ตอนที่ 9

ข้าพเจ้าเชื่อพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล

 748      “เพราะพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ สภาสังคายนาสากลครั้งนี้ที่พระจิตเจ้าทรงเรียกมาชุมนุมกันจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้แสงเจิดจ้าของพระองค์ ซึ่งฉายอยู่บนใบหน้าของพระศาสนจักร ได้ส่องสว่างมนุษย์ทุกคนโดยประกาศข่าวดีแก่มวลมนุษย์”[120] ถ้อยคำเหล่านี้เริ่มต้น “ธรรมนูญสัจธรรมเรื่องพระศาสนจักร” ของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ดังนั้น  สภาสังคายนาจึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อความเชื่อเรื่องพระศาสนจักรนั้นขึ้นอยู่กับข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่มีแสงสว่างอื่นใดนอกจากแสงสว่างของพระคริสตเจ้า  ซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างของดวงจันทร์ที่สะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ ตามภาพเปรียบเทียบที่บรรดาปิตาจารย์ชอบใช้

 749      ข้อความเรื่องพระศาสนจักรยังขึ้นอยู่ทั้งหมดจากข้อความเรื่องพระจิตเจ้าซึ่งอยู่ก่อนหน้านั้น “ในเมื่อได้พิสูจน์แล้วว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดและพระผู้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่าง บัดนี้เราจึงประกาศว่าพระศาสนจักรได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระจิตเจ้าด้วย”[121] ตามสำนวนที่บรรดาปิตาจารย์ชอบใช้ พระศาสนจักรจึงเป็นสถานที่ “ที่พระจิตเจ้าทรงแสดงผลงาน”[122]

 750     การเชื่อว่าพระศาสนจักร “ศักดิ์สิทธิ์” และ “สากล” ทั้งยังเป็นพระศาสนจักร “หนึ่งเดียว” และ “สืบเนื่องจากอัครสาวก” (ดังที่สูตรประกาศความเชื่อของสภาสังคายนาแห่งนีเชอา-คอนสแตนติโนเปิลเสริมไว้) นั้นแยกไม่ได้จากความเชื่อในพระเจ้าพระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้า ในสูตรประกาศความเชื่อของบรรดาอัครสาวกเราเชื่อพระศาสนจักร (“Credo […] Ecclesiam”) ไม่ใช่เชื่อ ใน พระศาสนจักร เพื่อเราจะได้ไม่นำพระเจ้ามาปนกับพระราชกิจของพระองค์ และเพื่อเราจะกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าของประทานทุกอย่างที่พระองค์ทรงจัดไว้ในพระศาสนจักรล้วนมาจากความดีของพระเจ้าอย่างชัดเจน[123]

 

[120] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 1: AAS 57 (1965) 5.     

[121] Catechismus Romanus, 1, 10,1: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 104.        

[122] Sanctus Hippolytus Romanus, Traditio apostolica, 35: ed. B. Botte (Muenster i. W. 1989) p. 82.    

[123] Catechismus Romanus, 1, 10,22: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 118.      

