ตอนที่หก

พระบัญญัติประการที่หก

 

                     “อย่าล่วงประเวณี” (อพย 20:14)[82]

                     “ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า อย่าล่วงประเวณี แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่าผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว” (มธ 5:27-28)

 

[82] เทียบ ฉธบ 5:18. 

I.  “พระองค์ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง....”

I.  “พระองค์ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง....”

 2331   “พระเจ้าทรงเป็นความรักและทรงพระชนม์ในพระองค์เองจากพระธรรมล้ำลึกที่ทรงความสัมพันธ์ความรักระหว่างพระบุคคล เมื่อทรงเนรมิตสร้างธรรมชาติมนุษย์ของชายและหญิง พระองค์ก็ทรงมอบกระแสเรียกให้เขา และดังนี้จึงทรงมอบอำนาจและหน้าที่ให้เขามีความรักและความสนิทสัมพันธ์กันพร้อมกับมโนสำนึก”[83]

                     “และพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ […] พระองค์ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:27) “จงมีลูกมาก” (ปฐก 1:28) “เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ พระองค์ทรงสร้างเขาให้เหมือนพระเจ้า ทรงสร้างเขาเป็นชายและหญิง และเมื่อทรงสร้างแล้ว พระองค์ทรงอวยพรเขา ทรงเรียกเขาว่า ‘มนุษย์’ (ปฐก 5:1-2)

 2332  ลักษณะทางเพศ มีผลกระทบต่อเหตุผลความเป็นอยู่ทุกด้านของบุคคลมนุษย์ ในฐานะที่ร่างกายและวิญญาณของเขา มีเอกภาพรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพลังด้านความรัก สมรรถภาพที่จะรักและมีบุตรสืบสกุล และกล่าวโดยทั่วไป เกี่ยวกับแนวโน้มที่จะมีความสนิทสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

 2333  ทุกคนทั้งชายและหญิงต้องรับรู้และยอมรับลักษณะทางเพศของตน ความแตกต่างและเติมเต็มกันทั้งทางกายภาพ ความประพฤติและจิตใจถูกจัดไว้เพื่อความดีของการสมรสและการพัฒนาของชีวิตครอบครัว ความกลมกลืนของคู่สมรสทั้งสองคนและของสังคมส่วนหนึ่งขึ้นกับวิธีการที่ทั้งสองเพศเติมเต็มให้กัน ต้องการกัน และช่วยเหลือกันในชีวิต

 2334  “เมื่อพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ให้ ‘เป็นชายและหญิง’ ก็ประทานให้ทั้งชายและหญิงมีศักดิ์ศรีเท่ากัน”[84] “มนุษย์ทั้งชายและหญิงเป็นบุคคลเท่าเทียมกัน เพราะทั้งสองคนถูกเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์เหมือนกับพระเจ้าที่ทรงเป็นพระบุคคล”[85]

 2335  แต่ละเพศมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แม้จะโดยวิธีต่างกัน เป็นภาพของพระอานุภาพและความอ่อนโยนของพระเจ้า การที่ชายและหญิงมาอยู่ด้วยกันในการสมรสเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเลียนแบบความใจกว้างและความอุดมสมบูรณ์ของพระผู้เนรมิตสร้างในร่างกาย “ชายจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันกับภรรยา และทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐก 2:24) การให้กำเนิดทั้งหลายของมนุษย์สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ประการนี้[86]

 2336  พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อทรงสถาปนาสิ่งสร้างให้มีความบริสุทธิ์เหมือนเมื่อแรกเริ่ม ในการเทศน์สอนบนภูเขาพระองค์ทรงอธิบายแผนการของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด “ท่านได้ยินคำกล่าวว่า อย่าล่วงประเวณี แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว” (มธ 5:27-28) มนุษย์ต้องไม่แยกสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมไว้[87]

                   ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเข้าใจพระบัญญัติประการที่หกว่าเป็นการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศทั้งหมดของมนุษย์

 

[83] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 11: AAS 74 (1982) 91-92.       

[84] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 22: AAS 74 (1982) 107; cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 49: AAS 58 (1966) 1070.            

[85] Ioannes Paulus II, Ep. ap. Mulieris dignitatem, 6: AAS 80 (1988) 1663.         

[86] เทียบ ปฐก 4:1-2,25-26; 5:1.  

[87] เทียบ มธ 19:6.              

II. การเรียกให้รักษาความบริสุทธิ์

II. การเรียกให้รักษาความบริสุทธิ์

 2337   ความบริสุทธิ์หมายถึงบูรณาการของลักษณะทางเพศที่พบได้ในบุคคลและดังนั้นจึงเป็นเอกภาพภายในของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ลักษณะทางเพศที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์อยู่ในโลกทางร่างกายและชีววิทยาแบบใดเมื่อต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ในการที่ชายและหญิงมอบตนเองแก่กันโดยสมบูรณ์และไม่จำกัดด้านเวลา

                    ดังนั้น คุณธรรมความบริสุทธิ์จึงหมายถึงการมอบบุคลิกของตนโดยสิ้นเชิงให้เป็นของขวัญแก่กัน


ความสมบูรณ์ของบุคคล

 2338   บุคคลที่บริสุทธิ์รักษาพลังชีวิตและความรักที่อยู่ในตนเองไว้โดยสมบูรณ์ ความสมบูรณ์นี้แสดงถึงเอกภาพของบุคคล ขัดสู้กับการกระทำทุกอย่างที่อาจนำความเสียหายมาสู่เอกภาพนี้ได้ ไม่ยอมรับชีวิตและคำพูดที่มีสองมาตรฐาน[88]

 2339  ความบริสุทธิ์หมายถึงการฝึกฝนบังคับตนเองซึ่งเป็นการอบรมตนให้มีเสรีภาพแบบมนุษย์  การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเห็นได้ชัดเจน มนุษย์ต้องเลือกที่จะบังคับอารมณ์ของตนเองและมีสันติ หรือเลือกที่จะปล่อยตัวเป็นทาสของอารมณ์เหล่านี้และกลายเป็นผู้น่าสงสาร[89] “ศักดิ์ศรีของมนุษย์จึงเรียกร้องให้เขาทำตามที่เขาเลือกโดยรู้สำนึกอย่างอิสระ นั่นคือได้รับพลังบันดาลใจและแรงผลักดันเป็นการส่วนตัวจากภายใน ไม่ใช่ทำงานภายใต้แรงยั่วยุมืดบอดจากภายในหรือเพียงแต่ถูกแรงบังคับจากภายนอก มนุษย์จะได้ศักดิ์ศรีเช่นนี้มาได้ก็เมื่อเขาทำตนให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสทุกอย่างของอารมณ์ และเลือกความดีโดยอิสระ ใช้ความเอาใจใส่และความชำนาญจัดหาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อจะบรรลุถึงจุดประสงค์ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ”[90]

 2340  ผู้ที่อยากซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาแห่งศีลล้างบาปของตนและต่อต้านการผจญต้องพยายามใช้วิธีการต่างๆ เช่น การรู้จักตนเอง การฝึกฝนสละตนเองที่เหมาะสมกับสถานภาพที่เขาเผชิญอยู่ การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า การปฏิบัติคุณธรรมด้านความประพฤติและความซื่อสัตย์ต่อการอธิษฐานภาวนา “เพราะอาศัยการบังคับตนเอง เราย่อมกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวจากที่ที่เราได้แตกแยกกันออกไป”[91]

