บทที่สอง

ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง

 

                    พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34)

 2196   พระเยซูเจ้าทรงตอบผู้ทูลถามพระองค์ถึงบทบัญญัติประการเอกว่า “บทบัญญัติเอกก็คือ ‘อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลังของท่าน’ บทบัญญัติประการที่สองก็คือ ‘ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง’ ไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองประการนี้” (มก 12 :29-31)

                    นักบุญเปาโลยังเตือนเราอีกว่า “ผู้ที่รักเพื่อนมนุษย์ก็ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติครบถ้วนแล้ว พระบัญญัติกล่าวว่า อย่าผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าโลภ และถ้ามีบทบัญญัติอื่นอีกก็สรุปได้ในข้อความนี้ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน” (รม 13:8-10)

ตอนที่สี่

พระบัญญัติประการที่สี่

                        “จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่บนแผ่นดินที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านประทานให้” (อพย 20:12)

                        “พระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังท่านทั้งสอง” (ลก 2:51)

                         พระเยซูเจ้าทรงเน้นความสำคัญของ “บทบัญญัติของพระเจ้า”[1] ท่านอัครสาวกสอนว่า “บุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะการทำเช่นนี้ถูกต้อง พระบัญญัติที่ว่า จงให้เกียรติบิดามารดา เป็นพระบัญญัติแรกซึ่งมีพระสัญญาควบคู่อยู่ด้วยว่า แล้วท่านจะอยู่บนแผ่นดินอย่างเป็นสุขและมีอายุยืน” (อฟ 6:1-3)[2]

 2197   พระบัญญัติประการที่สี่เปิดศิลาจารึกแผ่นที่สองของพระบัญญัติสิบประการ กล่าวถึงคำสั่งเรื่องความรัก พระเจ้าทรงประสงค์ว่า ต่อจากพระองค์ เราต้องให้เกียรติบิดามารดาที่ให้ชีวิตแก่เราและสอนเราให้รู้จักพระเจ้า เราจึงจำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพทุกคนที่พระเจ้าประทานอำนาจให้เพื่อความดีของเรา

 2198  พระบัญญัติประการนี้แสดงออกในรูปแบบของหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เป็นการเกริ่นถึงพระบัญญัติที่ตามมาที่เกี่ยวกับรายละเอียดของชีวิต การแต่งงาน ทรัพย์สินในโลก และการใช้คำพูด นับเป็นรากฐานประการหนึ่งของคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

 2199   พระบัญญัติประการที่สี่เป็นคำสั่งแก่บุตรโดยตรงเรื่องความสัมพันธ์กับบิดามารดา เพราะความสัมพันธ์ประการนี้ครอบคลุมถึงทุกคน ในทำนองเดียวกันยังขยายไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสมาชิกอื่นๆ ของครอบครัวอีกด้วย พระบัญญัติประการนี้เรียกร้องให้เราให้เกียรติ ความรักและความกตัญญูรู้คุณต่อปู่ย่าตายายอีกด้วย ในที่สุดยังขยายไปถึงหน้าที่ของศิษย์ต่อครู ลูกจ้างต่อนายจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับต่อผู้นำ พลเมืองต่อบ้านเกิดเมืองนอนและต่อผู้บริหารและมีอำนาจปกครอง

           พระบัญญัติประการนี้ยังครอบคลุมไปถึงบทบาทหน้าที่ของบิดามารดา ผู้ดูแล ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง ข้าราชการและทุกคนที่มีอำนาจปกครองเหนือชุมชนหรือบุคคล

 2200   การปฏิบัติตามพระบัญญัติประการที่สี่นี้มีรางวัลติดมาด้วย “จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่ในแผ่นดินที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านประทานให้” (อพย 20:12)[3]
การปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อนี้ยังให้ผลเป็นสันติและความเจริญ นอกเหนือจากผลด้านจิตใจ
ในชีวิตนี้ด้วย ตรงกันข้าม การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อนี้ย่อมนำผลร้ายยิ่งใหญ่มาสู่ชุมชนและปัจเจกบุคคล

 

[1]  เทียบ มก 7:8-13.

[2] เทียบ ฉธบ 5:16.

[3] เทียบ ฉธบ 5:16.

I. ครอบครัวในแผนการของพระเจ้า

I. ครอบครัวในแผนการของพระเจ้า

 ธรรมชาติของครอบครัว

 2201   สังคมครอบครัวตั้งอยู่บนการเห็นพ้องกันของคู่สามีภรรยา การแต่งงานและครอบครัวถูกจัดไว้เพื่อประโยชน์ของสามีภรรยา เพื่อให้กำเนิดและอบรมดูแลบุตร ความรักของสามีภรรยาและการให้กำเนิดบุตรก่อให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวและความรับผิดชอบพื้นฐานระหว่างสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน

 2202  ชายและหญิงที่สัมพันธ์กันโดยการสมรสรวมเป็นครอบครัวพร้อมกับบุตรของตน สถาบันนี้มาก่อนการรับรองจากอำนาจปกครองทางบ้านเมือง ยิ่งกว่านั้นยังเรียกร้องเรื่องนี้ด้วย ความสัมพันธ์นี้ยังจะต้องถือว่าเป็นหลักการทั่วไปสำหรับพิจารณาตัดสินความเป็นเครือญาติกันในรูปแบบต่างๆด้วย

 2203  เมื่อพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างชายและหญิง พระองค์ทรงสถาปนาครอบครัวและทรงกำหนดระเบียบพื้นฐานของครอบครัวไว้ด้วย สมาชิกของครอบครัวเป็นบุคคลที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ครอบครัวมีความรับผิดชอบ สิทธิ และหน้าที่แตกต่างกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งของสมาชิกและของสังคม

