ตอนที่สาม

ศีลมหาสนิท

 

 1322   ศีลมหาสนิททำให้กระบวนการรับคริสตชนใหม่เสร็จสมบูรณ์ ผู้ที่ได้รับศักดิ์ศรีให้มีส่วนร่วมสมณราชตระกูลกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป และได้รับตราประทับรับรองความละม้ายคล้ายกับพระคริสตเจ้าแล้วนี้ บัดนี้โดยทางศีลมหาสนิท (หรือพิธีบูชาขอบพระคุณ) เขามีส่วนในการถวายบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าร่วมกับชุมชนคริสตชนทั้งหมด

1323    “ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย คืนที่ทรงถูกทรยศ พระผู้ไถ่ของเราทรงตั้งศีลมหาสนิทเป็นสักการบูชาถวายพระกายและพระโลหิตของพระองค์ เพื่อให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนเป็นปัจจุบันทุกยุคทุกสมัยจนกว่าจะเสด็จกลับมา และเพื่อมอบอนุสรณ์การสิ้นพระชนม์และการ กลับคืนพระชนมชีพไว้แก่พระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาวที่รักยิ่งของพระองค์ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แสดงความรัก เป็นเครื่องหมายแห่งเอกภาพ เป็นสายสัมพันธ์แห่งความรักเมตตา เป็นงานเลี้ยงปัสกา ซึ่งคริสตชนรับพระคริสตเจ้าเป็นอาหาร ทำให้จิตใจเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน และได้รับประกันว่าเราจะได้รับสิริรุ่งโรจน์ในอนาคต”[145]

 

[145] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 47: AAS 56 (1964) 113.            

I. ศีลมหาสนิท – บ่อเกิดและจุดยอดแห่งชีวิตของพระศาสนจักร

I. ศีลมหาสนิทบ่อเกิดและจุดยอดแห่งชีวิตของพระศาสนจักร

 1324 ศีลมหาสนิทเป็น “บ่อเกิดและจุดยอดของชีวิตคริสตชนทั้งหมด”[146] “ศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เช่นเดียวกับศาสนบริการในพระศาสนจักรและกิจการประกาศข่าวดีทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กับศีลมหาสนิทและมุ่งไปหาศีลนี้ด้วย เพราะขุมทรัพย์ด้านจิตทั้งหมดของพระศาสนจักรล้วนมีอยู่ในศีลมหาสนิท ได้แก่พระคริสตเจ้าเอง องค์ปัสกาของเรา”[147]

 1325 “ความสัมพันธ์กับชีวิตพระเจ้าและเอกภาพของประชากรของพระเจ้าที่ทำให้พระศาสนจักรดำรงอยู่ได้แสดงให้เห็นอย่างเหมาะสมและเป็นความจริงอย่างน่าพิศวงโดยศีลมหาสนิท ในศีลนี้เรามีจุดยอดทั้งของกิจกรรมที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อทรงบันดาลให้โลกศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเจ้า และของคารวกิจที่มนุษย์ถวายแด่พระคริสตเจ้าและผ่านทางพระองค์ถวายแด่พระบิดาในพระจิตเจ้า”[148]

 1326 เรายังร่วมพิธีกรรมในสวรรค์และรับชีวิตนิรันดรล่วงหน้าแล้วโดยพิธีบูชาขอบพระคุณ ในชีวิตนิรันดรนี้ “พระเจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28)

 1327 กล่าวสั้นๆ ศีลมหาสนิทเป็นการสรุปและเป็นยอดความเชื่อของเรา “ความคิดของเราสอดคล้องกับศีลมหาสนิท และศีลมหาสนิทก็ทำให้ความคิดของเรามั่นคง”[149]

 

[146] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.             

[147] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 5: AAS 58 (1966) 997.                

[148] Sacra Congregatio Rituum, Instr. Eucharisticum mysterium, 6: AAS 59 (1967) 545.         

[149] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 18, 5: SC 100, 610 (PG 7, 1028). 

II. ศีลนี้มีชื่อเรียกอย่างไร

II. ศีลนี้มีชื่อเรียกอย่างไร

 1328   คุณสมบัติมากมายของศีลนี้แสดงให้เห็นโดยชื่อต่างๆ ที่ศีลนี้ได้รับ ชื่อแต่ละชื่อเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลของตน ศีลนี้ได้ชื่อว่า

          Eucharistia (ซึ่งแปลว่าการขอบพระคุณ”) เพราะเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า คำกริยา eucharistein [= ขอบพระคุณ] (ลก 22:19; 1 คร 11:24) และ eulogein [= ถวายพระพร] (มธ 26:26; มก 14:22) ชวนให้เราคิดถึงการถวายพระพรแด่พระเจ้าของชาวยิวซึ่ง – โดยเฉพาะในการเลี้ยงอาหาร – ประกาศถึงพระราชกิจของพระเจ้า ได้แก่การเนรมิตสร้าง การกอบกู้ และการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์

 1329    “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (Dominica Cena)[150] เพราะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงมื้อค่ำที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงร่วมโต๊ะกับบรรดาศิษย์ในคืนก่อนจะทรงรับทรมาน และยังเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงวิวาหมงคลของลูกแกะ[151]ในนครเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์

                 พิธีบิขนมปัง (Fractio panis) เพราะว่าจารีตพิธีนี้ซึ่งปฏิบัติกันโดยเฉพาะในงานเลี้ยงอาหารของชาวยิว พระเยซูเจ้าทรงนำมาใช้เมื่อทรงเสกขนมปังและแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ในฐานะประธานในงานเลี้ยง[152] โดยเฉพาะในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย[153] โดยอากัปกริยานี้ บรรดาศิษย์จะจำพระองค์ได้หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว[154] และบรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆจะใช้วลีนี้เพื่อหมายถึงการที่เขามาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ[155] จึงหมายความว่าทุกคนที่กินขนมปังก้อนเดียวกันที่ถูกบิออกแบ่งกันนั้นก็กินพระคริสตเจ้า เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ รวมเป็นร่างกายเดียวกันในพระองค์[156]

                Eucharistica congregatio (synaxis) หรือการมาชุมนุมกัน(เพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ)” เพราะพิธีบูชาขอบพระคุณที่ชุมชนผู้มีความเชื่อประกอบพิธีนั้นเป็นการที่
พระศาสนจักรแสดงตนที่ทุกคนแลเห็นได้[157]

 1330   การระลึกถึงพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า 

           การถวายบูชาศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำให้การถวายบูชาเพียงครั้งเดียวของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ เป็นปัจจุบัน และยังรวมการถวายบูชาของพระศาสนจักรเข้าไว้ด้วย หรือยังเรียกอีกว่า บูชามิสซาการถวายคำสรรเสริญ” (ฮบ 13:15)[158] เครื่องบูชาฝ่ายจิต[159] การถวายบูชาบริสุทธิ์[160]และศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำให้การถวายบูชาทั้งหมดของพันธสัญญาเดิมเสร็จสมบูรณ์ และยังดีกว่าด้วย

           พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Sancta et divina liturgia) เพราะพิธีกรรมทั้งหมดของ
พระศาสนจักรมีศูนย์กลางและแสดงออกอย่างเข้มข้นที่สุดในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ ในความหมายเดียวกันนี้ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า “การเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์ ยังมีการเรียกศีลนี้อีกว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (Sanctissimum Sacramentum) เพราะศีลนี้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ที่สุด ชื่อนี้ยังใช้ได้กับแผ่นศีลที่เก็บรักษาไว้ในตู้ศีลด้วย

 1331   ศีลมหาสนิท (Communio) เพราะอาศัยศีลนี้พวกเราถูกรวมเข้ากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงบันดาลให้พวกเรามีส่วนร่วมกับพระกายและพระโลหิตของพระองค์เพื่อประกอบเป็นกายเดียวกัน[161] และยังเรียกอีกว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์(sancta, ta hagia)[162] – ความสนิทสัมพันธ์นี้เป็นความหมายแรกของ “ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์” (communio sanctorum) ที่สูตรประกาศความเชื่อของบรรดาอัครสาวกกล่าวถึง – ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า “อาหาร(ขนมปัง)ของทูตสวรรค์” “อาหาร(ขนมปัง)จากสวรรค์” “โอสถอมตภาพ” (pharmacum immortalitatis)[163] ศีลเสบียง.....

 1332   บูชามิสซา (Sancta Missa) เพราะว่าพิธีกรรมที่ทำให้พระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้สำเร็จไปนั้นจบด้วยการส่ง (missio) บรรดาผู้มีความเชื่อออกไปเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของตน

 

[150] เทียบ 1 คร 11:20.                    

[151] เทียบ วว 19:9.

[152] เทียบ มธ 14:19; 15:36; มก 8:6,19.                       

[153] ทียบ มธ 26:26; 1 คร 11:24.       

[154] เทียบ ลก 24:13-35.                  

[155] เทียบ กจ 2:42,46; 20:7,11.         

[156] เทียบ 1 คร 10:16-17.                 

[157] เทียบ 1 คร 11:17-34.                 

[158] เทียบ สดด 116:13,17.                 

[159] เทียบ 1 ปต 2:5.                      

[160] เทียบ มลค 1:11.                       

[161] เทียบ 1 คร 10:16-17.                 

[162] Cf Constitutiones apostolicae, 8, 13, 12: SC 336, 208 (Funk, Didascalia et Constitutiones Apostolorum, 1, 516); Didaché, 9, 5: SC 248, 178 (Funk, Patres apostolici, 1, 22); Ibid., 10, 6: SC 248, 180 (Funk, Patres apostolici 1, 24).

[163] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Ephesios, 20, 2: SC 10bis, 76 (Funk 1, 230). 

III.  ศีลมหาสนิทในแผนการความรอดพ้น

III.  ศีลมหาสนิทในแผนการความรอดพ้น

เครื่องหมายขนมปังและเหล้าองุ่น

 1333   หัวใจของพิธีถวายบูชาขอบพระคุณก็คือขนมปังและเหล้าองุ่นซึ่งเมื่อมีการกล่าวพระวาจาของพระคริสตเจ้าและกล่าวเชิญพระจิตเจ้าแล้ว กลับเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรซึ่งซื่อสัตย์ต่อพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ยังคงปฏิบัติกิจการที่พระองค์ทรงกระทำในค่ำวันก่อนที่จะทรงรับทรมาน สืบต่อมาเพื่อระลึกถึงพระองค์ จนกว่าจะเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์  “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง....” “พระองค์ทรงหยิบถ้วยเต็มด้วยน้ำจากผลองุ่น.....” เครื่องหมายของขนมปังและเหล้าองุ่น เมื่อกลับเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเจ้าด้วยวิธีการที่เข้าใจไม่ได้แล้วนี้ ยังคงหมายถึงความดีของการเนรมิตสร้างต่อไปอีกด้วย ดังนั้นในพิธีเตรียมเครื่องบูชา เราจึงขอบพระคุณพระผู้ทรงเนรมิตสร้าง เพราะขนมปังและเหล้าองุ่น[164] ซึ่งเป็นผลจาก “น้ำพักน้ำแรงของมนุษย์” แต่ก่อนหน้านั้นยังเป็น “ผลมาจากแผ่นดิน” และ “ผลมาจากต้นองุ่น” จึงเป็นของประทานจากการเนรมิตสร้าง พระศาสนจักรแลเห็นการกระทำที่เมลคีเซเดคกษัตริย์และสมณะ เคยปฏิบัติ คือท่านได้นำ “ขนมปังและเหล้าองุ่น มาให้” (ปฐก 14:18) ว่าเป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงการถวายบูชาของตนด้วย[165]

 1334   ในพันธสัญญาเดิม ชาวอิสราเอลนำขนมปังและเหล้าองุ่นในบรรดาผลิตผลแรกของแผ่นดินมาถวายบูชาเป็นเครื่องหมายของการสำนึกถึงพระคุณต่อพระผู้สร้าง แต่ทั้งสองสิ่งนี้ยังรับความหมายใหม่ในบริบทของการอพยพด้วย ขนมปังไร้เชื้อที่ชาวอิสราเอลกินในการฉลองปัสกาทุกๆปีชวนให้ระลึกถึงการรีบเร่งของออกเดินทางที่ช่วยให้รอดพ้นจากอียิปต์ การระลึกถึงมานนาในถิ่นทุรกันดารจะเตือนอิสราเอลอยู่เสมอให้ระลึกว่าตนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยพระวาจาของพระเจ้าที่เป็นดังอาหาร[166] ในที่สุด ขนมปังประจำวันยังเป็นผลของแผ่นดินแห่งพระสัญญา เป็นประกันความซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อพระสัญญาของพระองค์  “ถ้วยถวายพระพร” (1 คร 10:16) ตอนปลายของการเลี้ยงปัสกาของชาวยิวทำให้ความยินดีของการฉลองนี้มีเหตุผลด้านอันตวิทยา คือเหตุผลการเฝ้าคอยให้พระเมสสิยาห์มาฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มเพิ่มเข้ามาด้วย  พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท (หรือ พิธีบูชาขอบพระคุณ) ของพระองค์ก็ประทานความหมายใหม่และสมบูรณ์แก่การถวายพรขนมปังและถ้วยนี้ด้วย

 1335   อัศจรรย์การทวีขนมปัง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงถวายพระพร บิขนมปังและทรงให้บรรดาศิษย์นำไปแจกเพื่อเลี้ยงประชาชนนั้น เป็นภาพล่วงหน้าของความอุดมสมบูรณ์ของขนมปังศีลมหาสนิทหนึ่งเดียวของพระองค์นี้[167] เครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่หมู่บ้านคานา[168]ก็ประกาศถึงการรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าแล้ว เครื่องหมายอัศจรรย์นี้แสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ของงานเลี้ยงวิวาหมงคลในพระอาณาจักรของพระบิดา ในงานเลี้ยงนี้บรรดาผู้มีความเชื่อจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่[169]ที่เปลี่ยนเป็นพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้ว

 1336   การที่ทรงประกาศล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิททำให้บรรดาศิษย์แตกแยกกัน เช่นเดียวกับที่การตรัสล่วงหน้าถึงพระทรมานทำให้เขารู้สึกสะดุดใจ “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้” (ยน 6:60) ศีลมหาสนิทและพระทรมานเป็นเสมือนก้อนหินที่ทำให้สะดุดใจ พระธรรมล้ำลึกประการนี้ยังไม่เลิกเป็นโอกาสของการแตกแยก “ท่านทั้งหลายจะไปด้วยหรือ” (ยน 6:67) คำถามนี้ขององค์พระผู้เป็นเจ้ายังคงดังก้องตลอดมาทุกสมัย เป็นดังคำเชิญชวนให้ค้นหาความรักของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่ “มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร” (ยน 6:68) และการรับศีลมหาสนิท ของประทานจากพระองค์ด้วยความเชื่อก็เป็นการรับพระองค์เอง


การตั้งศีลมหาสนิท

 1337   เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด เมื่อทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา ระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำ ทรงล้างเท้าและทรงมอบพระบัญชาให้เขาทั้งหลายรักกัน[170] เพื่อจะทรงมอบประกันแห่งความรักของพระองค์นี้ไว้ให้เขา จะได้ไม่ทรงต้องจากบรรดาศิษย์ไป และเพื่อทรงบันดาลให้เขามีส่วนการฉลองปัสกากับพระองค์จึงทรงตั้งศีลมหาสนิท (หรือ “พิธีบูชาขอบพระคุณ”) ไว้เป็นอนุสรณ์ถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ และยังทรงมีพระบัญชาแก่บรรดาอัครสาวก “ที่ทรงแต่งตั้งให้เป็นสมณะแห่งพันธสัญญาใหม่”[171] เพื่อประกอบพิธีนี้จนกว่าจะเสด็จกลับมาอีก

1338    พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับและนักบุญเปาโลเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทถ่ายทอดไว้ให้เราทราบ ส่วนนักบุญยอห์นกล่าวถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอร์นาอุมพระวาจาเหล่านี้เตรียมทางไว้สำหรับการตั้งศีลมหาสนิท พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าทรงเป็นขนมปัง/อาหารให้ชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์[172]

 1339   พระเยซูเจ้าทรงเลือกเวลาฉลองปัสกาเพื่อทรงทำตามที่เคยแจ้งไว้ที่เมืองคาเปอร์นาอุมว่าจะประทานพระกายและพระโลหิตแก่บรรดาศิษย์

“ก่อนจะถึงเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อที่ต้องฆ่าลูกแกะปัสกา พระเยซูเจ้าตรัสใช้เปโตรและยอห์นว่า ‘จงไปจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาให้เราเถิด’ [...] ศิษย์ทั้งสองคนออกไป [...] เตรียมปัสกา เมื่อถึงเวลา พระเยซูเจ้าประทับที่โต๊ะพร้อมกับบรรดาอัครสาวก ตรัสกับเขาว่า ‘เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่านก่อนจะรับทรมาน เราบอกท่านทั้งหลายว่าเราจะไม่กินปัสกาอีกจนกว่าปัสกานี้จะเป็นความจริงในพระอาณาจักรของพระเจ้า’ [...] พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด’ ในทำนองเดียวกัน เมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว พระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า ‘ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย’” (ลก 22:7-20)[173]

 1340   เมื่อพระเยซูเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อค่ำครั้งสุดท้ายพร้อมกับบรรดาอัครสาวกในช่วงเวลาของงานเลี้ยงปัสกา ก็ทรงทำให้ปัสกาของชาวยิวมีความหมายสมบูรณ์ อันที่จริง การที่พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพนั้น พระองค์ทรงผ่านไปพบพระบิดา ซึ่งก็คือปัสกา (ซึ่งแปลว่า “การผ่าน”) ใหม่ ที่สำเร็จก่อนหน้านั้นแล้วในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ และยังเฉลิมฉลองต่อมาในพิธีบูชาขอบพระคุณซึ่งทำให้ปัสกาของชาวยิวสมบูรณ์ไป และเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงปัสกาในวาระสุดท้ายของพระศาสนจักรในความรุ่งโรจน์ของพระอาณาจักรด้วย


ท่านทั้งหลายจงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด

 1341   พระบัญชาของพระเยซูเจ้าให้นำพระวาจาและการกระทำของพระองค์มาปฏิบัติซ้ำ “จนกว่าจะเสด็จมา” (1 คร 11:26) ไม่เพียงแต่เรียกร้องให้เราระลึกถึงพระเยซูเจ้าและกิจการที่ทรงทำเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาประกอบพิธีกรรมเพื่อระลึกถึงพระคริสตเจ้า พระชนมชีพ การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ และการที่พระองค์ทรงวอนขอพระบิดาเพื่อเราด้วย

 1342   นับตั้งแต่แรก พระศาสนจักรก็ปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างซื่อสัตย์ หนังสือกิจการอัครสาวกเขียนถึงพระศาสนจักรที่กรุงเยรูซาเล็มไว้ว่า

“คนเหล่านั้นประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ร่วมพิธีบิขนมปังและอธิษฐานภาวนา […] ทุกๆ วัน เขาพร้อมใจกันไปที่พระวิหารและไปตามบ้านเพื่อทำพิธีบิขนมปัง ร่วมกินอาหารด้วยความยินดีและเข้าใจกัน” (กจ 2:42,46)

 1343  โดยเฉพาะ “ในวันต้นสัปดาห์” นั่นคือวันอาทิตย์ วันที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ บรรดาคริสตชนมาชุมนุมกัน “เพื่อทำพิธีบิขนมปัง” (กจ 20:7) นับตั้งแต่เวลานั้นมาจนถึงสมัยของเราจึงมีการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณสืบต่อกันมาจนว่าทุกวันนี้เราจึงพบพิธีนี้ที่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานเดียวกันทุกแห่งในพระศาสนจักร พิธีนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางชีวิตของ
พระศาสนจักร

 1344  ดังนั้น ประชากรของพระเจ้าที่กำลังเดินทางในโลกนี้จึงประกาศพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร 11:26) ในการประกอบพิธีแต่ละครั้งประชากรนี้เดิน “ผ่านหนทางแคบแห่งไม้กางเขน”[174] มุ่งหน้าไปสู่งานเลี้ยงในสวรรค์ ในงานเลี้ยงนี้บรรดาผู้รับเลือกสรรทุกคนจะนั่งร่วมโต๊ะแห่งพระอาณาจักร

 

[164] เทียบ สดด 104:13-15.                

[165] Cf Prex eucharistica I seu Canon Romanus, 95: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 453.

[166] เทียบ ฉธบ 8:3.                      

[167] เทียบ มธ 14:13-21; 15:32-39.      

[168] เทียบ ยน 2:11.                        

[169] เทียบ มก 14:25.                      

[170] เทียบ ยน 13:1-17.                    

[171] Concilium Tridentinum, Sess. 22a, Doctrina de ss. Missae Sacrificio, c. 1: DS 1740.

[172] เทียบ ยน บทที่ 6.                   

[173] เทียบ มธ 26:17-20; มก 14:12-25; 1 คร 11:23-25.     

[174] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 1: AAS 58 (1966) 947.       

IV. การประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ

IV. การประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ

พิธีมิสซาตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา

1345    ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 แล้ว เรามีพยานหลักฐานของนักบุญจัสตินมรณสักขีเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ โครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ยังคงเป็นเหมือนเดิมจนถึงทุกวันนี้ในกลุ่มจารีตพิธีกรรมสำคัญๆ ทุกกลุ่ม ต่อไปนี้คือข้อความที่ท่านเขียนไว้ราวปี ค.ศ. 155 เพื่ออธิบายให้พระจักรพรรดิต่างศาสนา อันโตนีนัส ไปอัส (138-161) ทรงทราบว่าบรรดาคริสตชนทำอะไรกัน 
“ในวันที่เราเรียกว่าวันอาทิตย์ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือตามชนบทมาชุมนุมกัน

มีการอ่านเรื่องราวของบรรดาอัครสาวกหรือข้อเขียนของบรรดาประกาศกตามที่เวลาจะอำนวย 

ต่อจากนั้น เมื่อผู้อ่านจบแล้ว ผู้ที่เป็นประธานที่ประชุมก็กล่าวเตือนใจและปลุกใจให้ปฏิบัติตามกิจการที่น่าเอาอย่างเหล่านี้  

ต่อมา พวกเราทุกคนก็ยืนขึ้นพร้อมกันและอธิษฐานภาวนา”[175] “สำหรับพวกเราเอง […] และสำหรับผู้อื่นทุกคนที่อยู่ทั่วไป […] เพื่อจะดำเนินชีวิตถูกต้องและปฏิบัติตามพระบัญญัติไปรับความรอดนิรันดรได้

เมื่ออธิษฐานภาวนาจบแล้ว พวกเราก็สวมกอดทักทายกัน

ต่อจากนั้นจึงนำขนมปังและถ้วยบรรจุน้ำและเหล้าองุ่นมาให้ผู้ที่เป็นผู้นำบรรดาพี่น้อง

เขาจึงรับสิ่งของเหล่านี้แล้วกล่าวสรรเสริญและถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาของมวลมนุษย์เดชะพระนามของพระบุตรและพระจิตเจ้าและกล่าวขอบพระคุณ (ภาษากรีกว่า “eucharistia”) นานพอสมควรสำหรับสิ่งของที่พระองค์ทรงพระกรุณาประทานให้

เมื่อเขาอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณจบแล้ว ประชาชนทุกคนซึ่งอยู่ที่นั่นก็โห่ร้องรับเสียงดังว่า อาเมน

[…] หลังจากผู้ที่เป็นประธานกล่าวขอบพระคุณจบและประชาชนทุกคนโห่ร้องรับเสียงดังแล้ว ผู้ที่พวกเราเรียกว่า ‘สังฆานุกร’ ก็แจกจ่ายขนมปังและเหล้าองุ่น ‘ที่ประกอบพิธีขอบพระคุณแล้ว’ (eucharistethentos) นี้ให้แก่แต่ละคนที่ร่วมพิธีและยังนำไปให้ผู้ที่มาร่วมพิธีไม่ได้ด้วย”[176]

