ตอนที่แปด

พระบัญญัติประการที่แปด

 

                  “อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน” (อพย 20:16)

                  “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า ‘อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า’”(มธ 5:33)

2464   พระบัญญัติประการที่แปดห้ามไม่ให้บิดเบือนความจริงในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ข้อกำหนดศีลธรรมประการนี้สืบเนื่องมาจากการเรียกประชากรศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นพยานของพระเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงและทรงประสงค์ความจริง การทำผิดต่อความจริงแสดงให้เห็นทั้งด้วยคำพูดและด้วยการกระทำว่าตนไม่ยอมผูกมัดตนเองให้อยู่ในความถูกต้องทางศีลธรรม นี่คือจุดเริ่มต้นความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า และในความหมายนี้จึงกำลังทำลายรากฐานของพันธสัญญา

I.  ดำเนินชีวิตในความจริง

I.  ดำเนินชีวิตในความจริง

 2465  พันธสัญญาเดิมยืนยันว่า พระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดความจริงทุกประการ พระวาจาของพระองค์เป็นความจริง[214] ธรรมบัญญัติของพระองค์ก็เป็นความจริง[215] “ความซื่อสัตย์ของพระองค์ดำรงอยู่ทุกยุคทุกสมัย” (สดด 119:90)[216] เพราะพระเจ้า “ทรงสัตย์จริง” (รม 3:4) สมาชิกประชากรของพระองค์จึงได้รับเรียกมาให้ดำเนินชีวิตในความจริง[217]

 2466  ความจริงของพระเจ้าปรากฏชัดเจนอย่างสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง[218]ทรงเป็น “แสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12) พระองค์ทรงเป็นความจริง[219] ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ไม่อยู่ในความมืด[220] ศิษย์ของพระเยซูเจ้ายึดมั่นในพระวาจาของพระองค์เพื่อจะรู้ความจริงซึ่งจะช่วยให้เป็นอิสระ[221]และบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์[222] การติดตามพระเยซูเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตเดชะพระจิตเจ้าแห่งความจริง[223]ที่พระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระองค์[224]ผู้ทรงนำเราไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ให้รักความจริงโดยไม่มีเงื่อนไข “ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’” (มธ 5:37)

 2467  มนุษย์โดยธรรมชาติมุ่งหาความจริง เขาจึงจำเป็นต้องเคารพและยืนยันความจริง “โดยศักดิ์ศรีของตน เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นบุคคล […] โดยธรรมชาติและกฎศีลธรรมจึงจำเป็นต้องแสวงหาความจริง โดยเฉพาะความจริงที่เกี่ยวกับศาสนา เขายังจำเป็นต้องยึดมั่นในความจริงที่รู้แล้วและจัดระเบียบชีวิตทั้งหมดของตนตามที่ความจริงเรียกร้อง”[225]

 2468  ความจริงในฐานะที่เป็นความถูกต้องในความประพฤติและในคำพูดของมนุษย์ยังได้ชื่อว่า ความน่าเชื่อถือ ความจริงใจ หรือความบริสุทธิ์ใจ ความจริงหรือความน่าเชื่อถือเป็นคุณธรรมที่ตั้งอยู่ในการที่ผู้หนึ่งแสดงตนจริงทั้งด้วยการกระทำและคำพูด โดยหลีกเลี่ยงการตลบแตลง การเสแสร้งและการหน้าไหว้หลังหลอก

 2469  “มนุษย์คงไม่อาจดำเนินชีวิตร่วมกันได้ถ้าไม่เชื่อว่าแต่ละคนกำลังพูดความจริงต่อกัน”[226] คุณธรรมความจริงคืนสิ่งที่ผู้อื่นควรได้รับตามความยุติธรรม ความจริงอยู่ตรงกลางพอดีระหว่างสิ่งที่ต้องแสดงออกกับความลับที่ต้องเก็บรักษาไว้ จึงรวมเอาไว้ทั้งความซื่อสัตย์และดุลยพินิจ  ตามความยุติธรรมแล้ว “เป็นศักดิ์ศรีที่มนุษย์คนหนึ่งต้องแสดงความจริงแก่ผู้อื่น”[227]

 2470   ศิษย์ของพระคริสตเจ้ายอมรับที่จะ “ดำเนินชีวิตในความจริง” นั่นคือในความเรียบง่ายของชีวิตที่สอดคล้องกับพระฉบับแบบขององค์พระผู้เป็นเจ้าและคงอยู่ในความจริงของพระองค์ “ถ้าเราพูดว่า เราสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ แต่ยังดำเนินอยู่ในความมืด เราก็กำลังพูดเท็จ เพราะเราไม่ดำเนินชีวิตอยู่ในความจริง” (1 ยน 1:6)

 

[214] เทียบ สภษ 8:7; 2 ซมอ 7:28.

