ตอนที่ 7

แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย

I. “พระองค์จะเสด็จมาอีกอย่างรุ่งโรจน์”

I.  พระองค์จะเสด็จมาอีกอย่างรุ่งโรจน์

พระคริสตเจ้าทรงครองราชย์แล้วทางพระศาสนจักร....

 668     “พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ เพื่อจะเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งของผู้ตายและของผู้เป็น” (รม 14:9) การที่พระคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์หมายความว่าสภาพมนุษย์ของพระองค์มีส่วนในอำนาจและพระอานุภาพของพระเจ้าเอง พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงอำนาจทุกอย่างทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดิน พระองค์ทรงอยู่ “เหนือเทพนิกรเจ้า เทพนิกรอำนาจ เทพนิกรฤทธิ์ เทพนิกรนาย” เพราะพระบิดา “ทรงวางทุกสิ่งไว้ใต้พระบาทของพระคริสตเจ้า” (อฟ 1:20-22) พระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้านายของสากลโลก[604]และประวัติศาสตร์ ในพระองค์ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์และสิ่งสร้างทั้งมวลด้วย “ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่พร้อมกันอีก”[605]และได้รับศักดิ์ศรียิ่งใหญ่กว่าเดิม

 669     ในฐานะ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” พระคริสตเจ้ายังทรงเป็นเสมือนศีรษะของพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือนพระกายของพระองค์[606] เมื่อทรงประกอบพระพันธกิจเสร็จสมบูรณ์ เสด็จสู่สวรรค์และรับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว พระองค์ก็ยังประทับอยู่ในพระศาสนจักรบนแผ่นดิน การไถ่กู้เป็นบ่อเกิดพระอานุภาพที่พระคริสตเจ้าทรงสำแดงต่อพระศาสนจักรเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า[607] “พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าเป็นปัจจุบันแล้วในธรรมล้ำลึก”[608]อยู่ในพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือน “เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มของพระอาณาจักรบนแผ่นดินนี้”[609]

 670     นับตั้งแต่การเสด็จสู่สวรรค์แล้ว แผนการของพระเจ้ากำลังบรรลุถึงการสำเร็จเป็นจริง ขณะนี้เรากำลังอยู่ใน “วาระสุดท้าย” (1 ยน 2:18)[610] “วาระสุดท้ายของโลกมาถึงเราแล้ว และการรื้อฟื้นโลกก็ถูกกำหนดไว้โดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้อีก และกำลังดำเนินการอยู่บ้างแล้วในโลกนี้ เพราะพระศาสนจักรก็มีความศักดิ์สิทธิ์แท้จริงแล้วในโลก แม้จะยังไม่สมบูรณ์”[611] พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าแสดงตนแล้วโดยทางเครื่องหมายอัศจรรย์[612] ซึ่งติดตามการประกาศพระอาณาจักรนี้ทางพระศาสนจักร[613]


....
จนกระทั่งทุกสิ่งถูกนำมาอยู่ใต้อำนาจของพระองค์

 671     ถึงกระนั้น พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าที่เป็นปัจจุบันอยู่แล้วในพระศาสนจักรของพระองค์ก็ยังไม่สมบูรณ์โดยการเสด็จมาในโลกของพระมหากษัตริย์ผู้ “ทรงพระอำนาจและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่” (ลก 21:27)[614]พระอาณาจักรยังถูกต่อต้านจากอำนาจชั่วร้าย[615] แม้ว่าอำนาจชั่วร้ายเหล่านี้ได้ถูกปัสกาของพระคริสตเจ้าพิชิตอย่างเด็ดขาดไปแล้ว ก่อนที่ทุกสิ่งจะถูกปราบให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์[616] “ก่อนที่ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่จะมาถึง ที่ซึ่งความยุติธรรมจะพำนักอยู่นั้น พระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ ก็ใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์และระเบียบปฏิบัติต่างๆ แสดงให้เห็นสภาพของโลกนี้ที่จะผ่านพ้นไป ขณะที่พระศาสนจักรเองก็ดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งสร้างที่ยังคงร้องคร่ำครวญประหนึ่งหญิงคลอดบุตรอยู่จนถึงบัดนี้ และกำลังรอคอยการเปิดเผยของบรรดาบุตรของพระเจ้า”[617] เพราะเหตุนี้ บรรดาคริสตชนจึงอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ[618] เพื่อขอให้พระคริสตเจ้าเสด็จกลับมาโดยเร็ว[619] โดยทูลว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:20)[620]