 2341   คุณธรรมความบริสุทธิ์ขึ้นอยู่กับคุณธรรมความรู้ประมาณ ซึ่งเป็นคุณธรรมหลัก (cardinal virtue) ประการหนึ่งซึ่งมีเจตนาที่จะทำให้เหตุผลแทรกซึมเข้าไปในอารมณ์ (หรือกัมมภาวะ)

 2342  การรู้จักบังคับตนเองเป็นการทำงานที่มั่นคงยืนยาว เราต้องไม่คิดว่าเราได้คุณธรรมประการนี้มาแล้วสำหรับตลอดไป เราต้องพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะได้คุณธรรมประการนี้มาในทุกช่วงเวลาของชีวิต[92] ความพยายามเช่นนี้อาจต้องเข้มข้นยิ่งขึ้นในบางช่วงเวลาของชีวิตเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพในวัยเด็กและวัยรุ่น

 2343  ความบริสุทธิ์ก็มีกฎเกณฑ์การเจริญเติบโตที่ก้าวหน้าเป็นขั้นตอนที่ยังมีความไม่สมบูรณ์และบ่อยๆยังมีบาปเป็นเครื่องหมายแสดงออกมาอีกด้วย คนบริสุทธิ์และเอาใจใส่ต่อคุณธรรม “ย่อมเสริมสร้างตนเองด้วยความตั้งใจและพยายามทุกๆ วัน ดังนั้นเขาจึงรู้ รัก และทำให้ความประพฤติดีของตนเติบโตขึ้นตามขั้นตอน”[93]

 2344  ความบริสุทธิ์แสดงถึงความพยายามออกแรงของตนเองอย่างมากที่สุด รวมไปถึงความพยายามทางวัฒนธรรม เพราะ “เห็นได้ชัดว่าการพัฒนาของบุคคลมนุษย์ย่อมมีความสัมพันธ์และขึ้นกับความก้าวหน้าเติบโตของสังคมด้วย”[94] ความบริสุทธิ์แสดงล่วงหน้าแล้วถึงการเคารพสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการบอกกล่าวและการศึกษาอบรมที่เคารพมิติด้านศีลธรรมและจิตวิญญาณของชีวิตมนุษย์

 2345  ความบริสุทธิ์เป็นคุณธรรมด้านจริยธรรม และยังเป็นของประทานจากพระเจ้าด้วย เป็นพระหรรษทาน เป็นผลของการงานด้านจิตวิญญาณ[95] พระจิตเจ้าประทานให้ผู้ที่พระองค์ทรงบันดาลให้เกิดใหม่ด้วยน้ำศีลล้างบาปปฏิบัติตามแบบฉบับความบริสุทธิ์ของพระคริสตเจ้า[96]


การมอบตนเองทั้งหมดเป็นของถวาย

 2346  ความรักเป็นรูปแบบของคุณธรรมทุกอย่าง โดยอิทธิพลของความรัก ความบริสุทธิ์ปรากฏเป็นดังโรงเรียนสอนการสละตนเอง การควบคุมตนเองนำไปสู่การมอบตนแก่ผู้อื่น ความบริสุทธิ์นำผู้ที่ฝึกคุณธรรมประการนี้ให้เป็นพยานความซื่อสัตย์และความอ่อนโยนของพระเจ้าต่อหน้าเพื่อนมนุษย์

 2347  คุณธรรมความบริสุทธิ์พัฒนาขึ้นในมิตรภาพ (การเป็นเพื่อน) คุณธรรมนี้แสดงให้บรรดาศิษย์เห็นว่าเขาจะต้องติดตามและประพฤติตามแบบฉบับของพระองค์ผู้ทรงเลือกสรรเราให้เป็นมิตรสหายของพระองค์อย่างไร[97] พระองค์ทรงมอบพระองค์แก่พวกเราโดยสิ้นเชิงและทรงทำให้เรามีส่วนในพระเทวภาพของพระองค์ ความบริสุทธิ์จึงเป็นคำสัญญาของอมตภาพ (ความไม่มีวันตาย)

                 ความบริสุทธิ์แสดงออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิตรภาพต่อเพื่อนมนุษย์ มิตรภาพที่มีอยู่ระหว่างบุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศนับได้ว่าเป็นยิ่งใหญ่สำหรับทุกคน มิตรภาพนี้นำไปหาความสัมพันธ์ด้านจิตใจ


รูปแบบต่าง ๆ ของความบริสุทธิ์

 2348   ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนได้รับเรียกให้ถือความบริสุทธิ์ คริสตชนย่อมสวมพระคริสตเจ้า[98]พระฉบับแบบของความบริสุทธิ์ทั้งมวล คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตบริสุทธิ์ตามสภาพชีวิตโดยเฉพาะของตน ขณะที่รับศีลล้างบาป คริสตชนได้ผูกมัดตนเองที่จะบังคับพลังความรู้สึกของตนให้อยู่ในความบริสุทธิ์

 2349  “มนุษย์ต้องมีความบริสุทธิ์ประดับตนตามสถานภาพต่างๆ ของชีวิต บางคนประกาศว่าตนจะรักษาพรหมจรรย์หรือถือโสดซึ่งจะช่วยเขาเป็นพิเศษให้ถวายชีวิตของตนแด่พระเจ้าด้วยจิตใจที่ไม่แบ่งแยกได้ง่ายขึ้น ส่วนอีกบางคนก็ดำเนินชีวิตในรูปแบบที่ถูกกฎศีลธรรมกำหนดไว้สำหรับทุกคน ไม่ว่าเขาจะแต่งงานหรือเป็นโสด”[99] ผู้ที่แต่งงานแล้วก็ได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตสมรสในความบริสุทธิ์ ส่วนคนอื่นก็ถือความบริสุทธิ์ด้วยการบังคับตน(จากเพศสัมพันธ์)

                   “ดังนี้ เรารับคำสอนว่าคุณธรรมความบริสุทธิ์มีสามแบบ แบบหนึ่งคือความบริสุทธิ์ของคู่สมรส อีกแบบหนึ่งคือความบริสุทธิ์ของผู้เป็นม่าย แบบที่สามคือความบริสุทธิ์ของผู้ถือพรหมจรรย์ ดังนี้เราจึงไม่ยกย่องรูปแบบหนึ่ง โดยปฎิเสธไม่ยอมรับแบบอื่น […] ระเบียบของพระศาสนจักรมีความร่ำรวยในเรื่องนี้”[100]

 2350  คู่หมั้น(ที่ตั้งใจจะสมรสกัน) ได้รับเรียกให้ปฏิบัติความบริสุทธิ์โดยการบังคับตนเอง ในการปฏิบัติเช่นนี้ เขาจะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะให้ความเคารพต่อกัน เป็นการฝึกความเชื่อและความหวังว่าเขาจะได้รับกันและกันจากพระเจ้า เขาจะสงวนรักษาโอกาสที่จะแสดงความรักต่อกันไว้จนถึงเวลาแต่งงานซึ่งเป็นเวลาที่จะแสดงความรักแบบสามีภรรยา เขาจะช่วยเหลือกันเพื่อเติบโตขึ้นในความบริสุทธิ์


การทำผิดต่อความบริสุทธิ์

 2351    การเสเพลตัวทางเพศ (lust) เป็นการแสวงหาความสนุกสนานทางเพศอย่างไร้ระเบียบและมากเกินไป ความสนุกทางเพศผิดศีลธรรมเมื่อเราแสวงหามันในตัวเอง โดยไม่มีจุดประสงค์เพื่อการให้กำเนิดบุตรและความสัมพันธ์(ระหว่างสามีภรรยา) 