วรรค 1

พระศาสนจักรในแผนการของพระเจ้า

I. ชื่อและภาพของพระศาสนจักร

I.  ชื่อและภาพของพระศาสนจักร

 751      คำ “พระศาสนจักร” ที่เราคาทอลิกชาวไทยใช้นี้หมายถึงคำภาษาละตินว่า “Ecclesia” [ซึ่งตรงกับคำภาษากรีกว่า ekklesia จากกริยา ek-kalein ซึ่งแปลว่า “เรียกมาจาก”] จึงหมายถึง “การถูกเรียก)มาชุมนุมกัน” หรือ “ที่ประชุม(ตามที่กฎหมายกำหนด)”[124]ซึ่งมักจะหมายถึงการชุมนุมที่มีลักษณะทางศาสนา  คำนี้ใช้บ่อยๆ ในพันธสัญญาเดิมเพื่อหมายถึงการที่ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร (คือ อิสราเอล) มาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า โดยเฉพาะการชุมนุมกันที่ภูเขาซีนายที่อิสราเอลได้รับธรรมบัญญัติจากพระเจ้าและได้รับการสถาปนาเป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์[125] ชุมชนแรกของบรรดาผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าก็เรียกตนเองว่า “พระศาสนจักร” (ecclesia หรือ “church” ในภาษาอังกฤษ) และเชื่อว่าตนเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากชุมชนประชากรอิสราเอลที่ภูเขาซีนายนี้เอง ในชุมชนนี้พระเจ้าทรง “เรียกประชุม” ประชากรของพระองค์มาจากเขตแดนต่างๆ ของโลก คำภาษากรีก “Kyriake” ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า ‘church’ ในภาษาอังกฤษ หรือคำ ‘Kirche’ ในภาษาเยอรมัน ก็แปลว่า “ที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

 752     ในภาษาของคริสตชน คำว่า “Ecclesia” หมายถึงชุมชนที่ประกอบพิธีกรรม[126] แต่ก็ยังหมายถึง “ชุมชนท้องถิ่น”[127] และ “ชุมชนผู้มีความเชื่อทั่วโลก” ด้วย[128] ความหมายทั้งสามนี้ในความเป็นจริงแล้วแยกกันไม่ได้ “พระศาสนจักร” (หรือ “Ecclesia”) เป็นประชากรที่พระเจ้าทรงรวบรวมมาจากทั่วโลก  พระศาสนจักรมีความเป็นอยู่อย่างแท้จริงในชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ และในฐานะชุมชนซึ่งประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรมีชีวิตจากพระวาจาและพระกายของพระคริสตเจ้า และดังนี้พระศาสนจักรจึงเป็น “พระวรกาย” ของพระคริสตเจ้าด้วย


สัญลักษณ์ของพระศาสนจักร

 753     ในพระคัมภีร์เราพบรูปแบบและภาพจำนวนมากที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งพระเจ้าทรงใช้เพื่อตรัสเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกนี้ที่เราไม่มีวันจะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์เลย รูปแบบต่างๆ เหล่านี้จากพันธสัญญาเดิมสะท้อนความคิดเดียวกันที่ซ่อนอยู่ภายใต้ คือความคิดเรื่อง “ประชากรของพระเจ้า” ในพันธสัญญาใหม่[129] รูปแบบเหล่านี้พบศูนย์กลางใหม่ในความจริงที่ว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น “ศีรษะ” ของประชากรนี้[130] ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ โดยรอบศูนย์กลางนี้ยังมีภาพต่างๆ เข้ามารวมกันอยู่ด้วย “ทั้งภาพที่รับมาจากชีวิตคนเลี้ยงสัตว์หรือจากการกสิกรรม รวมทั้งจากการก่อสร้าง จากครอบครัวและการแต่งงาน”[131]

 754     “พระศาสนจักรเป็น คอกแกะ ที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประตูที่จำเป็นเพียงประตูเดียว[132] พระศาสนจักรยังเป็น ฝูงแกะ ที่พระเจ้าเองทรงประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทรงเป็น “ผู้เลี้ยง”[133] และแกะฝูงนี้ แม้จะมีผู้เลี้ยงที่เป็นมนุษย์ปกครองดูแล แต่ก็ยังถูกนำและเลี้ยงดูจากพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีและเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้เลี้ยง[134] และทรงสละชีวิตของตนเพื่อบรรดาแกะ[135][136]

