกร้องให้เราให้อภัยแก่ผู้ทำผิดต่อเราด้วย คำสอนนี้ขยายบัญญัติแห่งความรักซึ่งเป็นบัญญัติเฉพาะของกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมถึงบรรดาศัตรูด้วย[41] การช่วยให้รอดพ้นตามเจตนารมณ์ของพระวรสารเข้ากันไม่ได้กับความเกลียดชังศัตรูในฐานะที่เขาเป็นบุคคลหนึ่ง ถึงกระนั้นนี่ก็ไม่ได้หมายถึงความเกลียดชังความชั่วที่เขาทำว่าเป็นศัตรู

 

[38] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 47: AAS 80 (1988) 581.     

[39] Cf Ioannes XXIII, Litt. enc. Pacem in terris, 61: AAS 55 (1963) 274.           

[40] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 27: AAS 58 (1966) 1047. 

[41] เทียบ มธ 5:43-44.           

II. ความเสมอภาคและความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์

II. ความเสมอภาคและความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์

 1934   มนุษย์ทุกคนที่ถูกเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า มีวิญญาณที่รู้จักคิดตามเหตุผล มีธรรมชาติและมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน ทุกคนได้รับการไถ่กู้โดยการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า ทุกคนได้รับเรียกให้มามีส่วนในความสุขเดียวกัน มนุษย์ทุกคนจึงมีศักดิ์ศรีเดียวกัน

 1935   ความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ในสาระสำคัญตั้งอยู่บนศักดิ์ศรีและสิทธิส่วนบุคคลที่สืบเนื่องมาจากศักดิ์ศรีนี้

           “การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในเรื่องสิทธิพื้นฐานของบุคคล ไม่ว่าในด้านสังคมหรือวัฒนธรรม เพศ เชื้อชาติ สภาพสังคม ภาษาหรือศาสนา จะต้องถูกเอาชนะและขจัดออกไป ในฐานะที่ขัดกับแผนการของพระเจ้า”[42]

 1936   มนุษย์ทุกคน เมื่อเข้ามาในโลกนี้ ไม่มีทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อความก้าวหน้าของชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เขาต้องการมนุษย์คนอื่นด้วย ความแตกต่างหลากหลายปรากฏชัดที่เกี่ยวข้องกับอายุ ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติทางปัญญาและความประพฤติ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่เขาอาจมีกับผู้อื่น หรือเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันทรัพย์สมบัติความร่ำรวย[43] พระเจ้ามิได้ทรงแบ่ง “เงินตะลันต์” ให้ทุกคนเท่าๆ กัน[44]

 1937   ความแตกต่างเช่นนี้เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงประสงค์ให้แต่ละคนได้รับสิ่งที่เขาต้องการจากผู้อื่น และให้ผู้ที่มี “พรสวรรค์” ของตนแล้วได้รู้จักแบ่งปันพรเหล่านั้นแก่ผู้ที่มีความต้องการด้วย ความแตกต่างมักจะชักชวนและหลายครั้งถึงกับบังคับหลายคนให้มีใจกว้างรู้จักแบ่งปันกับผู้อื่น เป็นการส่งเสริมทำให้อารยธรรมต่างๆ ร่ำรวยขึ้นอีกด้วย

           “ทำไมเราจึงให้คุณธรรมต่างๆ กันแก่มนุษย์ ไม่ให้คุณธรรมทุกอย่างแก่คนเดียว แต่ให้คุณธรรมนี้แก่คนนั้น คุณธรรมนั้นแก่คนนี้ […] เราจะให้ความรักเป็นพิเศษแก่บางคน  ให้ความยุติธรรมแก่คนนี้ ให้ความสุภาพถ่อมตนแก่คนโน้น ให้ความเชื่อมีชีวิตชีวาแก่คนนั้น […] และดังนี้ พระพร พระหรรษทาน คุณธรรมและของประทานมากมายทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายกาย […] เราแจกจ่ายของประทานยิ่งใหญ่แตกต่างกันมากมายทั้งหมดนี้ไม่เท่ากันแก่ทุกคน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้มีโอกาสเพราะความจำเป็นที่จะฝึกหัดความรักต่อกัน […] เราต้องการให้คนหนึ่งต้องการอีกคนหนึ่ง และต้องการให้เขาเป็นผู้รับใช้เพื่อจัดการแจกจ่ายพระหรรษทานและของประทานต่างๆ ที่เขาได้รับมาจากเรา”[45]

 1938  แต่ก็ยังมี ความไม่เท่าเทียมกันที่ผิด อีกด้วยที่ทำร้ายต่อชายหญิงนับล้านคน ความไม่เท่าเทียมเช่นนี้ขัดแย้งกับพระวรสารอย่างเปิดเผย

          “ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันของบุคคลเรียกร้องให้เราสร้างเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ที่ยุติธรรมและสมศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันมากเกินไปด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสมาชิกหรือประชากรของครอบครัวมนุษยชาติชวนให้รู้สึกสะดุดใจ และขัดกับความยุติธรรมด้านสังคม ความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ ยังรวมไปถึงสันติภาพในสังคมและระหว่างชาติด้วย”[46]

 

[42] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 29: AAS 58 (1966) 1048-1049.            

[43] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 29: AAS 58 (1966) 1048.

[44] เทียบ มธ 25:14-30; ลก 19:11-27.             