 2352   คำว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง (masturbation) หมายถึงการจงใจปลุกเร้าอวัยวะเพศเพื่อรู้สึกความสนุกทางเพศ  “อันที่จริง ทั้งคำสั่งสอนทางการของพระศาสนจักร – ตามธรรมประเพณีที่ถ่ายทอดต่อกันมาตลอดเวลา – และความรู้สึกด้านศีลธรรมของคริสตชนยึดมั่นโดยไม่มีข้อสงสัยตลอดมาว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นความผิดหนักในตัวเอง” “ไม่ว่าการกระทำจะมีสาเหตุใด การจงใจใช้สมรรถนะทางเพศนอกจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาย่อมขัดกับจุดประสงค์ของการนี้โดยสาระสำคัญในตัว” ในกรณีเช่นนี้มีการแสวงหาความสนุกทางเพศนอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์ “ที่ระเบียบศีลธรรมเรียกร้อง นั่นคือความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ผลที่มีความหมายสมบูรณ์ คือการมอบตนเองแก่กันและการให้กำเนิดมนุษย์ในบริบทของความรักแท้จริง”[101]

                 เพื่อจะรู้จักตัดสินได้อย่างถูกต้องถึงความรับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้กระทำการนี้และเพื่อให้คำแนะนำด้านอภิบาลได้ถูกต้อง เราจำต้องพิจารณาถึงการยังไม่บรรลุถึงวุฒิภาวะด้านอารมณ์ ถึงแรงผลักดันของนิสัยความเคยชิน ถึงสภาพความกังวลหรือองค์ประกอบด้านจิตใจ หรือสังคมซึ่งอาจทำให้ความผิดชอบด้านศีลธรรมลดน้อยลง และบางทีแทบจะเหลือน้อยที่สุดด้วย

 2353   เพศสัมพันธ์นอกการสมรส (fornication) คือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการแต่งงานระหว่างชายและหญิงที่อาจแต่งงานกันได้  กิจกรรมเช่นนี้ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลอย่างหนัก และโดยธรรมชาติยังขัดกับสมรรถนะทางเพศของมนุษย์ที่ธรรมชาติจัดไว้เพื่อความดีของสามีภรรยาและเพื่อให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนบุตรที่จะเกิดมา นอกจากนั้นยังเป็นการชักนำผู้อื่นอย่างหนักให้ทำบาปเพราะเป็นการทำให้เยาวชนเสียคน

 2354  สื่อลามก (pornography) คือการนำกิจกรรมทางเพศ ทั้งที่ปฏิบัติจริงหรือเป็นเพียงการแสดงออกมาจากความเป็นส่วนตัวของผู้กระทำ เพื่อจงใจแสดงกิจกรรมเหล่านั้นให้ผู้อื่นได้เห็นด้วย การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดต่อความบริสุทธิ์เพราะเป็นการบิดเบือนการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นการมอบตัวตนของคู่สมรสแก่กันอย่างใกล้ชิด การนี้ยังทำร้ายศักดิ์ศรีอย่างหนักของผู้ที่มอบตนเพื่อการนี้ด้วย (ผู้แสดง ผู้จำหน่าย ผู้ดู) เพราะแต่ละคนทำตนให้เป็นวัตถุความเล่นสนุกและผลกำไรที่ผิดสำหรับผู้อื่น  การนี้ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องจมลงไปในโลกของความเพ้อฝันอีกด้วย จึงนับเป็นความผิดหนัก ผู้มีอำนาจปกครองทางบ้านเมืองจึงจำเป็นต้องห้ามการผลิตและจำหน่ายสื่อลามกต่างๆ

 2355  การค้าประเวณี (prostitution) ทำร้ายศักดิ์ศรีของบุคคลที่ทำการค้าประเวณี ทำให้ตนเป็นเพียงวัตถุสำหรับความสนุกทางเพศจากการนี้  ผู้ที่จ่ายเงินก็ทำบาปหนักต่อตนเอง  เขาทำลายความบริสุทธิ์ที่ศีลล้างบาปที่ได้รับบังคับให้เขารักษาไว้ และยังทำให้ร่างกายของตนซึ่งเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าต้องแปดเปื้อนไปด้วย[102] การค้าประเวณีนับเป็นภัยพิบัติของสังคม โดยทั่วไปแล้วมักมีผลร้ายต่อผู้หญิง แต่ก็มีผลร้ายต่อผู้ชาย เด็กๆ และเยาวชนด้วย (ในสองกรณีสุดท้ายนี้ยังมีบาปการชักนำผู้อื่นให้ทำบาปเพิ่มเข้ามาด้วย) แม้ว่าการขายตัวค้าประเวณีจะเป็นบาปหนักเสมอ แต่ความยากจน การถูกข่มขู่ และการถูกบีบคั้นทางสังคมก็อาจทำให้การรับผิดชอบต่อความผิดนี้ลดหย่อนลงไปได้

 2356  การข่มขืน เป็นการใช้กำลังความรุนแรงบังคับให้บุคคลหนึ่งร่วมเพศด้วย นับเป็นการทำร้ายต่อความยุติธรรมและความรัก การข่มขืนล่วงละเมิดสิทธิที่แต่ละคนจะต้องได้รับความเคารพนับถือ สิทธิที่จะต้องมีอิสรภาพ ความปลอดภัยจากการทำร้ายร่างกายและจิตใจ การข่มขืนย่อมก่อให้เกิดผลร้ายอย่างหนักที่อาจติดตัวผู้ถูกทำร้ายไปตลอดชีวิต การกระทำนี้จึงเป็นความผิดหนักในตัวเองเสมอ การข่มขืนยิ่งเป็นความผิดหนักยิ่งขึ้นถ้าเป็นการถูกกระทำโดยญาติใกล้ชิด (incest) หรือโดยผู้ให้การอบรมต่อเด็กที่ถูกมอบไว้ให้อยู่ในความดูแลของตน

 

ความบริสุทธิ์และความใคร่เพศเดียวกัน

 2357  ความใคร่เพศเดียวกันหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายหรือหญิงที่ชอบเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันกับตนเท่านั้นหรือเป็นส่วนใหญ่ ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมาในอดีตและในวัฒนธรรมต่างๆ กิจกรรมนี้ได้มีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างมาก สาเหตุทางจิตของพฤติกรรมนี้ส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับคำอธิบาย ธรรมประเพณี(ของพระศาสนจักร)อิงอยู่กับพระคัมภีร์ที่เล่าถึงพฤติกรรมนี้ว่าเป็นความเสื่อมทรามอย่างร้ายแรง[103] ได้ประกาศเสมอมาว่า “พฤติกรรมความใคร่ต่อเพศเดียวกันเป็นพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติในตัวเอง”[104] เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับกฎธรรมชาติ พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ยอมให้กิจกรรมทางเพศเป็นการให้ชีวิต พฤติกรรมนี้ไม่สืบเนื่องมาจากความรักและเพศสัมพันธิ์ที่เป็นการเสริมสร้างกัน พฤติกรรมนี้จึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ

 2358   ชายและหญิงจำนวนไม่น้อยแสดงออกถึงแนวโน้มความใคร่เพศเดียวกันที่ฝังรากลึกอยู่ภายใน ความโน้มเอียงนี้ แม้ในตัวจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่แล้วนับได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง บุคคลเหล่านี้จึงควรได้รับความเคารพ ความเห็นใจ และความอ่อนโยน เกี่ยวกับคนเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงการแสดงการเลือกที่รักมักที่ชังอย่างอยุติธรรมทุกอย่าง พระเจ้าทรงเรียกบุคคลเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามพระประสงค์ในชีวิตของตน และถ้าเขาเป็นคริสตชน เขาจะต้องนำความยากลำบากที่เขาอาจพบได้ในสภาพชีวิตของตนเข้ามารวมไว้กับการถวายบูชาบนไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้า

 2359  บุคคลที่มีความใคร่เพศเดียวกันก็ได้รับเรียกให้มีความบริสุทธิ์ด้วย บุคคลเหล่านี้ อาศัยคุณธรรมการควบคุมตนเองซึ่งสอนเขาให้มีอิสรภาพภายใน และบางครั้งอาศัยความช่วยเหลือของมิตรภาพที่ไม่เห็นแก่ตัว อาศัยการอธิษฐานภาวนาและพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ ก็อาจและต้องตั้งใจจริงค่อยๆ เข้ามาถึงความครบครันแบบคริสตชนให้ได้ด้วย

 

[88] เทียบ มธ 5:37..             

