พ่อได้รับวารสารฟาติมา แสงสว่างและสันติ (Fatima Luz e Paz) จากสักการะสถานแม่พระแห่งสายประคำฟาติมา ประเทศโปร์ตุเกส  ฉบับภาษาอังกฤษ ปีละ 4 ฉบับ

ในโอกาสครบ 100 ปี การประจักษ์ของแม่พระที่ฟาติมา  จะมีการอัญเชิญรูปแม่พระฟาติมาไปเยี่ยม 14 ประเทศ 32 แห่ง ในปี ค.ศ. 2017  ทั้งในประเทศโปร์ตุเกสและประเทศอื่นๆ เช่น  สเปน  บราซิล  ฮอลแลนด์  สาธารณรัฐเชค  ฝรั่งเศส  มิลาน (อิตาลี)  เวเนซูเอลา  ลักเซมเบิร์ก ฯลฯ  โดยมีพระรูปอย่างน้อย 12 รูป สำหรับการจาริกเหล่านี้

พระอัครสังฆราช Jean-Claude Hollerich (SJ) แห่งลักเซมเบิร์ก ได้ออกสาส์นอภิบาล โอกาสรูปแม่พระฟาติมาจะไปอัครสังฆมณฑล ลักเซมเบิร์ก ระหว่าง 25 พฤษภาคม ถึง 25 มิถุนายน ค.ศ. 2017

ประเทศลักเซมเบิร์กเคยต้อนรับรูปแม่พระฟาติมาครั้งแรกเมื่อกันยายน ค.ศ. 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ซึ่งมีบ้านเมืองพังทลาย  ความตาย  ผู้เคราะห์ร้าย  และผู้อพยพชาวยุโรป  รูปแม่พระเสด็จมาหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งลักเซมเบิร์กด้วย

ครบ 70 ปีแล้ว พระอัครสังฆราชได้เขียนในสารอภิบาลถึงสัตบุรุษว่ า  เราเชิญแม่พระฟาติมามาช่วยฟื้นฟูพระศาสนจักร  เผยแผ่สารของฟาติมา  เพื่อการกลับใจ  และให้โลกมีสันติภาพ ฟื้นฟูชีวิตครอบครัว และเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตจิตของบุญราศีฟรังซิสโก ยาชินทา มาร์โต และผู้รับใช้ของพระเจ้า ซิสเตอร์ลูเซียแห่งพระเยซูเจ้า

ขอให้ทุกชุมชนจัดโครงการชีวิตจิต  ศึกษาคำสอนเกี่ยวกับแม่พระ เราจะได้ฟื้นฟูความเชื่อและเป็นประจักษ์พยานความเชื่อด้วยความเรียบง่าย ความปีติยินดี  และความงาม

พระอัครสังฆราชได้เสนอ 2 ประการ คือ
1.ทุกวันที่ 13 ของเดือน จนถึงเดือนตุลาคม ให้ทุกชุมชน  ทุกวัด  ทุกหมู่คณะ  จัดเวลาภาวนาด้วยกันตามข้อแนะนำสารของฟาติมา และตามสมณสาส์นความปีติยินดีแห่งความรัก (ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส)
2.ขอให้แต่ละครอบครัวสวดภาวนาและแบ่งปันความเชื่อด้วยกันต่อหน้ารูปแม่พระฟาติมา สัปดาห์ละครั้ง
ดังนั้นโอกาสพิเศษนี้ พ่อขอเชิญชวนเราให้เปิดใจรับฟังสารของแม่พระฟาติมาอีกครั้ง เพื่อให้แม่พระบรรเทาใจผู้ที่ได้รับความลำบาก

แปลจาก วารสารฟาติมา (13 กุมภาพันธ์ 2017) หน้า 11.

หมายเหตุ : ประเทศลักเซมเบิร์ก (มิใช่มลฑลในประเทศฝรั่งเศส) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล  อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป  มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศเยอรมนี  ด้านใต้ติดกับฝรั่งเศส และด้านตะวันตกติดกับเบลเยียม มีประชากร 543,202 คน นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิก 87% (วิกิพีเดีย)