บทที่สาม

ชีวิตการอธิษฐานภาวนา

 2697  การอธิษฐานภาวนาเป็นชีวิตของจิตใจใหม่ จึงต้องเป็นพลังบันดาลใจให้เราทุกๆ ขณะ ถึงกระนั้นเรามักจะลืมพระองค์ผู้ทรงเป็นชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างของเรา เพราะเหตุนี้ บรรดาปิตาจารย์ผู้สอนด้านชีวิตจิตตามธรรมประเพณีของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก จึงย้ำถึงการอธิษฐานภาวนาว่าเป็น “การระลึกถึงพระเจ้า” โดยปลุกจิตใจให้คิดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ “เราต้องคิดถึงพระเจ้าให้บ่อยกว่าหายใจเสียด้วย”[1] แต่การอธิษฐานภาวนา “อยู่ตลอดเวลา” เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่อธิษฐานภาวนาโดยจงใจในบางเวลา นี่คือเวลาของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนที่กำหนดไว้ทั้งในความเข้มข้นและระยะเวลา

 2698  ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเสนอแนะจังหวะเวลาของการอธิษฐานภาวนาไว้เพื่อหล่อเลี้ยงการอธิษฐานภาวนาอย่างต่อเนื่อง กำหนดเวลาอธิษฐานภาวนาบางครั้งเป็นการอธิษฐานภาวนาประจำทุกวันเวลาเช้าและเวลาเย็น ก่อนและหลังอาหาร พิธีกรรมทำวัตร ในวันอาทิตย์ที่มีพิธีบูชาขอบพระคุณเป็นศูนย์กลางย่อมรับความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษจากการอธิษฐานภาวนา ปฏิทินปีพิธีกรรมและจังหวะการสมโภชใหญ่ๆ เป็นการอธิษฐานภาวนาพื้นฐานหลักของบรรดาคริสตชน

 2699  องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำแต่ละคนไปตามทางและวิธีการที่พอพระทัย ผู้มีความเชื่อแต่ละคนจึงตอบสนองพระองค์ตามการตัดสินของหัวใจและวิธีการอธิษฐานส่วนตัวของตน ถึงกระนั้นธรรมประเพณีคริสตชนก็ยังคงรักษาวิธีการแสดงออกที่สำคัญของการอธิษฐานภาวนาไว้สามแบบได้แก่การภาวนาโดยเปล่งเสียง การคิดคำนึง และการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ การอธิษฐานภาวนาทั้งสามแบบนี้มีแนวปฏิบัติพื้นฐานร่วมกันคือการสำรวมจิตใจ ความพยายามที่จะรักษาถ้อยคำและคงอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าทำให้การแสดงออกทั้งสามแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่เข้มแข็งของชีวิตการอธิษฐานภาวนา

 

[1]  Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 27 (theologica 1), 4: SC 250, 78 (PG 36, 16).

ตอนที่หนึ่ง

การอธิษฐานภาวนาในรูปแบบต่างๆ

I. การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง

I. การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง

 2700   พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ทางพระวาจา (พระวจนาตถ์) ของพระองค์ การอธิษฐานภาวนาของเราเติบโตขึ้นด้วยถ้อยคำ ทั้งที่อยู่ในใจหรือที่เปล่งออกมาเป็นเสียง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่ใจของเราอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ที่เรากราบทูลด้วยในการอธิษฐานภาวนาของเรา “การที่พระเจ้าทรงฟังเราไม่อยู่ที่ถ้อยคำจำนวนมาก แต่อยู่ที่ความตั้งใจ”[2]

 2701   การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของชีวิตคริสตชน เมื่อบรรดาศิษย์มีความสนใจต่อการอธิษฐานภาวนาเงียบๆ ของพระอาจารย์ พระองค์ก็ทรงสอนบทภาวนาที่ต้องเปล่งเสียงบทหนึ่งให้เขา คือบทข้าแต่พระบิดา พระเยซูเจ้าไม่เพียงแต่ทรงอธิษฐานภาวนาด้วยบทภาวนาตามพิธีกรรมของศาลาธรรมเท่านั้น พระวรสารบอกเราว่าพระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงแสดงบทภาวนาของพระองค์ออกมาด้วย ตั้งแต่เมื่อทรงตื้นตันพระทัยถวายพระพรแด่พระบิดา[3] ไปจนถึงเมื่อทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี[4]

 2702   ความจำเป็นที่จะต้องรวมประสาทสัมผัสเข้ากับการอธิษฐานภาวนาภายในใจนี้สอดคล้องกับความต้องการของธรรมชาติมนุษย์ เรามนุษย์เป็นทั้งร่างกายและจิต และรู้สึกว่าจำเป็นต้องแสดงความรู้สึกของตนออกมาภายนอก เมื่ออธิษฐานภาวนาเราจึงต้องใช้ธรรมชาติทั้งหมดของเราเท่าที่ทำได้

 2703   ความจำเป็นเช่นนี้ยังสอดคล้องกับที่พระประสงค์ของพระเจ้าด้วย พระองค์ทรงแสวงหาผู้นมัสการพระองค์ด้วยจิตและตามความจริง และดังนี้จึงทรงประสงค์การอธิษฐานภาวนาที่มีชีวิตชีวาและออกมาจากส่วนลึกของวิญญาณ พระองค์ยังทรงประสงค์ให้เราแสดงการอธิษฐานภาวนาภายนอกทางร่างกายควบคู่ไปกับการอธิษฐานภาวนาภายในใจด้วย เพราะการอธิษฐานภาวนาภายในแสดงออกถึงคารวกิจสมบูรณ์ของทุกคนที่พระองค์มีสิทธิจะได้รับ

2704   การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียงเป็นการภาวนาอย่างดีที่สุดเมื่อมีผู้มาชุมนุมกัน เพราะเป็นกิจกรรมที่แสดงออกมาภายนอกและเป็นกิจกรรมของมนุษย์อย่างแท้จริง แต่แม้กระทั่งการอธิษฐานภาวนาภายในที่สมบูรณ์ก็ไม่อาจละเลยการอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียงได้ การอธิษฐานภาวนาเป็นกิจกรรมภายในเมื่อเรามีความสำนึกถึงพระองค์ “ที่เรากำลังสนทนาด้วย”[5] เมื่อนั้นการอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียงก็เป็นวิธีแรกของการอธิษฐานภาวนาแบบการเพ่งฌาณ

 

[2] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De Anna, sermo 2, 2: PG 54, 646.

