บทที่สอง

ศีลของการบำบัดรักษา

 

1420    อาศัยศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชน มนุษย์ก็รับชีวิตใหม่ของพระคริสตเจ้า พวกเราดำเนินชีวิตนี้เหมือนกับ “เก็บสมบัติอยู่ในภาชนะดินเผา” (2 คร 4:7) บัดนี้ ชีวิตนี้ยัง “ซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า” (คส 3:3) เรายังอยู่ในบ้านของเราในโลกนี้[1]ที่ยังอยู่ใต้อำนาจของความทุกข์ ความเจ็บป่วยและความตาย  ชีวิตใหม่ของบุตรพระเจ้านี้ยังอาจอ่อนแอและถึงกับเสียไปเพราะบาปได้

1421    พระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า แพทย์ผู้ทรงบำบัดรักษาวิญญาณและร่างกายของเรา ทรงอภัยบาปและประทานสุขภาพของร่างกายแก่คนง่อย[2] ยังทรงประสงค์ให้พระศาสนจักรของพระองค์ใช้พระอานุภาพของพระจิตเจ้า ปฏิบัติงานบำบัดรักษาโรคและบันดาลสุขภาพให้แก่บรรดาสมาชิกของตนด้วย นี่คือจุดประสงค์ของศีลแห่งการบำบัดรักษาทั้งสองศีล คือศีลอภัยบาปและศีลเจิมคนไข้


ตอนที่สี่

ศีลแห่งการคืนดีและอภัยบาป

 1422   “ส่วนผู้ที่เข้าไปรับศีลอภัยบาป ย่อมได้รับการอภัยความผิดที่เขาได้ทำต่อพระเจ้าจากพระกรุณาของพระองค์ และพร้อมกันนั้นเขายังรับการคืนดีกับพระศาสนจักรที่เขาได้ทำให้ได้รับบาดแผลเมื่อทำบาป และพระศาสนจักรก็ยังใช้ความรัก แบบฉบับ และการอธิษฐานภาวนาทำงานเพื่อช่วยให้เขากลับใจด้วย”[3]

 

[1]  เทียบ 2 คร 5:1.              

[2] เทียบ มก 2:1-12.             

[3] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.     

I. ศีลนี้มีชื่ออะไรบ้าง

I. ศีลนี้มีชื่ออะไรบ้าง

 1423   ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการกลับใจ (Conversionis sacramentum) เพราะทำให้การที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกให้กลับใจกลายเป็นความจริง[4] นั่นคือทรงแนะนำให้เขากลับมาหาพระบิดา[5]ที่เขาได้จากไปเพราะบาป

          ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต (Poenitentiae sacramentum) เพราะบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การเดินทางของคริสตชนคนบาปเป็นการส่วนตัวและร่วมกับพระศาสนจักรที่จะกลับใจและชดเชยบาปที่ได้ทำ

1424   ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลการสารภาพบาป(Confessionis sacramentum) เพราะการสารภาพบาปของตนต่อหน้าพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของศีลนี้ ในความหมายลึกๆ ศีลนี้ยังเป็น “การประกาศ” เป็นการยอมรับและสรรเสริญความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและพระเมตตากรุณาของพระองค์ต่อมนุษย์คนบาป

          ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งพระกรุณา (Indulgentiae sacramentum) เพราะเมื่อพระสงฆ์กล่าวสูตรอภัยบาป พระเจ้าก็ประทาน “พระกรุณา [...] และสันติภาพ” ให้แก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ[6]       

          ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการคืนดี (Reconciliationis sacramentum) เพราะนำความรักของพระเจ้ามาให้คนบาปที่พระองค์ทรงคืนดีด้วย “จงยอมคืนดีกับพระเจ้าเถิด” (2 คร 5:20) ผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความเมตตากรุณาจากความรักของพระเจ้า ย่อมพร้อมที่จะตอบสนองการเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “จงกลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน” (มธ 5:24)

 

[4] เทียบ มก 1:15.

[5] เทียบ ลก 15:18.              

[6] Ordo Paenitentiae, 46. 55 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 27. 37.             

II.  ทำไมจึงต้องมีศีลแห่งการคืนดีอีกหลังจากศีลล้างบาป

II.  ทำไมจึงต้องมีศีลแห่งการคืนดีอีกหลังจากศีลล้างบาป

 1425 “ท่านได้รับการชำระล้างแล้ว ท่านได้รับความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ท่านได้รับความชอบธรรมแล้ว เดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา” (1 คร 6:11) เราจึงต้องสำนึกถึงพระพรยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานให้เราในศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชนเพื่อจะเข้าใจว่าบาปเป็นสิ่งแปลกปลอมเพียงไรสำหรับผู้ที่สวมพระคริสตเจ้าไว้แล้ว[7] แต่นักบุญยอห์นอัครสาวกก็เขียนไว้ว่า “ถ้าเราพูดว่า เราไม่มีบาป เรากำลังหลอกตนเอง และความจริงไม่อยู่ในเรา” (1 ยน 1:8) และองค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงสอนเราให้อธิษฐานภาวนาว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพทั้งหลาย” (ลก 11:4) และทรงเสริมว่าการที่เราให้อภัยความผิดแก่กันนั้นมีความสัมพันธ์กับการอภัยที่พระเจ้าจะประทานแก่บาปของเรา

 1426  การกลับใจมาหาพระคริสตเจ้า การบังเกิดใหม่ในศีลล้างบาป พระพรของพระจิตเจ้า พระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าที่เรารับเป็นอาหารนั้นได้ทำให้เราเป็นผู้”ศักดิ์สิทธิ์ปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์พระองค์” (อฟ 1:4) เหมือนกับที่พระศาสนจักร เจ้าสาวของพระคริสตเจ้าเอง “ศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทิน” เฉพาะพระพักตร์พระองค์ (อฟ 5:27)ถึงกระนั้น ชีวิตใหม่ที่ได้รับในกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชนก็ไม่ได้ทำลายความเปราะบางและความอ่อนแอของธรรมชาติมนุษย์รวมทั้งความโน้มเอียงไปหาบาปที่ธรรมประเพณีเรียกว่าความใคร่ ซึ่งยังคงอยู่ในผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว เพื่อเขาจะได้ผ่านการทดสอบในการต่อสู้ของชีวิตคริสตชนด้วยความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า[8]  การต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้แห่งการกลับใจเพื่อมุ่งไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์และชีวิตนิรันดรที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพวกเราให้มุ่งไปให้ถึงอยู่ตลอดเวลา[9]

 

[7] เทียบ กท 3:27.

[8] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 5: DS 1515.

[9] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 16: DS 1545; Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 40: AAS 57 (1965) 44-45.         

III.  การกลับใจของผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว

III.  การกลับใจของผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว

 1427   พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้กลับใจ การเรียกนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการประกาศถึงพระอาณาจักร “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15) ในการเทศน์สอนของพระศาสนจักร การเรียกนี้มุ่งเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักพระคริสตเจ้าและข่าวดีของพระองค์ ดังนี้ ศีลล้างบาปจึงเป็นสถานที่สำคัญของการ กลับใจพื้นฐานครั้งแรก อาศัยความเชื่อในข่าวดีและศีลล้างบาปจึงมีการประกาศละทิ้งความชั่วและรับความรอดพ้น[10] ซึ่งเป็นการอภัยบาปทั้งหมดและการประทานชีวิตใหม่

 1428  ดังนั้น การเรียกของพระคริสตเจ้าให้กลับใจจึงยังคงดังก้องอยู่ในชีวิตของบรรดาคริสตชน การกลับใจครั้งที่สองนี้เป็นบทบาทหน้าที่ ที่ไม่มีวันหยุดสำหรับพระศาสนจักรทั้งหมดซึ่ง “รวบรวมคนบาปไว้ในอ้อมกอดของตน พระศาสนจักรมีความศักดิ์สิทธิ์และในเวลาเดียวกันยังต้องชำระตนอยู่เสมอ เดินหน้าไปสู่การกลับใจเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูชีวิตอยู่ตลอดเวลา”[11] ความพยายามที่จะกลับใจนี้ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์เท่านั้น เป็นการเคลื่อนไหว “ของดวงใจที่เป็นทุกข์”[12] ที่ได้รับการดึงดูดและดลใจจากพระหรรษทาน[13] เพื่อตอบสนองความรักที่ทรงพระกรุณาของพระเจ้าผู้ทรงรักเราก่อน[14]

1429   การกลับใจของนักบุญเปโตรหลังจากที่ได้ปฏิเสธพระอาจารย์ของตนถึงสามครั้งเป็นพยานถึงเรื่องนี้ การทอดพระเนตรด้วยพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระเยซูเจ้าทำให้เปโตรต้องร้องไห้เสียใจที่ได้ทำผิด[15] และหลังจากที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วยังยืนยันถึงสามครั้งถึงความรักของตนต่อพระองค์[16] การกลับใจครั้งที่สองนี้ยังมีมิติด้านชุมชนด้วย เรื่องนี้ปรากฏชัดเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพระศาสนจักรทั้งหมดว่า “(ท่านทั้งหลาย)จงกลับใจเถิด” (วว 2:5,16)

นักบุญอัมโบรสกล่าวถึงการกลับใจทั้งสองนี้ว่า “พระศาสนจักรมีทั้งน้ำ และมีน้ำตา คือน้ำของศีลล้างบาปและน้ำตาของศีลอภัยบาป”[17]

 

[10] เทียบ กจ 2:38.              

