บทที่หนึ่ง

การเปิดเผยเรื่องการอธิษฐานภาวนา

มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกมาให้อธิษฐานภาวนา

 2566  มนุษย์แสวงหาพระเจ้าอยู่เสมอ พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกสิ่งจากความว่างเปล่าให้มีความเป็นอยู่ มนุษย์มีความรุ่งโรจน์และเกียรติยศเป็นเสมือนมงกุฎประดับศีรษะ[1]มีความสามารถรองจากทูตสวรรค์ที่จะรู้ว่าพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นยิ่งใหญ่เพียงใดทั่วแผ่นดิน[2] แม้เมื่อมนุษย์ได้สูญเสียภาพลักษณ์ของตนกับพระเจ้าไปแล้วเมื่อทำบาป เขาก็ยังคงเป็นภาพของพระผู้เนรมิตสร้างอยู่ต่อไป ยังคงมีความปรารถนาพระองค์ผู้ทรงเรียกเขาให้มีความเป็นอยู่ ศาสนาทุกศาสนาเป็นพยานของการแสวงหาพระเจ้าอย่างลึกซึ้งเช่นนี้[3]

 2567  พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ก่อน ไม่ว่ามนุษย์จะลืมพระผู้เนรมิตสร้าง ซ่อนตัวห่างไกลจากพระพักตร์วิ่งหนีไปหารูปเคารพของตน หรือกล่าวหาว่าพระองค์ทรงทอดทิ้งเขา พระเจ้าแท้จริงผู้ทรงพระชนม์ก็ยังไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยที่จะเรียกมนุษย์แต่ละคนให้เข้ามาพบพระองค์อย่างลึกลับ การเข้ามาพบพระองค์เช่นนี้เรียกว่าการอธิษฐานภาวนา ก้าวแห่งความรักของพระเจ้าผู้ทรงซื่อสัตย์นี้นับเป็นก้าวแรกเสมอในการอธิษฐานภาวนา ส่วนก้าวของมนุษย์เป็นเพียงการตอบรับเสมอ ขณะที่พระเจ้าทรงค่อยๆเปิดเผยพระองค์และทรงเปิดเผยให้มนุษย์รู้จักตนเอง การอธิษฐานภาวนาจึงดูเหมือนเป็นการเรียกหากัน เป็นเหมือนการแสดงขั้นตอนแห่งพันธสัญญาที่ใช้คำพูดและการกระทำเพื่อผูกมัดจิตใจ กิจกรรมนี้ค่อยๆ แสดงให้เห็นตลอดประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น  

 

[1]  เทียบ สดด 8:5.

[2] เทียบ สดด 8:1.

[3] เทียบ กจ 17:27.

ตอนที่หนึ่ง

ในพันธสัญญาเดิม

 2568  ในพันธสัญญาเดิม การเปิดเผยถึงการอธิษฐานภาวนามีบันทึกไว้ในระหว่างช่วงเวลาที่มนุษย์ตกในบาปกับช่วงเวลาของการกอบกู้ ระหว่างช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงเรียกบุตรคนแรกของพระองค์ด้วยความทุกข์ว่า “ท่านอยู่ไหน […] ทำไมจึงทำเช่นนี้” (ปฐก 3:9,13) กับเวลาที่พระบุตรแต่พระองค์เดียวทรงตอบเมื่อเสด็จเข้ามาในโลกนี้ (“ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ […] ข้าแต่พระเจ้า เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์” ฮบ 10:7)[4] การอธิษฐานภาวนาจึงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นความสัมพันธ์เดียวกันกับพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ ของประวัติศาสตร์

 

[4] เทียบ ฮบ 10:5-7.

การเนรมิตสร้าง – บ่อเกิดการอธิษฐานภาวนา

การเนรมิตสร้าง – บ่อเกิดการอธิษฐานภาวนา

 2569  เราสัมผัสกับการอธิษฐานภาวนาได้โดยเริ่มตั้งแต่การเนรมิตสร้าง เรื่องราวในเก้าบทแรกของหนังสือปฐมกาลบรรยายถึงความสัมพันธ์นี้กับพระเจ้าเมื่ออาแบลนำแกะรุ่นแรกที่เกิดจากฝูงมาถวาย[5] เมื่อเอโนชเป็นผู้เริ่มเรียกขานพระนามของพระเจ้า[6]และ “เดินไปกับพระเจ้า”[7] การถวายบูชาของโนอาห์ “เป็นที่พอพระทัย” พระเจ้า พระองค์จึงประทานพระพรเขา และสิ่งสร้างทั้งหลายผ่านทางเขาด้วย[8] เพราะเขามีจิตใจซื่อสัตย์เที่ยงตรงและ “ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (ปฐก 6:9) ผู้ชอบธรรมจำนวนมากในศาสนาต่างๆ ล้วนอธิษฐานภาวนาโดยมีคุณสมบัติเช่นนี้

          พระเจ้าผู้ทรงรักษาพันธสัญญาของพระองค์ไว้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายอย่างมั่นคง[9] ทรงเรียกมนุษย์อยู่ตลอดเวลาให้อธิษฐานภาวนากับพระองค์ แต่นับตั้งแต่อับราฮัมบิดาของเราโดยเฉพาะที่การอธิษฐานภาวนาได้รับการเปิดเผยในพันธสัญญาเดิม

 

[5] เทียบ ปฐก 4:4.

[6] เทียบ ปฐก 4:26.

[7]  เทียบ ปฐก 5:24.

[8] เทียบ ปฐก 8:20 – 9:17.

[9] เทียบ ปฐก 9:8-16.

พระสัญญาและคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อ

พระสัญญาและคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อ

 2570  เมื่อพระเจ้าทรงเรียก อับราฮัมก็ออกเดินทางทันที “ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสั่ง” (ปฐก 12:4) ใจของเขาเชื่อฟังพระวาจาของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม การมีใจคอยฟังเพื่อตัดสินใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นสาระสำคัญของการอธิษฐานภาวนา ส่วนถ้อยคำนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบ แต่การอธิษฐานภาวนาของอับราฮัมแสดงออกด้วยการกระทำเป็นส่วนใหญ่ เขาเป็นคนเงียบๆ เมื่อเดินทางไปหยุดที่แต่ละแห่ง เขาก็สร้างพระแท่นบูชาถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ต่อมาในภายหลังเท่านั้นที่การอธิษฐานภาวนาแสดงออกเป็นคำพูด คล้ายกับเป็นการตัดพ้อต่อว่าพระเจ้าถึงพระสัญญาของพระองค์ที่ดูเหมือนว่ายังไม่สำเร็จเป็นจริง[10] ดังนั้น ตั้งแต่ต้นแล้ว เหตุผลบางประการของลีลาการอธิษฐานภาวนาจึงปรากฏให้เห็น คือการทดลองความเชื่อถึงความซื่อสัตย์ของพระเจ้า

 2571   เพราะอับราฮัมเชื่อพระเจ้า[11] เขาจึงดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระองค์ตามพันธสัญญากับพระองค์[12] พร้อมที่จะต้อนรับบุคคลลึกลับที่มาเยี่ยมในกระโจมของตน การต้อนรับแขกแปลกหน้าลึกลับที่มัมเรครั้งนี้เป็นการเกริ่นการแจ้งข่าวเรื่องบุตรแห่งพระสัญญาที่แท้จริง[13] ตั้งแต่นั้นใจของอับราฮัมจึงมีความรู้สึกเหมือนกับพระเมตตาขององค์พระผู้เป็นเจ้าต่อมนุษย์และกล้าที่จะวอนขอพระองค์เพื่อเขาเหล่านั้นด้วยความกล้าอย่างมั่นใจ[14]

 2572  พระเจ้าทรงขอจากอับราฮัม “ผู้ได้รับพระสัญญา” (ฮบ 11:17) เป็นเสมือนการชำระความเชื่อของเขาเป็นขั้นสุดท้าย ให้ถวายบุตรชายที่พระองค์ประทานให้เขาเป็นเครื่องบูชา ความเชื่อของเขามิได้อ่อนแอลงเลย “พระเจ้าจะทรงจัดหาลูกแกะสำหรับเผาบูชาให้เอง” (ปฐก 22:8) ทั้งนี้เพราะเขา “เชื่อว่าพระเจ้าทรงฤทธานุภาพอาจปลุกคนตายให้ฟื้นได้” (ฮบ 11:19) ดังนั้น บิดาของบรรดาผู้มีความเชื่อจึงเป็นเหมือนกับพระบิดาเจ้าผู้ไม่ทรงไว้ชีวิตพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน[15] การอธิษฐานภาวนาทำให้มนุษย์กลับเป็นเหมือนพระเจ้าและทำให้เขามีส่วนร่วมพลังความรักของพระเจ้าซึ่งช่วยมนุษย์จำนวนมากให้รอดพ้น[16]

 2573  พระเจ้าทรงรื้อฟื้นพระสัญญากับยาโคบ บิดาของอิสราเอลทั้งสิบสองเผ่า[17] ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับเอซาวพี่ชาย ตลอดทั้งคืน เขาต่อสู้กับบุรุษลึกลับ “คนหนึ่ง” ที่ไม่ยอมเปิดเผยนามของตนแก่เขา แต่อวยพรเขาก่อนจะจากไปตอนรุ่งสาง ในเรื่องเล่าเรื่องนี้ ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตของพระศาสนจักรได้มองเห็นสัญลักษณ์ของการอธิษฐานภาวนาว่าเป็นเสมือนการต่อสู้ของความเชื่อและชัยชนะของความอุตสาหะบากบั่น[18]

 

[10] เทียบ ปฐก 15:2-3.           

[11] เทียบ ปฐก 15:6.             

[12] เทียบ ปฐก 17:1-2.           

[13] เทียบ ปฐก 18:1-15; ลก 1:26-38.

[14] เทียบ ปฐก 18:16-33.         

[15] เทียบ รม 8:32.              

[16] เทียบ รม 4:16-21.           

[17] เทียบ ปฐก 28:10-22.         

[18] เทียบ ปฐก 32:25-31; ลก 18:1-8.

