ตอนที่สอง

พระบัญญัติประการที่สอง

 

            “ท่านต้องไม่กล่าวพระนามองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านอย่างไม่เหมาะสม” (อพย 20:7)[67]

“ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน […] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย” (มธ 5:33-34)

[67] เทียบ ฉธบ 5:11. 

I.   พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์

I.   พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์

 2142    พระบัญญัติประการที่สองสั่งให้เคารพพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระบัญญัติประการนี้สืบเนื่องมาจากคุณธรรมการนับถือศาสนา และวางกฎไว้เจาะจงยิ่งเกี่ยวกับการใช้วาจาของเราในเรื่องศักดิ์สิทธิ์

 2143   ในบรรดาพระวาจาเกี่ยวกับการเปิดเผย มีเรื่องเด่นชัดเรื่องหนึ่ง คือการเปิดเผยพระนามของพระองค์ พระองค์ทรงแจ้งให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์รู้จักพระนาม ทรงเปิดเผยพระองค์ในพระธรรมล้ำลึกส่วนพระองค์ การบอกนามให้ทราบเป็นเรื่องของความไว้วางใจและความสนิทสนม “พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์” ดังนั้น มนุษย์จึงไม่อาจนำพระนามมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง เขาต้องเก็บรักษาพระนามนี้ไว้ในความทรงจำ นมัสการด้วยความรักอย่างเงียบๆ[68]
เขาจะต้องไม่นำพระนามเข้ามาปนกับคำพูดของตนนอกจากเพื่อถวายพระพร สรรเสริญ และถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามนี้[69]

 2144   ความเคารพต่อพระนามของพระเจ้าแสดงถึงความเคารพที่พระธรรมล้ำลึกและความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดของพระองค์เรียกร้อง ความสำนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นคุณสมบัติของคุณธรรมการนับถือศาสนา

“ความรู้สึกกลัวและยำเกรงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความรู้สึกของคริสตชนไม่ใช่หรือ? […] ไม่มีผู้ใดที่มีเหตุผลอาจสงสัยในเรื่องนี้ได้ เป็นความรู้สึกที่เราคงจะมี และอย่างเข้มข้นด้วย ถ้าเราแลเห็นพระเจ้าสูงสุด เป็นความรู้สึกที่เราคงจะมี ถ้าเรา “รู้สำนึก” ว่าพระองค์ประทับอยู่ที่นี่ เราต้องมีความรู้สึกนี้ตามอัตราส่วนที่เราเชื่อว่าพระองค์ประทับอยู่ ถ้าเราไม่มีความรู้สึกเช่นนี้ก็เพราะเราไม่รู้สึกถึงเรื่องนี้ คือไม่เชื่อว่าพระองค์ประทับอยู่ที่นี่”[70]

 2145   ผู้มีความเชื่อต้องเป็นพยานถึงพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ประกาศความเชื่อถึงพระองค์โดยไม่ยอมแพ้ต่อความกลัว[71] การเทศน์และสอนคำสอนต้องซึมซาบไปด้วยการกราบไหว้นมัสการและความเคารพต่อพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

 2146   พระบัญญัติประการที่สองห้ามไม่ให้ใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง นั่นคือการใช้พระนามของพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้า พระแม่มารีย์พรหมจารี และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (นักบุญ) อย่างไม่เหมาะสม

 2147   คำสัญญา ที่ทำไว้กับผู้อื่นเดชะพระนามของพระเจ้า เป็นการผูกมัดพระเกียรติ ความซื่อสัตย์ ความสัตย์จริง และอำนาจของพระเจ้า จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสัญญาเหล่านี้ตามความยุติธรรม การไม่ซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาเป็นการใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่เหมาะสม และเป็นการทำให้พระเจ้าตรัสคำเท็จแบบหนึ่งด้วย[72]

