ผมได้มีโอกาสคุยกับ ซิสเตอร์พิรุณพร เดชาเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ซีซี หรือศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมแห่งประเทศไทย สามพราน ถึงแนวทางการฝึกอบรมครูคำสอนของเราที่กำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยแสงธรรม ในสาขาวิชาคริสตศาสนศึกษา ต่อไปนี้เป็นบางช่วงบางตอนที่ทำให้เรารู้จักกับงานของศูนย์มากยิ่งขึ้น

Q :  ทราบว่าซิสเตอร์ใช้วิธีการ BEC หรือการดำเนินชีวิตแบบชุมชนคริสตชนพื้นฐานเป็นหลักในการฝึกอบรมลูกๆนักศึกษาของเรา

A : ใช่ค่ะ ที่ได้ให้นักศึกษาของเราได้ใช้วิธีนี้ในการภาวนาก็เพราะมองเห็นความสำคัญของการภาวนาแบบนี้ หนึ่งล่ะ พระศาสนจักรในประเทศไทยเริ่มรณรงค์ที่จะให้มีขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว อย่างที่สอง ที่อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน  โดยมีการจัดอบรมสัมมนาพระสงฆ์ นักบวช และผู้นำฆราวาส ซิสเตอร์ก็ได้เข้าร่วมด้วย  อย่างที่สาม ที่คณะของเรา (รักกางเขนแห่งท่าแร่) ได้เริ่มปฏิบัติภายในคณะนำร่องไปก่อน เมื่อสมาชิกได้สัมผัส ก็สามารถออกไปยังกลุ่มคริสตชนเพื่อนำพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะสามารถนำกันเองได้ เวลาซิสเตอร์มารับหน้าที่ที่ศูนย์ซีซี จึงมองเห็นว่าควรจะให้นักศึกษาเหล่านี้ ซึ่งอนาคตคือครูคำสอนหรือจิตตาภิบาลในโรงเรียน ได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเขาในช่วงเวลาที่เขาอยู่ที่ศูนย์  และเมื่อจบออกไปทำงาน ก็จะสามารถเป็นผู้นำกลุ่มBEC ได้

Q : แต่ชีวิตการอยู่ร่วมกันในศูนย์ฯก็มีการสวดภาวนา การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะอยู่แล้วมิใช่หรือครับ

A :  ก็ใช่อีกนั่นแหละค่ะ นักศึกษาฆราวาสที่เข้ามารับการอบรมในศูนย์ฯ ไม่ต่างจากบรรดาอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระองค์ทรงเรียกและเลือกให้มาอยู่กับพระองค์ กินด้วยกัน นอนด้วยกัน  และรับการอบรมสั่งสอนจากพระองค์อย่างใกล้ชิด ฉะนั้น นักศึกษาเหล่านี้ไม่ใช่ฆราวาสธรรมดา แต่เป็นระดับผู้นำ เคยมีคนติงซิสเตอร์ว่า พวกนี้เป็นเพียงฆราวาส จะอะไรกันนักกันหนากับการภาวนาและกิจศรัทธา แต่ซิสเตอร์ว่าพวกเขาไม่ต่างอะไรกับพระสงฆ์ นักบวช เพราะพวกเขาคือผู้แพร่ธรรม พวกเขาต้องรู้จักพระคริสตเจ้ามากกว่าฆราวาสธรรมดาใช้ไหมคะพ่อ  ฉะนั้น  พวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติกิจศรัทธาเช่นกันกับนักบวช ซิสเตอร์จึงจัดให้เขาได้ภาวนาทำวัตรเช้าทุกวัน ร่วมมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกวัน ส่วนภาคบ่ายก็แบ่ง ๆ กันจะได้มีประสบการณ์ในการภาวนาหลากหลายวิธี อย่างเช่น วันจันทร์ทำวัตรเย็น วันอังคาร ภาวนากลุ่มBEC วันพุธ นพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์ วันพฤหัสบดี เฝ้าศีลมหาสนิท วันศุกร์ เดินรูป 14 ภาค หรือสายประคำพระเมตตา วันเสาร์ สวดสายประคำแม่พระ ส่วนวันอาทิตย์ งานอภิบาล

ในการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ก็มาจากทั่วประเทศไทย หลากหลายวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องมีระเบียบวินัย จึงจะสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างพี่น้อง  นักศึกษาที่มาอยู่ที่ศูนย์ส่วนใหญ่ได้รับการคัดเลือกอย่างดีจากต้นสังกัด จึงไม่ค่อยมีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบวินัยของศูนย์ จะมีเพียงส่วนน้อยที่ปรับตัวยากหน่อย

จริงๆ แล้ว ระเบียบวินัยและการปฏิบัติกิจศรัทธา ก็มีการปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มมีศูนย์แล้ว  สมัยก่อนที่เป็นหลักสูตร 2 ปี ระเบียบจัดกว่านี้อีก ซิสเตอร์เคยมาดูแลศูนย์ในปี 1988-1991( 31-34) ครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 ก่อนที่ซิสเตอร์มารับหน้าที่ มีซิสเตอร์สุมาลี  สุดจินดา (คณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี) เป็นผู้อำนวยการ ก็มีการปฏิบัติกิจศรัทธาหลายวิธีเช่นกัน ในเย็นวันอังคารมีการภาวนากลุ่มแบ่งปันพระวาจา พอซิสเตอร์มารับก็แค่เปลี่ยนเป็น BEC ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในระดับประเทศ เป็นการต่อยอดให้เข้าระบบของ BEC ซึ่งนักศึกษาก็ชอบ

Q : ประสบการณ์ส่วนตัวของซิสเตอร์เกี่ยวกับวิธีการดำเนินชีวิตแบบ BEC เป็นอย่างไรบ้าง

A : ซิสเตอร์จะขอพูดถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับชีวิตของคริสตชนฆราวาสที่เขาดำเนินชีวิตแบบ BEC เพราะการดำเนินชีวิตนักบวชของเราก็ปฏิบัติเช่นกันกับ BEC อยู่แล้ว ส่วนวิถีชีวิตของคริสตชนฆราวาส เราสามารถมองเห็นความแตกต่างจากเดิม เมื่อก่อนเขาก็แค่ไปวัดวันอาทิตย์ ( คนที่ศรัทธาพอสมควรนะคะ ส่วนคนที่ศรัทธามากก็ไปทุกวัน) กลับบ้านก็ทำงานไปวัน ๆ แต่พอได้เริ่ม BEC สิ่งที่เรามองเห็นได้ชัดเจนคือ ความสนิทสนมกันภายในกลุ่ม การแบ่งปันกัน ทุกครั้งที่มีการภาวนากลุ่ม BEC ต่างคนต่างนำอาหาร ขนม เครื่องดื่มมาแบ่งปันกัน ได้รับทั้งอาหารฝ่ายกายและฝ่ายจิต เวลาบ้านไหนมีงานก็จะพากันไปช่วยจนกว่างานจะเสร็จ ซึ่งเหมือนกับชีวิตคริสตชนกลุ่มแรกเลย ส่วนชีวิตฝ่ายจิตซิสเตอร์พบว่าชาวบ้านสามารถสวดภาวนาจากใจ อ่านพระคัมภีร์ และไตร่ตรองพระวาจาได้เป็นอย่างดี เมื่อให้มีการแบ่งปันพระวาจา ชาวบ้านก็สามารถแบ่งปันได้อย่างประทับใจ  พวกเขามีประสบการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย และมีประโยชน์ต่อชีวิตมาเล่าสู่กันฟังทำให้ความเชื่อทั้งของผู้เล่าและผู้ฟังเติบโตขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถนำเอาพระวาจาที่ได้รับฟังไปปฏิบัติจริงในชีวิตด้วย  การพบปะกันของชาวบ้าน จึงเป็นการเสริมสร้างชีวิตคริสตชนได้อย่างแท้จริง ทำให้การฟังพระวาจาของพระเจ้าในวันอาทิตย์ ขณะที่ร่วมพิธีมิสซาฯดีขึ้นด้วย  ซึ่งแต่ก่อนอาจจะฟังเฉย ๆ แต่เมื่อรู้วิธีการอ่านและการฟังพระวาจาแล้ว ทำให้รู้วิธีคิดและนำพระวาจาไปใช้ในชีวิตประจำวัน