[3] เทียบ มธ 11:25-26.

[4] เทียบ มก 14:36.

[5] Cf Sancta Theresia a Iesu, Camino de perfeccion, 26: Biblioteca Mistica Carmelitana, v. 3 (Burgos 1916) p. 122.

II. การรำพึงภาวนา

II. การรำพึงภาวนา

 2705  การรำพึงภาวนาก่อนอื่นหมดเป็นการค้นคว้าหาความเข้าใจ จิตพยายามค้นหาเพื่อเข้าใจว่าทำไมต้องมีชีวิตคริสตชนและต้องมีอย่างไร เพื่อชิดสนิทและตอบสนองกับสิ่งที่พระเจ้าทรงขอร้อง กิจกรรมนี้เรียกร้องความตั้งใจที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ส่วนใหญ่แล้วหนังสือสักเล่มหนึ่งช่วยได้อย่างมาก และคริสตชนก็ไม่ขัดสนหนังสือเช่นนี้ เช่น หนังสือพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพระวรสาร รูปภาพศักดิ์สิทธิ์ ข้อความของพิธีกรรมประจำวันหรือเทศกาล ข้อเขียนแนะนำวิญญาณของบรรดาปิตาจารย์ผู้สอนเรื่องชีวิตจิต เรื่องราวการเนรมิตสร้างและประวัติศาสตร์ก็นับเป็นหนังสือเล่มใหญ่ – เป็นเสมือนเรื่องราวของพระเจ้า “ในวันนี้”

 2706   การคิดคำนึงถึงเรื่องที่เราอ่านช่วยเราให้คิดว่าเมื่อเทียบกับตัวเองแล้วเราควรทำอะไรบ้าง ที่นี่หนังสืออีกเล่มหนึ่งเปิดออก เป็นหนังสือแห่งชีวิต เป็นการข้ามจากความคิดมายังความเป็นจริง ตามส่วนของความสุภาพถ่อมตนและความเชื่อ เพื่อเราคิดคำนึง เราก็ค้นพบพลังที่ปลุกเร้าจิตใจและรู้จักแยกแยะพลังบันดาลใจเหล่านี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติความจริงเพื่อเราจะได้บรรลุถึงแสงสว่าง “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้ข้าพเจ้าทำอะไร?”

 2707   วิธีการต่างๆ ของการรำพึงภาวนามีจำนวนมากเท่ากับอาจารย์สอนเรื่องชีวิตจิต คริสตชนต้องมีความปรารถนาที่จะรำพึงภาวนาเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นเสมือนพื้นดินสามชนิดแรกในอุปมาเรื่องผู้หว่าน[6] แต่วิธีการเป็นเพียงผู้นำ สิ่งที่สำคัญคือการก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับพระจิตเจ้าในหนทางการอธิษฐานภาวนา ซึ่งก็คือพระคริสตเจ้า

 2708  การรำพึงภาวนาใช้ทั้งความคิด จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนา การรวมความสามารถต่างๆ มาใช้นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเข้าใจความเชื่อได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อปลุกการกลับใจและเพื่อเสริมความต้องการที่จะติดตามพระคริสตเจ้าให้เข้มแข็งขึ้น การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนก่อนอื่นหมดพยายามที่จะคิดคำนึงถึง “พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า” เช่นใน lectio divina และในการสวดสายประคำ รูปแบบนี้ของการคิดคำนึงของผู้อธิษฐานภาวนามีคุณค่ามาก แต่การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนต้องก้าวไกลกว่านั้น คือเพื่อรู้จักความรักของพระเยซูเจ้า รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

 

[6] เทียบ มก 4:4-7,15-19.

III. การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ

III. การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ

 2709  การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณคืออะไร นักบุญเทเรซาตอบว่า “ดิฉันคิดว่าการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ (oracion mental) ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากความเป็นเพื่อนสนิทกัน จนกระทั่งว่า คนหนึ่งปลีกตัวไปอยู่ด้วยกันกับผู้ที่เรารู้ว่ารักเรา”[8]

           การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณแสวงหา “ผู้ที่วิญญาณข้าพเจ้ารัก” (พซม 1:7)[9] เราแสวงหาพระเยซูเจ้า และในพระองค์ เราแสวงหาพระบิดา เพราะจุดเริ่มของความรักก็คือปรารถนาพระองค์เสมอ และเราแสวงหาพระองค์ด้วยความเชื่อล้วนๆ ด้วยความเชื่อนี้ที่ทำให้เราเกิดจากพระองค์และดำรงชีวิตในพระองค์ แม้ในการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเราก็ยังรำพึงภาวนาได้ แต่การพิศเพ่งนั้นมุ่งไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้า

 2710   การเลือกโอกาสและระยะเวลาของการอธิษฐานภาวนาโดยเพ่งฌาณนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจมั่นคงซึ่งเปิดเผยความลับของจิตใจ การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณไม่เกิดขึ้นเมื่อเรามีเวลาเท่านั้น เราแสวงหาเวลาเพื่อเข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความตั้งใจอย่างมั่นคงที่จะทำเช่นนี้โดยไม่ยอมเลิกแม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากและจิตใจแห้งแล้ง การรำพึงภาวนาอาจทำไม่ได้เสมอ แต่เราอาจเข้าไปอธิษฐานภาวนาโดยเพ่งฌาณได้เสมอ ไม่ขึ้นกับสุขภาพ การงานหรือสภาพความรู้สึกของวิญญาณ หัวใจเป็นสถานที่ของการค้นหาและการพบปะ ในความยากจนและในความเชื่อ

 2711   การเข้าไปในการอธิษฐานภาวนาโดยเพ่งฌาณคล้ายกับเข้าไปในพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณ เรา “สำรวมใจ” ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า อาศัยอยู่ในที่พำนักขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างที่เราเป็น ปลุกความเชื่อเพื่อเข้าไปอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ซึ่งทรงคอยเรา เปิดหน้ากากของเราออกและให้ใจของเรากลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรักเรา เพื่อเราจะได้มอบตัวเราให้เป็นของถวายที่จะต้องถูกชำระและเปลี่ยนแปลง

