บทที่สาม

ศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อรับใช้ชุมชนคริสตชน

 

 1533   ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิทเป็นศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชน ศีลเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการที่เราทุกคนได้รับเรียกมาเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ได้รับเรียกมาให้รับความศักดิ์สิทธิ์ และได้รับเรียกมาสำหรับพันธกิจการประกาศข่าวดีให้แก่โลก ศีลเหล่านี้ประทานพระหรรษทานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตการเดินทางในโลกนี้ตามการนำของพระจิตเจ้าไปสู่บ้านแท้ของเราในสวรรค์

1534   ศีลศักดิ์สิทธิ์อีกสองศีล คือ ศีลบวชและศีลสมรส ถูกจัดไว้สำหรับความรอดพ้นของผู้อื่น  ศีลทั้งสองศีลนี้นำความรอดพ้นส่วนตัวมาให้ด้วย แต่ทั้งนี้ผ่านทางการรับใช้ผู้อื่น ศีลทั้งสองนี้มอบพันธกิจเฉพาะในพระศาสนจักรและมีบทบาทเพื่อรับใช้เสริมสร้างประชากรของพระเจ้า

 1535  ในศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ผู้ที่รับเจิมถวายในศีลล้างบาปและศีลกำลังเพื่อปฏิบัติสมณภาพสามัญของผู้มีความเชื่อทุกคนแล้ว[1]อาจรับการเจิมถวายเป็นพิเศษโดยเฉพาะได้ ผู้ที่รับศีลบวชรับการเจิมถวาย“เพื่ออภิบาลพระศาสนจักรด้วยพระวาจาและพระหรรษทานของพระเจ้า”[2] เดชะพระนามของพระคริสตเจ้า “สามีภรรยาคริสตชนรับพลังจากศีลศักดิ์สิทธิ์พิเศษดุจรับการมอบถวายโดยเฉพาะสำหรับหน้าที่และศักดิ์ศรีของตน”[3]

 

ตอนที่หก

ศีลบวช

 

 1536  ศีลบวชเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำให้พันธกิจที่พระคริสตเจ้าทรงฝากไว้กับบรรดาอัครสาวกได้รับการปฏิบัติสืบต่อไปในพระศาสนจักรตราบจนสิ้นพิภพ ศีลนี้จึงเป็นศีลแห่งศาสนบริการสืบต่อจากบรรดาอัครสาวก ประกอบด้วยศาสนบริการสามขั้น คือ หน้าที่พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร

[เรื่องการแต่งตั้งและบทบาทของศาสนบริการที่บรรดาอัครสาวกได้รับมาจากพระคริสตเจ้า  ดูหมายเลข 874-896 ณ ที่นี้จะกล่าวถึงเพียงแต่วิธีการทางศีลศักดิ์สิทธิที่ศาสนบริการนี้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเท่านั้น]

 

[1] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.   

[2] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.

[3] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1068.

I.   ทำไมศีลบวชนี้จึงมีชื่อว่า “Ordo” หรือ “ฐานันดร”(ภาษาอังกฤษว่า “Holy Orders”)

I.   ทำไมศีลบวชนี้จึงมีชื่อว่าOrdo” หรือ “ฐานันดร”(ภาษาอังกฤษว่า “Holy Orders”)

 1537 คำว่า “Ordo” ในภาษาละตินสมัยโบราณหมายถึงคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งในสังคม โดยเฉพาะคณะบุคคลผู้ปกครอง. Ordinatio (หรือการเข้าฐานันดร”) จึงหมายถึงการรับเข้าในคณะ (หรือฐานันดร”) ใดคณะหนึ่ง ในพระศาสนจักรก็มีกลุ่มชนหลายคณะที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งธรรมประเพณีนี้มีพื้นฐานจากพระคัมภีร์[4] ดังนั้นตั้งแต่สมัยแรกๆ แล้วจึงเรียกคณะบุคคลเหล่านี้เป็นภาษาละตินว่า “ordines” หรือ “taxeis” ในภาษากรีก พิธีกรรมในพระศาสนจักรจึงกล่าวถึง ฐานันดรพระสังฆราช” (ordo Episcoporum) “ฐานันดรสงฆ์” (ordo presbyterorum) และฐานันดรสังฆานุกร” (ordo diaconorum) ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับนาม “ordo” เช่นนี้อีกด้วย เช่นผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป สาวพรหมจารี สามีภรรยา หญิงม่าย ฯลฯ

 1538 การรับเข้าอยู่ในคณะบุคคลของพระศาสนจักรคณะใดคณะหนึ่งนั้นมีขึ้นโดยพิธีที่เรียกว่า “ordinatio” หรือ “พิธีแต่งตั้ง” ที่ประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนาที่มีการมอบถวาย การอวยพร หรือ “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ในปัจจุบัน คำว่า “ordinatio” สงวนไว้สำหรับพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนประกอบเพื่อรับผู้หนึ่งเข้าในฐานันดรพระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร เขาผู้นี้ต้องผ่านการคัดเลือก การกำหนดตัว การรับมอบหมายหน้าที่หรือการแต่งตั้งจากชุมชนแล้วเสียก่อน เพราะการนี้ประทานพระพรของพระจิตเจ้าซึ่งอนุญาตให้เขาใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์[5]  และอำนาจนี้สืบเนื่องมาได้จากพระคริสตเจ้าเองผ่านทางพระศาสนจักรเท่านั้น Ordinatio (“การเข้าฐานันดร” ที่เราแปลว่า “การบวช”) นี้ยังอาจเรียกได้อีกว่า “consecratio” (การมอบถวาย) เพราะเป็นการแยกตัวออกมาและมอบหมายหน้าที่โดยพระคริสตเจ้าเองสำหรับพระศาสนจักรของพระองค์ การปกมือของพระสังฆราชพร้อมกับบทภาวนามอบถวายประกอบกันเป็นเครื่องหมายที่แลเห็นได้ของการมอบถวาย(บุคคล)ดังกล่าวนี้

 

[4] เทียบ ฮบ 5:6; 7:11; สดด 110:4.

[5] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.   

II.  ศีลบวชในแผนการการไถ่กู้

II.  ศีลบวชในแผนการการไถ่กู้

สมณภาพของพันธสัญญาเดิม

1539   ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้รับแต่งตั้งให้เป็น “อาณาจักรสมณะ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (อพย 19:6)[6]  แต่ทว่าภายในประชากรอิสราเอล พระเจ้าทรงเลือกชนเผ่าหนึ่งจากสิบสองเผ่า คือเผ่าเลวี แยกออกมาเพื่อศาสนบริการด้านพิธีกรรม[7] พระเจ้าพระองค์เองทรงเป็นส่วนมรดกของชนเผ่านี้[8] จารีตพิธีโดยเฉพาะมอบถวายการเริ่มปฏิบัติสมณกิจของพันธสัญญาเดิม[9] บรรดาสมณะในพันธสัญญาเดิม “ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนมนุษย์ในความสัมพันธ์ติดต่อกับพระเจ้า เพื่อถวายทั้งบรรณาการและเครื่องบูชาชดเชยบาป”[10]

 1540  แต่ทว่าสมณภาพนี้ ที่ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า[11] และเพื่อรื้อฟื้นสัมพันธภาพขึ้นใหม่กับพระเจ้าอาศัยการถวายบูชาและคำอธิษฐานภาวนาก็ยังไม่สามารถนำความรอดพ้นมาให้ได้ จึงจำเป็นต้องถวายเครื่องบูชาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตลอดเวลาโดยไม่อาจบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์โดยเด็ดขาดได้[12] ความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดเช่นนี้การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าเท่านั้นจะบันดาลให้สำเร็จได้

1541    ถึงกระนั้น พิธีกรรมของพระศาสนจักรก็มองเห็นรูปแบบล่วงหน้าของระเบียบศาสนบริการแห่งพันธสัญญาใหม่แล้วในสมณภาพของอาโรนและศาสนบริการของชนเผ่าเลวี รวมทั้งการแต่งตั้ง “บรรดาผู้อาวุโส” เจ็ดสิบคน[13] ดังนั้น ในจารีตละติน พระศาสนจักรจึงอธิษฐานภาวนาในบทนำการเจิมถวายของพิธีบวชพระสังฆราชว่าดังนี้

“ข้าแต่พระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย […] พระองค์ประทานพระวาจาซึ่งเป็นพระหรรษทานล้ำเลิศไว้ให้เป็นกฎเกณฑ์ในพระศาสนจักร พระองค์ทรงกำหนดเชื้อสายบรรดาผู้ชอบธรรม  สืบต่อจากอับราฮัมตั้งแต่แรกเริ่ม  พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้ปกครองและบรรดาสมณะ มิได้ทรงทอดทิ้งสักการสถานของพระองค์ไว้ให้ขาดศาสนบริการ……”[14] 

