I. ความปรารถนาที่จะพบพระเจ้า

I.   ความปรารถนาที่จะพบพระเจ้า

 27  ในใจของมนุษย์มีความปรารถนาที่จะพบพระเจ้าจารึกไว้ เพราะมนุษย์ได้รับการเนรมิตสร้างจากพระเจ้าและเพื่อพระเจ้า พระเจ้าไม่ทรงหยุดยั้งเลยที่จะดึงดูดมนุษย์มาหาพระองค์ และในพระเจ้าเท่านั้นมนุษย์จะพบความจริงและความสุขที่เขาแสวงหาอยู่ตลอดเวลาได้

         “เหตุผลพิเศษของศักดิ์ศรีที่มนุษย์มีตั้งอยู่ในการที่เขาได้รับเรียกให้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วมนุษย์ได้รับเชิญให้สนทนากับพระเจ้า เขาดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเขาขึ้นมาเพราะความรัก และทรงรักษาเขาไว้ตลอดมาด้วยความรัก เขาไม่อาจมีชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ตามความจริง ถ้าเขาไม่ยอมรับความรักนั้นโดยอิสระเสรีและมอบตนเองให้แก่พระผู้สร้างเขาขึ้นมา”[1]

 28     จากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ มนุษย์ได้แสดงให้เห็นว่าพยายามแสวงหาพระเจ้าด้วยความเชื่อและการปฏิบัติต่างๆ (เช่นการอธิษฐานภาวนา การถวายสักการบูชาคารวกิจ การรำพึงไตร่ตรอง ฯลฯ) รูปแบบการแสดงออกเหล่านี้ แม้จะมีความกำกวมอยู่ด้วย แต่ก็เป็นกิจกรรมที่พบได้ทั่วไป ทำให้เห็นได้ว่ามนุษย์เป็น ผู้มีศาสนา” (ens religiosum)

           พระเจ้า “ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียว และทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโดยทรงกำหนดช่วงเวลาและขอบเขตให้เขาอยู่ พระเจ้าทรงกระทำดังนี้เพื่อให้มนุษย์แสวงหาพระเจ้า เขาพบพระองค์ได้แม้จะต้องคลำหา เพราะพระองค์ทรงอยู่ไม่ห่างจากเราแต่ละคน เรามีชีวิต เคลื่อนไหวและมีความเป็นอยู่ในพระองค์” (กจ 17:26-28)

 29     แต่มนุษย์อาจลืม ไม่สนใจ หรือแม้กระทั่งไม่ยอมรับ “ความสัมพันธ์ลึกซึ้งและมีชีวิตชีวากับพระเจ้านี้” ได้[2] ท่าทีเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ:[3] เช่นจากการต่อต้านความเลวร้ายที่มีอยู่ในโลก จากความไม่รู้หรือไม่สนใจเรื่องศาสนา จากความสาละวนต่อโลกนี้และทรัพย์สมบัติ[4] จากตัวอย่างไม่ดีของผู้มีความเชื่อ จากแนวความคิดที่ต่อต้านศาสนา ในที่สุดจากท่าทีของมนุษย์คนบาปที่มีความกลัวและต้องการซ่อนตัวให้พ้นจากพระเจ้า[5] และหลบหนีจากพระองค์ที่ทรงเรียก[6]

 30     “ใจของผู้แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าจงชื่นชมเถิด” (สดด 105:3) มนุษย์อาจลืมหรือไม่ยอมรับพระเจ้าได้ แต่พระเจ้าไม่เคยทรงหยุดยั้งที่จะเรียกมนุษย์ให้มาแสวงหาพระองค์เพื่อจะได้มีชีวิตและความสุข แต่การแสวงหาพระเจ้านี้เรียกร้องให้มนุษย์ใช้ความพยายามทั้งหมดด้านสติปัญญา ความตั้งใจจริง และ “จิตใจตรง” รวมทั้งการเป็นพยานยืนยันของผู้อื่นซึ่งจะสอนเขาให้แสวงหาพระเจ้าได้ด้วย

           “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงยิ่งใหญ่ น่าสรรเสริญยิ่ง พระอานุภาพและพระปรีชายิ่งใหญ่ของพระองค์ไม่อาจวัดได้ มนุษย์ต้องการสรรเสริญพระองค์ มนุษย์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างไว้ เป็นสิ่งสร้างที่จะต้องตาย มีหลักฐานของบาปอยู่ในตัวและเป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงต่อต้านผู้หยิ่งยโส ถึงกระนั้น มนุษย์ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างไว้ก็ยังปรารถนาจะสรรเสริญพระองค์ พระองค์ทรงปลุกใจเขาให้ยินดีที่จะสรรเสริญพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้างข้าพเจ้าทั้งหลายไว้สำหรับพระองค์ และใจข้าพเจ้าทั้งหลายสงบอยู่ไม่ได้จนกว่าจะได้พักผ่อนในพระองค์”[7]

[1] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 19: AAS 58 (1966) 1038-1039.