[215] เทียบ สดด 119:30.         

[216] เทียบ ลก 1:50.             

[217] เทียบ สดด 119:30.          

[218] เทียบ ยน 1:14              

[219] เทียบ ยน 14:6.             

[220] เทียบ ยน 12:46.           

[221] เทียบ ยน 8:31-32.          

[222] เทียบ ยน 17:17.            

[223] เทียบ ยน 14:17.            

[224] เทียบ ยน 14:26.           

[225] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 2: AAS 58 (1966) 931.      

[226] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 109, a. 3, ad 1: Ed. Leon. 9, 418.          

[227] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 109, a. 3, c: Ed. Leon. 9, 418.             

II.  “การเป็นพยานถึงความจริง”

II.  “การเป็นพยานถึงความจริง

 2471   พระคริสตเจ้าทรงประกาศต่อหน้าปีลาตว่าพระองค์เสด็จมาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง[228] คริสตชนจึงต้องไม่ “อายที่จะเป็นพยานถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า” (2 ทธ 1:8) ในกรณีที่เรียกร้องให้เป็นพยานถึงความเชื่อ คริสตชนต้องประกาศความเชื่อนี้โดยไม่กำกวมตามแบบฉบับของนักบุญเปาโลต่อหน้าผู้พิพากษา ท่านพยายามอยู่เสมอ “ที่จะรักษามโนธรรมให้บริสุทธิ์ไม่มีที่ติเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (กจ 24:16)

 2472  หน้าที่ของคริสตชนที่จะต้องมีส่วนในชีวิตของพระศาสนจักรผลักดันให้เขาปฏิบัติตนเป็นดังพยานถึงพระวรสารและข้อบังคับที่สืบเนื่องมาจากพระวรสาร  การเป็นพยานนี้เป็นการถ่ายทอดความเชื่อด้วยวาจาและกิจการ การเป็นพยานเป็นกิจกรรมของความยุติธรรมซึ่งยืนยันความจริงหรือทำให้ความจริงเป็นที่ยอมรับ[229]

            “คริสตชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จำเป็นต้องแสดง ด้วยแบบอย่างของชีวิตและการเป็นพยานด้วยวาจา ให้ทุกคนแลเห็นมนุษย์คนใหม่ที่เขาได้สวมไว้อาศัยศีลล้างบาปและเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าที่เขาได้รับพลังยิ่งขึ้นอาศัยศีลกำลัง”[230]

 2473  การเป็นมรณสักขีคือการเป็นพยานอย่างสูงสุดถึงความจริงแห่งความเชื่อ การนี้หมายถึงการยอมกระทั่งตายเพื่อเป็นพยาน มรณสักขีเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพและเขาก็ยินดีร่วมตายกับพระองค์เพราะความรัก เขายังเป็นพยานถึงความจริงของความเชื่อและคำสอนของพระคริสตเจ้า เขาแสดงความกล้าหาญจนยอมตาย “ท่านทั้งหลายจงยอมให้ข้าพเจ้าเป็นอาหารของสัตว์ร้ายซึ่งจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระเจ้าได้”[231]

 2474  พระศาสนจักรได้เอาใจใส่อย่างมากรวบรวมเรื่องราวของผู้ที่รักษาความเชื่อของตนไว้อย่างมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย เรื่องราวเหล่านี้ได้ชื่อว่า “กิจการของบรรดามรณสักขี” (Acts of the Martyrs) นับได้ว่าผลงานนี้เป็นคลังเก็บความจริงที่ใช้โลหิตบันทึกไว้

                “ไม่มีความสุขและอาณาจักรใดๆ ของโลกนี้จะเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า เป็นการดีที่ข้าพเจ้าจะตายในพระคริสตเยซูมากกว่าที่จะมีอำนาจปกครองไปจนสุดปลายแผ่นดิน ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ข้าพเจ้าปรารถนาพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเรา การเกิด(ในสวรรค์)ของข้าพเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว....”[232]

                “ข้าพเจ้าขอถวายพระพรแด่พระองค์ ที่ทรงพระกรุณาในวันนี้และในเวลานี้ ให้ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมอยู่ในจำนวนมรณสักขีของพระองค์ […] พระองค์ทรงปฏิบัติตามที่ทรงสัญญาไว้ พระองค์ผู้ทรงความสัตย์จริง ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงสรรเสริญพระองค์สำหรับทุกสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ข้าพเจ้าขอถวายพระพร ถวายพระเกียรติแด่พระองค์เดชะพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรสุดที่รักและพระมหาสมณะนิรันดรในสวรรค์ ขอพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ เดชะพระบุตร พร้อมกับพระบุตร ในพระจิตเจ้า ณ บัดนี้และตลอดนิรันดรเทอญ อาเมน”[233]

 

[228] เทียบ ยน 18:37.           