 755     “พระศาสนจักรเป็น พื้นที่การกสิกรรม หรือ ทุ่งนาของพระเจ้า[137] ในทุ่งนานี้มีต้นมะกอกเทศโบราณต้นหนึ่งขึ้นอยู่ รากของมันคือบรรดาบรรพบุรุษ ในต้นไม้ต้นนี้ได้มีและจะมีการคืนดีกันระหว่างชนชาติยิวกับชนต่างชาติ[138] พระเจ้าผู้ทรงเป็นเหมือนกสิกรจากสวรรค์ทรงปลูกพระศาสนจักรไว้เป็นเสมือนสวนองุ่นงดงาม[139] พระคริสตเจ้าทรงเป็นเถาองุ่นแท้จริง พระองค์ประทานชีวิตและความอุดมสมบูรณ์แก่บรรดาเถาองุ่น ซึ่งได้แก่เราทุกคนที่คงอยู่ในพระองค์โดยทางพระศาสนจักร และถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เราก็ไม่อาจทำอะไรได้เลย[140][141]

 756     “หลายครั้งพระศาสนจักรยังได้ชื่อว่าเป็น สิ่งก่อสร้าง ของพระเจ้า[142] องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงเปรียบพระองค์กับก้อนหินที่บรรดาช่างก่อสร้างได้โยนทิ้งไป แต่ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม (มธ 21:42 และข้อความที่ตรงกัน;  กจ 4:11;  1 ปต 2:7; สดด 118:22) บรรดาอัครสาวกได้สร้างพระศาสนจักรบนรากฐานนี้[143] พระศาสนจักรจึงรับความมั่นคงและเอกภาพจากรากฐานนี้ด้วย สิ่งก่อสร้างนี้ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น “บ้านของพระเจ้า”[144]ที่ครอบครัวของพระองค์พำนักอยู่ “ที่พำนักของพระเจ้า”ในพระจิตเจ้า[145] “กระโจมที่ประทับ” ของพระเจ้ากับมนุษย์[146] และโดยเฉพาะ พระวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาปิตาจารย์ยกย่องว่าสะท้อนให้เห็นในโบสถ์ต่างๆ ที่สร้างด้วยศิลา และในพิธีกรรมยังเปรียบได้กับนครศักดิ์สิทธิ์ กรุงเยรูซาเล็มใหม่อีกด้วย และเราก็เป็นเสมือนศิลามีชีวิตที่สร้างขึ้นเป็นวิหารนี้ในโลก[147] ยอห์นเพ่งดูนครศักดิ์สิทธิ์นี้กำลังลงมาจากพระเจ้าบนสวรรค์ในโลกใหม่ “เตรียมพร้อมเหมือนกับเจ้าสาวที่แต่งตัวรอเจ้าบ่าว” (วว 21:1-2)”[148]

 757     “พระศาสนจักรยังได้ชื่อว่าเป็น “นครเยรูซาเล็มที่อยู่เบื้องบน” และ “มารดาของเรา” (กท 4:26)[149] พระศาสนจักรได้ชื่อว่าเป็นเสมือน เจ้าสาวไร้มลทินของ “ลูกแกะไร้มลทิน”[150] ซึ่งพระคริสตเจ้า “ทรงรักและทรงพลีพระองค์เพื่อพระศาสนจักร ทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 5:25-26) ทรงทำพันธสัญญาที่ไม่มีวันเสื่อมสลายไว้กับพระองค์และ “ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดู” อย่างดียิ่งไม่หยุดหย่อน (อฟ 5:29)”[151]

 

[124] เทียบ กจ 19:39.            

[125] เทียบ อพย บทที่ 19.

[126] เทียบ 1 คร 11:18; 14:19,28,34-35.            

[127] เทียบ 1 คร 1:2; 16:1.        

[128] เทียบ 1 คร 15:9; กท 1:13; ฟป 3:6.           

[129] เทียบ อฟ 1:22; คส 1:18.    

[130] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13. 

[131] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 8.     

[132] เทียบ ยน 10:1-10.          

[133] เทียบ อสย 40:11; อสค 34:11-31.             

[134] เทียบ ยน 10:11; 1 ปต 5:4.  

[135] เทียบ ยน 10:11-15.         

[136] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 8.     

[137] เทียบ 1 คร 3:9.             

[138] เทียบ รม 11:13-26.         

[139] เทียบ มธ 21:33-43 และข้อความที่ตรงกัน; อสย 5:1-7.            