[11] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12.      

[12] เทียบ สดด 51:19.

[13] เทียบ ยน 6:44; 12:32.

[14] เทียบ 1 ยน 4:10.            

[15] เทียบ ลก 22:61-62.

[16] เทียบ ยน 21:15-17.          

[17] Sanctus Ambrosius, Epistula extra collectionem, 1 [41], 12: CSEL 823, 152 (PL 16, 1116).           

IV. การกลับใจภายใน

IV. การกลับใจภายใน

 1430   เช่นเดียวกับในสมัยของบรรดาประกาศกแล้ว การที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้กลับใจและเปลี่ยนชีวิตนั้น ก่อนอื่นไม่มุ่งถึง “การสวมผ้ากระสอบและโปรยเถ้าบนศีรษะ” การจำศีลอดอาหารและทรมานกาย แต่มุ่งโดยเฉพาะถึงการเปลี่ยนความคิดภายใน การเป็นทุกข์กลับใจ ถ้าไม่มีการกลับใจภายในเช่นนี้ กิจการภายนอกที่แสดงความทุกข์ถึงบาปก็ไร้ผลและเป็นการมุสา ตรงกันข้าม การกลับใจภายในย่อมเป็นแรงผลักดันให้แสดงเครื่องหมายออกมาภายนอกเป็นท่าทางและกิจการแสดงการกลับใจ[18]

 1431   การกลับใจภายในเป็นรากฐานของแนวทางใหม่ของชีวิตทั้งหมด เป็นการกลับมา เป็นการหันกลับมาหาพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ เป็นการหยุดทำบาป หันหนีจากความชั่วพร้อมกับการต่อต้านกิจการชั่วที่เราได้ทำไปแล้ว ในเวลาเดียวกันก็รวมถึงความปรารถนาและการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพร้อมกับความหวังในพระกรุณาของพระเจ้าและไว้วางใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระองค์ การกลับใจนี้ควบคู่ไปกับความทุกข์และความเสียใจที่นำความรอดพ้นมาให้ บรรดาปิตาจารย์เรียกสภาพเช่นนี้ว่าความทุกข์ทรมานของวิญญาณ
ความทุกข์จากหัวใจ[19]

 1432   หัวใจของมนุษย์มักจะเย็นชาและดื้อด้าน พระเจ้าจึงจำต้องประทานใจใหม่แก่มนุษย์[20] การกลับใจก่อนอื่นจึงเป็นงานของพระหรรษทานของพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้จิตใจของเรากลับมาหาพระองค์ “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้กลับมาพบพระองค์ แล้วข้าพเจ้าทั้งหลายก็จะกลับมา” (พคค 5:21) พระเจ้าประทานพลังให้เราเพื่อเราจะได้เริ่มต้นใหม่ เมื่อใจของเราค้นพบความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ย่อมรู้สึกสะเทือนใจต่อความน่าเกลียดและความหนักของบาป และเริ่มมีความกลัวที่จะทำบาปให้เคืองพระทัยพระเจ้าและต้องแยกไปจากพระองค์ ใจของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงเมื่อหันมองดูพระองค์ที่บาปของเราได้เสียบแทง[21]

“เราจงเพ่งมองดูพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและจงยอมรับว่าพระโลหิตนี้ประเสริฐเพียงไรสำหรับพระเจ้าพระบิดาของพระองค์ พระโลหิตนี้ได้หลั่งออกเพื่อความรอดพ้นของเราและนำพระหรรษทานการเป็นทุกข์กลับใจมาให้มนุษย์ทั้งโลก”[22]

 1433 นับตั้งแต่วันปัสกาแล้ว พระจิตเจ้าทรงพิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าตนได้ทำบาปเพราะไมได้เชื่อในพระองค์[23]ที่พระบิดาทรงส่งมา แต่พระจิตเจ้าพระองค์นี้ที่ทรงเปิดเผยบาป ยังทรงเป็นพระผู้ทรงบรรเทา[24] พระองค์ประทานพระหรรษทานแก่ใจมนุษย์เพื่อจะได้เป็นทุกข์ถึงบาปและกลับใจ[25]

 

[18] เทียบ ยอล 2:12-13; อสย 1:16-17; มธ 6:1-6,16-18.

[19] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 4: DS 1676-1678; Id., Sess. 14a, Canones de Paenitentia, canon 5: DS 1705; Catechismus Romanus, 2, 5, 4: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 289.

[20] เทียบ อสค 36:26-27.

[21] เทียบ ยน 19:37; ศคย 12:10.  

[22] Sanctus Clemens Romanus, Epistula ad Corinthios, 7, 4: SC 167, 110 (Funk 1, 108).

[23] เทียบ ยน 16:8-9.

[24] เทียบ ยน 15:26.

[25] เทียบ กจ 2:36-38; Ioannes Paulus II, Litt. enc. Dominum et vivificantem, 27-48: AAS 78 (1986) 837-868.

V. การเป็นทุกข์กลับใจมีหลายรูปแบบในชีวิตคริสตชน

V. การเป็นทุกข์กลับใจมีหลายรูปแบบในชีวิตคริสตชน

 1434    การเป็นทุกข์กลับใจภายในของคริสตชนอาจมีวิธีแสดงออกต่างๆ ได้หลายรูปแบบ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์เน้นโดยเฉพาะถึงสามรูปแบบ คือ การจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนา และการให้ทาน[26] ซึ่งแสดงการกลับใจในความสัมพันธ์กับตนเอง ความสัมพันธ์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ควบคู่กับการชำระอย่างสมบูรณ์ที่ศีลล้างบาปหรือการเป็นมรณสักขีนำมาให้ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์ยังกล่าวถึงวิธีการอื่นที่อาจช่วยให้ได้รับอภัยบาปได้ด้วย เช่น ความพยายามที่จะคืนดีกับเพื่อนพี่น้อง การร่ำไห้เสียใจที่ได้ทำบาป ความเอาใจใส่ต่อความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้อง[27] การภาวนาขอของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”) การแสดงเมตตาจิตซึ่ง “ลบล้างบาปได้มากมาย” (1 ปต 4:8)

1435     การกลับใจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันโดยการแสดงการคืนดีกัน โดยการเอาใจใส่ดูแลคนยากจน โดยกิจการแสดงและปกป้องสิทธิและความยุติธรรม[28] โดยการยอมรับผิดต่อเพื่อนพี่น้อง โดยการตักเตือนเพื่อนพี่น้องที่ทำผิด โดยการเปลี่ยนแปลงชีวิต พิจารณามโนธรรม รับคำแนะนำด้านชีวิตจิต การยอมรับความทุกข์ โดยความพากเพียรอดทนเมื่อถูกเบียดเบียนเพราะความยุติธรรม หนทางปลอดภัยที่สุดของการกลับใจใช้โทษบาปก็คือการยอมรับแบกไม้กางเขนของตนติดตามพระเยซูเจ้าทุกๆ วัน[29]

1436     ศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาป การกลับใจและปรับปรุงชีวิตใหม่ทุกวันพบจุดกำเนิดและสิ่งหล่อเลี้ยงในศีลมหาสนิท เพราะการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าที่ทำให้เราคืนดีกับพระเจ้าเป็นปัจจุบันอยู่ในศีลนี้ ผู้ที่มีชีวิตจากพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ารับอาหารหล่อเลี้ยงและเสริมพลังชีวิตจากศีลมหาสนิท ศีลนี้เป็น “โอสถที่ช่วยเราให้พ้นจากความผิดประจำวันและปกป้องเราไว้จากบาปหนัก”[30]

1437     การอ่านพระคัมภีร์ การสวดภาวนาทำวัตร และบท “ข้าแต่พระบิดา” กิจกรรมของคารวกิจหรือกิจศรัทธาต่างๆที่ทำจากใจจริงย่อมปลุกจิตตารมณ์การกลับใจและการปรับปรุงชีวิตช่วยนำเราไปรับการอภัยบาป

 1438    เทศกาลและวันกลับใจใช้โทษบาปที่กำหนดไว้ในปีพิธีกรรม (เทศกาลมหาพรต ทุกวันศุกร์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า) เป็นช่วงเวลาพิเศษของพระศาสนจักรเพื่อการปฏิบัติการกลับใจและชดเชยบาป[31] ช่วงเวลาเหล่านี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการฝึกด้านจิตใจ พิธีกรรมชดเชยบาป การเดินทางแสวงบุญเป็นเครื่องหมายของการกลับใจชดเชยบาป การสละตนโดยสมัครใจเช่นการจำศีลอดอาหารและการให้ทาน การแบ่งปันฉันพี่น้อง (กิจการเมตตาธรรมและแพร่ธรรม)

 1439    กระบวนการการกลับใจและชดเชยบาปที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยายไว้ในอุปมาที่เรียกกันว่าเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” ที่มี “บิดาผู้ใจดี” เป็นศูนย์กลาง[32] กล่าวถึงความหลงใหลต่ออิสรภาพจอมปลอม การละทิ้งบ้านของบิดา ความน่าทุเรศอย่างที่สุดที่ลูกต้องประสบหลังจากที่ได้ผลาญทรัพย์สมบัติหมดแล้ว ความตกต่ำที่สุดของเขาที่เห็นว่าตนจำเป็นต้องไปเลี้ยงสุกรและเลวร้ายกว่านั้น การที่เขาอยากกินอาหารที่สุกรกิน การคิดคำนึงถึงทรัพย์สมบัติที่เขาได้สูญเสียไป ความเสียใจและตัดสินใจยอมรับผิดที่ตนได้ทำต่อบิดา การเดินทางกลับบ้าน การได้รับการต้อนรับด้วยใจกว้างจากบิดา ความยินดีของบิดา เรื่องนี้บรรยายถึงลักษณะเฉพาะต่างๆ ของกระบวนการการกลับใจ เสื้อผ้างดงาม แหวนและการเลี้ยงอาหารฉลองเป็นสัญลักษณ์บางประการของชีวิตใหม่นี้ที่บริสุทธิ์     มีเกียรติ เปี่ยมด้วยความยินดีที่เป็นชีวิตของมนุษย์ผู้กลับมาหาพระเจ้าและเข้ามาในอ้อมอกของครอบครัวของเขา ได้แก่พระศาสนจักร พระหทัยของพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่รู้จักความลึกซึ้งของความรักของพระบิดาของพระองค์สามารถเผยแสดง พระกรุณาลึกซึ้งของพระบิดาให้เรารู้ด้วยวิธีการซื่อๆ และงดงามอย่างยิ่งเช่นนี้ได้

 

[26] เทียบ ทบต 12:8; มธ 6:1-18.