[89] เทียบ บสร 1:22.             

[90] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 17: AAS 58 (1966) 1037-1038.             

[91] Sanctus Augustinus, Confessiones, 10, 29, 40: CCL 27, 176 (PL 32,796).         

[92] เทียบ ทต 2:1-6.             

[93] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 34: AAS 74 (1982) 123.        

[94] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 25: AAS 58 (1966) 1045. 

[95] เทียบ กท 5:22-23.          

[96] เทียบ 1 ยน 3:3.             

[97] เทียบ ยน 15:15.             

[98] เทียบ กท 3:27.              

[99] Sacra Congregatio pro Doctrina Fidei, Decl. Persona humana, 11: AAS 68 (1976) 90-91.            

[100] Sanctus Ambrosius, De viduis 23: Sancti Ambrosii Episcopi Mediolanensis opera, v. 141 (Milano-Roma 1989) p. 266 (PL 16, 241-242).

[101] Sacra Congregatio pro Doctrina Fidei, Decl. Persona humana, 9: AAS 68 (1976) 86.

[102] เทียบ 1 คร 6:15-20.        

[103] เทียบ ปฐก 19:1-29; รม 1:24-27; 1 คร 6:9-10; 1 ทธ 1:10.       

[104] Sacra Congregatio pro Doctrina Fidei, Decl. Persona humana, 8: AAS 68 (1976) 85.

III.  ความรักของคู่สมรส

III.  ความรักของคู่สมรส

 2360 ความรู้สึกทางเพศ (sexuality) ถูกจัดไว้สำหรับความรักของชายหญิงคู่สมรส ในการสมรส ความใกล้ชิดกันทางร่างกายของคู่สมรสเป็นเครื่องหมายและประกันของความสัมพันธ์ด้านจิตใจ ระหว่างผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว พันธะของการสมรสได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากศีลสมรส

 2361 “ความรู้สึกทางเพศ […] ซึ่งเป็นวิธีการที่ชายและหญิงมอบตัวให้แก่กันด้วยกิจกรรมเฉพาะที่สงวนไว้สำหรับตนเท่านั้น ไม่เป็นเพียงอะไรบางอย่างด้านชีววิทยาเท่านั้น แต่ยังสัมผัสกับสาระสำคัญลึกซึ้งของบุคคลมนุษย์ในฐานะที่เป็นบุคคลอีกด้วย ความรู้สึกทางเพศจะสมบูรณ์ได้แบบมนุษย์จริงๆ ก็เมื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรักที่ชายและหญิงมอบตนแก่กันโดยผูกมัดตนทั้งหมดไว้ด้วยกันจนถึงความตายเท่านั้น”[105]

                  “โทบียาห์ลุกขึ้นจากเตียง บอกนางซาราห์ว่า ‘น้องเอ๋ย จงลุกขึ้น เราจงอธิษฐานภาวนาวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ประทานพระเมตตาและความรอดพ้นแก่เรา’  นางก็ลุกขึ้น เขาทั้งสองคนเริ่มอธิษฐานภาวนาขอให้พระองค์ประทานความรอดพ้นแก่ตน กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระเจ้าของบรรพบุรุษ ขอถวายพระพรแด่พระองค์ […] พระองค์ทรงสร้างอาดัมและทรงสร้างนางเอวาภรรยาของเขาให้เป็นผู้ช่วยเหลือและค้ำจุน มนุษยชาติก็ได้ถือกำเนิดจากเขาทั้งสองคน พระองค์ตรัสว่า มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวไม่ดีเลย เราจะสร้างผู้ช่วยที่เหมาะกับเขาให้  บัดนี้ ข้าพเจ้ารับน้องสาวของข้าพเจ้าผู้นี้ไว้เป็นภรรยา ไม่ใช่เพราะความใคร่ แต่ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ขอพระองค์โปรดให้ข้าพเจ้าและนางได้รับพระเมตตา และให้ข้าพเจ้าทั้งสองคนมีชีวิตอยู่ด้วยกันจนถึงวัยชราเถิด’ เขาทั้งสองคนกล่าวพร้อมกันว่า ‘อาเมน อาเมน’ แล้วนอนหลับไปในคืนนั้น” (ทบต 8:4-9)

2362   “กิจกรรมที่คู่สมรสร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างใกล้ชิดและบริสุทธิ์เป็นกิจกรรมที่ดีและมีเกียรติ และถ้าทำไปในแบบมนุษย์จริงๆ ย่อมหมายถึงและส่งเสริมการมอบตนแก่กันทำให้ทั้งสองคนมีความยินดีและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น”[106] ความรู้สึกทางเพศเป็นบ่อเกิดความยินดีและความสุข

            “พระผู้เนรมิตสร้างพระองค์เดียวกัน […] ยังทรงจัดให้คู่สมรสพบความสนุกและความสุขในหน้าที่[การให้กำเนิดบุตร] นี้ ดังนั้น เมื่อคู่สมรสแสวงหาและรู้สึกความสนุกนี้ เขาไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ดี เขารับสิ่งที่พระผู้เนรมิตสร้างทรงกำหนดไว้ให้เขา กระนั้นก็ดี คู่สมรสยังต้องรู้ด้วยว่าตนจำเป็นต้องบังคับตนให้อยู่ในขอบเขตของความพอควร”[107]

2363   เพศสัมพันธ์ของคู่สมรสทำให้จุดประสงค์ทั้งสองประการของการสมรสเป็นจริงขึ้นมา นั่นคือผลประโยชน์ของคู่สมรสและการสืบต่อชีวิต ความหมายหรือคุณค่าทั้งสองประการนี้ของการสมรสไม่อาจแยกจากกันได้โดยไม่ทำให้ชีวิตจิตของคู่สมรสต้องเปลี่ยนแปลงไปและทำให้อนาคตของครอบครัวต้องตกอยู่ในอันตราย

                ดังนั้น ความรักของชายหญิงคู่สมรสจึงตั้งอยู่ได้ภายใต้ข้อบังคับทั้งสองประการ คือความซื่อสัตย์ต่อกันและการมีบุตรสืบตระกูล


 
ความซื่อสัตย์ของคู่สมรส

 2364  คู่สมรสทั้งสองคนร่วมกันสร้าง “การร่วมชีวิตและความรักของสามีภรรยาตามที่พระผู้สร้างทรงตรากฎหมายกำหนดไว้ การร่วมชีวิตเช่นนี้ตั้งอยู่บนพันธสัญญาแห่งการสมรส หรือการแสดงเจตนาของตนโดยไม่มีวันเลิกถอนได้”[108] ทั้งสองคนมอบตนแก่กันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป เขาไม่เป็นสองคนอีกต่อไป แต่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน พันธสัญญาที่คู่สมรสทั้งสองคนได้ทำไว้กำหนดข้อบังคับให้เขารักษาไว้เป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจลบล้างได้[109] “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:9)[110]