โมเสสและการอธิษฐานภาวนาในฐานะคนกลาง

โมเสสและการอธิษฐานภาวนาในฐานะคนกลาง

 2574  เมื่อพระสัญญาเริ่มสำเร็จเป็นจริง (ในการฉลองปัสกา การอพยพ การประทานพระบัญญัติและพิธีสัตยาบรรณพันธสัญญา) การอธิษฐานภาวนาของโมเสสเป็นรูปแบบน่าประทับใจของการอธิษฐานภาวนาวอนขอแทนที่จะสำเร็จบริบูรณ์ในพระองค์ผู้เป็น “คนกลางแต่เพียงผู้เดียวของพระเจ้าและมนุษย์ คือพระคริสตเยซูซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” (1 ทธ 2:5)

 2575  แม้กระทั่งที่นี่ พระเจ้าก็ยังทรงเป็นผู้ริเริ่ม พระองค์ทรงเรียกโมเสสจากกลางพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ[19] เหตุการณ์ครั้งนี้จะยังคงเป็นภาพลักษณ์สำคัญของการอธิษฐานภาวนาในธรรมประเพณีทั้งของชาวยิวและชาวคริสต์ ถ้า “พระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัคและพระเจ้าของยาโคบ” ทรงเรียกโมเสสมาเป็นผู้รับใช้พระองค์ ก็เป็นเพราะว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และทรงประสงค์ให้มนุษย์มีชีวิต พระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์เพื่อช่วยมนุษย์ แต่ก็ไม่ทรงกระทำการนี้เพียงพระองค์เดียวโดยที่มนุษย์ไม่ยินดีร่วมงานด้วย พระองค์ทรงเรียกโมเสสเพื่อทรงส่งเขาไปปฏิบัติงานช่วยให้รอดพ้นมีความเมตตาสงสารเหมือนกับพระองค์ ในงานนี้คล้ายกับว่าพระเจ้าทรงขอร้อง และโมเสส หลังจากต่อรองกับพระองค์เป็นเวลานาน จึงจะยอมเห็นพ้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า พระผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น แต่ในการเจรจานี้ที่พระเจ้าทรงร่วมด้วย โมเสสก็เรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนา เขาพยายามหลีกเลี่ยง แก้ตัว โดยเฉพาะยังซักถาม และเมื่อทรงตอบคำถามของเขา องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงแจ้งพระนามที่ไม่อาจบรรยายได้ให้เขาทราบ พระนามนี้จะได้รับการเปิดเผยโดยพระราชกิจยิ่งใหญ่ของพระองค์

 2576  “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสนทนากับโมเสสตามลำพังเหมือนเพื่อนคุยกัน” (อพย 33:11) การอธิษฐานภาวนาของโมเสสมีลักษณะเป็นการภาวนาแบบพิจารณาไตร่ตรองที่ช่วยให้ผู้รับใช้ของพระเจ้าซื่อสัตย์ต่อพันธกิจของตน โมเสส “สนทนา” กับองค์พระผู้เป็นเจ้าหลายครั้งเป็นเวลานาน ขึ้นไปบนภูเขาเพื่อฟังพระองค์ตรัสและเพื่อวอนขอ ลงมาพบประชากรเพื่อนำพระวาจาของพระเจ้ามาบอกและนำเขา “เขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ที่เราให้ดูแลบ้านของเราทั้งหมด เราพูดกับเขาโดยตรง เราพูดกับเขาอย่างชัดเจน” (กดว 12:7-8) เพราะ “โมเสสเป็นคนถ่อมตน เขาเป็นคนถ่อมตนมากกว่าใครๆ บนแผ่นดิน” (กดว 12:3)

 2577    คำวอนขอของโมเสสแทนประชากรได้รับพลังและความมั่นคงมาจากความใกล้ชิดกับพระเจ้าผู้ทรงซื่อสัตย์ ไม่โกรธง่าย เปี่ยมด้วยความรักมั่นคง[20]นี้เอง เขาวอนขอไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อประชากรที่พระเจ้าทรงเรียกมาให้เป็นของพระองค์ โมเสสอ้อนวอนแทนผู้อื่นแล้วตั้งแต่ในการสู้รบกับชาวอามาเลค[21] หรือเมื่อขอให้ทรงบำบัดรักษามีเรียม[22] แต่โดยเฉพาะหลังจากที่ประชากรได้ละทิ้งพระเจ้า “เขาก็มายืนตรงกลาง” เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า (สดด 106:23) เพื่อช่วยประชากรให้รอดพ้น[23] เนื้อหาของการอธิษฐานภาวนา (การอ้อนวอนแทนยังเป็นการต่อสู้กันแบบลับๆ ด้วย) จะเป็นพลังบันดาลใจของผู้อธิษฐานภาวนายิ่งใหญ่ของประชากรชาวยิวและของพระศาสนจักรอีกด้วย พระเจ้าทรงเป็นความรัก ดังนั้น จึงทรงความเที่ยงธรรมและซื่อสัตย์ พระองค์จะทรงขัดแย้งกับพระองค์เองไม่ได้ พระองค์ต้องทรงระลึกถึงพระราชกิจน่าอัศจรรย์ของพระองค์ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ จึงไม่อาจทรงละทิ้งประชากรที่เรียกขานพระนามของพระองค์ได้

 

[19] เทียบ อพย 3:1-10.           

[20] เทียบ อพย 34:6.            

[21] เทียบ อพย 17:8-13.          

[22] เทียบ กดว 12:13-14.         

[23] เทียบ อพย 32:1 – 34:9.     

กษัตริย์ดาวิดและการอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์

กษัตริย์ดาวิดและการอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์

 2578   การอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระเจ้าพัฒนาขึ้นภายใต้ร่มเงาของกระโจมที่ประทับของพระเจ้า ของหีบพันธสัญญา และต่อมาของพระวิหาร  บรรดาผู้นำประชากรโดยเฉพาะ – บรรดาผู้อภิบาลและประกาศก – จะต้องสอนประชากรให้รู้จักอธิษฐานภาวนา แน่นอนทีเดียว เด็กน้อยซามูเอลได้เรียนรู้จากมารดาว่าจะต้อง “ไปอยู่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้า”[24] อย่างไรเขายังได้เรียนรู้จากสมณะเอลีด้วยว่าจะต้องฟังพระวาจาของพระองค์อย่างไร “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดตรัสมาเถิด ผู้รับใช้ของพระองค์กำลังฟังอยู่” (1 ซมอ 3:9-10) หลังจากนั้น เขายังจะรู้จักคุณค่าและความสำคัญของการวอนขอแทนผู้อื่นด้วย “ข้าพเจ้าจะไม่เลิกอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลายและสอนหนทางที่ดีและถูกต้องแก่ท่าน เพื่อข้าพเจ้าจะไม่ต้องทำบาปผิดต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า”(1 ซมอ 12:23)

 2579  กษัตริย์ดาวิดทรงเป็นกษัตริย์ “ตามพระทัยของพระเจ้า” อย่างดีเลิศ ทรงเป็นผู้อภิบาลซึ่งอธิษฐานเพื่อประชากรและในนามของประชากร ทรงนอบน้อมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า คำสรรเสริญและการยอมรับผิดของพระองค์จะเป็นตัวอย่างสำหรับการอธิษฐานภาวนาของประชากร การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในฐานะผู้รับเจิมของพระเจ้าเป็นการยึดมั่นอย่างซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาของพระเจ้า[25] เป็นความไว้วางใจที่เปี่ยมด้วยความรักและความยินดีในพระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว ในเพลงสดุดีต่างๆ กษัตริย์ดาวิดผู้ทรงได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ทรงเป็นประกาศกองค์แรกของการอธิษฐานภาวนาของชาวยิวและของคริสตชน การอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า พระเมสสิยาห์แท้จริงและโอรสของกษัตริย์ดาวิดจะทรงเปิดเผยและทำให้ความหมายของการอธิษฐานภาวนานี้สมบูรณ์ขึ้น

 2580  พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม บ้านแห่งการอธิษฐานภาวนา ที่กษัตริย์ดาวิดทรงประสงค์จะสร้างขึ้นนั้นจะเป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนพระโอรส คำอธิษฐานภาวนาในการน้อมถวายพระวิหาร[26]นี้อิงอยู่กับพระสัญญาของพระเจ้าและพันธสัญญาของพระองค์ อิงอยู่กับการประทับอยู่ของพระนามของพระองค์ในหมู่ประชากร และการระลึกถึงพระราชกิจยิ่งใหญ่ในการอพยพ กษัตริย์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นเบื้องบนและวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระองค์เอง เพื่อประชากรทั้งหมด เพื่ออนุชนรุ่นหลังที่จะเกิดมา เพื่อวอนขอให้ทรงอภัยบาปของเขาทั้งหลายและเพื่อความต้องการประจำวันของเขา เพื่อชนทุกชาติจะได้รู้ว่าพระองค์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าและพระทัยของกษัตริย์และของประชากรล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์โดยสิ้นเชิง

 

[24] เทียบ 1 ซมอ 1:9-18.         

[25] เทียบ 2 ซมอ 7:18-29.       

[26] เทียบ 1 พกษ 8:10-61.        