[27] เทียบ ยก 5:20.

[28] เทียบ อมส 5:24; อสย 1:17.

[29] เทียบ ลก 9:23.

[30] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 13a, Decretum de ss. Eucharistia, c. 2: DS 1638.

[31] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 109-110: AAS 56 (1964) 127; CIC canones 1249-1253; CCEO canones 880-883.

[32] เทียบ  ลก 15:11-24.

VI.  ศีลแห่งการกลับใจและการคืนดี

VI.  ศีลแห่งการกลับใจและการคืนดี

 1440  ก่อนอื่นใดทั้งหมด บาปเป็นการทำผิดต่อพระเจ้า เป็นการตัดความสัมพันธ์กับพระองค์ ในเวลาเดียวกันบาปก็ทำลายสัมพันธภาพกับพระศาสนจักรด้วย เพราะเหตุนี้การกลับใจพร้อมกับ     พระกรุณาของพระเจ้าจึงทำให้เราคืนดีกับพระศาสนจักรด้วย นี่คือสิ่งที่ศีลแห่งการกลับใจและการคืนดีแสดงให้เห็นและทำให้เกิดขึ้นในพิธีกรรม[33]

 

พระเจ้าเท่านั้นทรงอภัยบาป

 1441   พระเจ้าเท่านั้นทรงอภัยบาปได้[34] พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์จึงตรัสถึงพระองค์เองว่า “บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดิน” (มก 2:10) และทรงใช้อำนาจนี้ของพระเจ้า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (มก 2:5)[35] ยิ่งกว่านั้น พระองค์เองทรงใช้อำนาจพระเจ้าของพระองค์ ประทานอำนาจนี้แก่มนุษย์[36] เพื่อจะได้ใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระองค์

 1442  พระคริสตเจ้าทรงพระประสงค์ให้พระศาสนจักรทั้งหมดของพระองค์ใช้คำอธิษฐานภาวนา ชีวิต และกิจกรรมของตนเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแสดงความกรุณาและการคืนดีที่พระองค์ทรงได้มาโดยราคาพระโลหิตของพระองค์ ถึงกระนั้น พระองค์ทรงมอบการใช้อำนาจการให้อภัยบาปนี้ไว้แก่ศาสนบริการของบรรดาอัครสาวกผู้ได้รับมอบ “ภารกิจการคืนดีนี้” (2 คร 5:18) อัครสาวกถูกส่งไปในพระนามของพระคริสตเจ้า และพระเจ้าเองทรงใช้เขาให้เชิญชวนและขอร้องว่า “(ท่านทั้งหลาย)จงยอมคืนดีกับพระเจ้าเถิด” (2 5:20)


การคืนดีกับพระศาสนจักร

 1443  ขณะที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าไม่เพียงแต่ทรงอภัยบาปเท่านั้น แต่ยังทรงแสดงผลของการอภัยบาปนี้ด้วย พระองค์ทรงคืนคนบาปที่ทรงอภัยบาปให้แล้วกลับคืนให้แก่ชุมชนที่บาปได้ทำให้เขาห่างเหินหรือแม้กระทั่งแยกตัวออกไป เครื่องหมายของเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงต้อนรับคนบาปให้มาร่วมโต๊ะกับพระองค์ ยิ่งกว่านั้นยังเสด็จไปร่วมโต๊ะกับพวกเขาด้วย การที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้แสดงด้วยวิธีการน่าประทับใจในเวลาเดียวกันให้เห็นการได้รับอภัยจากพระเจ้า[37] และการกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของประชากรของพระเจ้าด้วย[38]

 1444  เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้บรรดาอัครสาวกมีส่วนในอำนาจอภัยบาปได้เช่นเดียวกับพระองค์ พระองค์ยังประทานให้เขามีอำนาจนำคนบาปเข้ามาคืนดีกับพระศาสนจักรได้ด้วย เหตุผลของบทบาทนี้ของเขาในพระศาสนจักรแสดงให้เห็นในพระวาจาที่พระคริสตเจ้าตรัสอย่างสง่าแก่เปโตรว่า “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “เห็นได้ชัดว่าอำนาจผูกและแก้ที่ทรงมอบแก่เปโตรนี้พระองค์ยังทรงมอบแก่คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนด้วย” (มธ 18:18; 28:16-20)”[39]

 1445  คำว่า ผูก และ แก้ หมายความว่า  ผู้ที่ท่านกันออกไปจากความสัมพันธ์กับท่านก็จะถูกกันออกไปจากความสัมพันธ์กับพระเจ้า ผู้ที่ท่านจะรับเข้ามามีความสัมพันธ์กับท่านอีก พระเจ้าก็จะทรงรับเข้ามามีความสัมพันธ์กับพระองค์ด้วย การคืนดีกับพระศาสนจักรแยกกันไม่ออกจากการคืนดีกับพระเจ้า

 

ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการให้อภัย

 1446  พระคริสตเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปนี้สำหรับสมาชิกที่ได้ทำบาปทุกคนของพระศาสนจักรของพระองค์ โดยเฉพาะสำหรับสมาชิกที่ได้ตกในบาปหนักหลังจากได้รับศีลล้างบาปแล้ว และดังนี้จึงได้สูญเสียพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปและทำให้ความสัมพันธ์ในพระศาสนจักรมีบาดแผล ศีลอภัยบาปให้โอกาสใหม่แก่คนเหล่านี้ที่จะกลับใจและรับพระหรรษทานที่บันดาลความชอบธรรมได้อีก บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรกล่าวถึงศีลนี้ว่าเป็นเสมือน “ท่อนไม้อีกท่อนหนึ่งหลังจากเรืออัปปาง” ที่นำพระหรรษทานความรอดพ้นที่สูญเสียไปแล้วกลับมาอีก[40]

1447     ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ระเบียบการที่เป็นรูปธรรมซึ่งพระศาสนจักรใช้อำนาจที่ได้รับมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้านี้ได้เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปอย่างมาก ในศตวรรษแรกๆ ของคริสตศาสนา ระเบียบการคืนดีของคริสตชนที่ได้ทำบาป โดยเฉพาะบาปหนัก หลังจากรับศีลล้างบาปแล้ว (เช่น การนับถือรูปเคารพ ฆาตกรรม หรือการมีชู้) เคร่งครัดมาก ระเบียบนี้กำหนดให้ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจต้องทำกิจการใช้โทษบาปของตนอย่างเปิดเผย และบางครั้งเป็นเวลานานหลายปีก่อนจะได้รับการอภัยบาป ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง “ระเบียบการสำหรับผู้เป็นทุกข์กลับใจ” เช่นนี้ (ที่ใช้เพียงกับบาปหนักบางประการเท่านั้น) ได้นั้นมีเพียงนานๆ ครั้ง และในบางท้องถิ่น เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต ในช่วงเวลาคริสตศตวรรษที่ 7 บรรดาธรรมทูตชาวไอริช ซึ่งได้รับอิทธิพลบันดาลใจจากธรรมประเพณีสำนักพรตของพระศาสนจักรทางตะวันออก ได้นำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกลับใจเพื่อรับอภัยบาป “แบบส่วนตัว” เข้ามาใช้ในแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรป แนวปฏิบัติเช่นนี้ไม่ไม่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติกิจกรรมที่แสดงการกลับใจอย่างเปิดเผยเป็นเวลานานก่อนจะรับการคืนดีกับ พระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้จึงประกอบพิธีอย่างค่อนข้างลับๆ ระหว่างผู้เป็นทุกข์กลับใจและพระสงฆ์ แนวปฏิบัติแบบใหม่นี้จึงเอื้อให้มีการรับศีลนี้ซ้ำได้และดังนี้จึงเปิดทางให้การรับศีลนี้บ่อยๆ เป็นแนวปฏิบัติตามปกติ การปฏิบัติเช่นนี้อนุญาตให้รวมการอภัยทั้งบาปหนักและบาปเบาของคนบาปได้ในพิธีรับศีลครั้งเดียวกัน ในรายละเอียดที่สำคัญ นี่จึงเป็นรูปแบบของศีลอภัยบาปที่พระศาสนจักรปฏิบัติมาจนถึงวันนี้

