คำสอน 5 นาที - หมวดนักบุญ

ภาพ พระคริสต์ของนักบุญยอห์น แห่งไม้กางเขน

         คุณอาจเคยเห็นภาพพระคริสต์รูปนี้ในหน้าปกหนังสือคำสอน หรือนิตยสารบางฉบับ เช่น ดอนบอสโกฉบับใหม่ ภาพนี้ทำให้ผมนึกถึงครั้งหนึ่งมีโอกาสไปประชุมงานคำสอนผู้ใหญ่ที่กรุงลอนดอน พอดีช่วง 26 กุมภาพันธ์ - 7 พฤษภาคม 2000 กำลังมีนิทรรศการ ภาพลักษณ์ของพระคริสต์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ในโอกาสปี 2000 ผมเห็นว่าภาพพระคริสต์รูปนี้แปลกดี จึงซื้อมาเผื่อมีประโยชน์บ้างในงานคำสอน
         ซัลวาดอร์ ดาลี (1904-1989) ศิลปินชาวสเปน เป็นผู้วาดภาพนี้ที่ ปอร์ต ลีกาต บ้านเกิดเมืองนอนของเขา ในฤดูร้อน ค.ศ.1951 ขณะอายุ 47 ปี และนำมาแสดงครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศ
         อังกฤษในปีนั้นเอง ประชาชนสนใจมาก และในเดือนมกราคม 1952 พิพิธภัณฑ์กลาสโกว์ซื้อไปด้วยราคา 8,200 ปอนด์ (ประมาณห้าแสนบาท) ในสมัยนั้นเอง (50 ปีมาแล้ว)
         ตามปกติภาพกางเขน เราเห็นจากข้างล่าง มองขึ้นไป จะเห็นพระพักตร์ แต่ภาพนี้กลับมองตรงข้าม คือมองจากมุมข้างบนลงมา และซ่อนพระพักตร์พระเยซูคริสตเจ้าสำหรับประชาชนบางคน (ในสมัยนั้น) เห็นว่าเป็นการลบหลู่อย่างร้ายกาจ ฉะนั้นในปี 1961 ถูคนบุกเข้าไปทำลายเสียหายมากและได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างพิถีพิถัน
         ศิลปินผู้วาดภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพในสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นของนักบุญยอห์น แห่งไม้กางเขน (1542-1591) ซึ่งเกิดใกล้เมืองอาวีลาประเทศสเปน หลังจากที่นักบุญได้เห็นนิมิตพระคริสต์บนไม้กางเขน ภาพนี้แสดงให้เห็นไม้กางเขนลอยอยู่โดยไม่มีอะไรรองรับมีคนให้ข้อคิดว่า เหมือนกับแสดงให้เห็นไม้กางเขนของคนกำลังสิ้นใจ
         ภาพภูมิประเทศส่วนล่างเป็นปอร์ต ลีกาด ของศิลปินเอง มีชาวประมงยืนด้านขวาของเรือ ได้ความคิดมาจากภาพของศิลปินเลอนาอิน ชาวฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 17 ขณะที่ทางซ้าย ได้ความคิดจากศิลปินเวลาสเกซ์
         ซัลวาดอร์ ดาลี ได้เขียนชี้แจงวัตถุประสงค์ของภาพ ในจดหมายถึงพิพิธภัณฑ์กลาสโกว์ว่า "ผมต้องการวาดภาพนี้ให้ตรงข้ามกลับภาพพระคริสต์ทั่วไป โดยศิลปินสมัยใหม่ ผู้พยายามตีความพระองค์ แบบแสดงความรู้สึกมากกว่าแสดงให้เหมือนของจริง และบิดเบือน จึงทำให้ได้อารมณ์โดยผ่านความน่าเกลียด ความตั้งใจหลักผมอยากให้ภาพพระคริสต์ของผมน่าจะเป็นภาพที่สวยงานในฐานะที่พระองค์เป็นพระเจ้า"
         ภาพพระคริสต์ของนักบุญยอห์น แห่งไม้กางเขน จึงเป็นงานชิ้นหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ของดาลีที่มีชื่อเสียงมาก ถือว่าเป็นภาพที่สำคัญที่สุดและทรงคุณค่าในด้านศิลปะศาสนา

(อุดมสารรายสัปดาห์  ฉบับที่ 9,  24 ก.พ.-2 มี.ค. 2002)

HOME