ตอนที่ 5

พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ

วันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

631      พระเยซูเจ้า “ได้เสด็จลงไปยังแผ่นดินเบื้องล่างก่อนแล้ว และพระองค์ผู้เสด็จลงไปก็เป็นองค์เดียวกับผู้เสด็จขึ้นมา” (อฟ 4:9-10) สูตรประกาศความเชื่อของอัครสาวกกล่าวในข้อเดียวกันถึงการเสด็จของพระคริสตเจ้าสู่แดนมรณะ และการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม  เพราะในวันปัสกาพระองค์ทรงบันดาลให้ชีวิตผุดขึ้นมาจากส่วนลึกของความตาย

             “พระคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์

              ผู้เสด็จกลับคืนพระชนมชีพจากแดนผู้ตาย

              ส่องแสงนำสันติภาพมาให้มนุษยชาติ

              และทรงดำรงพระชนม์และครองราชย์ตลอดนิรันดร”[526]    

วรรค 1

พระคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ

 

 632      คำยืนยันหลายครั้งในพันธสัญญาใหม่ว่าพระเยซูเจ้า “ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (1 คร 15:20)[527] เป็นการอนุมานว่าก่อนจะทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ทรงพำนักอยู่ในแดนผู้ตาย[528] การเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกให้ความหมายแรกของการเสด็จสู่แดนมรณะว่า เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้วเหมือนมนุษย์ทุกคนแล้ว ได้เสด็จด้วยพระวิญญาณลงไปยังที่พำนักของบรรดาผู้ตาย แต่เสด็จลงไปที่นั่นดังพระผู้กอบกู้ ประกาศข่าวดีแก่บรรดาจิตวิญญาณที่ถูกกักขังอยู่ที่นั่น[529]

 633      พระคัมภีร์เรียกที่พำนักของผู้ตายที่พระคริสตเจ้าลงไปเมื่อสิ้นพระชนม์ว่า “Sheol” (“เชโอล” ในภาษาฮีบรู) หรือ “Haides” (“ไฮเดส” ในภาษากรีก)[530] (เราแปลเป็นภาษาไทยว่า “แดนผู้ตาย” หรือ “แดนมรณะ” ส่วนภาษาอังกฤษแปลว่า “hell” ซึ่งที่นี่ต้องไม่แปลว่า “นรก”) ซึ่งผู้ที่อยู่ที่นั่นไม่อาจเห็นพระเจ้าได้[531] ผู้ตายทุกคน ทั้งคนดีและคนชั่วซึ่งรอคอยพระผู้ไถ่ อยู่ในสภาพเช่นนี้จริงๆ[532] แต่นี่ก็มิได้หมายความว่าเขามีชะตากรรมเดียวกัน ดังที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นในเรื่องอุปมาที่เล่าว่าลาซารัสผู้ยากจนถูกรับไปอยู่ “ในอ้อมอกของอับราฮัม”[533] “ดังนั้น พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จลงไปในแดนมรณะเพื่อช่วยวิญญาณของบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาที่รอคอยอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม”[534]  พระเยซูเจ้ามิได้เสด็จลงไปในแดนมรณะเพื่อช่วยผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้ว[535] และไม่ใช่เพื่อทำลายนรกของคนบาปที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้ว[536] แต่เพื่อช่วยบรรดาผู้ชอบธรรมซึ่งสิ้นชีวิตล่วงหน้าไปก่อนพระองค์[537]

 634     “ข่าวดีได้รับการประกาศแก่บรรดาผู้ตายด้วย......” (1 ปต 4:6) การเสด็จลงไปยังแดนมรณะจึงเป็นการทำให้การประกาศข่าวดีเรื่องความรอดพ้นประสบความสำเร็จ กิจการนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพันธกิจพระเมสสิยาห์ของพระเยซูเจ้า ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่มีความหมายแท้จริงกว้างใหญ่ในงานกอบกู้มนุษย์ทุกคน ทุกสมัย ทุกสถานที่ เพราะทุกคนที่ได้รับความรอดพ้น ล้วนเป็นผู้มีส่วนในงานกอบกู้