 672     ก่อนเสด็จสู่สวรรค์ พระคริสตเจ้าทรงยืนยันว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะทรงสถาปนาพระอาณาจักรรุ่งโรจน์ของพระเมสสิยาห์ที่อิสราเอลกำลังรอคอย[621] พระอาณาจักรนี้จะต้องนำระเบียบความยุติธรรม ความรัก และสันติที่สมบูรณ์มาให้แก่มวลมนุษย์ตามที่บรรดาประกาศกเคยประกาศไว้[622] องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า เวลาปัจจุบันนี้เป็นช่วงเวลาของพระจิตเจ้าและการเป็นพยานยืนยัน[623] แต่ก็ยังเป็นยุคแห่งความยากลำบากในปัจจุบัน[624] ยุคแห่งความเลวร้าย[625]ที่จะไม่ยกเว้นแม้กับพระศาสนจักร[626]และเป็นการเริ่มต้นการต่อสู้ของวาระสุดท้าย[627] เป็นวาระแห่งการรอคอยและตื่นเฝ้า[628] อีกด้วย


การเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า ความหวังของอิสราเอล

 673     หลังการเสด็จสู่สวรรค์ การเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าก็ใกล้จะมาถึง[629]แม้ว่าไม่ใช่ธุระของเรา “ที่จะรู้วันเวลาที่พระบิดาทรงกำหนดไว้โดยอำนาจของพระองค์” (กจ 1:7)[630] เหตุการณ์ในวาระสุดท้ายนี้อาจเกิดขึ้นขณะใดก็ได้[631] แม้ว่าทั้งเหตุการณ์นี้รวมทั้งความทุกข์ยากต่างๆ ที่จะนำหน้ามานั้นยัง “จะมาไม่ถึง”[632]ก็ตาม

 674     การเสด็จมาอย่างรุ่งเรืองของพระเมสสิยาห์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดก็ได้ของประวัติศาสตร์นี้ขึ้นกับ[633]  การที่พระองค์ได้รับการยอมรับจาก “อิสราเอลทั้งหมด”[634]   ซึ่งส่วนหนึ่งของเขายังมีจิตใจกระด้าง[635] “ไม่มีความเชื่อ” (รม 11:20) ในองค์พระเยซูเจ้า นักบุญเปโตรกล่าวกับชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มในวันเปนเตกอสเตว่า “ดังนั้น ท่านจงเป็นทุกข์ กลับใจ และหันมาหาพระเจ้าเถิด เพื่อบาปของท่านจะได้รับการอภัย และดังนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงบันดาลให้เวลาแห่งการให้กำลังใจมาถึง และจะทรงส่งพระคริสตเจ้าที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้ามาหาท่าน คือพระเยซูเจ้าพระองค์ยังต้องทรงรออยู่ในสวรรค์ จนกระทั่งถึงเวลาที่จะทรงฟื้นฟูทุกสิ่งขึ้นใหม่ ดังที่พระเจ้าตรัสไว้ตั้งแต่โบราณกาลโดยปากของบรรดาประกาศกผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” (กจ 3:19-21) และนักบุญเปาโลก็สะท้อนความคิดเดียวกันว่า “การที่พระองค์ทรงรับพวกเขากลับมาอีกเป็นสิ่งใด ถ้าไม่ใช่เป็นชีวิตที่คืนมาจากบรรดาผู้ตาย” (รม 11:15) การที่ชาวยิวทุกคน[636]เข้ามารับความรอดพ้นจากพระเมสสิยาห์หลังจากที่ชนต่างชาติเข้ามามีความเชื่อครบจำนวนเสียก่อน[637]นั้นจะเป็นโอกาสให้ประชากรของพระเจ้าบรรลุถึง “ความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 4:13) ซึ่งในการนี้ “พระเจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28)


การทดสอบพระศาสนจักรขั้นสุดท้าย

 675      ก่อนที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จมา พระศาสนจักรจะต้องผ่านการทดลองสุดท้ายที่จะทำให้ความเชื่อของผู้มีความเชื่อหลายคนต้องสั่นคลอน[638]การเบียดเบียนซึ่งจะอยู่เคียงข้างกับการเดินทางของพระศาสนจักรในโลกนี้[639] จะเปิดเผยให้เห็น “ธรรมล้ำลึกแห่งความชั่วร้าย” ในรูปของความหลอกลวงทางศาสนาที่เสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างเสแสร้งทำให้หลายคนต้องยอมปฏิเสธความจริง ความหลอกลวงด้านศาสนาที่ร้ายแรงที่สุดนั้นก็คือความหลอกลวงของผู้เป็นปฏิปักษ์กับพระคริสตเจ้า(Antichrist) หรือพระเมสสิยาห์จอมปลอมที่ทำให้มนุษย์ยกย่องตนเองแทนพระเจ้าและพระเมสสิยาห์ของพระองค์ผู้เสด็จมารับสภาพมนุษย์[640]