1448   แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ที่ระเบียบการและการประกอบพิธีของศีลนี้ได้ผ่านมาตลอดเวลาหลายศตวรรษ เราก็ยังเห็นโครงสร้างหลักเดียวกันได้อยู่ โครงสร้างหลักนี้มีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือกิจกรรมของมนุษย์ที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้กลับใจ ได้แก่ความทุกข์ถึงบาป การสารภาพบาปและการทำกิจใช้โทษบาป อีกส่วนหนึ่งคือกิจกรรมของพระเจ้าผ่านทางพระศาสนจักร พระศาสนจักรซึ่งผ่านทางพระสังฆราชและพระสงฆ์ของท่าน ประทานการอภัยบาปเดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า และยังกำหนดวิธีการทำกิจใช้โทษบาป และยังอธิษฐานภาวนาเพื่อคนบาปและประกอบกิจการใช้โทษบาปพร้อมกับเขาด้วย ด้วยวิธีนี้ คนบาปจึงได้รับการเยียวยารักษาและกลับมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรอีกครั้งหนึ่ง

 1449  สูตรอภัยบาปที่พระศาสนจักรละตินใช้นั้นแสดงให้เห็นองค์ประกอบสำคัญของศีลนี้ นั่นคือ พระบิดาผู้ทรงพระกรุณาทรงเป็นบ่อเกิดการอภัยบาปทั้งหลาย พระองค์ทรงบันดาลให้คนบาปได้รับการคืนดีโดยปัสกาของพระบุตรและพระพรของพระจิตเจ้า และโดยการอธิษฐานภาวนาและศาสนบริการของพระศาสนจักร

“พระเป็นเจ้า พระบิดาผู้ทรงพระเมตตา ได้ทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระบุตร  และทรงส่งพระจิตมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ ขอพระองค์ประทานพระเมตตาและสันติสุขแก่ท่านอาศัยศาสนบริการของพระศาสนจักร ข้าพเจ้าจึงอภัยบาปทั้งสิ้นของท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตรและพระจิต”[41]

 

[33] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.

[34] เทียบ มก 2:7.

[35] เทียบ ลก 7:48.              

[36] เทียบ ยน 20:21-23.         

[37] เทียบ ลก บทที่ 15.

[38] เทียบ ลก 19:9.

[39] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26.

[40] Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 14: DS 1542; cf Tertullianus, De paenitentia, 4, 2: CCL 1, 326 (PL 1, 1343).

[41] Ordo Paenitentiae, 46. 55 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 27. 37. (ภาษาไทย หน้า 23 และ 42)

VI.  กิจกรรมของผู้เป็นทุกข์กลับใจ

VI.  กิจกรรมของผู้เป็นทุกข์กลับใจ

1450   “การเป็นทุกข์กลับใจเรียกร้องให้คนบาปยินดีอดทนทุกอย่าง มีความทุกข์ในใจ สารภาพบาปด้วยปาก มีความถ่อมตนอย่างสมบูรณ์ในการปฏิบัติ และทำกิจการชดเชยความผิดให้เกิดผล”[42]

 

ความทุกข์ถึงบาป

 1451   ในบรรดากิจกรรมของผู้รับศีลอภัยบาป กิจกรรมสำคัญที่สุดคือความทุกข์ถึงบาป ซึ่งก็คือ “ความทุกข์ใจและเกลียดชังบาปที่ได้ทำ พร้อมกับความตั้งใจจะไม่ทำอีก”[43]

 1452  เมื่อความทุกข์ถึงบาปเกิดมาจากความรักพระเจ้าเหนือทุกสิ่งก็เรียกว่า “ความทุกข์สมบูรณ์” (ความทุกข์ที่มาจากความรัก หรือ caritatis contritio) ความทุกข์เช่นนี้ให้อภัยความผิดเล็กๆน้อยๆ และยังทำให้ได้รับอภัยบาปหนัก ถ้ามีความตั้งใจมั่นคงว่าจะไปรับศีลอภัยบาปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย[44]

1453   ความทุกข์ที่เรียกว่า “ไม่สมบูรณ์” (หรือ attritio) ก็เป็นของประทานจากพระเจ้าและการดลใจของพระจิตเจ้าด้วย ความทุกข์นี้เกิดจากการพิจารณาถึงความน่าเกลียดของบาปซึ่งอาจมาจากความกลัวจะรับโทษนิรันดรและโทษอื่นๆ ที่พระเจ้าทรงคาดโทษไว้สำหรับคนบาป (ความทุกข์ถึงบาปจากความกลัว) ความหวั่นไหวของมโนธรรมเช่นนี้อาจทำให้เกิดวิวัฒนาการภายในที่จะสมบูรณ์โดยการให้อภัยบาปของศีลศักดิ์สิทธิ์ ถึงกระนั้นโดยตนเองแล้วความทุกข์ไม่สมบูรณ์ไม่อาจทำให้เรารับการอภัยบาปหนักได้ แต่จัดเตรียมให้เรารับการอภัยบาปได้ในศีลอภัยบาป[45]

1454     จำเป็นต้องเตรียมตนเพื่อรับศีลนี้โดยการพิจารณามโนธรรมที่ทำโดยอาศัยความสว่างจากพระวาจาของพระเจ้า ตัวบทเหมาะที่สุดสำหรับการนี้ควรแสวงหาในพระบัญญัติสิบประการ ในคำสอนด้านศีลธรรมของพระวรสารและจดหมายของบรรดาอัครสาวก ในบทเทศน์บนภูเขา ในคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก[46]

 

การสารภาพบาป

 1455  การสารภาพบาป (การกล่าวโทษตนเอง) แม้เมื่อพิจารณาตามธรรมชาติมนุษย์ ก็ช่วยเราให้รอดพ้นและทำให้การคืนดีกับผู้อื่นทำได้ง่ายขึ้นแล้ว โดยการสารภาพบาป มนุษย์เราพิจารณาโดยตรงถึงบาปที่ทำให้เรามีความผิด ยอมรับผิดชอบถึงบาปเหล่านั้นและเปิดตนอีกครั้งหนึ่งแก่พระเจ้าและสัมพันธภาพกับพระศาสนจักรเพื่อทำให้อนาคตใหม่เกิดขึ้นได้

 1456  การสารภาพบาปต่อพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของศีลอภัยบาป “ผู้กลับใจเป็นทุกข์ถึงบาปต้องสารภาพบาปหนักทุกข้อที่เขาสำนึกได้หลังจากได้เอาใจใส่พิจารณามโนธรรมแล้ว แม้จะเป็นบาปที่เป็นความลับที่สุดซึ่งได้ทำผิดต่อพระบัญญัติสองประการสุดท้ายด้วย[47] บาปเหล่านี้บางครั้งทำให้วิญญาณบาดเจ็บหนักกว่า และเป็นอันตรายมากกว่าบาปที่ได้ทำไปอย่างเปิดเผยเสียด้วย”[48]

“เมื่อผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าพยายามสารภาพบาปทุกข้อที่เราระลึกได้ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าเขาแสดงบาปทุกข้อเพื่อรับอภัยจากพระกรุณาของพระเจ้า ส่วนผู้ที่ทำอย่างอื่นและไม่ยอมสารภาพบาปบางข้อโดยรู้ตัว ก็ไม่เสนออะไรแก่พระทัยดีของพระเจ้าเพื่อจะรับอภัยบาปผ่านทางพระสงฆ์ ‘ถ้าคนป่วยอายที่จะแสดงบาดแผลแก่แพทย์ ยาก็ไม่อาจรักษาโรคที่มันไม่รู้จักได้’”[49]

 1457    ตามกฎข้อบังคับของพระศาสนจักร “ผู้มีความเชื่อทุกคน หลังจากถึงอายุรู้ความแล้ว จำเป็นต้องสารภาพบาปหนักอย่างซื่อสัตย์อย่างน้อยปีละครั้ง”[50] ผู้ที่สำนึกว่าตนได้ทำบาปหนัก ต้องไม่ไปรับศีลมหาสนิท ก่อนจะได้รับการอภัยบาปในศีลศักดิ์สิทธิ์ แม้เขาจะรู้สึกเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างมากก็ตาม[51] นอกจากจะมีเหตุผลสำคัญต้องรับศีลมหาสนิทและยังไม่อาจไปรับศีลอภัยบาปได้[52] บรรดาเด็กๆ ต้องไปรับศีลอภัยบาปก่อนจะรับศีลมหาสนิทครั้งแรก[53]

 1458  แม้ว่าการสารภาพความผิดที่ทำทุกๆ วัน (บาปเบา) จะไม่จำเป็นนัก พระศาสนจักรก็ยังสนับสนุนอย่างจริงจังให้ปฏิบัติด้วย[54] อันที่จริง การสารภาพบาปเบาของเราเป็นประจำย่อมช่วยเราให้จัดรูปแบบมโนธรรมของเรา เพื่อต่อสู้กับแนวโน้มทางชั่วของเรา เพื่อเปิดโอกาสให้พระคริสตเจ้าทรงบำบัดรักษาเรา ให้เราก้าวหน้าในชีวิตจิต เมื่อเรารับพระกรุณาเป็นของประทานจากพระบิดาผ่านทางศีลนี้บ่อยๆ เราก็ยิ่งรับการผลักดันให้มีความเมตตากรุณาเหมือนพระองค์มากขึ้น[55]