 635      พระคริสตเจ้าเสด็จลงไปยังส่วนลึกของความตาย[538] เพื่อ “บรรดาผู้ตาย” จะได้ยิน  “พระสุรเสียงของพระบุตรพระเจ้า และผู้ที่ได้ยินแล้วจะมีชีวิต” (ยน 5:25) พระเยซูเจ้า “เจ้าชีวิต”[539] “โดยการสิ้นพระชนม์” ได้ทรงทำลาย “มารผู้มีอำนาจเหนือความตายลงได้” และทรงปลดปล่อย   “ผู้ตกเป็นทาสอยู่ตลอดชีวิตเพราะความกลัวตาย” ให้เป็นอิสระ    (ฮบ 2:14-15) ต่อจากนั้นพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงทรง “มีอำนาจเหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18) และ “ทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน รวมทั้งใต้พื้นพิภพจะย่อเข่าลงนมัสการพระนามเยซูนี้” (ฟป 2:10)

               “วันนี้ในแผ่นดินมีความเงียบยิ่งใหญ่ ต่อจากความเงียบยิ่งใหญ่ก็มีแต่ความอ้างว้างวังเวง มีความเงียบยิ่งใหญ่ก็เพราะพระมหากษัตริย์ทรงพระบรรทม แผ่นดินตกใจกลัวและสงบเงียบ เพราะพระเจ้าผู้ทรง   พระกายทรงพระบรรทม และทรงปลุกผู้ที่หลับอยู่ตั้งแต่สร้างโลกมา […] ใช่แล้ว พระองค์เสด็จไปหาบิดามารดาเดิมประหนึ่งเสด็จตามหาแกะที่หลงไป ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเสด็จเยี่ยมผู้พำนักอยู่ในความมืดและในเงาความตาย ก่อนอื่นใด พระองค์เสด็จไปปลดปล่อยอาดัมผู้ถูกจองจำให้พ้นจากความทุกข์  พร้อมกับเอวาผู้ถูกจองจำ – พระองค์ผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและเป็นลูกหลานของเขา […] (ตรัสว่า) ‘เราคือพระเจ้าของท่าน ซึ่งกลับเป็นบุตรของท่านเพราะท่าน […] ท่านซึ่งกำลังหลับอยู่ จงตื่นเถิด เพราะเราได้เนรมิตสร้างท่าน ไม่ใช่เพื่อให้ท่านถูกจองจำในแดนมรณะ จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตายเถิด เราเป็นชีวิตของบรรดาผู้ตาย’”[540]

 

สรุป

 636      เมื่อสูตรประกาศความเชื่อกล่าวว่าพระเยซูเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะก็ประกาศว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์จริงๆ และโดยการสิ้นพระชนม์ได้ทรงพิชิตความตายและมารปีศาจผู้มีอำนาจเหนือความตาย” (ฮบ 2:14)

 637      เมื่อพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์เสด็จลงไปยังที่พำนักของบรรดาผู้ตาย โดยที่ พระวิญญาณยังคงสนิทอยู่กับพระบุคคลของพระองค์ พระองค์ทรงเปิดประตูสวรรค์แก่บรรดาผู้ชอบธรรมที่ได้สิ้นชีวิตล่วงหน้าไปก่อนพระองค์

 

วรรค 2

วันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

 

 638     “เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น  พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลานโดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ” (กจ 13:32-33) การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นความจริงสูงสุดของความเชื่อของเราในพระคริสตเจ้า เป็นความจริงสำคัญที่สุดที่ถูกมอบไว้ให้แก่ชุมชนคริสตชนกลุ่มแรกที่นำความจริงนี้มาปฏิบัติในชีวิต  ถ่ายทอดสืบต่อมาเป็นธรรมประเพณีพื้นฐาน  บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในพันธสัญญาใหม่ ได้รับการประกาศสอนเป็นสาระสำคัญของพระธรรมล้ำลึกปัสกาพร้อมกับเรื่องไม้กางเขน

              “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

                พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อทรงพิชิตความตาย

                พระองค์เองประทานชีวิตแก่บรรดาผู้ตาย”[541]

 

[526] Vigilia Paschatis, Praeconium Paschale (“Exsultet”): Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 273 et 275.  