 676     ความหลอกลวงของผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับพระคริสตเจ้านี้ปรากฏขึ้นมาแล้วในโลกทุกครั้งที่มีผู้อ้างว่าจะทำให้ความหวังในพระเมสสิยาห์เป็นจริงขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่ความหวังนี้จะสำเร็จเป็นจริงได้นอกเหนือประวัติศาสตร์โดยการพิพากษาในยุคสุดท้ายเท่านั้น พระศาสนจักรเคยปฏิเสธไม่ยอมรับพระอาณาจักรในอนาคตที่ปลอมแปลงนี้ แม้แต่ในรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไปบ้างในนามของลัทธิ “สหัสวรรษนิยม” (millenarism)[641] โดยเฉพาะในรูปแบบการเมืองของพระเมสสิยาห์ทางโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ “เลวร้ายจากภายใน” (intrinsically perverse)[642]

 677     พระศาสนจักรจะไม่เข้าในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระอาณาจักรนอกจากโดยผ่านทางปัสกาสุดท้ายนี้ ที่พระศาสนจักรจะตามองค์พระผู้เป็นเจ้าของตนในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ[643] ดังนั้น พระอาณาจักรจะไม่สมบูรณ์โดยชัยชนะทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร[644]ตามความเจริญที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อาศัยชัยชนะของพระเจ้าต่อการจู่โจมครั้งสุดท้ายของความชั่ว[645] ซึ่งจะทำให้เจ้าสาวของพระองค์ลงมาจากสวรรค์[646] ชัยชนะของพระเจ้าเหนือการทำลายล้างของความชั่วจะมาถึงในรูปแบบของการพิพากษาสุดท้าย[647] หลังจากโลกที่กำลังผ่านพ้นไปนี้จะถูกทำลายล้างจนหมดสิ้นในที่สุด[648]

 

[604] เทียบ อฟ 4:10; 1 คร 15:24,27-28.           

[605] เทียบ อฟ 1:10.             

[606] เทียบ อฟ 1:22.            

[607] เทียบ อฟ 4:11-13.          

[608] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.     

[609] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 8.    

[610] เทียบ 1 ปต 4:7.            

[611] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.   

[612] เทียบ มก 16:17-18.         

[613] เทียบ มก 16:20.           

[614] เทียบ มธ 25:31.            

[615] เทียบ 2 ธส 2:7.            

[616] เทียบ 1 คร 15:28.          

[617] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.   

[618] 1 คร 11:26.

[619] เทียบ 2 ปต 3:11-12.        

[620] เทียบ 1 คร 16:22; วว 22:17.

[621] เทียบ กจ 1:6-7.             

[622] เทียบ อสย 11:1-9.          

[623] เทียบ กจ 1:8.              

[624] เทียบ 1 คร 7:26.           

[625] เทียบ อฟ 5:16.            

[626] เทียบ 1 ปต 4:17.           

[627] เทียบ 1 ยน 2:18; 4:3; 1 ทธ 4:1.             

[628] เทียบ มธ 25:1-13; มก 13:33-37.             

[629] เทียบ วว 22:20.           

[630] เทียบ มก 13:32.           

[631] เทียบ มธ 24:44; 1 ธส 5:2.  

[632] เทียบ 2 ธส 2:3-12.         

[633] เทียบ รม 11:31.            

[634] เทียบ รม 11:26; มธ 23:39. 

[635] เทียบ รม 11:25.            

[636] เทียบ รม 11:12.            

[637] เทียบ รม 11:25; ลก 21:24.  

[638] เทียบ ลก 18:8; มธ 24:12.  

[639] เทียบ ลก 21:12; ยน 15:19-20.

[640] เทียบ 2 ธส 2:4-12; 1 ธส 5:2-3; 2 ยน 7; 1 ยน 2:18,22.        

[641] Cf. Sanctum Officium, Decretum de millenarismo (19 iulii 1944): DS 3839.       