 1346  พิธีบูชาขอบพระคุณได้พัฒนาขึ้นตามโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ซึ่งยังถูกรักษาไว้ตลอดเวลาหลายศตวรรษมาจนถึงสมัยของเราในปัจจุบัน พิธีนี้แสดงให้เห็นจุดสำคัญสองจุดที่รวมกันเป็นเอกภาพชัดเจน ได้แก่

- การมาชุมนุมกัน วจนพิธีกรรม ที่มีการอ่านพระคัมภีร์ การเทศน์อธิบายพระวาจา และคำอธิษฐานภาวนาของมวลชน

- พิธีกรรมขอบพระคุณ โดยมีการนำขนมปังและเหล้าองุ่นมาถวาย การขอบพระคุณ เสกขนมปังเหล้าองุ่น และการรับศีล

           วจนพิธีกรรมและพิธีบูชาขอบพระคุณรวมกันเป็น “คารวกิจเดียวกัน”[177] ตามความจริงแล้ว ในพิธีบูชาขอบพระคุณมีการเตรียมโต๊ะพระวาจาของพระเจ้าและโต๊ะพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าไว้พร้อมกันสำหรับพวกเรา[178]

1347    นี่ไม่ใช่กระบวนการงานเลี้ยงปัสกาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วกับบรรดาศิษย์ดอกหรือ? ขณะที่กำลังทรงพระดำเนิน พระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้พวกเขา แล้วเมื่อประทับที่โต๊ะพร้อมกับเขา “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขา” (ลก 24:30)[179]


ลำดับการประกอบพิธี

 1348   ทุกคนมาชุมนุมกัน  บรรดาคริสตชนมาชุมนุมในสถานที่เดียวกันเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ในการประชุมนี้ พระคริสตเจ้าเองทรงมีบทบาทเอกในฐานะประมุขและผู้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ พระองค์ทรงเป็นพระมหาสมณะแห่งพันธสัญญาใหม่ พระองค์ทรงเป็นประธานของพิธีบูชาขอบพระคุณโดยที่เรามองไม่เห็น พระสังฆราชหรือพระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติงานแทนพระองค์ (in persona Christi Capitis agens) เป็นประธานของที่ประชุม เทศน์สอนหลังบทอ่าน รับของถวาย และกล่าวบทภาวนาขอบพระคุณ ทุกคนมีบทบาทแข็งขันแต่ละคนตามแบบของตน เช่น ผู้อ่าน ผู้นำของถวายมาให้ ผู้แจกจ่ายศีลมหาสนิท และประชาชนทุกคนร่วมกัน การตอบรับ “อาเมน” ของทุกคนแสดงให้เห็นว่าตนมีส่วนร่วมพิธี

 1349   วจนพิธีกรรม หมายถึง “ข้อเขียนของบรรดาประกาศก” หรือพันธสัญญาเดิม และ “เรื่องราวของบรรดาอัครสาวก” ก็คือจดหมายและพระวรสารของเขาเหล่านี้ หลังจากการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ซึ่งเตือนผู้ฟังให้รับถ้อยคำเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นจริงๆ คือเป็นพระวาจาของพระเจ้า[180] และเตือนให้ปฏิบัติตามแล้ว การอธิษฐานภาวนาวอนขอสำหรับมนุษย์ทุกคนก็ตามมา ดังที่ท่านอัครสาวกเคยกล่าวไว้ว่า “ในขั้นแรกนี้ ข้าพเจ้าขอร้องให้วอนขอ อธิษฐาน อ้อนวอนแทนและขอบพระคุณพระเจ้าเพื่อมนุษย์ทุกคน เพื่อกษัตริย์และเพื่อผู้มีอำนาจ” (1 ทธ 2:1-2)

 1350   การนำเครื่องบูชามาที่พระแท่นบูชา (พิธีเตรียมเครื่องบูชา) ต่อจากนั้นก็มีการนำขนมปังและเหล้าองุ่น บางครั้งก็เป็นขบวนแห่ มายังพระแท่นบูชา พระสงฆ์จะถวายขนมปังและเหล้าองุ่นนี้ในพิธีบูชาขอบพระคุณซึ่งจะเปลี่ยนให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ เป็นการกระทำเช่นเดียวกันกับของพระคริสตเจ้าในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย “พระองค์ทรงหยิบขนมปังและถ้วย” “พระศาสนจักรเท่านั้นถวายของถวายบริสุทธิ์นี้แก่พระผู้สร้าง ถวายจากสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างมาแด่พระองค์พร้อมกับการขอบพระคุณ”[181] การนำของถวายมาที่พระแท่นบูชาเป็นการกระทำเหมือนเมลคีเซเด็คและมอบของประทานจากพระผู้สร้างไว้ในพระหัตถ์ของพระคริสตเจ้า เมื่อทรงถวายพระองค์ พระคริสตเจ้าก็ทรงทำให้ความพยายามทุกอย่างของมนุษย์ที่จะถวายบูชาบรรลุถึงความสมบูรณ์

 1351   ตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม พร้อมกับขนมปังและเหล้าองุ่นสำหรับพิธีบูชาขอบพระคุณ บรรดาคริสตชนยังนำของถวายของตนมาถวายเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ขัดสนด้วย ธรรมเนียมการเก็บทาน[182]นี้ซึ่งเป็นสิ่งควรปฏิบัติอยู่เสมอนี้ได้รับพลังบันดาลใจมาจากพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้ร่ำรวย[183]

“ผู้มีฐานะดีและสมัครใจแต่ละคนย่อมบริจาคตามความประสงค์และสิ่งที่รวบรวมได้ก็ถูกนำมามอบให้ผู้ที่เป็นประธานเพื่อจะช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้าและหญิงม่าย รวมทั้งผู้ที่มีความขัดสนเพราะโรคภัยหรือสาเหตุอื่น และช่วยเหลือผู้ถูกจองจำ คนต่างด้าว พูดสั้นๆ คือทุกคนที่มีความต้องการ”[184]

 1352   Anaphora (= การถวาย) เมื่อกล่าวบทขอบพระคุณ – นั่นคือบทภาวนาขอบพระคุณและเสกศีล – เราก็มาถึงจุดยอดของการประกอบพิธี

          ในบทนำขอบพระคุณ (หรือ Praefatio) พระศาสนจักรขอบพระคุณพระบิดาอาศัยพระคริสตเจ้าในพระจิตเจ้าสำหรับพระราชกิจทุกอย่างของพระองค์ คือการเนรมิตสร้าง
การไถ่กู้และการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ แล้วทุกคนที่มาชุมนุมกันก็ร่วมกับการสรรเสริญไม่หยุดยั้งที่พระศาสนจักรในสวรรค์ บรรดาทูตสวรรค์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคนขับร้องถวายพระเจ้า      ผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง (บทเพลง “ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์”)

 1353   ในบทอัญเชิญพระจิตเจ้า (หรือ Epiclesis) พระศาสนจักรวอนขอพระบิดาให้ทรงส่งพระจิตเจ้า(หรือพระอานุภาพการประทานพระพรของพระองค์[185]) ลงมาเหนือขนมปังและเหล้าองุ่นให้พระอานุภาพของพระจิตเจ้านี้บันดาลให้กลับเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า และบันดาลให้ผู้ที่รับศีลมหาสนิทได้เป็นกายเดียวและจิตเดียวกัน (ธรรมประเพณีพิธีกรรมบางสายจัดบท Epiclesis ไว้หลังการระลึกถึง หรือบท “anamnesis”)

            ในการเล่าถึงการตั้งศีลมหาสนิท พลังของพระวาจาและพระจริยวัตรของพระคริสตเจ้า และพระอานุภาพของพระจิตเจ้าทำให้พระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้ามาประทับอยู่ในแบบของศีลศักดิ์สิทธิ์ภายใต้รูปปรากฏของขนมปังและเหล้าองุ่น เป็นการถวายบูชาของพระองค์ที่ทรงถวายบนไม้กางเขนเพียงครั้งเดียวและมีผลตลอดไป

 1354   ในการระลึกถึง (หรือanamnesis”) ที่ตามมาพระศาสนจักรระลึกถึงพระทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพและการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรนำการถวายบูชาของพระบุตรที่ทำให้เรากลับคืนดีกับพระบิดามาถวายแด่พระองค์

           ในบทภาวนาวอนขอ พระศาสนจักรประกาศว่าพิธีบูชาขอบพระคุณนี้พระศาสนจักรทั้งหมด ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดิน ทั้งของผู้เป็นและผู้ล่วงลับ ประกอบพิธีร่วมกันในความสัมพันธ์กับบรรดาผู้อภิบาลพระศาสนจักร คือสมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑล คณะสงฆ์และบรรดาสังฆานุกรของท่าน และในความสัมพันธ์ร่วมกับบรรดาพระสังฆราชทั่วโลกและกับพระศาสนจักรท้องถิ่นของท่านเหล่านั้น

 1355   ในการรับศีล ซึ่งมีบท “ข้าแต่พระบิดา” และการบิขนมปังนำหน้านั้น บรรดาผู้มีความเชื่อรับ “อาหารจากสวรรค์” และ “ถ้วยแห่งความรอดพ้น” คือพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์ “เพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:51)

           เนื่องจากว่าขนมปังและเหล้าองุ่นนี้ “ได้กลับเป็นศีลมหาสนิท” (หรือ “eucharistizata” ตามวลีที่ใช้มาแต่โบราณ[186]) “อาหารนี้ที่เราเรียกว่า ‘ศีลมหาสนิท’ ซึ่งไม่มีใครอื่นได้รับอนุญาตให้รับได้นอกจากผู้ที่เชื่อว่าคำสอนของเรานั้นจริง และผู้ที่ได้รับการล้างเพื่อรับอภัยบาปและบังเกิดใหม่แล้ว และดังนี้เขาจึงมีชีวิตดังที่พระคริสตเจ้าได้ประทานให้เขา”[187]

 

[175] Sanctus Iustinus, Apologia, 1, 67: CA 1, 184-186 (PG 6, 429).           

[176] Sanctus Iustinus, Apologia, 1, 65: CA 1, 176-180 (PG 6, 428).           

[177] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 56: AAS 56 (1964) 115.            

[178] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 21: AAS 58 (1966) 827.               

[179] เทียบ ลก 24:13-35.                  

[180] เทียบ ลก 24:13-35.                  

[181] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 18, 4: SC 100, 606 (PG 7, 1027); cf Mal 1,11.         

[182] เทียบ 1 คร 16:1.                      

[183] เทียบ 2 คร 8:9.                      

[184] Sanctus Iustinus, Apologia, 1, 67: CA 1, 186-188 (PG 6, 429).           

[185] Cf Prex eucharistica I seu Canon Romanus, 90: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 451.

[186] Cf Sanctus Iustinus, Apologia, 1, 65: CA 1, 180 (PG 6, 428).            

[187] Sanctus Iustinus, Apologia, 1, 66: CA 1, 180 (PG 6, 428).                

V. ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นการถวายบูชา: การขอบพระคุณ การระลึกถึง การประทับอยู่จริง

V. ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นการถวายบูชา: การขอบพระคุณ การระลึกถึง การประทับอยู่จริง

1356    ถ้าคริสตชนประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณมาตั้งแต่แรก ยิ่งกว่านั้นด้วยรูปแบบที่ในสาระสำคัญแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วงเวลาที่ยุคสมัยและพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เราจึงมารู้ว่าที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าผูกมัดเราไว้   ดังที่ทรงกำหนดไว้ในวันก่อนที่จะทรงรับทรมานว่า  “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (1 คร 11:24-25)

1357    เมื่อประกอบพิธีระลึกถึงการถวายบูชาของพระองค์เราจึงปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อทำการนี้ เราก็ถวายแด่พระบิดาสิ่งที่พระองค์ประทานไว้ให้เรา นั่นคือ ของประทานจากการเนรมิตสร้าง ขนมปังและเหล้าองุ่น ซึ่งเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าและพระวาจาของพระคริสตเจ้าได้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ดังนี้ พระคริสตเจ้าจึงมาประทับอยู่อย่างแท้จริงและด้วยวิธีการลึกลับ

1358    ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”)

- เป็นการขอบพระคุณและถวายพระเกียรติแด่พระบิดา

- เป็นการระลึกถึงการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าและพระกายของพระองค์

- เป็นการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าเดชะพระอานุภาพพระวาจาและเดชะพระจิตของพระองค์

 

การขอบพระคุณและถวายพระเกียรติแด่พระบิดา

 1359   พิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ“ศีลมหาสนิท”) เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรอดพ้นของเราที่พระคริสต-เจ้าทรงกระทำสำเร็จไปบนไม้กางเขน และยังเป็นการถวายพระเกียรติเพื่อขอบพระคุณพระเจ้าเนื่องจากพระราชกิจการเนรมิตสร้าง ในพิธีบูชาขอบพระคุณ สิ่งสร้างทั้งหมดที่พระเจ้าทรงรักถูกนำมาถวายแด่พระบิดาอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า โดยทางพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรอาจถวายการสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาเพื่อขอบพระคุณได้สำหรับสิ่งใดๆ ไม่ว่าที่ดี งดงาม และยุติธรรมที่พระเจ้าทรงกระทำในบรรดาสิ่งสร้างและมวลมนุษย์

 1360   พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการถวายบูชาขอบพระคุณแด่พระบิดา เป็นการถวายพระพรที่พระศาสนจักรใช้เพื่อแสดงความขอบพระคุณสำหรับพระพรต่างๆที่ได้รับจากพระองค์ สำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำโดยการเนรมิตสร้าง การกอบกู้และการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ คำว่า “Eucharistia” ก่อนอื่นหมดหมายความว่า “การขอบพระคุณ”

1361    พิธีบูชาขอบพระคุณยังเป็นการถวายบูชาคำสรรเสริญ ที่พระศาสนจักรใช้เพื่อขับร้องสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าในนามของสิ่งสร้างทั้งหลาย การถวายบูชาคำสรรเสริญนี้เกิดขึ้นได้เดชะพระคริสตเจ้าเท่านั้น พระองค์ทรงรวบรวมบรรดาผู้มีความเชื่อไว้กับพระบุคคลของพระองค์ ไว้กับการถวายเกียรติและการทูลวอนขอของพระองค์ และดังนี้จึงมีการถวายคำสรรเสริญเป็นการถวายบูชาแด่พระบิดาผ่านทางพระคริสตเจ้าและพร้อมกับพระองค์เพื่อพระบิดาจะได้รับการถวายคำสรรเสริญเป็นการถวายบูชานี้ในพระองค์


การถวายบูชาระลึกถึงของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์

 1362   การถวายบูชาขอบพระคุณเป็นการระลึกถึงปัสกาของพระคริสตเจ้า เป็นการทำให้การถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระองค์เป็นความจริงและเป็นการถวายในแบบศีลศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระองค์ ในบทภาวนาขอบพระคุณทุกแบบ เราพบบทภาวนาที่เรียกว่า “anamnesis” หรือ “การระลึกถึง”

 1363   ในความหมายของพระคัมภีร์ คำว่า “memoriale” หรือการระลึกถึงไม่เป็นเพียงการระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศพระราชกิจน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อมนุษย์ด้วย[188] ในพิธีกรรมเฉลิมฉลองเหตุการณ์เหล่านี้ เหตุการณ์เหล่านี้ยังกลับเป็นปัจจุบันและเป็นจริงขึ้นมาในแบบหนึ่งด้วย นี่เป็นวิธีการที่ชาวอิสราเอลเข้าใจการช่วยให้รอดพ้นจากอียิปต์ ทุกๆ ครั้งที่มีการฉลองปัสกา พิธีระลึกถึงเหตุการณ์การอพยพ เหตุการณ์นี้ก็กลับเป็นปัจจุบันเพื่อให้พวกเขาปรับชีวิตของตนให้สอดคล้องกับเหตุการณ์นี้ด้วย

 1364   ในพันธสัญญาใหม่ “พิธีระลึกถึง” รับความหมายใหม่ เมื่อพระศาสนจักรประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรระลึกถึงการฉลองปัสกาของพระคริสตเจ้า การฉลองนี้กลับเป็นปัจจุบันด้วย การถวายบูชาที่พระคริสตเจ้าทรงถวายเพียงครั้งเดียวก็มีผลตลอดไปบนไม้กางเขนนั้นยังคงเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดไป[189] “ทุกครั้งที่บนพระแท่นมีการถวายบูชาบนไม้กางเขน ที่ ‘พระคริสตเจ้าองค์ปัสกาของเราถูกฆ่าเป็นบูชาแล้ว’ (1 คร 5:7) งานไถ่กู้พวกเราก็เกิดขึ้นอีก”[190]

 1365   เนื่องจากการถวายบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”) เป็นการระลึกถึงการฉลองปัสกาของพระคริสตเจ้า จึงยังเป็นการถวายบูชาด้วย ลักษณะการถวายบูชาของพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”) ยังแสดงให้เห็นในพระวาจาตั้งพิธีนี้ “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” และ “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” (ลก 22:19-20) ในพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”) พระคริสตเจ้าประทานพระกายเดียวกับที่ทรงมอบบนไม้กางเขนเพื่อพวกเรา ประทานพระโลหิตเดียวกับที่ทรงหลั่ง “เพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)

 1366   พิธีบูชาขอบพระคุณจึงเป็นการถวายบูชาเพราะเป็นการแสดงถึงการถวายบูชาบนไม้กางเขน (ทำให้เป็นปัจจุบัน) เพราะเป็นการระลึกถึงการถวายบูชานี้ (บนไม้กางเขน) และเพราะนำผลของการถวายบูชานี้มาให้

           พระคริสตเจ้า “พระเจ้าและองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ทรงสิ้นพระชนม์ถวายพระองค์บนพระแท่นบูชาคือไม้กางเขนแด่พระเจ้าพระบิดาเพียงครั้งเดียว […] เพื่อทรงนำความรอดพ้นนิรันดรให้แก่มวลมนุษย์ กระนั้นก็ดีหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว สมณภาพของพระองค์ก็มิได้สิ้นสุดลง (ฮบ 7:24,27) ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย ‘ในคืนที่ทรงถูกทรยศนั้นเอง’ (1 คร 11:23) […] พระองค์ทรงประสงค์จะมอบการถวายบูชาที่เราแลเห็นได้ไว้กับพระศาสนจักร เจ้าสาวที่รักของพระองค์ (เหมือนกับที่ธรรมชาติมนุษย์เรียกร้อง) […] เพื่อให้การถวายบูชาโดยหลั่งพระโลหิตที่ทรงถวายเพียงครั้งเดียวบนไม้กางเขนนั้นจะได้เกิดขึ้นซ้ำอีกและได้รับการระลึกถึงอยู่ต่อไปตราบจนสิ้นพิภพ และเพื่อให้ประสิทธิภาพที่จะอภัยบาปนำความรอดพ้นของการถวายบูชานี้ถูกนำมาใช้กับบาปต่างๆ ที่เราทำอยู่ทุกๆวันด้วย”[191]

 1367   การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าและการพิธีถวายบูชาขอบพระคุณเป็นการถวายบูชาเดียวกัน “เพราะเครื่องบูชามีเพียงหนึ่งและเป็นเครื่องบูชาเดียวกัน บัดนี้พระองค์ผู้ทรงถวายบูชาโดยศาสนบริการของพระสงฆ์ทรงเป็นพระองค์เดียวกับที่ทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขน แตกต่างกันเพียงโดยวิธีถวายเท่านั้น”[192] “และเนื่องจากในการถวายบูชาของพระองค์ที่เกิดขึ้นในพิธีมิสซานี้
พระคริสตเจ้าที่ทรงถวายพระองค์โดยไม่ทรงหลั่งพระโลหิตนั้น ทรงเป็นพระองค์เดียวกันกับที่ ‘ทรงหลั่งพระโลหิตถวายพระองค์เพียงครั้งเดียวบนพระแท่นบูชาแห่งไม้กางเขน’ [...] เป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปโดยแท้จริง”[193]

 1368   พิธีบูชาขอบพระคุณยังเป็นการถวายบูชาของพระศาสนจักรด้วย พระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกาย(ทิพย์)ของพระคริสตเจ้าย่อมมีส่วนในการถวายบูชาของศีรษะของตน  พระศาสนจักรทั้งหมดถวายตนพร้อมกับพระองค์ รวมตนกับการที่ทรงอธิษฐานวอนขอพระบิดาพร้อมกับมนุษย์ทุกคนด้วย ในพิธีบูชาขอบพระคุณ การถวายบูชาของพระคริสตเจ้ายังเป็นการถวายบูชาของส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายของพระองค์ด้วย ชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อ คำสรรเสริญ ความทุกข์ คำอธิษฐานภาวนา ความยากลำบากของเขาทั้งหลายรวมกับทุกสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดของพระคริสตเจ้าและการที่ทรงถวายทุกสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และดังนี้จึงรับคุณค่าใหม่ การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าที่อยู่บนพระแท่นบูชาเปิดโอกาสให้ บรรดาคริสตชนทุกชั่วอายุอาจรวมตนเองเข้ากับการถวายของพระองค์ได้

               ในคาตากอม บ่อยๆ พระศาสนจักรถูกวาดภาพไว้เป็นหญิงคนหนึ่งที่กำลังอธิษฐานภาวนา กางแขนในท่าของผู้กำลังอธิษฐานภาวนา พระศาสนจักร เหมือนกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกางพระกรบนไม้กางเขน ถวายตนและอธิษฐานภาวนาวอนขอแทนมนุษย์ทุกคนพร้อมกับพระองค์และในพระองค์

 1369   พระศาสนจักรทั้งหมดร่วมการถวายบูชาและการอธิษฐานวอนขอของพระคริสตเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งปฏิบัติศาสนบริการของนักบุญเปโตรในพระศาสนจักรมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณทุกครั้ง พระองค์ทรงได้รับการออกพระนามในการถวายบูชาขอบพระคุณทุกครั้ง เป็นเครื่องหมายแสดงเอกภาพของพระศาสนจักรสากล พระสังฆราชประมุขท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบพิธีบูชาขอบพระคุณเสมอ แม้เมื่อพระสงฆ์เป็นประธานในพิธีนี้ด้วย มีการออกนามของพระสังฆราชในพิธีนี้เพื่อแสดงว่าพระสังฆราชเป็นประมุขของพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง อยู่ในหมู่ของคณะสงฆ์และบรรดาสังฆานุกรซึ่งเป็นผู้ช่วย ชุมชนยังอธิษฐานภาวนาวอนขอสำหรับศาสนบริกรทุกคนที่ถวายบูชาขอบพระคุณสำหรับชุมชนและพร้อมกับชุมชนนั้น

             “พิธีบูชาขอบพระคุณจะถือว่าถูกต้องได้ก็คือพิธีที่ประกอบโดยมีพระสังฆราช หรือผู้ที่พระสังฆราชมอบอำนาจให้ เป็นประธาน”[194]

             “โดยศาสนบริการของพระสงฆ์ การถวายบูชาฝ่ายจิตของบรรดาผู้มีความเชื่อสำเร็จไปร่วมกับการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียว(ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์) สิ่งที่ถวายผ่านมือของบรรดาพระสงฆ์ก็ถวายในนามของพระศาสนจักรทั้งหมดในพิธีบูชาขอบพระคุณโดยไม่มีการหลั่งพระโลหิตและในแบบศีลศักดิ์สิทธิ์จนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเองจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง”[195]

 1370   ผู้ที่ร่วมกับการถวายบูชาของพระคริสตเจ้านี้ไม่ใช่เพียงแต่ส่วนพระวรกายของพระองค์ที่ยังอยู่ในแผ่นดินนี้เท่านั้น แต่ยังรวมส่วนพระวรกายที่อยู่ในสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ด้วย  พระศาสนจักรถวายบูชาขอบพระคุณร่วมกับพระนางพรหมจารีมารีย์ และระลึกถึงพระนางเช่นเดียวกับระลึกถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งชายและหญิงทั้งหลายด้วย ในพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรก็เสมือนกำลังยืนอยู่ใกล้กับไม้กางเขนพร้อมกับพระนางมารีย์ ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับการถวายบูชาและการอธิษฐานวอนขอของพระคริสตเจ้า