1542   ในพิธีบวชพระสงฆ์ พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาว่าดังนี้

        “ข้าแต่พระบิดาเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์  พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพสถิตนิรันดร  […] ตั้งแต่ในพันธสัญญาเดิมแล้ว หน้าที่ต่างๆ ที่ทรงสถาปนาไว้สำหรับพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ล้ำลึกต่างๆ ได้พัฒนาขึ้น เมื่อทรงแต่งตั้งโมเสสและ       อาโรนเป็นผู้นำเพื่อปกครองและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ประชากร พระองค์ยังทรงเลือกบุรุษที่มีตำแหน่งและเกียรติรองลงมาให้เป็นผู้ร่วมมือและช่วยเหลือในภารกิจการงานของท่านทั้งสองด้วย ดังนี้  ในถิ่นทุรกันดารพระองค์ทรงแผ่ขยายพลังจิตของโมเสสผ่านความคิดอ่านของบุรุษผู้เฉลียวฉลาดเจ็ดสิบคน […] ดังนี้ พระองค์จึงประทานพระพรอุดมสมบูรณ์ของอาโรนแก่บรรดาบุตรของท่าน”[15]

1543   ในบทภาวนาเจิมถวายสำหรับพิธีบวชสังฆานุกร พระศาสนจักรประกาศว่า

        “ข้าแต่พระผู้ทรงสรรพานุภาพ  […] พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้พระศาสนจักรของพระองค์เจริญเติบโตขึ้นแผ่ขยายเป็นพระวิหารใหม่ พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้รับใช้ให้มีตำแหน่งสามขั้น เพื่อปฏิบัติศาสนบริการศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระนามของพระองค์ เช่นเดียวกับที่เคยทรงคัดเลือกบรรดาบุตรของเลวีเพื่อปฏิบัติศาสนกิจในกระโจมที่ประทับตั้งแต่แรกเริ่ม”[16]


สมณภาพเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า

 1544  รูปแบบทั้งหลายของสมณภาพในพันธสัญญาเดิมบรรลุถึงความสมบูรณ์ของตนในพระคริสต์เยซูผู้ทรงเป็น “คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์” (1 ทธ 2:5) ธรรมประเพณีของ    คริสตชนมีความเห็นเสมอมาว่าเมลคีเซเดค “สมณะของพระเจ้าสูงสุด” (ปฐก 14:18) เป็นเสมือนรูปแบบสมณภาพของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “มหาสมณะพระองค์เดียวตามแบบอย่างของเมลคีเซเดค” (ฮบ 5:10; 6:20) “เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไร้ความผิด ไร้มลทิน” (ฮบ 7:26) และ “โดยอาศัยการถวายบูชาเพียงครั้งเดียว พระองค์ทรงทำให้ทุกคนที่กำลังรับความศักดิ์สิทธิ์บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์สมบูรณ์ตลอดไป” (ฮบ 10:14) นั่นคืออาศัยการถวายบูชาพระองค์เพียงครั้งเดียวบนไม้กางเขน

 1545  การถวายบูชาเพื่อไถ่กู้ของพระคริสตเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียว เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวสำหรับตลอดไปถึงกระนั้น การถวายบูชานี้ก็ยังเป็นปัจจุบันอยู่เสมอในพิธีบูชาขอบพระคุณ เราต้องกล่าวเช่นเดียวกันเกี่ยวกับพระสมณภาพเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า พระสมณภาพนี้ยังคงเป็นปัจจุบันอาศัยสมณภาพของพระสงฆ์ศาสนบริกรซึ่งไม่ทำให้พระสมณภาพเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าลดน้อยลงเลย “และดังนี้พระคริสตเจ้าเพียงพระองค์เดียวทรงเป็นสมณะแท้จริง ส่วนคนอื่นๆ นั้นเป็นเพียงศาสนบริกรของพระองค์เท่านั้น”[17]


การมีส่วนสองแบบในพระสมณภาพหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า

 1546  พระคริสตเจ้า พระมหาสมณะและคนกลางเพียงหนึ่งเดียวทรงทำให้พระศาสนจักรเป็นอาณาจักรสมณะแด่พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์[18] ชุมชนผู้มีความเชื่อทั้งหมดจึงเป็นชุมชนสมณะด้วย บรรดาผู้มีความเชื่อ (สัตบุรุษ) ปฏิบัติหน้าที่สมณะที่ตนมีส่วนด้วยเมื่อได้รับศีลล้างบาป แต่ละคนตามกระแสเรียกของตน ในพันธกิจสมณะ ประกาศกและกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า อาศัยศีลล้างบาปและศีลกำลัง บรรดาผู้มีความเชื่อ “รับเจิม...ให้มีส่วนในพระสมณภาพศักดิ์สิทธิ์”[19]

 1547   สมณภาพเพื่อศาสนบริการหรือสมณภาพฐานันดรและสมณภาพสามัญของผู้มีความเชื่อทุกคน แม้ว่า “สมณภาพทั้งสองมีส่วนด้วยวิธีการโดยเฉพาะจากสมณภาพของพระคริสตเจ้า”[20]ถึงกระนั้นก็แตกต่างกันในสาระสำคัญ แม้ว่า “ถูกจัดไว้เพื่อเกื้อกูลกัน”[21] หมายความว่าอย่างไร ขณะที่สมณภาพสามัญของบรรดาผู้มีความเชื่อแสดงออกโดยการเพิ่มพระหรรษทานของศีลล้างบาป เพิ่มพูนชีวิตความเชื่อ ความหวังและความรัก เพิ่มพูนชีวิตตามพระจิตเจ้า
สมณภาพศาสนบริการก็รับใช้สมณภาพสามัญ มีไว้เพื่อเพิ่มพูนพระหรรษทานศีลล้างบาปของคริสตชนทุกคน นับเป็นวิธีการหนึ่งที่พระคริสตเจ้าทรงใช้เพื่อเสริมสร้างและนำพระศาสนจักรของพระองค์โดยไม่หยุดยั้ง เพราะฉะนั้น สมณภาพศาสนบริการนี้จึงถ่ายทอดต่อมาผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์ประการหนึ่ง คือศีลบวช


ในพระบุคคลพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ
.....

 1548  ในงานรับใช้ของศาสนบริกรที่รับศีลบวช พระคริสตเจ้าเองประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ เป็นผู้อภิบาลผู้มีความเชื่อซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะของพระองค์ เป็นมหาสมณะถวายบูชาเพื่อไถ่กู้ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนความจริง นี่คือความหมายของข้อความที่พระศาสนจักรยืนยันว่าพระสงฆ์ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ (in persona Christi Capitis  agere) อาศัยอำนาจที่ได้รับจากศีลบวช[22]

“เป็นพระสมณะองค์เดียวกัน คือพระคริสต์เยซูที่ศาสนบริกรปฏิบัติหน้าที่รับใช้ในพระบุคคลของพระองค์ เดชะการเจิมถวายเป็นสมณะที่เขาได้รับมา ศาสนบริกรผู้นี้เป็นเหมือนกับพระมหาสมณะ และสามารถปฏิบัติงานโดยอำนาจและพระบุคคลของพระคริสตเจ้าเอง”[23]

“พระคริสตเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิดของสมณภาพทั้งหมด สมณะในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบของพระองค์ ส่วนสมณะในพันธสัญญาใหม่ก็ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระองค์นั่นเอง”[24]

 1549  การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในชุมชนผู้มีความเชื่อ เป็นศีรษะของพระศาสนจักรนั้น เราแลเห็นได้โดยศาสนบริการของผู้ที่ได้รับศีลบวช โดยเฉพาะพระสังฆราชและพระสงฆ์[25] ตามที่นักบุญอิกญาซีโอ ชาวอันติโอค กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า พระสังฆราชเป็นเสมือนรูปภาพทรงชีวิตของพระเจ้าพระบิดา (typos tou Patros)[26]

 1550  เราต้องไม่เข้าใจว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในบรรดาศาสนบริกรนี้เป็นประกันจากความอ่อนแอทุกอย่างประสามนุษย์ ความคิดที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น ความผิดหลง นั่นคือเป็นประกันจากบาป พระอานุภาพของพระจิตเจ้าไม่เป็นประกันกิจการทุกอย่างของศาสนบริกรโดยวิธีเดียวกัน ขณะที่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เรามีประกันนี้อย่างที่ว่าบาปของศาสนบริกรไม่อาจขัดขวางผลของพระหรรษทานได้ ยังมีกิจการอื่นๆ อีกหลายประการที่ธรรมชาติมนุษย์ของศาสนบริกรยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่ไม่ใช่เครื่องหมายแสดงความซื่อสัตย์ต่อพระวรสาร และดังนั้นจึงอาจทำร้ายต่อประสิทธิภาพพันธกิจของพระศาสนจักรได้