เอลียาห์ บรรดาประกาศก และการกลับใจ

เอลียาห์ บรรดาประกาศก และการกลับใจ

 2581  สำหรับประชากรของพระเจ้า พระวิหารน่าจะต้องเป็นสถานที่ให้การอบรมเพื่อการอธิษฐานภาวนา การแสวงบุญ งานฉลอง การถวายเครื่องบูชา พิธีถวายบูชาเวลาเย็น การถวายกำยาน ขนมปัง “ตั้งถวาย”  ทุกสิ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าผู้สูงสุด แต่ก็ประทับอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ด้วย ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเชิญชวนและเป็นหนทางของการอธิษฐานภาวนา แต่จารีตพิธีต่างๆ หลายครั้งก็ดึงดูดประชากรให้สนใจประกอบเพียงพิธีกรรมภายนอกมากเกินไป การอบรมความเชื่อและการกลับใจจึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นด้วย การนี้เป็นพันธกิจของบรรดาประกาศกทั้งก่อนและหลังการถูกเนรเทศไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน

 2582   เอลียาห์เป็นเสมือน “บิดาของบรรดาประกาศก” จากพงศ์พันธุ์ที่แสวงหาพระองค์ แสวงหาพระพักตร์พระองค์[27] ชื่อ “เอลียาห์” แปลว่า “พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า” เป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงเสียงร้องของประชากรที่ตอบรับการอธิษฐานภาวนาของเขาบนภูเขาคาร์เมล[28] นักบุญยากอบก็ชวนให้เราคิดถึงประกาศกเอลียาห์เพื่อปลุกเราให้อธิษฐานภาวนาว่า “คำอ้อนวอนของผู้ชอบธรรมมีพลังทำให้เกิดผลมากมาย” (ยก 5:16)[29]

 2583  หลังจากที่ประกาศกเอลียาห์ได้เรียนรู้ถึงพระกรุณาเมื่อเขาหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ลำธารเครีทแล้ว เขายังสอนหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัทให้เชื่ออย่างจริงจังต่อพระวาจาของพระเจ้าที่เขายืนยันด้วยการอธิษฐานภาวนา และพระเจ้าทรงทำให้บุตรชายของหญิงม่ายกลับมีชีวิตขึ้นมาอีก[30]

          เมื่อมีการถวายบูชาบนภูเขาคาร์เมล ไฟขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงมาเผาเครื่องบูชาตามคำวอนขอของประกาศก เป็นการพิสูจน์อย่างเด็ดขาดสำหรับความเชื่อของประชากรของพระเจ้า “เมื่อถึงเวลาถวายเครื่องบูชา” ตอนเย็น  “โปรดทรงตอบข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงตอบข้าพเจ้าเถิด” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จารีตตะวันออกยังคงใช้ถ้อยคำเดียวกันนี้ของประกาศกเอลียาห์ในบทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า (epiclesis) ของพิธีบูชาขอบพระคุณจนถึงเวลานี้ด้วย[31]

          ในที่สุด ประกาศกเอลียาห์ก็เดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารไปถึงสถานที่ที่พระเจ้าเที่ยงแท้และทรงพระชนม์ได้ทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากร(อิสราเอล) เขาเข้าไปหลบซ่อนเหมือนโมเสส “ในถ้ำ” จนกระทั่งการประทับอยู่อย่างลึกลับของพระเจ้า “ได้ผ่านมา”[32] แต่ในการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาเท่านั้นที่พระพักตร์ของผู้ที่ทั้งโมเสสและเอลียาห์เคยพยายามแสวงหาจะเปิดเผยให้เห็น[33] คือการรู้จักพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าบนพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ[34]

 2584  เมื่อบรรดาประกาศก “ปลีกตัวไปพบพระเจ้าต่างหาก” เขาก็ได้รับความสว่างและพลังเพื่อประกอบพันธกิจที่ได้รับมอบหมายมา การอธิษฐานภาวนาของเขาเหล่านี้ไม่ใช่การหนีไปจากโลกที่ไม่มีความเชื่อ แต่เป็นการฟังพระวาจาของพระเจ้า บางครั้งเป็นการโต้เถียงหรือตัดพ้อต่อว่าพระองค์ แต่ทุกครั้งเป็นการวอนขอเพื่อผู้อื่นที่รอคอยและเตรียมพร้อมให้พระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้นและผู้ทรงเป็นนายเหนือประวัติศาสตร์เสด็จมาช่วยเหลือ[35]

 

[27] เทียบ สดด 24:6.            

[28] เทียบ 1 พกษ 18:39.         

[29] เทียบ ยก 5:16-18.           

[30] เทียบ 1 พกษ 17:7-24.        

[31] เทียบ 1 พกษ 18:20-39.      

[32] เทียบ 1 พกษ 19:1-14; อพย 33:19-23.          

[33] เทียบ ลก 9:30-35.          

[34] เทียบ 2 คร 4:6.             

[35] เทียบ อมส 7:2,5; อสย 6:5,8; ยรม 1:6; 15:15-18; 20:7-18.       

เพลงสดุดี คำอธิษฐานภาวนาของที่ชุมนุม

เพลงสดุดี คำอธิษฐานภาวนาของที่ชุมนุม

 2585  นับตั้งแต่สมัยกษัตริย์ดาวิดจนถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ พระคัมภีร์มีข้อความหลากหลายที่แสดงถึงการอธิษฐานภาวนาอย่างลึกซึ้งสำหรับตนเองและสำหรับผู้อื่น[36] บทเพลงสดุดีค่อยๆ ได้รับการรวบรวมเข้ามาเป็น 5 บรรพ บทเพลงสดุดีเหล่านี้จึงเป็นผลงานชิ้นเอกของการอธิษฐานภาวนา

 2586   เพลงสดุดีหล่อเลี้ยงและแสดงให้เห็นการอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระเจ้าในฐานะที่เป็นชุมชน ในโอกาสวันฉลองสำคัญที่กรุงเยรูซาเล็มและทุกวันสับบาโตในศาลาธรรม การอธิษฐานภาวนานี้เป็นทั้งการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวและการอธิษฐานภาวนาของชุมชนอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ที่อธิษฐานภาวนาและกับมนุษย์ทุกคน เพลงสดุดีเกิดจากชุมชนในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และจากชุมชนของชาวยิวโพ้นทะเล แต่ก็กล่าวครอบคลุมสิ่งสร้างทั้งหมด ชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ช่วยให้รอดพ้นในอดีตและกล่าวล่วงหน้าไปจนถึงจุดจบของประวัติศาสตร์ ระลึกถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่สำเร็จไปแล้วและรอคอยพระเมสสิยาห์ซึ่งจะทำให้พระสัญญาเหล่านี้สำเร็จโดยสมบูรณ์ บทเพลงสดุดีที่พระคริสตเจ้าทรงใช้อธิษฐานภาวนาและได้สำเร็จไปแล้วในพระองค์ ยังคงเป็นคำอธิษฐานภาวนาสำคัญสำหรับพระศาสนจักรของพระองค์อีกด้วย[37]

 2587  หนังสือเพลงสดุดีเป็นหนังสือที่พระวาจาของพระเจ้ากลายเป็นคำอธิษฐานภาวนาของมนุษย์ ในหนังสือเล่มอื่นๆ ของพันธสัญญาเดิมนั้น “ถ้อยคำประกาศถึงกิจการ[ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อมนุษย์]และอธิบายข้อเร้นลับในกิจการเหล่านั้น”[38] ส่วนในหนังสือเพลงสดุดี ถ้อยคำของผู้นิพนธ์เพลงสดุดีกล่าวถึงผลงานที่ช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้าโดยขับร้องถึงผลงานเหล่านี้ถวายพระองค์ พระจิตเจ้าองค์เดียวกันทรงเป็นพลังบันดาลพระทัยของพระเจ้าและบันดาลการตอบสนองของมนุษย์ พระคริสตเจ้าจะทรงรวมทั้งสองสิ่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน ในพระองค์ บทเพลงสดุดียังคงไม่เลิกสอนเราให้อธิษฐานภาวนา

 2588   คำอธิษฐานภาวนาของเพลงสดุดีแสดงรูปแบบหลากหลายของการอธิษฐานภาวนาทั้งในพิธีกรรมของพระวิหารและในใจของมนุษย์ เพลงสดุดีเป็นทั้งคำสรรเสริญ เป็นการอธิษฐานภาวนาในความทุกข์ยากหรือเป็นการขอบพระคุณ เป็นคำวอนขอทั้งส่วนตัวหรือของชุมชน เป็นเพลงขับร้องเกี่ยวกับกษัตริย์หรือของผู้แสวงบุญ เป็นการคิดคำนึงเกี่ยวกับปรีชาญาณ เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนการกระทำยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในประวัติศาสตร์ของประชากรของพระองค์ และยังสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีประสบในชีวิต เพลงสดุดีอาจสะท้อนให้เห็นภาพเหตุการณ์ในอดีต แต่ก็กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมัธยัสถ์ถ้อยคำจนใครๆ ก็อาจนำไปใช้กล่าวถึงสถานการณ์ทุกอย่างของทุกสมัยได้ด้วย

 2589  เพลงสดุดีมีลักษณะเฉพาะบางประการที่พบได้เสมอ – เป็นการอธิษฐานที่ไม่ซับซ้อนและเกิดขึ้นจากใจจริง เป็นการแสวงหาพระเจ้าเองผ่านสิ่งต่างๆ และพร้อมกับทุกสิ่งที่ดีงามในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่ทรงเนรมิตสร้าง เป็นสถานการณ์คับขันของผู้มีความเชื่อที่มีความรักเป็นพิเศษต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่กำลังตกอยู่ในอันตรายจากศัตรูและการทดลองจำนวนมาก และขณะที่กำลังรอว่าพระเจ้าผู้ทรงซื่อสัตย์จะทรงทำประการใด เขาก็ยังเชื่อมั่นถึงความรักของพระองค์และมอบตนไว้ตามพระประสงค์ การอธิษฐานภาวนาของเพลงสดุดีได้รับแรงผลักดันเสมอมาจากการสรรเสริญ และเพราะเหตุนี้คำภาวนาชุดนี้จึงได้รับชื่อว่า “เพลงสดุดี” ซึ่งตรงกับเนื้อหาที่ตกทอดมาถึงเรา คือ “คำสรรเสริญ” เมื่อบทภาวนาเหล่านี้ได้รวบรวมไว้สำหรับพิธีกรรมของชุมชน จึงทำให้เราได้ยินคำเชิญชวนและขับร้องตอบคำเชิญชวนนี้ว่า “อัลเลลูยา” “จงสรรเสริญพระยาห์(เวห์)เถิด”

          “มีอะไรน่าฟังมากกว่าเพลงสดุดี ดังนั้น กษัตริย์ดาวิดจึงตรัสไว้อย่างน่าฟังว่า ‘จงสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด เพราะเพลงสดุดีนั้นดี ขอให้คำสรรเสริญของเราไพเราะน่าฟังสำหรับพระเจ้าของเราเถิด’ ใช่แล้ว เพราะเพลงสดุดีเป็นการถวายพรของประชากร เป็นการสรรเสริญพระเจ้า เป็นคำสรรเสริญของประชาชน เป็นการโห่ร้องแสดงความยินดีของทุกคน  เป็นถ้อยคำของสิ่งสร้างทั้งมวล เป็นเสียงของพระศาสนจักร เป็นการโห่ร้องประกาศความเชื่อ...”[39]

 

[36] เทียบ อสร 9:6-15; นหม 1:4-11; ยนา 2:3-10; ทบต 3:11-16; ยดธ 9:2-14.            

[37] Cf Institutio generalis de liturgia Horarum, 100-109: Liturgia Horarum, editio typica, v. 1 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 52-56.     

