ภาพ/ข่าว โดย..ศูนย์คำสอนสังฆมณฑลเชียงใหม่


คณะกรรมการคริสตศาสนธรรมแผนกคริสตศาสนธรรมนำโดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ พระสังฆราชซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี นำคุณครูคำสอนไทย พระสงฆ์และนักบวช รวม 49 คน ร่วมฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอนโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 22-30 กันยายน 2016

กำหนดการฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอนคือวันที่ 23-25 กันยายน 2016 ซึ่งจะปิดการฉลองด้วยมิสซา โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่จตุรัสนักบุญเปโตร ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2016

จากนั้น ครูคำสอนจะไปแสวงบุญในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น ที่ San Giovanni Rotondo (น.ปีโอ) ,เมืองปอมเปอี, บ้านเกิด น.มารีอากอเร็ตตี เป็นต้น

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#1)

เช้าวันที่ 23 กันยายน 2016 กลุ่มครูคำสอนไทยเดินทางถึงกรุงโรมเพื่อแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน อากาศที่กรุงโรมวันนี้อุณหภูมิ 16-25 องศา อากาศเย็นสบาย กลุ่มครูคำสอนไทยได้เริ่มการไปแสวงบุญที่มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกรุงโรม พระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรี ได้นำสวดภาวนาขอพระคุณการุณย์ก่อนเข้าประตูศักดิ์สิทธิ์และได้ร่วมมิสซาในวัดน้อยนักบุญสเตเฟน โดยพระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรี เป็นประธาน พระคุณเจ้าได้ให้ข้อคิดในมิสซาว่า "เรามาอยู่ที่โรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรคาทอลิก เราทราบว่าพระศาสนจักรถูกสร้างขึ้นโดยนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล วันนี้เราอยู่ในวิหารนักบุญเปาโล เป็นที่ซึ่งนักบุญเปาโลเสียชีวิต ให้เรานำประสบการณ์ความเชื่อที่เราได้รับนี้กลับไปแบ่งปันกับคนไทยด้วยการเป็นพยานด้วยชีวิต ดังคำของนักบุญเปาโลที่ว่าวิบัติแก่ข้าพเจ้าหากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี"

จากนั้น ทุกคนเดินทางต่อไปแสวงบุญที่มหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตลัน ได้สวดขอพระคุณการุณย์ก่อนเข้าประตูศักดิ์สิทธิ์ของวิหาร และได้ไปชมบันไดศักดิ์สิทธิ์

หลังอาหารเที่ยง ทุกคนได้ไปสนามกีฬาโคโลเซียม ไปชมน้ำพุเตวี่ บันไดสเปน และที่สำคัญได้ไปชมภาพวาดการเรียกของนักบุญมัทธิวที่วัด น.หลุยส์ของชาวฝรั่งเศส

ก่อนจะไปรับประทานอาหารเย็นและไปพักผ่อนที่โรงแรมในโรมเป็นวันแรก (
ดูรูปเพิ่มเติม)

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#2)

วันที่ 24 กันยายน 2016 กลุ่มครูคำสอนไทยเดินทางไปแสวงบุญที่วัดแม่พระนิจจานุเคราะห์ ซึ่งเป็นบ้านศูนย์กลางของคณะพระมหาไถ่ในโรม จากนั้นเดินทางต่อไปยังวิหารแม่พระแห่งหิมะ (Basilica Santa Maria Maggiore) ได้เดินเข้าประตูศักดิ์สิทธิ์ของวิหาร และได้ร่วมมิสซาในวัดน้อยของวิหารโดยคุณพ่อสกล ปันฉาย คุณพ่อได้ให้ข้อคิดในมิสซาว่า "ตัวพ่อเองรู้สึกว่าการมาแสวงบุญครั้งนี้เป็นพระพรในโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม ชีวิตของคนเรามีทั้งความสุขและความทุกข์ วันนี้เราหัวเราะอีกวันเราอาจร้องไห้ ยทอ่านแรกจากหนังสือปัญญาจารย์เตือนใจคริสตชนว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในชีวิตของพระเยซูเจ้าเอง ยังมีช่วงเวลาที่ทุกคนสรรเสริญและมีเวลาแห่งกางเขนเช่นกัน ความสุขอาจจะอยู่กับเราไม่นาน ที่สำคัญคือ เราต้องไว้ใจในพระเจ้าเสมอ" ภายในวิหารดังกล่าวนี้มีพระแท่นซึ่งถวายแด่แม่พระแห่งชาวเมืองโรมซึ่งทุกครั้งที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จไปทำภารกิจต่างแดนก็จะทรงเสด็จมาขอพรและขอบคุณพระแม่ที่นี่ทุกครั้ง