Q : ซิสเตอร์จัดการฝึกอบรมนักศึกษาอย่างไร

A : ซิสเตอร์ฝึกอบรมพวกเขาตามหลักการอบรมผู้ประกาศข่าวดีคืออบรม 4 มิติ
     มิติที่ 1 วุฒิภาวะเป็นพื้นฐาน โดยใช้ระเบียบปฏิบัติของศูนย์เป็นตัวนำ เน้นมารยาทขั้นพื้นฐาน การมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ มีอัธยาศัยไมตรีต่อเพื่อนพี่น้อง มีความเฉลียวฉลาด ความเอื้ออาทร แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบ เสียสละ อดทน ซื่อตรง และซื่อสัตย์ ซิสเตอร์อบรมสามัญเดือนละครั้ง ส่วนวิสามัญเท่าที่จำเป็น ภายในเวลา 1 ปี นักศึกษาคนใดปฏิบัติคุณธรรมดีเด่นด้านใด ทางศูนย์ก็จะออกเกียรติบัตรให้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันความดีของเขา

มิติที่ 2 ชีวิตภายในเป็นหัวใจ โดยให้เขาได้ร่วมในกิจศรัทธาทุกวันตามที่ซิสเตอร์ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับพระเจ้าจากกิจศรัทธาที่เขาได้ปฏิบัติ และกระตุ้นให้เขากระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมทุกวัน และทุกครั้ง  ถ้านักศึกษาคนใดมีความกระตือรือร้น เข้าวัดทันเวลา ไม่เคยขาด ไม่เคยลา ไม่เคยสาย ตลอดเดือนก็จะมีรางวัลให้ และถ้าตลอดภาคการศึกษาก็จะมอบเกียรติบัตรให้

มิติที่ 3 สติปัญญาและการศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยจะกระตุ้นเตือนให้เขาเอาใจใส่
และตั้งใจเรียน ตั้งใจทำการบ้าน หรืองานที่ได้รับมอบหมาย เข้าเรียนทุกครั้งที่มีตารางเรียน และเข้าชั้นเรียนก่อนอาจารย์เข้าสอน

มิติที่ 4 งานอภิบาลเป็นเป้าหมาย นักศึกษาที่ถูกส่งมาเรียนในสาขาวิชาคริสตศาสน
ศึกษา วิทยาลัยแสงธรรม มีเป้าหมายเดียวกันคือ งานอภิบาล อาจจะเป็นงานอภิบาลในวัด ในโรงเรียน หรือในศูนย์คริสตศาสนธรรม ฉะนั้น การที่พวกเขาได้ผ่านการอบรมทั้งสามมิติข้างต้นมาอย่างดี เป้าหมายการเป็นผู้อภิบาลของเขาก็ชัดเจน ตรงจุดแน่นอน

Q : ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาที่ศูนย์ฯมีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจอีกครับ

A : นอกจากการเรียนการสอนอย่างเข้มข้นที่วิทยาลัยแสงธรรมแล้ว ทางศูนย์ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาของเรา ได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตผู้อภิบาลเช่น การฝึกทักษะการนำเกมและกิจกรรมนันทนาการ การขับร้องเพลง การเล่นดนตรี การใช้คอมพิวเตอร์ การเล่นกีฬา การออกไปทำงานอภิบาลนอกสถานที่ ในปีนี้เรามีนักศึกษาที่มีความสามารถทางด้านดนตรีหลายคน นักศึกษาบางคนสามารถเล่นกีตาร์หรืออิเลคโทนได้อย่างดี เราก็ให้เขาสอนเพื่อน ๆ ในช่วงว่างหลังอาหารเย็น เราใช้ระบบพี่สอนน้อง หรือเพื่อนสอนเพื่อน โดยไม่จำเป็นต้องจ้างครูมาสอน นักศึกษาบางคนมีความสามารถพิเศษด้านการตกแต่งดอกไม้ภายในวัด ก็สามารถพาเพื่อน ๆ ทำที่ศูนย์เวลามีงาน และช่วยเพื่อนบ้านเวลาที่เขามีงานด้วย

