ตอนที่เก้า

พระบัญญัติประการที่เก้า

 

                    “อย่าโลภมักได้บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน อย่าโลภมักได้ภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือบ่าวไพร่ชายหญิง โค ลา หรือทรัพย์สินใดที่เป็นของเพื่อนบ้าน” (อพย 20:17)

                    “ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว” (มธ 5:28)

 2514   นักบุญยอห์นกล่าวถึงความใคร่หรือความโลภอยากได้ไว้สามอย่าง ได้แก่ความมัวเมาในโลกีย์ (ตามตัวอักษรว่า “ความปรารถนาของเนื้อหนัง”) ความโลภอยากได้ทุกสิ่ง (ตามตัวอักษรว่า“ความปรารถนาอยากเห็น”) และความหยิ่งทะนงโอ้อวดในทรัพย์สมบัติ (ตามตัวอักษรว่า “ความหยิ่งผยองของชีวิต”)[253] ตามธรรมประเพณีคำสอนคาทอลิก พระบัญญัติประการที่เก้าห้ามการปลงใจผิดประเวณี ส่วนพระบัญญัติประการที่สิบห้ามความโลภทรัพย์สินของผู้อื่น

 2515   ตามความหมายทางรากศัพท์ คำว่า “ความใคร่” หรือ “ความโลภอยากได้” (concupiscence) หมายถึงความใคร่หรือปรารถนาอยากได้ของมนุษย์ เทววิทยาของคริสตศาสนากำหนดให้คำนี้หมายถึงความอยากได้ของประสาทสัมผัสที่ขัดกับการทำงานโดยใช้เหตุผล นักบุญเปาโลยังเปรียบการนี้กับการเป็นกบฏที่ “เนื้อหนัง” มีต่อ “จิต”[254] ความใคร่หรือความปรารถนาอยากได้นี้สืบเนื่องมาจากการไม่เชื่อฟังเหมือนบาปประการแรก[255] ความใคร่นี้รบกวนสมรรถนะทางศีลธรรมของมนุษย์ และแม้ในตัวเองอาจไม่ใช่ความผิด มักชักนำมนุษย์ให้ทำผิด[256]

 2516   ในฐานะที่มนุษย์เป็นสิ่งที่ประกอบด้วย จิต และ ร่างกาย จึงมีความโน้มเอียงที่จะต่อสู้กันระหว่าง “จิต” และ “ร่างกาย” แต่โดยแท้จริง การต่อสู้กันนี้สืบเนื่องมาจากบาป เป็นผลของบาปและในเวลาเดียวกันเป็นการย้ำถึงบาปด้วย สภาพเช่นนี้เป็นประสบการณ์ประจำวันของการต่อสู้ทางจิตใจ

                  “เห็นได้ชัดว่าท่านอัครสาวกมิได้ดูถูกหรือกล่าวว่าร่างกายเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะร่างกายร่วมกับวิญญาณที่เป็นจิตก่อให้เกิดธรรมชาติมนุษย์และลักษณะเฉพาะตนของเขา แต่ตรงกันข้าม ท่านกล่าวถึงการกระทำหรือมากกว่านั้นกล่าวถึงนิสัยประจำที่ดีและชั่วทางศีลธรรม – คุณธรรมและนิสัยชั่ว – ซึ่งเป็นผลของการเชื่อฟัง (ในกรณีแรก) หรือการต่อต้าน (ในกรณีหลัง) งานกอบกู้ของพระจิตเจ้า ดังนั้น ท่านอัครสาวกจึงเขียนว่า ‘ถ้าเรามีชีวิตเดชะพระจิตเจ้าแล้ว เราจงดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้าด้วย’ (กท 5:25)”[257]

 

[253] เทียบ 1 ยน 2:16 (Vulgata).  

[254] เทียบ กท 5:16,17,24; อฟ 2:3.

[255] เทียบ ปฐก 3:11.           

[256] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 5: DS 1515.            

[257] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Dominum et vivificantem, 55: AAS 78 (1986) 877-878.             

I. การมีใจบริสุทธิ์

I. การมีใจบริสุทธิ์

 2517   ใจเป็นที่ตั้งของบุคลิกทางศีลธรรม “ใจเป็นที่เกิดของความคิดชั่วร้าย การฆ่าคน การประพฤติผิดทางเพศ การผิดประเวณี” (มธ 15:19) การต่อสู้กับความปรารถนาทางเนื้อหนังจึงหมายถึงการฝึกใจให้รู้จักบังคับตน

                    “ท่านจงยึดมั่นความซื่อและจงเป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นเหมือนเด็กทารกซึ่งไม่รู้จักความชั่วที่ทำลายชีวิตของมนุษย์”[258]

 2518  ความสุขแท้ประการที่หกประกาศว่า “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มธ 5:8) “ใจบริสุทธิ์” หมายถึงผู้ที่ปรับความคิดและเจตนาของตนให้เข้ากับข้อเรียกร้องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า โดยเฉพาะในสามเรื่อง คือในเรื่องความรัก[259] ในเรื่องความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องทางเพศ[260] ในเรื่องการรักความจริงและความถูกต้องของความเชื่อ[261] มีความสัมพันธ์กันระหว่างความบริสุทธิ์ของจิตใจ ร่างกาย และความเชื่อ

