ตอนที่ห้า

พระบัญญัติประการที่ห้า

 

                     “อย่าฆ่า(คน)” (อพย 20:13)

                     “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:21-22)

 2258  ต้องถือว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ‘ชีวิตมนุษย์เรียกร้องการกระทำของพระผู้เนรมิตสร้าง’ และยังคงมีความสัมพันธ์พิเศษอยู่เสมอกับพระผู้เนรมิตสร้างผู้ทรงเป็นจุดหมายเพียงหนึ่งเดียวของตน พระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นเจ้านายของชีวิตตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวาระสุดท้าย ไม่มีผู้ใดไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น อาจอ้างสิทธิที่จะนำความตายมาให้แก่มนุษย์ผู้ไม่มีผิดที่ทรงสร้างไว้ได้โดยตรง”[33]

 

[33] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, Introductio, 5: AAS 80 (1988) 76-77.          

I. ความเคารพนับถือชีวิตมนุษย์

I. ความเคารพนับถือชีวิตมนุษย์

พยานยืนยันของประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์

 2259  พระคัมภีร์ ในเรื่องที่เล่าถึงการที่อาแบลถูกกาอินพี่ชายฆ่า[34] เปิดเผยว่าตั้งแต่แรกเริ่มของประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้วในตัวมนุษย์มีความโกรธและความอิจฉาซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิด  มนุษย์กลายเป็นศัตรูของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พระเจ้าทรงประกาศความชั่วร้ายของการฆ่าน้องชายครั้งนี้ “ท่านทำอะไรลงไป เลือดของน้องชายท่านจากพื้นดินร้องดังมาถึงเรา บัดนี้ท่านจะต้องถูกสาปแช่งให้ออกไปจากแผ่นดินที่อ้าปากรับโลหิตของน้องชายที่ท่านฆ่า” (ปฐก 4:10-11)

 2260   พันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติมีการกล่าวย้ำหลายครั้งถึงชีวิตมนุษย์ซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้าและเรื่องความรุนแรงที่พร่าชีวิตมนุษย์แทรกอยู่ด้วย

                 “เราจะทวงเลือดซึ่งเป็นชีวิตของท่าน […] ผู้ใดหลั่งเลือดของเพื่อนมนุษย์ เลือดของเขาจะต้องถูกหลั่งโดยมนุษย์เช่นเดียวกัน เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์” (ปฐก 9:5-6)

                      พันธสัญญาเดิมถือเสมอว่าเลือดเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต[35] คำสอนประการนี้ยังคงจำเป็นสำหรับทุกสมัย

 2261  พระคัมภีร์กำหนดข้อห้ามของพระบัญญัติประการที่ห้าว่า “อย่าประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์หรือผู้ชอบธรรม” (อพย 23:7) การจงใจฆ่าผู้บริสุทธิ์ขัดอย่างหนักกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างไว้ ขัดกับกฎสำคัญและขัดกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้สร้าง กฎที่สั่งห้ามการนี้มีผลบังคับใช้ทั่วไป ทั้งกับมนุษย์ทุกๆ คนและแต่ละคน มีผลบังคับเสมอและทั่วไป

 2262  องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงพระบัญญัติประการนี้ในบทเทศน์บนภูเขา “อย่าฆ่าคน” (มธ 5:21) และยังทรงเพิ่มการห้ามไม่ให้โกรธ เกลียดชัง และแก้แค้นอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น พระคริสตเจ้ายังทรงขอร้องให้ศิษย์ของพระองค์หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ด้วย[36]  ให้รักศัตรู[37] พระองค์ไม่ทรงป้องกันพระองค์เองและยังตรัสให้เปโตรเอาดาบใส่ฝักเสียด้วย[38]


การป้องกันตัวที่ถูกกฎหมาย

 2263  การป้องกันบุคคลหรือสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่ข้อยกเว้นข้อห้ามไม่ให้จงใจฆ่าผู้บริสุทธิ์ “การกระทำของคนหนึ่งที่ป้องกันตนเองอาจมีผลได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือการปกป้องชีวิตของตน ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือการฆ่าผู้บุกรุก”[39] “ไม่มีอะไรป้องกันไม่ให้การกระทำหนึ่งมีผลสองอย่าง ผลอย่างหนึ่งเป็นผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นโดยที่ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิด”[40]

 2264    ความรักต่อตนเองยังคงเป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรม ดังนั้นจึงเป็นการชอบธรรมที่จะรักษาสิทธิปกป้องชีวิตของตน ผู้ที่ปกป้องชีวิตของตนจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนแม้ว่าเขาจำเป็นต้องทำกิจการที่ทำลายชีวิตของผู้จู่โจม

                    “ถ้าผู้ใดใช้ความรุนแรงมากกว่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตของตน ก็เป็นการไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาขับไล่ความรุนแรงแต่พอประมาณ ก็จะเป็นการป้องกันตัวอย่างถูกต้อง […] เพื่อความรอดพ้น(ของวิญญาณ)ไม่จำเป็นที่คนหนึ่งจะต้องละเว้นการป้องกันตนเองเพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ต้องฆ่าคนอื่น เพราะคนเราต้องปกป้องดูแลชีวิตของตนเองมากกว่าชีวิตของผู้อื่น”[41]

 2265  การป้องกันตนเองอาจไม่เป็นเพียงสิทธิ แต่ยังเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของผู้อื่นด้วย การป้องกันผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้องให้ผู้จู่โจมอย่างอยุติธรรมถูกกันไว้ไม่ให้ทำร้ายผู้อื่นได้ ด้วยเหตุผลนี้ ผู้มีอำนาจปกครองอย่างถูกต้องจึงมีสิทธิที่จะใช้อาวุธเพื่อขับไล่ผู้จู่โจมชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วย

 2266  รัฐต้องพยายามตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของวิธีการกระทำของผู้ที่ทำลายสิทธิของผู้อื่นและกฎพื้นฐานของความสัมพันธ์สาธารณะ ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมีสิทธิและหน้าที่จะลงโทษตามอัตราส่วนความหนักเบาของความผิด การลงโทษมีเจตนาแรกเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากความผิด เมื่อผู้ทำผิดยินดีรับโทษด้วยเต็มใจ การลงโทษย่อมมีค่าเป็นการชดเชย ดังนั้น การลงโทษ นอกจากจากจะเป็นการปกป้องและป้องกันความปลอดภัยของสังคมและบุคคลแล้ว ยังมีเจตนาที่เป็นโอสถบำบัดรักษา ต้องช่วยนำการแก้ไขมาให้ผู้กระทำผิดเท่าที่จะทำได้ด้วย


โทษประหารชีวิต

 2267   เป็นเวลานานมาแล้วที่ผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรมจะยอมรับว่า หลังจากการพิจารณาคดีตามหลักความยุติธรรมแล้ว การลงโทษโดยการประหารชีวิตเป็นการตอบสนองอย่างเหมาะสมแล้วกับความผิดหนัก (ทางอาญา) บางประการ เป็นมาตรการเพื่อปกป้องความดีส่วนรวมของสังคม