[229] เทียบ มธ 18:16.            

[230] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 11: AAS 58 (1966) 959.             

[231] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Romanos, 4, 1: SC 10bis, p. 110 (Funk 1, 256).         

[232] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Romanos, 6, 1: SC 10bis, p. 114 (Funk 1, 258-260).    

[233] Martyrium Polycarpi, 14, 2-3: SC 10bis, p. 228 (Funk 1, 330-332).

 III. การทำผิดต่อความจริง

 III. การทำผิดต่อความจริง

 2475   ศิษย์ของพระคริสตเจ้าล้วนได้ “สวมใส่สภาพมนุษย์ใหม่ซึ่งพระเจ้าทรงเนรมิตให้เหมือนพระองค์ มีความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากความจริง” (อฟ 4:24) เขาจึงต้อง “เลิกพูดเท็จ” (อฟ 4:25) ต้องละทิ้ง “ความชั่วทั้งมวล คือการหลอกลวง ความเจ้าเล่ห์ การอิจฉา การนินทาและการใส่ความ” (1 ปต 2:1)

 2476  การเป็นพยานเท็จและสาบานเท็จ คำพูดที่ขัดกับความจริง เมื่อพูดออกมาในที่สาธารณะ มีความหนักเป็นพิเศษ การทำเช่นนี้ในศาลกลายเป็นการเป็นพยานเท็จ[234] ถ้าทำเช่นนี้โดยสาบานด้วยก็เป็นการสาบานเท็จ (ทวนสาบาน) การทำเช่นนี้หรือว่าทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกตัดสินลงโทษ หรือทำให้ผู้ผิดพ้นผิดไปหรือเป็นการเพิ่มโทษมากกว่าที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงได้รับ[235] เป็นการนำความเสียหายอย่างหนักมาสู่กระบวนการความยุติธรรมและความชอบธรรมของคำตัดสินจากผู้พิพากษา

 2477    การให้ความเคารพต่อชื่อเสียงของบุคคลห้ามแนวโน้มและคำพูดทั้งหลายที่อาจนำความเสียหายที่ไม่ยุติธรรมมาให้เขา[236] ผู้กระทำการต่อไปนี้จึงมีความผิด

           - ฐานด่วนตัดสิน คือผู้ที่สรุปโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าผู้อื่นทำผิด แม้เพียงแต่คิดอยู่ในใจ

           - ฐานนินทา คือผู้ที่ไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ไปเปิดเผยความบกพร่องหรือความผิดของผู้อื่นให้แก่ผู้ที่ยังไม่รู้ได้รู้[237]

           - ฐานใส่ความ คือทำร้ายชื่อเสียงของผู้อื่น โดยกล่าวไม่ตรงกับความจริง เป็นโอกาสให้ตัดสินเขาผิดได้

 2478   เพื่อหลีกเลี่ยงการด่วนตัดสิน แต่ละคนจะต้องเอาใจใส่ตีความหมายความคิด คำพูด และการ กระทำของเพื่อนพี่น้องในความหมายแง่ดีเท่าที่จะทำได้

              “คริสตชนที่ดีแต่ละคนต้องมีใจพร้อมที่จะตีความหมายของความคิดเห็นหรือคำพูดที่ไม่ชัดเจนของผู้อื่นในแง่ดีมากกว่าที่จะตำหนิ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนี้ได้ ก็ให้เขาพิจารณาเจตนาของผู้กล่าว และถ้าเขารู้สึกหรือเข้าใจว่าคำพูดดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็ให้เขาตักเตือนด้วยความรัก และถ้ายังไม่พอ ก็ให้เขาพยายามทุกวิธีเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยให้เขาเข้าใจถูกต้อง พ้นจากความเข้าใจผิด”[238]

 2479  การนินทาและการใส่ความทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของเพื่อนพี่น้อง  เกียรติยศเป็นการที่สังคมยอมรับรู้ศักดิ์ศรีของมนุษย์และแต่ละคนย่อมมีสิทธิตามธรรมชาติในเกียรติของนามของตน  ในชื่อเสียงและการได้รับความเคารพนับถือ ดังนั้นการนินทาและการใส่ความจึงผิดต่อความยุติธรรมและความรัก

 2480   ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดและนิสัยเหล่านี้ทั้งหมดที่ใช้การโน้มน้าว การประจบประแจงหรือเอาอกเอาใจ ปลุกใจและทำให้ผู้อื่นมั่นใจในความชั่วของวิธีปฏิบัติของตน การประจบประแจงเป็นความผิดหนักถ้าทำให้ผู้หนึ่งร่วมผิดกับนิสัยชั่วหรือบาปหนักของเขา ความปรารถนาที่จะให้บริการหรือมิตรภาพไม่ทำให้การพูดเท็จเป็นการกระทำถูกต้องไปได้ การประจบประแจงเป็นบาปเบาถ้าตั้งใจให้เป็นเพียงคำพูดน่าฟัง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย เพื่อตอบสนองความต้องการ เพื่อได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ผิดกฎหมาย