จากนั้นพวกเราได้ไปซื้อรูปพระและอุปกรณ์สักการภัณฑ์ที่ร้านค้าแล้วจึงรับประทานอาหารเที่ยง

ในช่วงบ่าย ทุกคนเดินทางไปเมือง Nettuno ซึ่งอยู่ทางใต้ของโรม เป็นเมืองติดชายทะเล เพื่อไปแสวงบุญที่สักการสถานนักบุญมารีอา กอแร็ตตี ตามประวัติ ท่านเกิดปี 1890 ที่แอนโกนา อิตาลี ในครอบครัวยากจน วันแต่งงานของบิดามารดาของท่านจัดแบบเรียบง่าย มีพยานเป็นแม่บ้านมาร่วมงาน 2 คน และเพราะความยากจนท่านจึงย้ายบ้านมาที่ Nettuno ต่อมาในปี 1900 บิดาของท่านเสียชีวิตด้วยโรคมาเลเรีย เมื่อท่านอายุ 12 ปี ท่านได้ถูกแทงตายด้วยเหล็กแหลม 14 ครั้ง เป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยนายอเล็กซานโดร เมื่อถูกทำร้าย ท่านถูกส่งไปที่โรงพยาบาล คุณพ่อท่านหนึ่งไปพูดคุยและถามท่านว่าคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่ทำร้ายเธอ ท่านนักบุญตอบว่า "ฉันให้อภัยและหวังว่าจะพบเขาในสวรรค์" และในปี 1947 ท่าน ได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศี ต่อมาปี 1950 พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ประกาศให้ท่านเป็นนักบุญมรณสักขีที่ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร นับเป็นครั้งแรกที่มีพิธีสถาปนานักบุญนอกมหาวิหาร มีคริสตชนมาร่วมงานเยอะมากเพราะปีนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ พระธาตุของนักบุญในสักการสถานนี้เป็นหุ่นขี้ผึ้งซึ่งมีลักษณะเหมือนท่านนักบุญ เส้นผมที่หุ่นขี้ผึ้งได้รับมาจากเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งได้รับอัศจรรย์ผ่านทางคำเสนอของท่านนักบุญ มีกล่องใส่พระธาตุเป็นกระดูกอยู่ที่หน้าอก ต่อมา นายอเล็กซานโดรได้เป็นนักบวชคณะกาปูชิน และได้มาร่วมงานวันสถาปนาท่านเป็นนักบุญด้วยซึ่งในเวลานั้น เขามีอายุ 96 ปี นักบุญมารีอา กอแร็ตตี เป็นแบบอย่างของความบริสุทธิ์และการให้อภัยสำหรับคริสตชน

จากนั้นพวกเราเดินทางกลับโรม รับประทานอาหารเย็น และพักผ่อน  (
ดูรูปเพิ่มเติม)

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#3)

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2016 ครูคำสอนไทยร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอนโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นประธาน

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์เตือนใจครูคำสอนจากพระวรสาร น.ลูกาเรื่องของลาซารัสว่า