 
 ครอบครัวคริสตชน

 2204  “ครอบครัวคริสตชนแสดงให้เห็นและก่อให้เกิดชุมชนของพระศาสนจักร ซึ่งเพราะเหตุนี้จึงยังต้องเรียกว่า พระศาสนจักรบ้าน ด้วย”[4] ครอบครัวเป็นชุมชนความเชื่อ ความหวังและความรัก มีความสำคัญพิเศษในพระศาสนจักร ดังที่เห็นได้ชัดเจนในพันธสัญญาใหม่[5]

 2205  ครอบครัวคริสตชนเป็นชุมชนประกอบด้วยหลายบุคคล เป็นร่องรอยและภาพลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ของพระบิดาและพระบุตรในพระจิตเจ้า กิจกรรมการให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนบุตรสะท้อนให้เห็นงานเนรมิตสร้างของพระบิดา เป็นการเรียกให้มาอธิษฐานภาวนาและถวายบูชาร่วมกับพระคริสตเจ้า การอธิษฐานภาวนาและอ่านพระวาจาทุกๆ วันทำให้ครอบครัวเข้มแข็งในความรัก ครอบครัวคริสตชนเป็นผู้ประกาศข่าวดีและเป็นมิชชันนารี

2206   ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนำสมาชิกเข้ามาให้มีความรู้สึก ความรัก และการดำเนินชีวิตใกล้ชิดกันที่สืบเนื่องมาจากความเคารพนับถือต่อกัน โดยเฉพาะครอบครัวเป็นชุมชนพิเศษที่ถูกเรียกมาเพื่อสามีภรรยาจะได้ปรึกษากัน และบิดามารดาจะได้เอาใจใส่ร่วมมือกันช่วยให้การอบรมดูแลบุตร[6]

 

[4] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 21: AAS 74 (1982) 105; cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.

[5] เทียบ อฟ 5:21 – 6:4; คส 3:18-21; 1 ปต 3:1-7.

[6] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 52: AAS 58 (1966) 1073.

II.  ครอบครัวและสังคม

II.  ครอบครัวและสังคม

 2207 ครอบครัวเป็นองค์ประกอบหน่วยแรก(original cell)ของชีวิตสังคม เป็นสังคมตามธรรมชาติที่ชายและหญิงได้รับเรียกมาเพื่อมอบตนเองด้วยความรักเป็นของขวัญแห่งชีวิต อำนาจ ความมั่นคง และชีวิตความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นรากฐานของอิสรภาพ ความปลอดภัย และความเป็นพี่น้องกันภายในสังคม ครอบครัวเป็นชุมชนที่ตั้งแต่วัยเด็กเราอาจเรียนรู้คุณค่าทางศีลธรรม เริ่มถวายเกียรติแด่พระเจ้าและใช้อิสรภาพอย่างดี ชีวิตครอบครัวเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ชีวิตในสังคม

 2208 ครอบครัวจึงต้องดำเนินชีวิตให้สมาชิกของตนเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ต่อผู้อื่น  ดูแลเยาวชนและคนชรา คนเจ็บป่วยหรือพิการและยากจน มีหลายครอบครัวที่บางครั้งไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ได้ บุคคลหรือครอบครัวอื่น รวมทั้งสังคมด้วย จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ “การปฏิบัติศาสนกิจที่บริสุทธิ์และไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดาคือการเยี่ยมเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน และการรักษาตนให้พ้นจากมลทินของโลก” (ยก 1:27)

 2209 ครอบครัวต้องได้รับความช่วยเหลือและปกป้องโดยมาตรการที่เหมาะสมจากสังคม ที่ใดที่ครอบครัวไม่อยู่ในสภาพที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ องค์กรอื่นๆในสังคมมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือและอุดหนุนสถาบันครอบครัว ตามหลักการความช่วยเหลือ ชุมชนที่ใหญ่กว่าจะต้องเอาใจใส่ไม่จำกัดอภิสิทธิ์และเข้าไปแทรกแซงในชีวิตของครอบครัวต่างๆ

 2210 ความสำคัญของครอบครัวสำหรับชีวิตและความเรียบร้อยของสังคม[7]เรียกร้องให้สังคมมีความรับผิดชอบพิเศษที่จะต้องช่วยเหลือและอุดหนุนการแต่งงานและครอบครัว ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญ “ที่จะต้องรับรู้ ปกป้องและส่งเสริมธรรมชาติที่ถูกต้องของครอบครัว คอยดูแลศีลธรรมในสังคมและช่วยพัฒนาชีวิตครอบครัว”[8]

 2211     สังคมทางการเมืองมีหน้าที่ให้ความเคารพครอบครัว คอยช่วยเหลือและจัดให้

             - มีอิสระในการตั้งครอบครัว มีบุตร และให้การอบรมบุตรตามความเชื่อถือของตนในเรื่องความประพฤติและศาสนา

             - มีการปกป้องให้พันธะของการแต่งงานและสถาบันครอบครัวมีความมั่นคง

             - มีเสรีภาพที่จะประกาศและถ่ายทอดความเชื่อ ใช้วิธีการและสถาบันที่จำเป็นในการอบรมบุตรในความเชื่อนั้น 

             - มีสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว มีอิสระเสรีในธุรกิจ ในการมีงานทำ มีที่อยู่อาศัย และสิทธิที่จะโยกย้ายถิ่นฐาน

             - มีสิทธิได้รับการดูแลทางการแพทย์ บำเหน็จบำนาญในวัยชรา และเงินช่วยเหลือครอบครัวตามข้อกำหนดของชาติ

             - มีการปกป้องความปลอดภัยและสุขภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวกับอันตรายเช่นยาเสพติด สื่อลามกอนาจาร การติดสุราเรื้อรัง ฯลฯ