 2481   การโอ้อวด หรือคุยโวเป็นความผิดต่อความจริง เช่นเดียวกับการประชดประชันซึ่งตั้งใจดูหมิ่นคนใดคนหนึ่งโดยวาดภาพให้เขาเป็นตัวตลกและกล่าวถึงวิธีปฏิบัติบางแง่มุมของเขาโดยประสงค์ร้าย

 2482  “การพูดเท็จโดยตั้งใจหลอกลวงนับว่าเป็นการกล่าวมุสาอย่างชัดเจน”[239] องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวว่าการมุสาเป็นผลงานของปีศาจ “ท่านมาจากปีศาจ […] ความจริงไม่อยู่ในเขา เมื่อเขาพูดเท็จ เขาก็พูดตามธรรมชาติของเขา เพราะเขาเป็นผู้พูดเท็จ และเป็นบิดาของการพูดเท็จ” (ยน 8:44)

 2483   การกล่าวมุสาเป็นการทำผิดต่อความจริงโดยตรง การกล่าวมุสาเป็นการพูดตรงข้ามกับความจริงหรือเป็นการกระทำชักนำผู้อื่นที่มีสิทธิจะรู้ความจริงให้หลงไป การกล่าวมุสาทำลายความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับความจริงและกับเพื่อนพี่น้อง จึงทำร้ายต่อความสัมพันธ์พื้นฐานของมนุษย์และคำพูดของเขาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า

 2484  ความหนักเบาของการกล่าวมุสาวัดได้จากธรรมชาติของความจริงที่การกล่าวมุสานั้นทำให้ผิดเพี้ยนไป ตามสภาพแวดล้อม เจตนาของผู้ที่กล่าวเท็จ และความเสียหายที่ผู้ถูกกล่าวเท็จด้วยได้รับ ถ้าการกล่าวมุสาในตัวเองเป็นเพียงบาปเบา การกล่าวมุสาก็กลายเป็นบาปหนักได้เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อคุณธรรมความยุติธรรมและความรัก

 2485  การกล่าวมุสาเป็นความผิดโดยธรรมชาติ เป็นการทำลายคำพูดซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสื่อความจริงที่ตนรู้ให้ผู้อื่นทราบ เจตนาที่จงใจพูดขัดต่อความจริงเพื่อชักนำผู้อื่นให้หลงผิดนับได้ว่าเป็นความผิดต่อความยุติธรรมและต่อความรัก ความผิดยิ่งหนักขึ้นเมื่อเจตนาที่จะหลอกลวงนั้นทำผู้ถูกหลอกลวงไม่ให้รู้ความจริงนั้นอาจได้รับผลร้ายถึงชีวิต

 2486  การกล่าวมุสา (เพราะฝ่าฝืนคุณธรรมความซื่อสัตย์) นับเป็นการฝ่าฝืนต่อผู้อื่นอย่างแท้จริง การกล่าวมุสาทำร้ายสมรรถนะที่จะรับรู้ความจริงของผู้อื่น สมรรถนะนี้เป็นเงื่อนไขของการตัดสินและตกลงใจทุกอย่างของเขา การกล่าวมุสาจึงนับได้ว่าเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดความแตกแยกและผลร้ายทุกอย่างที่ความแตกแยกนี้อาจก่อให้เกิดขึ้น  การกล่าวมุสาจึงเป็นผลร้ายต่อทุกสังคม เป็นตัวทำลายความเชื่อถือระหว่างมนุษย์ด้วยกันและทำลายองค์ประกอบความสัมพันธ์ทางสังคม

 2487  การทำความผิดใดๆ ไม่ว่าต่อความยุติธรรมและต่อความจริงเรียกร้องให้ต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ผู้ทำความผิดนั้นอาจได้รับอภัยแล้ว ถ้าการชดใช้ความผิดไม่อาจทำได้อย่างเปิดเผย ก็ยังต้องทำการนี้อย่างลับๆ  ถ้าผู้เสียหายไม่อาจรับการชดใช้ได้โดยตรง ก็ยังจำเป็นต้องมีการชดใช้ตามศีลธรรมโดยเหตุผลของความรัก หน้าที่จะต้องชดใช้เช่นนี้ยังครอบคลุมไปถึงความผิดต่อชื่อเสียงของผู้อื่นด้วย การชดใช้นี้ทั้งด้านศีลธรรมและด้านวัตถุจึงต้องประเมินตามส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น เรื่องนี้มีผลบังคับตามมโนธรรมด้วย

 

[234] เทียบ สภษ 19:9.           

