ภาพและข่าวโดย: ตัวแทนครูคำสอนไทย  

ในโอกาสร่วมงานชุมนุมครูคำสอนนานาชาติ (International Conference of Catechesis) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่  26 - 29 กันยายน ค.ศ. 2013  ซึ่งเป็นงานฉลองสำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งใน ปีแห่งความเชื่อ นั้น

นอกจากการจัดงานชุมนุมครูคำสอนนานาชาติ ที่หอประชุมเปาโลที่ 6 นครรัฐวาติกัน  ซึ่งจัดโดยสมณสภาเพื่อการประกาศพระวรสารใหม่ โดยมีหัวข้อว่า "ครูคำสอน พยานแห่งความเชื่อ" มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,600 คน  ในจำนวนนี้มีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมจำนวน 2 ท่าน คือ คุณพ่อเปรมปรี วาปีโส และคุณพ่อ เอกสิทธิ์ ทัฬหะกุลธร เข้าร่วมประชุมฯ แล้ว

นวันเสาร์ที่ 28 กันยายน มีครูคำสอน 3 คน เป็นตัวแทนครูคำสอนไทย  คือ คุณครูประภา วีระศิลป์ คุณครูทัศนีย์ มธุรสสุวรรณ และคุณครูกมลา สุริยพงศ์ประไพ ครูคำสอนประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ท่าน จากประเทศอังกฤษ 4 ท่าน ซิสเตอร์ 4 ท่านสามเณร 4 ท่าน พระสงฆ์ 2 องค์ รวมทั้งหมด 18 ท่าน ร่วม เรียนคำสอนและร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ (Catechesis and Mass with the Cardinal) โดยพระคาร์ดินัล เอ็ดวิน        โอไบรอัน (Cardinal Edwin  O’Brien, USA : Cardinal of  the Holy Sepluchre) ณ วัดซานซัลวาตอเร (San Salvatore) ซึ่งประสานงานโดย คุณพ่อ Geno Sylva,STD : Pontifical Council for Promoting the New Evangelization

อนึ่ง คำสอนที่พระคาร์ดินัล เอ็ดวิน โอไบรอันได้แบ่งปัน สรุปได้ดังนี้
เนื่องจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน  ทำให้ยากต่อการรักษาความเชื่อไว้ได้  ดังนั้น

1) ครูคำสอนควรทำให้คนมาวัดด้วยใจยินดี  ทำหน้าที่เชิญชวนและต้อนรับผู้ที่มาวัด   ไม่ทำให้เขารู้สึกว่ามาวัดแล้วโดดเดี่ยว  ทำให้พิธีบูชาขอบพระคุณมีความหมายสำหรับเขา  เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของพิธีบูชาขอบพระคุณ และให้เกิดความชื่นชมยินดี  การที่คนไม่มาวัด อาจเป็นเพราะการสอนคำสอนของเราไม่ได้ทำให้เขาพบพระเป็นเจ้า ไม่ได้หยั่งรากลึกลงในจิตใจ พิธีกรรมไม่มีความหมายสำหรับชีวิต คือไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

2) เราเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ไม่ใช่ศิษย์ของไม้กางเขน แต่การติดตามพระเยซูเจ้าต้องแบกกางเขน      เราต้องไม่เลือกกางเขนแต่ให้ยอมรับกางเขน  ดำเนินชีวิตตามพระวรสาร  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่เราต้องทำ  การเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องรับใช้  รับใช้ด้วยใจยินดี เป็นความยินดีที่มาจากหัวใจ   พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราทุกคนให้มาเป็นศิษย์ ฉะนั้นทุกคนมีสิทธิ์ติดตาม    พระองค์ ซึ่งเป็นกระแสเรียกอย่างหนึ่ง  การเป็นศิษย์ของพระเยซูเป็นพระพร  การเป็นศิษย์ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับพระเยซูเจ้าและกับผู้ที่เราสอนคำสอนด้วย

3) ครูคำสอนเป็นเสียง เป็นหัวใจ และเป็นโฉมหน้าของพระศาสนจักร  เราต้องตระหนักในเรื่องนี้         การสอนคำสอนต้องซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า  ซื่อสัตย์ต่อคำสอนของพระศาสนจักร และต้องสอนในสิ่งที่ถูกต้อง       การสอนคำสอนต้องพูดอธิบาย แต่ในบางครั้งการสอนคำสอนมีรายละเอียดจนมากเกินไป ทำให้เนื้อหาหลักๆหายไป บางครั้งครูคำสอน ทำในสิ่งที่ไร้สาระ คือ พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด      และสิ่งที่ผิดพลาดไม่ควรตอกย้ำ       เราต้องเชื่อว่า ความรักของพระเจ้า สามารถเปลี่ยนแปลงผู้นั้นได้  ครูคำสอนต้องช่วยให้ผู้คนเติบโตในความเชื่ออย่างแท้จริง