Q : มีการออกไปฝึกงานนอกสถานที่บ้างหรือไม่

A : ก็มีบ้างค่ะ ตามแต่เวลาและโอกาสอำนวย อย่างเช่น นักศึกษาที่บ้านเราส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ส่วนเพื่อนบ้านก็เป็นผู้ชาย เช่น สามเณราลัยแสงธรรม บ้านเณรคณะพระมหาไถ่ บ้านเณรคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ บ้านนักศึกษาเซนต์คาเบรียล เป็นต้น เมื่อเพื่อนบ้านมีงานฉลอง เขาก็มักจะเชิญพวกเราไปร่วมร้องเพลงในพิธีมิสซา เพื่อเป็นเสียงประสาน หากมีรายการบนเวทีก็จะขอรายการแสดงจากพวกเราด้วย บางวัดก็เชิญพวกเราไปร้องเพลงในพิธีศีลสมรส บางวัดก็ขอนักดนตรีไปเล่นอิเลคโทนในพิธีมิสซา บางวัดก็ขอไปช่วยพิธีกรรมมิสซาวันอาทิตย์ ไปสอนคำสอน หรือร่วมงานอบรมเยาวชน งานค่ายคำสอนภาคฤดูร้อน เป็นต้น ซิสเตอร์เองสนับสนุนให้พวกเขาได้ออกไปหาประสบการณ์ในด้านงานอภิบาล เพื่อจะได้เสริมความรู้ที่ได้รับจากวิทยาลัย พวกเขาจะได้มีเครื่องมือที่ดีและมีคุณภาพในงานอภิบาล ซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเขา  ในสมัยที่ศูนย์ซีซี เปิดสอนหลักสูตร 2 ปี นักศึกษาปี 2 จะต้องออกฝึกสอนที่โรงเรียนนักบุญเปโตร วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ก่อนการเรียนการสอนประจำวัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะต้องไปสอนที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนปี 1 จะต้องออกค่ายคำสอนตามหมู่บ้าน 2 สัปดาห์ ในช่วงปิดภาคปลาย แม้ว่าจะเรียนแค่ 2 ปี แต่ประสบการณ์ในการทำงานก็เต็มเปี่ยม

Q : คำถามสุดท้าย ซิสเตอร์มีความรู้สึกอย่างไรที่ต้องดูแลนักศึกษาคนรุ่นใหม่

A : ฟังคำถามพ่อแล้วมาย้อนดูตัว ก็รู้สึกว่าข้ามรุ่นจริง ๆ ไม่ใช่ระดับแม่ลูกแล้ว แต่เป็นยายหลานมากกว่า แต่นี่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับซิสเตอร์นะคะ ( แต่อาจเป็นสำหรับเด็กก็ได้นะ..) ต้องยอมรับว่าการอบรมเด็กยุคนี้แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน  ที่ซิสเตอร์เคยมาดูแลศูนย์ และยิ่งแตกต่างไปจากสมัยซิสเตอร์เป็นเด็ก  ตอนที่เราเป็นเด็ก พ่อแม่ควบคุมดูแลเราอย่างใกล้ชิด แม่คอยเอ็ดคอยเตือน ถ้าผิดหนักก็ลงไม้เรียว แต่สมัยนี้พ่อแม่ค่อนข้างจะเกรงใจลูก ไม่กล้าดุ ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือน กลัวลูกจะเสียใจ อาจจะเป็นเพราะมีลูกน้อยก็ได้นะคะ ซิสเตอร์เองก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ดูท่าทีของเขาก่อนว่าเขาพร้อมที่จะรับการอบรมจากเราหรือไม่ แต่ก่อนที่จะรับนักศึกษาเหล่านี้เข้ามาพักที่ศูนย์ ซิสเตอร์มีโอกาสได้สัมภาษณ์และพบพวกเขาเป็นรายบุคคล จะแจ้งนโยบาย จุดมุ่งหมาย และระเบียบปฏิบัติของศูนย์อย่างละเอียด รวมทั้งแจ้งแนวทางการดำเนินการอบรมของซิสเตอร์ให้พวกเขาทราบด้วย  ถ้าเขายอมรับก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหามากนัก ถ้าใครมีปัญหาก็จะอบรมเป็นรายบุคคล ซิสเตอร์ดุนะ แต่ดุเพราะรักเขา อยากเห็นเขาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ

 จากการสนทนากับซิสเตอร์พิรุณพร ทำให้ทราบว่า ศูนย์ซีซีมิใช่แค่หอพัก แต่เป็นสถานที่สำหรับเพาะบ่มครูคำสอนของเราให้มีจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้แพร่ธรรม เตรียมพวกเขาให้ออกไปทำงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระสงฆ์และนักบวช ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา”(มธ 28:19)

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ) ถ.นนทรี ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120