             - มีอิสระเสรีที่จะก่อตั้งสมาคมกับครอบครัวอื่น และดังนี้จะได้มีผู้แทนต่อหน้าผู้มีอำนาจปกครองทางบ้านเมือง[9]

 2212   พระบัญญัติประการที่สี่ยังช่วยให้ความสัมพันธ์อื่นๆ ในสังคมเด่นชัดยิ่งขึ้น เราเห็นบุตรของบิดามารดาของเราในพี่น้องชายหญิงของเรา เห็นญาติพี่น้องในลูกพี่ลูกน้องที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของเรา เห็นเพื่อนร่วมชาติเป็นบุตรของบ้านเกิดเมืองนอน เห็นผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปเป็นบุตรของพระศาสนจักรมารดาของเรา เห็นมนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระองค์ที่ทรงประสงค์ให้เราเรียกพระองค์ว่า “พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เพราะเหตุนี้ ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนมนุษย์จึงนับว่าเป็นความสัมพันธ์ในระดับบุคคล เพื่อนมนุษย์ไม่ใช่ “หน่วยหนึ่ง” ในสังคมมนุษย์ แต่เป็น “ใครคนหนึ่ง” ที่สมควรจะได้รับความเอาใจใส่และความเคารพนับถือโดยเฉพาะเพราะเรารู้จักที่มาของเขา

 2213   ชุมชนมนุษย์ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ การปกครองเขาอย่างดีจึงไม่จำกัดอยู่เพียงด้วยการประกันสิทธิ การปฏิบัติตามหน้าที่ และแม้กระทั่งด้วยความซื่อสัตย์ต่อคำสัญญา ความสัมพันธ์อย่างยุติธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ปกครองและประชาชน เรียกร้องให้มีความหวังดีตามธรรมชาติที่สมกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ซึ่งต้องการความยุติธรรมและภราดรภาพอีกด้วย

 

[7]  Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 47: AAS 58 (1966) 1067.

[8] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 52: AAS 58 (1966) 1073.

[9] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 46: AAS 74 (1982) 137-138.

III. หน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว

III. หน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว

หน้าที่ของบุตร

 2214   การที่พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาเป็นที่มาของครอบครัวทั้งหลาย[10] การนี้จึงเป็นพื้นฐานของความเคารพนับถือที่บุตรต้องให้แก่บิดามารดา ความเคารพนับถือที่บุตร ไม่ว่าจะยังเป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องมีต่อบิดามารดา[11]นั้นย่อมได้รับการหล่อเลี้ยงจากความรักที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ผูกมัดทุกคนไว้ พระบัญญัติของพระเจ้ายังเรียกร้องความเคารพนับถือนี้ด้วย[12]

 2215    ความเคารพนับถือบิดามารดา (pietas filialis) ประกอบด้วยความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ที่ทำให้บุตรเกิดมาในโลกนี้ ยอมลำบาก ใช้ความรักช่วยให้เขาเจริญเติบโตขึ้นด้วยอายุ ปรีชาญาณและพระหรรษทาน “จงนับถือบิดาสุดจิตสุดใจ จงอย่าลืมว่ามารดาให้กำเนิดท่านด้วยความเจ็บปวด จงระลึกว่าท่านทั้งสองเป็นผู้ให้กำเนิด จะมีสิ่งมาตอบแทนบุญคุณนี้ได้” (บสร 7:27-28)

 2216   การที่บุตรให้ความเคารพนับถือบิดามารดาแสดงให้เห็นด้วยการยินดีรับการสั่งสอนและการเชื่อฟังอย่างแท้จริง “ลูกเอ๋ย จงรักษาบทบัญญัติของพ่อ อย่าดูหมิ่นคำสั่งสอนจากแม่ของลูก […] เมื่อลูกเดิน บทบัญญัติและคำสั่งสอนนี้จะนำลูก เมื่อลูกนอน สิ่งเหล่านี้จะดูแลลูก เมื่อลูกตื่นขึ้น สิ่งเหล่านี้จะพูดกับลูก” (สภษ 6:20-22) “บุตรที่มีปรีชาย่อมฟังคำสั่งสอนของบิดา คนชอบเยาะเย้ยไม่ฟังคำตำหนิ” (สภษ 13:1)

 2217   ตลอดเวลาที่บุตรอาศัยอยู่กับบิดามารดา เขาต้องทำตามข้อเรียกร้องทุกอย่างของบิดามารดาเพื่อผลประโยชน์ของตนและของครอบครัว “บุตร จงเชื่อฟังบิดามารดาในทุกสิ่ง เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นที่พอพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า” (คส 3:20)[13] บรรดาบุตรยังต้องเชื่อฟังคำสั่งที่มีเหตุผลของครูบาอาจารย์ของตนและของทุกคนที่บิดามารดาฝากฝังเขาไว้ แต่ถ้าบุตรมั่นใจในมโนธรรมว่าการเชื่อฟังคำสั่งเช่นนั้นผิดศีลธรรม เขาก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม

                      บรรดาบุตร เมื่อเติบโตขึ้น ก็ยังต้องเคารพนับถือบิดามารดาต่อไป เขาต้องคาดล่วงหน้าว่าบิดามารดามีความต้องการอย่างไร จะต้องยินดีขอคำแนะนำของท่านและรับคำตักเตือนที่เหมาะสมของท่าน การเชื่อฟังบิดามารดาของบุตรสิ้นสุดลงเมื่อบุตรแยกออกไปอยู่ต่างหาก แต่ความเคารพนับถือต่อท่านยังคงต้องมีอยู่ต่อไปเสมอ อันที่จริง ความเคารพนับถือเช่นนี้มีรากอยู่ในความยำเกรงพระเจ้าซึ่งเป็นของประทานประการหนึ่งของพระจิตเจ้า

