การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสำคัญหลายขั้นตอนที่นำไปสู่การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หรือผู้สืบตำแหน่งนักบุญเปโตร กระบวนการนี้เรียกว่า “Sede Vacante” หรือ “บัลลังก์พระสันตะปาปาว่างลง” ซึ่งมีขั้นตอนและประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นระบบของศาสนจักรคาทอลิก

ขั้นตอนหลักหลังพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์

1. Sede Vacante (ตำแหน่งว่าง)

• เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ วาติกันจะเข้าสู่ช่วง Sede Vacante หรือ “บัลลังก์พระสันตะปาปาว่างลง” ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาองค์เดิมจนถึงการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่
• ในช่วงนี้ คณะคาร์ดินัลจะเข้ามารับผิดชอบการบริหารศาสนจักรชั่วคราว แต่ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักหรือแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ

2. พิธีศพและพิธีไว้อาลัยเก้าวัน (Novendiali)
• จะมีพิธีศพของพระสันตะปาปา พร้อมกับ “พิธีมิสซาเก้าวันอุทิศแด่ดวงวิญญาณพระสันตะปาปาผู้ล่วงลับ” (Novendiali)

3. การประชุมใหญ่คณะคาร์ดินัล (General Congregations)
• คณะคาร์ดินัลจะประชุมเพื่อเตรียมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ รวมถึงการกำหนดวันเลือกตั้งและเตรียมสถานที่
• คาร์ดินัลที่มีอายุเกิน 80 ปี สามารถเข้าร่วมประชุมเตรียมการได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

4. การเลือกตั้งพระสันตะปาปา (Conclave)
• การเลือกตั้งพระสันตะปาปา หรือ “Conclave” จะจัดขึ้นในวัดน้อยซิสติน ภายใน 15-20 วันหลังการสิ้นพระชนม์
• มีคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปี ไม่เกิน 120 คน เป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง
• ณ วันที่ 21 เมษายน 2025 มีคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 135 คน (แม้ Universi Dominici Gregis จะกำหนดเพดานไว้ที่ 120 คน) โดยในจำนวนนี้ 133 คนได้รับแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา ฟรานซิส และมีคาร์ดินัลที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งอีก 117 คน
• ผู้ได้รับเลือกต้องเป็นชายคาทอลิกที่รับศีลล้างบาป (แม้ในทางทฤษฎีจะไม่จำเป็นต้องเป็นคาร์ดินัล แต่ในทางปฏิบัติทุกคนเป็นคาร์ดินัล)

5. กระบวนการลงคะแนนเสียง
• การลงคะแนนจะเป็นความลับ ต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด
• หากยังไม่ได้ผู้ที่ได้รับเลือก จะมีการลงคะแนนใหม่วันละ 4 รอบ (2 รอบเช้า 2 รอบบ่าย) จนกว่าจะได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่
• เมื่อได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่ จะมีพิธี “Habemus Papam” ประกาศพระนามพระสันตะปาปาองค์ใหม่ต่อสาธารณชน

6. สัญลักษณ์ควันขาว-ควันดำ
• ทุกครั้งที่มีการลงคะแนน บัตรลงคะแนนจะถูกเผาในเตาเผาพิเศษ หากยังไม่ได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเกิดควันดำ (ไม่มีผล) หากได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเกิดควันขาว (สำเร็จ)

7. การรับตำแหน่ง
• เมื่อพระสันตะปาปาองค์ใหม่ตอบรับ จะมีการเลือกพระนามใหม่ และเข้าสู่พิธีรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

การเลือกตั้งพระสันตะปาปา: กฎเกณฑ์และกระบวนการของการประชุมเลือกตั้ง (Conclave) ตามหลัก Universi Dominici Gregis (ธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งพระสันตะปาปา)

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ได้ยืนยันโครงสร้างสำคัญนี้ และกำหนดให้ขั้นตอนทั้งหมดของการเลือกตั้งต้องจัดขึ้น “เฉพาะในวัดน้อยซิสติน”

พระองค์ตรัสว่า “ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของการกระทำนี้ และความเหมาะสมที่จะประกอบในสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งพิธีกรรมทางศาสนาสอดคล้องกับระเบียบกฎหมาย และผู้เลือกตั้งสามารถเตรียมจิตใจให้พร้อมรับการนำของพระจิต พ่อจึงกำหนดให้การเลือกตั้งยังคงต้องจัดในวัดน้อยซิสติน ที่ซึ่งทุกสิ่งเอื้อให้เกิดความตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า...” (Universi Dominici Gregis, ข้อ 9)

เหตุผลและหลักการสำคัญ
• จุดประสงค์หลักของ Conclave คือการปกป้องกระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาจากอิทธิพลภายนอก และมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับคณะเลือกตั้งที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (คณะคาร์ดินัล)

การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประการตาม Universi Dominici Gregis

1.ที่พักของพระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้ง
• ตลอดช่วงการเลือกตั้ง พระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งและผู้ที่เกี่ยวข้องจะพักอยู่ที่sหอพัก ซานตา มาร์ธา ในนครรัฐวาติกัน