 2712   การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการอธิษฐานภาวนาของบุตรของพระเจ้า เขาเป็นคนบาปได้รับอภัยแล้วที่ยอมรับความรักที่ทรงรักเราและยังปรารถนาที่จะตอบสนองความรักนั้นโดยรักให้มากขึ้นอีก[10] แต่เขาก็ยังรู้อีกว่าความรักที่ตนตอบแทนก็เป็นความรักที่พระจิตเจ้าทรงหลั่งลงในใจของเขา เพราะทุกสิ่งเป็นพระหรรษทานจากพระเจ้า การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการถวายตัวอย่างถ่อมตนและยากจนแด่พระประสงค์ที่รักของพระบิดาเพื่อร่วมสนิทให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระบุตรที่รักของพระองค์

 2713   ดังนั้นการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณจึงเป็นการแสดงพระธรรมล้ำลึกแห่งการอธิษฐานภาวนาออกมาอย่างซื่อที่สุด การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นของประทาน เป็นพระหรรษทาน เราอาจรับของประทานนี้ได้ก็ด้วยความสุภาพถ่อมตนและยอมรับว่าตนยากจนขัดสนเท่านั้น  การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความสัมพันธ์แห่งพันธสัญญาที่ทรงสถาปนาไว้ในหัวใจส่วนลึกของเรา[11] การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นความสนิทสัมพันธ์ (communion) ในความสนิทสัมพันธ์นี้ พระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ทรงบันดาลให้มนุษย์ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพระองค์มีความละม้าย “เหมือนกับพระองค์” ทีเดียว

 2714    การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณยังเป็นเวลาที่เข้มข้นของการอธิษฐานภาวนาอย่างดีที่สุด ในการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ พระบิดาประทานพระจิตเจ้าเสริมกำลังของเราให้ชีวิตภายในของเราเข้มแข็งขึ้น พระคริสตเจ้าจะได้ทรงพำนักในจิตใจของเราให้ฝังรากและตั้งมั่นอยู่บนความรัก[12]

 2715   การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการเพ่งมองด้วยความเชื่อไปยังพระเยซูเจ้า “ข้าพเจ้าเพ่งมองพระองค์ และพระองค์ทรงเพ่งมองข้าพเจ้า” ท่านนักบุญเจ้าอาวาสแห่งอาร์สกล่าวเช่นนี้เมื่อท่านอธิษฐานภาวนาต่อหน้าตู้ศีล[13] การเพ่งมองพระองค์เช่นนี้เป็นการ “สละตนเอง” การเพ่งมองพระองค์ชำระจิตใจ แสงสว่างจากพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าส่องสว่างดวงตาจิตใจของเราและสอนเราให้มองทุกสิ่งอาศัยแสงสว่างแห่งความจริงของพระองค์ และมองมนุษย์ทุกคนด้วยความเห็นอกเห็นใจเหมือนพระองค์ การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณยังนำเราให้พิศเพ่งดูพระธรรมล้ำลึกในพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ดังนั้นเราจึงเรียนรู้ “ที่จะรู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างลึกซึ้ง” เพื่อจะรักและติดตามพระองค์ได้มากยิ่งขึ้น[14]

 2716   การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการฟังพระวาจาของพระเจ้า การฟังนี้ไม่เป็นเพียงการรับฟังเฉยๆ แต่เป็นการปฏิบัติตามความเชื่อ  เป็นการยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขของผู้รับใช้  เป็นการเชื่อฟังด้วยความรักของบุตร เป็นการร่วมตอบรับ “อาเมน” ของพระบุตรผู้ทรงยอมเป็นเสมือนทาส และเป็นดังคำตอบรับ “Fiat” (ขอให้เป็นไปเช่นนี้) ของหญิงผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์

 2717   การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นความเงียบ  เป็น “สัญลักษณ์ของโลกในอนาคต”[15] หรือเป็น “คำพูดเงียบๆ ถึงความรัก”[16] คำพูดในการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณไม่ใช่การบรรยาย แต่เป็นเสมือนกิ่งไม้เล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงไฟความรัก ในความเงียบนี้ที่คนที่ “คิดแต่เรื่องภายนอก” ยอมรับไม่ได้ พระบิดาตรัสกับเราเป็นพระวจนาตถ์ของพระองค์ที่ทรงมารับสภาพมนุษย์ ทรงรับทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ และพระจิตของพระบุตรทรงบันดาลให้เรามีส่วนในการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระเยซูเจ้าด้วย

 2718    การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการมีส่วนร่วมกับการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้าในฐานะทำให้เรามีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าในพิธีบูชาขอบพระคุณ  และในการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณพระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เรามีชีวิตจากพระธรรมล้ำลึกนี้และแสดงให้ปรากฏเป็นกิจกรรมความรัก

 2719  การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณยังเป็นการมีส่วนร่วมชีวิตความรักกับประชาชนมากมายที่กำลังทนทุกข์ในฐานะที่เป็นการยอมอยู่ใน “กลางคืนแห่งความเชื่อ” กลางคืนปัสกา การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าต้องผ่านคืนแห่งความทุกข์ทรมานและการถูกฝังอยู่ในพระคูหา “พระจิต” ของพระองค์ (ไม่ใช่ “เนื้อหนังร่างกาย” ซึ่ง “อ่อนแอ”) ช่วยเราให้นำช่วงเวลาทั้งสามช่วงนี้ของพระเยซูเจ้าเข้ามาในชีวิตโดยการพิศเพ่งฌาณอธิษฐานภาวนา จำเป็นที่เราต้องพร้อมที่จะตื่นเฝ้าสักหนึ่งชั่วโมงกับพระองค์[17]

 

[8] Sancta Theresia a Iesu, Libro de la vida, 8: Biblioteca Mistica Carmelitana, v. 1 (Burgos 1915) p. 57.

[9] เทียบ พซม 3:1-4.

[10] เทียบ ลก 7:36-50; 19:1-10.

[11] เทียบ ยรม 31:33.            

[12] เทียบ อฟ 3:16-17.           

[13] Cf F. Trochu, Le Cure d’Ars Saint Jean-Marie Vianney (Lyon-Paris 1927) p. 223-224.

[14] Cf Sanctus Ignatius de Loyola, Exercitia spiritualia, 104: MHSI 100, 224.          

[15] Sanctus Isaac Ninivensis, Tractatus mystici, 66: ed. A.J. Wensinck (Amsterdam 1923) p. 315; ed. P. Bedjan (Parisiis-Lipsiae 1909) p. 470.

[16] Sanctus Ioannes a Cruce, Carta, 6: Biblioteca Mistica Carmelitana, v. 13 (Burgos 1931) p. 262.     