 2218    พระบัญญัติประการที่สี่ยังเตือนบรรดาบุตรที่มีอายุเป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้มีความรับผิดชอบต่อบิดามารดา เขาต้องจัดหาความช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุและการปฏิบัติเท่าที่จะทำได้ให้แก่ท่านในยามชราหรือยามป่วยไข้ เมื่อท่านต้องอยู่โดดเดี่ยวหรือมีความขัดสน พระเยซูเจ้าก็ทรงเตือนถึงหน้าที่แสดงความกตัญญูเช่นนี้ด้วย[14]

                 “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้บิดาได้รับเกียรติจากบุตร ทรงกำหนดให้มารดาให้รับความเคารพจากบุตร บุตรที่ยำเกรงบิดาก็ชดเชยบาปของตน บุตรที่ให้เกียรติมารดาก็เหมือนกับสะสมทรัพย์สมบัติไว้ ผู้ที่ยำเกรงบิดาก็มีความสุขจากบุตรของตน เมื่อเขาอธิษฐานภาวนา พระเจ้าก็จะทรงฟังเขา บุตรที่ให้เกียรติบิดาจะมีอายุยืน บุตรที่เชื่อฟังองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำให้มารดาชื่นใจ” (บสร 3:2-6)

                   “ลูกเอ๋ย จงดูแลบิดาของท่านในวัยชรา อย่าให้เขาเศร้าโศกตลอดชีวิต แม้สติปัญญาของบิดาจะเสื่อมลง ก็จงสงสารเขา อย่าดูหมิ่นเขาขณะที่ท่านยังแข็งแรงอยู่ […] บุตรที่ละทิ้งบิดาก็เหมือนผู้กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า บุตรที่ทำให้มารดาเสียใจจะถูกองค์พระผู้เป็นเจ้าสาปแช่ง” (บสร 3:12-13,16)

 2219    การที่บุตรเคารพนับถือบิดามารดาสร้างเสริมความกลมกลืนในชีวิตครอบครัวทั้งหมด ความกลมกลืนนี้ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องอีกด้วย ความเคารพนับถือบิดามารดาเป็นเสมือนแสงสว่างส่องไปทั่วครอบครัว “หลานเหลนเป็นมงกุฎของผู้ชรา บิดามารดาเป็นเกียรติยศของลูกหลาน” (สภษ 17:6) “จงถ่อมตนอยู่เสมอ จงมีความอ่อนโยนพากเพียรอดทนต่อกันด้วยความรัก” (อฟ 4:2)

 2220   คริสตชนต้องมีความกตัญญูรู้คุณเป็นพิเศษต่อผู้ที่มอบพระพรความเชื่อ พระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปและชีวิตในพระศาสนจักรให้แก่ตน ซึ่งอาจหมายถึงบิดามารดา สมาชิกคนอื่นของครอบครัว ปู่ย่าตายาย พระสงฆ์ผู้อภิบาล ครูสอนคำสอน ครูบาอาจารย์หรือเพื่อนฝูงอื่นๆ ด้วย “ข้าพเจ้ายังระลึกถึงความเชื่อที่จริงใจของท่าน เป็นความเชื่อแต่เดิมของโลอิส ยายของท่าน เป็นความเชื่อของยูนิส มารดาของท่าน และข้าพเจ้ามั่นใจว่าเป็นความเชื่อของท่านด้วย” (2 ทธ 1:5)


หน้าที่ของบิดามารดา

 2221   ความอุดมสมบูรณ์ของความรักระหว่างสามีภรรยาไม่จำกัดอยู่เพียงในการให้กำเนิดบุตร แต่ยังต้องขยายออกไปถึงการให้การอบรมเรื่องความประพฤติของบุตรและการอบรมจิตใจของพวกเขาด้วย “หน้าที่ของบิดามารดาเรื่องการอบรมมีความสำคัญอย่างมากจนกระทั่งว่า ถ้าขาดไป ก็จะหาอะไรมาทดแทนได้ยาก”[15] สิทธิและหน้าที่ในการให้การอบรมบุตรเป็นของบิดามารดาโดยเฉพาะซึ่งจะปัดให้ผู้อื่นรับไปไม่ได้[16]

 2222  บิดามารดาต้องเห็นว่าบุตรของตนเป็นบุตรของพระเจ้า และต้องถือว่าบุตรเหล่านี้เป็นบุคคลมนุษย์ เขาต้องอบรมบุตรของตนให้ปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้า โดยแสดงตนเป็นผู้เชื่อฟังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์

 2223  บิดามารดาเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบที่จะให้การศึกษาอบรมแก่บุตรของตน เขาต้องแสดงความรับผิดชอบประการนี้ก่อนอื่นโดยการสร้างครอบครัวที่ความอ่อนโยน การเห็นอกเห็นใจรู้จักให้อภัยกัน การให้เกียรติต่อกัน ความซื่อสัตย์และการรับใช้กันโดยไม่หวังผลตอบแทนจะต้องเป็นกฎปฏิบัติ  ครอบครัวเป็นสถานที่เหมาะสำหรับฝึกฝนให้มีคุณธรรม การนี้เรียกร้องให้มีการฝึกฝนให้รู้จักเสียสละ รู้จักตัดสินอย่างถูกต้อง รู้จักควบคุมตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขของอิสรภาพแท้จริง บิดามารดาจะต้องสอนบุตรให้รู้จักจัดลำดับให้ “เรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุและตามธรรมชาติมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจภายใน”[17] บิดามารดาต้องรับผิดชอบอย่างมากที่จะให้ตัวอย่างที่ดีแก่บุตรของตน บิดามารดาที่รู้จักยอมรับความผิดพลาดของตนต่อบุตร ก็ย่อมจะแนะนำและแก้ไขเมื่อบุตรทำผิดได้ง่ายขึ้น