“ผู้ที่สารภาพบาปของตน และกล่าวโทษบาปของตน ก็ปฏิบัติงานพร้อมกับพระเจ้าแล้ว พระเจ้าทรงกล่าวโทษบาปของท่าน ถ้าท่านกล่าวโทษด้วย ท่านก็อยู่ร่วมกับพระเจ้า มนุษย์และคนบาปเป็นเหมือนสองสิ่ง สิ่งที่ท่านในฐานะมนุษย์ได้ยิน พระเจ้าทรงทำไว้ สิ่งที่ท่านในฐานะคนบาปได้ยิน มนุษย์เองได้ทำไว้ จงทำลายสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ แล้วกิจการดีของท่านก็เริ่มต้น เพราะท่านกล่าวโทษกิจการเลวของท่าน การสารภาพกิจการเลวเป็นการเริ่มต้นกิจการดี ท่านปฏิบัติความจริงและมาถึงความสว่าง”[56]

 

การชดเชยบาป

1459   บาปหลายประการนำผลร้ายมาให้เพื่อนมนุษย์ จึงจำเป็นต้องทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ไขผลร้ายนี้ (เช่น คืนสิ่งของที่ได้ขโมยมา คืนชื่อเสียงแก่ผู้ที่เราได้ใส่ความ ชดเชยแก้ไขความเสียหาย) เพียงแต่ความยุติธรรมก็เรียกร้องเช่นนี้แล้ว แต่บาปยังทำให้คนบาปเองได้รับบาดแผลและความอ่อนแอมากกว่านั้น และยังทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์อ่อนแอลงด้วย สูตรโปรดบาปให้อภัยบาป แต่ไม่ได้นำการบำบัดรักษามาให้ความสับสนต่างๆ ที่บาปก่อให้เกิดขึ้น[57] เมื่อรับการปลดปล่อยจากบาปแล้ว คนบาปยังต้องแสวงหาสุขภาพสมบูรณ์ทางจิตกลับมาอีกให้ได้ ดังนั้นเขาจึงต้องทำอะไรมากกว่านั้นเพื่อจะช่วยซ่อมแซมแก้ไขบาปของตน เขาต้อง “ชดเชย” หรือ “ชดใช้” บาปของตนด้วยวิธีการที่เหมาะสม  การชดเชยนี้ยังเรียกอีกว่า “การใช้โทษบาป”

1460   การใช้โทษบาป ที่พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปกำหนดให้นั้นต้องคำนึงถึงสภาพของผู้สารภาพบาปและผลดีทางจิตใจของเขาด้วย กิจกรรมการใช้โทษบาปจึงต้องได้ส่วนกับความหนักเบาและลักษณะของบาปที่เขาได้ทำ กิจกรรมการใช้โทษบาปอาจเป็นการอธิษฐานภาวนา การบริจาคทำบุญ การให้ทาน การทำงานรับใช้ผู้อื่น การสละตนโดยสมัครใจ การถวายบูชา การยอมรับทนความทุกข์ยากเป็นเสมือนยอมรับแบกไม้กางเขนของตน กิจกรรมใช้โทษบาปเช่นนี้ช่วยเราให้เราเป็นเหมือนพระคริสตเจ้าผู้ทรงชดเชยบาปของเราเพียงครั้งเดียว[58] สำหรับตลอดไป กิจกรรมเหล่านี้ช่วยเราให้เป็นทายาทร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ เพราะเรา “รับทรมานร่วมกับพระองค์” (รม 8:17)[59]

“กิจกรรมใช้โทษบาปที่เราทำสำหรับบาปของเราไม่ใช่ทำไปโดยไม่ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า เพราะเราที่ทำอะไรเองไม่ได้เลยนั้น ถ้าพระองค์ทรงร่วมงานด้วย ‘เราทำทุกสิ่งได้ในพระองค์ผู้ประทานพละกำลังแก่เรา’[60] ดังนั้น มนุษย์จึงไม่มีอะไรที่จะภูมิใจได้ แต่ความภูมิใจทุกอย่างของเราอยู่ในพระคริสตเจ้า […] ซึ่งเราทำกิจกรรมใช้โทษบาปในพระองค์ ‘เป็นการประพฤติตนสมกับที่ได้กลับใจแล้ว’[61] กิจกรรมเหล่านี้มีผลมาจากพระองค์ ถวายแด่พระบิดาโดยพระองค์ และพระบิดาทรงรับผ่านทางพระองค์ด้วย”[62]

 

[42] Catechismus Romanus, 2, 5, 21: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 299; cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 3: DS 1673.

[43] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 4: DS 1676.             

[44] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 4: DS 1677.           

[45] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 4: DS 1678; Id., Sess. 14a, Canones de sacramento Paenitentiae, canon 5: DS 1705.         

[46] เทียบ รม บทที่ 12-15; 1  คร บทที่ 12-13; กท บทที่ 5;  อฟ บทที่ 4-6.

[47] เทียบ อพย 20:17; มธ 5:28.

[48] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 5: DS 1680.             

[49] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 5: DS 1680; cf Sanctus Hieronymus, Commentarius in Ecclesiasten, 10, 11: CCL 72, 338 (PL 23, 1096).

[50] CIC canon 989; cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 5: DS 1683; Id., Sess. 14a, Canones de
sacramento Paenitentiae
, canon 8: DS 1708.

[51] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 13, Decretum de ss. Eucharistia, c. 7: DS 1647; Ibid., canon 11: DS 1661.            

[52] Cf CIC canon 916; CCEO canon 711.

[53] Cf CIC canon 914.

[54] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 5: DS 1680; CIC canon 988, § 2.      

[55] เทียบ ลก 6:36.             

[56] Sanctus Augustinus, In Iohannis evangelium tractatus, 12, 13: CCL 36, 128 (PL 35, 1491).         

[57] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Canones de sacramento Paenitentiae, canon 12: DS 1712.

[58] เทียบ รม 3:25; 1 ยน 2:12.   

[59] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 8: DS 1690.

[60] เทียบ ฟป 4:13.

[61] เทียบ ลก เทียบ ลก 3:8.

[62] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 8: DS 1691.

VIII.  ศาสนบริกรของศีลนี้

VIII.  ศาสนบริกรของศีลนี้

 1461   เพราะพระคริสตเจ้าทรงมอบศาสนบริการการคืนดีแก่บรรดาอัครสาวก[63] บรรดาพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวก และบรรดาพระสงฆ์ ผู้ช่วยของบรรดาพระสังฆราช จึงยังปฏิบัติศาสนบริการนี้ต่อมา อันที่จริง โดยพลังของศีลบวช พระสังฆราชและพระสงฆ์มีอำนาจอภัยบาปทุกประการ “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตรและพระจิตเจ้า”

1462   การอภัยบาปทำให้คืนดีกับพระเจ้า และยังทำให้คืนดีกับพระศาสนจักรด้วย ดังนั้น  พระสังฆราช ในฐานะประมุขที่เราแลเห็นได้ของพระศาสนจักรท้องถิ่น ตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงได้รับการยอมรับอย่างสมเหตุผลว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจและศาสนบริการการคืนดีโดยเฉพาะ ท่านเป็นผู้จัดระเบียบเกี่ยวกับศีลอภัยบาป[64] บรรดาพระสงฆ์ผู้ร่วมงานกับท่าน ใช้อำนาจนี้ตามส่วนที่ได้รับมาจากหรือพระสังฆราชของตน (หรือจากผู้ปกครองคณะนักบวช) หรือจากสมเด็จพระสันตะปาปาตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายของพระศาสนจักร[65]

 1463    บาปหนักเป็นพิเศษบางประการมีโทษถูกตัดขาดจากพระศาสนจักร ซึ่งเป็นโทษหนักที่สุดของพระศาสนจักร โทษนี้ห้ามไม่ให้รับศีลศักดิ์สิทธิ์และไม่อาจปฏิบัติกิจกรรมบางประการของพระศาสนจักร[66] ดังนั้น ตามข้อกำหนดในประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร บาปนี้จึงไม่อาจรับการยกโทษได้นอกจากโดยสมเด็จพระสันตะปาปา โดยพระสังฆราชประมุขท้องถิ่น หรือโดยพระสงฆ์ที่ได้รับอำนาจเพื่อการนี้[67] ในกรณีอันตรายถึงชีวิต พระสงฆ์องค์ใดไม่ว่า แม้ผู้ที่ไม่มีอำนาจรับฟังการสารภาพบาปด้วย ก็อาจอภัยจากบาปทุกประการและจากการถูกตัดขาดจากพระศาสนจักรทุกอย่างได้ด้วย[68]

1464   บรรดาพระสงฆ์ต้องเตือนบรรดาผู้มีความเชื่อให้เข้าไปรับศีลอภัยบาปและต้องพร้อมที่จะประกอบพิธีศีลนี้ทุกครั้งที่บรรดาคริสตชนขอรับศีลนี้อย่างมีเหตุผล[69]

 1465  เมื่อประกอบพิธีศีลอภัยบาป พระสงฆ์ก็ทำหน้าที่ของผู้เลี้ยงแกะที่ดีซึ่งแสวงหาแกะที่หายไป ทำหน้าที่ของชาวสะมาเรียผู้ใจดีซึ่งรักษาบาดแผล แสดงบทบาทของบิดาผู้กำลังรอคอยลูกล้างผลาญและต้อนรับเมื่อลูกกลับมา ทำหน้าที่ของผู้พิพากษายุติธรรมซึ่งไม่ลำเอียง ที่คำพิพากษาของเขายุติธรรมและเมตตากรุณาพร้อมกันด้วย พูดสั้นๆ พระสงฆ์เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแสดงความรักของพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณาต่อคนบาป