 2148  การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า (blasphemy) ขัดกับพระบัญญัติประการนี้โดยตรง เป็นการกล่าวถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง ตำหนิติเตียน และท้าทาย – ภายในใจหรือกล่าวออกมาภายนอก – ต่อพระเจ้า การกล่าวร้ายถึงพระเจ้า การแสดงความไม่เคารพต่อพระองค์ด้วยคำพูด การใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่เหมาะสม นักบุญยากอบกล่าวประณามผู้ที่ “กล่าวร้ายต่อพระนาม(เยซู)ซึ่งบันดาลให้ [เขา] เป็นของพระเจ้า” (ยก 2:7) การห้ามกล่าวดูหมิ่นพระเจ้ายังรวมไปถึงการกล่าวร้ายต่อพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า ต่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (นักบุญ) ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วย การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้ายังรวมไปถึงการใช้พระนามพระเจ้ามาปกป้องความผิดของตน มาบังคับประชาชนให้เป็นทาส มาทรมานหรือประหารชีวิต การนำพระนามของพระเจ้ามาใช้ประกอบอาชญากรรมเป็นการผลักดันให้ผู้อื่นไม่ยอมรับนับถือศาสนา 
         การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้าขัดกับการถวายคารวะที่ต้องแสดงต่อพระเจ้าและพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ จึงเป็นบาปหนักโดยธรรมชาติของตัวเอง[73]

 2149   การสาบาน ที่นำพระนามของพระเจ้าเข้ามาแทรกไว้ด้วย แม้จะไม่มีเจตนาที่จะกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ก็เป็นการขาดความเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พระบัญญัติประการที่สองยังห้ามการใช้พระนามของพระเจ้าในเวทย์มนต์คาถาด้วย

“ที่ใดมีการออกพระนามของพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ ที่นั่นพระนามของพระเจ้าย่อมยิ่งใหญ่ ในทำนองเดียวกัน ที่ใดที่มีการออกพระนามด้วยความเคารพและยำเกรงไม่กล้าทำผิด ก็ย่อมกล่าวได้ว่าที่นั่นพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์”[74]

 

[68] เทียบ ศคย 2:17.             

[69] เทียบ สดด 29:2; 96:2; 113:1-2.

[70] Ioannes Henricus Newman, Parochial and Plain Sermons, v. 5, Sermon 2 [Reverence, a Belief in God’s Presence] (Westminster 1967) p. 21-22.

[71] เทียบ มธ 10:32; 1 ทธ 6:12.   

[72] เทียบ 1 ยน 1:10.             

[73] Cf CIC canon 1369.         

[74] Sanctus Augustinus, De sermone Domini in monte, 2, 5, 19: CCL 35, 109 (PL 34, 1278).          

II.  การกล่าวพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่เหมาะสม

II.  การกล่าวพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่เหมาะสม

 2150    พระบัญญัติประการที่สองห้ามการสาบานเท็จ  การสาบานคือการนำพระเจ้ามาเป็นพยานในเรื่องที่ตนกล่าวยืนยัน เป็นการเรียกความสัตย์จริงของพระเจ้ามาเป็นประกันว่าตนพูดความจริง การสาบานนำพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใช้  “ท่านจะต้องยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน ท่านจะต้องกราบไหว้พระองค์และสาบานโดยออกพระนามพระองค์เท่านั้น” (ฉธบ 6:13)

 2151   เป็นหน้าที่ต่อพระเจ้า  ที่จะไม่ยอมรับการสาบานเท็จ  พระเจ้าในฐานะพระผู้เนรมิตสร้างและองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นกฎของความจริงทุกประการ ถ้อยคำของมนุษย์สอดคล้องหรือขัดแย้งกับพระเจ้าผู้ทรงเป็นความจริง  การสาบาน ถ้าจริงและถูกต้อง เน้นว่าถ้อยคำของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับความจริงของพระเจ้า การสาบานเท็จเรียกพระเจ้าให้มาเป็นพยานยืนยันคำมุสา