"ในบทอ่านที่ 2 น.เปาโลเตือนใจเราถึงหัวใจสำคัญของความเชื่อคือ พระเยซูกลับคืนชีพและพระองค์ทรงรักเรา พระองค์อยู่ใกล้และอยู่เคียงข้างเรา ไม่มีอะไรสำคัญเท่าเรื่องนี้ เราถูกเรียกเพื่อประกาศข่าวเรื่องนี้ พระบัญญัติคือให้เรารักกัน พระเจ้าทรงรักเราและให้เรารักกันและกัน

พระวรสารวันนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าความรักคืออะไร เศรษฐีนั้นพบกับความทุกข์ของการตาบอดเพราะมองไม่เห็น เขาตาบอดเพราะใจของเขาบอด เขามองเห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ภายนอกแต่ไม่เห็นการเป็นบุคคล

มีลาซารัสมากมายในโลกทุกวันนี้ ชื่อ"ลาซารัส" แปลว่า พระเจ้าทรงช่วยเหลือ พระองค์ไม่ทรงลืมเขา แต่ต้อนรับเขาให้ร่วมงานเลี้ยงกับพระองค์ ในเรื่องอุปมานี้ มีการเอ่ยเพียงชื่อของลาซารัสเท่านั้น ไม่มีชื่อบุคคลอื่น เราไม่ทราบชื่อของเศรษฐี ใครก็ตามที่มีขีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น เขาจะไม่มีชื่อ เราอยู่ในโลกของการที่ไม่สนใจกัน...

พี่น้องครูคำสอนที่รัก ขอพระเจ้าประทานพระหรรษทานฟื้นฟูเราทุกวัน ให้รู้ถึงความยินดีของการประกาศว่า พระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ พระองค์รักเราแต่ละคน ขอพระเจ้าประทานความเข้มแข็งของการมีชีวิตประกาศบัญญัติใหม่แห่งความรัก ให้เราเอาชนะการตาบอดและความเศร้าใจฝ่ายโลก และให้เราไวต่อการช่วยเหลือคนยากจน"

ในช่วงภาวนาเพื่อมวลชนในมิสซาวันนี้ คนไทยได้รับเกียรติให้อ่านบทภาวนาเป็นภาษาไทยด้วย 1 ข้อ โดย ซ.อำพร ศิริคชลักษณ์ คณะแม่ปอน เป็นผู้อ่าน นอกนั้น มีตัวแทนครูคำสอนไทย 2 ท่านคือ คุณปาลิตา พลอยคีรี และคุณปริมจิต เยเบียง จากเชียงใหม่ พระสังฆราชและพระสงฆ์ไทยได้เข้าเฝ้าพบพระสันตะปาปาในตอนท้ายมิสซาด้วย


หลังอาหารกลางวัน ครูคำสอนได้เข้าชมภายในมหาวิหารนักบุญเปโตรและเดินเข้าประตูศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งได้สวดภาวนาขอพรจากพระเจ้าในมหาวิหารด้วย  (ดูรูปเพิ่มเติม)

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#4)

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2016 ครูคำสอนไทยเดินทางไปแสวงบุญที่เมือง San Giovanni Rotondo ซึ่งอยู่ทางใต้ของโรม ระยะทางจากโรมประมาณ 400 กิโลเมตรเพื่อเยี่ยมสักการสถานของนักบุญปีโอ
 