                      กระนั้นก็ดี ในปัจจุบันนี้ (สังคม)มีความสำนึกมากยิ่งขึ้นถึงศักดิ์ศรีของบุคคลว่าศักดิ์ศรีนี้มิได้สูญหายไปแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะได้ประกอบอาชญากรรมอย่างหนักแล้วก็ตาม ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเข้าใจเกิดขึ้นใหม่ถึงความหมายของการที่ฝ่ายรัฐผู้มีอำนาจปกครองจำต้องกำหนดโทษประหารชีวิตเช่นนี้ ในที่สุด ยังได้มีการพัฒนาระบบการจองจำที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะประกันความปลอดภัยของประชาชนได้ และในเวลาเดียวกัน ยังไม่ปิดโอกาสให้ผู้ทำผิดไปแล้วให้สามารถปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตนได้

                      เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรจึงสอนตามเจตนารมณ์ของพระวรสารว่า “โทษประหารชีวิตเป็นที่ยอมรับไม่ได้เพราะเป็นการขัดแย้งกับศักดิ์ศรีที่มิอาจล่วงละเมิดได้ของบุคคล”[42]  และพระศาสนจักรก็พยายามสุดความสามารถที่จะขจัดโทษประหารชีวิตนี้ให้หมดไปจากโลกนี้


ฆาตกรรมโดยจงใจ

 2268  พระบัญญัติประการที่ห้าห้ามการจงใจฆ่าคนโดยตรงว่าเป็นบาปหนัก ฆาตกรและคนอื่นที่จงใจร่วมมือกับการฆ่าย่อมทำบาปที่เรียกร้องการแก้แค้นไปถึงสวรรค์[43]

                   การฆ่าทารก[44] การฆ่าพี่น้อง บิดามารดาและคู่สมรสเป็นความผิดหนักอย่างพิเศษ เนื่องมาจากความสัมพันธ์ตามธรรมชาติที่ความผิดเหล่านี้ทำลายลง ความพยายามเพื่อสุพันธุ์ศาสตร์ (= ศาสตร์ที่ศึกษาการทำพันธุกรรมของมนุษย์ให้ดีขึ้น) หรือเพื่อดูแลสุขภาพสาธารณะไม่อาจยกเว้นความผิดให้การฆ่าคนได้ แม้ว่าทางบ้านเมืองสั่งให้ทำการนี้

 2269 พระบัญญัติประการที่ห้าห้ามไม่ให้ทำอะไรโดยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตายของบุคคลแม้ไม่โดยตรง กฎศีลธรรมห้ามมิให้ผู้ใดเสี่ยงชีวิตโดยไม่มีเหตุผลสำคัญจริงๆ รวมทั้งการไม่ยอมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในอันตรายด้วย

                 การที่ในสังคมมนุษย์ยังยอมให้มีความอดอยากที่ทำให้หลายคนต้องเสียชีวิต โดยไม่พยายามที่แก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว นับว่าเป็นความอยุติธรรมที่น่ารังเกียจและเป็นความผิดหนัก บรรดานักธุรกิจที่ให้เงินกู้และค้าขายทำให้บรรดาพี่น้องเพื่อนมนุษย์ต้องอดอยากถึงตายก็ทำฆาตกรรมทางอ้อม เขาต้องรับผิดในเรื่องนี้[45]

         การฆ่าคนโดยไม่เจตนาไม่เป็นความผิดทางศีลธรรม แต่ถ้าผู้ใดทำให้เกิดความตายโดยไม่มีเหตุผลสมควร แม้จะโดยไม่ตั้งใจ ก็ไม่อาจพ้นจากความผิดหนักได้


การทำแท้ง

 2270   ชีวิตมนุษย์ นับตั้งแต่เวลาที่ปฏิสนธิ ต้องได้รับความเคารพและปกป้องอย่างเด็ดขาด นับตั้งแต่ช่วงเวลาแรกที่มีความเป็นอยู่ บุคคลมนุษย์ต้องได้รับการรับรองว่ามีสิทธิในฐานะบุคคล และสิทธิประการแรกที่ล่วงละเมิดไม่ได้เลยของสิ่งสร้างที่มีชีวิตทุกอย่างก็คือสิทธิที่จะมีชีวิต[46]

                “ก่อนที่เราปั้นท่านในครรภ์มารดา เราก็รู้จักท่านแล้ว ก่อนที่ท่านจะเกิด เราก็แยกท่านไว้เป็นของเราแล้ว” (ยรม 1:5)

                    “โครงร่างของข้าพเจ้าไม่เป็นสิ่งลึกลับสำหรับพระองค์ เมื่อข้าพเจ้าถูกปั้นอย่างเงียบๆและถูกถักทอขึ้นในส่วนลึกของแผ่นดิน” (สดด 139:15)

2271    ตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งแล้ว พระศาสนจักรประกาศยืนยันความผิดทางศีลธรรมของการทำแท้งทุกอย่าง คำสอนข้อนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ยังคงเป็นข้อห้ามที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ การทำแท้งโดยตรง นั่นคือ ในฐานะที่เป็นจุดประสงค์หรือเป็นวิธีการที่ต้องการใช้ ก็เป็นการขัดต่อกฎศีลธรรมอย่างหนัก

                “ท่านจะต้องไม่ฆ่าทารกในครรภ์โดยการทำแท้ง และไม่ฆ่าทารกที่เกิดมาแล้วด้วย”[47]

                     “พระเจ้า […] ผู้ทรงเป็นเจ้านายแห่งชีวิต ทรงมอบพันธกิจสูงส่งที่จะพิทักษ์รักษาชีวิตไว้กับมนุษย์ซึ่งจะต้องปฏิบัติพันธกิจนี้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ตั้งแต่ปฏิสนธิแล้ว ชีวิตจึงต้องได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง การทำแท้งและฆ่าทารกจึงเป็นความผิดที่น่ารังเกียจ”[48]

 2272   การร่วมมือทำแท้งโดยตรงเป็นความผิดหนัก พระศาสนจักรกำหนดโทษถูกตัดขาดเป็นทางการจากพระศาสนจักรสำหรับความผิดต่อชีวิตมนุษย์ประการนี้ด้วย “ผู้ที่ทำแท้งมีผลสำเร็จย่อมมีโทษที่กำหนดไว้แล้ว ถูกตัดขาดจากพระศาสนจักร”[49] “โดยอัตโนมัติเมื่อทำความผิด”[50] ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย[51] ด้วยวิธีการนี้ พระศาสนจักรมิได้ตั้งใจจำกัดเจตนาที่จะแสดงความเมตตากรุณา พระศาสนจักรแจ้งให้รู้ความหนักของความผิดที่ทำลงไป ว่าเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ต่อผู้ไม่มีความผิดที่ต้องตาย ต่อบิดามารดาของทารกและต่อสังคมทั้งหมด

 2273   สิทธิของผู้บริสุทธิ์แต่ละคนที่จะมีชีวิต  ซึ่งไม่อาจล่วงละเมิดได้นี้เป็นองค์ประกอบของสังคมที่พัฒนาแล้วและของข้อกำหนดกฎหมาย