 1551   สมณภาพนี้เป็นสมณภาพเพื่อศาสนบริการ  “บทบาทที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบแก่บรรดาผู้อภิบาลประชากรนั้นเป็นการรับใช้จริงๆ”[27] บทบาทนี้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่กับพระคริสตเจ้า
และกับมนุษย์โดยตรง สืบเนื่องอย่างเต็มที่จากพระคริสตเจ้าและจากสมณภาพหนึ่งเดียวของพระองค์ ตั้งขึ้นไว้สำหรับมวลมนุษย์และชุมชนพระศาสนจักร ศีลบวชถ่ายทอด “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากพระอำนาจของพระคริสตเจ้า การใช้อำนาจนี้จึงต้องถูกวัดตามพระแบบฉบับของพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมเป็นคนเล็กน้อยที่สุดและเป็นผู้รับใช้ของทุกคน[28] “ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่าการเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะเป็นข้อพิสูจน์ความรักต่อพระองค์”[29]


....“
ในนามของพระศาสนจักรทั้งหมด

1552   สมณภาพศาสนบริการมีบทบาทไม่เพียงแต่เป็นผู้แทนพระคริสตเจ้า – พระประมุขของพระศาสนจักร – ต่อหน้าชุมชนผู้มีความเชื่อเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติงานในนามของพระศาสนจักรทั้งหมดด้วย เมื่อนำคำอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรแด่พระเจ้า[30] โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถวายบูชาขอบพระคุณ[31]

 1553  “ในนามของพระศาสนจักรทั้งหมด” ไม่หมายความว่าบรรดาพระสงฆ์เป็นผู้แทนของชุมชน คำอธิษฐานภาวนาและการถวายบูชาของพระศาสนจักรแยกไม่ได้จากคำอธิษฐานภาวนาและการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นศีรษะของพระศาสนจักร คารวกิจของพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นในพระศาสนจักรและผ่านทางพระศาสนจักรตลอดเวลา พระศาสนจักรทั้งหมดซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าอธิษฐานภาวนาและถวายตนแด่พระเจ้าพระบิดา “อาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระคริสตเจ้าและในพระคริสตเจ้า” เป็นหนึ่งเดียวกับพระจิตเจ้า พระวรกายทิพย์ทั้งหมด ศีรษะและส่วนต่างๆ ของพระวรกาย อธิษฐานภาวนาและถวายตนและเพราะเหตุนี้ ผู้ที่โดยเฉพาะเป็นศาสนบริกรในพระวรกาย จึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนบริกรมิใช่ของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสนบริกรของพระศาสนจักรด้วย เนื่องจากว่าสมณภาพศาสนบริการปฏิบัติงานแทนพระคริสตเจ้า จึงอาจปฏิบัติงานแทนพระศาสนจักรได้ด้วย

 

[6] เทียบ อสย 61:6.              

[7] เทียบ กดว 1:48-53.           

[8] เทียบ ยชว 13:33.             

[9] เทียบ อพย 29:1-30;  ลนต บทที่ 8.              

[10] เทียบ ฮบ 5:1.

[11] เทียบ มลค 2:7-9.

[12] เทียบ ฮบ 5:3; 7:27; 10:1-4.

[13] เทียบ ลนต 11:24-25.

[14] Pontificale Romanum. De Ordinatione Episcopi, presbyterorum et diaconorum, De Ordinatione Episcopi. Prex ordinationis, 47, editio typica altera (Typis Polyglottis Vaticanis 1990) p. 24.

[15] Pontificale Romanum. De Ordinatione Episcopi, presbyterorum et diaconorum, De Ordinatione presbyterorum. Prex ordinationis, 159, editio typica altera (Typis Polyglottis Vaticanis 1990) p. 91-92.

[16] Pontificale Romanum. De Ordinatione Episcopi, presbyterorum et diaconorum, De Ordinatione diaconorum. Prex ordinationis, 207, editio typica altera (Typis Polyglottis Vaticanis 1990) p. 121.

[17] Sanctus Thomas Aquinas, Commentarium in epistolam ad Hebraeos, c. 7, lect. 4: Opera omnia, v. 21 (Parisiis 1876) p. 647.

[18] เทียบ วว 1:6; 5:9-10; 1 ปต 2:5,9.

[19] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.    

[20] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.

[21] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.    

[22] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14; Ibid., 28: AAS 57 (1965) 34; Id., Const. Sacrosanctum Concilium, 33: AAS 56 (1964) 108; Id., Decr. Christus Dominus, 11: AAS 58 (1966) 677; Id., Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 992; Ibid., 6: AAS 58 (1966) 999.

[23] Pius XII, Litt. enc. Mediator Dei: AAS 14 (1947) 548.

[24] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, III, q. 22, a. 4, c: Ed. Leon. 11, 260.

[25] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 24.

[26] Cf Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Trallianos, 3, 1: SC 10bis, 96 (Funk 1, 244); Id., Epistula ad Magnesios, 6, 1: SC 10bis, 84 (Funk 1, 234). 

[27] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 24: AAS 57 (1965) 29.

[28] เทียบ มก 10:43-45; 1 ปต 5:3.

[29] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De sacerdotio, 2, 4: SC 272, 118 (PG 48, 635); เทียบ ยน 21,15-17.

[30] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 33: AAS 56 (1964) 108.

[31] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.

III.  ฐานันดรสามขั้นของศีลบวช

III.  ฐานันดรสามขั้นของศีลบวช

 1554 “ศาสนบริการของพระศาสนจักรที่พระเจ้าทรงสถาปนาไว้นั้นได้รับการปฏิบัติในระดับต่างๆโดยผู้ที่เรียกกันตั้งแต่สมัยแรกๆ แล้วว่า ‘พระสังฆราช’ [episcopi = ผู้ควบคุมดูแล] ‘พระสงฆ์’[presbyteri = ผู้อาวุโส] และ ‘สังฆานุกร’ [diaconi = ผู้รับใช้]”[32] คำสอนคาทอลิกในพิธีกรรม ในคำสอนทางการของพระศาสนจักร และในการปฏิบัติตามปกติของพระศาสนจักรยอมรับว่าการมีส่วนสมณภาพศาสนบริการของพระคริสตเจ้ามีสองขั้น คือตำแหน่งพระสังฆราชและพระสงฆ์ ส่วนตำแหน่งสังฆานุกรนั้นมีไว้เพื่อช่วยและรับใช้พระสังฆราชและพระสงฆ์ในการปฏิบัติศาสนกิจ เพราะฉะนั้น คำว่า “sacerdos” (หรือ “พระสงฆ์”) ในความหมายปัจจุบันจึงหมายถึงพระสังฆราชและพระสงฆ์ แต่ไม่หมายถึงสังฆานุกร ถึงกระนั้นคำสอนคาทอลิกก็สอนว่าขั้นการมีส่วนสมณภาพ (ของพระสังฆราชและพระสงฆ์) และขั้นการมีส่วนศาสนบริการ (ของสังฆานุกร) ทั้งสามขั้นนี้ได้รับมอบหมายจากพระศาสนจักรด้วยพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “พิธีบวช” หรือ “ศีลบวช” (ศีลการเข้าร่วมในฐานันดร) “ขอให้ทุกคนแสดงความเคารพนับถือบรรดาสังฆานุกรเหมือนกับเคารพนับถือพระเยซูคริสตเจ้าเช่นเดียวกับแสดงความเคารพนับถือพระสังฆราช ซึ่งเป็นรูปแบบของพระบิดา เคารพนับถือบรรดาพระสงฆ์ประหนึ่งเป็นวุฒิสภาของพระเจ้าและคณะอัครสาวก เราไม่อาจเรียกว่า ‘พระศาสนจักร’ ได้ ถ้าไม่มีบุคลากรเหล่านี้”[33]


พิธีบวชพระสังฆราช
ความสมบูรณ์ของศีลบวช

 1555  “ธรรมประเพณีเป็นพยานให้เรารู้ว่า ในบรรดาศาสนบริการต่างๆ ที่ปฏิบัติอยู่ในพระศาสนจักรมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มนั้น ศาสนบริการสำคัญที่สุดก็คือหน้าที่ของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งพระสังฆราชซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งหน้าที่ของบรรดาอัครสาวกต่อมาโดยไม่ขาดสายจนถึงบัดนี้”[34]

 1556  เพื่อปฏิบัติพันธกิจสูงส่งของท่าน “บรรดาอัครสาวกได้รับพระพรพิเศษของพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าประทานให้ และท่านเหล่านี้ก็ได้ปกมือมอบพระพรของพระจิตเจ้านี้สืบต่อมาแก่ผู้ช่วยของท่าน และพระพรนี้ยังได้รับการถ่ายทอดสืบมาจนถึงพวกเราในพิธีเจิมถวายพระสังฆราช”[35]

