ศิลปินคนหนึ่งได้ออกแบบประตูเป็นพิเศษ สำหรับวัดแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี เขาแบ่ง ประตูออกเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนวาดภาพเรื่องราวในพระวรสาร

ส่วนแรก เขาวาดภาพโอ่งน้ำ 6 ใบ เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่หมู่บ้านคานา ที่พระเยซูเจ้าทรง       เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น (ยน 2:1-12)

ส่วนที่สอง เขาวาดภาพขนมปัง 5 ก้อน และปลา 2 ตัว เป็นอัศจรรย์ที่เมืองคาเปอร์นาอุม ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปังและปลา (มธ 14:13-21 ; มก 6:30-44 ; ลก 9:10-17 ; ยน 6:1-14)

ส่วนที่สาม เขาวาดภาพคน 13 คน นั่งโต๊ะ หมายถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ลก 22:14-20)

ส่วนที่สี่ เขาวาดภาพคน 3 คน ที่โต๊ะ หมายถึง พระเยซูเจ้ากับศิษย์ 2 คน ที่หมู่บ้านเอมมา อูส (ลก 24:13-35)ทานอาหารปัสกา

ศิลปินคนนี้ได้เลือกสี่เหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพิธีมิสซา สัมพันธ์กับพระวร  สารของพระเยซูเจ้า ที่ทรงมอบพระองค์แก่เราในรูปแบบของปังและเหล้าองุ่น

ให้เรามาพิจารณาแต่ละภาพว่าสัมพันธ์กับพิธีมิสซาอย่างไร

ภาพที่หนึ่ง อัศจรรย์ที่หมู่บ้านคานา พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น
บางทีคริสตชนยุคใหม่สงสัยว่า น้ำเปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นได้อย่างไร? คริสตชนยุคแรกไม่สงสัยอัศจรรย์นี้ พวกเขาดำเนินชีวิตกับดินและเห็นบางสิ่งที่คล้ายๆ กันเกิดขึ้นในสวนองุ่นในฤดูร้อน ต้นองุ่นมีน้ำออกมาจากดินด้วยความช่วยเหลือจากดวงอาทิตย์ ได้เปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น แต่สิ่งสำคัญของอัศจรรย์ที่คานา มิใช่วิธีที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ แต่เป็นเหตุผลที่พระองค์ทรงกระทำต่างหาก พระองค์มิได้ทำเพื่อช่วยกู้หน้าของ   บ่าว – สาว ที่เหล้าองุ่นหมดในงานแต่ง

ศิลปินคนนี้ที่วาดภาพประตูวัดบอกว่า พระเยซูเจ้าทรงมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่า พระองค์ทรงต้องการเตรียมบรรดาศิษย์สำหรับอาหารค่ำมื้อสุดท้าย เมื่อพระองค์จะเปลี่ยนเหล้าองุ่นให้เป็นพระโลหิต

 

ภาพที่สอง ขนมปัง 5 ก้อน และปลา 2 ตัว เกี่ยวกับอัศจรรย์ทวีขนมปังและปลา
คริสตชนสมัยใหม่บางคนสงสัยอัศจรรย์นี้ อย่างไรก็ดี คริสตชนสมัยแรกไม่สงสัย พวกเขาเห็นสิ่งที่คล้ายกันเกิดขึ้นทุกปีในทุ่งนาข้าวสาลี ใน  ฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาจะหว่านข้าว 5 ตระกร้า (บูเชล) และพอถึงปลายฤดูร้อน ข้าวสาลีทวีจำนวนเป็น 500 ตระกร้า

สิ่งสำคัญมิใช่พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์อย่างไร แต่ทรงทำทำไม? เป็นเพราะพระองค์สงสารฝูงชนหิวเท่านั้นหรือ?

ศิลปินได้อธิบายว่า อัศจรรย์นี้เป็นโอกาสที่พระเยซูเจ้าสอนประชาชนว่า พระองค์จะเลี้ยงพวกเขาอย่างอัศจรรย์กว่านี้อีก พระองค์จะทรงเลี้ยง พวกเขาอย่างอัศจรรย์กว่าโมเสสได้เลี้ยงบรรพบุรุษของเขาในถิ่นทุรกันดาร พระเยซูเจ้าตรัสกับประชาชนว่า “มิใช่โมเสสที่ให้ขนมปังจาก      สวรรค์แก่ท่าน... เราเป็นปังทรงชีวิต ที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป ปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเรา” (ยน 6:32, 51)

 

ภาพที่สาม ประชาชน 13 คน นั่งโต๊ะรับประทานอาหาร หมายถึง การรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงทำมากกว่าการ    เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น พระองค์ทรงเปลี่ยนเหล้าองุ่นให้เป็นพระโลหิตของพระองค์เอง และพระองค์ทรงกระทำมากกว่าการทวีขนมปัง พระองค์ทรงเปลี่ยนปังให้กลายเป็นพระกายของพระองค์เอง นักบุญมาระโกอธิบายดังนี้ “ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปังตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า ‘จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา’ แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ   ประทานให้เขา และทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า ‘นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก’”     (มก 14:22-24)

 

เรามาถึงรูปสุดท้าย คน 3 คน นั่งโต๊ะ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าทรงรับประทานอาหารปัสกากับศิษย์ 2 คน ที่หมู่บ้านเอมมาอูส ศิลปินนี้อธิบายการรับประทานอาหารที่เอมมาอูสว่าเป็นการถวายมิสซาครั้งแรก นักบุญลูกาอธิบายดังนี้ พระเยซูเจ้า “ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปัง และยื่นให้เขา” (ลก 24:30) การบรรยายนี้ตรงกับสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในอาหารค่ำมื้อสุดท้าย

ประตูของศิลปินผู้นี้เป็นการสรุปพิธีมิสซาอย่างดีมาก เพราะค่อยๆ พัฒนาตามเหตุการณ์ในพระวรสาร ตั้งแต่ คานา ที่เป็นรูปแบบล่วงหน้า มาสู่คาเปอร์นาอุม ที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญา มาสู่กรุงเยรูซาเล็ม ที่พระเยซูเจ้าทรงสถาปนาศีลมหาสนิท มาสู่หมู่บ้านเอมมาอูส ที่พระองค์ทรงถวายมิสซาครั้งแรก

ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันอย่างงดงามกับวันฉลองพระวรกายของพระคริสตเจ้า Corpus Christi เราฉลองพระพรของพระเยซูเจ้าที่ทรงมอบพระองค์     เองเป็นอาหารฝ่ายจิตวิญญาณของเรา พระธรรมล้ำลึกแห่งความรักนี้เกินที่เราจะวาดภาพได้ พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เองให้เรา อย่างสม บูรณ์จนว่าไม่มีอะไรมากกว่านี้สำหรับพระองค์จะให้ได้

ฉะนั้น เวลาที่พี่น้องรับศีลมหาสนิท พระสงฆ์กล่าวว่า “พระกายพระคริสตเจ้า” ขอให้ตระหนักว่า

นี่คือพระวรกายของพระเยซูเจ้า
นี่คือพระเยซูเจ้า องค์เดียวกับผู้ทรงบังเกิดที่เบธเลเฮม
นี่คือพระเยซูเจ้า องค์เดียวกับผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนั้น
นี่คือพระเยซูเจ้า องค์เดียวกับผู้ทรงกลับคืนชีพจากความตาย

อาศัยความเชื่อ เรารู้ว่าเป็นจริง เพราะพระบิดาทรงมอบพระพรนี้แก่ลูกของพระองค์

พระสังฆราชวีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sunday Homilies Year B
Mark Link SJ. หน้า 492-496.

Home

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120