[235] เทียบ สภษ 18:5.           

[236] Cf CIC canon 220.        

[237] เทียบ บสร 21:28.          

[238] Sanctus Ignatius de Loyola, Exercitia spiritualia, 22: MHSI 100, 164.            

[239] Sanctus Augustinus, De mendacio, 4, 5: CSEL 41, 419 (PL 40, 491).           

IV.  การเคารพต่อความจริง  

IV.  การเคารพต่อความจริง     

 2488  สิทธิที่จะสื่อสารความจริงไม่ใช่สิทธิที่สมบูรณ์แบบไม่มีเงื่อนไข แต่ละคนต้องปรับชีวิตของตนให้เข้ากับกฎของพระวรสารในเรื่องความรักต่อเพื่อนพี่น้อง การนี้ในสภาพความเป็นจริงจึงเรียกร้องให้พิจารณาว่าเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่จะเปิดเผยความจริงให้แก่ผู้ที่ขอให้ทำเช่นนี้

 2489  ความรักและการเคารพต่อความจริงต้องกำหนดคำตอบต่อการขอข้อมูลหรือการสื่อสารทุกอย่าง  ผลประโยชน์และความปลอดภัยของผู้อื่น ความเคารพต่อชีวิตส่วนตัว และผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะไม่พูดสิ่งที่ไม่ต้องเป็นที่รู้หรือที่จะใช้คำพูดอย่างรอบคอบ หลายๆครั้งหน้าที่ ที่จะต้องหลีกเลี่ยงโอกาสไม่ให้ผู้อื่นทำบาปสั่งให้เงียบไว้  ไม่มีผู้ใดจำเป็นต้องเปิดเผยความจริงแก่ผู้ไม่มีสิทธิจะรู้ความจริงนั้น[240]

 2490  ความลับของศีลแห่งการคืนดีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเปิดเผยไม่ได้ไม่ว่าจะโดยข้ออ้างใดๆ “ความลับของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่อาจล่วงละเมิดได้เลย ดังนั้นพระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปจึงทำผิดหนักถ้าใช้คำพูดหรือวิธีการใดๆ ไม่ว่าเพราะเหตุใด เปิดเผยความลับของผู้ที่สารภาพบาปให้ผู้อื่นทราบ”[241]

 2491   ความลับตามหน้าที่ – คือความลับที่ผู้ประกอบอาชีพต่างๆต้องรักษาไว้ เช่นนักการเมือง ทหาร แพทย์ นักกฎหมาย – หรือความลับที่ต้องรักษาไว้เพราะได้รับมาเพราะมิตรภาพ นอกจากกรณีพิเศษที่การรักษาความลับอาจก่อให้เกิดผลร้ายที่หนักมากทั้งแก่ผู้ที่ฝากความลับนั้นไว้ หรือแก่ผู้ที่รับฝากความลับ หรือแก่บุคคลที่สาม และผลร้ายเช่นนี้อาจหลีกเลี่ยงได้โดยการเปิดเผยความลับนี้เท่านั้น  ความรู้เรื่องส่วนตัว แม้ที่ไม่ได้รับมาให้เก็บไว้เป็นความลับ และอาจเกิดผลร้ายต่อผู้อื่นได้ก็ต้องไม่ถูกเปิดเผยโดยไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอตามส่วน

 2492 แต่ละคนต้องมีความรอบคอบตามควรเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้อื่น ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการสื่อสารต้องรักษาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและการเคารพสิทธิเฉพาะส่วนบุคคล การที่สื่อมวลชนล่วงล้ำเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองหรือกิจกรรมสาธารณะเป็นการกระทำที่น่าตำหนิในฐานะที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวและอิสรภาพของเขาเหล่านี้

 

[240] เทียบ บสร 27:17; สภษ 25:9-10.             

[241] CIC canon 983, § 1.        

V. การใช้อุปกรณ์สื่อสารมวลชน

V. การใช้อุปกรณ์สื่อสารมวลชน

 2493   ในสังคมสมัยใหม่ สื่อมวลชนต่างๆมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการให้ข้อมูลความรู้ ในการส่งเสริมวัฒนธรรมและอบรมสั่งสอน บทบาทเหล่านี้ยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะความก้าวหน้าทางเทคนิค เพราะการเผยแผ่ข่าวสารได้กว้างขวางและหลากหลายยิ่งขึ้น เพราะอิทธิพลที่สื่อเหล่านี้มีต่อความเห็นสาธารณะ

 2494  การสื่อสารโดยใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นการรับใช้ผลประโยชน์ส่วนรวม[242] สังคมมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารที่ตั้งอยู่บนความจริง อิสรภาพ ความยุติธรรมและความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