[38] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 2: AAS 58 (1966) 818.       

[39] Sanctus Ambrosius, Enarrationes in Psalmos, 1, 9: CSEL 64, 7 (PL 14, 968).     

สรุป  

สรุป  

 2590   “การอธิษฐานภาวนาเป็นการยกใจขึ้นหาพระเจ้า หรือเป็นการวอนขอจากพระเจ้าให้ประทานสิ่งต่างๆ ตามที่พอพระทัย”[40]

 2591   พระเจ้าไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยที่จะเรียกแต่ละบุคคลให้เข้ามาพบกับพระองค์อย่างลึกซึ้งด้วยการอธิษฐานภาวนา การอธิษฐานภาวนาควบคู่อยู่ตลอดเวลากับประวัติศาสตร์ความรอดพ้นเป็นประหนึ่งการเรียกหากันระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์

 2592   พระคัมภีร์เล่าถึงการอธิษฐานภาวนาของอับราฮัมและยาโคบว่าเป็นเหมือนกับการต่อสู้ของความเชื่อที่วางใจในความซื่อสัตย์ของพระเจ้าและแน่ใจถึงชัยชนะของการรอคอยพระสัญญาด้วยความพากเพียร

 2593   การอธิษฐานภาวนาของโมเสสตอบสนองการริเริ่มของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์เพื่อความรอดพ้นของประชากรของพระองค์ การอธิษฐานภาวนานี้ยังเป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงการอ้อนวอนแทนของคนกลางเพียงผู้เดียว คือพระคริสตเยซู   

 2594   การอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระเจ้าพัฒนาขึ้นภายใต้ร่มเงาของกระโจมที่ประทับของพระเจ้า นั่นคือหีบพระสัญญาและพระวิหาร โดยมีผู้อภิบาล โดยเฉพาะกษัตริย์ดาวิดและบรรดาประกาศกเป็นผู้นำ

 2595   บรรดาประกาศกเชิญชวนประชากรให้กลับใจ และแสวงหาพระพักตร์พระเจ้าด้วยความกระตือรือร้น วอนขอพระกรุณาแทนประชากร

 2596   เพลงสดุดีนับได้ว่าเป็นผลงานการอธิษฐานภาวนาชิ้นเอกในพันธสัญญาเดิม เพลงสดุดีแสดงให้เห็นองค์ประกอบสองประการที่แยกจากกันไม่ได้ คือมีลักษณะเป็นกิจกรรมส่วนตัวและเป็นกิจกรรมของชุมชน เพลงสดุดีมีขอบเขตครอบคลุมทุกมิติของประวัติศาสตร์ ชวนให้ระลึกถึงพระสัญญาที่สำเร็จไปแล้วและมุ่งหวังรอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์

 2597   เพลงสดุดีที่พระคริสตเจ้าทรงอธิษฐานและสำเร็จไปแล้วในพระองค์ เป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอมาของการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า เพลงสดุดีเหล่านี้เหมาะสำหรับมนุษย์ทุกสถานะและทุกสมัย

 

[40] Sanctus Ioannes Damascenus, Expositio fidei, 68 [De fide orthodoxa 3, 24]: PTS 12, 167 (PG 94, 1089).            

ตอนที่สอง

เมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงแล้ว

 2598   วิวัฒนาการอธิษฐานภาวนาได้รับการเปิดเผยให้เราเห็นอย่างสมบูรณ์ในองค์พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์และประทับอยู่กับเรา ความพยายามที่จะเข้าใจการอธิษฐานภาวนาของพระองค์ผ่านทางที่บรรดาพยานถึงพระองค์แจ้งให้เรารู้ในพระวรสารเป็นการที่เราเข้าไปถึงพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนกับการ(ที่โมเสส)เข้าไปดูพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ ก่อนอื่นเป็นการที่เราพิศเพ่งดูพระองค์กำลังอธิษฐานภาวนา แล้วจึงได้ฟังพระองค์ตรัสสอนเราว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาอย่างไร และในที่สุดเพื่อจะรู้ว่าพระองค์ทรงฟังการอธิษฐานภาวนาของเราอย่างไร

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

 2599  เมื่อพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระนางพรหมจารีแล้วยังทรงเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาตามพระทัยมนุษย์ของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเรียนรู้สูตรการอธิษฐานภาวนาจากพระมารดาของพระองค์ที่ทรงเก็บ “กิจการยิ่งใหญ่” ทั้งหมดของพระผู้ทรงสรรพานุภาพไว้ในพระทัยของพระนาง[41] พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาโดยถ้อยคำและตามจังหวะการอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระองค์ในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธและในพระวิหาร แต่การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ออกมาจากบ่อเกิดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ดังที่เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาทรงเผยให้เรารู้สึกได้ “ลูกต้องทำธุรกิจของพระบิดาของลูก” (หรือ “ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”) (ลก 2:49) ที่นี่ความใหม่ของการอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงแล้วเริ่มได้รับการเปิดเผย นั่นคือ การอธิษฐานภาวนาในแบบของบุตร ที่พระบิดาทรงรอคอยจะได้รับจากบรรดาบุตรของพระองค์ และในที่สุดพระบุตรเพียงพระองค์เดียวในพระธรรมชาติมนุษย์จะทรงทำให้เป็นชีวิตแท้จริงพร้อมกับมวลมนุษย์และเพื่อมวลมนุษย์

 2600  พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเน้นการกระทำของพระจิตเจ้าและความหมายของการอธิษฐานภาวนาในการปฏิบัติพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาก่อนการปฏิบัติพันธกิจที่สำคัญของพระองค์ เช่น ก่อนที่พระบิดาจะทรงเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในการรับพิธีล้าง[42] เมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์[43] ก่อนจะทรงทำให้แผนการความรักของพระบิดาสำเร็จไปโดยการรับทนทรมานของพระองค์[44] พระองค์ยังทรงอธิษฐานภาวนาก่อนถึงเวลาที่จะทรงมอบพันธกิจอย่างเด็ดขาดแก่บรรดาอัครสาวก ก่อนจะทรงเลือกและเรียกศิษย์สิบสองคน[45] ก่อนที่เปโตรจะประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระคริสต์ของพระเจ้า”[46] และเพื่อหัวหน้าของบรรดาอัครสาวกจะไม่เสียความเชื่อเมื่อถูกประจญ[47] การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าก่อนเหตุการณ์ความรอดพ้นที่พระบิดาทรงขอให้พระองค์ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นการมอบถวายความตั้งพระทัยแบบมนุษย์ของพระองค์ไว้กับพระประสงค์ที่เปี่ยมด้วยความรักของพระบิดา

 2601   “พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า ‘พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเถิด’” (ลก 11:1) เมื่อศิษย์ของพระคริสตเจ้าเห็นพระอาจารย์ทรงอธิษฐานภาวนา ก็อยากจะอธิษฐานภาวนาด้วย เขาจึงอาจเรียนรู้ได้จากพระอาจารย์แห่งการอธิษฐานภาวนา เมื่อพิจารณาและได้ยินพระบุตร(ทรงอธิษฐานภาวนา) บรรดาบุตรก็เรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาด้วย

 2602  หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงปลีกพระองค์ไปในที่เปลี่ยว บนภูเขา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เพื่อทรงอธิษฐานภาวนา[48] เมื่อทรงอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงนำมนุษย์ไปกับพระองค์ด้วย เพราะเมื่อทรงรับสภาพมนุษย์ พระองค์ทรงรับมนุษยชาติมาไว้กับพระองค์ และเมื่อทรงถวายพระองค์แด่พระบิดา พระองค์ก็ทรงถวายมวลมนุษย์แด่พระบิดาด้วย พระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระวจนาตถ์ซึ่ง “รับเนื้อหนังร่างกาย” เมื่อทรงอธิษฐานภาวนาแบบมนุษย์ ก็ทรงมีประสบการณ์แบบมนุษย์ในชีวิตเหมือนกับ “บรรดาพี่น้องของพระองค์”[49] ต้องประสบในชีวิต พระองค์ทรงมีส่วนร่วมในความอ่อนแอของเขาก็เพื่อช่วยเขาให้พ้นจากความอ่อนแอเหล่านี้ได้[50] พระบิดาทรงส่งพระองค์มาก็เพื่อการนี้ พระวาจาและพระราชกิจที่ทรงกระทำจึงเป็นเสมือนการแสดงให้เราเห็นการอธิษฐานภาวนา “อย่างลับๆ” ของพระองค์

 2603  ผู้นิพนธ์พระวรสารบันทึกเรื่องการอธิษฐานภาวนาที่ชัดเจนของพระคริสตเจ้าในช่วงเวลาที่ทรงประกาศสอนประชาชนไว้สองครั้ง การอธิษฐานภาวนาทั้งสองครั้งเริ่มด้วยการขอบพระคุณ ในเรื่องการอธิษฐานภาวนาเรื่องแรก[51] พระเยซูเจ้าทรงสรรเสริญพระบิดา ยอมรับพระองค์และถวายพระพรแด่พระองค์ที่ทรงปิดบังพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรไว้จากผู้ที่คิดว่าตนเป็นผู้มีปรีชา และกลับทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเหล่านี้ให้แก่ “ผู้ต่ำต้อย” (เรื่องความสุขแท้สำหรับ ผู้ยากจน) ความสะเทือนพระทัยของพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น” แสดงให้เห็นพระทัยส่วนลึกของพระองค์ การที่พระองค์ยึดสนิทกับ “ความพอพระทัย” ของพระบิดาเสมอ เป็นเสมือนเสียงสะท้อนของวลีว่า “ขอให้เป็นไปแก่ข้าพเจ้า” ของพระมารดาเมื่อพระนางทรงปฏิสนธิพระองค์ และเป็นประหนึ่งการกล่าวล่วงหน้าของพระวาจาที่จะตรัสแก่พระบิดาเมื่อทรงเป็นทุกข์อย่างสุดซึ้งในสวนเกทเสมนี คำอธิษฐานภาวนาทั้งหมดของพระเยซูเจ้าเต็มเปี่ยมด้วยความรักที่พร้อมเสมอจะให้พระหทัยมนุษย์ของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับ “พระธรรมล้ำลึกแห่งพระประสงค์” ของพระบิดา[52]