[17] เทียบ มธ 26:40-41.          

สรุป

สรุป

 2720    พระศาสนจักรเชิญชวนผู้มีความเชื่อให้อธิษฐานภาวนาเป็นประจำ ได้แก่การอธิษฐานภาวนาประจำวัน การสวดทำวัตร พิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ การฉลองต่างๆ ของปีพิธีกรรม

 2721    ธรรมประเพณีของคริสตชนมีวิธีการแสดงชีวิตการอธิษฐานภาวนาอยู่สามแบบ คือการอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง การรำพึงภาวนา และการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ การอธิษฐานภาวนาทั้งสามแบบนี้มีการสำรวมจิตใจเป็นลักษณะร่วมกัน

 2722    การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียงตั้งอยู่บนธรรมชาติของมนุษย์ที่ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่างกายจึงต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจิตใจเมื่ออธิษฐานภาวนาตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าที่ทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาและทรงสอนบทข้าแต่พระบิดาแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์

 2723    การรำพึงภาวนาเป็นการอธิษฐานภาวนาที่ผู้ภาวนาใช้ความคิด จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนา การรำพึงภาวนามีเจตนาเพื่อทำให้สิ่งที่เราใช้ความเชื่อพิจารณาถึงนี้เป็นของเรา เป็นความเป็นจริงส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา

2724   การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นวิธีการแสดงพระธรรมล้ำลึกการอธิษฐานภาวนาออกมาอย่างซื่อๆ เป็นการพิศเพ่งพระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อ ฟังพระวาจาของพระเจ้า รักพระองค์อย่างเงียบๆ การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้าในฐานะที่ทำให้เรามีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกของพระองค์

ตอนที่สอง

อุปสรรคต่างๆ ของการอธิษฐานภาวนา

 2725  การอธิษฐานภาวนาเป็นของประทานจากพระหรรษทานและเป็นการตอบสนองอย่างแข็งขันจากเรา จึงเรียกร้องความพยายามจากเราเสมอ ผู้อธิษฐานภาวนาที่สำคัญๆ ในพันธสัญญาเดิมก่อนสมัยพระคริสตเจ้า รวมทั้งพระมารดาของพระเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ล้วนสอนเราพร้อมกับพระองค์ว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นการต่อสู้  ต่อสู้กับใคร? ต่อสู้กับตัวเราและกับกลอุบายของผู้ผจญล่อลวงที่พยายามทุกอย่างที่จะหันเหมนุษย์ไปจากการอธิษฐานภาวนา จากความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่ละคนย่อมอธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่เขาดำเนินชีวิต เพราะแต่ละคนดำเนินชีวิตเหมือนกับที่เขาอธิษฐานภาวนา ถ้าตามปรกติใครคนหนึ่งไม่อยากปฏิบัติตนตามพระจิตของพระคริสตเจ้า เขาก็ไม่อาจอธิษฐานภาวนาในพระนามของพระองค์ให้เป็นนิสัยได้ “การต่อสู้ทางจิตใจ” ของคริสตชนที่มีชีวิตใหม่จึงแยกไม่ออกจากต้องต่อสู้ในการอธิษฐานภาวนา

I. อุปสรรคของการอธิษฐานภาวนา

I. อุปสรรคของการอธิษฐานภาวนา

 2726  ในการต่อสู้เพื่ออธิษฐานภาวนาเราต้องเผชิญความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาทั้งในตัวของเราและรอบๆ ตัวเรา  บางคนเห็นว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นเพียงกิจกรรมทางจิตวิทยา บางคนคิดว่าเป็นความพยายามสำรวมเพื่อให้มีจิตว่าง บางคนคิดว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นเพียงการวางตัวและกล่าวถ้อยคำตามพิธี คริสตชนหลายคนมีความรู้สึกโดยอัตโนมัติว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เข้ากันไม่ได้กับกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำเพราะไม่มีเวลา ผู้ที่พยายามแสวงหาพระเจ้าด้วยการอธิษฐานภาวนามักจะหมดกำลังใจในไม่ช้า เพราะเขาไม่รู้ว่าการอธิษฐานภาวนานั้นมาจากพระจิตเจ้าด้วย ไม่ได้มาจากตัวเขาเองเท่านั้น

 2727   เรายังต้องเผชิญกับวิธีคิด “ของโลกนี้” ที่มักจะแทรกเข้ามาในตัวเราถ้าเราไม่ระวังตัว เช่นคิดว่าความจริงมีเพียงอย่างเดียวคือต้องพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลและวิทยาการ (แต่การอธิษฐานภาวนาเป็นธรรมล้ำลึกที่อยู่เหนือความสำนึกที่วิญญาณอาจไม่รู้สึกก็ได้)  บางคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้น (การอธิษฐานภาวนาไม่มีผลประโยชน์ ดังนั้นจึงใช้ไม่ได้) บางคนอาจคิดถึงความรู้สึกที่ดีและความสุขใจว่าเป็นมาตรการของความจริง ความดีและความงาม (แต่การอธิษฐานภาวนา ในฐานะที่เป็น “ความรักความงาม [philokalia] ก็รวมอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และทรงความจริงแล้ว) ในที่สุดบางคนยังคิดว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นปฏิกิริยาต่อการบ้างาน การอธิษฐานภาวนาเป็นการหนีจากความวุ่นวายของโลก (แต่การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนไม่ใช่การหนีออกไปจากความเป็นจริงและปลีกตัวออกไปจากชีวิต)

 2728   ในที่สุด การต่อสู้ของเราต้องเผชิญกับสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำให้การอธิษฐานภาวนาของเราต้องล้มเหลว นั่นคือความรู้สึกมีใจแห้งแล้ง รู้สึกเป็นทุกข์ที่เราไม่ได้ถวายทุกสิ่งทุกอย่างแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะเรามี “ทรัพย์สมบัติจำนวนมาก”[17] รู้สึกผิดหวังเพราะพระองค์ไม่ทรงฟังความต้องการของเรา รู้สึกเสียหน้าที่ต้องยอมรับว่าตนเป็นคนบาปที่ไม่เหมาะสม การไม่ยอมรับว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นของประทานล้วนๆ จากพระเจ้า ฯลฯ ข้อสรุปจึงเป็นอย่างเดียวเสมอ คืออธิษฐานภาวนาไปทำไม เพื่อจะเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ เราจำเป็นต้องต่อสู้ด้วยความสุภาพถ่อมตน ด้วยความไว้วางใจ และด้วยความพากเพียรอดทน

 

[17] เทียบ มก 10:22.             