2.วิธีการลงคะแนน
• คาร์ดินัลผู้เลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปาได้ “โดยการลงคะแนนลับเท่านั้น”

3.เสียงข้างมากที่จำเป็น
• เดิมตาม Universi Dominici Gregis (ข้อ 75) กำหนดว่า หากลงคะแนนถึงครั้งที่ 33 หรือ 34 แล้วไม่สามารถเลือกได้ ให้ใช้เสียงข้างมากเกินครึ่ง (Absolute Majority) ก็เพียงพอ
• ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้แก้ไขกฎนี้ในปี 2007 โดยกำหนดให้ต้องได้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของผู้เลือกตั้งที่เข้าร่วมเสมอ ไม่ว่าจะลงคะแนนกี่รอบ

Sede Vacante: การบริหารศาสนจักรคาทอลิกเมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์
Sede Vacante หมายถึงช่วงเวลาที่ “บัลลังก์พระสันตะปาปาว่างลง” คือระยะเวลาระหว่างการสิ้นสุดพันธกิจของพระสันตะปาปาองค์หนึ่ง (โดยการสิ้นพระชนม์หรือการลาออก) จนถึงการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ช่วงเวลานี้ถูกกำหนดและควบคุมอย่างเข้มงวดตามรัฐธรรมนูญสมณสาสน์ Universi Dominici Gregis ซึ่งออกโดยพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1996

ใครเป็นผู้บริหารศาสนจักรในช่วง Sede Vacante
ในช่วง Sede Vacante อำนาจการบริหารศาสนจักรคาทอลิกจะอยู่ในมือของคณะคาร์ดินัล (College of Cardinals) แต่มีอำนาจจำกัดเฉพาะการจัดการเรื่องทั่วไปหรือเรื่องเร่งด่วน และการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม คณะพระคาร์ดินัลไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องที่เป็นสิทธิพิเศษเฉพาะของพระสันตะปาปาในระหว่างที่พระองค์ยังมีชีวิตอยู่

เกิดอะไรขึ้นกับหัวหน้าส่วนราชการวาติกัน (Roman Curia) ในช่วง Sede Vacante
เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ เจ้าสมณกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการ (Prefects) ของทุกสำนักในวาติกันจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ยกเว้นบางตำแหน่งสำคัญที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การบริหารงานประจำวันของวาติกันดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ได้แก่

• คาร์ดินัลคาร์เมอร์เล็นโก้ (เช่น คาร์ดินัลเควิน ฟาร์เรลล์): ดูแลและบริหารทรัพย์สินและสิทธิของสันตะสำนักในช่วงว่างตำแหน่ง
• Major Penitentiary (คาร์ดินัลแองเจโล่ เด โดนาติส): รับผิดชอบเรื่องการให้อภัยบาปสำคัญ
• คาร์ดินัลอุปบิช็อปของกรุงโรม (คาร์ดินัลบัลดาสซาเร่ เรย์น่า) ดูแลเขตศาสนปกครองโรม
• คาร์ดินัลเจ้าวัดมหาวิหารนักบุญเปโตร (คาร์ดินัลเมาโร่ กัมเบ็ตติ)
• นักสังคมสงเคราะห์แห่งสันตะสำนัก (คาร์ดินัลคอนราด คราเยฟสกี้)
• รองเลขาธิการนครรัฐวาติกัน (อาร์คบิช็อป เอ็ดการ์ เปญ่า ปาร์ร่า)
• เลขาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (อาร์คบิช็อป พอล กัลลาเกอร์)
• หัวหน้านายจารีตประจำสันตะสำนัก (อาร์คบิช็อปดีเอโก้ ราเวลลี่)

นอกจากนี้ เลขาธิการของแต่ละสมณกระทรวง (Secretaries of the Dicasteries) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานของตนต่อไป

บทบาทของคณะพระคาร์ดินัลในช่วง Sede Vacante
• คณะพระคาร์ดินัลจะประชุมกันที่กรุงโรม (ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ) และแบ่งการประชุมออกเป็น 2 ประเภท:
   1. General Congregations: ประชุมใหญ่ของคณะพระคาร์ดินัลทั้งหมด (รวมผู้ที่อายุเกิน 80 ปี) เพื่อวางแผน เตรียมการเลือกตั้ง และตัดสินใจเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น กำหนดวันเริ่มการลงคะแนนเสียง
   2. Particular Congregations: ประกอบด้วยคาร์ดินัลคาร์เมอร์เล็นโก้ และคาร์ดินัลอีก 3 คน (จากกลุ่มบิช็อป สงฆ์ และสังฆานุกร) ซึ่งจับสลากหมุนเวียนทุก 3 วัน ทำหน้าที่ดูแลกิจการประจำวัน ส่วนเรื่องสำคัญต้องนำเสนอที่ประชุมใหญ่