 2604  นักบุญยอห์นเล่าถึงเรื่องการอธิษฐานภาวนา(ของพระเยซูเจ้า)อีกเรื่องหนึ่ง[53]ก่อนที่จะทรงปลุกลาซารัสให้กลับคืนชีพ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เริ่มด้วยการขอบพระคุณเช่นเดียวกัน “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าพระบิดาทรงฟังคำขอร้องของพระองค์เสมอ พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปทันทีว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ” ซึ่งก็หมายความว่าพระเยซูเจ้าเองก็ทรงวอนขอพระบิดาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าที่เริ่มด้วยการขอบพระคุณจึงเปิดเผยให้เรารู้ว่าจะต้องวอนขออย่างไร  ก่อนที่จะทรงได้รับสิ่งที่ทรงขอ พระเยซูเจ้าทรงร่วมสนิทกับพระองค์ผู้ประทานและประทานพระองค์เองในสิ่งที่ประทานให้ พระองค์ผู้ประทานนั้นประเสริฐกว่าของประทาน  พระองค์ทรงเป็น “ขุมทรัพย์” และในพระองค์ก็มีพระทัยของพระบุตร ซึ่งเป็นของประทาน “ที่ทรงเพิ่มให้” อีกด้วย[54]

            “คำอธิษฐานในฐานะสมณะ”[55] ของพระเยซูเจ้ามีที่พิเศษในแผนการความรอดพ้น เราจะพิจารณาคำอธิษฐานภาวนานี้ในปลายของ “ตอนที่หนึ่ง” นี้ คำอธิษฐานภาวนานี้เปิดเผยให้เราเห็นว่าการอธิษฐานภาวนาของพระมหาสมณะของเราเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และในเวลาเดียวกันก็มีเนื้อหาที่พระองค์ทรงสอนเราในคำอธิษฐานภาวนาของเราต่อพระบิดาซึ่งจะได้รับคำอธิบายในตอนที่สอง

 2605  พระเยซูเจ้า เมื่อถึงเวลาที่พระองค์จะต้องปฏิบัติตามแผนการความรักของพระบิดา ก็ทรงอนุญาตให้เราเห็นความลึกซึ้งสุดจะหยั่งถึงได้ของการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระองค์ ไม่เพียงแต่ก่อนจะทรงมอบพระองค์โดยอิสระเท่านั้น (“พระบิดาเจ้าข้า...อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”: ลก 22:42) แต่ทว่าจนถึงพระวาจาสุดท้ายบนไม้กางเขน เมื่อการอธิฐานภาวนาและการมอบพระองค์กลายเป็นสิ่งเดียวกัน “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) “แม่ นี่คือลูกของแม่ […] นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) “เรากระหาย” (ยน 19:28) “ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34)[56] “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) จนกระทั่ง “ทรงเปล่งเสียงดัง” แล้วจึงสิ้นพระชนม์[57]

 2606  ความทุกข์ยากของมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัยที่เป็นทาสของบาป คำวอนขอและอ้อนวอนแทน   ทั้งหลายในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นล้วนรวมอยู่ในเสียงร้องนี้ของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ พระบิดาทรงรับฟังทุกสิ่งเหล่านี้เมื่อทรงบันดาลให้พระบุตรกลับคืนพระชนมชีพ ดังนั้น ขั้นตอนต่างๆ ของการอธิษฐานภาวนาในการเนรมิตสร้างและแผนการการไถ่กู้จึงสำเร็จเป็นจริง     หนังสือเพลงสดุดีเป็นดังกุญแจไขให้เห็นขั้นตอนนี้ในพระคริสตเจ้า ในวลีว่า “วันนี้” ของการกลับคืนพระชนมชีพ พระบิดาตรัสว่า “ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว จงขอจากเราเถิด และ เราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของท่าน จะให้ท่านมีกรรมสิทธิ์จนสุดปลายแผ่นดิน” (สดด 2:7-8)[58]

จดหมายถึงชาวฮีบรูมีข้อความน่าประทับใจแสดงให้เห็นว่าการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้านำความรอดพ้นเป็นชัยชนะมาให้เราอย่างไร “ขณะที่ยังทรงพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ พระองค์ทรงอธิษฐาน  ทูลขอ คร่ำครวญและร่ำไห้ต่อพระเจ้าผู้ทรงช่วยพระองค์ให้พ้นความตายได้ พระเจ้าทรงฟังเพราะความเคารพยำเกรงของพระเยซูเจ้า ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตร ก็ยังทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน และเมื่อทรงกระทำภารกิจของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็ทรงเป็นผู้บันดาลความรอดพ้นนิรันดรแก่ทุกคนที่ยอมนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์” (ฮบ 5:7-9)

 

[41] เทียบ ลก 1:49; 2:19;  2:51.  

[42] เทียบ ลก 3:21.              

[43] เทียบ ลก 9:28.             

[44] เทียบ ลก 22:41-44.         

[45] เทียบ ลก 6:12.              

[46] เทียบ ลก 9:18-20.          

[47] เทียบ ลก 22:32.            

[48] เทียบ มก 1:36; 6:46; ลก 5:16.

[49] เทียบ ฮบ 2:12.              

[50] เทียบ ฮบ 2:15; 4:15.        

[51] เทียบ มธ 11:25-27; ลก 10:21-22.

[52] เทียบ อฟ 1:9.

[53] เทียบ ยน 11:41-42.          

[54] เทียบ มธ 6:21,33.           

[55] เทียบ ยน บทที่ 17.           

[56] เทียบ สดด 22:2.            

[57] เทียบ มก 15:37; ยน 19:30.   

[58] เทียบ กจ 13:33.             

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

 2607  เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา พระองค์ก็ทรงสอนเราแล้วให้อธิษฐานภาวนาด้วย การอธิษฐานภาวนาของพระองค์เป็นหนทางนำเราไปพบพระเจ้า [เป็นหนทางความเชื่อ ความหวังและความรัก] ไปพบพระบิดาของพระองค์ แต่พระวรสารก็ยังให้คำสอนที่ชัดเจนของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาแก่เราด้วย คล้ายกับครูพี่เลี้ยง พระองค์ทรงรับเราตามที่เราเป็น และทรงค่อยๆ นำเราไปพบพระบิดา เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จออกไปพบประชาชนที่ติดตามพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มจากจุดที่เขารู้จักเรื่องการอธิษฐานภาวนาตามพันธสัญญาเดิมและเปิดความรู้ใหม่ๆ เรื่องพระอาณาจักรที่กำลังมาถึงให้เขาทราบ แล้วนั้นจึงทรงใช้เรื่องอุปมาเปิดเผยความใหม่นี้แก่เขา และในที่สุดพระองค์จะตรัสอย่างเปิดเผยเรื่องพระบิดาและพระจิตเจ้ากับบรรดาศิษย์ที่จะต้องเป็นครูสอนผู้อื่นให้รู้จักการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักร

 2608  นับตั้งแต่บทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องการกลับใจ เรื่องการคืนดีกับพี่น้องก่อนจะถวายเครื่องบูชาบนพระแท่นบูชา[59] เรื่องความรักศัตรูและการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียน[60] เรื่องการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) เรื่องการไม่พูดมาก ไม่พูดซ้ำซาก[61] เรื่องการให้อภัยจากใจจริงในการอธิษฐานภาวนา[62] เรื่องการแสวงหา   พระอาณาจักรด้วยใจจริง[63] การกลับใจอย่างเต็มที่เยี่ยงบุตรเช่นนี้นำเราไปพบพระบิดา

 2609  ใจที่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ย่อมเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อ ความเชื่อเป็นการที่เราเข้าหาพระเจ้าเหมือนกับบุตรมากกว่าที่เรารู้สึกและเข้าใจ การทำเช่นนี้เป็นไปได้เพราะ  พระบุตรทรงเปิดทางให้เราเข้าหาพระบิดาได้  พระองค์ทรงขอจากเราได้ ให้เรา “แสวงหา” และ “เคาะประตู” เพราะพระองค์ทรงเป็นประตูและหนทาง[64]

 2610   เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณพระบิดาก่อนที่จะได้รับของประทานจากพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีความกล้าเยี่ยงบุตร “ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ และท่านก็จะได้รับ” (มก 11:24) พลังของการอธิษฐานภาวนาเป็นเช่นนี้ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้มีความเชื่อ” (มก 9:23) ความเชื่อที่ไม่สงสัย[65] พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยที่บรรดาพระประยูรญาติของพระองค์ “ไม่มีความเชื่อ” (มก 6:6) และเพราะความเชื่อที่น้อยเกินไปของบรรดาศิษย์[66] จนทรงประหลาดพระทัยเมื่อทรงเห็นความเชื่อของนายร้อยชาวโรมัน[67] และของหญิงชาวคานาอัน[68]

 2611   การอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อไม่ได้ประกอบด้วยเพียงการกล่าวว่า “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า” แต่อยู่ในใจที่พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา[69] พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญบรรดาศิษย์ให้สนใจร่วมแผนงานกับพระเจ้าในการอธิษฐานภาวนาด้วย[70]

 2612   “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว” (มก 1:15) ในพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเรียกทุกคนให้กลับใจ มีความเชื่อ รวมทั้งให้เฝ้าระวังด้วย เมื่ออธิษฐานภาวนา ศิษย์จึงต้องตั้งใจเฝ้าระวังพระองค์ผู้ทรงเป็นอยู่และกำลังเสด็จมา โดยระลึกถึงการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ในความถ่อมตนเมื่อทรงรับสภาพมนุษย์ และมีความหวังในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์[71] เมื่อบรรดาศิษย์อธิษฐานภาวนาร่วมกับพระอาจารย์  การอธิษฐานภาวนานี้ก็เป็นดังการต่อสู้  และโดยเฝ้าระวังในการอธิษฐานภาวนาเท่านั้นที่จะช่วยไม่ให้เราถูกผจญ[72]

 2613   นักบุญลูกาเล่าเรื่องอุปมาเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาโดยเฉพาะไว้ให้เราสามเรื่อง

   - เรื่องแรกคือ “เรื่องเพื่อนที่ไม่รู้จักกาละเทศะ”[73] เชิญเราให้อธิษฐานภาวนาโดยไม่ลดละ “จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” ดังนี้ พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่วอนขอ โดยเฉพาะพระจิตเจ้าที่ทรงรวมพระพรทุกอย่างไว้