1557    สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 สอนว่า “ความสมบูรณ์ของศีลบวชได้รับสืบทอดต่อมาในพิธีเจิมถวายพระสังฆราช ทั้งธรรมเนียมด้านพิธีกรรมและคำสอนของบรรดาปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์เรียกความสมบูรณ์นี้ว่าเป็น ‘สมณภาพสูงสุด’ หรือ ‘จุดยอดของศาสนบริการ’”[36]

 1558  “พิธีเจิมถวายพระสังฆราชมอบหน้าที่สั่งสอนและปกครองให้ผู้รับพร้อมกับหน้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ […] เห็นได้ชัดว่า การปกมือและถ้อยคำมอบถวายประทานพระหรรษทานของพระจิตเจ้าและตราประทับศักดิ์สิทธิ์ให้อย่างที่ว่าบรรดาพระสังฆราชรับบทบาทของพระคริสตเจ้าเอง ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ ผู้อภิบาลและพระสมณะ และปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระองค์”[37] “ดังนั้น บรรดาพระสังฆราช เดชะพระจิตเจ้าที่ท่านได้รับ จึงกลายเป็นผู้สั่งสอนความเชื่อ เป็นพระสมณะและผู้อภิบาล”[38]

 1559  “ใครคนหนึ่งรับแต่งตั้งเป็นสมาชิกของคณะพระสังฆราชอาศัยอำนาจการเจิมถวายของศีลศักดิ์สิทธิ์และฐานันดรความสัมพันธ์กับประมุขและสมาชิกทุกคนของคณะพระสังฆราชดังกล่าว”[39] ลักษณะและธรรมชาติเป็นหมู่คณะของฐานันดรพระสังฆราชแสดงให้เห็นโดยเฉพาะจากธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่โบราณของพระศาสนจักรซึ่งต้องการให้มีพระสังฆราชหลายองค์ร่วมพิธีบวชพระสังฆราชใหม่[40] ทุกวันนี้จะมีการบวชพระสังฆราชได้อย่างถูกต้อง จำเป็นที่
พระสังฆราชแห่งกรุงโรมต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้จากเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพันธะสูงสุดที่แลเห็นได้ของสัมพันธภาพระหว่างพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ในพระศาสนจักรหนึ่งเดียวและเป็นประกันอิสรภาพของพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ด้วย

 1560  พระสังฆราชแต่ละท่าน ในฐานะผู้แทนของพระคริสตเจ้า มีหน้าที่อภิบาลพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแล แต่พร้อมกันนั้นก็ยังต้องมีความเอาใจใส่ถึงพระศาสนจักรทุกแห่งร่วมกับพี่น้องพระสังฆราชเป็นหมู่คณะเดียวกันด้วย “แม้ว่าพระสังฆราชแต่ละท่านเป็นผู้อภิบาลศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มคริสตชนที่เป็นเสมือนฝูงแกะที่ตนได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแล ถึงกระนั้นในฐานะที่เป็นผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวกโดยถูกต้องตามกฎหมายตามที่พระเจ้าทรงจัดตั้งและกำหนดไว้ ยังเป็นพยานถึงตำแหน่งนี้ของพระศาสนจักรพร้อมกับพระสังฆราชทุกท่านด้วย”[41]

 1561   ข้อความที่กล่าวมานี้จึงอธิบายว่าทำไมพิธีบูชาขอบพระคุณที่ถวายโดยพระสังฆราชจึงมีความหมายพิเศษ เป็นเสมือนการแสดงตนของพระศาสนจักรที่ชุมนุมกันโดยรอบพระแท่นบูชาโดยมีผู้ซึ่งเป็นผู้แทนที่แลเห็นได้ของพระคริสตเจ้า ผู้อภิบาลที่ดีและประมุขของพระศาสนจักรของพระองค์เป็นประธาน[42]


การบวชพระสงฆ์
ผู้ร่วมงานของพระสังฆราช

1562   “พระคริสตเจ้าซึ่งพระบิดาประทานความศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลกนี้ทรงแต่งตั้งผู้มีส่วนร่วมการเจิมถวายและพันธกิจของพระองค์ผ่านทางบรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาคือบรรดาพระสังฆราช ซึ่งก็ได้มอบหมายบทบาทศาสนบริการขั้นต่างๆ ของพระองค์อย่างถูกต้องสืบต่อมาแก่สมาชิกหลายคนในพระศาสนจักร”[43] “หน้าที่ศาสนบริการของเขาเหล่านี้ได้ถูกมอบไว้แก่บรรดาพระสงฆ์ เพื่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้งในฐานันดรพระสงฆ์จะได้ปฏิบัติพันธกิจที่บรรดาอัครสาวกได้รับมอบหมายจากพระคริสตเจ้าจะได้เป็นผู้ร่วมงานของฐานันดรพระสังฆราช[44]

 1563  “หน้าที่ของบรรดาพระสงฆ์ ในฐานะที่มีความสัมพันธ์กับฐานันดรพระสังฆราช มีส่วนร่วมในอำนาจที่พระคริสตเจ้าเองทรงเสริมสร้าง บันดาลความศักดิ์สิทธิ์และปกครองดูแลพระวรกายของพระองค์ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ของพระสงฆ์จึงต้องรับศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นของกระบวนการรับคริสตชนใหม่แล้ว แต่เขารับตำแหน่งนี้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์เฉพาะซึ่งพระสงฆ์ อาศัยการเจิมของพระจิตเจ้าได้รับตราประทับพิเศษ และดังนี้จึงมีลักษณะเหมือนกับพระคริสตเจ้า
พระสมณะ จนว่าเขาสามารถปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าพระประมุข (in persona Christi Capitis)”[45]

 1564  “พระสงฆ์ แม้ว่าไม่มีความสมบูรณ์ของสมณภาพและต้องขึ้นกับพระสังฆราชในการใช้อำนาจของตน แต่ก็ร่วมกับพระสังฆราชในเกียรติสมณะและโดยอำนาจของศีลบวชตามรูปแบบของพระคริสตเจ้าพระสมณะสูงสุดและนิรันดร[46] เพื่อประกาศข่าวดีและอภิบาลดูแลบรรดาผู้มีความเชื่อและรับเจิมถวายเพื่อประกอบคารวกิจถวายแด่พระเจ้าในฐานะสมณะแท้จริงของพันธสัญญาใหม่”[47]

 1565  บรรดาพระสงฆ์ อาศัยอำนาจของศีลบวช มีส่วนร่วมพันธกิจทั้งหมดที่พระคริสตเจ้าทรงมอบแก่บรรดาอัครสาวก พระพรฝ่ายจิตที่เขาได้รับในการบวชเตรียมเขาไม่เพียงสำหรับพันธกิจที่มีขอบเขตจำกัด แต่สำหรับพันธกิจแห่งความรอดพ้นที่แผ่กว้างครอบจักรวาล “จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” (กจ 1:8)[48] จนกระทั่งว่าเขามี “จิตใจเตรียมพร้อมที่จะประกาศข่าวดีไปทั่วทุกแห่ง”[49]

 1566  (พระสงฆ์) “ปฏิบัติหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ของตนโดยเฉพาะในคารวกิจพิธีบูชาขอบพระคุณหรือ ‘synaxis’(= การชุมนุมกัน) ที่เขาปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้า (in persona Christi) และประกาศพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ นำของถวายด้วยใจสมัครของบรรดาผู้มีความเชื่อเข้ามาถวายร่วมกับการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าพระประมุข เป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพันธสัญญาใหม่ นั่นคือการถวายบูชาไร้มลทินของพระคริสตเจ้าที่ทรงถวายพระองค์เพียงครั้งเดียวแด่พระบิดา ซึ่งเขาทำให้เป็นปัจจุบันและบังเกิดผลในพิธีบูชามิสซาจนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จกลับมาอีก”[50] ศาสนบริการทั้งหมดของพระสงฆ์ได้พลังทั้งหมดของตนมาจากการถวายบูชาเพียงครั้งเดียว(ของพระคริสตเจ้า)นี้เอง[51]

 1567   “บรรดาพระสงฆ์ผู้ได้รับการจัดไว้ให้เป็นผู้ร่วมงานของคณะพระสังฆราช เป็นผู้ช่วยเหลือและเครื่องมือของท่าน ได้รับเรียกมาเพื่อรับใช้ประชากรของพระเจ้า รวมกันเป็นคณะสงฆ์หนึ่งเดียวพร้อมกับพระสังฆราชของตน ล้วนได้รับมอบหมายหน้าที่ต่างๆ เขาทำให้พระสังฆราชที่เขามีความสัมพันธ์ด้วยความไว้วางใจอย่างมากนั้นประหนึ่งว่าปรากฏอยู่ในชุมชนผู้มีความเชื่อในแต่ละสถานที่ รับเอาความเอาใจใส่ของพระสังฆราชมาส่วนหนึ่งและปฏิบัติในหน้าที่ประจำวัน”[52] บรรดาพระสงฆ์ไม่อาจปฏิบัติศาสนบริการของตนได้นอกจากจะขึ้นอยู่กับ พระสังฆราชและในความสัมพันธ์กับท่าน คำสัญญาจะเชื่อฟังที่เขาได้ทำไว้กับพระสังฆราชในพิธีบวชและพิธีสวมกอดแสดงสันติภาพตอนปลายพิธีบวชแสดงว่าพระสังฆราชถือว่าเขาเป็นผู้ร่วมงาน เป็นบุตร พี่น้องและมิตรสหายของตน เขาจึงต้องแสดงความรักและความเชื่อฟังต่อพระสังฆราชด้วยเช่นเดียวกัน