 1466  พระสงฆ์ผู้ฟังการสารภาพบาปไม่ใช่เจ้านายของการอภัยโทษจากพระเจ้า แต่เป็นศาสนบริกรผู้รับใช้ ผู้ประกอบพิธีศีลนี้จึงต้องร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้าทั้งในเจตนาและความรัก[70] เขาต้องมีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชน มีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ มีความเคารพและความอ่อนโยนต่อผู้ที่พลาดพลั้งทำผิดไป ต้องรักความจริง ซื่อสัตย์ต่อผู้มีอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร และมีความพากเพียรตักเตือนผู้เป็นทุกข์ถึงบาปให้ได้รับการเยียวยารักษาและบรรลุถึงวุฒิภาวะอย่างสมบูรณ์ เขาต้องอธิษฐานภาวนาและทำกิจชดเชยบาปสำหรับผู้เป็นทุกข์ถึงบาป และมอบเขาไว้กับ  พระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย

 1467   เมื่อพิจารณาถึงความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่ของศาสนบริการนี้ รวมทั้งความเคารพที่ต้องมีให้แก่สิทธิส่วนตัวของทุกคน พระศาสนจักรจึงประกาศว่าพระสงฆ์ทุกองค์ที่ฟังการสารภาพบาปมีพันธะต้องรักษาความลับอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับบาปที่ผู้เป็นทุกข์ได้สารภาพแก่ตนโดยมีโทษกำหนดไว้อย่างหนักที่สุดสำหรับผู้ฝ่าฝืน[71] เขายังไม่อาจใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ผู้เป็นทุกข์สารภาพแก่เขาเกี่ยวกับชีวิตของตนได้อีกด้วย  ความลับนี้ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นใดเลยเรียกว่า “ความลับของศีลแก้บาป (ตราประทับของศีลศักดิ์สิทธิ์)” เพราะทุกสิ่งที่ผู้เป็นทุกข์เปิดเผยแก่พระสงฆ์นั้น “ถูกประทับตราไว้” โดยศีลศักดิ์สิทธิ์

 

[63] เทียบ ยน 20:23; 2 คร 5:18.

[64] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 26: AAS 57 (1965) 32.

[65] Cf CIC canones 844. 967-969. 972; CCEO canon 722, §§ 3-4.

[66] Cf CIC canon 1331; CCEO canones 1431. 1434.

[67] Cf CIC canones 1354-1357; CCEO canon 1420.

[68] Cf CIC canon 976; pro peccatorum vero absolutione, CCEO canon 725.

[69] Cf CIC canon 986; CCEO canon 735; Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 13: AAS 58 (1966) 1012.

[70] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 13: AAS 58 (1966) 1012.

[71]   Cf CIC canones 983-984. 1388, § 1; CCEO canon 1456.      

IX. ผลของศีลนี้

IX. ผลของศีลนี้

 1468  “พลังทั้งหมดของศีลอภัยบาปจึงอยู่ที่ว่า ศีลนี้ทำให้เราได้รับพระหรรษทานของพระเจ้าคืนมา ทำให้เราได้รับมิตรภาพสูงสุดมีความสัมพันธ์กับพระองค์อีก”[72] ดังนั้น จุดประสงค์และผลของศีลนี้ก็คือการกลับคืนดีกับพระเจ้า ผู้ที่รับศีลอภัยบาปด้วยจิตใจที่เป็นทุกข์ถึงบาปและมีศรัทธาต่อพระเจ้า “ย่อมได้รับสันติและความสงบในมโนธรรมพร้อมกับความบรรเทาจิตใจอย่างใหญ่หลวง”[73] อันที่จริง ศีลแห่งการกลับคืนดีกับพระเจ้าย่อมนำ “การกลับคืนชีพฝ่ายจิต” ที่แท้จริง การได้รับศักดิ์ศรีและพระพรต่างๆ ของชีวิตบุตรของพระเจ้ามาให้ สิ่งที่ประเสริฐสุดในพระพรเหล่านี้ก็คือมิตรภาพกับพระเจ้า[74]

 1469  ศีลนี้ทำให้เรากลับคืนดีกับพระศาสนจักร บาปทำให้สัมพันธภาพระหว่างพี่น้องอ่อนแอลงหรือถูกทำลาย ศีลอภัยบาปซ่อมแซมหรือคืนสัมพันธภาพนี้ขึ้นใหม่ ในความหมายนี้ ศีลนี้จึงไม่เพียงแต่บำบัดรักษาผู้ที่ถูกรับกลับเข้ามามีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรอีกเท่านั้น แต่ยังมีผลนำชีวิตมาให้พระศาสนจักรซึ่งได้รับผลร้ายจากบาปของสมาชิกคนหนึ่งของตนด้วย[75] เมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับเข้ามาอยู่และตั้งมั่นในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ เขาย่อมรับพลังจากพระพรฝ่ายจิตที่มีอยู่ระหว่างอวัยวะทรงชีวิตทุกส่วนของ  พระวรกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าทั้งที่ยังกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้หรือที่อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนแห่งสวรรค์แล้ว[76]

“จำเป็นต้องกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการกลับคืนดีกับพระเจ้าเช่นนี้ยังก่อให้เกิดการกลับคืนดีอย่างอื่นอีกด้วย ซึ่งก็ช่วยบำบัดรักษาผลร้ายที่เกิดจากบาปด้วย ผู้เป็นทุกข์ที่ได้รับอภัยบาปแล้วก็กลับคืนดีกับตนเองในส่วนลึกของจิตใจซึ่งอยู่ภายในที่เขาพบความจริงภายในของตน เขากลับคืนดีกับเพื่อนพี่น้องที่เขาได้ทำผิดหรือทำให้เสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง เขากลับคืนดีกับพระศาสนจักร และกลับคืนดีกับสิ่งสร้างทั้งหมดอีกด้วย”[77]

 1470   เมื่อคนบาปมอบตนแก่การตัดสินที่ทรงพระกรุณาของพระเจ้าในศีลนี้ เขาก็เสมือนว่า ยอมรับการตัดสินล่วงหน้าก่อนที่เขาจะต้องรับตอนปลายของชีวิตในโลกนี้ เพราะบัดนี้ ในชีวิตนี้พระเจ้าประทานโอกาสให้เราเลือกระหว่างชีวิตและความตายได้ และเราอาจเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้าที่บาปหนักกีดกั้นเราไว้ได้ก็โดยผ่านทางการกลับใจเท่านั้น[78] คนบาปที่กลับมาหาพระคริสตเจ้าโดยการเป็นทุกข์กลับใจและความเชื่อ ย่อมผ่านจากความตายมาสู่ชีวิต “และไม่ถูกพิพากษาลงโทษ” (ยน 5:24)

 

[72] Catechismus Romanus, 2, 5, 18: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 297.

[73] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento Paenitentiae, c. 3: DS 1674.

[74]  เทียบ ลก 15:32.            

[75] เทียบ 1 คร 12:26.

[76] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48-50: AAS 57 (1965) 53-57.           

[77] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Reconciliatio et paenitentia, 31, § V: AAS 77 (1985) 265.             

[78] เทียบ 1 คร 5:11; กท 5:19-21; วว 22:15.        

X. พระคุณการุณย์

X. พระคุณการุณย์

1471     คำสอนและแนวปฏิบัติเรื่องพระคุณการุณย์ในพระศาสนจักรมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผลของศีลอภัยบาป

พระคุณการุณย์คืออะไร

         “พระคุณการุณย์คือการยกโทษชั่วคราวสำหรับบาปที่ได้รับอภัยความผิดแล้ว คริสตชนผู้มีความเชื่อที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ย่อมรับพระคุณการุณย์นี้ได้โดยความช่วยเหลือจากพระศาสนจักรในฐานะผู้รับใช้การไถ่กู้ ซึ่งมีอำนาจจัดการและแจกจ่ายการชดเชยบาปที่พระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้สะสมไว้เป็นเสมือนขุมทรัพย์”[79]

“พระคุณการุณย์เป็นพระคุณบางส่วนหรือพระคุณบริบูรณ์ก็แล้วแต่ว่าช่วยให้พ้นจากโทษชั่วคราวสำหรับบาปเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด”[80] “ผู้มีความเชื่อทุกคนอาจรับพระคุณการุณย์ได้สำหรับตนเอง หรืออาจอุทิศแก่ผู้ล่วงลับก็ได้”[81]

 

โทษของบาป

 1472    เพื่อจะเข้าใจคำสอนและการปฏิบัติเรื่องนี้ของพระศาสนจักร จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าบาปมีผลตามมาสองประการ บาปหนักทำให้เราสูญเสียความสัมพันธ์กับพระเจ้า และดังนี้จึงทำให้เราไม่อาจมีชีวิตนิรันดรได้ การสูญเสียเช่นนี้เรียกว่า “โทษนิรันดร” ของบาป ในอีกด้านหนึ่ง บาปใดๆ ไม่ว่า แม้กระทั่งบาปเบาก็ทำให้เรามีความโน้มเอียงไปหาสิ่งสร้างในแบบที่ไม่ปกตินัก ซึ่งต้องรับการชำระหรือในชีวิตนี้หรือหลังจากความตายในสภาพที่เรียกว่า “ไฟชำระ” (“แดนชำระ”?) การชำระนี้ช่วยให้พ้นจากสิ่งที่เราเรียกว่า “โทษชั่วคราว” ของบาป เราต้องไม่เข้าใจว่าโทษทั้งสองประการนี้เป็นเหมือนการแก้แค้นที่พระเจ้าทรงลงโทษจากภายนอก  แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นผลที่ตามมาเองจากธรรมชาติของบาป การกลับใจที่มาจากความรักแท้จริงอาจทำให้         คนบาปบรรลุถึงการชำระบาปโดยสมบูรณ์จนไม่มีโทษบาปเหลืออยู่อีกเลยก็ได้[82]