[45] Sancta Catharina Senensis, Il dialogo della Divina provvidenza, 7: ed. G. Cavallini (Roma 1995) p. 23-24.            

[46] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 29: AAS 58 (1966) 1049. 

III.  ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษย์

III.  ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษย์

 1939 หลักการ “ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน” ซึ่งยังอาจเรียกได้อีกว่า “มิตรภาพ” หรือ “ความรักด้านสังคม” เป็นการเรียกร้องโดยตรงให้มนุษยชาติและคริสตชนรวมตัวกันเหมือนพี่น้อง[47]

            ความผิด “ประการแรกที่มีอยู่ในปัจจุบันและแพร่ขยายนำความเสียหายอย่างกว้างขวางนั้นอยู่ที่การลืมไปว่ามนุษย์จำเป็นต้องร่วมอยู่ด้วยกันและมีความรักต่อกัน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของการที่มนุษย์มีต้นกำเนิดร่วมกันและมีธรรมชาติรู้จักคิดตามเหตุผลเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติใด นอกจากนั้นการถวายบูชาไถ่กู้ที่พระคริสตเจ้าทรงถวายบนไม้กางเขนให้มวลมนุษย์กลับคืนดีกับพระบิดานิรันดรนั้นก็ยังสั่งไว้เช่นเดียวกันด้วย”[48]

 1940  ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษย์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในการแบ่งปันทรัพยากรและการตอบแทนผลงาน และยังรวมไปถึงความพยายามที่จะเจรจาแก้ไขความตึงเครียดในสังคมให้ดีขึ้นเพื่อจะได้พบทางออกร่วมกันได้ง่ายขึ้น

 1941  ปัญหาต่างๆ ด้านสังคมและเศรษฐกิจจะแก้ไขไม่ได้เลยนอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในรูปแบบต่างๆ การที่คนยากจนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว การที่คนรวยและคนยากจนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว การรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน ของผู้ประกอบธุรกิจและพนักงาน ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของชนชาติต่างๆ ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของนานาชาติเป็นข้อเรียกร้องในด้านศีลธรรม สันติภาพของโลกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเรื่องนี้

 1942  คุณธรรมเรื่องการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันขยายกว้างกว่าขอบเขตของผลประโยชน์ด้านวัตถุ เมื่อพระศาสนจักรแจกจ่ายความเชื่อเป็นพระพรฝ่ายจิต ก็ยังช่วยเปิดแนวทางใหม่ให้มีการพัฒนาผลประโยชน์ด้านวัตถุควบคู่ไปด้วย ดังนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายศตวรรษ พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงกลายเป็นความจริงที่ว่า “จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรม
ของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:33)

          “ตั้งแต่สองพันปีมาแล้ว ความรู้สึกรับผิดชอบส่วนรวมของทุกคนและสำหรับทุกคนมีชีวิตชีวาและยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของพระศาสนจักร จนเป็นแรงผลักดันให้เกิดความรักและปลุกจิตขั้นวีรกรรม นั่นคือ บรรดานักพรตที่เป็นกสิกร เป็นผู้ปลดปล่อยทาส บำบัดรักษาผู้เจ็บป่วย นำความเชื่อ อารยธรรมและวิชาความรู้มาให้ชนหลายชาติในทุกสมัย เพื่อเสริมสร้างสภาพสังคมที่สามารถทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายสมกับความเป็นมนุษย์และคริสตชน”[49]

 

[47] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 38-40: AAS 80 (1988) 564-569; Id., Litt. enc. Centesimus annus, 10: AAS 83 (1991) 805-806.  

[48] Pius XII, Litt. enc. Summi Pontificatus: AAS 31 (1939) 426.    

[49] Pius XII, Nuntius radiophonicus (1 iunii 1941): AAS 33 (1941) 204.

สรุป

สรุป

1943    สังคมแสดงให้เห็นความยุติธรรมด้านสังคมเมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่อนุญาตให้แต่ละสมาคมและปัจเจกบุคคลได้รับสิ่งที่จำเป็นต้องมีตามธรรมชาติและกระแสเรียกของตน

1944    การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์คิดว่าผู้อื่นเป็นเสมือนตนเองอีกคนหนึ่ง”  การนี้หมายถึงการเคารพสิทธิพื้นฐานอันสืบเนื่องมาจากศักดิ์ศรีภายใน ในฐานะที่เขาเป็นบุคคลหนึ่ง

1945    ความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ตั้งอยู่บนศักดิ์ศรีและสิทธิส่วนบุคคลที่สืบเนื่องมาจากศักดิ์ศรีนี้

1946    ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงประสงค์ให้เราแต่ละคนต้องการผู้อื่น ความแตกต่างเหล่านี้ต้องปลุกให้เกิดความรัก

1947    ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันของบุคคลมนุษย์เรียกร้องความพยายามลดความไม่เท่าเทียมกันด้านสังคมและเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุด ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันนี้เร่งรัดให้ขจัดความไม่เสมอภาคที่อยุติธรรมนี้ให้หมดสิ้นไป

1948    ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นคุณธรรมคริสตชนอย่างเด่นชัด คุณธรรมนี้แสดงออกถึงการร่วมแบ่งปันพระพรด้านจิตใจมากกว่าพระพรด้านวัตถุ