                 “(ผู้ที่รักลูก) จงตีสั่งสอนเขาตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก เขาจะได้ไม่กลายเป็นคนดื้อไม่ยอมเชื่อฟัง แล้วทำให้ท่านต้องเป็นทุกข์อย่างมาก” (บสร 30:12) “บิดา อย่าย้ำสอนจนบุตรขุ่นเคือง แต่จงอบรมสั่งสอนและตักเตือนเขาตามหลักธรรมขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (อฟ 6:4)

 2224  ครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อนำบุคคลมนุษย์ให้เข้ามาเป็นสังคมที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน บิดามารดาจะต้องสอนบุตรให้รู้จักปกป้องตนเองจากอันตรายและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคมมนุษย์

 2225  โดยพระหรรษทานของศีลสมรส บิดามารดาได้รับความรับผิดชอบและสิทธิพิเศษที่จะประกาศข่าวดีแก่บุตรของตน เขาจะต้องนำบุตรตั้งแต่วัยเยาว์ให้เข้ามารู้จักพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อที่เขาเองเป็น “ผู้ประกาศชุดแรก” สำหรับบุตร[18] ซึ่งเขาจะต้องช่วยให้เข้าร่วมชีวิตสังคมของพระศาสนจักรตั้งแต่วัยเยาว์  วิธีดำเนินชีวิตในครอบครัวย่อมช่วยหล่อเลี้ยงบรรยากาศความรักซึ่งยังคงอยู่เป็นบรรยากาศและเครื่องค้ำจุนที่แท้จริงของความเชื่อที่มีชีวิตชีวาไปตลอดชีวิต

 2226  การศึกษาอบรมความเชื่อ ในส่วนของบิดามารดาต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์มากๆ การนี้เกิดขึ้นแล้วเมื่อสมาชิกในครอบครัวช่วยเหลือกันเพื่อจะเติบโตในความเชื่อโดยการเป็นพยานชีวิตคริสตชนตามพระวรสาร การสอนคำสอนภายในครอบครัวนำหน้า ร่วมเดินไปด้วยกันและทำให้รูปแบบอื่นๆ ของการอบรบสั่งสอนให้มีความเชื่อมีคุณภาพยิ่งขึ้น  บิดามารดามีพันธกิจที่จะต้องสอนบุตรของตนให้รู้จักอธิษฐานภาวนาและค้นพบกระแสเรียกของตนในการเป็นบุตรพระเจ้า[19] การที่คริสตชนในเขตวัดมาชุมนุมกันในพิธีบูชาขอบพระคุณเป็นศูนย์กลางชีวิตด้านพิธีกรรมของครอบครัวคริสตชน เป็นโอกาสพิเศษของการสอนคำสอนให้แก่ทั้งบุตรและบิดามารดา

 2227  บรรดาบุตรเองก็มีบทบาทที่จะช่วยเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของบิดามารดาด้วย[20] ทุกคนและแต่ละคนจะต้องเต็มใจที่จะให้อภัยแก่กันโดยใจกว้างและอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่ความผิด การทะเลาะเบาะแว้ง ความอยุติธรรมและการไม่สนใจต่อกันเรียกร้อง ความรักต่อกันเชิญชวนเช่นนี้ ความรักของพระคริสตเจ้ายังเรียกร้องเช่นนี้ด้วย[21]

 2228   ในช่วงวัยเด็ก ความเอาใจใส่และความรักของบิดามารดาแสดงออกโดยเฉพาะจากการเอาใจใส่ดูแลที่เขาเสียสละเพื่ออบรมสั่งสอนบุตรของตน จะได้ตอบสนองความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจของบุตร  เมื่อบุตรเติบโตขึ้น ความเอาใจใส่และเสียสละเดียวกันของบิดามารดาก็เปลี่ยนไปเป็นการอบรมสั่งสอนบุตรของตนให้รู้จักใช้เหตุผลและเสรีภาพของตนอย่างถูกต้อง

 2229   บิดามารดาในฐานะผู้รับผิดชอบคนแรกในการให้การศึกษาอบรมแก่บุตร ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกโรงเรียนสำหรับบุตรตรงตามเห็นดีเห็นชอบของเขา สิทธิประการนี้เป็นสิทธิพื้นฐาน เท่าที่สามารถจะทำได้ บิดามารดามีหน้าที่เลือกโรงเรียนที่อาจช่วยเหลือบุตรได้อย่างดีที่สุด[22] ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมีหน้าที่จะต้องให้สิทธินี้แก่บิดามารดาและสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมให้เขาใช้สิทธินี้ได้

 2230  เมื่อบุตรเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาย่อมมีหน้าที่และสิทธิที่จะเลือกอาชีพและสภาพชีวิตของตน เขาจะต้องรับความรับผิดชอบใหม่นี้โดยมีความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจกับบิดามารดาซึ่งเขาจะยินดีไปขอและรับความเห็นและคำแนะนำจากท่าน  บิดามารดาก็จะต้องเอาใจใส่ไม่บังคับบุตรในการเลือกอาชีพและคู่สมรส หน้าที่ให้คำแนะนำนี้ไม่ควรขัดขวาง แต่ตรงกันข้าม ควรช่วยเหลือบุตรด้วยคำแนะนำที่รอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องการจะสร้างครอบครัวของตน

 2231    บางคนไม่แต่งงานเพื่อเอาใจใส่ช่วยเหลือบิดามารดาหรือพี่น้องชายหญิงของตน เพื่อจะสละตนได้มากยิ่งขึ้นสำหรับการงานอาชีพหรือเพราะเหตุผลสุจริตอื่นๆ เขาเหล่านี้ก็อาจนำผลดีมากมาย
มาสู่ครอบครัวเพื่อนมนุษย์ได้

 

[10] เทียบ อฟ 3:15.