ข้อจำกัดและหลักการสำคัญ
• ในช่วง Sede Vacante คณะพระคาร์ดินัลไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักหรือแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญใดๆ ที่เป็นสิทธิพิเศษของพระสันตะปาปา
• การตัดสินใจเรื่องสำคัญหรืออ่อนไหวจะถูกสงวนไว้ให้พระสันตะปาปาองค์ใหม่เท่านั้น
• ชีวิตและกิจกรรมของศาสนจักรยังดำเนินต่อไปตามปกติในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

ขั้นตอนสำคัญก่อนเริ่มเลือกตั้งพระสันตะปาปา
ก่อนการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น จะมีพิธีมิสซาอย่างสง่า เรียกว่า “มิสซาเพื่อการเลือกตั้งพระสันตะปาปา” (Pro Eligendo Papa) โดยมีคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าร่วมทั้งหมด ในช่วงบ่าย คาร์ดินัลจะเดินเข้าสู่วัดน้อยซิสติน เพื่อเริ่มต้นการประชุมเลือกตั้ง (Conclave)

เมื่อขบวนเข้าสู่วัดน้อยซิสติน คาร์ดินัลแต่ละคนจะกล่าวคำปฏิญาณตามที่กำหนดไว้ในข้อ 53 ของ Universi Dominici Gregis โดยให้คำมั่นว่า หากได้รับเลือก จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สืบตำแหน่งนักบุญเปโตรด้วยความซื่อสัตย์ต่อศาสนจักรสากล และจะรักษาความลับทุกอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงไม่สนับสนุนการแทรกแซงจากภายนอก

หลังจากนั้น นายจารีตประจำสันตะสำนักจะประกาศ “Extra omnes” (ทุกคนออกไป) ให้ทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากวัดน้อยซิสติน เหลือเพียงนายจารีตประจำสันตะสำนักและนักบวชที่ได้รับมอบหมายให้เทศน์เรื่องความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของการเลือกตั้งพระสันตะปาปาและความจำเป็นต้องกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของศาสนจักร

เมื่อเทศน์จบ ทั้งสองท่านจะออกไป เหลือแต่คาร์ดินัลผู้เลือกตั้ง ซึ่งจะสวดภาวนาและรับฟังคำชี้แจงจากหัวหน้าคณะคาร์ดินัลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ

มาตรการรักษาความลับและป้องกันการแทรกแซง
การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเฉพาะในวัดน้อยซิสติน ซึ่งถูกปิดตายอย่างสมบูรณ์ ไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอก คาร์ดินัลห้ามส่งจดหมาย โทรศัพท์ หรือรับข่าวสารใด ๆ เว้นแต่กรณีฉุกเฉินสูงสุด

เสียงข้างมากที่ต้องการ
ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา ต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของคาร์ดินัลที่เข้าร่วมเลือกตั้ง หากจำนวนไม่หารสามลงตัว จะต้องได้คะแนนเพิ่มอีกหนึ่งเสียง

วันแรกจะมีการลงคะแนนเพียงรอบเดียว จากนั้นในแต่ละวันจะมีการลงคะแนน 4 รอบ (เช้า 2 รอบ บ่าย 2 รอบ) หากไม่มีผู้ได้รับเลือกหลังจาก 3 วัน จะหยุดลงคะแนนชั่วคราว 1 วันเพื่อภาวนาและหารือ จากนั้นจะลงคะแนนต่ออีก 7 รอบ หากยังไม่ได้ผู้ได้รับเลือก จะหยุดอีกครั้ง และวนซ้ำแบบนี้จนกว่าจะได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่

ขั้นตอนหลังการเลือกตั้ง
เมื่อได้ผู้ได้รับเลือก หัวหน้าคณะคาร์ดินัลจะถามความยินยอมว่า “ท่านยอมรับการเลือกตั้งนี้หรือไม่” หากยอมรับ จะถามต่อว่า “ท่านต้องการใช้นามใด” จากนั้นจะมีการบันทึกอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่วินาทีนั้น ผู้ได้รับเลือกจะกลายเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่โดยสมบูรณ์ คาร์ดินัลทุกคนจะถวายความเคารพและปฏิญาณความจงรักภักดี จากนั้นคาร์ดินัลที่อาวุโสสุดในระดับคาร์ดินัลสังฆานุกร (Protodeacon) จะประกาศต่อประชาชนที่จัตุรัสนักบุญเปโตรด้วยวลี “Annuntio vobis gaudium magnum; Habemus Papam” (“ขอประกาศข่าวดีแก่ท่านทั้งหลาย เรามีพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว”)

พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะออกมาที่ระเบียงกลางของมหาวิหารนักบุญเปโตรเพื่อประทานพร “Urbi et Orbi” แก่กรุงโรมและโลก

หลังจากนั้น จะมีพิธีสถาปนาอย่างเป็นทางการ และพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเข้ารับตำแหน่งประมุขของมหาวิหารซานโจวานนี่ อิน ลาเตราโน่ ตามพิธีกรรมที่กำหนดไว้

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120