 1371   พระศาสนจักรยังถวายบูชาขอบพระคุณสำหรับผู้มีความเชื่อที่ล่วงลับแล้วด้วย คือ “สำหรับผู้ที่สิ้นใจในพระคริสตเจ้า แต่ยังไม่ได้รับการชำระอย่างสมบูรณ์”[196] เพื่อจะเข้าไปในความสว่างและสันติของพระคริสตเจ้าได้

           “ลูกจงวางร่างของแม่นี้ไว้ที่ไหนก็ได้ ลูกอย่ากังวลใจเลยว่าจะเอาใจใส่กับมันอย่างไร แม่เพียงแต่วอนขอลูกให้ระลึกถึงแม่แทบพระแท่นบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าลูกจะอยู่ที่ใด”[197]

           “ต่อจากนั้น(ในบทภาวนาถวาย หรือ “anaphora”) [เราก็ภาวนา]อุทิศแก่บรรดาบรรพบุรุษและพระสังฆราช และทุกคนเป็นส่วนรวมซึ่งได้สิ้นชีวิตไปแล้วในหมู่เราโดยเชื่อว่าคำภาวนานี้จะช่วยวิญญาณของเขาที่เราภาวนาอุทิศให้ได้ ขณะที่เครื่องบูชาที่ศักดิ์สิทธิ์และน่ายำเกรงยิ่งนี้วางอยู่ต่อหน้าเรา […] และเราก็ยังถวายคำภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับแม้เขาจะเป็นคนบาป […] เราถวายพระคริสตเจ้าผู้ทรงถวายพระองค์เพราะบาปของเรา วอนขอพระเจ้าผู้ทรงเป็นมิตรกับมนุษย์ให้ทรงพระกรุณาทั้งต่อพวกเขาและต่อพวกเราเองด้วย”[198]

 1372   นักบุญออกัสตินได้สรุปคำสอนที่ปลุกใจเราให้ร่วมพิธีถวายบูชาของพระผู้ไถ่ของเราที่เราเฉลิมฉลองในพิธีบูชาขอบพระคุณอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไว้อย่างน่าพิศวงดังนี้

           “นครทั้งหมดที่ได้รับการกอบกู้นี้ นั่นคือชุมชนและสังคมของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ […] [ได้ถวายเป็นบูชา] แด่พระเจ้าผ่านทางพระมหาสมณะผู้ทรงถวายพระองค์ในรูปของทาส […] เพื่อเราในพระทรมาน เพื่อให้เราเป็นพระกายของพระเศียรทรงเกียรติเช่นนี้  นี่คือการถวายบูชาของบรรดาคริสตชน “แม้เราจะมีจำนวนมาก เราก็รวมเป็นร่างกายเดียวในพระคริสตเจ้า” (รม 12:5) พระศาสนจักรยังคงรื้อฟื้นการถวายบูชานี้ต่อมาในรูปของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาผู้มีความเชื่อจะรู้จักบนพระแท่นที่แสดงให้เห็นว่าพระศาสนจักรเองถูกถวายเป็นบูชาในเครื่องบูชาที่พระศาสนจักรถวายนั้น”[199]


พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิทเดชะพระวาจาและพระอานุภาพของพระจิตเจ้า

 1373   “พระคริสตเยซู ผู้สิ้นพระชนม์ ทั้งยังทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่เบื้องขวาของพระเจ้า ทรงวอนขอแทนเราอีกด้วย” (รม 8:34) ประทับอยู่หลายแบบในพระศาสนจักรของพระองค์[200] พระองค์ยังตรัสอีกว่าพระองค์ประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนา “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20) พระองค์ยังประทับอยู่ในผู้ยากจน คนเจ็บป่วย ผู้ถูกจองจำ[201] ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง ในพิธีบูชามิสซา และในบุคคลศาสนบริกร แต่ “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท[202]

 1374   วิธีที่พระคริสตเจ้าประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิทเป็นการประทับอยู่แบบพิเศษ การประทับอยู่เช่นนี้ทำให้ศีลมหาสนิทเหนือกว่าศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ และเพราะเหตุนี้ศีลนี้จึงเป็น “เสมือนความบริบูรณ์ของชีวิตจิตและจุดหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ”[203] ในศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ยอดศักดิ์สิทธิ์นี้มีพระกาย พระโลหิต พร้อมกับพระวิญญาณและพระเทวภาพของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา จึงหมายความว่าคริสตเจ้าทั้งองค์ประทับอยู่จริง แท้ และตามสภาวะของพระองค์[204]  “การประทับอยู่เช่นนี้ได้ชื่อว่า ‘จริง’ ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธว่าการประทับแบบอื่นนั้นไม่เป็นการประทับอยู่ ‘จริง’ แต่เป็นการยกย่อง เพราะเป็นการประทับอยู่ ‘ตามสภาวะ’ ซึ่งหมายความว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่ครบทั้งพระองค์ ทั้งในฐานะพระเจ้าและมนุษย์”[205]

 1375   พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้โดยการเปลี่ยนขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้ยืนยันอย่างมั่นใจถึงความเชื่อของพระศาสนจักรต่อพระวาจาของพระคริสตเจ้าและประสิทธิภาพการ กระทำของพระจิตเจ้าเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ นักบุญยอห์นครีโซสตมจึงประกาศว่า

“ไม่ใช่มนุษย์ที่ทำให้สิ่งของที่เราถวายกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า และเป็นพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา พระสงฆ์ที่มีบทบาทแทนพระองค์กล่าวถ้อยคำเหล่านั้น แต่พระอานุภาพและพระหรรษทานเป็นของพระเจ้า เขากล่าวว่า นี่เป็นกายของเรา ถ้อยคำนี้เปลี่ยนแปลงสิ่งของที่อยู่ต่อหน้าเขา”[206]

           นักบุญอัมโบรสก็กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยว่า

            เรามั่นใจว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติได้ประกอบไว้ แต่เป็นสิ่งที่คำถวายพระพรได้บันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ พลังของคำถวายพระพรนั้นยิ่งใหญ่กว่าพลังของธรรมชาติ เพราะคำถวายพระพรยังเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้”[207] “พระวาจาของพระคริสตเจ้าซึ่งทำให้สิ่งหนึ่งเกิดจากการไม่มีความเป็นอยู่ได้ จะไม่อาจทำให้สิ่งที่เป็นอยู่แล้วเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ยังไม่เป็นไม่ได้หรือ การให้สิ่งต่างๆ มีธรรมชาติใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเลย”[208]

1376    สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์สรุปความเชื่อคาทอลิกไว้ในข้อความที่ว่า “เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเราได้ทรงถวายภายใต้รูปปรากฏของขนมปัง สิ่งที่พระองค์ตรัสว่าเป็นพระกายของพระองค์จริงๆ ดังนั้นพระศาสนจักรของพระเจ้าจึงเชื่อมั่นอยู่เสมอมา และบัดนี้สภาสังคายนาแห่งนี้จึงประกาศซ้ำ ณ บัดนี้อีกว่า โดยการเสกขนมปังและเหล้าองุ่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสารทั้งหมดของขนมปังเป็นสารพระกายของพระคริสตเจ้า และสารทั้งหมดของเหล้าองุ่นเป็นสารพระโลหิตของพระองค์ พระศาสนจักรเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้โดยเฉพาะอย่างเหมาะสมว่า การเปลี่ยนแปลงสาร” (หรือ “transsubstantiatio”)[209]

1377    การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทเริ่มจากขณะเวลาเสกศีลและคงอยู่ต่อไปตลอดเวลาที่รูปปรากฏของศีลมหาสนิท (คือขนมปังและเหล้าองุ่น) ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง พระคริสตเจ้าครบทั้งองค์ประทับอยู่ในแต่ละส่วนของรูปปรากฏแต่ละอย่าง และประทับอยู่ทั้งองค์ในแต่ละส่วนของรูปปรากฏด้วย อย่างที่ว่าการบิขนมปังไม่แบ่งองค์พระคริสตเจ้าเลย[210]

 1378   การแสดงคารวะต่อศีลมหาสนิท ในพิธีบูชามิสซา เราแสดงความเชื่อของเราต่อการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าภายใต้รูปปรากฏของขนมปังและเหล้าองุ่นได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น โดยย่อเข่าหรือโน้มกายอย่างลึกเพื่อหมายถึงการถวายนมัสการแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระศาสนจักรคาทอลิกถวายคารวะสูงสุด (latriae cultus = คารวกิจที่แสดงต่อพระเจ้าเท่านั้น) ต่อศีลมหาสนิทไม่เพียงแต่ในพิธีถวายบูชามิสซาเท่านั้น แต่ยังได้ถวายและยังถวายภายนอกพิธีถวายบูชามิสซาด้วย โดยการเก็บรักษาแผ่นศีลที่เสกแล้วไว้ด้วยความเอาใจใส่สูงสุด โดยนำแผ่นศีลเหล่านี้มาตั้งไว้อย่างสง่าให้บรรดาสัตบุรุษแสดงความเคารพ นำแผ่นศีลเข้าขบวนแห่ให้ประชาชนร่วมแสดงความยินดีด้วย”[211]

 1379   การเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้ในตู้ศีลแต่เดิมมีเจตนาเพื่อเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้อย่างเหมาะสมเพื่อภายนอกพิธีมิสซาจะได้นำไปให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ไม่ได้มาร่วมมิสซา พระศาสนจักร อาศัยการเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นในความเชื่อเรื่องการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท ได้มีสำนึกยิ่งขึ้นถึงความหมายของการนมัสการอย่างเงียบๆ ต่อพระคริสตเจ้าซึ่งประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท เพราะเหตุนี้ จึงต้องตั้งตู้ศีลไว้ในสถานที่ที่มีความเหมาะสมเป็นพิเศษภายในโบสถ์ ต้องสร้างตู้ศีลไว้อย่างที่จะแสดงความจริงให้ปรากฏว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลมหาสนิท

 1380   เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่พระคริสตเจ้าจะทรงประสงค์ประทับอยู่กับพระศาสนจักรของพระองค์ด้วยวิธีการพิเศษนี้ เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าในรูปแบบที่เราแลเห็นได้นี้กำลังจะทรงละทิ้งบรรดาศิษย์ของพระองค์ไป พระองค์ทรงประสงค์จะประทานการประทับอยู่ในรูปแบบของศีลศักดิ์สิทธิ์ไว้ให้เรา เนื่องจากกำลังจะทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น พระองค์ก็ทรงประสงค์ให้เรามีสิ่งเตือนใจถึงความรักที่ทรงมีต่อเราว่า “ทรงรักจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) จนประทานชีวิตของพระองค์ให้เรา จริงแล้ว เมื่อประทับอยู่ในศีลมหาสนิท พระองค์ประทับอยู่ในหมู่เราด้วยวิธีการล้ำลึกเหมือนกับที่ทรงรักเราและทรงมอบพระองค์เพื่อเรา[212] พระองค์ประทับอยู่ภายใต้เครื่องหมายที่แสดงถึงและแบ่งปันความรักนี้

“พระศาสนจักรและโลกนี้ต้องการคารวกิจต่อศีลมหาสนิทอย่างมาก พระเยซูเจ้าทรงคอยพวกเราอยู่ในศีลแห่งความรักประการนี้ เราอย่าผัดเวลาที่จะเข้ามาพบและนมัสการพระองค์ด้วยความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมและพร้อมที่จะชดเชยความผิดหนักและอาชญากรรมของโลก ขออย่าให้การนมัสการของเราขาดหายไปเลย”[213]

 1381   “การที่พระกายแท้จริงและพระโลหิตแท้จริงของพระคริสตเจ้าอยู่ในศีลนี้ นักบุญโทมัสกล่าวว่า ‘เรารู้ได้ไม่ใช่ด้วยประสาทสัมผัส แต่ด้วยความเชื่อเท่านั้น ความเชื่อนี้อิงอยู่กับพระอานุภาพของพระเจ้า ดังนั้น นักบุญซีริลจึงกล่าวถึงพระวาจาที่พบในพระวรสารของลูกา(บทที่ 22 ข้อ 9)
นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย ว่า ท่านอย่าสงสัยเลยว่าข้อความนี้จริงหรือเปล่า
แต่จงรับพระวาจานี้ของพระผู้ไถ่ด้วยความเชื่อ เพราะพระองค์ทรงเป็นความจริง จึงไม่ทรงมุสา’”[214]

« Adoro Te devote, latens Deitas,         “ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงซ่อนเร้น ข้าพเจ้าขอนมัสการพระองค์ด้วยความศรัทธา
quae sub his figuris vere latitas;           พระองค์ทรงซ่อนอยู่ภายใต้รูปปรากฏเหล่านี้
Tibi se cor meum totum subicit             ดวงใจของข้าพเจ้ายอมอยู่ภายใต้พระองค์
quia Te contemplans totum deficit.       เพราะทุกสิ่งที่พิจารณาถึงพระองค์ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ

Visus, tactus, gustus in Te fallitur,        การมอง การสัมผัส การรู้รส ล้วนล้มเหลวเมื่อใช้กับพระองค์
sed auditu solo tute creditur;               เรามีความเชื่อได้จากการฟัง(จากพระองค์)เท่านั้น
credo quidquid dixit Dei Filius,             ข้าพเจ้าเชื่อทุกสิ่งที่พระบุตรของพระเจ้าตรัส
verbo veritatis nihil verius »[215].     ไม่มีอะไรจริงกว่าพระวาจาแห่งความจริงอีกแล้ว”

 

[188] เทียบ อพย 13:3.                      