 1568  “พระสงฆ์ทุกคนซึ่งได้รับแต่งตั้งในฐานันดรสงฆ์โดยการบวชล้วนมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องต่อกันอย่างแน้นแฟ้นอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกคนรวมกันเป็นคณะสงฆ์เดียวกันภายใต้การปกครองของพระสังฆราชของตนในสังฆมณฑลที่เขาสังกัดอยู่”[53] เอกภาพของคณะสงฆ์แสดงให้เห็นในธรรมเนียมปฏิบัติด้านพิธีกรรม ที่ในพิธีบวชบรรดาพระสงฆ์ปกมือเหนือผู้บวชหลังจากที่พระสังฆราชปกมือแล้วด้วย

 

การบวชสังฆานุกร – “เพื่อศาสนบริการ

1569   “บรรดาสังฆานุกรอยู่ในขั้นล่างของฐานันดรศักดิ์สิทธิ์ เขาได้รับการปกมือ ‘ไม่ใช่เพื่อรับสมณภาพแต่เพื่อศาสนบริการ’”[54] พระสังฆราชเพียงองค์เดียวเท่านั้นปกมือเพื่อบวชสังฆานุกร ดังนี้จึงหมายความว่าสังฆานุกรมความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับพระสังฆราชในบทบาทของ “การเป็นผู้รับใช้” ของท่าน[55]

 1570   บรรดาสังฆานุกรมีส่วนร่วมในพันธกิจและพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าในวิธีพิเศษโดยเฉพาะ[56] ศีลบวชทำให้เขามีตราประทับที่ไม่อาจลบออกได้และทำให้เขามีภาพลักษณ์เหมือนกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมเป็น “ผู้รับใช้” (diaconus) ของทุกคน[57] บรรดาสังฆานุกรมีหน้าที่ต่างๆ เช่น คอยช่วยเหลือพระสังฆราชและพระสงฆ์ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ แจกศีลมหาสนิท เป็นประธานและอวยพรคู่บ่าวสาวในพิธีสมรส ประกาศพระวรสารและเทศน์ เป็นประธานพิธีปลงศพ และถวายตนในศาสนบริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงเมตตาจิต[58]

 1571   หลังสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ตำแหน่งสังฆานุกรได้รับการสถาปนาอีกครั้งหนึ่งให้เป็น “ฐานันดรศักดิ์สิทธิ์ถาวรโดยเฉพาะขั้นหนึ่ง”[59] ในขณะที่พระศาสนจักรจารีตตะวันออกต่างๆ ยึดถือเช่นนั้นตลอดมา หน้าที่สังฆานุกรถาวรนี้ที่อาจมอบแก่บุรุษที่แต่งงานแล้ว ทำให้พระศาสนจักรร่ำรวยขึ้นอย่างมากในการประกอบพันธกิจของตน อันที่จริง  เป็นการเหมาะสมและมีประโยชน์ที่ผู้ปฏิบัติศาสนบริการรับใช้โดยแท้จริงในพระศาสนจักร ไม่ว่าในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และงานอภิบาล หรือว่าในงานด้านสังคมและเมตตาจิต“จะได้รับการเสริมพลังให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพระแท่นบูชาโดยการปกมือซึ่งสืบทอดสืบต่อกันมาจากบรรดาอัครสาวก เพื่อจะได้ปฏิบัติศาสนบริการของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอาศัยพระหรรษทานศีลศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นสังฆานุกร”[60]

 

[32] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 28: AAS 57 (1965) 33-34.

[33] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Trallianos, 3, 1: SC 10bis, 96 (Funk 1, 244).

[34] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 20: AAS 57 (1965) 23.

[35] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 24.    

[36] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 25.

[37] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 25.

[38] Concilium Vaticanum II, Decr. Christus Dominus, 2: AAS 58 (1966) 674.         

[39] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26.

[40] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26.

[41] Pius XII, Litt. enc. Fidei donum: AAS 49 (1957) 237; cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 27-28; Id., Decr. Christus Dominus, 4: AAS 58 (1966) 674-675; Ibid., 36: AAS 58 (1966) 692; Ibid., 37: AAS 58 (1966) 693; Id., Decr. Ad gentes, 5: AAS 58 (1966) 951-952; Ibid., 6: AAS 58 (1966) 952-953; Ibid., 38: AAS 58 (1966) 984-986.

[42] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 41: AAS 56 (1964) 111; Id., Const. dogm. Lumen gentium, 26: AAS 57 (1965) 31-32.

[43] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 28: AAS 57 (1965) 33.

[44] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 992.     

[45] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 992.     

[46] เทียบ ฮบ 5:1-10; 7:24;  9:11-28.

[47] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 28: AAS 57 (1965) 34.    

[48] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 10: AAS 558 (1966) 1007.

[49] Concilium Vaticanum II, Decr. Optatam totius, 20: AAS 58 (1966) 726.          

[50] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 28: AAS 57 (1965) 34.

[51] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 993.  

[52] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 28: AAS 57 (1965) 35.

[53] Concilium Vaticanum II. Decr. Presbyterorum ordinis, 8: AAS 58 (1966) 1003.    

[54] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 29: AAS 57 (1965) 36; cf Id., Decr. Christus Dominus, 15: AAS 58 (1966) 679.

[55] Cf Sanctus Hippolytus Romanus, Traditio apostolica, 8: ed. B. Botte (Münster i.W. 1989) p. 22-24.

[56] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 41: AAS 57 (1965) 46; Id., Decr. Ad gentes, 16: AAS 58 (1966) 967.

[57] เทียบ มก 10:45; ลก 22:27; Sanctus Polycarpus Smyrnensis, Epistula ad Philippenses, 5, 2: SC 10bis 182 (Funk 1, 300).

[58] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 29: AAS 57 (1965) 36; Id., Const. Sacrosanctum Concilium, 35, 4: AAS 56 (1964) 109; Id., Decr. Ad gentes, 16: AAS 58 (1966) 967.

[59] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 29: AAS 57 (1965) 36.

[60] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 16: AAS 58 (1966) 967.

IV.  การประกอบพิธีศีลนี้

IV.  การประกอบพิธีศีลนี้

1572    การประกอบพิธีศีลบวชพระสังฆราช พระสงฆ์หรือสังฆานุกรเรียกร้องให้มีสัตบุรุษมาชุมนุมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความสำคัญเป็นพิเศษของบุคลากรเหล่านี้สำหรับชีวิตของพระศาสนจักร ควรประกอบพิธีนี้ในวันอาทิตย์และในอาสนวิหารอย่างสง่างาม พิธีบวชทั้งสามขั้น คือพิธีบวชพระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกร นั้นมีโครงสร้างแบบเดียวกัน ที่อยู่ของพิธีทั้งสามนี้ก็คือภายในการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ

 1573   จารีตพิธีสำคัญที่สุดของศีลบวชทั้งสามขั้นประกอบด้วยการที่พระสังฆราชปกมือบนศีรษะของผู้รับศีลบวชและบทภาวนามอบถวายที่เจาะจงวอนขอพระเจ้าให้ทรงหลั่งพระจิตเจ้าและพระพรที่เหมาะกับศาสนบริการที่ผู้สมัครบวชจะต้องปฏิบัติ[61]

 1574    เช่นเดียวกับในทุกศีล มีจารีตพิธีบางอย่างเพิ่มเติมผนวกเข้ามาด้วย แม้จะแตกต่างกันอย่างมากในธรรมประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จารีตพิธีเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลเพื่อแสดงความหมายของพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ ในจารีตละติน พิธีเริ่มต้น – ซึ่งประกอบด้วยการเสนอตัวและคัดเลือกผู้สมัครบวช คำปราศรัยของพระสังฆราช การสอบถามผู้สมัครบวช บทร่ำวิงวอนนักบุญทั้งหลาย – ยืนยันว่าผู้สมัครบวชได้รับการคัดเลือกตามธรรมเนียมของพระศาสนจักรและเป็นการเตรียมการมอบถวาย(ผู้สมัครบวช)อย่างสง่า หลังจากนั้นยังมีจารีตพิธีตามมาอีกหลายประการเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ถึงความหมายของพระธรรมล้ำลึกให้สมบูรณ์ขึ้น การเจิมน้ำมันคริสมาสำหรับพระสังฆราชและพระสงฆ์เป็นเครื่องหมายพิเศษหมายถึงการเจิมของพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลให้ศาสนบริการของเขาเหล่านี้บังเกิดผล การมอบหนังสือพระวรสาร แหวน หมวกทรงสูง และไม้เท้าแก่พระสังฆราชเป็นเครื่องหมายของพันธกิจเหมือนบรรดาอัครสาวกที่จะประกาศพระวาจาของพระเจ้า เป็นเครื่องหมายของความซื่อสัตย์ต่อพระศาสนจักรผู้เป็นเสมือนเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า และหมายถึงหน้าที่ผู้อภิบาลฝูงแกะขององค์พระผู้เป็นเจ้า การมอบจานรองแผ่นปังและถ้วยกาลิกส์แก่พระสงฆ์หมายถึงการถวายของประชากรศักดิ์สิทธิ์[62]ที่เขารับเรียกมาให้ถวายแด่พระเจ้า การมอบหนังสือพระวรสารแก่สังฆานุกรผู้ได้รับพันธกิจให้ประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าแล้ว

 

[61] Cf Pius XII, Const. ap. Sacramentum ordinis: DS 3858.         