                  “สิทธิที่ล่วงละเมิดมิได้ของบุคคลต้องได้รับการรับรองและเคารพนับถือจากสังคมที่พัฒนาแล้วและจากผู้มีอำนาจปกครองทางบ้านเมือง สิทธิเหล่านี้ไม่ขึ้นกับแต่ละคน กับบิดามารดา และไม่ใช่การอนุญาตที่ได้รับจากสังคมหรือบ้านเมือง แต่เป็นสิทธิที่มาจากธรรมชาติมนุษย์และยึดติดอยู่กับบุคคลสืบเนื่องมาจากกิจการเนรมิตสร้าง(จากพระเจ้า)ที่บุคคลนั้นถือกำเนิดมา ในบรรดาสิทธิพื้นฐานที่ต้องกล่าวถึงเหล่านี้ เราต้องเน้นสิทธิที่จะมีชีวิตและความสมบูรณ์ของร่างกายที่มนุษย์แต่ละคนมีมาตั้งแต่ขณะเวลาของการปฏิสนธิจนถึงความตาย”[52]

                      “ถ้ากฎหมายบ้านเมืองไม่ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มชนตามที่กฎหมายต้องจัดให้ การนี้เองย่อมแสดงว่าบ้านเมืองปฏิเสธความเท่าเทียมกันของพลเมืองทุกคนต่อหน้ากฎหมาย ในเมื่อรัฐไม่ใช้อำนาจของตนเพื่อปกป้องสิทธิของแต่ละคน โดยเฉพาะสิทธิของผู้อ่อนแอ รากฐานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องย่อมคลอนแคลน […] จากการเคารพและปกป้องสิทธิของทารกที่จะเกิดมานับตั้งแต่ขณะเวลาของการปฏิสนธิ จึงมีผลตามมาว่ากฎหมายต้องกำหนดโทษที่เหมาะสมไว้ต่อการจงใจใดๆ ไม่ว่าที่จะฝ่าฝืนสิทธิของทารกนั้น”[53]

2274   ตัวอ่อนในครรภ์ต้องได้รับการดูแลในฐานะที่เป็นบุคคลตั้งแต่ขณะเวลาที่ปฏิสนธิ ต้องได้รับการปกป้อง เอาใจใส่ และดูแลรักษาในความสมบูรณ์ของตนเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ทั่วไป

                   การตรวจสุขภาพของตัวอ่อนก่อนเกิดเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดศีลธรรม ถ้า “มีการดูแลชีวิตและความสมบูรณ์ของตัวอ่อนและทารกในครรภ์และมีเจตนาที่จะดูแลและบำบัดรักษาตัวอ่อนแต่ละตัว […] แต่เป็นการผิดกฎศีลธรรมอย่างหนักถ้าทำไปเพื่อคิดจะทำแท้งได้ การตรวจต้องไม่เท่ากับเป็นการตัดสินประหารชีวิต”[54]

2275    “การเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวอ่อนในครรภ์เป็นสิ่งที่ทำได้โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรักษาชีวิตและความสมบูรณ์ของตัวอ่อนไว้ อย่าก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงกว่า แต่มุ่งสำหรับการบำบัดรักษาโรค เพื่อให้สุขภาพมีสภาพดีขึ้น และเพื่อให้ชีวิตที่รอดอยู่ของตัวอ่อนแต่ละตัวปลอดภัย”[55]

                 “เป็นการผิดศีลธรรมที่จะให้ตัวอ่อนของมนุษย์ถือกำเนิดมาเพื่อหาประโยชน์ นั่นคือเพื่อทำให้เป็น ‘วัตถุทางชีววิทยา’ สำหรับการใช้ทดลอง”[56]

                “มีความพยายามบางอย่างจะเข้าไปแทรกแซงในแวดวงของโครโมโซมและพันธุกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษา แต่มุ่งให้เกิดชีวิตมนุษย์ได้ตามเพศหรือคุณสมบัติที่กำหนดไว้  วิธีจัดการเช่นนี้ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ และยังขัดกับความสมบูรณ์และเอกลักษณ์ของเขา”[57] ที่มีหนึ่งเดียวไม่อาจทำซ้ำอีกได้


การุณยฆาต

 2276   ผู้ที่มีชีวิตไม่สมบูรณ์หรือเจ็บป่วยเรียกร้องให้มีการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ผู้ที่เจ็บป่วยหรือพิการควรต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อจะดำรงอยู่ได้ตามปกติเท่าที่จะทำได้

 2277    การุณยฆาตโดยตรง  ไม่ว่าจะมีพลังบันดาลใจหรือใช้วิธีการใด ก็คือการทำให้ชีวิตของบุคคลที่พิการ เจ็บป่วย หรือใกล้จะตายเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งจบสิ้นลง การนี้ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ทางศีลธรรม

                        ดังนั้น การกระทำหรือการละเว้นไม่ทำ ซึ่งโดยตนเองหรือโดยตั้งใจ ก่อให้เกิดความตายเพื่อขจัดความเจ็บปวด เป็นการฆ่าที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์และขัดกับความเคารพนับถือต่อพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระผู้เนรมิตสร้างของเขา การตัดสินผิดที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้อาจตกลงไปได้นั้นไม่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของการทำฆาตกรรมที่ต้องถูกประณามและหลีกเลี่ยง[58]

 2278   การยุติกระบวนการรักษาทางแพทย์ที่เป็นภาระหนัก อันตราย การรักษาพิเศษที่ไม่ใช่การบำบัดรักษาตามธรรมดาหรือไม่คุ้มกับผลที่ได้รับ อาจเป็นการถูกต้องทำได้  นี่เป็นการไม่ยอมรับ “การบำบัดรักษาที่โหดร้าย” โดยวิธีนี้ เราไม่ตั้งใจที่จะนำความตายมาให้ เราเพียงแต่ยอมรับว่าไม่อาจขัดขวางความตายไว้ได้อีกเท่านั้น
ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าเขายังทำได้และควรทำ มิฉะนั้นผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายต้องเป็นผู้ตัดสินใจโดยให้ความเคารพต่อเจตนาสมเหตุสมผลและผลประโยชน์ของผู้ป่วยด้วย

 2279    แม้จะเห็นว่าความตายใกล้เข้ามาแล้ว ก็ยังต้องเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยต่อไปตามปกติ จะเลิกเอาใจใส่ดูแลไม่ได้ การใช้ยาระงับความเจ็บปวดเพื่อทุเลาความทรมานของผู้ใกล้จะตาย แม้จะมีผลร้ายทำให้ชีวิตของเขาสั้นลง อาจทำได้โดยไม่ขัดศีลธรรมต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ แต่ต้องรู้ล่วงหน้าแล้วเท่านั้นว่าเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้   การดูแลเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเป็นรูปแบบแสดงความรักที่ไม่หวังผลประโยชน์อย่างดีที่สุด เพราะเหตุนี้จึงควรได้รับการส่งเสริม


อัตวินิบาตกรรม
(การฆ่าตัวตาย)