               “ถึงกระนั้น การใช้สิทธินี้อย่างถูกต้องก็เรียกร้องให้สาระของการสื่อสารนี้เป็นความจริงและครบถ้วน โดยยึดมั่นในความยุติธรรมและความรัก นอกจากนั้นยังต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม นั่นคือต้องรักษากฎศีลธรรม สิทธิโดยธรรมชาติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในการแสวงหาและเผยแพร่ข่าวสาร”[243]

 2495   “จำเป็นที่สมาชิกทุกคนของสังคมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ความยุติธรรมและความรักของตนในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น เขาจึงต้องใช้อุปกรณ์สื่อมวลชนพยายามสร้างและเผยแผ่ความเห็นสาธารณะที่ถูกต้อง”[244] ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นผลตามมาจากการสื่อสารที่จริงและถูกต้องและจากการถ่ายทอดความคิดอย่างอิสระซึ่งช่วยส่งเสริมความรู้จักและความเคารพนับถือผู้อื่นอีกด้วย

 2496   อุปกรณ์การสื่อสารมวลชน (โดยเฉพาะสำหรับสาธารณชน) อาจก่อให้เกิดท่าทีการเพียงคอยรอรับเท่านั้นในผู้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคข่าวสารหรือการแสดงโดยไม่ระวังตัว ผู้ใช้อุปกรณ์สื่อสารจึงต้องฝึกความพอประมาณและระเบียบเกี่ยวกับการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อมวลชน เขาต้องสร้างมโนธรรมที่ชัดเจนและถูกต้องเพื่อจะได้ต้านทานผลร้ายจากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

2497    โดยอาชีพของตนในการเผยแผ่ข้อมูลข่าวสาร บรรดานักหนังสือพิมพ์มีหน้าที่รับใช้ ไม่ใช่ทำลายความจริง เขาต้องเอาใจใส่เช่นเดียวกันในความพยายามที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ตามที่เป็นจริง และแสดงความเห็นเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ภายในขอบเขต เขาต้องหลีกเลี่ยงไม่ยอมทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง

 2498   “ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นพิเศษเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม […] ผู้มีอำนาจปกครองนี้ยังมีหน้าที่จะต้องปกป้องและดูแลการให้ข้อมูลได้มีอิสระจริงๆ และยุติธรรม”[245]  เมื่อออกกฎหมายและดูแลการใช้กฎหมายเหล่านี้ ผู้มีอำนาจปกครองจะต้องระวัง “ไม่ให้การใช้อุปกรณ์สื่อเหล่านี้ก่อให้เกิดผลร้ายต่อศีลธรรมส่วนรวมและความเจริญก้าวหน้าของสังคม”[246] เขาจะต้องลงโทษการล่วงละเมิดสิทธิของแต่ละคนเพื่อรักษาชื่อเสียงและความลับของชีวิตส่วนตัว จะต้องเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมหรือที่ตอบสนองความสนใจที่ถูกต้องของประชาชนตามความเหมาะสมอย่างซื่อสัตย์ ไม่มีอะไรอาจแก้ตัวให้การใช้สื่อสาธารณะแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อบิดเบือนความคิดเห็นสาธารณะจากผิดให้เป็นถูกได้  การแทรกแซงของอำนาจสาธารณะต้องไม่เป็นอันตรายต่ออิสรภาพของปัจเจกบุคคลและกลุ่มชน

 2499   ความสำนึกด้านศีลธรรมกล่าวโทษวิธีปฏิบัติที่มีผลร้ายของรัฐที่ปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งมีการบิดเบือนความจริงอย่างเป็นระบบ รัฐเหล่านี้ใช้อุปกรณ์สื่อสารเป็นเครื่องมือทางการเมือง “พยายามบิดเบือน” คำให้การของจำเลยและพยานในการพิจารณาคดีสาธารณะ คิดแต่จะรักษาอำนาจทรราชย์ของตนไว้ให้ได้โดยขจัดและทำลายอะไรไม่ว่าที่เขาคิดว่าเป็น “ความเห็นที่ผิด”

 

[242] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Inter mirifica, 11: AAS 56 (1964) 148-149.    

[243] Concilium Vaticanum II, Decr. Inter mirifica, 5: AAS 56 (1964) 147.            

[244] Concilium Vaticanum II, Decr. Inter mirifica, 8: AAS 56 (1964) 148.           

[245] Concilium Vaticanum II, Decr. Inter mirifica, 12: AAS 56 (1964) 149.           

[246] Concilium Vaticanum II, Decr. Inter mirifica, 12: AAS 56 (1964) 149.           

