ตอนที่ 10

ข้าพเจ้าเชื่อการอภัยบาป

 

 976      สูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวกเชื่อมเรื่องการอภัยบาปกับความเชื่อถึงพระจิตเจ้า และยังเชื่อมกับความเชื่อเรื่องพระศาสนจักรและความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพประทานพระจิตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก ประทานอำนาจพระเจ้าของพระองค์ที่จะอภัยบาปแก่เขาทั้งหลาย “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัย” (ยน 20:22-23)

             (อีกภาคหนึ่งของหนังสือคำสอนนี้จะกล่าวอย่างแจ้งชัดถึงการอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาป ศีลอภัยบาป และศีลอื่นๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท ดังนั้น ที่ตรงนี้จึงเพียงพอแล้วที่จะกล่าวสั้นๆ ถึงคำสอนพื้นฐานบางประการเท่านั้น)

I. ศีลล้างบาปหนึ่งเดียวเพื่ออภัยบาป

  977      องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงผูกมัดการอภัยบาปเข้ากับความเชื่อและศีลล้างบาป “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งมวล ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น” (มก 16:15-16) ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดของการอภัยบาป เพราะศีลนี้รวมเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมสละพระชนมชีพเพราะบาปของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม[546] เพื่อ “ให้เราดำเนินชีวิตแบบใหม่” (รม 6:4)

  978     “เมื่อเราประกาศยืนยันความเชื่อเป็นครั้งแรกและรับศีลล้างบาป เราก็ได้รับการอภัยบาปโดยสมบูรณ์อย่างที่ว่าไม่มีความผิดใดเหลืออยู่ให้ต้องลบล้างอีก ทั้งความผิดของบาปกำเนิดที่เราได้รับสืบทอดมา และความผิดที่เราได้จงใจทำหรือการจงใจละเว้นไม่ทำหน้าที่ รวมทั้งโทษบาปก็ไม่มีเหลือให้ต้องชดใช้อีกด้วย แต่ถึงกระนั้น พระหรรษทานของศีลล้างบาปก็ไม่ช่วยให้เราพ้นจากความอ่อนแอทุกอย่างตามธรรมชาติของเรา ตรงกันข้าม [...] แต่ละคนต้องต่อสู้กับพลังของตัณหาที่ยังคงชักนำเราให้ทำบาปอย่างไม่หยุดยั้ง”[547]

  979     ในการสู้รบกับความเอนเอียงไปหาความชั่วเช่นนี้มีใครบ้างที่แข็งแรงและระวังตัวอยู่ตลอดเวลาจนหลีกหนีบาดแผลของบาปได้ทุกอย่าง “ดังนั้น เนื่องจากว่าในพระศาสนจักรจำเป็นต้องมีอีกอำนาจหนึ่งเพื่ออภัยบาปนอกเหนือจากศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าจึงทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้แก่พระศาสนจักรเพื่อจะได้ใช้อำนาจนี้ให้อภัยความผิดแก่ทุกคนที่เป็นทุกข์กลับใจ แม้ว่าเขาจะยังทำบาปอีกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต”[548]

  980     ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วยังอาจคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักรได้อีกอาศัยศีลอภัยบาป

“เป็นการเหมาะสมแล้วที่บรรดาปิตาจารย์เรียกศีลอภัยบาปว่าเป็น ‘ศีลล้างบาปที่ลำบากประการหนึ่ง’[549] ศีลอภัยบาปนี้เป็นศีลที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ตกในบาปหลังจากรับศีลล้างบาปแล้วเท่ากับศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังไม่บังเกิดใหม่มาเป็นคริสตชน”[550]

 II.   อำนาจกุญแจ

 981     หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาปฏิบัติ “ภารกิจการคืนดี” (2 คร 5:18) นี้ โดยประกาศว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปแก่มนุษย์ตามที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับอำนาจนี้มาเพื่อประทานแก่เรา และยังทรงมอบอำนาจให้เขาอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาปและทำให้ทุกคนได้คืนดีกับพระเจ้าและกับ  พระศาสนจักรโดยอำนาจกุญแจที่เขาได้รับมาจากพระคริสตเจ้าด้วย

             พระศาสนจักร “รับกุญแจอาณาจักรสวรรค์เพื่อจะได้มีการอภัยบาปในพระศาสนจักรอาศัย   พระโลหิตของพระคริสตเจ้าและผลงานของพระจิตเจ้า ในพระศาสนจักรนี้ วิญญาณที่ตายไปแล้วเพราะบาปก็ฟื้นขึ้นมาอีก เพื่อมีชีวิตร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ประทานพระหรรษทานช่วยเราให้รอดพ้น”[551]