[62] Cf Pontificale Romanum. De Ordinatione Episcopi, presbyterorum et diaconorum, De Ordinatione presbyterorum. Traditio panis et vini, 163, editio typica altera (Typis Polyglottis Vaticanis 1990) p. 95.

V.   ใครประกอบพิธีศีลนี้ได้

V. ใครประกอบพิธีศีลนี้ได้

 1575 พระคริสตเจ้าได้ทรงเลือกบรรดาอัครสาวกและประทานให้เขามีส่วนร่วมในพันธกิจและอำนาจของพระองค์ เมื่อเสด็จไปประทับเบื้องขวาของพระบิดาแล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งฝูงแกะของพระองค์ แต่ทรงมอบไว้ให้บรรดาอัครสาวกปกปักรักษาดูแล และยังทรงนำฝูงแกะนี้ผ่านทางผู้อภิบาลกลุ่มเดียวกันที่ปฏิบัติงานของพระองค์สืบต่อมา[63] พระคริสตเจ้าจึง “ประทาน” ให้บางคนเป็นอัครสาวก บางคนเป็นผู้อภิบาล[64] พระองค์ยังทรงปฏิบัติงานต่อมาผ่านทางบรรดาพระสังฆราช[65]

 1576   เนื่องจากว่าศีลบวชเป็นศีลที่เกี่ยวกับศาสนบริการสืบต่อจากบรรดาอัครสาวก จึงเป็นหน้าที่ของบรรดาพระสังฆราชในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวกที่จะถ่ายทอด “พระพรของพระจิตเจ้า”[66] และ “เชื้อสายของบรรดาอัครสาวก”[67] สืบต่อมา บรรดาพระสังฆราชที่ได้รับการบวชอย่างถูกต้อง นั่นคือผู้สืบตำแหน่งต่อมาจากบรรดาอัครสาวกจึงเป็นผู้มอบฐานันดรทั้งสามขั้นของศีลนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย[68]

 

[63] Cf Praefatio de Apostolis I: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 426.

[64] เทียบ อฟ 4:11.

[65] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 24.

[66] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 24.

[67] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 20: AAS 57 (1965) 23.

[68] Cf Innocentius III, Professio fidei Waldensibus praescripta: DS 794; Concilium Lateranense IV, Cap. 1, De fide catholica: DS 802; CIC canon 1012; CCEO canones 744. 747.

VI.  ใครอาจรับศีลนี้ได้

VI.  ใครอาจรับศีลนี้ได้

 1577   “บุรุษที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วเท่านั้นจึงรับศีลบวชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”[69] พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกบุรุษสิบสองคนให้มารวมกันเป็นคณะอัครสาวก[70] และบรรดาอัครสาวกก็ได้ทำเช่นเดียวกันเมื่อเลือกผู้ร่วมงาน[71] เพื่อสืบต่องานของตนต่อไป[72] คณะพระสังฆราชซึ่งมีคณะสงฆ์ร่วมสมณภาพอยู่ด้วยและคงอยู่จนกว่าพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกจึงทำให้คณะอัครสาวกทั้งสิบสองคนยังคงเป็นปัจจุบันอยู่ พระศาสนจักรรู้ดีว่าตนมีความสัมพันธ์กับองค์พระผู้เป็นเจ้าอาศัยพันธะการเลือกนี้เอง เพราะเหตุนี้ การบวชสตรีจึงเป็นไปไม่ได้[73]

 1578   ไม่มีผู้ใดมีสิทธิจะรับศีลบวช อันที่จริงไม่มีผู้ใดรับหน้าที่นี้สำหรับตน พระเจ้าต้องทรงเรียกเขาเพื่อการนี้[74] ผู้ที่คิดว่าตนมีเครื่องหมายการเรียกของพระเจ้าให้มาบวชเพื่อศาสนบริการจึงต้องแสดงความปรารถนาของตนอย่างถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจปกครองของพระศาสนจักร ซึ่งต้องรับผิดชอบและมีสิทธิที่จะเรียกใครคนหนึ่งมารับฐานันดรศักดิ์ เช่นเดียวกับพระหรรษทานทุกอย่าง ศีลนี้จะรับได้ในฐานะของประทานที่ตนไม่สมควรจะได้รับเท่านั้น

 1579   โดยปกติแล้ว ศาสนบริกรที่รับศีลบวชทุกคนของพระศาสนจักรละติน ยกเว้นสังฆานุกรถาวร ย่อมถูกเลือกจากบรรดาบุรุษผู้มีความเชื่อที่ยังเป็นโสดและตั้งใจจะถือโสด “เพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์” (มธ 19:12) เขาได้รับเรียกเพื่อจะได้ถวายตนโดยไม่แบ่งแยกแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าและเพื่องานของพระองค์[75] เขาถึงมอบถวายตนทั้งหมดแด่พระเจ้าและมนุษย์ทุกคน การถือโสดเป็นเครื่องหมายของชีวิตใหม่นี้เพื่อศาสนบริกรของพระศาสนจักรจะได้มอบถวายตนด้วยใจยินดี ประกาศเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างแจ้งชัด[76]

1580   ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออกก็มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างออกไปตั้งแต่หลายศตวรรษมาแล้ว ขณะที่บรรดาพระสังฆราชถูกเลือกมาจากผู้ที่เป็นโสดเท่านั้น บุรุษที่แต่งงานแล้วอาจรับศีลบวชเป็นสังฆานุกรและพระสงฆ์ได้ ระเบียบปฏิบัตินี้นับว่าถูกต้องตั้งแต่นานมาแล้ว บรรดาพระสงฆ์เหล่านี้ปฏิบัติศาสนบริการในชุมชนของตนอย่างได้ผล[77] นอกจากนั้น การถือโสดของบรรดาพระสงฆ์ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออกก็ได้รับเกียรติอย่างมาก และพระสงฆ์หลายองค์ก็ได้เลือกถือโสดเพราะเห็นแก่พระอาณาจักรของพระเจ้า ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออก เช่นเดียวกับในพระศาสนจักรตะวันตก ผู้ที่รับศีลบวชแล้วไม่อาจจะแต่งงานได้อีกต่อไป

 

[69] CIC canon 1024.

[70] เทียบ มก 3:14-19; ลก 6:12-16.

[71] เทียบ 1 ทธ 3:1-13; 2 ทธ 1:6;  ทต 1:5-9.       

[72] Cf Sanctus Clemens Romanus, Epistula ad Corinthios, 42, 4: SC 167, 168-170 (Funk 1, 152); Ibid., 44,3: SC 167, 172 (Funk 1, 156).

[73] Cf Ioannes Paulus II, Ep. ap. Mulieris dignitatem, 26-27: AAS 80 (1988) 1715-1720; Id., Ep. ap. Ordinatio sacerdotalis: AAS 86 (1994) 545-548; Sacra Congregatio pro Doctrina fidei, Decl. Inter insigniores: AAS 69 (1977) 98-116; Id., Responsum ad dubium circa doctrinam in Epist. Ap. « Ordinatio Sacerdotalis » traditam: AAS 87 (1995) 1114.

[74] เทียบ ฮบ 5:4.

[75] เทียบ 1 คร 7:32.             

[76] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 16: AAS 58 (1966) 1015-1016.

[77] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 16: AAS 58 (1966) 1015.