 2365  ความซื่อสัตย์แสดงถึงความมั่นคงในการรักษาคำพูดที่ให้ไว้ พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ ศีลสมรสนำชายและหญิงให้มีความซื่อสัตย์เหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระศาสนจักรของพระองค์ เขาทั้งสองคนเป็นพยานถึงพระธรรมล้ำลึกประการนี้ให้โลกเห็นอาศัยความบริสุทธิ์ฉันสามีภรรยา

                   นักบุญยอห์นครีโซสตมเตือนหนุ่มๆ ที่แต่งงานแล้วให้กล่าวกับภรรยาดังนี้ “ฉันได้กอดเธอไว้และรักเธอ ฉันชอบเธอมากกว่าชีวิตของฉันเสียด้วย เพราะชีวิตปัจจุบันไม่เป็นอะไรเลย ฉันวอนขอ เตือนตัวเองและทำทุกอย่างเพื่อเราทั้งสองคนจะได้สมที่จะดำเนินชีวิตปัจจุบัน เพื่อเราจะได้อยู่ด้วยกันได้อีกอย่างแน่นอนจริงๆ ในโลกหน้า […] ฉันถือว่าความรักต่อเธอนั้นดีกว่าทุกสิ่ง และไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ฉันเป็นทุกข์ใจมากไปกว่าการมีความเห็นแตกต่างกับเธอเลย”[111]


 การมีบุตรของคู่สมรส

2366   การมีบุตรเป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นจุดประสงค์ประการหนึ่งของการสมรส เพราะความรักของคู่สมรสมุ่งสู่การมีบุตรโดยธรรมชาติ บุตรไม่ใช่อะไรจากภายนอกที่เข้ามาเพิ่มเติมความรักของคู่สมรส เขาเกิดขึ้นมาในหัวใจของการมอบชีวิตแก่กันนี้เอง เป็นผลและความสำเร็จของพฤติกรรมประการนี้ ดังนั้น พระศาสนจักรซึ่ง “อยู่ทางฝ่ายของชีวิต”[112] จึงสอนว่า “จำเป็นที่กิจกรรมของคู่สมรสทุกครั้งในตัวเองต้องมีจุดหมายที่จะสร้างชีวิตมนุษย์อยู่เสมอ”[113] “คำสอนเช่นนี้ที่ผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักรย้ำอยู่บ่อยๆ จึงตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างความหมายเรื่องเอกภาพและเรื่องการมีบุตร ความสัมพันธ์นี้พระเจ้าทรงกำหนดไว้ ไม่มีวันจะแยกจากกันได้ และไม่อนุญาตให้มนุษย์จงใจฝ่าฝืนได้ตามใจ”[114]

 2367  คู่สมรสที่ได้รับเรียกมาเพื่อให้ชีวิตย่อมมีส่วนร่วมกับพระอานุภาพเนรมิตสร้างและความเป็นบิดาของพระเจ้า[115] “คู่สมรสต้องคิดว่าเป็นพันธกิจโดยเฉพาะของเขาที่จะทำหน้าที่สืบทอดชีวิตมนุษย์และอบรมสั่งสอนบุตร เขารู้ดีว่าตนเป็นผู้ร่วมงานแห่งความรักของพระเจ้าและเป็นผู้แสดงให้เห็นความรักนี้ ดังนั้น เขาจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบแบบมนุษย์และแบบคริสตชน”[116]

 2368   ความรับผิดชอบนี้มีลักษณะเฉพาะประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิด จากเหตุผลที่ถูกต้อง[117] คู่สมรสอาจต้องการเว้นระยะการให้กำเนิดบุตรได้ เป็นหน้าที่ของเขาที่จะพิสูจน์ว่าความปรารถนานี้ไม่ได้มาจากความรักตนเองอย่างมืดบอด (จาก “ความเห็นแก่ตัว”) แต่การทำเช่นนี้สอดคล้องกับการมีใจกว้างในการเป็นบิดามารดาด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนั้นเขาจะต้องปฏิบัติการนี้ให้สอดคล้องกับมาตรการที่ถูกต้องด้านศีลธรรม

                 “วิธีปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลธรรม เมื่อเป็นเรื่องที่จะต้องจัดการให้ความรักฉันสามีภรรยาสอดคล้องกับการถ่ายทอดชีวิตด้วยความรับผิดชอบนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับเจตนาดีและการมีเหตุผลที่มาจากบุคคลและธรรมชาติของการกระทำเท่านั้น  แต่ยังต้องรักษาความหมายของการมอบตนทั้งหมดและการให้กำเนิดชีวิตมนุษย์ในบริบทของความรักแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้นอกจากจะมีคุณธรรมความบริสุทธิ์ของคู่สมรสจากใจจริงเท่านั้น”[118]

 2369   “เมื่อเหตุผลที่เป็นสาระสำคัญทั้งสองประการถูกรักษาไว้ คือเอกภาพและการให้กำเนิดบุตร เพศสัมพันธ์ของคู่สมรสก็ย่อมรักษาความหมายของความรักแท้จริงต่อกันและรักษาระเบียบของตนไว้ในบทบาทสูงส่งของการเป็นบิดามารดา”[119]

 2370    การงดมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวระยะหนึ่งเพื่อให้เป็นวิธีการควบคุมการมีบุตร ซึ่งตั้งอยู่บนการสังเกตตนเองและใช้ช่วงเวลาที่ไม่อาจมีบุตรได้[120]  นับว่าสอดคล้องกับมาตรการทางศีลธรรมที่ถูกต้อง    วิธีการนี้เคารพร่างกายของคู่สมรส ส่งเสริมความห่วงใยต่อกันของเขา และเป็นการอบรมเขาให้มีอิสรภาพอย่างแท้จริง ตรงกันข้าม กิจกรรมใดไม่ว่า “ที่ตั้งใจหรือทำให้การมีเพศสัมพันธ์ของคู่สมรส ทั้งก่อน ระหว่าง หรือเมื่อเสร็จกิจกรรมแล้ว เป็นจุดประสงค์หรือเป็นวิธีการที่ใช้เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการให้กำเนิดบุตร” ก็เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องในตัวเอง[121]

                    “การคุมกำเนิดขัดแย้งโดยตรงกับภาษาที่พูดตามธรรมชาติซึ่งประกาศแสดงการมอบตนเองแก่กันโดยสิ้นเชิงของคู่สมรส นั่นคือไม่ได้มีการมอบตนอย่างเต็มที่ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเลย การนี้จึงนำไปสู่ไม่เพียงการปฏิเสธที่จะเปิดใจโดยตรงและตลอดไปเพื่อรับชีวิต แต่ยังเป็นการแสร้งทำเหมือนว่ามีความรักระหว่างคู่สมรสอย่างแท้จริงที่จะต้องมุ่งสู่การมอบตนทั้งหมดแก่กัน [...] ความแตกต่างทั้งด้านมนุษยวิทยาและศีลธรรมที่มีอยู่ระหว่างการคุมกำเนิดและการสังเกตช่วงเวลาที่ให้กำเนิดได้นั้นหมายถึงความคิดสองแบบเรื่องบุคคลและความสุขของการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้เลย”[122]