[140] เทียบ 15:1-5.

[141] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 8.     

[142] เทียบ 1 คร 3:9.            

[143] เทียบ 1 คร 3:11.            

[144] เทียบ 1 ทธ 3:15.           

[145] เทียบ อฟ 2:19-22.         

[146] เทียบ วว 21:3.             

[147] เทียบ 1 ปต 2:5.            

[148] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 8-9.   

[149] เทียบ วว 12:17.             

[150] เทียบ วว 19:7; 21:2,9; 22:17.

[151] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 9.     

II. บ่อเกิด รากฐาน และพันธกิจของพระศาสนจักร

II.  บ่อเกิด รากฐาน และพันธกิจของพระศาสนจักร

 758     เพื่อพิจารณาถึงพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระศาสนจักร ก่อนอื่นหมด เราต้องพิจารณาถึงบ่อเกิดของพระศาสนจักรในพระดำริของพระตรีเอกภาพ แล้วจึงพิจารณาถึงการที่พระศาสนจักรค่อยๆ แสดงตนในประวัติศาสตร์


พระดำริที่เกิดขึ้นในพระทัยของพระบิดา

 759     “พระบิดานิรันดรทรงเนรมิตสร้างสากลโลกด้วยพระดำริทรงปรีชาและด้วยความดีที่อิสระและลึกลับของพระองค์ ทั้งยังทรงกำหนดจะยกย่องมนุษย์ให้มีส่วนในชีวิตพระเจ้ากับพระองค์ด้วย” พระองค์ทรงเรียกมนุษย์ทุกคนให้มารับชีวิตนี้ “พระองค์ทรงกำหนดว่าจะทรงเรียกผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าทุกคนเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” “ครอบครัวของพระเจ้า”นี้ถูกกำหนดไว้และค่อยๆ เป็นจริงขึ้นทีละเล็กละน้อยตามลำดับในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตามแผนการของพระบิดา แท้จริงแล้ว พระศาสนจักร “ที่ถูกวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่เริ่มมีโลก ถูกจัดเตรียมไว้อย่างน่าพิศวงในประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอลและในพันธสัญญาเดิม ถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงเวลาสุดท้าย ปรากฏชัดเมื่อทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงมา และจะสำเร็จบริบูรณ์อย่างรุ่งโรจน์เมื่อสิ้นพิภพ”[152]


พระศาสนจักร
ถูกวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่เริ่มมีโลก

 760     บรรดาคริสตชนในสมัยแรกมักกล่าวว่า “โลกนี้ได้รับการเนรมิตสร้างขึ้นเพื่อพระศาสนจักรนี้เอง”[153] พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกโดยทรงเล็งถึงการให้มนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมชีวิตพระเจ้าของพระองค์ การมีส่วนร่วมชีวิต(พระเจ้า)นี้เกิดขึ้นได้โดย “การเรียกมนุษย์เข้ามารวมกัน” ในพระคริสตเจ้า และ “การเรียกเข้ามารวมกัน” นี้ก็คือ “พระศาสนจักร” (Ecclesia) พระศาสนจักรเป็นจุดหมายของทุกสิ่ง[154] และเหตุการณ์ที่น่าเศร้าทั้งหลายที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้เกิดขึ้น เช่นการตกในบาปของบรรดาทูตสวรรค์และบาปของมนุษย์ ก็เป็นเพียงโอกาสและวิธีการเพื่อทรงสำแดงพระอานุภาพทั้งหมดแห่งพระพาหาของพระองค์ เป็นมาตรการแสดงความรักทั้งหมดที่ทรงประสงค์จะประทานให้แก่โลก

               “พระประสงค์ของพระองค์เป็นผลงานที่เรียกว่า “โลก” ฉันใด พระประสงค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นก็เรียกว่า “พระศาสนจักร” ฉันนั้น”[155]