II. การเฝ้าระวังจิตใจด้วยความสุภาพถ่อมตน

II. การเฝ้าระวังจิตใจด้วยความสุภาพถ่อมตน

เมื่อประสบความยากลำบากที่จะอธิษฐานภาวนา

 2729  ความยากลำบากที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราอธิษฐานภาวนาก็คือการเสียสมาธิ (การมีใจวอกแวก) การนี้อาจเกี่ยวกับการไม่คิดถึงถ้อยคำที่เรากล่าวและความหมายของถ้อยคำเหล่านี้เมื่อเราอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง (ในพิธีกรรมหรือในการอธิษฐานภาวนาส่วนตัว) ในการรำพึงภาวนา และในการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณ ความพยายามที่จะขับไล่การมีใจวอกแวกอาจทำให้เราตกในกับดักของมันได้ ในเมื่อความพยายามที่จะกลับมาสำรวมใจเสียใหม่ก็เพียงพอแล้ว ความมีใจวอกแวกแสดงให้เราเห็นว่าใจของเราติดอยู่กับอะไร และการยอมรับเรื่องนี้ด้วยความสุภาพถ่อมตนต่อพระเจ้าต้องปลุกความรักต่อพระองค์ให้มากขึ้น ตั้งใจถวายใจของเราแด่พระองค์เพื่อทรงชำระให้บริสุทธิ์ การต่อสู้อยู่ที่นี่ คือการเลือกองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะรับใช้พระองค์[18]

 2730   ถ้าพิจารณาด้านบวก การต่อสู้กับจิตใจของเราที่ต้องการควบคุมและเป็นเจ้าของของเราก็คือการคอยเฝ้าระวัง ความตั้งใจ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการเฝ้าระวัง พระองค์ทรงหมายถึงพระองค์เสมอ หมายถึงการเสด็จมาของพระองค์ หมายถึงวันสุดท้ายและหมายถึงแต่ละวัน หมายถึง “วันนี้” พระองค์ตรัสถึงเจ้าบ่าวที่มาเวลาเที่ยงคืน แสงสว่างที่จะต้องไม่ดับก็คือแสงของความเชื่อ “ใจข้าพเจ้าคิดถึงพระวาจาที่ว่า ‘จงแสวงหาใบหน้าของเราเถิด’” (สดด 27:8)

2731    ความยากลำบากอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ปรารถนาจะอธิษฐานภาวนาจากใจจริง ก็คือ ความรู้สึก(มีใจ)แห้งแล้ง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอธิษฐานภาวนาเมื่อใจรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีรสชาติสำหรับความคิด ความจดจำและความรู้สึก แม้ในเรื่องทางจิตใจ เวลาเช่นนี้จึงเป็นเวลาสำหรับความเชื่อล้วนๆ ที่อยู่กับพระเยซูเจ้าอย่างแนบแน่นเมื่อทรงเข้าตรีทูตและอยู่ในพระคูหา. เมล็ดข้าว “ถ้า […] ตายไป ก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน 12:24) แต่ถ้าความ(รู้สึกมีใจ) แห้งแล้งนี้มาจากการขาดราก เพราะพระวาจาตกลงไปบนหิน ก็จำเป็นจะต้องต่อสู้เพื่อการกลับใจ[19]


เมื่อต้องเผชิญกับการผจญในการอธิษฐานภาวนา

 2732   การผจญที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ และสังเกตเห็นได้ยากก็คือการขาดความเชื่อของเรา เรื่องนี้ปรากฏให้เห็นในการที่เราไปชอบบางสิ่งบางอย่างมากกว่าการแสดงความไม่เชื่อ เมื่อเราเริ่มอธิษฐานภาวนา การงานและความสนใจต่างๆ นับไม่ถ้วนที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งเร่งด่วนย่อมแสดงตัวออกมาว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก แล้วเราก็จะถามใจเราว่าจะต้องให้ความเอาใจใส่ต่อเรื่องนี้ก่อนหรือเปล่า บางครั้งเรากลับไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่เราเชื่อเช่นนั้นจริงๆ เชียวหรือบางครั้งเรายอมรับว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงร่วมพันธกิจกับเรา แต่หัวใจของเราก็ยังมีความหยิ่งจองหองอยู่ในทุกกรณี การขาดความเชื่อของเราแสดงให้เห็นว่าเรายังไม่มีใจสุภาพถ่อมตนพอที่จะยอมรับว่า “ถ้าไม่มีเราแล้ว ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5)

 2733   การผจญอีกประการหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากความหยิ่งจองหองก็คือ ความท้อแท้เฉื่อยชา บรรดาปิตาจารย์ด้านชีวิตจิตเข้าใจว่าคำนี้หมายถึงความเฉื่อยชารูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการละเลยไม่ค่อยเอาใจใส่ปฏิบัติการบำเพ็ญพรต “จิตใจพร้อมแล้วก็จริง แต่เนื้อหนังอ่อนกำลัง” (มธ 26:41) ยิ่งอยู่สูงการตกก็ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น ยิ่งเราทะนงตนมากเท่าใด ความท้อแท้เฉื่อยชาก็ยิ่งจะมีมากขึ้น ผู้ที่มีความสุภาพถ่อมตนย่อมไม่ให้ความสนใจต่อความผิดพลาดของตนมากนัก ความผิดพลาดยิ่งทำให้เขามีความวางใจต่อพระเจ้ามากขึ้น และยังคงมีความมั่นใจอยู่ต่อไป

 

[18] เทียบ มธ 6:21,24.           

[19] เทียบ ลก 8:6,13.            