[527] เทียบ กจ 3:15; รม 8:11.     

[528] เทียบ ฮบ 13:20.           

[529] เทียบ 1 ปต 3:18-19.        

[530] เทียบ ฟป 2:10; กจ 2:24; วว 1:18; อฟ 4:9.   

[531] เทียบ สดด 6:5; 88:11-13.   

[532] เทียบ สดด 89:48; 1 ซมอ 28:19; อสค 32:17-32.

[533] เทียบ ลก 16:22-26.        

[534] Catechismus Romanus, I, 6, 3: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 71.        

[535] Cf. Concilium Romanum (anno 745), De descensu Christi ad inferos: DS 587.    

[536] Cf. Benedictus XII, Libellus Cum dudum (1341), 18: DS 1011; Clemens VI, Epistula Super quibusdam (anno 1351), c. 15, 13: DS 1077. 

[537] Cf. Concilium Toletanum IV (anno 633), Capitulum, 1: DS 485; 25:52-53.       

[538] เทียบ มธ 12:40; รม 10:7; อฟ 4:9.           

[539] เทียบ กจ 3:15.             

[540] Antiqua homilia in sancto et magno Sabbato: PG 43, 440, 452, 461.     

[541] Liturgia Byzantina, Troparium in die Paschatis: Pentekostarion (Romae 1884) p.6. 

 

I. เหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์และเหนือธรรมชาติ

I. เหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์และเหนือธรรมชาติ

 639      พระธรรมล้ำลึกการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและแสดงให้เห็นได้ทางประวัติศาสตร์ตามที่พันธสัญญาใหม่เป็นพยานได้ ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 56 แล้ว นักบุญเปาโลเขียนข้อความนี้ถึงชาวโครินธ์ว่า “ข้าพเจ้ามอบธรรมประเพณีสำคัญที่สุดให้ท่าน เป็นธรรมประเพณีที่ข้าพเจ้าได้รับมาอีกทอดหนึ่ง คือ พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์ และทรงแสดงพระองค์แก่เคฟาส แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน” (1 คร 15:3-5) อัครสาวกท่านนี้กล่าวถึงธรรมประเพณีมีชีวิต (ซึ่งหมายความว่าผู้ถ่ายทอดธรรมประเพณีนี้ยังมีชีวิตอยู่) ที่ท่านเองได้เรียนรู้หลังจากที่ท่านได้กลับใจขณะเดินทางไปยังกรุงดามัสกัส[542]


พระคูหาว่างเปล่า

 640     “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า? พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลก 24:5-6) ในบรรดาเหตุการณ์ของวันปัสกา รายละเอียดประการแรกที่พบได้ก็คือ พระคูหาว่างเปล่า เรื่องนี้ในตัวเองไม่เป็นข้อพิสูจน์โดยตรง การที่พระศพของพระคริสตเจ้าไม่อยู่ในพระคูหาอาจได้รับคำอธิบายอย่างอื่นก็ได้[543] ถึงกระนั้นพระคูหาที่ว่างเปล่าก็ยังเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับทุกคน การที่บรรดาศิษย์พบพระคูหาว่างเปล่าก็เป็นก้าวแรกเพื่อจะยอมรับความจริงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ โดยเฉพาะในกรณีของบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์[544] แล้วในกรณีของเปโตร[545] ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 20:2) ยืนยันว่าตนเข้าไปในพระคูหา ได้เห็น “ผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น” (ยน 20:6) และมีความเชื่อ[546] ข้อความนี้ชวนให้คิดว่าเขาได้พบว่าการที่พระวรกายไม่อยู่แล้วในพระคูหาว่างเปล่า[547]ไม่อาจเป็นการกระทำของมนุษย์ได้ และพระเยซูเจ้ามิได้เพียงแต่ทรงกลับมาทรงพระชนมชีพเหมือนมนุษย์ทั่วไปดังเช่นในกรณีของลาซารัส[548]