VII. ผลของศีลบวช

VII. ผลของศีลบวช

ตราที่ลบไม่ได้

 1581   ศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ เดชะพระพรของพระจิตเจ้า ทำให้ผู้บวชมีลักษณะเหมือนกับพระคริสตเจ้าเป็นพิเศษ เพื่อเป็นเครื่องมือของพระคริสตเจ้าสำหรับพระศาสนจักร โดยการบวช เขาได้รับความสามารถที่จะปฏิบัติงานเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้า ประมุขของพระศาสนจักร ในการปฏิบัติบทบาททั้งสามประการของพระสมณะ ประกาศก และกษัตริย์

 1582  เช่นเดียวกับในศีลล้างบาปและศีลกำลัง การมีส่วนร่วมบทบาทของพระคริสตเจ้านี้ถูกมอบให้ครั้งเดียวสำหรับตลอดไป ศีลบวชด้วย ประทานเครื่องหมายของพระจิตเจ้าที่ไม่อาจลบออกได้ และไม่อาจประกอบพิธีซ้ำได้อีกต่อไป[78]

1583     จริงอยู่ ผู้ที่ได้รับศีลบวชโดยถูกต้องแล้ว เพราะเหตุผลสำคัญ อาจได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับและการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบวช หรือถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้น[79] แต่ในความหมายแท้จริงแล้ว เขาไม่อาจกลับไปเป็นฆราวาสได้อีก เพราะตราประทับจากศีลบวชนี้คงอยู่ตลอดไป[80] การเรียกและพันธกิจที่เขาได้รับในวันบวชหมายตัวเขาไว้อย่างถาวร

 1584  เนื่องจากว่าในที่สุดแล้ว พระคริสตเจ้าทรงปฏิบัติและบันดาลความรอดพ้นแก่มนุษย์ผ่านทางศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช ความไม่เหมาะสมของศาสนบริกรผู้นี้จึงไม่ขัดขวางมิให้พระคริสตเจ้าทรงปฏิบัติงานได้[81] นักบุญออกัสตินยืนยันเรื่องนี้ไว้อย่างแข็งขันว่า

“ผู้ที่เป็นศาสนบริกรเย่อหยิ่งจองหองก็เป็นเหมือนปีศาจ แต่พระพรของพระคริสตเจ้าก็มิได้เปื้อนหมอง เพราะหลั่งออกมาจากพระองค์โดยยังบริสุทธิ์อยู่ เป็นน้ำไหลผ่านพระองค์ผู้บริสุทธิ์มายังแผ่นดินที่อุดมบริบูรณ์ […] เพราะพลังของพระจิตเจ้าของศีลนี้เป็นเสมือนแสงสว่าง ผู้ที่ต้องรับความสว่างก็รับแสงนี้บริสุทธิ์ และแม้ผ่านมาทางผู้มีมลทิน ก็ไม่เปื้อนหมองไป”[82]


พระหรรษทานของพระจิตเจ้า

 1585   พระหรรษทานของพระจิตเจ้าเฉพาะสำหรับศีลนี้ก็คือการมีภาพลักษณ์เหมือนกับพระคริสตเจ้า พระสมณะ อาจารย์และผู้อภิบาล ซึ่งผู้รับศีลบวชได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสนบริกร

 1586  สำหรับพระสังฆราช พระหรรษทานแห่งพละกำลัง (บทภาวนาเจิมถวายพระสังฆราชในจารีตละตินวอนขอ “Spiritum principalem” หรือ “พระจิตเจ้าผู้ทรงปกครองและนำชีวิต”[83]) คือพระหรรษทานที่จะนำพระศาสนจักรและป้องกันพระศาสนจักรนี้อย่างกล้าหาญและชาญฉลาดดังบิดาและผู้อภิบาล มีความรักจากใจจริงและเต็มใจต่อผู้ยากจน คนเจ็บป่วยและขัดสน[84] พระหรรษทานประการนี้ย่อมผลักดันเขาให้ประกาศข่าวดีแก่ทุกคน ให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาสัตบุรุษผู้เป็นเสมือนฝูงแกะของตน เพื่อจะนำหน้าเขาในหนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ทำตนในพิธีบูชาขอบพระคุณให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าพระสมณะและเครื่องบูชา โดยไม่หวั่นกลัวที่จะมอบชีวิตเพื่อบรรดาแกะของตน

           “ข้าแต่พระบิดาเจ้าผู้ทรงล่วงรู้จิตใจมนุษย์ทั้งหลาย ขอโปรดให้ผู้รับใช้พระองค์ผู้นี้ ซึ่งทรงเลือกสรรให้เป็นพระสังฆราช เลี้ยงดูประชากรซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่มหาสมณะอย่างไร้ที่ติเฉพาะพระพักตร์ รับใช้พระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะได้วอนขอให้ทรงพระกรุณา และให้เขาถวายบรรณาการของพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์อยู่เสมอมิได้ขาด ขอให้ฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าซึ่งประทานตำแหน่งมหาสมณะแก่เขา โปรดให้เขามีอำนาจอภัยบาปตามพระบัญชา  ขอให้เขาแจกจ่ายภาระหน้าที่ตามพระประสงค์ และแก้พันธะผูกมัดทั้งปวงตามอำนาจที่พระองค์ได้ประทานแก่บรรดาอัครสาวก  ขอให้เขามีจิตใจอ่อนโยนและสะอาดบริสุทธิ์เป็นที่พอพระทัย  ถวายสักการบูชาที่หอมหวลแด่พระองค์   ทั้งนี้  ขอพึ่งพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์......”[85] 

 1587   พระพรของพระจิตเจ้าที่พิธีบวชพระสงฆ์นำมาให้ผู้รับเห็นได้จากบทภาวนาเฉพาะของจารีตไบซันตินบทนี้ ขณะที่พระสังฆราชปกมือ ก็ภาวนาส่วนหนึ่งว่าดังนี้

             “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานพระพรของพระจิตเจ้าให้แก่ผู้นี้ด้วย ซึ่งพระองค์พอพระทัยแต่งตั้งให้มีศักดิ์เป็นพระสงฆ์ เพื่อเขาจะได้เหมาะสมจะยืนอยู่ใกล้พระแท่นบูชาของพระองค์อย่างไร้ที่ติ ประกาศข่าวดีแห่งพระอาณาจักรของพระองค์ ปฎิบัติพันธกิจพระวาจาแห่งความจริงของพระองค์อย่างศักดิ์สิทธิ์ ถวายสิ่งของและเครื่องบูชาฝ่ายจิตแด่พระองค์ ฟื้นฟูประชากรของพระองค์ด้วยการล้างเพื่อจะได้บังเกิดใหม่ เพื่อว่าเมื่อเขาจะออกไปรับการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และพระเยซูเจ้าพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ พระผู้กอบกู้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เขาจะได้รับบำเหน็จรางวัลการรับใช้ที่เขาได้ปฏิบัติตามลำดับหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องจากพระทัยดียิ่งใหญ่ของพระองค์”[86]

 1588  ส่วนบรรดาสังฆานุกรนั้น “ได้รับพลังจากพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ รับใช้ประชากรของพระเจ้าในศาสนบริการด้านพิธีกรรม พระวาจาและเมตตาจิตพร้อมกับพระสังฆราชและคณะสงฆ์ของท่าน”[87]

 1589  บรรดานักบุญนักปราชญ์ต่างสำนึกว่า เพราะพระหรรษทานและบทบาทสมณะยิ่งใหญ่เช่นนี้ ทุกคนได้รับเรียกให้จำเป็นต้องเร่งกลับใจใช้ชีวิตทั้งหมดเพื่อตอบสนองพระองค์ผู้ประทานศีลนี้แต่งตั้งเขาให้เป็นศาสนบริกร นักบุญเกรโกรีชาวนาซีอันซัส ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระสงฆ์หนุ่ม จึงประกาศว่า

         “เราต้องชำระตนเองเสียก่อน แล้วจึงไปชำระผู้อื่น ต้องได้รับคำสั่งสอนเสียก่อน แล้วจึงไปสอนปรีชาญาณแก่ผู้อื่น ต้องเป็นแสงสว่างเสียก่อน แล้วจึงไปส่องสว่างผู้อื่น ต้องเข้าหาพระเจ้าเสียก่อน แล้วจึงนำผู้อื่นไปหาพระองค์ ต้องทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน แล้วจึงทำให้ผู้อื่นศักดิ์สิทธิ์ จงจูงมือ จงให้คำแนะนำที่รอบคอบ”[88] “ข้าพเจ้ารู้ว่าเราเป็นผู้รับใช้ของใคร อยู่ที่ไหน และกำลังจะส่งไปไหน ข้าพเจ้ารู้ว่าพระเจ้าทรงสูงส่งเพียงไร มนุษย์อ่อนแอเพียงไร แต่เขาก็อาจมีพลังขึ้นอีกได้”[89] [ดังนั้น พระสงฆ์เป็นใคร เป็น]ผู้ปกป้องความจริงซึ่งจะยืนอยู่กับบรรดาทูตสวรรค์ เขาจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าพร้อมกับบรรดาอัครทูตสวรรค์ จะนำการถวายบูชาขึ้นไปยังพระแท่นบูชาสูงสุด จะปฏิบัติหน้าที่สมณะพร้อมกับพระคริสตเจ้า จะฟื้นฟูภาพลักษณ์(ของพระเจ้าขึ้นใหม่)ในมนุษย์ จะแสดงภาพลักษณ์(ของพระเจ้า) จะเป็นผู้สร้าง(ภาพนี้)แก่โลกเบื้องบน และยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวว่า เขาจะเป็นพระเจ้า และจะทำให้ผู้อื่นเป็นพระเจ้าด้วย”[90]และนักบุญเจ้าอาวาสแห่งอาร์สยังกล่าวอีกว่า “พระสงฆ์เป็นผู้ต่องานการกอบกู้ที่นี่ในโลกนี้” […] “ถ้าผู้ใดในโลกนี้เข้าใจพระสงฆ์อย่างดี เขาคงจะตาย ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เพราะความรัก” […] “สมณภาพคือความรักจากพระหทัยของพระเยซูเจ้า”[91]

 

[78] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 23a, Doctrina de sacramento Ordinis, c. 4: DS 1767; Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 21: AAS 57 (1965) 25; Ibid., 28: AAS 57 (1965) 34; Ibid., 29: AAS 57 (1965) 36; Id., Decr. Presbyterorum ordinis, 2: 58 (1966) 992.