[2] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 19: AAS 58 (1966) 1039.

[3] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 19-21: AAS 58 (1966) 1038-1042.

[4] เทียบ มธ 13:22.

[5] เทียบ ปฐก 3:8-10.

[6] เทียบ ยนา 1:3.

[7] Sanctus Augustinus, Confessiones, 1,1,1: CCL 27,1 (PL 32, 659-661).

II. หนทางที่ช่วยให้รู้จักพระเจ้าได้

II.  หนทางที่ช่วยให้รู้จักพระเจ้าได้

 31      มนุษย์ที่ถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า และได้รับเรียกมาให้รู้จักและรักพระองค์ เมื่อแสวงหาพระเจ้า ก็พบ “หนทาง” เพื่อจะเข้าไปรู้จักพระเจ้าได้ หนทางเหล่านี้ยังเรียกอีกว่า “เหตุผลพิสูจน์ว่ามีพระเจ้า” ไม่ใช่ในความหมายเดียวกันกับที่วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติแสวงหาเหตุผล แต่เป็น “ข้อพิสูจน์น่าเชื่อถือร่วมกัน” ซึ่งช่วยให้เราเข้าถึงความแน่ใจแท้จริงได้

           “หนทาง” เหล่านี้เพื่อเข้าหาพระเจ้าเริ่มต้นจากสิ่งสร้าง คือจากโลกของสสารและจากมนุษย์ที่เป็นบุคคล

 32     โลกเราอาจรู้จักพระเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดและจุดหมายของจักรภพได้ จากความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง จากความเป็นอยู่ที่มีหรือไม่มีก็ได้ จากระเบียบและจากความงดงามของโลก

นักบุญเปาโลกล่าวถึงชนต่างศาสนาที่ไม่มีความเชื่อไว้ว่าดังนี้ “พระเจ้าทรงทำให้สิ่งที่รู้ได้เกี่ยวกับพระองค์ปรากฏชัดอยู่แล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่เมื่อทรงสร้างโลก คุณลักษณะที่ไม่อาจแลเห็นได้ของพระเจ้า คือพระอานุภาพนิรันดรและเทวภาพของพระองค์ปรากฏอย่างชัดเจนแก่ปัญญามนุษย์ในสิ่งที่ทรงสร้าง” (รม 1:19-20)[8]

             นักบุญออกัสตินยังกล่าวอีกว่า “จงถามความงามของแผ่นดิน จงถามความงามของทะเล จงถามความงามของอากาศที่แผ่ไปทั่วทุกแห่ง จงถามความงามของท้องฟ้า [….] จงถามสิ่งต่างๆ เหล่านี้เถิด ทุกสิ่งจะตอบท่านว่า ‘ดูซิ พวกเราล้วนงดงาม’ ความงดงามของสิ่งเหล่านี้เป็น การประกาศสรรเสริญ (confession) ของสิ่งสร้าง ใครเล่าได้สร้างสิ่งงดงามที่เปลี่ยนแปลงได้เหล่านี้ถ้าไม่ใช่ ผู้ทรงความงดงามที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง?”[9]

 33     มนุษย์ : ซึ่งมีความโน้มเอียงที่จะเปิดออกหาความจริงและความงดงาม มีสำนึกถึงความดีทางศีลธรรม มีอิสรภาพและเสียงมโนธรรมคอยดึงดูด พยายามใฝ่หาองค์อนันต์และความสุข ย่อมถามตนเองอยู่เสมอถึงความมีอยู่ของพระเจ้า ในสถานการณ์เหล่านี้เขาก็แลเห็นเครื่องหมายว่าตนมีวิญญาณที่เป็นจิต วิญญาณซึ่งเป็น “เมล็ดพันธุ์ของนิรันดรภาพ ซึ่ง(มนุษย์)มีอยู่ในตัวเขานั้น ไม่อาจถูกจำกัดลงให้เป็นเพียงสสารเท่านั้นได้”[10] วิญญาณของเขาเกิดมาได้จากพระเจ้าเท่านั้น