[189] เทียบ ฮบ 7:25-27.                   

[190] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.                  

[191] Concilium Tridentinum, Sess. 22a, Doctrina de ss. Missae Sacrificio, c. 1: DS 1740.        

[192] Concilium Tridentinum, Sess. 22a, Doctrina de ss. Missae Sacrificio, c. 2: DS 1743.       

[193] Ibid, เทียบ ฮบ 9:14-27             

[194] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Smyrnaeos, 8, 1: SC 10bis, 138 (Funk 1, 282).                        

[195] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 993.                

[196] Concilium Tridentinum, Sess. 22a, Doctrina de ss. Missae Sacrificio, c. 2: DS 1743.       

[197] Sanctus Augustinus, Confessiones, 9, 11, 27: CCL 27, 149 (PL 32, 775); เป็นคำพูดที่นักบุญโมนิกาก่อนจะสิ้นใจกล่าวกับนักบุญออกัสตินและน้องชาย (verba sanctae Monicae, ante suam mortem, ad sanctum Augustinum et fratrem eius).              

[198] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses mystagogicae, 5, 9-10: SC 126, 158-160 (PG 30, 1116-1117).    

[199] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 10, 6: CSEL 401, 456 (PL 41, 284).                     

[200] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.           

[201] เทียบ มธ 25:31-46.                  

[202] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 7: AAS 56 (1964) 100-101.        

[203] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, III, q. 73, a. 3, c: Ed. Leon. 12, 140.        

[204] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 13a, Decretum de ss. Eucharistia, canon 1: DS 1651.     

[205] Paulus VI, Litt. Enc. Mysterium fidei: AAS 57 (1965) 764.               

[206] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De proditione Iudae homilia, 1, 6: PG 49, 380.            

[207] Sanctus Ambrosius, De mysteriis, 9, 50: CSEL 73, 110 (PL 16, 405).  

[208] Ibid., 9, 52: CSEL 73, 112 (PL 16, 407).                

[209] Concilium Tridentinum, Sess. 13a, Decretum de ss. Eucharistia, c. 4: DS 1642.              

[210] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 13a, Decretum de ss. Eucharistia, c. 3: DS 1641.           

[211] Paulus VI, Litt. Enc. Mysterium fidei: AAS 57 (1965) 769.                

[212] เทียบ กท 2:20.                       

[213] Ioannes Paulus II, Epist. Dominicae Cenae, 3: AAS 72 (1980) 119; cf Enchiridion Vaticanum, 7, 177.          

[214] Paulus VI, Litt. Enc. Mysterium fidei: AAS 57 (1965) 757; cf Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, III, q. 75, a. 1, c: Ed. Leon. 12, 156; Sanctus Cyrillus Alexandrinus, Commentarius in Lucam, 22, 19: PG 72, 912.                       

[215] AHMA 50, 589.                      

VI. งานเลี้ยงปัสกา

VI. งานเลี้ยงปัสกา

 1382   พิธีมิสซา ในเวลาเดียวกันอย่างแยกกันไม่ได้ เป็นทั้งการถวายบูชาและการระลึกถึงที่ทำให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนและการเลี้ยงอาหารมื้อค่ำเพื่อรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ตลอดไป แต่ก่อนอื่นหมดการประกอบพิธีถวายบูชาขอบพระคุณมุ่งไปยังการร่วมสนิทของบรรดาผู้มีความเชื่อกับพระคริสตเจ้าโดยการรับศีลมหาสนท การรับศีลมหาสนิทเป็นการรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงถวายพระองค์เพื่อพวกเรานั่นเอง

 1383   พระแท่นบูชา ที่พระศาสนจักรมาชุมนุมอยู่โดยรอบเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณแสดงถึงเหตุผลสองด้านของพระธรรมล้ำลึกเดียวกัน คือเป็นพระแท่นบูชาและเป็นโต๊ะการเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ยังมีความหมายมากกว่านี้อีกเพราะพระแท่นบูชาของคริสตชนเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสตเจ้าเองซึ่งประทับอยู่ในการชุมนุมกันของบรรดาผู้มีความเชื่อของพระองค์ ในเวลาเดียวกันยังประทับอยู่เป็นเครื่องบูชาซึ่งถวายเพื่อการคืนดีของเรา(กับพระเจ้า)และเป็นอาหารจากสวรรค์ที่พระองค์ประทานพระองค์ให้แก่พวกเรา นักบุญอัมโบรสกล่าวไว้ว่า[216] “พระแท่นบูชาของพระคริสตเจ้าเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ภาพพระกายของพระคริสตเจ้า” ท่านยังกล่าวอีกว่า “พระแท่นบูชาเป็นภาพของพระกายและพระกายของพระคริสตเจ้าอยู่บนพระแท่นบูชา”[217] พิธีกรรมกล่าวถึงเอกภาพนี้ของการถวายบูชาและการรับศีลมหาสนิทในบทภาวนาหลายบท พระศาสนจักรโรมันกล่าวดังนี้ในบทภาวนาถวาย (anaphora)ของตนว่า

“ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบวอนขอ โปรดบัญชาให้ทูตสวรรค์นำเครื่องบูชาเหล่านี้ขึ้นถวายพระเดชานุภาพ ณ แท่นบูชาในสวรรค์ เพื่อข้าพเจ้าทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตของพระบุตรจากแท่นบูชานี้แล้ว จะได้รับพระพรและพระหรรษทานอย่างบริบูรณ์”[218]


ท่านทั้งหลายจงรับไปกินเถิด” – การรับศีลมหาสนิท

 1384   องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเชิญชวนเราอย่างแข็งขันให้เรารับพระองค์ในศีลมหาสนิท “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง” (ยน 6:53)

 1385   เพื่อจะตอบสนองคำเชื้อเชิญนี้ เราต้องเตรียมตัวเราสำหรับช่วงเวลาสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ นักบุญเปาโลเตือนให้เราพิจารณามโนธรรม “ผู้ใดที่กินปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ก็ผิดต่อพระกายและผิดต่อพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนจงพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินปังและดื่มจากถ้วย เพราะผู้ใดที่กินและดื่มโดยไม่ยอมรับรู้พระกาย ก็กินและดื่มการตัดสินลงโทษตนเอง” (1 คร 11:27-29) ผู้ที่รู้ตัวว่าได้ทำบาปหนักก็ต้องรับศีลอภัยบาปก่อนจะเข้าไปรับศีลมหาสนิท

 1386   ต่อหน้าความยิ่งใหญ่ของศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ ผู้มีความเชื่ออาจทำได้เพียงกล่าวถ้อยคำของนายร้อยคนนั้นอย่างถ่อมตนและด้วยความเชื่อแรงกล้าว่า[219] “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาอยู่กับข้าพเจ้า โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์”[220] และในพิธีกรรมจารีตตะวันออกของนักบุญยอห์นครีโซสตม บรรดาผู้มีความเชื่อก็ภาวนาด้วยจิตตารมณ์เดียวกันว่า

“ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า โปรดบันดาลให้ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำล้ำลึกของพระองค์ในวันนี้ เพราะข้าพเจ้าจะไม่บอกความลับแก่บรรดาศัตรูของพระองค์ และจะไม่จุมพิตพระองค์เหมือนกับยูดาส แต่จะร้องเสียงดังเหมือนกับโจร(บนไม้กางเขน)ให้ทรงได้ยินว่า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์”[221]

 1387   บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องอดอาหารตามที่มีกำหนดไว้ในพระศาสนจักรของตนเป็นการเตรียมตัวอย่างเหมาะสมเพื่อรับศีลนี้[222] การวางตน (กิริยาท่าทาง เสื้อผ้า) จะแสดงออกถึงความเคารพ ความสง่า และความยินดีของช่วงเวลาที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นแขกรับเชิญของเรา

1388    เป็นการสอดคล้องกับความหมายของศีลมหาสนิทที่บรรดาผู้มีความเชื่อ ถ้าเขามีสภาพเตรียมตัวพร้อมตามที่พระศาสนจักรกำหนดไว้[223] จะรับศีลมหาสนิทเมื่อเขามาร่วมมิสซา[224] “สภาสังคายนาส่งเสริมอย่างยิ่งให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในมิสซาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรับพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้เสกในมิสซาเดียวกันเมื่อพระสงฆ์รับศีลแล้ว”[225] 

 1389   “พระศาสนจักรกำหนดข้อบังคับให้บรรดาผู้มีความเชื่อ ต้องร่วมพิธีกรรมในวันอาทิตย์และวันฉลอง[226] และรับศีลอภัยบาปและรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้ง ในเทศกาลปัสกาถ้าทำได้”[227] เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วด้วยศีลแห่งการคืนดี แต่พระศาสนจักรยังส่งเสริมอย่างแข็งขันให้บรรดาผู้มีความเชื่อรับศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์และวันฉลอง หรือบ่อยกว่านั้น ทุกๆ วันด้วย

1390    พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิททั้งองค์ภายใต้รูปปรากฏแต่ละชนิด การรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏของขนมปังเท่านั้นก็ทำให้เรารับผลพระหรรษทานทั้งหมดของศีลมหาสนิทแล้ว เพราะเหตุผลด้านการอภิบาล รูปแบบการรับศีลมหาสนิทเช่นนี้จึงกำหนดไว้เป็นรูปแบบตามปกติในจารีตละติน “การรับศีลมหาสนิทมีรูปแบบเป็นเครื่องหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้ารับภายใต้รูปปรากฏทั้งของขนมปังและเหล้าองุ่น เพราะในการรับศีลมหาสนิทแบบนี้ เราเห็นเครื่องหมายว่าการรับศีลมหาสนิทเป็นงานเลี้ยงได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”[228] การรับศีลมหาสนิทในรูปแบบนี้ (ภายใต้รูปปรากฏทั้งสอง) เป็นรูปแบบตามปกติในจารีตตะวันออก


ผลของการรับศีลมหาสนิท

 1391   การรับศีลมหาสนิทเสริมความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้า ผลสำคัญของการรับศีลมหาสนิทคือการทำให้เรามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็เคยตรัสว่า “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ชีวิตในพระคริสตเจ้าตั้งรากฐานอยู่ในงานเลี้ยงศีลมหาสนิท “พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น” (ยน 6:57)