 

การแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงคืนพระชนมชีพ

 641     มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า[549] ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์[550]เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว[551] ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง[552] หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน[553] ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้อง[554]จึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)

 642     เหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าที่เกิดขึ้นในช่วงวันฉลองปัสกานี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัครสาวกแต่ละคน – โดยเฉพาะกับเปโตร – ในการก่อสร้างยุคใหม่ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันปัสกา ในฐานะพยานถึงพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ท่านเหล่านี้จึงยังคงเป็นเสมือนฐานศิลาของพระศาสนจักรของพระองค์ ความเชื่อของชุมชนผู้มีความเชื่อกลุ่มแรกตั้งมั่นอยู่บนการเป็นพยานยืนยันของบางคนที่บรรดาคริสตชนรู้จักดีในสมัยนั้นและส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอยู่ในหมู่พวกเขาด้วย บรรดา “พยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า”[555]ก่อนอื่นหมดจึงได้แก่เปโตรและอัครสาวกทั้งสิบสองคน แต่ก็ไม่เพียงแต่เขาเหล่านี้เท่านั้น เปาโลยังกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนมากกว่าห้าร้อยคนที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่พวกเขาพร้อมกัน โดยเฉพาะแก่ยากอบและแก่อัครสาวกทุกคน[556]

 643      ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว[557] ความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่าพวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว[558]  ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็นเรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11)[559]เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวันปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)

 644      แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย[560] เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี[561] “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน[562] และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ


สภาพความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

 645     เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส[563] และเสวยพระกระยาหาร[564] พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”)[565]แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่[566] ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์[567] เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น[568] และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวน[569]หรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง[570]

 646     การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าไม่ใช่การกลับมามีชีวิตในโลกนี้อีกดังเช่นในกรณีของการกลับคืนชีพที่ทรงบันดาลให้เกิดขึ้นก่อนวันปัสกา เช่น กรณีบุตรสาวของไยรัส หนุ่มที่เมืองนาอิม ลาซารัส เหตุการณ์เหล่านี้เป็นอัศจรรย์ แต่บุคคลที่กลับคืนชีพอย่างอัศจรรย์เหล่านี้ก็ได้รับชีวิตในโลกนี้ “ตามปรกติ” อาศัยพระอานุภาพของพระเยซูเจ้า และต่อมาเขาก็จะตายอีก แต่การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงโดยสาระสำคัญ ในพระวรกายที่กลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงก้าวข้ามจากสภาพของความตายไปรับชีวิตใหม่ที่อยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระวรกายของพระเยซูเจ้าได้รับพระอานุภาพของพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม มีส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระชนมชีพของพระเจ้าในสภาพพระสิริรุ่งโรจน์ จนว่าเปาโลอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ว่า “พระองค์ทรงเป็นมนุษย์สวรรค์”[571]


การกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์โลกุตระ
(transcendent event)