 2371   “ทุกคนควรจะต้องรู้ว่าชีวิตของมนุษย์และหน้าที่ที่จะต้องสืบทอดชีวิตนี้ต่อไปนั้นไม่จำกัดว่าจะวัดและเข้าใจได้อยู่แต่เพียงในโลกนี้เท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาไปถึงจุดหมายปลายทางนิรันดรของมนุษย์เสมอ”[123]

 2372   รัฐต้องรับผิดชอบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ในบทบาทนี้จึงเป็นการถูกต้องที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบการเพิ่มประชากร การนี้อาจทำได้โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่ไม่ใช่โดยวิธีบังคับหรือสั่งห้าม ไม่เป็นการถูกต้องที่รัฐจะใช้อำนาจแทนการริเริ่มของคู่สมรสซึ่งเป็นคนแรกที่รับผิดชอบการมีบุตรและการให้การศึกษาอบรมแก่บุตรของตน[124] ในเรื่องนี้ รัฐไม่มีอำนาจที่ใช้วิธีการที่ขัดกับกฎศีลธรรมเข้ามาควบคุมจำนวนประชากร


บุตรเป็นของประทานจากพระเจ้า

 2373    พระคัมภีร์และแนวปฏิบัติตามธรรมเนียมของพระศาสนจักรเห็นว่าครอบครัวที่มีบุตรหลายคนเป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าทรงอวยพระพรและพ่อแม่มีใจกว้าง[125]

 2374  เป็นความทุกข์ใหญ่หลวงของคู่สมรสที่พบว่าตนเป็นหมัน อับรามทูลพระเจ้าว่า “พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้ายังคงไม่มีบุตร...” (ปฐก 15:2) นางราเคลร้องบอกยาโคบสามีว่า “ให้ดิฉันมีลูกบ้างเถิด มิฉะนั้นดิฉันจะตาย” (ปฐก 30:1)

 2375  การค้นคว้าที่ตั้งใจลดความเป็นหมันให้น้อยลงควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนถ้าทำไปเพื่อรับใช้ “บุคคลมนุษย์ เพื่อรับใช้สิทธิของมนุษย์ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ และเพื่อผลดีทั้งหมดของเขาตามแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า”[126]

 2376    เทคนิคที่สนับสนุนการแตกแยกโดยยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสเข้ามาเกี่ยวข้อง (การบริจาคอสุจิหรือไข่  การอุ้มบุญ) เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เทคนิคเหล่านี้ (การผสมเทียม การใช้ไข่หรือสุจิของบุคคลภายนอก)เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของบุตรที่จะเกิดมาจากบิดาและมารดาที่เขารู้จักและมีความสัมพันธ์กันด้วยการสมรส เป็นการล่วงละเมิดสิทธิ “ของคู่สมรสที่จะเป็นพ่อหรือแม่ได้เพียงโดยอีกคนหนึ่งเท่านั้น”[127]

 2377    ถ้าใช้เทคนิคเหล่านี้ภายในขอบเขตของคู่สมรสเท่านั้น (การผสมเทียมภายนอก) อาจมีความผิดน้อยกว่า แต่ในด้านศีลธรรมก็ยังเป็นที่ยอมรับไม่ได้ เป็นการแยกกิจกรรมทางเพศออกจากการให้กำเนิด กิจกรรมที่ทำให้บุตรเกิดมาเช่นนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่บุคคลสองคนมอบตนให้แก่กัน “แต่นำเอาชีวิตและเอกลักษณ์ของตัวอ่อนมนุษย์ให้มามอบไว้ในอำนาจของแพทย์หรือนักชีววิทยา และดังนี้กำหนดให้เทคโนโลยีมีอำนาจเหนือต้นกำเนิดและชะตากรรมของบุคคลมนุษย์ อำนาจเช่นนี้โดยธรรมชาติของตนขัดกับศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันที่บิดามารดาและบุตรต้องมีอยู่ร่วมกัน”[128] “หากพิจารณาในด้านศีลธรรม การให้กำเนิดชีวิตเช่นนี้ขาดความสมบูรณ์ของตนเพราะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นผลจากเพศสัมพันธ์หรือของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสัมพันธ์ของคู่สมรส […] นอกจากนั้น ความเคารพต่อพันธะที่แทรกอยู่ในความหมายของการมีเพศสัมพันธ์และความเคารพต่อเอกภาพของผู้มีชีวิตที่เป็นมนุษย์เท่านั้นทำให้มีการให้กำเนิดที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์”[129]

 2378   บุตรไม่ใช่เป็นหนี้อะไรที่ต้องจ่าย แต่เป็นของประทาน “ของประทานประเสริฐสุดของการสมรส”ก็คือบุคคลมนุษย์ เราต้องไม่คิดว่าบุตรเป็นทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดที่ชวนให้อ้างถึง “สิทธิที่จะมีบุตร” ในเรื่องนี้ บุตรเท่านั้นมีสิทธิจริงๆ คือสิทธิ “ที่จะมีความเป็นอยู่ในฐานะผลที่มาจากกิจกรรมแสดงความรักแบบคู่สมรสของบิดามารดา และเขายังมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งนับตั้งแต่เวลาที่เขาปฏิสนธิ”[130]

 2379   พระวรสารแสดงให้เห็นว่าการเป็นหมันไม่มีบุตรไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างเด็ดขาด คู่สมรสที่แม้จะใช้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ถูกต้องทุกอย่างแล้วก็ยังไม่มีบุตร ควรจะร่วมใจกับไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของความอุดมสมบูรณ์ฝ่ายจิตทุกประการ เขาอาจแสดงความใจกว้างของตนโดยรับอุปถัมภ์บุตรที่ถูกทอดทิ้งและปฏิบัติหน้าที่ยากลำบากเพื่อให้บริการแก่ผู้อื่นก็ได้

 

[105] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 11: AAS 74 (1982) 92.         

[106] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 49: AAS 58 (1966) 1070.

[107] Pius XII, Allocutio iis quae interfuerunt Conventui Unionis Catholicae Italicae inter Ostetrices, (29 octobris 1951): AAS 43 (1951) 851. 

[108] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1067.

[109] Cf CIC canon 1056.        

[110] เทียบ มธ 19:1-12; 1 คร 7:10-11.

[111] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In epistulam ad Ephesios, homilia 20, 8: PG 62, 146-147.          

[112] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 30: AAS 74 (1982) 116.        

[113] Paulus VI, Litt. enc. Humanae vitae, 11: AAS 60 (1968) 488.  

[114] Paulus VI, Litt. enc. Humanae vitae, 12: AAS 60 (1968) 488; cf Pius XI, Litt. enc. Casti connubii: DS 3717.         

[115] เทียบ อฟ 3:14-15; มธ  23:9.

[116] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 50: AAS 58 (1966) 1071. 

[117] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 50: AAS 58 (1966) 1071.

[118] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 51: AAS 58 (1966) 1072. 

[119] Paulus VI, Litt. enc. Humanae vitae, 12: AAS 60 (1968) 489.  

[120] Cf Paulus VI, Litt. enc. Humanae vitae, 16: AAS 60 (1968) 491-492.           

[121] Paulus VI, Litt. enc. Humanae vitae, 14: AAS 60 (1968) 490.  

[122] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 32: AAS 74 (1982) 119-120.    

[123] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 51: AAS 58 (1966) 1073.

[124] Cf Paulus VI, Litt. enc. Populorum progressio, 37: AAS 59 (1967) 275-276; Id., Litt. enc. Humanae vitae, 23: AAS 60 (1968) 497-498.

[125] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 50: AAS 58 (1966) 1071.

[126] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, Introductio, 2: AAS 80 (1988) 73.            