“เมื่อในวันฉลอง [ขององค์พระผู้เป็นเจ้า] ประชาชนรับพระกายของพระบุตร เขาก็ประกาศข่าวดีแก่กันว่าพระเจ้าประทานประกันแห่งชีวิตนิรันดรให้แล้ว เหมือนกับเมื่อทูตสวรรค์กล่าวแก่มารีย์ [ชาวมักดาลา] ว่า ‘พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว’ บัดนี้พระเจ้าก็ประทานชีวิตและการกลับคืนชีพแก่ผู้ที่รับพระคริสตเจ้าด้วย”[229]

 1392  วัตถุที่เป็นอาหารบำรุงเลี้ยงชีวิตร่างกายฉันใด การรับศีลมหาสนิทก็บังเกิดผลในชีวิตจิตของเราอย่างน่าพิศวงฉันนั้น การรับพระกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ “(พระกาย)ที่พระจิตเจ้าประทานชีวิตและทรงบันดาลให้ประทานชีวิตแก่เราได้นี้”[230] บำรุงรักษา เพิ่มพูนและฟื้นฟูชีวิตพระหรรษทานที่เราได้รับในศีลล้างบาป การเจริญเติบโตนี้ของชีวิตคริสตชนต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากการรับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นอาหารสำหรับการเดินทางในโลกนี้ของเราไปจนถึงเวลาใกล้จะตาย ในเวลานั้นเราจะรับศีลมหาสนิทเป็นเสมือนเสบียงสำหรับการเดินทาง (ไปสู่อาณาจักรสวรรค์)

 1393  การรับศีลมหาสนิทแยกเราจากบาป พระกายของพระคริสตเจ้าที่เรารับในศีลมหาสนิทนั้น “ได้ถูกมอบเพื่อเรา” และพระโลหิตที่เราดื่มนั้น “ได้ถูกหลั่งเพื่ออภัยบาปของคนจำนวนมาก” เพราะเหตุนี้ ศีลมหาสนิทไม่อาจรวมเรากับพระคริสตเจ้าได้ถ้าในขณะเดียวกันไม่ชำระเราจากบาปที่เราได้ทำและป้องกันเราไว้จากบาปในอนาคตด้วย

“ทุกครั้งที่เรารับปังนี้ เราก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า[231] ถ้าเราประกาศการสิ้นพระชนม์ เราก็ประกาศการอภัยบาป ถ้าทุกครั้งที่พระโลหิตถูกหลั่ง ก็ถูกหลั่งเพื่ออภัยบาป ข้าพเจ้าก็ต้องรับพระโลหิตนั้นเสมอเพื่อบาปของข้าพเจ้าจะได้รับอภัย ข้าพเจ้าผู้ทำบาปอยู่เสมอ จึงต้องมียารักษาอยู่เสมอ”[232]

 1394   อาหารฝ่ายกายมีประโยชน์เพื่อรื้อฟื้นพลังที่เสียไปฉันใด ศีลมหาสนิทก็เสริมกำลังความรักซึ่งในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลง และความรักที่ฟื้นชีวิตขึ้นมานี้ก็ยังทำลายบาปเบา[233] พระคริสตเจ้าผู้ประทานพระองค์แก่เรายังทรงปลุกความรักของเราขึ้นอีกและทำให้เราทำลายความรักไร้ระเบียบของเราต่อสิ่งสร้างและทำให้เราหยั่งรากลึกในพระองค์ได้

“ดังนั้น เพราะพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพื่อเรา ในเวลาที่เราประกอบพิธีระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เราก็วอนขอให้พระองค์ประทานความรักแก่เราโดยการเสด็จมาของพระจิตเจ้า เรากราบวอนขอเช่นนี้ เพื่อว่าอาศัยความรักที่ทำให้พระคริสตเจ้าทรงพระกรุณายอมถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา เราด้วยจะได้รับพระหรรษทานของพระจิตเจ้า สามารถตรึงโลกไว้กับไม้กางเขนและถูกตรึงกางเขนไว้จากโลก […] รับความรักเป็นของประทาน ตายจากบาปและมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า”[234]

 1395   ศีลมหาสนิทปกป้องเราจากบาปหนักในอนาคตเนื่องจากความรักที่ศีลนี้จุดขึ้นในตัวเรา เรายิ่งมีส่วนร่วมชีวิตของพระคริสตเจ้าและก้าวหน้าในความรักกับพระองค์มากยิ่งขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะยากมากขึ้นเท่านั้นที่จะตัดความสัมพันธ์นี้ออกไปโดยบาปหนัก ศีลมหาสนิทไม่ถูกจัดไว้เพื่อให้อภัยบาปหนัก เรื่องนี้เป็นลักษณะเฉพาะของศีลแห่งการคืนดี (หรือศีลอภัยบาป) ลักษณะเฉพาะของศีลมหาสนิทคือเป็นศีลของผู้ที่มีความสัมพันธ์สมบูรณ์กับพระศาสนจักรอยู่แล้ว

 1396   เอกภาพของพระกายทิพย์ ศีลมหาสนิททำให้มีพระศาสนจักร ผู้ที่รับศีลมหาสนิทมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพระคริสตเจ้า ดังนั้น พระคริสตเจ้าจึงทรงรวมผู้มีความเชื่อทุกคนไว้เป็นพระกายเดียวกัน คือพระศาสนจักร ศีลมหาสนิทปรับปรุง ส่งเสริม และทำให้การรวมกันเข้าเป็นพระศาสนจักรเช่นนี้ ที่เป็นความจริงแล้วอาศัยศีลล้างบาป ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในศีลล้างบาป พวกเราได้รับเรียกมาให้รวมเป็นร่างกายเดียวกัน[235] ศีลมหาสนิททำให้การได้รับเรียกนี้สำเร็จไป “ถ้วยถวายพระพรซึ่งเราใช้ขอบพระคุณพระเจ้านั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสตเจ้าหรือ และปังที่เราบินั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสตเจ้าหรือ มีปังก้อนเดียว แม้ว่าจะมีหลายคนเราก็เป็นกายเดียวกัน เพราะเราทุกคนมีส่วนร่วมกินปังก้อนเดียวกัน”  (1 คร 10:16-17)

 “ดังนั้น ถ้าท่านเป็นพระกายและส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกของท่านก็วางอยู่แล้วบนโต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านรับพระธรรมล้ำลึกของท่านเอง ท่านตอบรับว่า ‘อาเมน’ (ใช่แล้ว) ต่อสิ่งที่ท่านเป็นอยู่ และเมื่อตอบรับเช่นนี้ ท่านก็เห็นด้วยกับคำตอบ เพราะท่านได้ยินคำว่า ‘พระกายพระคริสตเจ้า’ และท่านตอบว่า ‘อาเมน’ ดังนั้น ท่านจงเป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้าเถิด เพื่อคำตอบ ‘อาเมน’ ของท่านจะได้เป็นความจริง”[236]

 1397   ศีลมหาสนิทเรียกร้องให้เอาใจใส่ต่อคนยากจน เพื่อรับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าที่ทรงมอบเพื่อเราในความจริงได้ เราต้องยอมรับพระคริสตเจ้าในบรรดาผู้ยากจนซึ่งเป็นพี่น้องของพระองค์[237]

“ท่านได้ลิ้มรสพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว แต่ไม่เคยเหลียวแลพี่น้องของท่าน […] บัดนี้ ท่านยังทำให้โต๊ะนี้เปื้อนหมองอีกด้วย เมื่อท่านไม่แม้แต่คิดว่าผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาให้ร่วมโต๊ะกับพระองค์นั้นสมควรจะรับอาหารของท่าน […] พระเจ้าได้ทรงช่วยท่านให้รอดพ้นจาก [บาป] ทุกประการ และทรงพระกรุณาให้ท่านเหมาะสมจะร่วมโต๊ะเช่นนี้แล้ว แต่ท่านก็มิได้กลับเป็นผู้มีใจกรุณามากยิ่งขึ้นเลย”[238]

 1398   ศีลมหาสนิทและเอกภาพของบรรดาคริสตชน ต่อหน้าความยิ่งใหญ่ของพระธรรมล้ำลึกประการนี้ นักบุญออกัสตินร้องอุทานว่า “นี่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แสดงความรัก เป็นเครื่องหมายแห่งเอกภาพ เป็นสายสัมพันธ์แห่งความรักเมตตาจริงๆ[239] ยิ่งเราพบการแบ่งแยกน่าเศร้าในพระศาสนจักรที่ทำลายการร่วมโต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งต้องอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงจังมากขึ้นเท่านั้นเพื่อให้วันนั้นกลับมาอีกเมื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะมีเอกภาพอย่างสมบูรณ์

 1399   พระศาสนจักรจารีตตะวันออกที่ยังไม่มีความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิกนั้นประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณด้วยความรักยิ่งใหญ่ “พระศาสนจักรเหล่านั้น แม้ยังแตกแยก (จากพระศาสนจักรคาทอลิก) [ก็ยังมี] ศีลศักดิ์สิทธิ์แท้จริง [...] โดยเฉพาะคณะสงฆ์และศีลมหาสนิทผ่านทางการสืบตำแหน่งหน้าที่มาจากบรรดาอัครสาวก ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เขายังมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับเรา”[240] ดังนั้น “การมีสัมพันธภาพต่อกันในการประกอบพิธีกรรม (in sacris) เมื่อมีโอกาสเหมาะสมและได้รับอนุมัติจากผู้ปกครองของ
พระศาสนจักรแล้ว จึงไม่เพียงแต่ทำได้เท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนอีกด้วย”[241]

 1400   ชุมชนศาสนจักรที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปทางศาสนาและแยกไปจากพระศาสนจักรคาทอลิก “โดยเฉพาะเพราะการขาดศีลบวช จึงไม่ได้รักษาสาระสำคัญของพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทไว้โดยสมบูรณ์[242] เพราะเหตุนี้สำหรับพระศาสนจักรคาทอลิก ความสัมพันธ์ต่อกันเกี่ยวกับศีลมหาสนิทกับชุมชนเหล่านี้จึงเป็นไปไม่ได้ ถึงกระนั้น ชุมชนศาสนจักรเหล่านี้ “เมื่อทำการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าในการเลี้ยงอาหารค่ำศักดิ์สิทธิ์...ก็ยืนยันถึงชีวิตที่เขามีร่วมกับพระคริสตเจ้าและกำลังรอคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์”[243]

 1401   เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนตามการพิจารณาตัดสินของสมณะผู้ปกครองท้องถิ่น ศาสนบริกรคาทอลิกอาจประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ (ศีลมหาสนิท ศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนไข้) ให้แก่คริสตชนอื่นๆที่ไม่มีความสัมพันธ์สมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิก แต่สมัครใจขอรับศีลเหล่านี้ด้วยตนเองได้ แต่เวลานั้นเขาต้องแสดงความเชื่อคาทอลิกเกี่ยวกับศีลเหล่านี้และอยู่ในสภาพที่พระศาสนจักรเรียกร้องให้มี(เพื่อจะรับศีลเหล่านี้)[244]

 

[216] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 5, 7: CSEL 73, 61 (PL 16, 447). 

[217] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 4, 7: CSEL 73, 49 (PL 16, 437). 

[218] Prex eucharistica I seu Canon Romanus, 96: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 453. (หนังสือพิธีบูชาขอบพระคุณ ภาษาไทย ฉบับปี 2014 ข้อ 99 หน้า 86)                     

[219] เทียบ มธ 8:8.

[220] Ritus Communionis, 133: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 474. (หนังสือพิธีบูชาขอบพระคุณ ภาษาไทย ฉบับปี 2014 ข้อ 136 หน้า 142).                      

[221] Liturgia Byzantina. Anaphora Iohannis Chrysostomi, Prex ante Communionem: F.E. Brightman, Liturgies Eastern and Western (Oxford 1896) p. 394 (PG 63, 920).    

[222] Cf CIC canon 919.                  

[223] Cf CIC canones 916-917: AAS 75 (1983 II), pp. 165-166.                 

[224] Fideles, eadem die, altera tantum vice, ss. Eucharistiam suscipere possunt. Pontificia Commissio Codici Iuris Canonici authentice interpretando, Responsa ad proposita dubia, 1: AAS 76 (1984) 746.    