พระศาสนจักร
ถูกเตรียมไว้ในพันธสัญญาเดิม

 761     การรวบรวมประชากรของพระเจ้าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อบาปทำลายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้ว การรวบรวมพระศาสนจักรเป็นเหมือนปฏิกิริยาของพระเจ้าต่อความสับสนที่บาปก่อให้เกิดขึ้น การรวบรวมเข้าด้วยกันอีกนี้เกิดขึ้นอย่างลึกลับภายในใจของประชาชนทุกชาติ “ทุกคนที่ยำเกรง[พระเจ้า]และปฏิบัติความชอบธรรม ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด ย่อมเป็นที่พอพระทัยของพระองค์” (กจ 10:35)[156]

 762     การเตรียมล่วงหน้าแต่ไกลที่จะรวบรวมประชากรของพระเจ้าเริ่มต้นพร้อมกับการเรียก อับราฮัม ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะให้เป็นบิดาของประชากรชาติใหญ่[157] การเตรียมอย่างใกล้ชิดเริ่มขึ้นเมื่อพระเจ้าทรงเลือกอิสราเอลให้เป็นประชากรของพระเจ้า[158] อาศัยการเลือกสรรนี้ อิสราเอลต้องเป็นเครื่องหมายของการรวบรวมชนทุกชาติในอนาคต[159] แต่บรรดาประกาศกก็กล่าวโทษอิสราเอลแล้วที่ได้ทำลายพันธสัญญาและทำตนเป็นเสมือนหญิงแพศยา[160] และท่านเหล่านี้ยังประกาศถึงพันธสัญญาใหม่นิรันดร[161] “พันธสัญญาใหม่นี้พระคริสตเจ้าได้ทรงสถาปนาขึ้น”[162]

 

พระศาสนจักรพระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น

 763     เป็นหน้าที่ของพระบุตรที่จะทำให้แผนการความรอดพ้นของพระบิดาสำเร็จเป็นจริงเมื่อถึงเวลากำหนด นี่เป็นเหตุผลแห่ง “พันธกิจ” ของพระองค์[163] “พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเริ่มพระศาสนจักรของพระองค์โดยทรงประกาศข่าวดีซึ่งหมายความว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าที่ทรงสัญญาไว้ในพระคัมภีร์ตั้งแต่โบราณกาลนั้นได้มาถึงแล้ว”[164] เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา พระคริสตเจ้าทรงเริ่มพระอาณาจักรสวรรค์ในโลกนี้ พระศาสนจักรเป็น “พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าที่เป็นปัจจุบันแล้วในพระธรรมล้ำลึก”[165]

 764     “พระอาณาจักรนี้ปรากฏแจ้งแก่มวลมนุษย์ในพระวาจา พระราชกิจและการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า”[166] การรับพระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็น “การรับพระอาณาจักร” นี้ด้วย[167] เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มของพระอาณาจักรนี้คือ “ฝูงแกะน้อยๆ” (ลก 12:32) ของคนเหล่านั้นที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาเรียกให้มารวมอยู่โดยรอบพระองค์ และทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” ของเขา[168] เขาเหล่านี้รวมเป็นครอบครัวแท้จริงของพระเยซูเจ้า[169] ผู้ที่ทรงเรียกให้มาอยู่กับพระองค์นั้น พระองค์ทรงสอน  “วิธีปฏิบัติแบบใหม่” และคำอธิษฐานภาวนาเฉพาะให้เขาด้วย[170]

 765     พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดให้ชุมชนของพระองค์มีโครงสร้างซึ่งจะคงอยู่จนถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของพระอาณาจักร โดยเฉพาะมีการเลือกสาวกสิบสองคนพร้อมกับเปโตรในฐานะผู้นำของเขา[171] สาวกสิบสองคนเป็นตัวแทนของสิบสองเผ่าของอิสราเอล[172] เป็นศิลารากฐานของนครเยรูซาเล็มใหม่[173] สาวกทั้งสิบสองคน[174] และศิษย์อื่นๆ[175] มีส่วนร่วมพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระอานุภาพของพระองค์ และชะตากรรมของพระองค์ด้วย[176] โดยกิจการเหล่านี้ทั้งหมด พระคริสตเจ้าทรงเตรียมและก่อสร้างพระศาสนจักรของพระองค์