ในตอนบ่ายทุกคนร่วมมิสซาที่วัดพระมารดาแห่งพระหรรษทาน (อารามของคุณพ่อปีโอ) โดยคุณพ่อเอนก นามวงษ์ คุณพ่อได้ให้ข้อคิดในมิสซาว่า "พ่อปีโอได้ภาวนาก่อนสิ้นใจว่า มีพระพรมากมาย มีการทรมานมากมาย ฉันอยู่ในพระองค์ และพระองค์ก็อยู่ในฉัน ทุกอัศจรรย์และทุกอย่างเป็นพระเจ้าทรงทำงานในตัวท่าน นี่คือความสุภาพที่เราพบในตัวท่าน พระวาจาวันนี้บอกถึงบรรดาศิษย์ถกเถียงกันเรื่องใครเป็นใหญ่ พ่อปีโอได้เป็นภาพสะท้อนชีวิตของพระเยซูเจ้า คุณพ่อน้อมรับทุกอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของท่าน ด้วยใจสุภาพ ครูคำสอนที่รัก เรามาที่นี่เห็นวัดและสถานที่สวยงาม สิ่งนี้ต้องช่วยเราให้คิดถึงพระเจ้า ให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงและมีความสุภาพมากขึ้น อย่ามัวแต่เถียงกันเรื่องตำแหน่งเหมือนสาวก ให้เราพบพระและมีชีวิตที่ถ่อมตนต่อหน้าพระองค์"

อนึ่ง คุณพ่อปีโอ นักบุญผู้มีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ไม่นาน ไม่ถึงเดือน พระเยซูเจ้าและแม่พระได้ปรากฏมาและให้รอยแผลศักดิ์สิทธิ์กับคุณพ่อปีโอเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ขณะภาวนาหลังจากถวายมิสซาที่ปิอานา โรมานา (Piana Romana) คุณพ่อได้ขอพระเยซูเจ้าให้ขจัดมันออกไป กระทั่งวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1918 คุณพ่อได้รับรอยแผลนี้อีกครั้งขณะที่กำลังภาวนาในวัดน้อยของอาราม คุณพ่อต้องเจ็บปวดมากและมีเลือดไหลที่มือและเท้าจนต้องพันผ้าไว้ รอยแผลนี้ได้อยู่กับคุณพ่อเป็นเวลา 50 ปี และค่อยๆ จางหายไปในวันที่คุณพ่อมรณภาพ (
ดูรูปเพิ่มเติม)

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#5)

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2016 ในตอนเช้าครูคำสอนไทยแสวงบุญอยู่ที่ San Giovanni Rotondo ซึ่งเป็นบ้านของคุณพ่อปีโอ ทุกคนได้สวดภาวนา เคารพพระธาตุของท่าน และสวดภาวนาที่หลุมศพของท่าน จากนั้นทุกคนเดินทางต่อไปยังเมืองปอมเปอี (นาโปลี) ในตอนบ่ายก่อนเริ่มมิสซาที่สักการสถานแม่พระแห่งปอมเปอี พระสังฆราช ประจำอัครสังฆมณฑลคือ พระคุณเจ้าโทมัสโซ คาพูโต ได้มาต้อนรับและกล่าวทักทายพวกเราทุกคนด้วยมิตรไมตรี จากนั้นมีมิสซาที่วัดน้อยของสักการสถานแม่พระแห่งสายประคำโดยคุณพ่อเอกสิทธิ์ ทัฬหะกุลธร เป็นประธาน
คุณพ่อให้ข้อคิดในมิสซาว่า "บ่ายวันอาทิตย์ขณะที่พวกเราครูคำสอนกำลังเข้าแถวต่อคิวเพื่อเดินเข้าชมวิหาร น.เปโตร ท่ามกลางอากาศร้อน คนเยอะ แถวยาว ก็มีคุณครูท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า กว่าจะเข้าชมวิหารได้ยังลำบากขนาดนี้แล้วถ้าจะไปสวรรค์คงยากยิ่งกว่า... หลายคนถือร่มเพื่อกันแดด ร่มไม่ได้ทำให้พระอาทิตย์หยุดส่องแสง หรือทำให้ฝนหยุดตก แต่ร่มช่วยคนที่ถือให้เดินถึงจุดหมายโดยไม่ร้อน อยากไปสวรรค์ก็ต้องมีความเชื่อ ความเชื่อไม่ได้ทำให้ความลำบากหมดไปแต่ทำให้เราคริสตชนเดินไปสู่สวรค์อย่างมีเป้าหมาย พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตำหนิยากอบและยอห์น เพราะเขาตอบโต้และขอให้พระองค์ส่งไฟมาเผาคนที่ไม่ต้อนรับพระองค์ ศิษย์ของพระเยซูเจ้าไม่ใช่พวกที่รักความรุนแรง หรืออาฆาต คิดแก้แค้น ตรงข้ามพวกเขาเป็นผู้มีใจสุภาพ รักสันติ ความเชื่อที่บรรดาศิษย์มี ต้องถูกแสดงออกมาในความรักที่จับต้องได้ คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาบอกว่า ความเชื่อก่อให้เกิดความรัก ความรักนำมาซึ่งการรับใช้ การรรับใช้ก่อให้เกิดสันติ ดังตัวอย่างของ น.วินเซนเดอปอล ที่แสดงความรักต่อผู้ยากไร้ ครูคำสอนคือผู้ที่ช่วยให้ผู้อื่นจดจำพระเจ้าได้ ขอให้เราช่วยทุกคนรอบข้างให้จดจำพระเจ้าได้ผ่านทางความรักที่เราแสดงออกกับทุกคน"

