ผมได้รับจดหมายจากพระสังฆราชมัตธีอัส  รี  ของสังฆมณฑลซูวอน  ประเทศเกาหลี  ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ  ภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกเกาหลี  ให้ร่วมมือกับสถาบันเทววิทยาวูรี จากเกาหลี จัดการประชุมด้านเทววิทยาของเอเชีย ระหว่าง 12 – 21 สิงหาคม 2013 ที่เชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ การพัฒนาไร้ขอบเขตและชีวิตของชนพื้นเมือง  ท่ามกลางวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชีย

สมาชิกที่มาจากต่างประเทศมีประมาณ 40 คน  และจากประเทศไทยประมาณ 50 – 60 คน มีการีตัสไทยและเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ  ที่น่าสนใจสมาชิกจากต่างประเทศในเอเชียเป็นเยาวชน เพราะสถาบันเทววิทยาวูรีเน้นผู้นำฆราวาสเยาวชน ให้ตระหนักถึงปัญหาสังคมที่รุนแรงผิดต่อสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม – สันติ สิ่งแวดล้อม  ชนพื้นเมือง ฯลฯ

สมาชิกจากประเทศในเอเชีย  คือ เกาหลี จีน  อินเดีย อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  เมียนมาร์ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ  กัมพูชา ลาว    วิทยากรจากอินเดีย  ฟิลิปปินส์  ฝรั่งเศส  และคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร

วิธีการจัดให้พักที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน (RTRC) และพาสมาชิกต่างประเทศไปสัมผัสชีวิตในหมู่บ้าน 2 วัน  และมาที่ ศูนย์มิสซังเชียงใหม่ ประชุม 2 วัน  และกลับไปที่  RTRC  อีก 5 วัน

มีวิทยากรนำเสนอประเด็น บางประเทศรายงานสภาพจริง  และอภิปราย

คุณพ่อเฟลิกซ์  วิลเฟรด ได้นำเสนอหัวข้อเศรษฐกิจด้านการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่  และการมีส่วนร่วมของคริสตชน  เป็นพิเศษต่อชนพื้นเมือง

เศรษฐกิจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลกระทบต่อทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจเพื่อดำรงชีวิตรอด และเศรษฐกิจเพื่อผลกำไร มักมีความขัดแย้งกันเสมอ    ในเอเชีย เศรษฐกิจเพื่อดำรงชีวิตรอดมักแพ้เศรษฐกิจที่เน้นผลกำไร รัฐบาลมีบทบาทหน้าที่เรื่องนี้โดยตรง  มีผลต่อชีวิตและความตายของประชาชนเป็นล้านๆ  มีผลกระทบต่อ คนจน ต่อสตรี มีผลต่อชนพื้นเมือง ชนเผ่าของเราเป็นอย่างมาก

คำสอนของพระศาสนจักร ในพันธสัญญาเดิมถือว่าความร่ำรวยเป็นพระพรจากพระเจ้า แต่อย่างไรก็ดีก็มีคำสอนให้หยุดพักจากการสะสมทรัพย์สมบัติ ให้มีการตอบแทนที่ยุติธรรม  มีการยกหนี้สินในปีสับบาโต

ประกาศกอาโมสสอนให้ปกป้องคนยากจน  ให้มีความยุติธรรม

คำสอนของพระเยซูเจ้าเน้นคนยากจน เราไม่สามารถรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกัน  (ลก 16: 13 ; มธ 6: 24) ความร่ำรวยเป็นโอกาสช่วยเหลือคนอื่น  ช่วยเหลือกันและกัน  สร้างความสัมพันธ์ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  (กจ 4: 34-35) ความรักเงินตราเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทุกประการ (1 ทธ 6: 10) โลภมากมักก่อให้เกิดความรุนแรง  เพราะเกิดการแข่งขันกัน  ซึ่งเป็นหลักเศรษฐกิจทั่วไป

แนวทางของเรา พระศาสนจักรพยายามสอนและดำเนินการเพื่อการร่วมมือแบ่งปัน ช่วยเหลือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
-มีชีวิตเศรษฐกิจแบบช่วยเหลือ – มีส่วนร่วม  ให้โอกาส
-เศรษฐกิจแบบดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
-เศรษฐกิจที่เน้นสิทธิประโยชน์ของคนจน และชนพื้นเมือง

ผมกำลังอยู่กับพวกเขาในการประชุมที่ศูนย์มิสซังเชียงใหม่ แต่เขียนรายงานให้ท่านทราบขบวนการคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ที่กำลังเกิดขึ้น

พี่น้องชนเผ่ามิใช่เป้าหมายของการประกาศข่าวดี แต่เป็นผู้ประกาศข่าวดี

Home