 766     แต่ก่อนอื่นหมด พระศาสนจักรเกิดจากการที่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์ทั้งหมดเพื่อความรอดพ้นของเรา พระองค์ทรงแสดงล่วงหน้าให้เห็นการมอบนี้แล้วในการทรงตั้งศีลมหาสนิท และทรงทำให้การมอบพระองค์นี้สำเร็จเป็นจริงบนไม้กางเขน “พระโลหิตและน้ำที่ไหลออกมาจากด้านข้างพระวรกายของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์หมายถึงจุดเริ่มต้นและการเจริญเติบโต(ของพระศาสนจักร)”[177] “เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์น่าพิศวงของพระศาสนจักรทั้งหมดเกิดจากด้านข้างพระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน”[178] นางเอวาถูกสร้างขึ้นจากสีข้างของอาดัมฉันใด พระศาสนจักรก็เกิดมาจากพระหทัยที่ถูกแทงของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน”[179]

 

พระศาสนจักรได้รับการเปิดเผยโดยพระจิตเจ้า

 767     “เมื่องานที่พระบิดาทรงมอบหมายให้พระบุตรทรงปฏิบัติในโลกนี้สำเร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงส่งพระจิตเจ้าลงมาในวันเปนเตกอสเตเพื่อทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป”[180] ตั้งแต่เวลานั้น “พระศาสนจักรจึงแสดงตนอย่างเปิดเผยต่อประชาชน และการประกาศข่าวดีโดยการเทศน์สอนในหมู่นานาชาติจึงได้เริ่มขึ้น”[181] เพราะพระศาสนจักรโดยธรรมชาติเป็น “การเรียกมวลมนุษย์มารวมกัน” เพื่อรับความรอดพ้น จึงถูกพระคริสตเจ้าทรงส่งไปพบชนทุกชาติเพื่อนำมนุษย์จากชนชาติเหล่านั้นมาเป็นศิษย์ของพระองค์[182]

 768     พระจิตเจ้า “ประทานพรที่มีระเบียบตามฐานันดรและพระพรพิเศษหลายหลากเพื่ออบรมสั่งสอนและนำพระศาสนจักร”[183] เพื่อให้พระศาสนจักรปฏิบัติพันธกิจของตนได้ “ดังนั้น พระศาสนจักรซึ่งได้รับพระพรจากพระ(คริสตเจ้า)ผู้ก่อตั้ง และปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ตามบทบัญญัติความรัก ความถ่อมตน และอุทิศตน จึงรับพันธกิจที่จะประกาศพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าและของพระเจ้า และสถาปนาพระอาณาจักรนี้ขึ้นในชนทุกชาติ ทำให้เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มต้นของพระอาณาจักรนี้เกิดขึ้นในโลก”[184]

พระศาสนจักรสำเร็จบริบูรณ์ในพระสิริรุ่งโรจน์

 769     “พระศาสนจักรจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์เท่านั้น”[185] เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ จนกว่าจะถึงวันนั้น  “พระศาสนจักรยังต้องดำเนินอยู่ในโลกนี้ท่ามกลางการเบียดเบียนจากโลกและได้รับการบรรเทาใจจากพระเจ้า”[186] พระศาสนจักรรู้ดีว่าในโลกนี้ตนอยู่ในถิ่นเนรเทศ กำลังเดินทางอยู่ห่างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า[187]และกำลังปรารถนาให้พระอาณาจักรนี้มาถึงอย่างสมบูรณ์ ปรารถนาถึงเวลานั้นเมื่อตน “จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระมหากษัตริย์ของตนในพระสิริรุ่งโรจน์”[188] ความสำเร็จบริบูรณ์ของพระศาสนจักรและความสำเร็จบริบูรณ์ของโลกอาศัยพระศาสนจักรนี้จะเกิดขึ้นในสิริรุ่งโรจน์ไม่ได้ถ้าไม่มีการทดลองยิ่งใหญ่ก่อนหน้านั้น ในเวลานั้นเท่านั้น “บรรดาผู้ชอบธรรมทุกคนนับตั้งแต่อาดัม ตั้งแต่อาแบลผู้ชอบธรรมจนถึงผู้รับเลือกสรรคนสุดท้าย จะมารวมกันในพระศาสนจักรสากลเฉพาะพระพักตร์พระบิดาเจ้า”[189]