 2280  แต่ละคนต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าผู้ประทานชีวิตนี้ให้เขา พระองค์ยังคงทรงเป็นเจ้านายสูงสุดของชีวิต  เราจึงจำเป็นต้องรับชีวิตนี้ไว้ด้วยความกตัญญูรู้คุณ และรักษาชีวิตนี้ไว้เพื่อพระเกียรติของพระองค์และเพื่อความรอดพ้นของวิญญาณ เราเป็นเพียงผู้ดูแลชีวิตที่พระเจ้าทรงฝากเราไว้ ไม่ใช่เจ้านายของชีวิตนั้น เราจึงจัดการกับชีวิตนั้นตามใจไม่ได้

 2281   การฆ่าตัวตายขัดแย้งกับความโน้มเอียงตามธรรมชาติของบุคคลมนุษย์ที่จะรักษาชีวิตของตนไว้ให้คงอยู่ตลอดไป  การฆ่าตัวตายยังผิดต่อความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย เพราะทำลายอย่าง        อยุติธรรมความสัมพันธ์ของความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับสังคมครอบครัว ประเทศชาติและมวลมนุษย์ที่เรายังจำเป็นต้องมีพันธะด้วย การฆ่าตัวตายขัดกับความรักต่อพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์

 2282  การฆ่าตัวตาย ถ้าทำลงไปโดยตั้งใจให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะแก่เยาวชน ยังเป็นความผิดหนักในฐานะเป็นเหตุชักนำให้ผู้อื่นทำบาปด้วย  การจงใจร่วมมือในการฆ่าตัวตายเป็นความผิดต่อกฎศีลธรรมด้วย

                    ความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรง ความกังวลในหรือความกลัวอย่างมากต่อความเจ็บปวดหรือความทรมานอาจลดความรับผิดชอบของผู้ที่ฆ่าตัวตายได้

 2283  แต่เราก็ต้องไม่หมดหวังเรื่องความรอดพ้นนิรันดรของผู้ที่ฆ่าตัวตาย พระเจ้าทรงสามารถที่จะใช้วิธีการที่พระองค์เท่านั้นทรงทราบ ประทานโอกาสให้เขาเป็นทุกข์กลับใจเพื่อรับความรอดพ้นได้   พระศาสนจักรยังอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ที่ทำลายชีวิตของตนด้วย

 

[34] เทียบ ปฐก 4:8-12.          

[35] เทียบ ลนต 17:14.            

[36] เทียบ มธ 5:22-26, 38-39.    

[37] เทียบ มธ 5:44.              

[38] เทียบ มธ 26:52.            

[39] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 64, a. 7, c: Ed. Leon. 9, 74. 

[40] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 64, a. 7, c: Ed. Leon. 9, 74. 

[41] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 64, a. 7, c: Ed. Leon. 9, 74. 

[42] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Evangelium vitae, 56: AAS 87 (1995) 464          

[43] เทียบ ปฐก 4:10.            

[44] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 51: AAS 58 (1966) 1072.

[45] เทียบ อมส 8:4-10.          

[46] Cf Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 1, 1: AAS 80 (1988) 79.   

[47] Didache 2, 2: SC 248, 148 (Funk 1, 8); cf Epistula Pseudo Barnabae 19, 5: SC 172, 202 (Funk 1, 90); Epistula ad Diognetum 5, 6: SC 33, 62 (Funk 1, 398); Tertullianus, Apologeticum, 9, 8: CCL 1, 103 (PL 1, 371-372).   

[48] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 51: AAS 58 (1966) 1072. 

[49] CIC canon 1398.            

[50] CIC canon 1314.            

[51] Cf CIC canones 1323-1324.  

[52] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 3: AAS 80 (1988) 98-99.     

[53] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 3: AAS 80 (1988) 99.        

[54] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 1, 2: AAS 80 (1988) 79-80.   

[55] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 1, 3: AAS 80 (1988) 80-81.   

[56] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 1, 5: AAS 80 (1988) 83.     

[57] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 1, 6: AAS 80 (1988) 85.      

[58] Cf Sacra Congregatio pro Doctrina Fidei, Decl. Iura et bona: AAS 72 (1980) 542-552.             

II. การเคารพศักดิ์ศรีของบุคคล

II. การเคารพศักดิ์ศรีของบุคคล

การให้ความเคารพนับถือวิญญาณของผู้อื่นการชักนำให้ผู้อื่นทำบาป

 2284  การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก

 2285  การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปมีความหนักเป็นพิเศษ ถ้าผู้เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นทำบาปนั้นมีอำนาจปกครอง หรือผู้รับการชักนำนั้นไม่อาจทัดทานได้ การกระทำเช่นนี้ชวนให้องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสาปแช่งว่า “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้ […]ทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ใหญ่ถ่วงลงใต้ทะเลก็ยังดีกว่าสำหรับเขา” (มธ 18:6)[59] การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นความผิดหนักถ้าเป็นการกระทำของผู้ที่โดยธรรมชาติหรือโดยหน้าที่ต้องเป็นผู้สอนหรือให้การอบรมผู้อื่น   พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ทรงเปรียบเทียบว่าพวกนี้เป็นเหมือนสุนัขป่าที่ปลอมตัวเป็นลูกแกะ[60]

 2286  การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปอาจเกิดจากกฎหมายหรือสถาบัน จากธรรมเนียมปฏิบัติหรือความเห็นก็ได้

                 ดังนี้ผู้ที่ตรากฎหมายหรือกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่นำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา หรือนำไปสู่ “สภาพสังคมที่ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ ทำให้วิธีดำเนินชีวิตแบบคริสตชน
ตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าผู้ประทานพระบัญญัติยากลำบากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้”[61] หลักการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับผู้นำทางธุรกิจที่เปิดโอกาสส่งเสริมการทุจริต กับครูผู้สอนที่ทำให้เด็ก “ท้อแท้หมดกำลังใจ”[62] หรือกับผู้ที่ใช้ความชาญฉลาดเปลี่ยนแปลงความเห็นของสาธารณะให้หันเหออกไปจากคุณค่าทางศีลธรรม

2287   ผู้ที่ใช้อำนาจที่ตนมีโดยเงื่อนไขที่ชักนำให้ผู้อื่นทำผิด ก็มีความผิดฐานชักนำให้ผู้อื่นทำบาป และต้องรับผิดชอบในผลร้ายที่เขาช่วยทำให้เกิดขึ้นทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม “เหตุที่ชักนำให้ทำบาปจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เป็นเหตุให้บาปเกิดขึ้น” (ลก 17:1)


การดูแลสุขภาพ

 2288  ชีวิตและสุขภาพทางร่างกายเป็นของประทานทรงค่ายิ่งที่พระเจ้าทรงฝากไว้กับเรา เราจึงต้องเอาใจใส่ดูแลของประทานเหล่านี้ตามเหตุผล โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้อื่นและผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย

                 การดูแลสุขภาพของประชาชนเรียกร้องความช่วยเหลือของสังคมเพื่อช่วยให้มีเงื่อนไขจำเป็นที่ช่วยให้ทุกคนเติบโตและบรรลุถึงวุฒิภาวะ ได้แก่อาหารและเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
การดูแลสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน งานอาชีพและสังคมสงเคราะห์

 2289      แม้คำสอนทางศีลธรรมเรียกร้องให้เคารพนับถือชีวิตทางร่างกาย แต่ก็ไม่ให้คุณค่าเบ็ดเสร็จแก่การนี้ คำสอนนี้ก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดไม่เชื่อถึงพระเจ้าแบบใหม่ที่มุ่งส่งเสริมเพียงความเคารพนับถือร่างกาย ยอมสละทุกสิ่งเพื่อการนี้ ที่เป็นเสมือนการเคารพบูชาความสมบูรณ์ทางร่างกายและชัยชนะในการกีฬา แนวคิดเช่นนี้  เพราะมีการคัดเลือกผู้แข็งแรงมากกว่าผู้อ่อนแอ อาจนำไปสู่การบิดเบือนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้

 2290      คุณธรรมความพอดีช่วยจัดให้เราหลีกเลี่ยงการเลยเถิดทุกรูปแบบ เช่นความฟุ่มเฟือยในการกินอาหาร การเสพสุราเมามาย การสูบบุหรี่และการใช้ยารักษาโรค ผู้ที่เพราะความเมาหรือชอบความเร็วเกินกำหนด เป็นอันตรายบนท้องถนน ในทะเล หรือบนอากาศ ต่อความปลอดภัยของผู้อื่นหรือเป็นอันตรายต่อตนเองย่อมมีความผิดหนัก

2291       การใช้ยาเสพติดนำความเสียหายหนักที่สุดมาสู่สุขภาพและชีวิตของมนุษย์ การใช้ยาเสพติด ถ้าไม่ใช่เพื่อการรักษาพยาบาลจริงๆ เป็นความผิดหนัก การลักลอบผลิตและค้ายาเสพติดเป็นกิจกรรมที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นทำบาป เป็นการร่วมมือทำบาปโดยตรง เพราะเป็นการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่ผิดต่อกฎศีลธรรมอย่างหนัก


การให้เกียรติต่อบุคคลและการค้นคว้าทางวิชาการ

 2292       การทดลองทางวิชาการ ทางการแพทย์หรือจิตวิทยากับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมนุษย์อาจมีส่วนช่วยเหลือการบำบัดรักษาและการพัฒนาสุขภาพของสังคมส่วนรวม

 2293      การค้นคว้าขั้นพื้นฐานทางวิชาการและแม้กระทั่งการค้นคว้าวิจัยแบบประยุกต์เป็นการแสดงออกอย่างสำคัญถึงการที่มนุษย์มีอำนาจควบคุมสิ่งสร้างได้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับเป็นตัวช่วยที่มีค่าอย่างมากเมื่อถูกนำมาใช้เพื่อรับใช้มนุษย์และส่งเสริมความก้าวหน้าในทุกด้านเพื่อประโยชน์ของทุกคน ถึงกระนั้น การค้นคว้าเหล่านี้ในตัวเองเท่านั้นไม่อาจให้ความหมายของความเป็นอยู่และความก้าวหน้าของมวลมนุษย์ได้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีไว้สำหรับมนุษย์ที่ทำให้มันเกิดมาและพัฒนาขึ้น ดังนั้น การค้นคว้าและงานวิจัยเหล่านี้จะดีและถูกต้องหรือไม่ก็แล้วแต่ว่ามันมีประโยชน์ต่อมนุษย์หรือขัดต่อกฎศีลธรรมหรือไม่

 2294     เป็นความเข้าใจผิดที่จะคิดว่าการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และการนำมาใช้ไม่มีความผิดหรือความถูกต้องทางศีลธรรม  ในอีกด้านหนึ่ง หลักการเพื่อชี้นำแนวทางการค้นคว้าไม่อาจได้มาจากผลประโยชน์หรือความเสียหายที่อาจเป็นผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น และที่เลวกว่านั้น มาจากอุดมการณ์ซึ่งเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน วิชาการและเทคโนโลยีในความหมายแท้จริงภายในของตนต้องให้ความเคารพนับถือต่อมาตรการพื้นฐานทางศีลธรรม สิ่งเหล่านี้ต้องมีอยู่เพื่อรับใช้บุคคลมนุษย์ รับใช้สิทธิของเขาที่ไม่อาจให้แก่ผู้อื่นได้ รับใช้ผลประโยชน์แท้จริงและสมบูรณ์ของเขาตามแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า

 2295  การค้นคว้าหรือการทดลองกับมนุษย์ไม่อาจเป็นการถูกต้องได้ถ้าการทำเช่นนั้นในตัวเองขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลและกฎศีลธรรม การยอมรับเห็นด้วยของผู้เกี่ยวข้อง ถ้าอาจมี ก็ไม่ทำให้กิจการเช่นนี้ถูกต้องไปได้ การทดลองในตัวมนุษย์ไม่ถูกต้องทางศีลธรรมถ้าทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือเกิดความไม่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่เกินจำเป็นและอาจหลีกเลี่ยงได้ต่อผู้เกี่ยวข้อง การทดลองในตัวมนุษย์ย่อมเข้ากันไม่ได้กับศักดิ์ศรีของบุคคลถ้าหากว่าทำไปโดยไม่ได้รับความเห็นชอบโดยรู้ตัวของผู้นั้นหรือของผู้ที่มีสิทธิแทนเขา

2296    การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการถูกต้องทางศีลธรรม ถ้าอันตรายและความเสี่ยงด้านร่างกายและจิตใจที่ผู้ให้อาจต้องรับมีอัตราส่วนกับผลดีที่ผู้ขอรับบริจาคได้รับ การมอบอวัยวะหลังจากตายแล้วเป็นการกระทำที่สูงส่งน่าสรรเสริญและน่าส่งเสริม เป็นการแสดงถึงความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยใจกว้าง แต่การนี้เป็นที่ยอมรับไม่ได้ด้านศีลธรรม ถ้าผู้ให้หรือญาติผู้มีสิทธิอนุญาตไม่เห็นด้วย นอกจากนั้น ทางศีลธรรมยังไม่อาจยอมรับการผ่าตัดอวัยวะที่เป็นเหตุให้ทุพพลภาพ หรืออาจทำให้เกิดความตายโดยตรงได้ แม้ว่าการทำเช่นนี้จะมีขึ้นเพื่อยืดเยื้อความตายของผู้อื่นได้ก็ตาม