 647    เพลงประกาศสมโภชปัสกาคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นต้นเป็นภาษาละตินว่า “Exsultet”ขับร้องว่า “คืนนี้ช่างเป็นคืนแสนสุขแท้ เป็นคืนเดียวที่ได้รับพระพรให้รู้กำหนดเวลาที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากแดนผู้ตาย”[572]อันที่จริง ไม่มีผู้ใดเป็นพยานที่เห็นการกลับคืนพระชนมชีพโดยตรงและไม่มีผู้นิพนธ์พระวรสารท่านใดกล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ ไม่มีผู้ใดกล่าวได้ว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างไร ประสาทสัมผัสของเรายิ่งไม่อาจเข้าถึงสาระสำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้ คือการผ่านไปยังชีวิตอีกแบบหนึ่งได้เลย การกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เห็นได้จากเครื่องหมายที่ว่าพระคูหาว่างเปล่าและบรรดาอัครสาวกพบพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพได้แล้วจริงๆ ถึงกระนั้น เหตุการณ์นี้ก็ยังอยู่เหนือและยิ่งใหญ่กว่าประวัติศาสตร์ ยังคงเป็นหัวใจของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่ออยู่ต่อไป เพราะเหตุนี้  พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงไม่ทรงสำแดงพระองค์แก่โลก[573] แต่ทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ “แก่ผู้ที่เดินทางจากแคว้นกาลิลีมายังกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับพระองค์ และบัดนี้เขาทั้งหลายเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ต่อหน้าประชาชน” (กจ 13:31)

 

[542] เทียบ กจ 9:3-18.           

[543] เทียบ ยน 20:13; มธ 28:11-15.

[544] เทียบ ลก 24:3,22-23.      

[545] เทียบ ลก 24:12.           

[546]  เทียบ ยน 20:8.           

[547] เทียบ ยน 20:5-7.           

[548] เทียบ ยน 11:44.           

[549] เทียบ มก 16:1; ลก 24:1.    

[550] เทียบ ยน 19:31,42.        

[551] เทียบ มธ 28:9-10; ยน 20:11-18.             

[552] เทียบ ลก 24:9-10.         

[553] เทียบ 1 คร 15:5.           

[554] เทียบ ลก 22 :31-32.       

[555] เทียบ กจ 1:22.             

[556] เทียบ 1 คร 15:4-8.         

[557] เทียบ ลก 22:31-32.         

[558] เทียบ ยน 20:19.           

[559] เทียบ มก 16:11,13.         

[560] เทียบ ลก 24:38.           

[561] เทียบ ลก 24:39.           

[562] เทียบ ยน 20:24-27.        

[563] เทียบ ลก 24:39; ยน 20:27.

[564] เทียบ ลก 24:30,41-43; ยน 21:9,13-15.       

[565] เทียบ ลก 24:39.           

[566] เทียบ ลก 24:40; ยน 20:20,27.              

[567] เทียบ มธ 28:9,16-17; ลก 24:15,36; ยน 20:14,19,26; 21:4.     

[568] เทียบ ยน 20:17.           

[569] เทียบ ยน 20:14-15.        

[570] เทียบ ยน 20:14,16; 21:4,7.  

[571] เทียบ 1 คร 15:35-50.       

[572] Vigilia Paschalis, Praeconium Paschale (“Exsultet”): Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 272.          

[573] เทียบ ยน 14:22.           

II. การกลับคืนพระชนมชีพ – เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

II.   การกลับคืนพระชนมชีพเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

 648     การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นความจริงที่เราเชื่อในฐานะเป็นการที่พระเจ้าซึ่งอยู่เหนือธรรมชาติของมนุษย์ทรงเข้ามาแทรกแซงในสิ่งสร้างและในประวัติศาสตร์ ในการ กลับคืนพระชนมชีพนี้ทั้งสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพทรงทำงานร่วมกันและทรงสำแดงพระบุคลิกเฉพาะของแต่ละพระองค์ การกลับคืนพระชนมชีพนี้เกิดขึ้นโดยพระอานุภาพของพระบิดาผู้ทรง “บันดาลให้(พระคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์)กลับคืนพระชนมชีพ” (กจ 2:24) และโดยวิธีนี้ทรงนำมนุษยภาพของพระบุตร – ซึ่งหมายถึงพระวรกายของพระองค์ – ให้เข้ามาอยู่ในพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์ พระเยซูเจ้าทรงได้รับการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าโดยทางพระจิตเจ้าผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “พระบุตรผู้ทรงอำนาจของพระเจ้าโดยการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (รม 1:4) นักบุญเปาโลย้ำว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพ[574] อาศัยการกระทำของพระจิตเจ้าซึ่งทรงบันดาลให้สภาพมนุษย์ที่ตายแล้วของพระเยซูเจ้ากลับมีชีวิตและเรียกพระองค์มารับสถานภาพรุ่งโรจน์เป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า”