 

 1473    การอภัยบาปและการคืนความสัมพันธ์กับพระเจ้านำการยกโทษนิรันดรของบาปมาให้ด้วย แต่โทษชั่วคราวของบาปยังคงอยู่ต่อไป คริสตชนที่ยอมรับความทุกข์และการทดลองทุกชนิดด้วยความอดทนและยอมรับความตายด้วยใจสงบ เมื่อวันนั้นมาถึง ต้องพยายามรับว่าโทษชั่วคราวเหล่านี้ของบาปเป็นเสมือนพระหรรษทาน เขายังต้องพยายามประกอบกิจการแสดงเมตตาจิตและความรัก พร้อมทั้งการอธิษฐานภาวนาและกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงการกลับใจ เพื่อปลดเปลื้อง “สภาพมนุษย์เก่า” ให้หมดสิ้น เพื่อจะได้สวม “สภาพมนุษย์ใหม่” ได้อย่างสมบูรณ์[83]

ในความสัมพันธ์หนึ่งเดียวของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์

 1474    คริสตชนที่พยายามชำระตนจากบาปและทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระเจ้าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว “ชีวิตของบุตรพระเจ้าแต่ละคนในพระคริสตเจ้าและอาศัยพระคริสตเจ้านั้นมีความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้องคริสตชนทุกคนด้วยพันธะน่าพิศวงในเอกภาพเหนือธรรมชาติแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าประหนึ่งอยู่ในพระบุคคลล้ำลึกเพียงหนึ่งเดียว”[84]

1475     ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ “ระหว่างบรรดาผู้มีความเชื่อ ไม่ว่าที่อยู่ในสวรรค์แล้ว หรือยังต้องชดใช้โทษอยู่ในแดนชำระ หรือยังกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ นับได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์ถาวรของความรักและการแลกเปลี่ยนอย่างอุดมสมบูรณ์ของพระพรต่างๆ”[85] ในการแลกเปลี่ยนกันอย่างน่าพิศวงเช่นนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของคนหนึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นทุกคนมากกว่าความเสียหายที่บาปของคนหนึ่งอาจก่อให้เกิดแก่ผู้อื่นได้ ดังนี้การเข้าหาความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ย่อมเปิดโอกาสแก่คนบาปที่เป็นทุกข์กลับใจได้ชำระตนจากโทษของบาปได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 1476   เรายังเรียกความดีงามด้านจิตใจในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ว่า “ขุมทรัพย์ของพระศาสนจักรขุมทรัพย์นี้ “อันที่จริงแล้วไม่เป็นเหมือนกับการสะสมรวบรวมทรัพย์สินที่เป็นวัตถุไว้ตลอดเวลาหลายศตวรรษ แต่เป็นคุณค่าไร้ขอบเขตและไม่รู้จักหมดสิ้นที่การชดเชยบาปและบุญกุศลของพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้ามีอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระคริสตเจ้าทรงถวายการชดเชยบาปและบุญกุศลเหล่านี้เพื่อมนุษยชาติทั้งมวลจะได้เป็นอิสระจากบาปและมีสัมพันธภาพกับพระบิดาได้  พระคริสตเจ้าเองทรงเป็นพระผู้กอบกู้ การชดเชยบาปและบุญกุศลของการไถ่กู้ของพระองค์ดำรงอยู่และบังเกิดผลในพระองค์นี้เอง”[86]

 1477    “นอกจากนั้น ‘ขุมทรัพย์’ นี้ยังรวมไปถึงการอธิษฐานภาวนาและกิจการที่ดีของพระนางพรหมจารีมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายซึ่งมีคุณค่ายิ่งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอย่างที่ไม่อาจคาดคิดถึงได้ อาศัยพระหรรษทานท่านเหล่านี้ได้ติดตามพระยุคลบาทของพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ได้บำเพ็ญตนเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ปฏิบัติพันธกิจที่ได้รับมาจากพระบิดาอย่างที่ว่า ขณะที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อความรอดพ้นของตน ก็ยังนำผลดีมาช่วยความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้องที่รวมอยู่ในเอกภาพของพระกายทิพย์อีกด้วย”[87]


การรับพระคุณการุณย์ของพระเจ้าผ่านทางพระศาสนจักร

 1478    เรารับพระคุณการุณย์ผ่านทางพระศาสนจักร ซึ่งอาศัยอำนาจผูกและแก้ที่พระเยซูคริสตเจ้าประทานให้ไว้ เข้ามาวอนขอเพื่อคริสตชนคนหนึ่งและเปิดขุมทรัพย์บุญกุศลของพระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เขาได้รับการอภัยโทษชั่วคราวที่บาปของเขาควรต้องรับ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงปรารถนาไม่เพียงแต่มาช่วยคริสตชนผู้นี้เท่านั้น แต่ยังปรารถนาที่จะปลุกเขาให้ปฏิบัติกิจศรัทธา การกลับใจใช้โทษบาป และความรักอีกด้วย[88]

 1479    เนื่องจากบรรดาผู้มีความเชื่อผู้ล่วงลับที่ยังกำลังรับการชำระอยู่ก็อยู่ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับเราด้วย วิธีการหนึ่งที่เราอาจช่วยเหลือเขาเหล่านี้ได้ก็คือโดยรับพระคุณการุณย์สำหรับเขา เพื่อให้เขาได้รับการปลดปล่อยจากโทษชั่วคราวที่เขาต้องรับเพราะบาปที่เขาได้ทำไว้

 

[79] Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, Normae, 1: AAS 59 (1967) 21.

[80] Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, Normae, 2: AAS 59 (1967) 21.    

[81] CIC canon 994.

[82] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Canones de sacramento Paenitentiae, canones 12-13: DS 1712-1713; Id., Sess. 25a, Decretum de purgatorio: DS 1820.   

[83] เทียบ อฟ 4:24.

[84] Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, 5: AAS 59 (1967) 11.             

[85] Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, 5: AAS 59 (1967) 12.

[86] Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, 5: AAS 59 (1967) 11.

[87] Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, 5: AAS 59 (1967) 11-12.

[88] Cf Paulus VI, Const. ap. Indulgentiarum doctrina, 8: AAS 59 (1967) 16-17; Concilium Tridentinum, Sess. 25a, Decretum de indulgentiis: DS 1835.

XI. การประกอบพิธีศีลอภัยบาป

XI. การประกอบพิธีศีลอภัยบาป

1480   ศีลอภัยบาปเป็นพิธีกรรมเช่นเดียวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกศีล องค์ประกอบของการประกอบพิธีตามปกติมีดังนี้ คือ การทักทายและอวยพรของพระสงฆ์ การอ่านพระวาจาของพระเจ้าเพื่อส่องสว่างมโนธรรมและปลุกความทุกข์ถึงบาป การเตือนใจให้กลับใจใช้โทษบาป การสารภาพที่ยอมรับว่าได้ทำบาปและบอกให้พระสงฆ์ทราบ การกำหนดและยอมรับกิจการชดเชยบาป การอภัยบาปจากพระสงฆ์ การสรรเสริญขอบพระคุณพระเจ้าและการอำลาพร้อมกับการอวยพรของพระสงฆ์

 1481    พิธีกรรมจารีตไบซันตินยอมรับสูตรอภัยบาปหลายแบบ ในรูปคำอ้อนวอนที่แสดงพระธรรมล้ำลึกของการอภัยบาปได้อย่างน่าพิศวง “พระเจ้าผู้ประทานอภัยอาศัยประกาศกนาธันแก่กษัตริย์ดาวิดที่ทรงสารภาพบาปที่ทรงกระทำ ประทานอภัยแก่เปโตรที่ได้ร้องไห้อย่างขมขื่น ประทานอภัยแก่หญิงคนบาปผู้หลั่งน้ำตาแทบพระบาท ทั้งยังประทานอภัยแก่คนเก็บภาษีและลูกล้างผลาญ ขอพระเจ้าประทานอภัยบาปแก่ท่านอาศัยข้าพเจ้าคนบาป ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ขอพระองค์โปรดให้ท่านแสดงตนเฉพาะพระบัลลังก์น่าสะพรึงกลัวของพระองค์โดยไม่ทรงพิพากษาลงโทษท่าน พระองค์ผู้ทรงรับการถวายพระพรตลอดนิรันดร อาเมน”[89]