 982     ไม่มีความผิดใด ไม่ว่าจะหนักสักเท่าใด ที่พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจให้อภัยได้ “ไม่มีผู้ทำผิดหรืออาชญากรคนใดซึ่งเป็นทุกข์โดยจริงใจในความผิดของตน ที่จะไม่ต้องมีความหวังอย่างแน่ใจว่าตนจะได้รับการอภัย”[552] พระคริสตเจ้าซึ่งทรงสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคนทรงประสงค์ให้ประตูการอภัยบาปในพระศาสนจักรของพระองค์เปิดอยู่เสมอสำหรับใครๆ ไม่ว่าที่หันกลับใจมาจากบาป”[553]

 983     การสอนคำสอนพยายามที่จะปลุกและหล่อเลี้ยงความเชื่อในบรรดาสัตบุรุษถึงพระพรยิ่งใหญ่เหลือจะเปรียบเทียบได้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปลุกไว้ให้พระศาสนจักร คือพันธกิจและอำนาจที่จะอภัยบาปได้แท้จริงอาศัยศาสนบริการของบรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน
เหล่านั้น

“องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้บรรดาศิษย์ของพระองค์มีความสามารถอย่างมากที่สุด ทรงประสงค์ให้บรรดาผู้รับใช้แม้ต่ำต้อยที่สุดของพระองค์กระทำในพระนามของพระองค์ทุกสิ่งที่ทรงกระทำเมื่อประทับอยู่ในโลกนี้”[554]

“(บรรดาพระสงฆ์)ได้รับอำนาจที่พระเจ้าไม่เคยประทานให้ทั้งแก่บรรดาทูตสวรรค์และอัครทูตสวรรค์ […] และทุกสิ่งที่บรรดาพระสงฆ์ทำในโลกนี้ พระเจ้าก็ทรงรับรองในสวรรค์”[555]

“ถ้าหากว่าไม่มีการอภัยบาปในพระศาสนจักร ก็คงไม่มีความหวังใดๆ อีก ถ้าหากว่าไม่มีการอภัยบาปในพระศาสนจักร ก็คงไม่มีความหวังถึงชีวิตหน้าและความรอดนิรันดร เราขอบพระคุณพระเจ้าผู้ประทานพระพรนี้ให้แก่พระศาสนจักรของพระองค์”[556]

สรุป

 984      สูตรยืนยันความเชื่อรวมการอภัยบาปเข้ากับการประกาศความเชื่อในพระจิตเจ้า ทั้งนี้เพราะพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วทรงมอบอำนาจอภัยบาปให้แก่บรรดาอัครสาวกเมื่อพระองค์ประทานพระจิตเจ้าให้แก่เขาทั้งหลาย

 985      ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดสำหรับการอภัยบาป ศีลล้างบาปนี้รวมพวกเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ และประทานพระจิตเจ้าให้แก่เรา

 986      ตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรมีอำนาจอภัยบาปแก่ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว โดยปกติพระศาสนจักรใช้อำนาจนี้ในศีลอภัยบาปผ่านทางบรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์

 987      “ทั้งบรรดาพระสงฆ์และศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงเครื่องมือที่พระคริสตเจ้าทรงใช้เพื่ออภัยบาป พระองค์เองผู้ทรงสถาปนาและประทานความรอดพ้น ทรงทำให้การอภัยบาปและความชอบธรรมเกิดขึ้นในตัวเรา”[557]

 

[546] เทียบ รม 4:25.            

[547] Catechismus Romanus, 1, 11, 3 : ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 123.      

[548] Catechismus Romanus, 1, 11, 4 : ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 123.     

[549] Cf. Sanctus Gregorius Nazianzenus,  Oratio  39, 17:  SC 358, 188 (PG 36, 356).

[550] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 2: DS 1672.            

[551] Sanctus Augustinus, Sermo  214, 11: ed. P. Verbraken: Revue Bénédictine 72 (1962) 21 (PL 38, 1071-1072).        

[552] Catechismus Romanus, 1, 11, 5: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 124.      

[553] เทียบ มธ 18:21-22.        

[554] Sanctus Ambrosius, De Paenitentia 1, 8, 34: CSEL 73, 135-136 (PL 16, 476-477).

[555] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De sacerdotio  3, 5: SC 272, 148 (PG 48, 643).

[556] Sanctus Augustinus, Sermo  213, 8,8: ed. G. Morin, Sancti Augustini sermones pos Maurinos reperti [Guelferbytanus 1,9] (Romae 1930)
p. 448 (PL 38,1064).          

[557] Catechismus Romanus, 1, 11, 6: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 124-125.