[79] CIC canones 290-293. 1336, § 1, 3 et 5. 1338, § 2.

[80] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 23a, Canones de sacramento Ordinis, canon 4: DS 1774.

[81] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Canones de sacramentis in genere, canon 12: DS 1612; Concilium Constantiense, Errores Iohannis Wyclif, 4: DS 1154.

[82] Sanctus Augustinus, In Iohannis evangelium tractatus, 5, 15: CCL 36, 50 (PL 35, 1422).

[83] Pontificale Romanum. De Ordinatione Episcopi, presbyterorum et diaconorum, De Ordinatione Episcopi. Prex ordinationis, 47, editio typica altera (Typis Polyglottis Vaticanis 1990) p. 24.

[84] Concilium Vaticanum II, Decr. Christus Dominus, 13: AAS 58 (1966) 678-679; Ibid., 16: AAS 58 (1966) 680-681.

[85] Sanctus Hippolytus Romanus, Traditio apostolica, 3: ed. B. Botte (Münster i.W. 1989) p. 8-10.

[86] Liturgia Byzantina. 2 oratio chirotoniae presbyteralis: Euchologion to mega  (Roma 1873) p. 136.

[87] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 29: AAS 57 (1965) 36.

[88] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 2, 71: SC 247, 184 (PG 35, 480).

[89] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 2, 74: SC 247, 186 (PG 35, 481).

[90] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 2, 73: SC 247, 186 (PG 35, 481).

[91] B. Nodet, Le Curé d’Ars. Sa pensée-son coeur (Le Puy 1966) p. 98.

สรุป

สรุป

1590   นักบุญเปาโลบอกทิโมธีศิษย์ของท่านว่าข้าพเจ้าจึงเตือนความจำของท่านเพื่อให้พระพรพิเศษ ของพระเจ้าเป็นไฟที่รุ่งโรจน์ขึ้นอีก ท่านได้รับพระพรนี้โดยการปกมือของข้าพเจ้า (2 ทธ 1:6) และผู้ใดใฝ่ฝันจะปกครองดูแล เขาก็ปรารถนากิจการที่ดีงาม(1 ทธ 3:1) และบอกทิตัสว่าข้าพเจ้าทิ้งท่านไว้ที่เกาะครีต เพื่อท่านจะได้จัดการเรื่องที่ยังค้างอยู่ให้เรียบร้อย และเพื่อแต่งตั้งกลุ่มผู้อาวุโส ทุกเมืองตามวิธีการที่ข้าพเจ้าบอกไว้(ทต 1:5)

1591    พระศาสนจักรทั้งหมดเป็นประชากรสมณะ อาศัยศีลล้างบาป ผู้มีความเชื่อทุกคนมีส่วนร่วมสมณภาพของพระคริสตเจ้า การมีส่วนร่วมเช่นนี้เรียกว่าสมณภาพสามัญของผู้มีความเชื่อบนพื้นฐานและเพื่อรับใช้ในเรื่องนี้ ยังมีการมีส่วนร่วมพันธกิจของพระคริสตเจ้าอีกแบบหนึ่ง คือการร่วมส่วนศาสนบริการที่ได้รับมอบหมายผ่านทางศีลบวชและมีบทบาทเพื่อรับใช้ในชุมชนในพระนามและพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นประมุข

1592   สมณภาพเพื่อศาสนบริการแตกต่างโดยธรรมชาติจากสมณภาพสามัญของบรรดาผู้มีความเชื่อเพราะมอบอำนาจศักดิ์สิทธิ์เพื่อรับใช้บรรดาผู้มีความเชื่อ ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชปฏิบัติศาสนบริการแก่ประชากรของพระเจ้าโดยการสอน (หน้าที่สอน) โดยปฏิบัติคารวกิจแด่พระเจ้า (หน้าที่ด้านพิธีกรรม) และโดยการปกครองดูแล (หน้าที่ปกครอง)

1593   ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มแล้ว ศาสนบริการจากศีลบวชนี้ได้รับมอบและปฏิบัติงานเป็นสามขั้น ในขั้นพระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร ศาสนบริการที่ได้รับมอบผ่านทางศีลบวชสำหรับโครงสร้างที่มีระเบียบของพระศาสนจักรนี้ไม่อาจถูกทดแทนได้ เราไม่อาจพูดถึงพระศาสนจักรได้ถ้าไม่มีพระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกร[92]

1594   พระสังฆราชรับความสมบูรณ์ของศีลบวชซึ่งทำให้เขาเข้าอยู่ร่วมในคณะพระสังฆราชและทำให้เขาเป็นประมุขที่แลเห็นได้ของพระศาสนจักรท้องถิ่นที่เขาได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแล บรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวกและสมาชิกของสภาพระสังฆราช ย่อมมีส่วนรับผิดชอบเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวกในพันธกิจของพระศาสนจักรทั้งหมดภายใต้อำนาจปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้ทรงสืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร

1595   บรรดาพระสงฆ์มีความสัมพันธ์ในศักดิ์ศรีของสังฆภาพร่วมกับพระสังฆราช และในเวลาเดียวกันก็ขึ้นกับพระสังฆราชในการปฏิบัติหน้าที่งานอภิบาล เขาได้รับเรียกมาให้เป็นผู้ร่วมงานของพระสังฆราช ร่วมเป็นคณะสงฆ์ล้อมรอบพระสังฆราชของตน คณะสงฆ์นี้มีส่วนรับผิดชอบในพระศาสนจักรท้องถิ่นร่วมกับพระสังฆราช เขารับมอบหมายหน้าที่จากพระสังฆราชให้ดูแลกลุ่มคริสตชนในเขตวัดหรือหน้าที่เฉพาะอื่นๆ ของพระศาสนจักร

1596   บรรดาสังฆานุกรเป็นศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชเพื่องานรับใช้พระศาสนจักร เขาไม่ได้รับสมณภาพศาสนบริการ (sacendotium ministeriate) แต่การบวชมอบหน้าที่สำคัญให้เขาในศาสนบริการเกี่ยวกับพระวาจา คารวกิจแด่พระเจ้า การอภิบาลปกครองดูแลและงานด้านเมตตาจิต เขาต้องปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ภายใต้อำนาจอภิบาลปกครองของพระสังฆราชของตน

1597    พิธีศีลบวชประกอบด้วยการปกมือตามด้วยบทอธิษฐานภาวนามอบถวายอย่างสง่าซึ่งวอนขอพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่จำเป็นเพื่อศาสนบริการสำหรับผู้รับศีลบวช การบวชยังพิมพ์ตราประทับที่ไม่มีวันลบออกได้ให้อีกด้วย

1598   พระศาสนจักรประกอบพิธีศีลบวชแก่บุรุษที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วเท่านั้น ความเหมาะสมของเขาเหล่านี้ที่จะปฏิบัติศาสนบริการต้องเป็นที่รับรู้ด้วย ผู้มีอำนาจปกครองของพระศาสนจักรมีสิทธิและความรับผิดชอบที่จะเรียกผู้ใดผู้หนึ่งให้มารับศีลบวช

1599   ในพระศาสนจักรละติน ศีลบวชเป็นพระสงฆ์โดยปกติแล้วจะประกอบให้แก่ผู้สมัครที่พร้อมจะถือโสดโดยอิสระ และแสดงเจตนานี้ต่อสาธารณะว่าตนสมัครใจที่จะถือโสดเช่นนี้เพราะเห็นแก่ความรักต่อพระอาณาจักรของพระเจ้าและการรับใช้เพื่อนมนุษย์

1600    เป็นหน้าที่ของพระสังฆราชที่จะประกอบพิธีศีลบวชทั้งสามขั้น

 

[92] Cf Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Trallianos, 3, 1: SC 10bis, 96 (Funk 1, 244).