 34     โลกและมนุษย์เป็นพยานว่าตนไม่อาจมีจุดเริ่มต้นและจุดหมายสุดท้ายในตนเองได้ แต่มีส่วนใน “ความเป็นอยู่” ของผู้หนึ่งซึ่งเป็นอยู่ในตนเองโดยไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ ดังนั้น อาศัย “หนทาง” ต่างๆ เช่นนี้ มนุษย์อาจเข้าถึงความรู้ว่ามีความเป็นจริงประการหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุแรกและจุดหมายสุดท้ายของทุกสิ่ง และ “ทุกคนเรียก(ความเป็นจริงนี้)ว่า ‘พระเจ้า’”[11]

 35     มนุษย์มีความสามารถที่จะทำให้เขาอาจรู้ถึงความเป็นอยู่ของพระเจ้าซึ่งทรงเป็นบุคคลหนึ่ง แต่เพื่อให้มนุษย์เข้ามามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์ได้ พระเจ้าจึงทรงปรารถนาสำแดงพระองค์แก่มนุษย์ และประทานพระหรรษทานให้เขาสามารถรับการเปิดเผยนี้ได้อาศัยความเชื่อ ถึงกระนั้น ข้อพิสูจน์ว่ามีพระเจ้านั้นอาจจัดเตรียมมนุษย์ให้มีความเชื่อ และเป็นการช่วยให้มนุษย์เข้าใจได้ว่าความเชื่อไม่ขัดกับเหตุผล

[8] เทียบ กจ 14:15-17; 17:27-28; ปชญ 13:1-9.

[9] Sanctus Augustinus, Sermo 241,2: PL 38, 1134.

[10] Concilium Vaticanum II, Const. past.Gaudium et spes, 18: AAS 58 (1966) 1038; cf. Ibide., 14: AAS 58 (1966) 1036.

[11] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 1, q.2, a.3,c: Ed. Leon. 4,31.

III. ความรู้จักพระเจ้าตามที่พระศาสนจักรสั่งสอน

III.  ความรู้จักพระเจ้าตามที่พระศาสนจักรสั่งสอน

 36  “พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ยึดถือและสั่งสอนว่าพระเจ้า ปฐมเหตุและจุดหมายของทุกสิ่ง เป็นที่รู้จักได้โดยความสว่างของเหตุผลตามธรรมชาติของมนุษย์และจากสิ่งสร้างต่างๆ”[12] ถ้าไม่มีความสามารถนี้ มนุษย์ก็คงไม่อาจรับการเปิดเผยจากพระเจ้าได้ มนุษย์มีความสามารถนี้ก็เพราะมนุษย์ถูกสร้างมา “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า” (ปฐก 1:27)

 37  ถึงกระนั้น จากสภาพความเป็นอยู่ทางประวัติศาสตร์ มนุษย์ก็มีความยากลำบากไม่น้อยในการใช้เพียงเหตุผลเพื่อจะรู้จักพระเจ้าได้

           “แม้ว่าเหตุผลของมนุษย์ ถ้าจะพูดไปแล้ว อาจใช้พลังและแสงสว่างตามธรรมชาติเข้าถึงความรู้จริงและแน่นอนได้เกี่ยวกับพระเจ้าหนึ่งเดียวที่ทรงเป็นพระบุคคลและทรงพระญาณเอื้ออาทรเอาพระทัยใส่ปกครองดูแลโลกนี้ รวมทั้งรู้จักกฎธรรมชาติพระผู้สร้างทรงจารึกไว้ในจิตใจของเราได้จริงๆ ถึงกระนั้นก็มีอุปสรรคไม่น้อยคอยขัดขวางมิให้เหตุผลใช้ความสามารถที่มีอยู่โดยธรรมชาติของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นั้นเป็นความจริงที่อยู่เหนือระดับความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่แลเห็นและสัมผัสได้ ถ้าจะนำความจริงเหล่านี้มาใช้ให้มีอิทธิพลกับกิจกรรมของชีวิต ย่อมเรียกร้องให้มนุษย์สละและมอบตนเองแด่พระเจ้า สติปัญญาของมนุษย์มีความยากลำบากที่จะเข้าถึงความจริงเช่นนี้ได้ทั้งเนื่องจากอิทธิพลของประสาทสัมผัสและจินตนาการ อีกทั้งเนื่องจากกิเลสตัณหาที่เกิดมาจากบาปกำเนิด เพราะเหตุนี้มนุษย์จึงมักคิดเหมาเอาว่าสิ่งใดที่ตนไม่อยากให้เป็นจริงย่อมไม่จริงหรืออย่างน้อยก็น่าสงสัย”[13]