[11] เทียบ สภษ 1:8; ทบต 4:3-4.   

[12] เทียบ อพย 20:12.           

[13] เทียบ อฟ 6:1.

[14] เทียบ มก 7:10-12.           

[15] Concilium Vaticanum II, Decl. Gravissimum educationis, 3: AAS 58 (1966) 731.   

[16] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 36: AAS 74 (1982) 126.      

[17] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 36: AAS 83 (1991) 838.         

[18] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16; cf CIC canon 1136.  

[19] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.  

[20] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1069.

[21] เทียบ มธ 18:21-22; ลก 17:4. 

[22] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Gravissimum educationis, 6: AAS 58 (1966) 733.

IV.  ครอบครัวและพระอาณาจักร

IV.  ครอบครัวและพระอาณาจักร

 2232 ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญมาก แต่ก็ไม่เด็ดขาด เช่นเดียวกับที่เด็กทารกเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบส่วนตัวตามธรรมชาติและด้านจิตใจยิ่งขึ้น กระแสเรียกเฉพาะส่วนตัวของเขาที่มาจากพระเจ้าย่อมปรากฏชัดเจนและเข้มแข็งยิ่งขึ้น บิดามารดาจะต้องสังเกตกระแสเรียกของบุตรและสนับสนุนให้ตอบสนองเพื่อติดตามกระแสเรียกนี้ เขาต้องคิดว่ากระแสเรียกประการแรกของคริสตชนก็คือการติดตามพระเยซูเจ้า[23] “ผู้ที่รักบิดามารดามากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา ผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา” (มธ 10:37)

 2233 การเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าเป็นการรับเชิญให้มาอยู่ในครอบครัวของพระเจ้า ให้มาดำเนินชีวิตตามวิธีการดำเนินชีวิตของพระองค์ “ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิงและเป็นมารดาของเรา” (มธ 12:50)

            บิดามารดาจะต้องยินดีรับการเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้บุตรคนหนึ่งของตนติดตามพระองค์ในการถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักรโดยการดำเนินชีวิตถวายตนหรือปฏิบัติศาสนบริการเป็นพระสงฆ์ และยินดีรักษาการเรียกนี้ไว้ด้วยความขอบพระคุณ

 

[23] เทียบ มธ 16:25. 

V. อำนาจปกครองของบ้านเมือง

V. อำนาจปกครองของบ้านเมือง

 2234 พระบัญญัติประการที่สี่ยังสั่งเราให้เคารพทุกคนที่ได้รับอำนาจปกครองจากพระเจ้าในสังคมเพื่อความดีของเรา พระบัญญัติประการนี้อธิบายถึงหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับประโยชน์จากอำนาจนี้

หน้าที่ของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง

 2235 ผู้มีอำนาจปกครองต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้สังคม “ในหมู่ท่านทั้งหลาย ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้” (มธ 20:26) การใช้อำนาจปกครองในฐานะที่สืบเนื่องมาจากพระเจ้า ต้องได้รับการควบคุมด้านศีลธรรมโดยธรรมชาติตามเหตุผลและจุดประสงค์เจาะจงของอำนาจนั้นไม่มีใครอาจสั่งหรือกำหนดให้ทำสิ่งที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลและกฎธรรมชาติได้

 2236 การใช้อำนาจปกครองมีจุดหมายเพื่อแสดงให้เห็นลำดับความสำคัญที่ถูกต้องของคุณค่าต่างๆเพื่อช่วยให้ทุกคนใช้เสรีภาพปฏิบัติความรับผิดชอบของตนได้ง่ายขึ้น ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติอย่างชาญฉลาดให้ทุกคนได้รับแจกจ่ายแบ่งปันตามสิทธิอย่างยุติธรรม พยายามให้เกิดความสามัคคีและสันติ โดยคำนึงถึงความต้องการและผลงานของแต่ละคน เขาจะต้องเอาใจใส่ไม่ให้กฎเกณฑ์และระเบียบที่กำหนดไว้ชวนให้ตกในการผจญที่จะคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม[24]

 2237 ผู้มีอำนาจทางการเมืองจำเป็นต้องให้ความเคารพต่อสิทธิพื้นฐานของบุคคลมนุษย์ เขาต้องแบ่งปันความยุติธรรมด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยคำนึงถึงสิทธิของแต่ละคน โดยเฉพาะของครอบครัวและผู้ขัดสน

         สิทธิทางการเมืองของประชาชนอาจและต้องแจกจ่ายตามที่ผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้อง เขาไม่อาจถูกขัดขวางไม่ให้มีอำนาจทางบ้านเมืองได้โดยไม่มีเหตุผลถูกต้องตามสัดส่วน การใช้สิทธิทางการเมืองมีกำหนดไว้เพื่อผลประโยชน์ของชาติและสังคมมนุษย์


หน้าที่พลเมือง

 2238  ผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองจะต้องมองผู้ปกครองของตนในฐานะผู้แทนของพระเจ้าผู้ทรงแต่งตั้งเขาเป็นผู้รับใช้แจกจ่ายของประทานจากพระองค์[25] “เพราะเห็นแก่ความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จงอ่อนน้อมเชื่อฟังมนุษย์ทุกคนที่มีอำนาจปกครอง […] จงประพฤติตนดุจคนอิสระ อย่าใช้อิสรภาพเป็นข้ออ้างเพื่อปิดบังความชั่ว แต่จงประพฤติดุจผู้รับใช้ของพระเจ้า” (1 ปต 2:13,16) การร่วมมืออย่างซื่อสัตย์ของเขาหมายถึงสิทธิ และบางครั้ง หมายถึงหน้าที่ที่จะต้องแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อาจจะเกิดผลร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคลและต่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้