การให้ความเคารพนับถือต่อความครบบริบูรณ์ของร่างกาย

 2297   การลักพาตัวและจับตัวประกันก่อให้เกิดความกลัวทั่วไป และอาศัยการข่มขู่ทำให้ผู้ถูกกระทำต้องรับความกดดันเหลือจะทนได้ การกระทำเหล่านี้เป็นที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม การก่อการร้าย (terrorism)เป็นการข่มขู่ ทำร้ายและเข่นฆ่าโดยไม่มีการแยกแยะ การทำเช่นนี้ขัดอย่างหนักกับความยุติธรรมและความรัก  การทรมาน ที่ใช้ความรุนแรงทั้งด้านร่างกายหรือจิตใจเพื่อบังคับให้รับสารภาพ เพื่อลงโทษผู้ผิด เพื่อข่มขู่คู่อริ เพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีความกลัว เพื่อตอบสนองความเกลียดชัง ขัดกับความเคารพต่อบุคคลและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ศัลยกรรมตัดแขนขา ตัดอวัยวะ หรือการทำหมัน ถ้าไม่ได้ทำตามคำสั่งของแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น  ก็เป็นการขัดต่อกฎด้านศีลธรรมเพราะเป็นการจงใจทำร้ายต่อผู้บริสุทธิ์โดยตรง[63]

 2298  ในสมัยก่อน ผู้มีอำนาจปกครองตามกฎหมายมักใช้วิธีการโหดร้ายเพื่อรักษากฎหมายและระเบียบในสังคม และบ่อยๆ บรรดาผู้อภิบาลของพระศาสนจักรก็ไม่ได้คัดค้าน และเขาเองก็รับเอาข้อกำหนดเรื่องการทรมานตามกฎหมายโรมันมาใช้ในการพิจารณาคดีของตนด้วย นอกเหนือจากการกระทำที่น่าเศร้านี้ พระศาสนจักรยังสอนเสมอถึงหน้าที่ให้มีความเมตตากรุณา และได้ห้ามบรรพชิตไม่ให้หลั่งโลหิต ในสมัยปัจจุบันนี้ เป็นที่แจ้งชัดแล้วว่าการทรมานโหดร้ายเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อระเบียบสาธารณะ และยังไม่สอดคล้องกับสิทธิของบุคคลมนุษย์อีกต่อไป  ตรงกันข้าม การใช้การทรมานเช่นนี้ยังนำไปสู่ความเลวร้ายอย่างที่สุด จึงต้องพยายามกำจัดการกระทำเช่นนี้ให้หมดไป เราจึงต้องอธิษฐานภาวนาทั้งสำหรับผู้รับเคราะห์และเพชฌฆาตที่ทำร้ายเขาด้วย


การให้ความเคารพนับถือต่อผู้ตาย

 2299  เราต้องให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อผู้ใกล้จะตายเพื่อช่วยเขาให้ดำเนินชีวิตในระยะสุดท้ายอย่างสมเกียรติและในสันติ เขาจะได้รับความช่วยเหลือจากคำอธิษฐานภาวนาของบรรดาญาติพี่น้อง เขาเหล่านี้จะต้องจัดการให้ผู้ป่วยได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อเตรียมผู้ใกล้จะตายให้ไปเฝ้าพระเจ้าผู้ทรงชีวิต

 2300  เราต้องจัดการกับศพของผู้ตายด้วยความเคารพและความรักโดยมีความเชื่อและความหวังในการกลับคืนชีพ การฝังศพผู้ตายเป็นงานแสดงความเมตตากรุณาด้านร่างกาย[64] การกระทำเช่นนี้เป็นการให้เกียรติแก่บรรดาบุตรของพระเจ้าและวิหารของพระจิตเจ้า

 2301     การผ่าตัดพิสูจน์ศพ (autopsy) อาจทำได้ไม่ผิดศีลธรรมเพื่อการสอบสวนทางกฎหมายและค้นคว้าทางวิชาการ การมอบอวัยวะหลังจากตายแล้วโดยไม่คิดราคาเป็นการถูกต้องและอาจเป็นกิจกุศลด้วย 
                    พระศาสนจักรอนุญาตการเผาศพถ้าการนี้ไม่เป็นการแสดงความสงสัยต่อ(หรือปฏิเสธ)ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย[65]

 

[59] เทียบ 1 คร 8:10-13.         

[60] เทียบ มธ 7:15.              

[61] Pius XII, Nuntius radiophonicus (1 iunii 1941): AAS 33 (1941) 197.

[62] เทียบ อฟ 6:4; คส 3:21.      

[63] Cf Pius XI, Litt. enc. Casti connubii: DS 3722-3723.            

[64] เทียบ ทบต 1:16-18.          

[65] Cf CIC canon 1176, § 3.     

III. การปกป้องสันติภาพ

III. การปกป้องสันติภาพ

สันติภาพ

 2302  องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เมื่อทรงเตือนถึงพระบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” (มธ 5:21) ยังทรงขอร้องให้มีสันติภายในใจและทรงประณามความไม่ถูกต้องของความเกลียดชังด้วย

                     ความโกรธ คือความปรารถนาจะแก้แค้น “การเรียกร้องให้มีการแก้แค้นเพราะความผิดของคนที่ควรถูกลงโทษเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง” แต่เป็นสิ่งน่าชมที่จะกำหนดการชดเชย “เพื่อแก้ไขนิสัยเลวๆ และเพื่อรักษาความยุติธรรม”[66] ถ้าความโกรธก้าวไกลไปจนถึงต้องการฆ่าเพื่อนพี่น้องโดยจงใจหรือทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส ก็เป็นการผิดหนักต่อความรัก เป็นบาปหนัก องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวว่า “ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:22)

 2303  ความเกลียดชัง โดยจงใจเป็นความผิดต่อความรัก การเกลียดชังเพื่อนพี่น้องเป็นบาป เมื่อใครคนหนึ่งจงใจต้องการให้เขารับอันตราย การเกลียดชังเพื่อนพี่น้องเป็นบาปหนักเมื่อใครคนหนึ่งจงใจปรารถนาให้เขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก “เรากล่าวแก่ท่านว่าจงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์....” (มธ 5:44-45)

 2304  การให้ความเคารพต่อชีวิตมนุษย์และพัฒนาการของชีวิตเรียกร้องให้มีสันติภาพ สันติภาพไม่เป็นเพียงการไม่มีสงคราม และไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงที่การคานอำนาจที่ขัดแย้งกันเท่านั้น
จะมีสันติภาพอยู่ในโลกไม่ได้ถ้าไม่มีการปกป้องดูแลผลประโยชน์ของบุคคล การติดต่อสื่อสารกันอย่างอิสระระหว่างมนุษย์ การให้ความเคารพนับถือศักดิ์ศรีของบุคคลและของประชากร
ความเอาใจใส่พยายามทำให้เกิดภราดรภาพ สันติภาพคือ “ความมีระเบียบโดยสงบ”[67] สันติภาพคือ “ผลงานของความยุติธรรม” (อสย 32:17) และเป็นผลจากความรัก[68]

 2305  สันติภาพในโลกนี้เป็นภาพและผลของสันติภาพของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็น “เจ้าแห่งสันติ” (อสย 9:5) ของพระเมสสิยาห์ เดชะพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ทรงขจัดการเป็นศัตรูกันเดชะพระองค์[69] ทรงทำให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้าและทรงบันดาลให้พระศาสนจักรเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพของมนุษยชาติและความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า[70] “พระองค์คือสันติของเรา” (อฟ 2:14) และทรงประกาศว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข” (มธ 5:9)