VI.  ความจริง ความงาม และศิลปศักดิ์สิทธิ์

VI.  ความจริง ความงาม และศิลปศักดิ์สิทธิ์

 2500 การทำความดีมีความสุขทางจิตใจและความงามทางศีลธรรมควบคู่อยู่ด้วย ในทำนองเดียวกัน ความจริงย่อมนำความยินดีและความงดงามทางจิตใจที่รุ่งโรจน์มาให้  ความจริงมีความงดงามในตัวเอง ความจริงของคำพูด มนุษย์จำเป็นต้องแสดงความรู้อย่างมีเหตุผลเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาหรือที่มีอยู่ตั้งแต่นิรันดร แต่มนุษย์ยังอาจแสดงความจริงได้อีกหลายรูปแบบเป็นการเพิ่มเติม โดยเฉพาะเมื่อจะต้องเสนอแนะเรื่องราวที่กล่าวเป็นคำพูดไม่ได้ เช่นความรู้สึกลึกๆ ในใจมนุษย์ การยกจิตใจขึ้นเบื้องบน พระธรรมล้ำลึกของพระเจ้า แม้ก่อนที่จะทรงเปิดเผยพระองค์ด้วยพระวาจาแห่งความจริงแก่มนุษย์ ก็ทรงเปิดเผยพระองค์แก่มนุษย์แล้วด้วย
พระวาจาการเนรมิตสร้างจักรวาล ซึ่งเป็นผลงานของพระวจนาตถ์ พระปรีชาญาณของพระองค์ จากระเบียบและความกลมกลืนของโลกจักรวาล – ซึ่งทั้งเด็กและนักวิทยาศาสตร์ย่อมแลเห็น - “จากความยิ่งใหญ่และความงามของสิ่งสร้าง […] มนุษย์เราน่าจะรู้จักพระผู้สร้างสิ่งเหล่านี้ได้” (ปชญ 13:5) “เพราะพระองค์ผู้ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้ทรงเป็นบ่อเกิดของความงดงาม” (ปชญ 13:3)

            “ปรีชาญาณเป็นสิ่งที่ไหลล้นจากพระอานุภาพของพระเจ้า เป็นรังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์บริสุทธิ์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่เป็นมลทินเข้าไปในปรีชาญาณ ปรีชาญาณเป็นแสงสะท้อนความสว่างนิรันดร เป็นกระจกเงาไร้ราคีส่องการกระทำของพระเจ้า เป็นภาพลักษณ์แห่งความดีล้ำเลิศของพระองค์” (ปชญ 7:25-26) “ปรีชาญาณงดงามกว่าดวงอาทิตย์ สุกใสกว่ากลุ่มดาวใดๆ เมื่อเทียบกับแสงสว่าง ปรีชาญาณก็ยังได้เปรียบ เพราะแสงสว่างยังต้องยอมให้กลางคืนเข้ามาแทนที่ แต่ความชั่วร้ายจะชนะปรีชาญาณไม่ได้เลย” (ปชญ 7:29-30) “ข้าพเจ้าหลงรักปรีชาญาณเพราะความงามของเธอ” (ปชญ 8:2)

 2501   มนุษย์ “ถูกสร้างขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า”[247] เขาจึงแสดงความจริงของความสัมพันธ์ของตนกับพระเจ้าพระผู้เนรมิตสร้างอาศัยความงามของงานศิลปของเขาด้วย  ใช่แล้ว ศิลปเป็นรูปแบบของการแสดงออกของมนุษย์โดยเฉพาะ เป็นการแสดงความร่ำรวยภายในของมนุษย์ออกมาโดยอิสระนอกเหนือไปจากความพยายามตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของชีวิต  ศิลปซึ่งเกิดจากพรสวรรค์ที่ได้รับจากพระผู้เนรมิตสร้าง และเกิดจากความพยายามของมนุษย์เอง เป็นรูปแบบหนึ่งของปรีชาญาณด้านปฏิบัติร่วมกับความรู้และความชำนาญ[248]เพื่อให้มีรูปแบบตรงกับความเป็นจริงที่เข้าถึงได้ด้วยการเห็นและการฟัง ดังนั้น ศิลปจึงมีความเหมือนกับผลงานของพระเจ้าในการเนรมิตสร้างตามส่วนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความจริงและความรักต่อสิ่งเหล่านั้น เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นของมนุษย์ ศิลปจึงไม่เป็นจุดหมายเด็ดขาดในตัวเอง แต่ถูกจัดไว้สำหรับจุดหมายสุดท้ายของมนุษย์และมีศักดิ์ศรียิ่งขึ้นเพราะเหตุนี้[249]