 38     เพราะเหตุนี้ มนุษย์จึงต้องได้รับแสงสว่างจากการเปิดเผยของพระเจ้า ทั้งเพื่อจะรู้ความจริงที่อยู่เหนือสติปัญญาของตน และ “ความจริงในเรื่องศาสนาและจริยธรรมที่ตามปกติสติปัญญามนุษย์เข้าใจได้เองอยู่แล้วนั้น ในสภาพปัจจุบันของมนุษย์ ทุกคนจะได้รู้ได้ง่าย ด้วยความแน่ใจและไม่มีความผิดหลงเข้ามาเจือปน”[14]

[12] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.2: DS 3004; cf. Ibid., De Revelatione, canon 2: DS 3026; Concilium Vaticanum II, Const. Dogm. Dei Verbum, 6: AAS 58 *1966) 819.

[13] Pius XII, Litt. Enc. Humani generis: DS 3875.

[14] ibid.: DS 3876. Cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.2: DS 3005; Concilium Vaticanum II, Const. Dogm. Dei Verbum, 6: AAS 58 (1966) 819-820; Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae I, q.1, a.1, c: Ed. Leon. 4, 6.

IV. เราจะต้องพูดเรื่องพระเจ้าอย่างไร

IV.  เราจะต้องพูดเรื่องพระเจ้าอย่างไร

 39  พระศาสนจักรกล่าวยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่ามนุษย์รู้จักพระเจ้าได้โดยใช้เหตุผล และยังแสดงความมั่นใจอีกด้วยว่าตนอาจพูดถึงเรื่องพระเจ้าได้แก่มนุษย์ทุกคนและกับทุกคน ดังนั้นจึงมั่นใจว่าตนอาจร่วมเสวนาได้กับศาสนาอื่น กับปรัชญาและวิทยาศาสตร์ และกับผู้ไม่มีความเชื่อและไม่เชื่อถึงพระเจ้าด้วย

 40  เนื่องจากความรู้ของเราเกี่ยวกับพระเจ้ามีขอบเขตจำกัด ภาษาที่เราใช้พูดถึงพระเจ้าจึงมีขอบเขตจำกัดด้วย เราไม่อาจออกพระนามพระเจ้าได้เว้นแต่จะเริ่มต้นจากสิ่งสร้าง และกล่าวถึงพระองค์ตามความรู้และวิธีคิดที่มีขอบเขตจำกัดตามประสามนุษย์ของเรา

 41  สิ่งสร้างทั้งหลายแสดงออกถึงความละม้ายคล้ายคลึงกับพระเจ้าที่ตนมี โดยเฉพาะมนุษย์ที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์เหมือนกับพระองค์ ความดีบริบูรณ์หลากหลายของสิ่งสร้างต่างๆ (เช่นความจริง ความดี ความงาม) ล้วนสะท้อนความดีบริบูรณ์ไร้ขอบเขตของพระเจ้า เพราะเหตุนี้ เราจึงกล่าวถึงพระเจ้าได้โดยเริ่มจากความดีบริบูรณ์ของสิ่งต่างๆ ที่ทรงเนรมิตสร้าง “จากความยิ่งใหญ่และความงดงามของสิ่งสร้างที่คล้ายกับพระผู้สร้าง มนุษย์เราจึงรู้จักพระองค์ได้” (ปชญ 13:5)