   - เรื่องที่สองคือ “เรื่องหญิงม่ายผู้รบเร้า”[74] มีศูนย์กลางอยู่ที่ลักษณะประการหนึ่งของการอธิษฐานภาวนา คือ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” โดยพากเพียรในความเชื่อ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”

   - เรื่องที่สามคือ “เรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี”[75] ที่กล่าวถึงใจถ่อมตนของผู้อธิษฐานภาวนา “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งเลยที่จะภาวนาว่า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาเทอญ“Kyrie eleison”

 2614  เมื่อทรงมอบพระธรรมล้ำลึกของการอธิษฐานภาวนาถึงพระบิดาให้แก่บรรดาศิษย์อย่างเปิดเผยแล้ว พระองค์ยังทรงเปิดเผยให้เขารู้ด้วยว่าการอธิษฐานภาวนาของเขาและของเราจะต้องเป็นอย่างไรด้วยเมื่อพระองค์จะทรงกลับไปเฝ้าพระบิดาพร้อมกับพระธรรมชาติมนุษย์ที่รุ่งโรจน์ของพระองค์แล้ว บัดนี้ อะไรใหม่ก็คือ “การขอในพระนามของพระองค์[76] ความเชื่อในพระองค์นำบรรดาศิษย์ให้รู้จักพระบิดา เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6) ความเชื่อเกิดผลของตนในความรัก หมายถึงการรักษาพระวาจาของพระองค์ พระบัญญัติของพระองค์ อยู่กับพระองค์ในพระบิดาผู้ทรงรักเราในพระองค์ จนกระทั่งมาประทับอยู่ในเรา ในพันธสัญญาใหม่นี้ ความแน่ใจว่าพระเจ้าจะทรงฟังคำวอนขอของเรานั้นมีฐานมั่นคงอยู่บนการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้า[77]

 2615  ยิ่งกว่านั้น เมื่อการอธิษฐานภาวนาของเรารวมกับการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าแล้ว พระบิดายังประทาน “ผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง […] เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17) มิติใหม่ประการนี้ของการอธิษฐานภาวนาและเงื่อนไขปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า[78] ในพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นความสัมพันธ์ความรักกับพระบิดา ไม่เพียงผ่านทางพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังในพระองค์อีกด้วย “จนถึงบัดนี้ ท่านยังไม่ได้ขอสิ่งใดในนามของเราเลย จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ เพื่อความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” (ยน 16:24)

 

[59] เทียบ มธ 5:23-24.          

[60] เทียบ มธ 5:44-45.          

[61] เทียบ มธ 6:7.

[62] เทียบ มธ 6:14-15.           

[63] เทียบ มธ 6:21,25,33.        

[64] เทียบ มธ 7:7-11,13-14.       

[65] เทียบ มธ 21:21.             

[66] เทียบ มธ 8:26.              

[67] เทียบ มธ 8:10.              

[68] เทียบ มธ 15:28.             

[69] เทียบ มธ 7:21.              

[70] เทียบ มธ 9:38; ลก 10:2; ยน 4:34.            

[71] เทียบ มก บทที่ 13; ลก 21:34-36.

[72] เทียบ ลก 22:40,46.         

[73] เทียบ ลก 11:5-13.            

[74] เทียบ ลก 18:1-8.            

[75] เทียบ ลก 18:9-14.           

[76] เทียบ ยน 14:13.             

[77] เทียบ ยน 14:13-14.           

[78] เทียบ ยน 14:23-26; 15:7,16; 16:13-15,23-27.   

พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา

พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา

 2616  พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน[79] จากไยรัส[80] จากหญิงชาวคานาอัน[81] จากโจรกลับใจ[82]) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา[83] จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์[84] ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป[85]) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว”

          นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”[86]

 

[79] เทียบ มก 1:40-41.           

[80] เทียบ มก 5:36.             

[81] เทียบ มก 7:29.              

[82] เทียบ ลก 23:39-43.         

[83] เทียบ มก 2:5.

[84] เทียบ มก 5:28.             

[85] เทียบ ลก 7:37-38.           

[86] Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 85, 1: CCL 39, 1176 (PL 36, 1081); cf Institutio generalis de liturgia Horarum, 7: Liturgia Horarum, editio typica, v. 1 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 24.      

การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์

การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์

 2617   การอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ถูกเปิดเผยให้เราเห็นตอนรุ่งอรุณของเวลาที่กำหนด ก่อนที่พระบุตรของพระเจ้าจะทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์และก่อนที่พระจิตเจ้าจะเสด็จมา การอธิษฐานภาวนาของพระนางก็ร่วมงานเป็นพิเศษกับแผนการพระกรุณาของพระบิดา เมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวการปฏิสนธิของพระคริสตเจ้า[87] ในวันเปนเตกอสเตเพื่อก่อตั้งพระศาสนจักร พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า[88] มนุษยชาติได้รับของประทานจากพระเจ้าที่พระองค์ทรงหวังไว้ตั้งแต่เริ่มแรกอาศัยความเชื่อของหญิงผู้รับใช้ที่ถ่อมตนของพระองค์ พระนางซึ่งพระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงบันดาลให้ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ได้ตอบสนองพระองค์โดยการถวายตัวพระนางโดยสิ้นเชิง “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” วลี “ขอให้เป็นไป” นี้เป็นการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน เราเป็นของพระองค์ได้ทั้งหมดก็เพราะพระองค์ทรงเป็นของเราทั้งหมดนั่นเอง

 2618  พระวรสารเปิดเผยให้เราทราบว่าพระนางมารีย์ทรงอธิษฐานภาวนาและวอนขอแทนเราอย่างไร ที่หมู่บ้านคานา[89] พระนางมารีย์วอนขอพระบุตรเพื่อความจำเป็นของการเลี้ยงงานแต่งงาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายของอีกงานเลี้ยงหนึ่ง คือการเลี้ยงงานวิวาห์ของ “ลูกแกะ” ผู้ประทานพระกายและพระโลหิตของพระองค์เมื่อพระศาสนจักร เจ้าสาวของพระองค์ร้องขอ ในเวลาของพันธสัญญาใหม่ที่เชิงไม้กางเขน[90] พระเจ้าทรงรับฟังพระนางมารีย์ในฐานะสตรี นางเอวาคนใหม่ “มารดาที่แท้จริงของผู้มีชีวิต”

 2619  เพราะเหตุนี้ บทเพลงของพระนางมารีย์[91] ที่เรียกว่าบท “Magnificat” ในภาษาละติน บท “Megalynarion” ของจารีตไบซันติน เป็นบทเพลงขับร้องของพระมารดาของพระเจ้าและของพระศาสนจักรในเวลาเดียวกัน เป็นบทเพลงขับร้องของธิดาแห่งศิโยนและของประชากรใหม่ของพระเจ้า เป็นบทเพลงขับร้องขอบพระคุณสำหรับความสมบูรณ์ของพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานในแผนการความรอดพ้น เป็นบทเพลงขับร้อง “ของผู้ยากจน” ผู้มีความหวังเต็มเปี่ยมว่าพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้ “แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป” จะสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์

 

[87] เทียบ ลก 1:38.              

[88] เทียบ กจ 1:14.

[89] เทียบ ยน 2:1-12.            

[90] เทียบ ยน 19:25-27.         

[91] เทียบ ลก 1:46-55.           

สรุป

สรุป

 2620   ในพันธสัญญาใหม่ ตัวอย่างสมบูรณ์ของการอธิษฐานภาวนาพบได้ในการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระเยซูเจ้า  การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าซึ่งบ่อยๆ เกิดขึ้นในที่เปลี่ยว ในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว เป็นความสนิทสัมพันธ์เปี่ยมด้วยความรักต่อพระประสงค์ของพระบิดาจนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และมีความหวังอย่างมั่นใจว่าพระบิดาจะทรงรับฟัง

 2621    เมื่อทรงสอนบรรดาศิษย์ พระเยซูเจ้าทรงสอนเขาให้อธิษฐานภาวนาด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยความกล้าเยี่ยงบุตร พระองค์ทรงเรียกและเชิญชวนเขาให้ถวายคำวอนขอของตนแด่พระเจ้าเดชะพระนามของพระองค์ พระเยซูคริสตเจ้าเองก็ทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาที่เราทูลขอต่อพระองค์ด้วย

 2622   การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์ ในการตอบรับต่อทูตสวรรค์ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าและในบท Magnificat ของพระนาง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการถวายตนโดยสิ้นเชิงด้วยความเชื่อ

ตอนที่สาม

ในช่วงเวลาของพระศาสนจักร

 2623  ในวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้นั้นได้หลั่งลงมาเหนือบรรดาศิษย์ “ที่มาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน” (กจ 2:1) “ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนา […] เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ 1:14) พระจิตเจ้าผู้ทรงสอนและทรงทำให้พระศาสนจักรระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้[92] ยังทรงช่วยเสริมสร้างพระศาสนจักรให้มีชีวิตการอธิษฐานภาวนาด้วย

 2624  ในชุมชนคริสตชนกลุ่มแรกที่กรุงเยรูซาเล็ม บรรดาผู้มีความเชื่อ “ประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก  […] ร่วมพิธีบิขนมปังและอธิษฐานภาวนา” (กจ 2:42) การร่วมชุมนุมกันเป็นลักษณะเฉพาะของการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร พระศาสนจักรได้รับการสถาปนาขึ้นมาบนความเชื่อของบรรดาอัครสาวกและมีความรักเป็นเสมือนตราประทับ มีศีลมหาสนิทเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต

 2625  ก่อนอื่นหมด การอธิษฐานภาวนาเหล่านี้ที่บรรดาผู้มีความเชื่อได้ยินและอ่านมาในพระคัมภีร์ แต่ก็ปรับการอธิษฐานภาวนาเหล่านี้ให้เข้ากับปัจจุบัน โดยเฉพาะการอธิษฐานภาวนาของเพลงสดุดี เริ่มจากการที่บทเพลงเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงในพระคริสตเจ้า[93] พระจิตเจ้าผู้ทรงเชิญชวนพระศาสนจักรผู้อธิษฐานภาวนาให้ระลึกถึงพระคริสตเจ้า ยังทรงนำพระศาสนจักรไปสู่ความจริงทั้งมวลและปลุกสูตรใหม่ๆ เพื่ออธิบายพระธรรมล้ำลึกที่ยากจะเข้าถึงได้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้าซึ่งกำลังทำงานอยู่ในชีวิต ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และในพันธกิจของพระศาสนจักร สูตรต่างๆเหล่านี้จะได้รับการอธิบายในธรรมประเพณีสำคัญๆ ทางพิธีกรรมและชีวิตจิต รูปแบบต่างๆ ของคำอธิษฐานภาวนาดังที่พระคัมภีร์ที่สืบทอดเป็นทางการมาจากบรรดาอัครสาวกเปิดเผยนี้จะคงเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน

 

[92] เทียบ ยน 14:26.            