 1482    อาจประกอบพิธีศีลอภัยบาปได้เป็นพิธีกรรมส่วนรวม ซึ่งในพิธีกรรมนี้ผู้เป็นทุกข์กลับใจรับการเตรียมตัวพร้อมกันเพื่อสารภาพบาป และขอบพระคุณพร้อมกันเมื่อรับอภัยบาปแล้ว ที่ตรงนี้ การสารภาพบาปเป็นส่วนตัวและการให้อภัยบาปทีละคนแทรกอยู่ในวจนพิธีกรรมพร้อมกับบทอ่านจากพระคัมภีร์และการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ มีการนำพร้อมกันให้พิจารณามโนธรรม วอนขออภัยโทษร่วมกัน สวดบท “ข้าแต่พระบิดา” และการขอบพระคุณร่วมกัน การประกอบพิธีเป็นส่วนรวมเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าศีลอภัยบาปมีลักษณะเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ศีลอภัยบาป ไม่ว่าจะประกอบพิธีอย่างไร โดยธรรมชาติแล้วก็เป็นกิจการของพิธีกรรม ดังนั้น จึงเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรและเป็นกิจกรรมสาธารณะ[90]

 1483    ในกรณีความจำเป็นเร่งด่วนอาจใช้การประกอบพิธีคืนดีเป็นส่วนรวมโดยการสารภาพบาปและรับการอภัยบาปแบบรวมได้ ความจำเป็นเร่งด่วนเช่นนี้อาจเกิดได้เมื่อใกล้จะมีอันตรายถึงตายโดยที่พระสงฆ์องค์หนึ่งหรือหลายองค์ไม่มีเวลาเพียงพอเพื่อฟังการสารภาพบาปของผู้กลับใจแต่ละคนได้  ความจำเป็นเร่งด่วนยังอาจมีได้เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้กลับใจแล้ว ไม่มีพระสงฆ์เพียงพอที่จะฟังการสารภาพบาปเป็นการส่วนตัวทีละคนภายในเวลาที่มีได้อย่างเหมาะสมจนทำให้ผู้กลับใจต้องเสียโอกาสรับพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์หรือศีลมหาสนิทโดยต้องรอคอยอีกเป็นเวลานานไม่ใช่จากความผิดของตน ในกรณีเช่นนี้ เพื่อจะให้การให้อภัยบาปถูกต้องตามกฎหมาย บรรดาผู้มีความเชื่อต้องมีความตั้งใจที่จะสารภาพบาปหนักของตนเป็นการส่วนตัวในเวลาที่ควร[91] เป็นหน้าที่ของพระสังฆราชผู้ปกครองท้องถิ่นที่จะตัดสินว่ามีเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการอภัยบาปเป็นส่วนรวมได้หรือไม่[92] การมีผู้มีความเชื่อจำนวนมากในโอกาสฉลองใหญ่หรือการแสวงบุญไม่ก่อให้เกิดสถานการณ์ความจำเป็นเร่งด่วนเช่นว่านี้[93]

 1484  “การสารภาพบาปทีละคนอย่างครบถ้วนและการอภัยบาปยังคงเป็นวิธีการปกติวิธีเดียวที่ผู้มีความเชื่อจะกลับคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักรได้ เว้นแต่ว่าเมื่อการสารภาพบาปเช่นนี้ทำไม่ได้เพราะมีเหตุขัดข้องทางกายภาพ (คือในกรณีพิเศษที่เกิดขึ้น) หรืออาจมีเหตุจำเป็นหรือควรอนุญาตให้อภัยบาปพร้อมกันหลายๆ คน โดยไม่ต้องสารภาพบาปทีละคนก่อนเลยก็ได้”[94] จะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ พระคริสตเจ้าทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละศีล
ทรงกล่าวเป็นการส่วนตัวแก่คนบาปแต่ละคน “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (มก 2:5) พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ผู้เอาใจใส่ต่อคนเจ็บแต่ละคนที่ต้องการพระองค์[95]เพื่อทรงบำบัดรักษาเขา พระองค์ทรงยกเขาขึ้นมาและทำให้เขากลับมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาพี่น้องอีก การสารภาพบาปทีละคนจึงเป็นรูปแบบการกลับคืนดีกับพระเจ้าและกับพระศาสนจักรที่มีความหมายอย่างที่สุด

 

[89] ‘Euchologion to mega’ (Athens 1992) p. 222.

[90] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 26-27: AAS 56 (1964) 107.

[91] Cf CIC canon 962, § 1.      

[92] Cf CIC canon 961, § 2.

[93] Cf CIC canon 961, § 1, 2.

[94] Ordo Paenitentiae, Praenotanda, 31 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 21.

[95] เทียบ มก 2:17.

สรุป

สรุป

1485   ค่ำวันปัสกา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวก ตรัสว่าจงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับอภัยด้วย” (ยน 20:22-23)

1486   การอภัยบาปที่ได้ทำหลังรับศีลล้างบาปเกิดขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์เฉพาะที่เรียกว่า ศีลแห่งการกลับใจ การสารภาพบาป ศีลอภัยบาป หรือศีลแห่งการกลับคืนดี

1487     ผู้ที่ทำบาป ทำร้ายต่อพระเกียรติและความรักของพระเจ้า ทำร้ายต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ต่อสภาพความดีฝ่ายจิตของพระศาสนจักรที่คริสตชนแต่ละคนต้องเป็นศิลาทรงชีวิตที่ก่อสร้างพระศาสนจักรนี้

1488     จากมุมมองของความเชื่อ ไม่มีภยันตรายใดที่ร้ายแรงกว่าบาป และไม่มีสิ่งใดที่มีผลร้ายมากกว่าสำหรับคนบาป สำหรับพระศาสนจักรและสำหรับทั่วโลก

1489     การกลับมามีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอีก หลังจากที่ได้เสียความสัมพันธ์นี้ไปแล้วเพราะบาป เป็นกระบวนการที่เกิดจากพระหรรษทานของพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณาและทรงเอาพระทัยใส่ต่อความรอดพ้นของมนุษย์ เราจึงต้องอธิษฐานภาวนาขอพระพรประเสริฐนี้สำหรับตนเองและสำหรับผู้อื่นด้วย

1490     กระบวนการกลับมาหาพระเจ้าซึ่งเรียกว่าการกลับใจประกอบด้วยความทุกข์ใจและเกลียดชังบาปที่ได้ทำ รวมทั้งความตั้งใจมั่นคงจะไม่ทำบาปอีกต่อไป การกลับใจจึงเกี่ยวข้องกับอดีตและอนาคต ได้รับการหล่อเลี้ยงจากความหวังในพระเมตตากรุณาของพระเจ้า

1491     ศีลอภัยบาปประกอบด้วยสามกิจกรรมของผู้เป็นทุกข์กลับใจและการอภัยบาปจากพระสงฆ์ กิจกรรมของผู้เป็นทุกข์กลับใจคือ ความทุกข์ถึงบาป การสารภาพบาปหรือบอกบาปให้พระสงฆ์ทราบ ความตั้งใจที่จะชดเชยบาปและการทำกิจการชดเชยดังกล่าวจนสำเร็จ

1492     การเป็นทุกข์กลับใจ (ยังเรียกอีกว่าความทุกข์ถึงบาป”) ต้องได้รับแรงบันดาลใจที่ออกมาจากความเชื่อ ถ้าความทุกข์ถึงบาปเกิดจากความรักต่อพระเจ้า ก็ได้ชื่อว่าความทุกข์สมบูรณ์แต่ถ้าความทุกข์นี้ตั้งอยู่บนเหตุผลอื่นก็ได้ชื่อว่าความทุกข์ไม่สมบูรณ์

1493     ผู้ที่ต้องการกลับคืนดีกับพระเจ้าและกับพระศาสนจักร ต้องสารภาพบาปหนักทุกข้อที่เขายังไม่ได้สารภาพและที่เขาจำได้หลังจากพิจารณามโนธรรมของตนอย่างถี่ถ้วนแล้ว พระศาสนจักรยังแนะนำสนับสนุนให้สารภาพความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วย แม้จะไม่จำเป็นทีเดียวก็ตาม

1494     พระสงฆ์ผู้รับฟังการสารภาพบาปเสนอแก่ผู้เป็นทุกข์กลับใจให้ทำกิจกรรมบางอย่างเป็นการชดเชยหรือใช้โทษบาป เพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดมาจากบาป และเพื่อซ่อมแซมนิสัยที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับศิษย์ของพระคริสตเจ้า

1495     พระสงฆ์ที่ได้รับอำนาจอภัยบาปจากผู้ปกครองของพระศาสนจักรแล้วเท่านั้นอาจอภัยบาปในพระนามของพระคริสตเจ้าได้

1496     ผลด้านจิตใจของศีลอภัยบาปคือ

           - การกลับคืนดีกับพระเจ้าที่ทำให้ผู้เป็นทุกข์กลับใจได้รับพระหรรษทานคืนมาอีก

           - การกลับคืนดีกับพระศาสนจักร

           - การยกโทษนิรันดรที่ผู้ทำบาปหนักต้องได้รับเพราะได้ทำบาป

           - การยกโทษชั่วคราว อย่างน้อยเป็นบางส่วน ที่เป็นผลของบาป

        - สันติและความสงบของมโนธรรม และความบรรเทาทางจิตใจ

        - การเพิ่มพูนพลังด้านจิตใจเพื่อการต่อสู้เยี่ยงคริสตชน

1497     การสารภาพบาปหนักทีละคนอย่างครบถ้วน ตามด้วยการอภัยบาป ยังคงเป็นวิธีการปกติอย่างเดียวสำหรับการกลับคืนดีกับพระเจ้าและกับพระศาสนจักร

1498     อาศัยพระคุณการุณย์ บรรดาผู้มีความเชื่ออาจรับการยกโทษชั่วคราวซึ่งเป็นผลของบาป สำหรับตนเองและยังสำหรับบรรดาวิญญาณในไฟ (แดน) ชำระได้ด้วย