[127] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 2, 1: AAS 80 (1988) 87.     

[128] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 2, 5: AAS 80 (1988) 93.    

[129] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 2, 4: AAS 80 (1988) 91.    

[130] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Donum vitae, 2, 8: AAS 80 (1988) 97.    

IV.  ความผิดต่อศักดิ์ศรีของการสมรส

IV.  ความผิดต่อศักดิ์ศรีของการสมรส

การเป็นชู้

 2380  การเป็นชู้ การมีชู้ คำนี้หมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ของคู่สมรส  เมื่อสองคน ที่อย่างน้อยคนหนึ่งแต่งงานแล้ว มีเพศสัมพันธ์กัน – แม้ไม่เป็นการถาวร - เขาย่อมเป็นชู้กัน  พระคริสตเจ้าทรงประณามการเป็นชู้ แม้แต่เพียงปรารถนาจะทำเท่านั้นด้วย[131] พระบัญญัติประการที่หกและพันธสัญญาใหม่ห้ามไม่ให้เป็นชู้กันโดยเด็ดขาด[132] บรรดาประกาศกยังกล่าวถึงความหนักของบาปประการนี้ด้วย ท่านเหล่านี้เห็นว่าการเป็นชู้เป็นภาพของการนับถือรูปเคารพ[133]

 2381   การเป็นชู้เป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง ผู้ทำบาปนี้ บกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ของตน เขาทำลายเครื่องหมายของพันธสัญญาซึ่งได้แก่พันธะของการสมรส เขาฝ่าฝืนสิทธิของคู่สมรสและทำร้ายสถาบันการสมรส ละเมิดคำสัญญาซึ่งเป็นพื้นฐานของสถาบันนี้ เขาทำให้ความดีของการให้กำเนิดชีวิตมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายรวมทั้งยังทำร้ายผลประโยชน์ของบุตรซึ่งต้องการความสัมพันธ์ถาวรของบิดามารดา


การหย่าร้าง

2382   พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเน้นย้ำถึงพระประสงค์ของพระผู้เนรมิตสร้างซึ่งทรงประสงค์ให้การสมรสยกเลิกไม่ได้[134] พระองค์ทรงยกเลิกการยกเว้นที่แทรกเข้ามาในพันธสัญญาเดิม[135]

              ระหว่างผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว “การสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและสมบูรณ์ด้วยเพศสัมพันธ์  (ratum et consummatum) แล้วไม่มีอำนาจมนุษย์และเหตุผลใดๆ นอกจากความตายอาจลบล้างได้”[136]

 2383  การแยกกันอยู่ของคู่สมรส โดยที่พันธะของการสมรสยังคงอยู่ ในบางกรณีที่กฎหมายพระศาสนจักรกำหนดไว้ อาจเป็นการกระทำที่ถูกต้องได้[137]

             ถ้าการหย่าขาดทางบ้านเมืองยังคงเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อปกป้องสิทธิที่ถูกต้อง การดูแลบุตรหรือป้องกันทรัพย์สินที่เป็นมรดก การนี้อาจเป็นที่ยอมรับได้โดยไม่มีความผิดทางศีลธรรม

 2384  การหย่าร้าง เป็นความผิดหนักขัดกับกฎธรรมชาติ การกระทำเช่นนี้เป็นการพยายามทำลายข้อตกลงที่จะร่วมชีวิตกันจนตายที่คู่สมรสได้ทำไว้โดยอิสระเสรี การหย่าร้างทำร้ายต่อพันธสัญญาแห่งความรอดพ้นที่มีศีลสมรสเป็นเครื่องหมาย การทำข้อตกลงความสัมพันธ์ใหม่ แม้จะเป็นที่ยอมรับโดยกฎหมายบ้านเมือง ยิ่งเพิ่มความหนักของความแตกแยกนี้ คู่สมรสที่ไปสมรสอีกย่อมอยู่ในสภาพของการเป็นชู้อย่างเปิดเผยและถาวร

               “ชายคนหนึ่งจะละทิ้งภรรยาไปแต่งงานกับหญิงอีกคนหนึ่งไม่ได้ และหญิงที่ถูกสามีทอดทิ้งก็จะไปแต่งงานเป็นภรรยาของชายอีกคนหนึ่งไม่ได้ด้วย”[138]

 2385   การหย่าร้างยังมีลักษณะไม่ดีของตนจากความสับสนที่ถูกนำเข้ามาในครอบครัวและสังคมอีกด้วย ความสับสนนี้นำหายนะยิ่งใหญ่มากับตนด้วย สำหรับคู่สมรสที่พบว่าตนถูกทอดทิ้ง สำหรับบุตรซึ่งได้รับบาดแผลลึกๆ จากการแยกกันของบิดามารดา และบ่อยๆ ยังเป็นสาเหตุของทะเลาะกันของบิดามารดาด้วย เพราะผลร้ายที่ตามมา การหย่าร้างจึงเป็นบาดแผลของสังคมโดยแท้จริง

 2386  อาจเป็นไปได้ที่คู่สมรสคนหนึ่งต้องรับเคราะห์โดยไม่มีความผิดจากการหย่าร้างที่ถูกประกาศโดยกฎหมายบ้านเมือง คู่สมรสคนนี้จึงไม่ได้ฝ่าฝืนกฎศีลธรรม เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความแตกต่างระหว่างคู่สมรสที่พยายามซื่อสัตย์ต่อศีลสมรสและพบว่าตนถูกทอดทิ้งอย่างอยุติธรรม กับผู้ที่เพราะความผิดหนักของฝ่ายตน ได้ทำลายศีลสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายพระศาสนจักร[139]


ความผิดอื่น ๆ ต่อศักดิ์ศรีของการสมรส

 2387  ต้องนับว่าเป็นสภาพการณ์ที่ยากลำบากสำหรับผู้ที่อยากเปลี่ยนใจมารับพระวรสารแล้วเห็นว่าตนจำเป็นต้องหย่าขาดจากหญิงคนหนึ่งหรือหลายคนที่เคยร่วมชีวิตสมรสด้วยกันอยู่เป็นเวลาหลายปี ถึงกระนั้น การมีภรรยาหลายคน (polygamy) ก็เข้ากันไม่ได้กับกฎศีลธรรม “การมีภรรยาหลายคนขัดอย่างสิ้นเชิงกับการร่วมชีวิตของคู่สมรส การนี้ปฏิเสธโดยตรงไม่ยอมรับแผนการของพระเจ้าตามที่ได้รับการเปิดเผยตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะขัดแย้งกับศักดิ์ศรีของบุคคลที่เท่าเทียมกันของชายและหญิง ที่แต่ละคนต่างมอบตนเองแก่กันด้วยความรักทั้งหมด และดังนี้ในตนเองจึงเป็นความรักที่ผูกขาดเพียงหนึ่งเดียว”[140] คริสตชนที่ก่อนนั้นเคยมีภรรยาหลายคนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามพันธต่างๆ เกี่ยวกับภรรยาที่เคยมีและกับบรรดาบุตรของตนด้วย