[225] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 55: AAS 56 (1964) 115.            

[226] Concilium Vaticanum II, Decr. Orientalium Ecclesiarum, 15: AAS 57 (1956) 81.               

[227] Cf OE 15;CIC canon 920.         

[228] Institutio generalis Missalis Romani, 240: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 68. (ฉบับภาษาไทย พิมพ์เมื่อปี 2001, ข้อ 281 หน้า 55*)                      

[229] Fanqîth, Breviarium iuxta ritum Ecclesiae Antiochenae Syrorum, v. 1 (Mossul 1886) p. 237a-b.                 

[230] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 5: AAS 58 (1966) 997.            

[231] เทียบ 1 คร 11:26.                    

[232] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 4, 28: CSEL 73, 57-58 (PL 16, 446).                   

[233] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 13a, Decretum de ss. Eucharistia, c. 2: DS 1638.          

[234] Sanctus Fulgentius Ruspensis, Contra gesta Fabiani, 28, 17: CCL 91A, 813-814 (PL 65, 789).                   

[235] เทียบ 1 คร 12:13.                    

[236] Sanctus Augustinus, Sermo 272: PL 38, 1247.      

[237] เทียบ มธ 25:40.                     

[238] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In epistulam I ad Corinthios, homilia 27, 5: PG 61, 230.                        

[239] Sanctus Augustinus, In Iohannis evangelium tractatus, 26, 13: CCL 36, 266 (PL 35, 1613); cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 47: AAS 56 (1964) 113.          

[240] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 15: AAS 57 (1965) 102.                

[241] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 15: AAS 57 (1965) 102; cf CIC canon 844, § 3.         

[242] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 22: AAS 57 (1965) 106.                

[243] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 22: AAS 57 (1965) 106.

[244] Cf CIC canon 844, § 4.           

VII. ศีลมหาสนิท – “ประกันสิริรุ่งโรจน์ในอนาคต”

VII. ศีลมหาสนิท – “ประกันสิริรุ่งโรจน์ในอนาคต

 1402   ในบทภาวนาโบราณบทหนึ่ง พระศาสนจักรประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องศีลมหาสนิทไว้ดังนี้ “โอ้การเลี้ยงอาหารศักดิ์สิทธิ์ ในการเลี้ยงนี้เรารับพระคริสตเจ้าเป็นอาหาร เราระลึกถึงพระทรมานของพระองค์ จิตใจรับพระหรรษทานเต็มเปี่ยม และเรายังได้รับประกันว่าจะได้รับสิริรุ่งโรจน์ในอนาคตด้วย”[245] ถ้าพิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการระลึกถึงการฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเมื่อเรารับศีลมหาสนิทจากพระแท่นบูชานี้แล้ว “เราได้รับพระพรและพระหรรษทานอย่างบริบูรณ์”[246] ศีลมหาสนิทจึงเป็นการรับมัดจำล่วงหน้าของสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์ด้วย

 1403   ในการเลี้ยงพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงแนะนำให้บรรดาศิษย์มุ่งคำนึงถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของการฉลองปัสกาในพระอาณาจักรของพระเจ้า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า แต่นี้ไปเราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นอีก จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่กับท่านในพระอาณาจักรของพระบิดาของเรา” (มธ 26:29)[247]ทุกครั้งที่พระศาสนจักรประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ก็ระลึกถึงพระสัญญานี้และมองมุ่งไปหาพระองค์ “ผู้กำลังจะเสด็จมา”(วว 1:4) และวอนขอในการอธิษฐานภาวนาของตนว่า มารานาธา” (1 คร 16:22) “ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:20) “ขอให้พระหรรษทานมาถึงและขอให้โลกนี้ได้ผ่านพ้นไป”[248]

 1404   พระศาสนจักรทราบดีว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาตั้งแต่บัดนี้แล้วในศีลมหาสนิทและประทับอยู่ที่นั่นในหมู่เรา ถึงกระนั้นการประทับอยู่นี้ยังถูกปิดบังไว้ เพราะเหตุนี้ เราจึงประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ “โดยหวังที่จะได้รับความสุขและรอรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้กอบกู้ข้าพเจ้าทั้งหลาย”[249] อธิษฐานภาวนาขอให้ “ได้ชื่นชมพระบารมีพร้อมหน้ากันตลอดไป (ในพระอาณาจักรของพระองค์) เมื่อจะทรงเช็ดน้ำตาให้เหือดหายไปสิ้น เพราะข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้ชมพระพักตร์ดุจดังที่ทรงเป็นอยู่ จะได้เป็นเหมือนพระองค์ตลอดนิรันดร และเทิดพระเกียรติสดุดีพระองค์ตลอดไป”[250]

 1405   เราไม่มีประกันและเครื่องหมายใดถึงความหวังยิ่งใหญ่นี้ นั่นคือความหวังถึงฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่ซึ่งเป็นที่พำนักถาวรของความชอบธรรม[251] แน่นอนมากกว่าศีลมหาสนิท ในความเป็นจริง ทุกครั้งที่เราเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกประการนี้ “ก็มีการปฏิบัติงานกอบกู้ชาวเรา”[252] และเรา “ก็ [บิ] ขนมปังก้อนเดียวกัน [...] ซึ่งเป็นโอสถบันดาลความไม่รู้ตาย เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราตาย แต่ให้มีชีวิตตลอดไปในพระเยซูคริสตเจ้า”[253]

 

[245] In Sollemnitate ss.mi corporis et sanguinis Christi, Antiphona ad « Magnificat » in II Vesperis: Liturgia Horarum, editio typica, v. 3 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 502.

[246] Prex eucharistica I seu Canon Romanus, 96: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 453.

[247] เทียบ ลก 22:18; มก 14:25.

[248] Didaché, 10, 6: SC 248, 180 (Funk, Patres apostolici, 1, 24).

[249] Ritus Communionis, 126 [Embolismus post « Pater noster »]: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 472; เทียบ ทต 2,13.                

[250] Prex eucharistica III, 116: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 465.         

[251] เทียบ 2 ปต 3:13.                    

[252] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.                  

[253] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Ephesios, 20, 2: SC 10bis, 76 (Funk 1, 230). 

สรุป

สรุป

1406    พระเยซูเจ้าตรัสว่าเราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป […] ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร […] ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:51,54,56)

1407    ศีลมหาสนิทเป็นหัวใจและจุดยอดชีวิตของพระศาสนจักร เพราะว่าในศีลนี้ พระคริสตเจ้าทรงถวายพระศาสนจักรของพระองค์และนำสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรเข้ามารวมกับการถวายบูชาเพื่อถวายเกียรติและขอบพระคุณของพระองค์ที่ทรงถวายเพียงครั้งเดียวสำหรับตลอดไปบนไม้กางเขนแด่พระบิดา เดชะการถวายบูชานี้พระองค์ทรงหลั่งพระหรรษทานที่นำความรอดพ้นลงมาเหนือพระวรกายของพระองค์ซึ่งก็คือพระศาสนจักรนั่นเอง

1408    พิธีบูชาขอบพระคุณมีองค์ประกอบต่อไปนี้เสมอ คือ การประกาศพระวาจาของพระเจ้า การขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดาสำหรับพระพรทั้งหลายที่ได้รับจากพระองค์ โดยเฉพาะการที่พระองค์ประทานพระบุตรแก่เรา การเสกขนมปังและเหล้าองุ่น และการร่วมงานเลี้ยงทางพิธีกรรมโดยการรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า องค์ประกอบเหล่านี้รวมกันเป็นคารวกิจหนึ่งเดียวกัน     

1409    พิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ ศีลมหาสนิท) เป็นการระลึกถึงการเลี้ยงปัสกาของพระคริสตเจ้านั่นคือเป็นพระราชกิจแห่งความรอดพ้นผ่านทางพระชนมชีพ การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า พระราชกิจนี้ถูกทำให้เป็นปัจจุบันอาศัยกิจกรรมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

1410    พระคริสตเจ้า พระมหาสมณะนิรันดรแห่งพันธสัญญาใหม่ ทรงงานอาศัยศาสนบริการของบรรดาพระสงฆ์ ทรงถวายบูชาขอบพระคุณ นอกจากนั้น พระคริสตเจ้าพระองค์นี้ผู้ประทับอยู่แท้จริงภายใต้รูปปรากฏของขนมปังและเหล้าองุ่นยังทรงเป็นการถวายบูชาขอบพระคุณด้วย

1411  พระสงฆ์ผู้ได้รับศีลบวชโดยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นอาจเป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณและเสกขนมปังและเหล้าองุ่นให้กลับเป็นพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้   

1412   เครื่องหมายที่เป็นสาระสำคัญของศีล(มหาสนิท)คือขนมปังจากข้าวสาลีและเหล้าองุ่นจากเถาองุ่นซึ่งมีการเชิญพระพรของพระจิตเจ้าลงเหนือทั้งสองสิ่งนี้แล้ว และพระสงฆ์กล่าวคำเสกศีลที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในการเลี้ยงพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายว่า “นี่เป็นกายของเราซึ่งจะถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย […] นี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา

1413   โดยการเสกศีล เกิดมีการเปลี่ยนสารของขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ภายใต้รูปปรากฏที่เสกแล้วของขนมปังและเหล้าองุ่น พระคริสตเจ้าเอง ผู้ทรงชีวิตและพระสิริรุ่งโรจน์ ประทับอยู่จริง โดยแท้จริง ตามพระสภาวะ เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์พร้อมกับพระวิญญาณและสภาวะพระเจ้าของพระองค์[254]

1414   ศีลมหาสนิท ในฐานะที่เป็นการถวายบูชา ยังถวายเป็นการชดเชยบาปทั้งของผู้เป็นและผู้ตาย และเพื่อวอนขอรับพระพรทั้งด้านจิตใจและร่างกายจากพระเจ้า

1415   ผู้ปรารถนาจะรับพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทต้องอยู่ในสถานะพระหรรษทาน ถ้าผู้ใดสำนึกว่าตนได้ทำบาปหนัก เขาต้องไม่เข้าไปรับศีลมหาสนิทโดยไม่ได้รับอภัยบาปในศีลอภัยบาปเสียก่อน

1416   การรับศีลแห่งพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าเพิ่มความสัมพันธ์ของผู้รับกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้อภัยบาปเบาและป้องกันเขาจากบาปหนัก จากการที่สายสัมพันธ์ความรักระหว่างผู้รับศีลและพระคริสตเจ้าเข้มแข็งขึ้น การรับศีลนี้จึงเสริมสร้างเอกภาพของพระศาสนจักร พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า

1417   พระศาสนจักรเชิญชวนอย่างแข็งขันให้บรรดาผู้มีความเชื่อรับศีลมหาสนิทเมื่อเขาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรกำหนดข้อบังคับให้ทำเช่นนี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

1418   จากการที่พระคริสตเจ้าเองประทับอยู่ในศีลมหาสนิท จึงต้องถวายเกียรติการนมัสการแด่พระองค์ การเฝ้าศีลมหาสนิทจึงเป็นเครื่องหมายแสดงความรู้บุญคุณแด่พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า และเป็นประกันความรักและหน้าที่ๆ จะต้องนมัสการพระองค์[255]

1419   เมื่อพระคริสตเจ้ากำลังจะทรงจากโลกนี้ไปหาพระบิดา พระองค์ประทานประกันพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ที่ทรงมีไว้ให้เราในศีลมหาสนิท การมีส่วนร่วมพิธีถวายบูชาศักดิ์สิทธิ์นี้ทำให้เราละม้ายคล้ายกับพระทัยของพระองค์ ค้ำจุนพลังของเราในการเดินทางตลอดเวลาของชีวิตนี้ทำให้เราปรารถนาอยากมีชีวิตนิรันดรและรวมเรากับพระศาสนจักรในสวรรค์ กับพระนางพรหมจารีมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

 

[254] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 13a, Decretum de ss. Eucharistia, c. 3: DS 1640; Ibid., canon 1: DS 1651.          

[255] Paulus VI, Litt. Enc. Mysterium fidei: AAS 57 (1965) 771.