 649      พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ  พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ[575] ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ”(1 ธส 4:14)

 650     บรรดาปิตาจารย์พิจารณาการกลับคืนพระชนมชีพโดยคำนึงถึงพระบุคคลของพระคริสตเจ้าที่ยังคงสนิทอยู่กับพระวิญญาณและพระวรกายที่ความตายทำให้แยกจากกันแล้ว “เนื่องจากเอกภาพของพระธรรมชาติพระเจ้าที่ยังคงอยู่อย่างเท่าๆ กันกับพระวิญญาณและพระวรกายมนุษย์ของพระองค์ที่ถูกความตายแยกออกจากกันแล้ว พระวิญญาณและพระวรกายจึงเข้ามารวมอยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง และดังนี้ การสิ้นพระชนม์เกิดขึ้นจากการแยกกันของส่วนประกอบที่เคยอยู่ด้วยกันฉันใด การกลับคืนพระชนมชีพก็เกิดขึ้นจากการรวมกันของส่วนประกอบทั้งสองประการนี้ฉันนั้น”[576]

 

[574] เทียบ รม 6:4; 2 คร 13:4; ฟป 3:10; อฟ 1:19-22; ฮบ 7:16.      

[575] เทียบ มก 8:31; 9:9,31; 10:34.

[576] Sanctus Gregorius Nyssenus, De tridui inter mortem et resurrectionem Domini nostri Iesu Christi spatio: Gregorii Nysseni opera, ed. W.
Jaeger-H. Langerbeck, v. 9 (Leiden 1967) p. 293-294 (PG 46, 417); cf. etiam Statuta Ecclesiae Antiqua: DS 325; Anastasius II, Epistula In prolixitate epistulae: DS 359; Sanctus Hormisdas, Epistula Inter ea quae: DS 369; Concilium Toletanum XI, Symbolum: DS 539.       

III. ความหมายและความสำคัญด้านการไถ่กู้ของการกลับคืนพระชนมชีพ

III.  ความหมายและความสำคัญด้านการไถ่กู้ของการกลับคืนพระชนมชีพ

 651     “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน” (1 คร 15:14) ก่อนอื่นหมด การกลับคืนพระชนมชีพเป็นการยืนยันรับรองทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำและทรงสั่งสอน ความจริงทุกข้อ แม้ความจริงที่จิตใจของมนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้เลยนั้นได้รับการรับรองว่าเป็นความจริงแน่นอน ถ้าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพประทานเหตุผลเด็ดขาดว่าพระองค์ทรงอำนาจพระเจ้าดังที่ได้ทรงสัญญาไว้

 652     การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นการทำให้พระสัญญาของพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริง[577] รวมทั้งพระสัญญาที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ขณะที่ทรงพระชนมชีพในโลกนี้ด้วย[578] ข้อความที่ว่า “ตามความในพระคัมภีร์”[579] แสดงว่าการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นความจริง

 653     การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นการยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์เคยตรัสไว้ว่า “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า ‘เราเป็น’ (ยน 8:28) การ กลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนแสดงให้เห็นว่าพระองค์คือพระเจ้าผู้เคยตรัส(แก่โมเสส)ว่า “เราเป็น” ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้าเอง นักบุญเปาโลประกาศแก่ชาวยิวได้ว่า “เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลาน โดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ดังที่มีเขียนไว้ในเพลงสดุดีบทที่สองว่า ท่านเป็นบุตรของเรา เราให้กำเนิดท่านในวันนี้” (กจ 13:32-33)[580] การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า การกลับคืนพระชนมชีพเป็นการทำให้แผนการนิรันดรของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง

 654     พระธรรมล้ำลึกปัสกามีเหตุผลสองประการ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยกอบกู้เราให้พ้นจากบาป เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพพระองค์ก็ทรงเปิดทางให้เราเข้าไปรับชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่นี้ก็คือการบันดาลความชอบธรรมโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้เรากลับเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า[581] “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย[…]ฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:4) การบันดาลความชอบธรรมประกอบด้วยความตายต่อบาปและการมีส่วนอีกครั้งหนึ่งในพระหรรษทาน[582] การนี้ยังทำให้เราเป็นบุตรบุญธรรม(ของพระเจ้า)อีกด้วย เพราะทำให้มนุษย์กลับเป็นพี่น้องของพระคริสตเจ้าดังที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วว่า “จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเรา” (มธ 28:10)[583]พี่น้องไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่เพราะพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ เพราะการเป็นบุตรบุญธรรมนี้ทำให้เรามีส่วนร่วมโดยแท้จริงในชีวิตของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว ชีวิตนี้ได้รับการเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์

 655     ในที่สุด การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า – และพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ – เป็นต้นเหตุและที่เกิดของการกลับคืนชีพของเราด้วย “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายเป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว […] มนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้น”(1 คร 15:20-22) พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วทรงชีวิตอยู่ในใจของผู้ที่มีความเชื่อที่กำลังรอคอยให้เหตุการณ์นี้สำเร็จเป็นจริง  ในพระองค์ บรรดาคริสตชน “สัมผัสอานุภาพของโลกหน้า” (ฮบ 6:5) และชีวิตของเขาก็ถูกพระคริสตเจ้าทรงรวมไว้ในพระองค์[584] “เพื่อผู้ที่มีชีวิตจะได้ไม่มีชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่มีชีวิตเพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเขา” (2 คร 5:15)

 

[577] เทียบ ลก 24:26-27,44-48.   

[578] เทียบ มธ 28:6; มก 16:7; ลก 24:6-7.         

[579] เทียบ 1 คร 15:3-4; Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.          

[580] เทียบ สดด 2:7.            

[581] เทียบ รม 4:25.             

[582] เทียบ อฟ 2:4-5; 1 ปต 1:3.  

[583] เทียบ ยน 20:17.           

[584] เทียบ คส 3:1-3.            

สรุป

สรุป

 656      ความเชื่อในการกลับคืนพระชนมชีพมีเนื้อหาสาระเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและได้รับการเป็นพยานยืนยันจากบรรดาศิษย์ที่ได้พบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว นอกจากนั้นการกลับคืนพระชนมชีพยังเป็นเหตุการณ์โลกุตระและลึกลับในฐานะที่เป็นการที่พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้ากลับคืนสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

 657      พระคูหาว่างเปล่าและผ้าพันพระศพที่วางอยู่ในพระคูหา ในตัวเองหมายความว่าพระอานุภาพของพระเจ้าทำให้พระวรกายของพระคริสตเจ้าหลุดพ้นจากพันธะของความตายและความเปื่อยเน่าแล้ว ทั้งสองสิ่งนี้เตรียมบรรดาศิษย์เพื่อจะพบกับพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

 658      พระคริสตเจ้าบุคคลแรกในบรรดาผู้ตายที่กลับคืนชีพ” (คส 1:18) ทรงเป็นต้นเหตุของการ กลับคืนชีพของเราเอง โดยที่ขณะนี้วิญญาณของเราได้รับความชอบธรรมแล้ว[585] และต่อไปร่างกายของเราจะได้กลับมีชีวิตด้วย[586]

 

[585] เทียบ รม 6:4.              

[586] เทียบ รม 8:11.