 2306  ผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับการกระทำรุนแรงและหลั่งโลหิต และใช้วิธีการที่แม้ผู้อ่อนแอก็มีได้เพื่อปกป้องสิทธิของมนุษย์ย่อมเป็นพยานถึงความรักตามพระวรสาร เพียงแต่ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสิทธิและหน้าที่ของคนอื่นหรือสังคม เป็นการถูกต้องแล้วที่จะเป็นพยานยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงจนเกิดความเสียหายและมีผู้คนล้มตายนั้นเป็นอันตรายหนักทั้งด้านร่างกายและศีลธรรมความประพฤติ[71]


การหลีกเลี่ยงสงคราม

 2307    พระบัญญัติประการที่ห้าห้ามการจงใจทำลายชีวิตมนุษย์ พระศาสนจักรรู้ว่าการสงครามทุกอย่างนำความเสียหายและความอยุติธรรมมาด้วย จึงเตือนทุกๆ คนให้อธิษฐานภาวนาและทำกิจกรรมเพื่อขอพระเจ้าผู้ทรงพระทัยดีทรงปลดปล่อยเราให้พ้นจากการเป็นทาสของการสงครามตั้งแต่โบราณมาแล้ว[72]

 2308  พลเมืองและผู้มีอำนาจปกครองแต่ละคนจำเป็นต้องพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม

                  “ตลอดเวลาที่ยังมีอันตรายของสงครามและไม่มีองค์กรนานาชาติซึ่งมีอำนาจที่จำเป็นเพื่อควบคุม และเมื่อได้ใช้วิธีการเจรจาทุกอย่างเพื่อสันติภาพแล้ว ก็ไม่อาจปฏิเสธไม่ให้รัฐบาลใช้สิทธิป้องกันตนได้โดยถูกต้อง”[73]

 2309  จำเป็นต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัดถึงเงื่อนไขในการใช้กำลังทางทหารเพื่อป้องกันตนได้อย่างถูกต้อง ความสำคัญของการตัดสินใจเกี่ยวกับความถูกต้องทางศีลธรรมเช่นนี้ทำให้เราต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยมีเงื่อนไขที่เคร่งครัด จำเป็นต้องมีเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้พร้อมกันคือ

          - ความเสียหายจากการรุกรานต่อชาติหนึ่งหรือต่อชุมชนหลายชาติร่วมกันต้องอาจยืดเยื้อ รุนแรง อย่างไม่ต้องสงสัย

          - ได้พยายามใช้วิธีการทุกอย่างเพื่อยุติความขัดแย้งแล้วและยังปรากฏว่าใช้ไม่ได้และไม่สัมฤทธิ์ผล

          - อาจคาดการณ์และเป็นเงื่อนไขได้ว่าจะประสบความสำเร็จ

          - การใช้อาวุธจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายและความวุ่นวายหนักกว่าอันตรายที่ต้องกำจัด

          - มีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องพิจารณาถึงอำนาจทำลายล้างของยุโธปกรณ์สมัยใหม่ในสภาวะเช่นนี้

                   เท่าที่กล่าวมานี้เป็นองค์ประกอบตามธรรมประเพณีของเงื่อนไขในเรื่องคำสอนที่เรียกว่า “การสงครามที่ยุติธรรม”

                   การประเมินค่าของเงื่อนไขเหล่านี้เพื่อตัดสินความถูกต้องทางศีลธรรมเป็นเรื่องของการพิจารณาตัดสินอย่างรอบคอบของผู้มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมและประเทศชาติ

 2310   ในกรณีเช่นนี้ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมีสิทธิและหน้าที่กำหนดให้พลเมืองปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อป้องกันประเทศชาติ

                  ผู้ที่อุทิศตนรับใช้ประเทศชาติโดยการเป็นทหารย่อมเป็นผู้รับใช้ปกป้องความปลอดภัยและอิสรภาพของประชาชน ถ้าเขาปฏิบัติหน้าอย่างถูกต้อง เขาก็มีส่วนช่วยเหลือผลประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อรักษาสันติภาพ[74]

 2311   ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองต้องจัดการด้วยความยุติธรรมในกรณีของผู้ที่ไม่ยอมรับราชการทหารเพราะเหตุผลทางมโนธรรม ขณะที่เขายังมีหน้าที่ต้องรับใช้สังคมมนุษย์ในรูปแบบอื่น[75]

2312    พระศาสนจักรและเหตุผลของมนุษย์ประกาศชัดเจนว่ากฎศีลธรรมยังมีผลใช้บังคับแม้ในช่วงเวลาของการใช้อาวุธต่อสู้กันด้วย “แม้เมื่อสงครามบังเอิญได้เกิดขึ้นแล้ว ก็ใช่ว่าคู่อริทั้งสองฝ่ายจะทำอะไรต่อกันก็ได้”[76]

 2313   พลเรือน(ที่ไม่ใช่ผู้ต่อสู้) ทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเชลยศึกต้องได้รับความเคารพและการปฏิบัติต่ออย่างมีมนุษยธรรม

                  การกระทำที่จงใจขัดต่อสิทธิของนานาชาติและหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป รวมทั้งคำสั่งที่กำหนดให้ทำเช่นนั้นนับเป็นอาชญากรรม การเชื่อฟังอย่างตาบอดไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ยอมปฏิบัติเช่นนั้นพ้นผิดได้ ดังนั้น การทำลายล้างประชาชน ชนชาติ หรือชนส่วนน้อยส่วนหนึ่งต้องถูกประณามว่าเป็นบาปหนัก กฎศีลธรรมบังคับให้ต่อต้านคำสั่งที่สั่งให้มี “การฆ่าล้างโคตร”(genocide)

2314    “การทำสงครามที่มุ่งทำลายเมืองทั้งเมืองหรือแคว้นทั้งแคว้นพร้อมกับพลเมืองโดยไม่เลือกหน้านับว่าเป็นอาชญากรรมผิดต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์เอง การนี้จึงต้องได้รับการประณามอย่างแข็งขันและโดยไม่ต้องรั้งรอ”[77] อันตรายของสงครามในปัจจุบันนี้ก็คือต้องไม่ให้ผู้ที่มีอาวุธทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธทางชีววิทยาหรือเคมีมีโอกาสประกอบอาชญากรรมเช่นนี้ได้

2315    หลายคนดูเหมือนจะหลงผิดคิดว่าการสะสมอาวุธเป็นวิธีการที่จะกันไม่ให้ฝ่ายที่อาจเป็นศัตรูได้ไม่กล้าทำสงคราม พวกนี้คิดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นวิธีการที่อาจสถาปนาสันติภาพระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการข่มขวัญนี้เรียกร้องข้อแม้สำคัญทางศีลธรรมหลายประการ การแข่งขันสะสมอาวุธไม่เป็นประกันถึงสันติภาพ การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ไม่ขจัดสาเหตุของสงครามแล้ว แต่ยังเป็นการเสี่ยงหนักขึ้นให้มีสงคราม การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมหาศาลในการจัดหาอาวุธขัดขวางไม่ให้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือประชากรที่ยากจนขัดสน[78] เป็นการขัดขวางการพัฒนาประชากร การสะสมอาวุธมากเกินไปทำให้เกิดข้ออ้างที่จะต่อสู้กันมากยิ่งขึ้นและเพิ่มอันตรายที่การเป็นอริกันจะขยายวงกว้างยิ่งขึ้นด้วย