 2239  เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องร่วมมือกับผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ของสังคมด้วยจิตตารมณ์แห่งความจริง ความยุติธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและเสรีภาพ  ความรักและการรับใช้ชาติเกิดจากหน้าที่ต้องแสดงความกตัญญูและความรัก การยอมอยู่ใต้อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายและการรับใช้ผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้องประชาชนให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในชีวิตสังคมการเมือง

 2240  การอยู่ใต้อำนาจปกครองและการร่วมรับผิดชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมในทางปฏิบัติเรียกร้องให้จ่ายภาษีอากร ใช้สิทธิเลือกตั้ง ป้องกันประเทศ

              “จงให้ทุกคนตามสิทธิของเขา จงเสียภาษีแก่ผู้มีสิทธิ์รับภาษี จงเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิ์เก็บค่าธรรมเนียม จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้สมควรจะได้รับเกียรติ” (รม 13:7)

                คริสตชน “อาศัยอยู่ในบ้านเมืองของตน แต่เป็นเหมือนคนต่างด้าว  มีทุกสิ่งร่วมกันเหมือนกับผู้อื่นในฐานะพลเมือง และทนทุกอย่างเหมือนกับคนต่างชาติ […] ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่วิธีดำเนินชีวิตเกินกว่ากฎหมาย […] พระเจ้าทรงตั้งเขาไว้ในตำแหน่งที่เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”[26]

                   นักบุญเปาโลเตือนเราให้อธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณเพื่อกษัตริย์และทุกคนที่มีอำนาจปกครองเพื่อ “เราจะได้มีชีวิตที่สงบสุขราบรื่น เป็นชีวิตที่มีเกียรติด้วยความเคารพเลื่อมใสต่อพระเจ้า” (1 ทธ 2:2)

2241    เท่าที่จะทำได้ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าจำเป็นต้องรับ คนต่างด้าว ที่แสวงหาความปลอดภัยและรายได้ที่จำเป็นสำหรับชีวิตที่เขาไม่อาจหาได้ในที่อยู่ดั้งเดิมของตน ผู้มีอำนาจปกครองต้องเอาใจใส่ถึงสิทธิตามธรรมชาติที่เรียกร้องให้ผู้มาเยือนต้องได้รับการปกป้องจากผู้ที่ต้อนรับเขา

           เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่เขาต้องรับผิดชอบ ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองอาจวางเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆไว้ในการใช้สิทธิของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ลี้ภัยต่อชาติที่ต้อนรับเขา ผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องมีความกตัญญูรู้คุณเคารพนับถือมรดกทางวัตถุและจิตใจ ปฏิบัติตามกฎหมายและยอมรับภารกิจของชนชาติที่ต้อนรับด้วย

 2242  ประชาชนจำเป็นต้องเคารพมโนธรรมไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เมื่อข้อกำหนดเหล่านี้ขัดกับข้อเรียกร้องของระเบียบทางศีลธรรม ขัดกับสิทธิพื้นฐานของบุคคล หรือขัดกับคำสั่งสอนของพระวรสาร การขัดขืนไม่ยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เมื่อข้อเรียกร้องของอำนาจปกครองเหล่านี้ขัดกับข้อเรียกร้องของมโนธรรมที่ถูกต้องเช่นนี้มีเหตุผลสนับสนุนจากความแตกต่างระหว่างการรับใช้พระเจ้าและรับใช้ชุมชนทางการเมือง
“ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” (มธ 22:21) “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์” (กจ 5:29)

                “เมื่ออำนาจทางบ้านเมืองบังคับประชาชนเกินขอบเขตอำนาจของตน ประชาชนก็ไม่ควรปฏิเสธข้อเรียกร้องนั้น ถ้าข้อเรียกร้องเป็นประโยชน์จริงๆ แก่ชุมชนส่วนรวม แต่เขามีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิของตนและของเพื่อนประชาชนขัดสู้กับการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องของผู้มีอำนาจปกครองภายในขอบเขตที่กฎธรรมชาติและกฎของพระวรสารจำกัดไว้”[27]

 2243  การใช้กำลังอาวุธขัดขืนการเบียดเบียนจากอำนาจปกครองไม่เป็นการถูกต้อง เว้นแต่ว่าจะมีเงื่อนไขต่อไปนี้ทุกข้อ คือ - 1) ในกรณีที่เป็นที่ชัดเจนว่าสิทธิพื้นฐานถูกล่วงละเมิดอย่างหนักและอย่างต่อเนื่อง  - 2) หลังจากที่ได้ใช้วิธีการอื่นๆ ทุกอย่างแก้ไขแล้วไม่สำเร็จ - 3) ต้องไม่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายมากกว่าเก่า - 4) เมื่อมีความหวังสมเหตุสมผลว่าจะประสบผลสำเร็จ - 5) ถ้าเห็นว่าไม่อาจจัดหาวิธีแก้ไขอื่นที่ดีกว่าได้อีกแล้ว


ชุมชนการเมืองและพระศาสนจักร

 2244  สถาบันทุกอย่างได้รับแรงบันดาลใจ อย่างน้อยโดยปริยาย จากวิสัยทัศน์และชะตากรรมของมนุษย์ที่ทำให้เขาสร้างหลักการในการตัดสิน ลำดับค่านิยม แนวปฏิบัติของตน สังคมต่างๆส่วนใหญ่จัดตั้งสถาบันของตนโดยถือว่ามนุษย์มีความสำคัญมากกว่าสิ่งของ มีแต่ศาสนาที่ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า พระผู้เนรมิตสร้างและพระผู้ไถ่ เท่านั้นที่รับรู้บ่อเกิดและชะตากรรมของมนุษย์อย่างแจ้งชัด  พระศาสนจักรจึงเชิญชวนผู้มีอำนาจทางการเมืองให้ประเมินคำตัดสินและการตกลงใจของตนตามความจริงที่ได้รับการดลใจในเรื่องพระเจ้าและมนุษย์