4) พระศาสนจักรในฐานะพระศาสนจักรระดับบ้าน(ครอบครัว) เมื่อเด็กเกิดมาพ่อแม่จะพาลูกไปรับศีล  ล้างบาป เพื่อให้เขาเข้าอยู่ในพระศาสนจักร เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นคาทอลิก แต่ไม่ได้เอาใจใส่ดูแลให้ลูกเติบโตในความเชื่อต่อไป  ครูคำสอนต้องพยายามทำให้ครอบครัวพาลูก ๆ มาวัดร่วมมิสซา ซึ่งเป็นพันธกิจที่ครอบครัวต้องกระทำ ครูคำสอนต้องเห็นความสำคัญและส่งเสริมพระศาสนจักรระดับบ้าน(ครอบครัว)

5) เป็นพระพรที่พระเยซูเจ้าโปรดให้มีพระศาสนจักร พระศาสนจักรต้องเปิดกว้างให้คนเข้ามารู้จัก        พระเป็นเจ้า วัดควรเอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ ต้องเปิดออก ทำให้ผู้คนกล้าที่จะเข้ามา ให้กำลังใจเขา  ให้เขาเข้ามาในพระศาสนจักรมากขึ้น เป็นการท้าทายเราครูคำสอน ที่จะนำคนอื่นมาเข้าวัด  ซึ่งพันธกิจเหล่านี้ต้องอาศัยความเสียสละ พระศาสนจักรเป็นผู้แพร่ธรรม   บรรดามิชชันนารีเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อประกาศพระอาณาจักรพระเจ้า  แม้จะต้องหลั่งเลือด สิ่งเหล่านี้ท้าทายความเชื่อของเราในปัจจุบัน

6) เราจะต้องทำให้คนรู้สึกว่าพระศาสนจักรเป็นของเขา เขาเป็นเจ้าของ รู้สึกว่าวัดเป็นของเขา  เขาเป็นส่วนหนึ่งของวัด  เป็นหน้าที่ของครูคำสอนที่ต้องทำให้เขารู้สึกเช่นนั้น  เขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวัด เป็นผู้ที่มี     ความรักของพระเป็นศูนย์กลาง ครูคำสอนมีหน้าที่ ทำให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นคนของวัดและของพระศาสนจักร

7) หลาย ๆ ครั้งที่ครูคำสอนชอบใช้คำว่า  ต้อง... อย่า...ต้องทำโน่น อย่าทำนี่.. การที่มีคำว่าต้อง มากเกินไป เหมือนการกีดกัน  เราต้องหาวิธีการหรือรูปแบบใหม่บ้าง

8) ครูคำสอน จำเป็นต้องมีความสุภาพ ถ่อมตน เห็นถึงความสำคัญของทุกคนที่มาวัด เห็นเขามีคุณค่า      มีตัวตนในวัดนั้น ๆ ครูคำสอนควรตระหนักว่า เขาเป็นกระแสเรียกของวัด

9) ในพระศาสนจักร ครูคำสอนเป็นกระแสเรียกและเป็นผู้ส่งเสริมกระแสเรียก ถ้าเราไม่ตระหนักหรือไม่พูดถึงกระแสเรียก  กระแสเรียกนั้นก็จะหายไป

และในช่วงบ่ายเวลา 15.00 น. ร่วมจาริกแสวงบุญมหาวิหารนักบุญเปโตร (Pilgrimage to the tomb of Peter) ซึ่งมีซิสเตอร์เป็นผู้นำกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษ จำนวน 30 คน   โดยนำเราจาริกแสวงบุญเริ่มจากหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร  เข้าไปด้านในมหาวิหาร  นำภาวนาบทข้าพเจ้าเชื่อบนหลุมฝังพระศพนักบุญเปโตร และลงไปสุสานใต้มหาวิหารเยี่ยมหลุมฝังศพพระสันตะปาปา และภาวนาส่วนตัว (ในโอกาสนี้คุณพ่อเคลาดิโอ นำกลุ่ม      ครูคำสอนและซิสเตอร์สังฆมณฑลเชียงใหม่ และราชบุรี มาร่วมสมทบประมาณ 10 คน อยู่ในกลุ่มที่พูดภาษาอิตาเลียน)

ขอโมทนาคุณพระเป็นเจ้าที่โปรดประทานโอกาสที่ดีสำหรับครูคำสอนไทย ขอขอบพระคุณคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม สภาพระสังฆราชฯ ศูนย์คริสตศาสนธรรม คณะนักบวช โรงเรียนและวัด ที่สนับสนุนและให้โอกาสแก่บุคลากรเข้าร่วมงานชุมนุมครูคำสอนนานาชาติ และขอขอบคุณ    เป็นพิเศษ แด่พระสังฆราชวีระ อาภรณ์รัตน์ ประธานคณะกรรมการฯ คุณนวลฉวี คู่วิรัตน์  คุณสุชาดา (คุณนก) และบริษัทอับรอดอินเตอร์จำกัด ที่ทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขอพระเป็นเจ้าประทานพระพรให้กับทุกท่าน 
 

Home

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ) ถ.นนทรี ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120