III. ความวางใจเยี่ยงบุตร

III. ความวางใจเยี่ยงบุตร

 2734  ความวางใจเยี่ยงบุตรพิสูจน์ได้ – พิสูจน์ตนเอง – ในความทุกข์ยาก[20] ความทุกข์ยากที่สำคัญมักจะเกี่ยวข้องกับการภาวนาวอนขอ ในการวอนขอเพื่อตนเองหรือแทนผู้อื่น บางคนถึงกับเลิกอธิษฐานภาวนาไปเลยเพราะคิดว่าพระเจ้าไม่ทรงรับฟังการวอนขอของตน ที่ตรงนี้เราอาจตั้งคำถามสองข้อ ทำไมเราจึงคิดว่าพระเจ้าไม่ทรงฟังคำวอนขอของเรา เราต้องทำอย่างไรให้พระเจ้าทรงฟังการอธิษฐานภาวนาของเรา ทำให้การอธิษฐานภาวนาของเรา “เกิดผล”


ทำไมเราจึงบ่นที่พระเจ้าไม่ทรงฟังเรา

 2735  เราควรต้องระวังตัวไว้เพื่อจะได้ไม่แปลกใจ เมื่อเราสรรเสริญพระเจ้าหรือขอบพระคุณสำหรับพระพรที่พระองค์ประทานให้โดยทั่วไป เราแทบจะไม่สนใจที่จะรู้ว่าการอธิษฐานภาวนาของเราเป็นที่พอพระทัยพระองค์หรือเปล่า แต่ตรงข้าม เรามักจะเรียกร้องที่จะเห็นว่าคำขอร้องของเราเกิดผล ดังนั้น ภาพอะไรของพระเจ้าชักนำเราให้อธิษฐานภาวนา เราเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นเครื่องมือที่เราใช้ หรือเป็นพระบิดาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา?

 2736  เราเชื่อมั่นหรือเปล่าว่า “เราไม่รู้ว่าเราควรจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใด” (รม 8:26) เราวอนขอพระเจ้าให้ประทาน “สิ่งที่ดีสำหรับเรา” หรือเปล่า? เพราะพระบิดาทรงทราบแล้วว่าเราต้องการสิ่งใดก่อนที่เราจะขอจากพระองค์เสียอีก[21] แต่พระองค์ทรงคอยให้เราวอนขอ เพราะศักดิ์ศรีการเป็นบุตรของพระองค์อยู่ในความเป็นอิสระเสรีของเขา ดังนั้น เราจึงต้องอธิษฐานภาวนาพร้อมกับพระจิตแห่งอิสรภาพของพระองค์ เพื่อเราจะได้รู้พระประสงค์แท้จริงของพระองค์[22]

 2737    “ท่านไม่มีเพราะไม่ได้วอนขอ ท่านวอนขอแต่ไม่ได้รับ  เพราะท่านวอนขอไม่ถูกต้อง คือวอนขอเพื่อนำไปสนองกิเลสตัณหาของท่าน” (ยก 4:2-3)[23] ถ้าเราวอนขอด้วยจิตใจ “ที่แบ่งแยก” (ตามตัวอักษรว่า “ที่เป็นชู้”)[24] พระเจ้าก็ไม่อาจทรงฟังเราได้ เพราะพระองค์ทรงประสงค์ความดีทรงประสงค์ชีวิตของเรา “ท่านคิดว่าพระคัมภีร์กล่าวไร้เหตุผลหรือว่า ‘พระเจ้าทรงรักจิตอย่างหวงแหน จิตที่พระองค์ประทานให้นั้นสถิตในเรา’” (ยก 4:5) พระเจ้าของเราทรงรักเรา “โดยไม่ยอมให้มีคู่แข่ง” ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าทรงรักเราอย่างแท้จริง ถ้าเราเข้าไปร่วมความปรารถนาเดียวกันกับพระจิตของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงฟังเราอย่างแน่นอน

               “อย่ากังวลใจถ้าท่านไม่ได้รับตามที่ทูลขอทันที เพราะพระองค์ทรงประสงค์จะประทานให้ท่านมากกว่าที่ท่านยังอธิษฐานวอนขอต่อไปอีกด้วย”[25]

                พระองค์ทรงประสงค์ “ให้ความปรารถนาของเราได้รับการฝึกฝนจากการอธิษฐานภาวนา เพื่อเราจะสามารถรับสิ่งที่พระองค์ทรงพร้อมที่จะประทานให้เราได้”[26]


การอธิษฐานภาวนาของเราจะมีผลได้อย่างไร
?

 2738  การเปิดเผยเรื่องการอธิษฐานภาวนาในแผนการความรอดพ้นสอนเราว่าความเชื่อนั้นตั้งอยู่บนพระราชกิจของพระเจ้าในประวัติศาสตร์ พระราชกิจที่ทรงกระทำนั้นปลุกให้เรามีความวางใจเยี่ยงบุตร นั่นคือพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตร การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นการร่วมมือกับพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ กับแผนการความรักของพระองค์ต่อมนุษย์

 2739  ตามความคิดของนักบุญเปาโล ความวางใจนี้มีความกล้ามาก[27] ตั้งมั่นอยู่บนการอธิษฐานภาวนาของพระจิตเจ้าในตัวเราและบนความรักมั่นคงของพระบิดาผู้ประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวให้แก่เรา[28] คำตอบแรกต่อคำวอนขอของเราก็คือการเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้อธิษฐานภาวนา

 2740  การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าทำให้คำขอจากการอธิษฐานภาวนาของคริสตชนมีประสิทธิผล พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนาของเรา พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาในเราและพร้อมกับเรา เนื่องจากว่าพระทัยของพระบุตรไม่แสวงหาสิ่งใดนอกจากสิ่งที่พระบิดาพอพระทัย แล้วบรรดาบุตรบุญธรรมจะไปติดใจขอสิ่งใดอื่นนอกเหนือจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์จะประทานให้ได้เล่า?

 2741   พระเยซูเจ้ายังทรงอธิษฐานเพื่อเรา แทนเรา และเพื่อผลประโยชน์ของเราด้วย การวอนขอทุกอย่างของเราถูกรวมไว้ครั้งเดียวตลอดไปในเสียงร้องของพระองค์บนไม้กางเขนและพระบิดาทรงรับฟังในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ และเพราะเหตุนี้พระองค์จึงไม่ทรงเลิกที่จะวอนขอพระบิดาแทนเรา[29] ถ้าการอธิษฐานภาวนาของเรายึดมั่นอยู่กับการอธิฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าด้วยความไว้วางใจและความมั่นใจเยี่ยงบุตร เราย่อมได้รับทุกสิ่งที่เราวอนขอในพระนามของพระองค์ มากกว่าที่สิ่งที่เราวอนขอด้วย คือได้รับพระจิตเจ้าผู้ทรงรวมของประทานทุกสิ่งไว้ในพระองค์

 

[20] เทียบ รม 5:3-5.             

[21] เทียบ มธ 6:8.

[22] เทียบ รม 8:27.              

[23] เทียบบริบททั้งหมดของ ยก 1:5-8; 4:1-10; 5:16.  

[24] เทียบ ยก 4:4.

[25] Evagrius Ponticus, De oratione, 34: PG 79,1173.