 2152   ผู้ที่สัญญาด้วยการสาบาน โดยไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตาม หรือหลังจากสัญญาโดยสาบานแล้วไม่ถือคำสัญญานั้น ก็เป็นผู้ทวนสาบาน (ผิดคำสาบาน) การทวนสาบานนับเป็นความผิดหนักเพราะขาดความเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของคำพูดทั้งหลาย การผูกมัดตนเองด้วยคำสาบานว่าจะทำชั่วขัดกับความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนามของพระเจ้า

 2153   พระเยซูเจ้าทรงอธิบายพระบัญญัติประการที่สองนี้ในบทเทศน์บนภูเขา “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย [...] ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ คำพูดที่มากไปกว่านั้นมาจากมารร้าย” (มธ 5:33-34,37)[75]พระเยซูเจ้าทรงสอนว่าคำสาบานทั้งหลายหมายถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเราต้องให้เกียรติแก่การประทับอยู่ของพระเจ้าและความจริงของพระองค์ในคำพูดทุกคำ เราต้องระวังตัวกล่าวอ้างถึงพระเจ้าแต่พอควรพร้อมกับให้ความเคารพต่อการประทับอยู่ของพระองค์ซึ่งเราเป็นพยานถึงหรือลบหลู่ในคำพูดทุกคำของเรา

 2154   ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรปฏิบัติตามตัวอย่างของนักบุญเปาโล[76] เข้าใจว่าพระวาจาของพระเยซูเจ้าไม่ขัดกับการสาบานถ้าการนี้มีเหตุผลสมควร (เช่น ในศาล) “การสาบาน นั่นคือการเรียกขานพระนามของพระเจ้ามาเป็นพยานความจริง ทำไม่ได้ เว้นแต่ด้วยความจริง ในการพิพากษา และในเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรม”[77]

 2155  ความศักดิ์สิทธิ์ของพระนามพระเจ้าเรียกร้องไม่ให้สาบานในเรื่องไม่สำคัญ และไม่ควรสาบานในกรณีที่การสาบานอาจเข้าใจได้ว่าเป็นการรับรองอำนาจที่เรียกร้องให้สาบานอย่างอยุติธรรม เราอาจปฏิเสธไม่ยอมสาบานได้เมื่อการสาบานถูกเรียกร้องจากอำนาจปกครองบ้านเมืองที่ไม่ถูกต้อง เราต้องปฏิเสธไม่ยอมสาบาน ถ้าถูกขอร้องให้สาบานเพื่อจุดประสงค์ที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลหรือชุมชนของพระศาสนจักร

 

[75] เทียบ ยก 5:12.1             

[76] เทียบ 2 คร 1:23; กท 1:20.   

[77] CIC canon 1199, § 1.         

III.  ชื่อนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคริสตชน (Christian name)

III.  ชื่อนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคริสตชน (Christian name)

 2156  พิธีศีลล้างบาปประกอบให้เรา “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต” (มธ 28:19) พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าในศีลล้างบาปบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่มนุษย์ และคริสตชนก็รับนามของตนในพระศาสนจักร นามนี้อาจเป็นนามของนักบุญองค์หนึ่ง นั่นคือของศิษย์ซึ่งดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างความซื่อสัตย์ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน การอุปถัมภ์ของผู้ศักดิ์สิทธิ์ท่านนี้ให้แบบอย่างความรักและช่วยวอนขอพระเจ้าแทนเรา “ชื่อเมื่อรับศีลล้างบาป” (baptismal name) ยังอาจแสดงถึงพระธรรมล้ำลึกหรือคุณธรรมบางประการสำหรับคริสตชนได้ “บิดามารดาและเจ้าอาวาสจึงไม่ควรตั้งชื่อที่เข้ากันไม่ได้กับความหมายการเป็นคริสตชน”[78]