 2502  ศิลปศักดิ์สิทธิ์มีความจริงและความงาม เมื่อใช้รูปแบบของตนตอบสนองบทบาทเฉพาะ เพื่อเชิญชวนให้ถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระธรรมล้ำลึกที่เป็นโลกุตระของพระเจ้าผู้ทรงความงาม ความจริงและความรักเลอเลิศที่มนุษย์แลเห็นไม่ได้  ความงาม ความจริงและความรักนี้ปรากฏในพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “รังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” (ฮบ 1:3) ในองค์พระคริสตเจ้านี้ “พระเทวภาพบริบูรณ์ดำรงอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) พระเจ้าผู้ทรงเป็นความงามที่เป็นจิตซึ่งสะท้อนให้ปรากฏในพระนางพรหมจารีมารีย์ บรรดาทูตสวรรค์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ศิลปศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนำมนุษย์ให้นมัสการ อธิษฐานภาวนาและมีความรักต่อพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างและทรงกอบกู้ พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์และทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์

 2503    เพราะเหตุนี้ บรรดาพระสังฆราช ไม่ว่าจะโดยตนเองหรือโดยผู้แทน จึงต้องคอยดูแลให้ศิลปศักดิ์สิทธิ์ทั้งเก่าและใหม่ได้รับการส่งเสริมในทุกรูปแบบ และยังต้องเอาใจใส่ด้านศาสนาเช่นเดียวกันเพื่อให้ทุกสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของความเชื่อและความงดงามแท้จริงของศิลปศักดิ์สิทธิ์ให้พ้นไปจากพิธีกรรมและอาคารที่ใช้ปฏิบัติศาสนกิจ[250]

 

[247] เทียบ ปฐก 1:26.           

[248] เทียบ ปชญ 7:16-17.        

[249] Cf Pius XII, Nuntius radiophonicus (24 decembris 1955): AAS 48 (1956) 26-41; Id., Nuntius radiophonicus sociis sodalitatis iuvenum
operariorum christianorum (J.O.C.)
(3 septembris 1950): AAS 42 (1950) 639-642.    

[250] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 122-127: AAS 56 (1964) 130-132.     

สรุป

สรุป

 2504   “อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน” (อพย 20:16) ศิษย์ของพระคริสตเจ้าได้สวมใส่ “สภาพมนุษย์ใหม่ซึ่งพระเจ้าทรงเนรมิตให้เหมือนพระองค์ มีความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากความจริง” (อฟ 4:24)

 2505   ความจริงหรือความน่าเชื่อถือเป็นคุณธรรมซึ่งประกอบด้วยการที่ผู้หนึ่งแสดงตนมีความจริงในการกระทำและคำพูด โดยหลีกเลี่ยงการตีสองหน้า การเสแสร้งและความหน้าไหว้หลังหลอก

 2506   คริสตชนต้องไม่ “อายที่จะเป็นพยานถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า” (2 ทธ 1:8) ด้วยการกระทำและคำพูด  การเป็นมรณสักขีคือการเป็นพยานขั้นสูงสุดที่แสดงต่อความจริงแห่งความเชื่อ

 2507   ความเคารพต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้อื่นห้ามนิสัยหรือการกล่าวถ้อยคำนินทาหรือใส่ความ

 2508   การมุสาคือการกล่าวเท็จโดยตั้งใจหลอกลวงเพื่อนพี่น้อง

 2509   ความผิดที่ทำต่อความจริงเรียกร้องให้มีการชดใช้

 2510    กฎปฏิบัติในกรณีเฉพาะช่วยให้เราตัดสินว่าควรจะเปิดเผยความจริงแก่ผู้ที่ขอให้ทำเช่นนั้นหรือไม่

 2511    “ความลับของศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นล่วงละเมิดไม่ได้เลย”[251] ต้องรักษาความลับตามหน้าที่ไว้เสมอ   เราต้องไม่เปิดเผยข้อมูลลับที่อาจก่อความเสียหายแก่ผู้อื่นได้ให้ผู้ใดเลย

 2512    สังคมมีสิทธิจะรับข้อมูลที่ตั้งอยู่บนความจริง อิสรภาพ และความยุติธรรม จึงจำเป็นต้องวางระเบียบและความพอประมาณในการใช้อุปกรณ์การสื่อสารมวลชน

 2513    ศิลปที่มีความงาม และโดยเฉพาะศิลปศักดิ์สิทธิ์ “โดยธรรมชาติของตนย่อมมุ่งหาความงามของพระเจ้าที่แสดงให้ปรากฏได้บ้างโดยผลงานของมนุษย์ ศิลปศักดิ์สิทธิ์นี้ยิ่งไม่มุ่งหาอะไรอื่นนอกจากเพื่อใช้ผลงานของตนยกจิตใจให้มีความเลื่อมใสต่อพระเจ้ามากเท่าใด ก็ย่อมมุ่งหาพระเจ้าและมุ่งเพิ่มพูนคำสรรเสริญและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มากขึ้นเท่านั้น”[252]

 

[251] CIC canon 983, § 1.        

[252] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 122: AAS 56 (1964) 130-131.