                    บรรดาผู้มีความเชื่อต้องเชื่อข้อความเชื่อ “เพื่อว่าเมื่อเชื่อ เขาจะได้เชื่อฟังพระเจ้า เมื่อเชื่อฟังพระเจ้า เขาจะได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เขาจะได้ทำใจให้บริสุทธิ์ เมื่อทำใจให้บริสุทธิ์ เขาจะได้เข้าใจเรื่องที่เขาเชื่อ”[262]

 2519 พระเจ้าทรงสัญญากับ “ผู้มีใจบริสุทธิ์” ว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้าเหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้าเราและเราจะเป็นเหมือนพระองค์[263] ความบริสุทธิ์ของจิตใจเป็นเงื่อนไขก่อนจะแลเห็นพระเจ้า ตั้งแต่บัดนี้แล้ว การมีใจบริสุทธิ์นี้ช่วยให้เราเห็นเหมือนกับพระเจ้า ช่วยให้เรายอมรับผู้อื่นเหมือนกับ “เพื่อนพี่น้อง” ช่วยให้เรายอมรับว่าร่างกายของมนุษย์ ทั้งของเราและของเพื่อนพี่น้อง
เป็นเสมือนพระวิหารของพระจิตเจ้า เป็นการแสดงให้เห็นความงามของพระเจ้า

 

[258] Hermas, Pastor, 27, 1 (mandatum 2, 1): SC 53, 146 (Funk 1, 70).

[259] เทียบ 1 ธส 4:3-9; 2 ทธ 2:22.

[260] เทียบ 1 ธส 4:7; คส 3:5; อฟ 4:19.           

[261] เทียบ ทต 1:15; 1 ทธ 1:3-4; 2 ทธ 2:23-26.    

[262] Sanctus Augustinus, De fide et Symbolo, 10, 25: CSEL 25, 32 (PL 40, 196).    

[263] เทียบ 1 คร 13:12; 1 ยน 3:2.

II.  การต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์

II.  การต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์

 2520 ศีลล้างบาปประทานพระหรรษทานให้ผู้รับมีความบริสุทธิ์พ้นจากบาปทั้งมวล แต่ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วยังต้องต่อสู้ต่อไปกับความใคร่ของเนื้อหนังและความปรารถนาไร้ระเบียบ แต่อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า เขามีชัยชนะได้

         - อาศัยคุณธรรมและความบริสุทธิ์ที่พระเจ้าประทานให้ เพราะความบริสุทธิ์ยอมให้เรารักด้วยใจตรงและไม่แบ่งแยก

         - อาศัยเจตนาที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการแสวงหาจุดหมายแท้จริงของมนุษย์ ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วพยายามอย่างตรงไปตรงมาที่จะรู้และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าในทุกเรื่อง[264]

         - อาศัยวิสัยทัศน์ที่บริสุทธิ์ทั้งภายนอกและภายใน โดยบังคับประสาทความรู้สึกและจินตนาการ ไม่ยอมเชื่อฟังความคิดไม่บริสุทธิ์ที่ชักนำให้หันเหจากหนทางพระบัญญัติของพระเจ้ามาหาตนเอง “เมื่อคนโฉดเขลาเห็นรูปเหล่านี้ก็เกิดความปรารถนาแรงกล้า” (ปชญ 15:5)

         - อาศัยการอธิษฐานภาวนา

                “ข้าพเจ้าเคยคิดว่าการรู้จักบังคับตนได้มาจากกำลังของตนเองที่ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่ามี ข้าพเจ้าช่างโง่เขลาจริงๆ จนไม่รู้ว่า […] ไม่มีผู้ใดอาจบังคับตนเองได้ถ้าพระองค์ไม่ประทานพลังให้ ใช่แล้ว พระองค์คงประทาน(พลังนี้)ให้ ถ้าข้าพเจ้าคร่ำครวญในใจขึ้นไปถึงพระกรรณและมีความเชื่อมั่นคงเอาใจใส่ถึงพระองค์”[265]

 2521    ความบริสุทธิ์เรียกร้องให้มีความสงบเสงี่ยม (รู้จักอาย) ความสงบเสงี่ยมนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการรู้จักบังคับตน ความสงบเสงี่ยมปกป้องส่วนลึกภายในของบุคคล หมายถึงการไม่ยอมเปิดเผยสิ่งที่ควรต้องปิดบังไว้ ความสงบเสงี่ยมถูกจัดไว้สำหรับความบริสุทธิ์ที่ต้องแสดงความระมัดระวังตนเองด้วย ความสงบเสงี่ยมยังคอยแนะนำการมองและท่าทางความประพฤติให้สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของบุคคลและความสัมพันธ์ของเขา(กับผู้อื่น)ด้วย