 2316   การผลิตและค้าอาวุธมีผลกระทบผลประโยชน์ของชาติต่างๆ และผลประโยชน์ร่วมกันของสังคมนานาชาติ ดังนั้น ผู้มีอำนาจสาธารณะจึงมีสิทธิและหน้าที่จะต้องจัดระเบียบเรื่องนี้ การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวมภายในเวลาสั้นๆ ไม่ทำให้ธุรกิจที่ส่งเสริมความรุนแรงและการสู้รบกันระหว่างชาติต่างๆ และยังทำลายระเบียบกฎหมายของนานาชาติอีกด้วยกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปได้

 2317   ความอยุติธรรมต่างๆ และความไม่เสมอภาคเกินไปในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ความอิจฉาริษยา ความไม่ไว้วางใจกัน และความหยิ่งยโสที่แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์และชนชาติต่างๆ ล้วนคุกคามสันติภาพและเป็นเหตุให้เกิดสงครามอยู่ตลอดเวลา สิ่งใดไม่ว่าที่เกิดขึ้นเพื่อเอาชนะความสับสนวุ่นวายเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมสร้างสันติภาพและหลีกเลี่ยงการสงครามทั้งนั้น

                  “ในฐานะที่มนุษย์เป็นคนบาป อันตรายที่จะมีสงครามจึงคอยคุกคามเขาอยู่ และจะยังคุกคามจนถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า แต่ในฐานะที่เรามนุษย์สัมพันธ์กันในความรักเอาชนะบาป ความทารุณก็จะถูกพิชิตด้วยจนกระทั่งพระวาจานี้จะสำเร็จเป็นจริง ‘เขาทั้งหลายจะตีดาบให้เป็นผาลไถนา ตีหอกให้เป็นเคียว ชาติต่างๆ จะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กันอีก จะไม่ฝึกฝนยุทธวิธีอีกต่อไป’ (อสย 2:4)”[79]

 

[66] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 158, a. 1, ad 3: Ed. Leon. 10, 273.           

[67] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 19, 13: CSEL 402, 395 (PL 41, 640).       

[68] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 78: AAS 58 (1966) 1101.

[69] เทียบ อฟ 2:16; คส 1:20-22.  

[70] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 1: AAS 57 (1965) 5.    

[71] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 78: AAS 58 (1966) 1101-1102.           

[72] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 81: AAS 58 (1966) 1105.

[73] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 79: AAS 58 (1966) 1103.  

[74] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 79: AAS 58 (1966) 1103.

[75] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 79: AAS 58 (1966) 1103.

[76] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 79: AAS 58 (1966) 1103.  

[77] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 80: AAS 58 (1966) 1104.  

[78] Cf Paulus VI, Litt. enc. Populorum progressio, 53: AAS 59 (1967) 283.          

[79] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 78: AAS 58 (1966) 1102.  

สรุป

สรุป

 2318    ชีวิตของสัตว์เหล่านี้อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า จิตของมนุษย์ทั้งปวงก็อยู่ในพระหัตถ์ด้วย” (โยบ 12:10)

 2319    ทุกชีวิตของมนุษย์ นับตั้งแต่ขณะปฏิสนธิจนถึงตายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระเจ้าทรงประสงค์บุคคลมนุษย์เพราะตนเองที่ทรงประสงค์ให้เป็นภาพลักษณ์เหมือนพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และศักดิ์สิทธิ์

 2320   การฆ่ามนุษย์ที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเป็นความผิดหนักต่อศักดิ์ศรีของบุคคลและต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เนรมิตสร้าง

 2321    การห้ามไม่ให้ฆ่า(คน)ไม่ยกเลิกสิทธิที่จะทำให้ผู้จู่โจมอย่างอยุติธรรมจะถูกขัดขวางไม่ให้มีโอกาสทำร้าย(ผู้อื่น)ได้ การป้องกัน(อันตราย)อย่างถูกต้องเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่นหรือความดีส่วนรวม

 2322   เด็กทารกมีสิทธิที่จะมีชีวิตนับตั้งแต่ปฏิสนธิขึ้นมา การทำแท้งโดยตรง นั่นคือโดยต้องการให้เป็นจุดประสงค์หรือเป็นวิธีการ เป็น “อาชญากรรม”[80]ที่ขัดต่อกฎศีลธรรมอย่างหนัก พระศาสนจักรกำหนดโทษตามกฎหมายให้ถูกตัดขาดจากพระศาสนจักร (บัพพาชนียกรรม)สำหรับความผิดหนักเช่นนี้ต่อชีวิตมนุษย์

 2323   นับตั้งแต่ปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อน(ของมนุษย์) เนื่องจากเป็นบุคคลหนึ่ง ต้องได้รับการปฏิบัติต่อและได้รับการปกป้อง เอาใจใส่ บำบัดรักษาให้ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่น

 2324   การุณยฆาตโดยจงใจ ไม่ว่าในรูปแบบหรือเพราะเหตุผลใดๆ นับว่าเป็นการฆาตกรรม การกระทำเช่นนี้ขัดอย่างหนักกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์และกับความเคารพต่อพระเจ้าผู้ทรงพระชนมชีพ พระผู้ทรงเนรมิตสร้างเขามา

 2325   การฆ่าตัวตายหรืออัตวินิบาตกรรมขัดอย่างหนักกับความยุติธรรม ความหวังและความรัก ก็ถูกห้ามโดยพระบัญญัติประการที่ห้านี้ด้วย

 2326   การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นความผิดหนักเมื่อจงใจชักนำ โดยการกระทำหรือละเว้นการกระทำ ให้ผู้อื่นทำผิดหนัก

 2327    เนื่องจากผลร้ายและความอยุติธรรมที่สงครามทั้งหลายนำมาให้ เราต้องทำทุกอย่างเท่าที่น่าจะทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสงครม พระศาสนจักรภาวนาว่า “จากโรคระบาด จากความอดอยากและสงคราม – โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าทั้งหลายพ้นเถิด พระเจ้าข้า”

 2328   พระศาสนจักรและความคิดตามเหตุผลตามประสามนุษย์ประกาศว่ากฎศีลธรรมยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปตลอดเวลาการต่อสู้ด้วยอาวุธ กิจการทั้งหลายที่จงใจขัดกับสิทธิของนานาชาติและหลักการสากลจึงเป็นอาชญากรรม

 2329   การแข่งขันกันสร้างอาวุธเป็นหายนะหนักอย่างยิ่งของมนุษยชาติ และทำร้ายคนยากจนอย่างที่ไม่อาจจะปล่อยให้เกิดขึ้นได้[81]

 2330   ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” (มธ 5:9)

 

[80] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 27: AAS 58 (1966) 1048.

[81] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 81: AAS 58 (1966) 1105.