[26] Sanctus Augustinus, Epistula 130, 8, 17: CSEL 44, 59 (PL 33, 500).             

[27] เทียบ รม 10:12-13.           

[28] เทียบ รม 8:26-39.          

[29] เทียบ ฮบ 5:7; 7:25; 9:24.   

IV. ความยืนหยัดมั่นคงในความรัก

IV. ความยืนหยัดมั่นคงในความรัก

 2742  “จงอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ” (1 ธส 5:17) “จงขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดาอยู่เสมอสำหรับทุกสิ่ง เดชะพระนามของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (อฟ 5:20) “จงอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอ ขอพระจิตเจ้าทรงดลใจคำอธิษฐานวอนขอต่างๆ ทุกโอกาส จงตื่นเฝ้า อย่าท้อถอยที่จะวอนขอเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย” (อฟ 6:18) “พระเจ้าไม่ได้ทรงสั่งให้เราทำงาน ตื่นเฝ้า จำศีลอดอาหารอยู่เสมอ แต่มีกฎสั่งให้เราอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ”[30] ความกระตือรือร้นโดยไม่เหน็ดเหนื่อยนี้จะได้มาจากความรักเท่านั้น มีแต่ความรักที่ถ่อมตน ไว้ใจในพระเจ้าและสม่ำเสมอเท่านั้นจะต่อสู้กับความเฉื่อยชาและเกียจคร้านในการอธิษฐานภาวนาได้ ความรักนี้เปิดใจของเราต่อความจริงสามประการที่ให้ชีวิตและความสว่างของความเชื่อเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา

 2743   เราอาจอธิษฐานภาวนาได้เสมอ เวลาของคริสตชนเป็นเวลาที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วประทับอยู่กับเรา “ทุกวัน” (มธ 28:20) ไม่ว่าจะเกิดมีพายุใดๆ ขึ้น[31] เวลาของเราอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า

            “แม้คนที่อยู่ในตลาดหรือกำลังเดินทางก็อาจตั้งใจภาวนาได้ คนที่กำลังนั่งในโรงงานและเย็บหนังก็อาจยกจิตใจหาพระเจ้าได้ ผู้รับใช้ที่กำลังเสิร์ฟอาหาร หรือวิ่งขึ้นลง หรือกำลังทำงานในครัว [...] ก็อาจถวายการอธิษฐานภาวนาจากส่วนลึกของจิตใจได้เสมอ”[32]

 2744   การอธิษฐานภาวนาเป็นความจำเป็นสำหรับชีวิต การพิสูจน์ตรงกันข้ามก็มีเหตุผลไม่น้อยกว่า คือถ้าเราไม่ยอมให้พระจิตเจ้าทรงนำเรา เราย่อมตกเป็นทาสของบาปอีกครั้งหนึ่ง[33] พระจิตเจ้าจะเป็น “ชีวิตของเรา” ได้อย่างไร ถ้าใจของเราอยู่ห่างไกลจากพระองค์?

           “ไม่มีอะไรเท่าเทียบกับการอธิษฐานภาวนา เพราะการนี้ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นได้ ทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย […] เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้อธิษฐานภาวนาจะตกในบาป”[34]

              “ผู้อธิษฐานภาวนาได้รับความรอดพ้นแน่ๆ ผู้ที่ไม่อธิษฐานภาวนาก็ถูกโทษแน่ๆ”[35]

 2745  การอธิษฐานภาวนาแยกออกจากชีวิตคริสตชนไม่ได้ เพราะกล่าวถึงเรื่องความรักและการสละตนแบบเดียวกันที่สืบเนื่องมาจากความรัก กล่าวถึงการปรับตนอย่างบุตรและคนรักกับแผนการของพระบิดา กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเราในพระจิตเจ้าให้ละม้ายคล้ายกันยิ่งๆ ขึ้นกับพระคริสตเยซู กล่าวถึงความรักเดียวกันต่อมวลมนุษย์ กล่าวถึงความรักนี้ที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา “เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน เราสั่งท่านทั้งหลายดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักกัน” (ยน 15:16-17)

          “ผู้ที่รวมการอธิษฐานภาวนากับงานที่ต้องทำ รวมกิจการที่ควรทำกับการอธิษฐานภาวนา ก็อธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ โดยวิธีนี้เท่านั้น เราจึงอาจรับพระบัญชาให้อธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอนี้ ทำให้เป็นจริงได้”[36]

 

[30] Evagrius Ponticus, Capita practica ad Anatolium, 49: SC 171, 610 (PG 40, 1245).  

[31] เทียบ ลก 8:24.              

[32] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De Anna, sermo 4, 6: PG 54, 668.

[33] เทียบ กท 5:16-25.          

[34] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De Anna, sermo 4, 5: PG 54, 666.

[35] Sanctus Alfonsus Maria de Liguori, Del gran mezzo della preghiera, pars 1, c. 1, ed. G. Cacciatore (Roma 1962) p. 32.

[36] Origenes, De oratione, 12, 2: GCS 3, 324-325 (PG 11, 452).    

ตอนที่ 3

การอธิษฐานภาวนาตามเวลาของพระเยซูเจ้า

 

 2746  พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาของพระองค์มาถึงแล้ว[37] การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ ซึ่งยาวที่สุดที่พระวรสารถ่ายทอดมาให้เรา ครอบคลุมแผนการการเนรมิตสร้างและแผนการความรอดพ้นทั้งหมดของพระเจ้า รวมทั้งการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วย การอธิษฐานภาวนาตามเวลาของพระเยซูเจ้ายังคงเป็นการอธิษฐานภาวนาของพระองค์อยู่เสมอ เช่นเดียวกับการเลี้ยงปัสกาของพระองค์ซึ่งแม้จะเกิดขึ้น “ครั้งเดียวตลอดไป” แล้วนั้น ก็ยังคงดำรงอยู่เป็นปัจจุบันในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

 2747    ธรรมประเพณีของคริสตชนเรียกการอธิษฐานภาวนานี้ว่า “คำอธิษฐานในฐานะสมณะ” ของพระเยซูเจ้า คำอธิษฐานภาวนาตอนนี้เป็นคำอธิษฐานภาวนาของมหาสมณะของเรา ที่แยกไม่ได้จากการถวายบูชาของพระองค์ และจากการเสด็จไปเฝ้าพระบิดา (เป็น “การผ่าน” – Pascha) ในการนี้พระองค์ “ทรงถวายองค์” แด่พระบิดาอย่างสมบูรณ์[38]