 2388  เพศสัมพันธ์ระหว่างญาติใกล้ชิด (incest) หมายถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติและผู้เกี่ยวดองภายในขอบเขตที่กฎหมายห้ามไว้ไม่ให้สมรสกัน[141] นักบุญเปาโลเคยตำหนิความผิดนี้ไว้อย่างรุนแรง “ข่าวร่ำลือกันมากว่ามีการผิดประเวณีชนิดที่ไม่เคยพบเห็น [...] กล่าวคือมีคนหนึ่งได้แม่เลี้ยงของตนมาเป็นภรรยา [...] ข้าพเจ้าตัดสินลงโทษผู้ที่ทำผิดนั้นแล้ว [...] ในพระนามของ
พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า […] จงมอบคนประเภทนี้ให้ซาตาน ให้เขามีชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทรมาน....” (1 คร 5:1,3-5) เพศสัมพันธ์ระหว่างญาติใกล้ชิดทำลายความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและเป็นเสมือนการกลับไปเป็นเหมือนกับสัตว์อีก

 2389  การที่ผู้ใหญ่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กและผู้เยาว์ที่อยู่ในความดูแลของตนอาจนับได้ว่าเป็นเหมือนกับเพศสัมพันธ์ระหว่างญาติใกล้ชิด การกระทำเช่นนี้มีความผิดหนักขึ้นเป็นสองเท่าจากความผิดที่เป็นการชักนำผู้อื่นให้ทำบาป (scandal) เป็นการทำร้ายจิตใจและจรรยาบรรณทางศีลธรรมของผู้เยาว์ที่จะมีบาดแผลด้านจิตใจเช่นนี้ติดตัวไปตลอดชีวิต นับว่าเป็นความผิดต่อความรับผิดชอบด้านการให้การอบรม

 2390  การร่วมชีวิตกันโดยเสรี (free union หรือ free sex) เกิดมีขึ้นได้เมื่อชายและหญิงปฏิเสธไม่ยอมรับและแสดงรูปแบบตามกฎหมายและเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเพศ

           สำนวนพูดที่ว่า “การร่วมชีวิตกันโดยเสรี” เป็นวิธีพูดไม่ถูกต้อง “การร่วมชีวิต” จะเสรีไม่มีพันธะต่อกันได้อย่างไร การที่บุคคลสองคนอยู่ด้วยกันโดยไม่ผูกมัดกันอาจมีความหมายว่าอย่างไร จะไม่แสดงการขาดความไว้วางใจต่อกัน ในตนเองและในอนาคตดอกหรือ?

           สำนวนพูดนี้กินความถึงสถานการณ์ต่างๆ เช่น การมีนางบำเรอ การไม่ยอมรับการสมรสเป็นสถาบัน การไม่สามารถผูกมัดตนเองได้เป็นเวลานาน[142] สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดขัดกับศักดิ์ศรีของการสมรส ทำลายความคิดเรื่องครอบครัวโดยตรง ทำให้ความหมายของความซื่อสัตย์เจือจางลง กิจกรรมเหล่านี้ยังขัดกับกฎศีลธรรม กิจกรรมทางเพศต้องมีอยู่ภายในการสมรสเท่านั้น ถ้าอยู่นอกขอบเขตการสมรส กิจกรรมนี้ย่อมเป็นบาปหนักเสมอและกีดกันไม่ให้เรามีส่วนร่วมรับศีลศักดิ์สิทธิ์ได้

 2391   ทุกวันนี้หลายคนยังเรียกร้อง “สิทธิที่จะทดลอง” แต่งงาน โดยมีความตั้งใจที่จะสมรสกัน ไม่ว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาเช่นนี้จะมีความตั้งใจมั่นคงเพียงไร “ความสัมพันธ์เช่นนี้ก็ไม่อนุญาตให้ความจริงใจและความซื่อสัตย์ของความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างบุคคลชายและหญิงตั้งอยู่อย่างปลอดภัย และโดยเฉพาะความสัมพันธ์นี้ยังไม่ได้รับการปกป้องให้พ้นจากความไม่แน่นอนของตัณหาและการทำตามใจได้”[143] การมีเพศสัมพันธ์จะถูกต้องทางศีลธรรมได้ก็เมื่อได้เกิดมีการร่วมชีวิตอย่างถาวรระหว่างชายและหญิงแล้วเท่านั้น ความรักแบบมนุษย์ไม่ยอมให้มี “การทดลอง” ความรักเช่นนี้แต่เรียกร้องให้มีการมอบตนของบุคคลระหว่างกันทั้งหมดและตลอดไป[144]

 

[131] เทียบ มธ 5:27-28.          

[132] เทียบ มธ 5:32; 19:6; มก 10:11-12; 1 คร 6:9-10.

[133] เทียบ ฮชย 2:7; ยรม 5:7; 13:27.             

[134] เทียบ มธ 5:31-32; 19:3-9; มก 10:9; ลก 16:18; 1 คร 7:10-11.   

[135] เทียบ มธ 19:7-9.           

[136] CIC canon 1141.           

[137] Cf CIC canones 1151-1155.  

[138] Sanctus Basilius Magnus, Moralia, regula 73: PG 31, 852.      

[139] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 84: AAS 74 (1982) 185.    

[140] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 19: AAS 74 (1982) 102; cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 47: AAS 58 (1966) 1067.           

[141] เทียบ ลนต 18:7-20.         

[142] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 81: AAS 74 (1982) 181-182. 

[143] Sacra Congregatio pro Doctrina Fidei, Decl. Persona humana, 7: AAS 68 (1976) 82.

[144] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 80: AAS 74 (1982) 180-181. 

สรุป

สรุป

2392   “ความรักเป็นกระแสเรียกพื้นฐานและตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน”[145]

2393   เมื่อพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง พระองค์ประทานให้ทั้งสองคนมีศักดิ์ศรีเป็นบุคคลเท่าเทียมกัน แต่ละคนทั้งชายและหญิงจึงต้องรู้จักและยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของตน

2394   พระคริสตเจ้าทรงเป็นแบบฉบับของความบริสุทธิ์ ทุกคนที่รับศีลล้างบาปแล้วได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตบริสุทธิ์ แต่ละคนตามสถานภาพชีวิตของตน

2395   ความบริสุทธิ์หมายถึงความสมบูรณ์ของเพศสภาพในบุคคล ซึ่งหมายถึงการฝึกบังคับตนเองด้วย

2396   ในบรรดาบาปหนักที่ขัดกับความบริสุทธิ์ บาปที่ต้องกล่าวถึงได้แก่การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง การผิดประเวณี สื่อลามก และเพศสัมพันธ์การรักร่วมเพศ

2397   พันธสัญญาที่คู่สมรสทำไว้ด้วยกันโดยอิสระหมายถึงความรักที่ซื่อสัตย์ พันธสัญญานี้นำข้อบังคับมาให้เขาทั้งสองคนต้องรักษาการสมรสของตนไว้ไม่ให้ถูกลบล้างได้

2398   การมีบุตรเป็นผลดี  เป็นของประทาน  และเป็นจุดประสงค์ประการหนึ่งของการสมรส  เมื่อคู่สมรสมอบชีวิตแก่กัน เขาก็มีส่วนมีความเป็นบิดาเหมือนพระเจ้า

2399   การควบคุมการให้กำเนิดบุตรเป็นรูปแบบหนึ่งของการเป็นบิดามารดาด้วยความรับผิดชอบ การที่คู่สมรสมีเจตนาถูกต้องไม่ทำให้การใช้วิธีการคุมกำเนิดซึ่งยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม (เช่นการทำหมันโดยตรงหรือใช้เครื่องมือคุมกำเนิด)เป็นการถูกต้องไปได้

2400   การล่วงประเวณีและการหย่าร้าง การมีภรรยาหลายคนและการอยู่ด้วยกันอย่างอิสระโดยไม่แต่งงานเป็นความผิดหนักต่อศักดิ์ศรีของการสมรส

 

[145] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Familiaris consortio, 11: AAS 74 (1982) 92.