                    สังคมที่ไม่รู้จักหรือไม่ยอมรับการดลใจนี้โดยอ้างว่าตนไม่ต้องขึ้นกับพระเจ้าย่อมมีแนวโน้มที่จะแสวงหามาตรการและจุดหมายของตนในตัวเองหรือหยิบยืมมาจากอุดมการณ์ประการใดประการหนึ่ง และไม่ยอมรับมาตรฐานความดีความชั่วที่มีอยู่จริง และอ้างว่าตนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือมนุษย์และโชคชะตาของเขาไม่ว่าอย่างเปิดเผยหรืออย่างลับๆ ดังที่ประวัติศาสตร์แสดงให้ปรากฏอยู่[28]

 2245  “พระศาสนจักรซึ่งโดยเหตุผลของหน้าที่และความสามารถของตน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรเลยกับชุมชนทางการเมือง […] แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายและผู้ปกป้องศักดิ์ศรีที่เหนือกว่าของบุคคลมนุษย์”[29] พระศาสนจักร “ให้ความเคารพนับถือและส่งเสริมเสรีภาพทางการเมืองและความรับผิดชอบของประชาชน”[30]

 2246  เป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “ที่จะตัดสินเรื่องศีลธรรม แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบทางการเมืองด้วย เมื่อสิทธิพื้นฐานของบุคคลหรือความรอดพ้นของวิญญาณเรียกร้องให้ทำเช่นนี้ โดยใช้วิธีการทุกอย่าง และเพียงแต่วิธีการที่สอดคล้องกับพระวรสารและผลประโยชน์ของทุกคนตามเวลาและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเท่านั้น”[31]

 

[24] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 25: AAS 83 (1991) 823.      

[25] เทียบ รม 13:1-2.            

[26] Epistula ad Diognetum, 5, 5; 5, 10; 6, 10: SC 33, 62-66 (Funk 1, 398-400).     

[27] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 74: AAS 58 (1966) 1096. 

[28] Cf Ioannes Paulus II, 13, 1997 Litt. enc. Centesimus annus, 45-46: AAS 83 (1991) 849-851.      

[29] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 76: AAS 58 (1966) 1099. 

[30] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 76: AAS 58 (1966) 1099. 

[31] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 76: AAS 58 (1966) 1100.  

สรุป

สรุป

 2247   “จงนับถือบิดามารดา” (ฉธบ 5:16; มก 7:10)

 2248   ตามพระบัญญัติประการที่สี่ พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรานับถือบิดามารดารองจากพระองค์ และนับถือผู้ที่พระองค์ทรงมอบอำนาจปกครองให้เพื่อผลประโยชน์ของเรา

 2249   สังคมครอบครัวตั้งอยู่บนพันธสัญญาและความยินยอมร่วมกันของสามีภรรยา การสมรสและครอบครัวจัดตั้งไว้เพื่อผลประโยชน์ของคู่สมรส เพื่อให้กำเนิดและการศึกษาอบรมแก่บุตร

 2250   “ความเป็นดีอยู่ดีของบุคคลและสังคมมนุษย์และสังคมคริสตชนมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสภาพความเป็นดีอยู่ดีของชีวิตร่วมกันของสามีภรรยาและของครอบครัว”[32] 

 2251    บุตรต้องแสดงความเคารพนับถือ ความกตัญญูรู้คุณ การเชื่อฟังอย่างถูกต้อง และความช่วยเหลือต่อบิดามารดา ความเคารพนับถือของบุตรย่อมส่งเสริมความกลมกลืนของชีวิตครอบครัวทั้งหมด

 2252   บิดามารดาเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบที่จะให้การศึกษาอบรมแก่บุตรของตนในเรื่องความเชื่อ การอธิษฐานภาวนา และในเรื่องคุณธรรมทุกประการ เขามีหน้าที่จะต้องจัดหาเพื่อตอบสนองความจำเป็นทั้งด้านร่างกายและจิตใจของบุตรเท่าที่จะทำได้

 2253   บิดามารดาต้องคอยสังเกตและส่งเสริมกระแสเรียกของบุตรของตน  เขาจะต้องจดจำและสอนว่าการติดตามพระเยซูเจ้าเป็นกระแสเรียกประการแรกของคริสตชน

 2254   ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองจำเป็นต้องให้ความเคารพสิทธิพื้นฐานของบุคคลมนุษย์และสภาพแวดล้อมในการใช้เสรีภาพของเขา

 2255   พลเมืองมีหน้าที่ที่จะร่วมมือกับผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในการสร้างสังคมด้วยจิตตารมณ์แห่งความจริง ความยุติธรรม ความสามัคคีปรองดองและเสรีภาพ

 2256   ประชาชนจำเป็นต้องเคารพมโนธรรมไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เมื่อข้อกำหนดเหล่านี้ขัดกับข้อเรียกร้องของระเบียบทางศีลธรรม “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์” (กจ 5:29)

 2257   ทุกสังคมย่อมตัดสินและมีวิธีปฏิบัติที่สะท้อนวิสัยทัศน์แบบหนึ่งเกี่ยวกับมนุษย์และชะตากรรมของเขา ถ้าไม่มีหลักการเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ตามพระวรสาร สังคมก็ย่อมกลายเป็นสังคม แบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (totalitarian)

 

[32] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 47: AAS 58 (1966) 1067.