 2748  ในการอธิษฐานภาวนาถวายบูชาปัสกานี้ พระองค์ทรง “นำทุกสิ่งให้มารวมกันอยู่ใต้ปกครอง”[39] คือ พระเจ้าและโลก พระวจนาตถ์และธรรมชาติมนุษย์ ชีวิตนิรันดรและกาลเวลา ความรักที่ทรงมอบพระองค์และบาปที่ทรยศต่อความรักนี้ บรรดาศิษย์ในเวลานั้นและที่จะมีความเชื่อในพระองค์โดยคำพูดของเขา ความสละตนของพระองค์และพระสิริรุ่งโรจน์ การอธิษฐานภาวนานี้เป็นการอธิษฐานภาวนาแห่งเอกภาพ

 2749  พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติภารกิจทั้งหมดของพระบิดา และการอธิษฐานภาวนาของพระองค์แผ่ขยายไปจนวาระสุดท้ายที่ภารกิจเหล่านี้จะสำเร็จลง พระเยซูเจ้าที่พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งให้ก็ทรงมอบพระองค์ทั้งหมดแก่พระบิดาและทรงใช้อิสรภาพสูงสุดสำแดงพระองค์[40] ประทานอำนาจที่พระบิดาประทานให้นี้แก่มนุษย์ทุกคน พระบุตรผู้ทรงทำตนเป็นผู้รับใช้นี้ทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” Pantokrator (ผู้ปกครองทุกสิ่ง) พระมหาสมณะของเราซึ่งอธิษฐานภาวนาเพื่อเรานี้ยังเป็นผู้ที่อธิษฐานภาวนาในตัวเราและเป็นพระเจ้าผู้ทรงฟังเราอีกด้วย

 2750  เมื่อเข้าร่วมในพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า เราก็รับบทภาวนาที่พระองค์ทรงสอนเรา คือบท “ข้าแต่พระบิดา” ได้จากภายใน คำอธิษฐานภาวนาในฐานะสมณะของพระองค์เป็นพลังบันดาลใจคำวอนขอสำคัญๆ ของบท “ข้าแต่พระบิดา”  พลังบันดาลใจนี้คือความสนใจถึงพระนามของพระบิดา[41] ความกระตือรือร้นต่อพระอาณาจักร (พระสิริรุ่งโรจน์[42]) ของพระบิดา การขอให้พระประสงค์ของพระบิดา นั่นคือแผนการที่จะประทานความรอดพ้นแก่มนุษย์[43]สำเร็จไป และการช่วยให้รอดพ้นจากมารร้าย[44]

 2751   ที่สุด ในคำอธิษฐานภาวนาบทนี้ พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เราเห็น “ความรู้จัก” ที่แยกกันไม่ออกของพระบิดาและพระบุตร[45] ซึ่งเป็นพระธรรมล้ำลึกของชีวิตการอธิษฐานภาวนานั่นเอง

 

[37] เทียบ ยน บทที่ 17.            

[38] เทียบ ยน 17:11,13,19.        

[39] เทียบ อฟ 1:10.

[40] เทียบ ยน 17:11,13,19,24.     

[41] เทียบ ยน 17:6,11,12,26       

[42] เทียบ ยน 17:1,5,10,22,23-26. 

[43] เทียบ ยน 17:2,4,6,9,11,12,24. 

[44] เทียบ ยน 17:15.             

[45] เทียบ ยน 17:3,6-10,25.      

สรุป

 2752   การอธิษฐานภาวนาเรียกร้องความพยายามและการต่อสู้กับตนเองและกับเล่ห์กลของผู้ผจญ การต่อสู้นี้แยกไม่ออกจาก “การต่อสู้ทางจิต” ซึ่งจำเป็นเพื่อจะทำกิจการตามจิตของพระคริสตเจ้าให้เป็นนิสัยได้ แต่ละคนอธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่เขาดำเนินชีวิต เพราะแต่ละคนดำเนินชีวิตเหมือนกับที่เขาอธิษฐานภาวนา

 2753   ในการต่อสู้เพื่ออธิษฐานภาวนา เราต้องเผชิญกับความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา กับแนวโน้มต่างๆ ในวิธีคิด ประสบการณ์ความล้มเหลวของเรา เราต้องตอบโต้การผจญเหล่านี้ที่มักทำให้เราสงสัยว่าการอธิษฐานภาวนามีประโยชน์หรือเป็นไปได้เทียวหรือด้วยความสุภาพถ่อมตน ความไว้วางใจในพระเจ้าและความพยายามยืนหยัดมั่นคงอย่างต่อเนื่อง

 2754   ความยากลำบากที่เรามักจะพบในการอธิษฐานภาวนาก็คือการมีใจวอกแวกและความรู้สึกแห้งแล้งในจิตใจ เราจะแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ด้วยความเชื่อ การกลับใจและการมีใจตื่นเฝ้าคอยระวังอยู่เสมอ

 2755   การผจญสองอย่างที่มักจะคุกคามการอธิษฐานภาวนาคือการขาดความเชื่อและความท้อแท้เฉื่อยชาซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการหมดกำลังใจ สภาพเช่นนี้เกิดจากการความหย่อนยานในการสละตนและมักจะทำให้เราท้อแท้หมดกำลังใจ

 2756   ความไว้วางใจเยี่ยงบุตรมักจะถูกพิสูจน์เมื่อเรารู้สึกว่าพระเจ้าไม่ทรงฟังการอธิษฐานภาวนาของเรา พระวรสารเชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าการอธิษฐานภาวนาของเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระจิตเจ้าหรือไม่

 2757    “จงอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ” (1 ธส 5:17) การอธิษฐานภาวนาทำได้เสมอ และยังจำเป็นสำหรับชีวิตด้วย การอธิษฐานภาวนาและชีวิตคริสตชนแยกจากกันไม่ได้

 2758   การอธิษฐานภาวนาตามเวลาของพระเยซูเจ้า ที่ได้ชื่ออย่างถูกต้องว่า “คำอธิษฐานในฐานะสมณะ[46]นั้นสรุปแผนการเนรมิตสร้างและแผนการช่วยให้รอดพ้นไว้ทั้งหมด คำอธิษฐานภาวนาบทนี้เป็นพลังบันดาลใจแก่คำวอนขอสำคัญๆ ของบทข้าแต่พระบิดา

 

[46] เทียบ ยน บทที่ 17.