 2157   คริสตชนมักเริ่มวันใหม่ เริ่มการอธิษฐานภาวนาและการทำกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน” ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมถวายวันของตนแด่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและอัญเชิญพระหรรษทานของพระผู้ไถ่ให้มาช่วยเขาในฐานะบุตรของพระบิดาให้ทำกิจการในพระจิตเจ้า เครื่องหมายกางเขนยังทำให้เรามีกำลังต่อสู้ในการประจญและความยากลำบากต่าง ๆ

 2158   พระเจ้าทรงเรียกชื่อของเขาแต่ละคน[79] ชื่อของมนุษย์มีความศักดิ์สิทธิ์  ชื่อเป็นภาพวาดของบุคคลนั้น จึงเรียกร้องความเคารพนับถือเป็นเสมือนเครื่องหมายของศักดิ์ศรีของผู้ที่มีนามนั้น

 2159   นามที่เราได้รับเป็นนามแห่งนิรันดรภาพ ในพระอาณาจักร คุณสมบัติลึกลับและโดดเด่นของแต่ละคนที่ได้รับเครื่องหมายจากพระนามของพระเจ้าจะส่องแสงรุ่งโรจน์อย่างเต็มที่ “ผู้ใดมีชัยชนะ เราจะให้ […] ก้อนหินขาวซึ่งมีนามใหม่เขียนไว้ ไม่มีใครรู้จักนามนี้นอกจากผู้ที่ได้รับ” (วว 2:17) “ข้าพเจ้าเห็นภาพนิมิต ลูกแกะทรงยืนอยู่บนภูเขาศิโยน ประชาชนจำนวนหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคนอยู่กับพระองค์ แต่ละคนมีพระนามของลูกแกะ และพระนามของพระบิดาของพระองค์เขียนไว้ที่หน้าผาก” (วว 14:1)

 

[78] CIC canon 855.             

[79] เทียบ อสย 43:1; ยน 10:3.    

สรุป

สรุป

 2160    ข้าแต่พระยาห์เวห์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระนามของพระองค์ช่างยิ่งใหญ่ทั่วแผ่นดิน (สดด 8:1)

 2161    พระบัญญัติประการที่สองสั่งให้เราถวายเกียรติแด่พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์

 2162    พระบัญญัติประการที่สองห้ามมิให้ใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่เหมาะสม การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า (blasphemy) อยู่ที่การใช้พระนามพระเจ้า พระนามพระเยซูคริสตเจ้า พระนามของพระนางพรหมจารีมารีย์ และนามของบรรดานักบุญอย่างหยาบคายไม่เหมาะสม

 2163    การสาบานเท็จเชิญพระเจ้าให้มาเป็นพยานการมุสา การทวนสาบาน (ผิดคำสาบาน) เป็นความผิดหนักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาเสมอ

 2164   “อย่าสาบาน ทั้งโดยอ้างถึงพระผู้เนรมิตสร้าง ทั้งโดยอ้างถึงสิ่งสร้างใดๆ นอกจากจะมีเงื่อนไขทั้งสามประการนี้ คือ ความจริง ความจำเป็น และความเคารพต่อพระเจ้า”[80]

 2165   เมื่อรับศีลล้างบาป คริสตชนรับนามของตนในพระศาสนจักร บิดามารดา พ่อแม่อุปถัมภ์และเจ้าอาวาสจะต้องเอาใจใส่ให้ตั้งชื่อคริสตชนให้เขา นักบุญองค์อุปถัมภ์ให้ตัวอย่างความรักแก่เขาและวอนขอพระเจ้าช่วยเหลือเขา

 2166   คริสตชนย่อมเริ่มการอธิษฐานภาวนาและกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน”

 2167    พระเจ้าทรงใช้นามของเขาเรียกแต่ละคน[81]

 

[80] Sanctus Ignatius de Loyola, Exercitia spiritualia, 38: MHSI 100, 174.             

[81] เทียบ อสย 43:1.