 2522  ความสงบเสงี่ยมปกป้องรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลและของความรักที่เขามี ความสงบเสงี่ยมชักชวนเขาให้มีความอดทนและความพอดีในความสัมพันธ์ของความรัก เรียกร้องให้รู้จักรักษาเงื่อนไขของการมอบตนและการผูกมัดตนเองตลอดไประหว่างกันของชายและหญิง ความสงบเสงี่ยมเป็นความสุภาพเรียบร้อย ช่วยให้รู้จักเลือกเครื่องแต่งกาย รู้จักเงียบหรือสงวนท่าทีคอยระวังเมื่อมีอันตรายจากการสอดรู้สอดเห็นที่เสี่ยงอันตราย ความสงบเสงี่ยมคือการรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม

 2523   ความสงบเสงี่ยมมีทั้งของความรู้สึกและของร่างกายด้วย เช่น ความสงบเสงี่ยมยังต่อต้านการดูรูปโป๊เปลือยอย่างสอดรู้สอดเห็นหรือการใช้รูปโป๊เปลือยเพื่อการโฆษณา หรือไปไกลกว่านั้นโดยเปิดเผยความลับที่ถูกฝากไว้ฉันมิตร ความสงบเสงี่ยมเป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินชีวิตที่ช่วยให้ต่อต้านความดึงดูดของแฟชั่นและแรงผลักดันของอุดมการณ์ที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

 2524    ความสงบเสงี่ยมมีรูปแบบหลายหลากแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมต่างๆ ถึงกระนั้นความสงบเสงี่ยมที่ไหนไม่ว่ายังคงเป็นความสำนึกถึงศักดิ์ศรีทางจิตใจที่เป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ เกิดมาจากการตื่นตัวของมโมธรรมของผู้เกี่ยวข้อง การสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้มีความสงบเสงี่ยมจึงเป็นการส่งเสริมความเคารพต่อบุคคลมนุษย์

 2525  ความบริสุทธิ์แบบคริสตชนเรียกร้องให้บรรยากาศด้านสังคมบริสุทธิ์ด้วย จึงเรียกร้องการให้ข้อมูลทางอุปกรณ์สื่อสารมวลชนได้ระมัดระวังมีความเคารพและความพอดี การมีใจบริสุทธิ์ช่วยให้พ้นจากสื่อเร่งเร้าทางเพศที่กำลังขยายตัวและขจัดการแสดงบันเทิงที่ส่งเสริมความสอดรู้สอดเห็นที่ผิดศีลธรรมและการชอบดูภาพลามก

 2526  สิ่งที่เรียกว่า การปล่อยตัวทำตามใจในเรื่องศีลธรรม ตั้งอยู่บนความคิดที่ผิดเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ เสรีภาพเช่นนี้จะมีได้เรียกร้องให้ตนเองมีการอบรมศึกษาในเรื่องกฎศีลธรรมเสียก่อน จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบการให้การศึกษาอบรมที่จะต้องให้เยาวชนได้รู้จักเคารพความจริง คุณสมบัติทางจิตใจและศักดิ์ศรีทางศีลธรรมและจิตวิญญาณของมนุษย์

 2527  “ข่าวดีของพระคริสตเจ้าเสริมสร้างชีวิตและอารยธรรมของมนุษย์ที่ตกในบาปแล้วอยู่เสมอ และยังต่อต้านและขจัดความผิดและความชั่วร้ายที่สืบเนื่องมาจากการประจญล่อลวงอยู่ตลอดเวลาของบาป ไม่เคยหยุดยั้งที่จะชำระและยกย่องความประพฤติของมวลประชากรให้สูงขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมความงดงามของจิตใจและคุณสมบัติของประชาชนทุกยุคทุกสมัยให้ร่ำรวยยิ่งขึ้นจากภายในโดยคุณสมบัติจากเบื้องบน ประทานพลังจากภายใน บันดาลความมั่นคงและสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า”[266]

 

[264] เทียบ รม 12:2; คส 1:10.    

[265] Sanctus Augustinus, Confessiones, 6, 11, 20: CCL 27, 87 (PL 32, 729-730).     

[266] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 58: AAS 58 (1966) 1079.

สรุป

สรุป

 2528   ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว” (มธ 5:28)

 2529   พระบัญญัติประการที่เก้าปรามเราให้ระวังไม่ปรารถนาหรือมีความใคร่ทางเพศ

 2530   การต่อสู้กับความใคร่ทางเพศรวมไปถึงการชำระจิตใจและฝึกหัดการบังคับตน

 2531    การมีใจบริสุทธิ์ช่วยให้เราแลเห็นพระเจ้า และยังช่วยเราตั้งแต่เดี๋ยวนี้ให้มองเห็นทุกอย่างตามที่พระเจ้าทรงประสงค์

 2532   การมีใจบริสุทธิ์เรียกร้องให้มีการอธิษฐานภาวนา การฝึกฝนความบริสุทธิ์ มีเจตนาและวิสัยทัศน์ที่บริสุทธิ์

 2533   การมีใจบริสุทธิ์เรียกร้องให้มีความสงบเสงี่ยมซึ่งเป็นความรู้จักอดกลั้น การแต่งกายเรียบร้อยถูกกาลเทศะ ความสงบเสงี่ยมปกปักรักษาความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของบุคคลด้วย