ความเป็นมาของสักการสถาน

สักการสถานแม่พระแห่งสายประคำแห่งนี้เกิดขึ้นจาก นายบาร์โธโลมิว ลองโก ซึ่งเป็นทนายความ ได้กลับใจและมาที่เมืองปอมเปอี โดยสอนชาวบ้านให้สวดและมีความศรัทธาในการสวดสายประคำ ต่อมาท่านได้ขอรูปแม่พระจากพระสงฆ์คณะโดเมนิกัน ที่เมืองนาโปลี รูปแม่พระที่ได้รับมานี้เป็นรูปแม่พระที่กำลังมอบสายประคำให้น.แคททารีน ส่วนพระกุมารมอบสายประคำให้ น.ดอมินิก มีชาวนาคนหนึ่งนำเกวียนไปรับเอารูปนี้มาจากคณะโดเมนิกันที่เมืองนาโปลี ปัจจุบันนำมาประดิษฐ์ อยู่ในสักการสถานจนถึงทุกวันนี้

มีพระพรและอัศจรรย์เกิดขึ้นที่นี่มากมาย ผู้คนมาที่นี่โดยเฉพาะผู้ที่มีความศรัทธาต่อแม่พระและต่อการสวดสายประคำ ต่อมามีการสร้างวัดใหญ่
ความเชื่อที่มีนี้ได้เปลี่ยนเป็นกิจการแห่งความรัก มีการสร้างบ้านเด็กกำพร้า ช่วยลูกหลานของคนติดคุกไปเรียนหนังสือ บ้านที่ช่วยสตรีที่มีปัญหา ผู้ติดยา คนชรา ผู้อพยพ แจกอาการให้คนยากจนปีละประมาณ 30,000 คน

น.พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 กล่าวว่าการสวดสายประคำหมายถึงการรำพึงถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าโดยใช้ตาของแม่พระ การสวดสายประคำเป็นเครื่องมือแห่งการประกาศข่าวดี

สักการสถานแห่งนี้มีที่ฟังแก้บาปถึง 30 ที่ ซึ่งมีผู้มาแก้บาปตลอด มีพระสงฆ์ประจำอยู่ 40 คน (
ดูรูปเพิ่มเติม)

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#6)

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2016 ในตอนเช้า ครูคำสอนไทยเดินทางไปชมเมืองปอมเปอี ซึ่งมีต้นกำเนิด 600 ปีก่อนคริสตกาล แต่เดิมวิถีชีวิตประชาชนได้รับอิทธิพลจากกรีก ต่อมา 400 ปีก่อน ค.ศ มีอีกชนเผ่าหนึ่งเข้ามาครอบครอง สุดท้ายประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ อาณาจักรโรมันเข้ามาที่นี่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้กลายเป็นเมืองของชาวโรมัน
 ในปี ค.ศ 62 เกิดแผ่นดินไหว ต่อมาปี ค.ศ 79 ภูเขาไฟเริ่มปะทุ และเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง
มีเถ้าจากภูเขาไฟทับถมทั่วบริเวณความหนา 10 เมตร พร้อมกับก๊าซพิษ ประชาชนล้มตายทั้งเมือง...