 42 พระเจ้าทรงอยู่เหนือสิ่งสร้างทั้งมวล จึงจำเป็นที่เราจะต้องขัดเกลาชำระวิธีการที่เราใช้กล่าวถึงพระองค์อยู่ตลอดเวลา เพราะวิธีการเช่นนี้มีขอบเขตจำกัด ใช้จินตนาการและไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อจะไม่ทำให้พระเจ้า “ผู้ที่เราไม่อาจกล่าวถึง ไม่อาจเข้าใจ ไม่อาจแลเห็น ไม่อาจคาดคิดถึงได้”[15] นั้นเข้ามาปะปนกับภาพที่เราเข้าใจเกี่ยวกับพระองค์ คำพูดแบบมนุษย์ของเราไม่อาจเข้าถึงธรรมล้ำลึกของพระเจ้าได้ทั้งหมด

 43  ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงพระเจ้าเช่นนี้ เราก็ใช้วิธีพูดแบบมนุษย์ของเรา แต่ก็เข้าถึงพระเจ้าได้จริง แม้จะไม่สามารถบรรยายถึงความเป็นเอกเทศที่ไร้ขอบเขตของพระองค์ได้ เราจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่า “เราไม่อาจกล่าวถึงความเหมือนระหว่างพระผู้สร้างกับสิ่งสร้างได้โดยไม่เข้าใจว่ามีความไม่เหมือนมากกว่าแทรกอยู่ระหว่างกันด้วย” [16] ยิ่งกว่านั้น “เรายังไม่อาจเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าได้ว่าทรงเป็นอะไร แต่เข้าใจได้เพียงแต่ว่าพระองค์ไม่เป็นอะไร และสรรพสิ่งมีความสัมพันธ์อย่างไรกับพระองค์เท่านั้น”[17]

[15] Liturgia Byzantina. Anaphora sancti Ioannis Chrysostomi: Liturgies Eastern and Western, ed. F.E. Brightman (Oxford 1896) p. 384 (PG 53, 915)

[16] Concilium Lateranense IV, Cap. 2. De errore abbatis Ioachim: DS 806.

[17] Sanctus Thomas Aquinas, Summa contra gentiles 1, 30: Ed. Leon. 13, 92.

สรุป

สรุป

 44     โดยธรรมชาติและจากการเรียกของพระเจ้า มนุษย์เป็นผู้มีศาสนา เพราะมนุษย์มาจากพระเจ้าและกำลังมุ่งไปหาพระเจ้า มนุษย์ไม่อาจดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ถ้าเขาไม่ดำเนินชีวิตร่วมกับพระเจ้า

 45     พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อดำเนินชีวิตร่วมกับพระองค์ที่เขาจะพบความสุขได้  “เมื่อข้าพเจ้าออกจากตนเองโดยสิ้นเชิงเข้าสนิทกับพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่มีวันพบความทุกข์และความยากลำบากอีกเลย และชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหมดจะสมบูรณ์และเต็มด้วยพระองค์[18]

 46     เมื่อมนุษย์ฟังข่าวสารที่สิ่งสร้างบอกและฟังเสียงมโนธรรมของตน เขาก็อาจเข้าถึงความมั่นใจได้ว่ามีพระเจ้าผู้ทรงเป็นต้นเหตุและจุดหมายของทุกสิ่ง

 47      พระศาสนจักรสอนว่าอาศัยความสว่างตามธรรมชาติของเหตุผล มนุษย์สามารถรู้จักพระเจ้าแท้จริงหนึ่งเดียว ผู้ทรงเป็นพระผู้สร้างและเจ้านายของเราได้จากผลงานของพระองค์[19]

 48     เราอาจกล่าวถึงพระเจ้าได้โดยเริ่มจากความดีบริบูรณ์หลากหลายของสิ่งสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นความเหมือนกับพระเจ้าผู้ทรงความดีบริบูรณ์ไร้ขอบเขต แม้ว่าวิธีพูดของเรากล่าวถึง   พระธรรมล้ำลึกของพระเจ้าได้ไม่ทั้งหมด

 49    สิ่งสร้าง [….] ถ้าไม่มีพระผู้สร้างแล้ว ย่อมอันตรธานหายไป[20] เพราะเหตุนี้ผู้มีความเชื่อจึงรู้ว่าความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันตนให้ช่วยนำแสงสว่างของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตมาให้ผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์หรือละทิ้งพระองค์ไปแล้ว

[18] Sanctus Augustinus, Confessiones 10, 28, 39: CCL 27, 175 (PL 32, 795).          

[19] Cf. Concilium Vaticanum I, Const. Dogm. Dei Filius, De revelatione, canon 2: DS 3026.             

[20] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 36: AAS 58 (1968) 1054.