[642] Cf. Pius XI, Litt. Enc. Divini Redemptoris (19 martii 1937): AAS 29 (1937) 65-106, condemnans «molimina simulato mystico sensu» huius «fucatae tenuiorum redemptionis speciei» (p. 69); Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 20-21: AAS 58 (1966) 1040-1042.

[643] เทียบ วว 19:1-9.           

[644] เทียบ วว 13:8.             

[645] เทียบ วว 20:7-10.          

[646] เทียบ วว 21:2-4.           

[647] เทียบ วว 20:12.            

[648] เทียบ 2 ปต 3:12-13.       

II. “เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย”

II.  เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย

 678      ในการเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงการพิพากษาในวาระสุดท้ายตามแบบของบรรดาประกาศก[649] และยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง[650] ในเวลานั้นวิธีดำเนินชีวิตของแต่ละคน[651]และความลับในใจ[652]จะถูกเปิดเผยแจ้งชัด เวลานั้น ความไม่เชื่ออย่างผิดๆ ที่คิดว่าพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้นั้นไม่มีค่าอะไร[653]จะถูกพิพากษาลงโทษ ท่าทีของเราต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์จะเปิดเผยให้เห็นว่าเรารับหรือผลักไสไม่ยอมรับพระหรรษทานและความรักของพระเจ้า[654] ในวันสุดท้าย พระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

 679      พระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้านายของชีวิตนิรันดร ในฐานะพระผู้กอบกู้โลก พระองค์ทรงมีสิทธิเต็มที่ที่จะพิพากษาการกระทำและความคิดในใจของมนุษย์อย่างเด็ดขาด พระองค์ “ทรงได้สิทธิ” นี้มาโดยไม้กางเขนของพระองค์ พระบิดายัง “ทรงมอบการพิพากษาทั้งหมดให้พระบุตร” ด้วย (ยน 5:22)[655]พระบุตรเสด็จมามิใช่เพื่อตัดสินลงโทษ แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้น[656] และเพื่อประทานชีวิตที่ทรงมีให้(แก่โลก)[657]ผู้ที่ไม่ยอมรับพระหรรษทานในชีวิตนี้ก็พิพากษาตัดสินตนเองแล้ว[658] เขาจะรับผลตามงานที่เขาทำ[659] และถ้าเขาปฏิเสธไม่ยอมรับพระจิตเจ้าแห่งความรัก[660]เขาก็ยังจะตัดสินลงโทษตนเองตลอดนิรันดรด้วย

 

[649] เทียบ ดนล 7:10; ยอล 3-4; มลค 3:19.        

[650] เทียบ มธ 3:7-12.           

[651] เทียบ มก 12:38-40.        

[652] เทียบ ลก 12:1-3; ยน 3:20-21; รม 2:16; 1 คร 4:5.             

[653] เทียบ มธ 11:20-24; 12:41-42.

[654] เทียบ มธ 5:22; 7:1-5.      

[655] เทียบ ยน 5:27; มธ 25:31; กจ 10:42; 17:31; 2 ทธ 4:1.         

[656] เทียบ ยน 3:17.             

[657] เทียบ ยน 5:26.            

[658] เทียบ ยน 3:18; 12:48.     

[659] เทียบ 1 คร 3:12-15.        

[660] เทียบ มธ 12:32; ฮบ 6 :4-6; 10:26-31.       

สรุป

สรุป

 680      พระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงครองราชย์แล้วโดยทางพระศาสนจักร แต่ทุกสิ่งในโลกนี้ยังไม่อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ ชัยชนะของพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าจะมีไม่ได้ถ้าอำนาจความชั่วร้ายยังไม่แสดงการจู่โจมเป็นครั้งสุดท้าย

 681      ในวันพิพากษาเมื่อสิ้นโลก พระคริสตเจ้าจะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ เพื่อแสดงถึงชัยชนะเด็ดขาดของความดีเหนือความชั่ว ซึ่งเติบโตขึ้นพร้อมกันตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์เหมือนกับข้าวสาลีและข้าวละมาน

 682    เมื่อพระคริสตเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์เสด็จมาเพื่อทรงพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย พระองค์จะทรงเปิดเผยความคิดลึกลับภายในจิตใจ และจะทรงตอบแทนแก่ทุกคนตามการกระทำของเขา และตามการที่เขายอมรับพระหรรษทานหรือปฏิเสธไม่ยอมรับ