หลังอาหารเที่ยง พวกเราไปร่วมมิสซาที่วัด Chiesa Gesu Nuovo เมืองนาโปลี
ที่พระแท่นของนักบุญโยเซฟ มอสกาติ ซึ่งเป็นนายแพทย์ คุณพ่อไตรรงค์ มูลตรี เป็นประธานมิสซา คุณพ่อให้ข้อคิดว่า
"พระวรสารวันนี้พระเยซูเจ้าเชิญเราให้ติดตามพระองค์แบบไม่มีเงื่อนไข พระองค์เรียกเราให้ทำหน้าที่แตกต่างกัน บางคนเป็นสังฆราช พระสงฆ์ ครูคำสอน ฯลฯ พระองค์ไม่ได้สัญญาจะให้อะไรกับเราในโลกนี้ แต่เป็นโลกหน้า

พวกเราได้ร่วม มิสซากับพระสันตะปาปา แม้ว่าอากาศจะร้อน แต่เราก็มีความสุขเพราะเราพบกับพระสันตะปาปา ตัวแทนของของพระเยซูเจ้าในโลกนี้ ถ้าเราพบกับพระเจ้าเราจะมีความสุขขนาดไหน ขอเราติดตามพระเยซูเจ้าแบบไม่มีเงื่อนไข"
จากนั้น พวกเราเดินทางต่อไปที่เมือง Lanciano และพักค้างคืนที่นี่  (
ดูรูปเพิ่มเติม)

ครูคำสอนไทยแสวงบุญโอกาสฉลองยูบีลีสำหรับครูคำสอน (Ep#7)

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2016 ในตอนเช้า ครูคำสอนไทยแสวงบุญที่สักการสถานอัศจรรย์แห่งศีลมหาสนิทที่เมือง Lanciano มีมิสซาโดย พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน 

พระคุณเจ้าให้ข้อคิดในมิสซาว่า
"เราแต่ละคนได้รับพรมากมาย แม้ว่าในเมืองไทยมีคริสตชนไม่มาก เราเชื่อว่ามีทูตสวรรค์ และอัครเทวดา
เมื่อยอมรับว่ามีพระเจ้า เราจะเป็นเหมือนอัครเทวดาคาเบียล ถ้าเราวางใจในพระเจ้า เราจะเป็นเหมือนอัครเทวดาราฟาเอล ปีศาจเป็นจอมหลอกลวง ให้หลงในเงินทอง อำนาจ เราเห็นความแตกแยก การเบียดเบียนในซีเรีย อำนาจเงินก่อให้เกิดความแตกแยก ข่าวเมื่อวันที่ 19 กย ที่ผ่านมา ผู้นำมุสลิมชื่นชมพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ช่วยเหลือผู้อพยพ สำหรับมุสลิมที่มีการศึกษาโป๊ป เป็นความหวังสำหรับโลก

โอกาสที่เรามาแสวงบุญที่สักการสถานอัศจรรย์แห่งศีลมหาสนิท ขอให้เราเป็นทูตแห่งศีลมหาสนิท ให้เรานำความหวังสู่ทุกคน ให้เราต่อสู้กับปีศาจ เพราะไม่มีใครใหญ่เท่าพระเจ้า และให้เราเป็นผู้นำสาร และเป็นโอสถรักษาทุกคน

ในตอนบ่าย เราเดินทางไปชมวิลล่า ดิเอสเต้ ที่เมืองทิโวลี่ ซึ่งเป็นมืองมรดกโลกของ Unesco  (
ดูรูปเพิ่มเติม)

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ) ถ.นนทรี ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120