[93] เทียบ ลก 24:27,44.         

I. การถวายพระพรและกราบนมัสการ

I. การถวายพระพรและกราบนมัสการ

 2626  การถวายพระพร แสดงความรู้สึกขั้นต่ำที่สุดของการอธิษฐานภาวนาคริสตชน กิจกรรมนี้เป็นการที่พระเจ้าและมนุษย์มาพบกัน ในกิจกรรมนี้ของประทานของพระเจ้ามาพบกับการรับของประทานนี้จากมนุษย์ การอธิษฐานภาวนาถวายพระพรเป็นการที่มนุษย์ตอบสนองของประทานจากพระเจ้า เพราะพระเจ้าประทานพร ใจของมนุษย์จึงอาจถวายพระพรพระองค์เป็นการตอบสนองต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดพระพรทุกอย่างได้

 2627  สูตรพื้นฐานสองสูตรแสดงทิศทางการถวายพระพรให้ปรากฏ คือการถวายพระพรที่พระจิตเจ้าทรงนำขึ้นไปหาพระบิดาผ่านทางพระคริสตเจ้า (เราถวายพระพรพระองค์ผู้ประทานพระพรแก่เรา)[94] หรือการวอนขอพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่ลงมาจากพระบิดาผ่านทางพระคริสตเจ้า (พระองค์ประทานพระพรแก่เรา)[95]

 2628  การกราบนมัสการ เป็นท่าทีแรกของมนุษย์ที่ยอมรับเฉพาะพระพักตร์พระผู้สร้างว่าตนเป็น      สิ่งสร้าง เป็นการยกย่องความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างเรามา[96] และยกย่องสรรพานุภาพของพระผู้ไถ่ที่ทรงช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย การกราบนมัสการยังเป็นการน้อมจิตใจของเราต่อหน้า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์”[97] และเป็นการถวายพระเกียรติอย่างเงียบๆ เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าผู้ “ทรงยิ่งใหญ่กว่า […] เสมอ”[98] การกราบนมัสการพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งและน่ารักอย่างที่สุดทำให้เรารู้สึกถ่อมตนและช่วยให้เรามั่นใจว่าพระองค์จะทรงฟังคำวอนขอของเรา

 

[94] เทียบ อฟ 1:3-14; 2 คร 1:3-7; 1 ปต 1:3-9.      

[95] เทียบ  2 คร 13:13; รม 15:5-6,13; อฟ 6:23-24. 

[96] เทียบ สดด 95:1-6.          

[97] เทียบ สดด 24:9-10.          

[98] Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 62, 16: CCL 39, 804 (PL 36, 758).    

II. การอธิษฐานเพื่อวอนขอ

II. การอธิษฐานเพื่อวอนขอ

 2629 คำที่ใช้หมายถึงการวอนขอในพันธสัญญาใหม่มีความหมายหลากหลายที่แตกต่างกันอยู่ไม่น้อย เช่น ขอร้อง วอนขอ เรียกร้อง ร้องหา ร้องขอ อ้อนวอน[99] ฯลฯ แต่รูปแบบที่ใช้บ่อยที่สุด เพราะเป็นธรรมชาติที่สุดก็คือการวอนขอ โดยการอธิษฐานวอนขอเราเปิดใจของเราให้สัมพันธ์กับพระเจ้า ในฐานะที่เป็นสิ่งสร้าง เราไม่ใช่บ่อเกิดของตนเอง ไม่มีอำนาจควบคุมอุปสรรคต่างๆ ได้ และไม่ใช่จุดหมายสุดท้ายของตน แต่เรายังรู้ว่าตนเป็นคนบาป และในฐานะคริสตชน เรายังรู้ว่าเราอยู่ห่างจากพระบิดาของเรา การวอนขอจึงเป็นดังการกลับมาหาพระองค์อย่างหนึ่ง

 2630 พันธสัญญาใหม่แทบจะไม่มีการอธิษฐานภาวนาคร่ำครวญที่มีอยู่บ่อยในพันธสัญญาเดิม คำอธิษฐานของพระศาสนจักรร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว มีแต่ความหวัง แม้ว่าเราจะยังอยู่ในการรอคอยและยังต้องกลับใจทุกๆ วัน การวอนขอเยี่ยงคริสตชนเกิดจากความลึกซึ้งอื่น สิ่งที่นักบุญเปาโลเรียกว่า “การร้องครวญ” ซึ่งสรรพสิ่ง “กำลังร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดราวกับสตรีคลอดบุตร” (รม 8:22) ก็เป็นของเราด้วยซึ่งกำลังรอคอย “ให้ร่างกายของเราได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ เพราะเราได้รอดพ้นเพียงในความหวัง” (รม 8:23-24) ในที่สุดยังมีการร้องครวญที่ไม่อาจบรรยายได้ของพระจิตเจ้า “ผู้เสด็จมาช่วยเหลือเราผู้อ่อนแอ เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม” (รม 8:26)

 2631 การวอนขออภัยบาป เป็นท่าทีแรกของการอธิษฐานวอนขอ (เช่น คนเก็บภาษีภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” ลก 18:13) การวอนขอนี้เป็นการนำไปสู่การอธิษฐานภาวนาที่ถูกต้องล้วนๆ ความถ่อมตนด้วยความหวังนำเรากลับมาสู่แสงสว่างของสัมพันธภาพกับพระบิดา กับพระเยซูคริสตเจ้า และกับมนุษย์ด้วยกัน[100] ต่อจากนั้น “ถ้าเราวอนขอสิ่งใด  เราย่อมจะได้รับสิ่งนั้นจากพระองค์” (1 ยน 3:22) เราจึงวอนขออภัยบาปก่อนพิธีกรรมขอบพระคุณและก่อนการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวด้วย

 2632 การวอนขอของคริสตชนมีศูนย์กลางอยู่ที่ความปรารถนาและการแสวงหาพระอาณาจักรที่มาถึงตามคำสอนของพระเยซูเจ้า[101] ต้องมีลำดับความสำคัญในการวอนขอ ก่อนอื่นต้องวอนขอพระอาณาจักร  แล้วจึงวอนขอสิ่งที่จำเป็นสำหรับรับพระอาณาจักรนี้ และเพื่อร่วมงานกับการมาถึงของพระอาณาจักร การร่วมงานนี้กับพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า ซึ่งบัดนี้ยังเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย จึงเป็นสาระสำคัญของการอธิษฐานภาวนาของกลุ่มคริสตชนสมัยอัครสาวกเช่นกัน[102] การอธิษฐานภาวนาของเปาโล อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ เปิดเผยให้เรารู้ว่าความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อกลุ่มคริสตชนทุกแห่งต้องเป็นพลังบันดาลใจของการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน[103] ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนร่วมงานให้พระอาณาจักรมาถึงโดยการอธิษฐานภาวนา

 2633 ในเมื่อเรามีส่วนร่วมความรักที่ช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้า เราจึงเข้าใจว่าความต้องการทุกอย่างอาจเป็นเรื่องที่เราวอนขอได้ พระคริสตเจ้าผู้ทรงรับทุกสิ่งมาเพื่อกอบกู้ทุกสิ่งย่อมได้รับพระสิริรุ่งโรจน์จากการวอนขอที่เราถวายแด่พระบิดาในพระนามของพระองค์[104] ยากอบ[105]และเปาโลจึงเตือนเราให้อธิษฐานภาวนาในทุกโอกาส[106]ด้วยความมั่นใจเช่นนี้

 

[99] เทียบ รม 15:30; คส 4:12.    

[100] เทียบ 1 ยน 1:7 – 2:2.       

[101] เทียบ มธ 6:10,33; ลก 11:2,13.

[102] เทียบ กจ 6:6; 13:3.        

[103] เทียบ รม 10:1; อฟ 1:16-23; ฟป 1:9-11; คส 1:3-6; 4:3-4,12.     

[104] เทียบ ยน 14:13.            

[105] เทียบ ยก 1:5-8.            

[106] เทียบ อฟ 5:20; ฟป 4:6-7; คส 3:16-17; 1 ธส 5:17-18.          

III. การอธิษฐานวอนขอแทน

III. การอธิษฐานวอนขอแทน

 2634 การอธิษฐานวอนขอแทนเป็นการวอนขอที่ทำให้เราวอนขอเหมือนกับการอธิษฐานวอนขอของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้วอนขอพระบิดาเจ้าเพื่อมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะเพื่อคนบาป[107] พระองค์ “ทรงช่วยคนทั้งปวงซึ่งเข้ามาถึงพระเจ้าโดยทางพระองค์ให้ได้รับความรอดพ้นได้อย่างดียิ่ง เพราะพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิจเพื่อทูลขอพระกรุณาให้คนเหล่านั้น” (ฮบ 7:25) พระจิตเจ้า “ทรงอธิษฐานภาวนาขอแทนเรา […] เพราะทรงอธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตาม พระประสงค์ของพระเจ้า” (รม 8:26-27)

 2635 การวอนขอแทน วอนขอเพื่อผู้อื่น นับตั้งแต่อับราฮัมแล้ว เป็นลักษณะเฉพาะของใจที่มีลักษณะเหมือนกับพระทัยของพระเจ้า ในสมัยของพระศาสนจักร การที่คริสตชนวอนขอเพื่อผู้อื่นก็เป็นการมีส่วนร่วมกับการวอนขอของพระคริสตเจ้าเพื่อผู้อื่นด้วย เป็นการแสดงออกของความสนิทสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ในการวอนขอเพื่อผู้อื่น ผู้ที่อธิษฐานภาวนา “ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว […] แต่เห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย” (ฟป 2:4) จนกระทั่งอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่ทำร้ายตนด้วย[108]

 2636  กลุ่มคริสตชนในสมัยแรกดำเนินชีวิตตามรูปแบบนี้อย่างแข็งขัน[109] ด้วยวิธีนี้ นักบุญเปาโลอัครสาวกทำให้ชุมชนเหล่านี้มีส่วนในพันธกิจการประกาศข่าวดีของท่าน[110] และยังวอนขอพระเจ้าเพื่อพวกเขาด้วย[111] การที่คริสตชนวอนขอเพื่อผู้อื่นนั้นไม่มีขอบเขต “เป็นการอ้อนวอนแทนและขอบพระคุณพระเจ้าเพื่อมนุษย์ทุกคน...เพื่อผู้มีอำนาจ” (1 ทธ 2:1) เพื่อผู้ที่เบียดเบียน[112] เพื่อความรอดพ้นของผู้ที่ไม่ยอมรับข่าวดีด้วย[113]

 

[107] เทียบ รม 8:34; 1 ยน 2:1; 1 ทธ 2:5-8.        

[108] เทียบ นักบุญสเทเฟนอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ที่ทรมานท่านเหมือนพระเยซูเจ้า เทียบ กจ 7:60; ลก 23:28,34.   

[109] เทียบ กจ 12:5; 20:36; 21:5; 2 คร 9:14.     

[110] เทียบ อฟ 6:18-20; คส 4:3-4; 1 ธส 5:25.     

[111] เทียบ 2 ธส 1:11; คส 1:3; ฟป 1:3-4.           

[112] เทียบ รม 12:14.            

[113] เทียบ รม 10:1.              

IV. การอธิษฐานขอบพระคุณ

IV. การอธิษฐานขอบพระคุณ

 2637  การขอบพระคุณเป็นเครื่องหมายของการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร ซึ่งแสดงตนและทำตนให้เป็นตามที่เป็นมากยิ่งขึ้นด้วย อันที่จริง ในงานไถ่กู้ พระคริสตเจ้าทรงช่วยให้สิ่งสร้างเป็นอิสระจากบาปและจากความตายเพื่อทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อทำให้ทุกสิ่งกลับไปหาพระบิดาเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ การขอบพระคุณของส่วนต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้าย่อมมีส่วนการขอบพระคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะของเขาทั้งหลายด้วย

2638   เช่นเดียวกับในการอธิษฐานภาวนาวอนขอ เหตุการณ์และความต้องการใดๆ ไม่ว่าอาจกลายเป็นการถวายการขอบพระคุณได้ จดหมายของนักบุญเปาโลหลายครั้งเริ่มและจบด้วยการขอบพระคุณ และพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงปรากฏอยู่เสมอในการขอบพระคุณเหล่านี้ “จงขอบพระคุณพระเจ้าในทุกกรณี เพราะพระองค์ทรงปรารถนาให้ท่านทำสิ่งนี้ในพระคริสตเยซู”  (1 ธส 5:18) “จงอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ อย่าละเลยที่จะขอบพระคุณ” (คส 4:2)

V. การอธิษฐานเพื่อสรรเสริญ

V. การอธิษฐานเพื่อสรรเสริญ

 2639  คำสรรเสริญเป็นรูปแบบของการอธิษฐานภาวนาที่ยอมรับอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้า คำสรรเสริญเป็นการขับร้องถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตรง ถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระองค์ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ทรงกระทำ แต่เพราะการที่ “พระองค์ทรงเป็น” เป็นการมีส่วนร่วมความสุขของบรรดาผู้มีใจบริสุทธิ์ที่รักพระองค์ด้วยความเชื่อก่อนที่จะได้เห็นพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ โดยคำสรรเสริญ พระจิตเจ้าทรงร่วมกับจิตใจของเราเพื่อเป็นพยานยืนยันว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า[114] เป็นพยานยืนยันแก่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวที่พระเจ้าทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรมในพระองค์และที่เราถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาเดชะพระบุตรนี้ คำสรรเสริญรวมการอธิษฐานภาวนารูปแบบอื่นๆไว้และนำการอธิษฐานภาวนารูปแบบต่างๆ เหล่านี้ไปถวายพระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและจุดหมายปลายทาง “พระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดา สรรพสิ่งมาจากพระองค์ เราเป็นอยู่เพื่อพระองค์” (1 คร 8:6)

 2640    หลายครั้งในพระวรสารของท่าน นักบุญลูกากล่าวถึงความพิศวงและคำสรรเสริญของประชาชนต่ออัศจรรย์ที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำ และในหนังสือกิจการอัครสาวกท่านยังเน้นถึงการกระทำของพระจิตเจ้าในชุมชนคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม[115] การที่เปโตรและยอห์นรักษาคนง่อย[116] การที่ประชาชนถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าเพราะเรื่องนี้[117] การที่คนต่างศาสนาในแคว้นปิสีเดีย “ยินดีและสรรเสริญพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กจ 13:48)

 2641    “จงร่วมใจกันขับร้องเพลงสดุดี เพลงสรรเสริญและบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จงขับร้องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าจากจิตใจ” (อฟ 5:19)[118] เช่นเดียวกับผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ซึ่งได้รับการดลใจ กลุ่มคริสตชนแรกๆ
ก็อ่านหนังสือเพลงสดุดีเป็นการขับร้องพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าในบทเพลงเหล่านี้ เขายังได้รับความคิดใหม่ๆ ของพระจิตเจ้ามาเรียบเรียงบทเพลงใหม่ๆเริ่มจากเหตุการณ์ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้สำเร็จไปในองค์พระบุตร เช่นการรับพระธรรมชาติมนุษย์ การสิ้นพระชนม์ที่เป็นชัยชนะต่อความตาย การกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์และการเสด็จสู่สวรรค์ไปประทับเบื้องขวาของพระบิดา[119] บทยอพระเกียรติซึ่งเป็นการสรรเสริญพระเจ้า[120] ก็เกิดมาจาก “อัศจรรย์” เหล่านี้ของแผนการความรอดพ้นทั้งหมด

 2642   การเปิดเผยเหตุการณ์ต่างๆ “ที่จะต้องเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้” คือหนังสือวิวรณ์ ก็เต็มไปด้วยบทเพลงของพิธีกรรมในสวรรค์[121] และยังมีคำวอนขอแทนของ “บรรดาพยาน” (มรณสักขี)[122] บรรดาประกาศกและผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ถูกฆ่าในโลกนี้เพราะการเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้า[123] ชนกลุ่มใหญ่ของผู้ที่มาจากการเบียดเบียนครั้งใหญ่และนำหน้าพวกเราในพระอาณาจักร ขับร้องสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ผู้ประทับบนพระบัลลังก์และของลูกแกะ[124] พระศาสนจักรในโลกขับร้องบทเพลงเหล่านี้ด้วยความเชื่อในความยากลำบากและมีความสัมพันธ์กับท่านเหล่านี้ เมื่อวอนขอและวอนขอแทนผู้อื่น ความเชื่อยังมีความหวัง แม้ดูเหมือนจะหมดหวังแล้ว ขอบพระคุณพระบิดาผู้ทรงสร้างความสว่างและประทานทุกอย่างที่ดีและบริบูรณ์[125] ดังนั้นความเชื่อจึงเป็นการสรรเสริญล้วนๆ

 2643  พิธีบูชาขอบพระคุณมีและแสดงรูปแบบการอธิษฐานภาวนาทุกอย่าง พิธีบูชานี้เป็น “การถวายที่บริสุทธิ์” ของพระกายทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระนามของพระองค์[126] พิธีนี้ ตามธรรมประเพณีทั้งของพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตกเป็น “การถวายบูชาสรรเสริญ” พระเจ้า

 

[114] เทียบ รม 8:16.             

[115] เทียบ กจ 2:47.             

[116] เทียบ กจ 3:9.

[117] เทียบ กจ 4:21.              

[118] เทียบ คส 3:16.             

[119] เทียบ ฟป 2:6-11; คส 1:15-20; อฟ 5:14; 1 ทธ 3:16; 6:15-16; 2 ทธ 2:11-12.       

[120] เทียบ อฟ 1:3-14; 3:20-21; รม 16:25-27; ยด 24-25.            

[121] เทียบ วว 4:8-11; 5:9-14; 7:10-12.             

[122] เทียบ วว 6:10.             

[123] เทียบ วว 18:24.            

[124] เทียบ วว 19:1-8.            

[125] เทียบ ยก 1:17.             

[126] เทียบ มลค 1:11.            

สรุป

สรุป

 2644   พระจิตเจ้าผู้ทรงสอนพระศาสนจักรและแนะนำทุกอย่างที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ ยังอบรมสั่งสอนพระศาสนจักรให้มีชีวิตการอธิษฐานภาวนาด้วย โดยทรงดลใจให้รู้จักข้อความใหม่ๆ ภายในขอบเขตของสูตรที่เคยมีอยู่แล้ว เช่น การถวายพระพร การวอนขอ การวอนขอแทน การขอบพระคุณและสรรเสริญ

 2645   เพราะพระเจ้าทรงอวยพระพร ใจของมนุษย์จึงอาจถวายพระพรตอบแทนพระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดของพระพรทุกประการได้

 2646   การอภัยบาป การขอให้พระอาณาจักรมาถึง เช่นเดียวกับความจำเป็นจริงๆ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เราอธิษฐานภาวนาวอนขอได้

 2647   การอธิษฐานวอนขอแทนเป็นการที่เราอธิษฐานวอนขอเพื่อผู้อื่น การวอนขอเช่นนี้ไม่มีขอบเขต และต้องแผ่ไปถึงการวอนขอเพื่อศัตรูด้วย

 2648   ความยินดีและความทุกข์ใดๆ ไม่ว่า เหตุการณ์และความต้องการใดๆ ไม่ว่าเป็นสิ่งที่เราอธิษฐานภาวนาขอบพระคุณพระเจ้าได้ เป็นการร่วมขอบพระคุณกับการขอบพระคุณของพระคริสตเจ้าที่ต้องทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ “จงขอบพระคุณพระเจ้าในทุกกรณี” (1 ธส 5:18)

 2649  การอธิษฐานภาวนาสรรเสริญ โดยไม่หวังจะได้รับสิ่งใด มุ่งไปหาพระเจ้า เป็นการขับร้องถวายพระองค์เพราะเห็นแก่พระองค์ ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ ไม่ใช่เพราะพระองค์ทรงทำอะไรให้เรา แต่เพราะพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้น