ทุกวันที่ 26 มิถุนายน  ถือเป็นวันต่อต้านยาเสพติด ผู้ใหญ่ส่วนมากคงตระหนักถึงภัยของยาเสพติด เราครูคำสอนและพ่อแม่ผู้ปกครองน่าจะรู้ประวัติความเป็นมา  จะได้ร่วมมือกันป้องกันภัยมาสู่เยาวชน  ลูกหลานของเรา  คนเดียวแก้ไม่ได้  แต่ร่วมมือกันก็เป็นไปได้

ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17-26 มิถุนายน 2530 (ค.ศ. 1987) ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ  ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันต่อต้านยาเสพติดโลก

โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว  ในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2530 ซึ่งประเทศไทยหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ  ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับสมาชิกอื่นๆ ทั่วโลก

ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหายาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน รัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด  จนกระทั่งปี 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักร หลังจากนั้นปี 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ใช้ชื่อว่า  ปปส.  ปัจจุบันพัฒนาเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ชื่อย่อว่า ป.ป.ส. มีสำนักงาน ป.ป.ส. รับผิดชอบ และดำเนินงานตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531  กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันต่อต้านยาเสพติด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ภาค 3 พระบัญญัติประการที่ 5 “อย่าฆ่าคน”สอนเราให้
1. เคารพนับถือต่อชีวิตมนุษย์ (ข้อ 2259 – 2283)
2. การให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคล (ข้อ 2284 – 2301) เคารพต่อวิญญาณของผู้อื่น สอนให้เอาใจใส่ดูแลสุขภาพอนามัย และการให้ความเคารพผู้ตาย
3. การปกป้องสันติภาพ (ข้อ 2302 – 2317)

ในเรื่องการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพอนามัย มีกล่าวถึง “การใช้ยาเสพติดก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ เรื่องน ี้เป็นความผิดหนัก ยกเว้นกรณีมีใบสั่งของแพทย์  การผลิตยาเสพติดนอกกฎหมายและการขนส่งนั้น เป็นการปฏิบัติที่เป็นที่สะดุด  เรื่องเหล่านี้ถือเป็นการให้ความร่วมมือโดยตรงกับความชั่ว  เมื่อเขาสนับสนุนให้คนปฏิบัติตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงต่อกฎศีลธรรม” (ข้อ 2291)

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้มีการแถลงการณ์เกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2546 ความตอนหนึ่งว่า “ขอย้ำเตือนพี่น้องคริสตชน... ให้ร่วมมือกันอย่างจริงจังภายในครอบครัว วัด  โรงเรียน  และสถานประกอบการ... เป็นที่สะดุดอย่างร้ายแรง.. ในกรณีที่คริสตชนเป็นผู้ค้ายาเสพติด หรือเป็นมือปืนรับจ้างฆ่า ไม่มีการกลับใจอย่างชัดเจนและแท้จริงก่อนเสียชีวิต ให้งดการประกอบพิธีมิสซาปลงศพแก่บุคคลดังกล่าว... ให้คณะกรรมาธิการฝ่ายสังคมเป็นเจ้าภาพช่วยติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด... ขอให้ทุกท่านได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง... ในการสร้างชุมชนและสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง”

Home