 

[152] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 2: AAS 57 (1965) 5-6.   

[153] Hermas, Pastor 8, 1 (Visio 2,4,1): SC 53, 96; cf Aristides, Apologia 16, 7: BP 11, 125; Sanctus Iustinus, Apologia 2, 7: CA 1, 216-218 (PG 6, 456).    

[154] Cf. Sanctus Epiphanius, Panarion, 1, 1, 5, Haeresis 2, 4: GCS 25, 174 (PG 41,181).

[155] Clemens Alexandrinus, Paedagogus 1, 6, 27: GCS 12, 106 (PG 8, 281).          

[156] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 12; Ibid., 13: AAS 57 (1965) 17-18; Ibid., 16: AAS 57(1965) 20.

[157] เทียบ ปฐก 12:2; 15:5-6.    

[158] เทียบ อพย 19:5-6; ฉธบ 7:6. 

[159] เทียบ อสย 2:2-5; มคา 4:1-4 

[160] เทียบ ฮชย บทที่ 1;  อสย 1:2-4; ยรม บทที่ 2; ฯลฯ

[161] เทียบ ยรม 31:31-34; อสย 55:3.

[162] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13.    

[163] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6; Id., Decr. Ad gentes, 3: AAS 58 (1966) 949.       

[164] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 7.     

[165] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.     

[166] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 7.     

[167] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 7.  

[168] เทียบ มธ 10:16; 26:31; ยน 10:1-21.          

[169] เทียบ มธ 12:49.            

[170] เทียบ มธ บทที่ 5-6.         

[171] เทียบ มก 3:14-15.

[172] เทียบ มธ 19:28; ลก 22:30. 

[173] เทียบ วว 21:12-14.          

[174] เทียบ มก 6:7.              

[175] เทียบ ลก 10:1-2.           

[176] เทียบ มธ 10:25; ยน 15:20.  

[177] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.      

[178] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 5: AAS 56 (1964) 99.  

[179]  Cf. Sanctus Ambrosius, Expositio evangelii secundum Lucam, 2, 85-89: CCL 14, 69-72 (PL 15, 1666-1668).        

[180] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 4: AAS 57 (1965) 6.     

[181] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes,  4: AAS 58 (1966) 950.             

[182] เทียบ มธ 28:19-20; Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 2: AAS 58 (1966) 948; Ibid., 5-6: AAS (1966) 951-955.

[183] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 4: AAS 57 (1965) 7.     

[184] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 8.     

[185] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.  

[186] Sanctus Augustinus, De civitate Dei 18, 51: CSEL 40/2, 354 (PL 41, 614) ; cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12.            

[187] เทียบ 2 คร 5:6; Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 6: AAS 57 (1965) 9.      

[188] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 8. 

[189] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 2: AAS 57 (1965) 6.     

III. พระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร

III.  พระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร

 770 พระศาสนจักรอยู่ในประวัติศาสตร์ และในขณะเดียวกันก็อยู่เหนือประวัติศาสตร์ด้วย “ความคิดที่ได้รับความสว่างจากความเชื่อเท่านั้น”[190]อาจมองเห็นความเป็นจริงด้านจิตใจของพระศาสนจักรผู้นำชีวิตพระเจ้ามาให้เราได้ในความเป็นจริงที่แลเห็นได้ของพระศาสนจักร

 

พระศาสนจักรแลเห็นได้และเป็นจิตในเวลาเดียวกัน

771  “พระคริสตเจ้า คนกลางหนึ่งเดียว(ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์)ทรงสถาปนาพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เป็นชุมชนแห่งความเชื่อ ความหวังและความรักขึ้นในโลกให้เป็นองค์กรที่แลเห็นได้ และทรงปกป้องไว้ตลอดเวลา เพื่อจะได้ถ่ายทอดความจริงและพระหรรษทานถึง    ทุกคน” ในเวลาเดียวกันพระศาสนจักรเป็นทั้ง

           - “สังคมที่มีโครงสร้างตามฐานันดรศักดิ์สิทธิ์ และเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า”

           - “กลุ่มชนที่ทุกคนมองเห็นได้และเป็นชุมชนด้านจิตใจ”

           - “พระศาสนจักรที่มีคุณสมบัติทั้งทางโลกและจากสวรรค์”

               มิติเหล่านี้ในเวลาเดียวกัน “ก่อให้เกิดความเป็นจริงหนึ่งเดียวที่ซับซ้อนรวมไว้ทั้งองค์ประกอบแบบมนุษย์และที่มาจากพระเจ้า”[191]

             “ลักษณะเฉพาะของพระศาสนจักรคือการมีทั้งส่วนที่เป็นของมนุษย์และส่วนที่เป็นของพระเจ้า มีลักษณะที่ทุกคนแลเห็นได้และแลเห็นไม่ได้ มีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติงานและรักที่จะสงบจิตใจคิดคำนึง ดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันแต่ก็สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนไม่เป็นของโลกนี้ และดังนี้สิ่งที่เกี่ยวกับมนุษย์ในพระศาสนจักรจึงถูกจัดไว้อยู่ในอันดับรองสำหรับสิ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้า สิ่งที่มนุษย์แลเห็นได้ถูกจัดไว้ในอันดับรองสำหรับสิ่งที่มนุษย์แลเห็นไม่ได้ สิ่งที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานถูกจัดไว้ในอันดับรองสำหรับสิ่งที่เกี่ยวกับการคิดพิจารณาทางจิตใจ และสิ่งที่เป็นปัจจุบันก็ถูกจัดไว้ในอันดับรองสำหรับนครในอนาคตที่เรากำลังแสวงหา”[192]

              “(พระศาสนจักร)ช่างเป็นความต่ำต้อย ช่างเป็นความยิ่งใหญ่จริงๆ เป็นทั้งกระโจมยากจนของชนเคดาร์ และเป็นทั้งสักการสถานของพระเจ้า เป็นทั้งกระโจมบนแผ่นดิน และเป็นพระราชวังในสวรรค์ เป็นบ้านสร้างด้วยดินและเป็นท้องพระโรงของพระมหากษัตริย์ เป็นทั้งร่างกายที่ตายได้และเป็นพระวิหารแห่งแสงสว่าง และในที่สุดเป็นสิ่งน่าเหยียดหยามสำหรับคนจองหอง แต่ก็เป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย  ดิฉันผิวคล้ำ แต่สวยงาม แม้ว่าความยากลำบากและความทุกข์ของการเนรเทศยาวนานทำให้(พระศาสนจักร)เปื้อนหมอง แต่ความงดงามจากสวรรค์ก็นำความงดงามมาให้”[193]


พระศาสนจักร
พระธรรมล้ำลึกแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า

 772     ในพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงทำให้พระธรรมล้ำลึกของพระองค์ซึ่งเป็นจุดหมายแผนการของพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์และทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกนี้ “ทรงนำทุกสิ่งเข้ามารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระคริสตเจ้า” (อฟ 1:10) นักบุญเปาโลเรียกความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักรนี้ว่าเป็น “พระธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่” (อฟ 5:32) เพราะพระศาสนจักรรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าประหนึ่งเป็นสามีของตน[194] ก็กลับเป็น
พระธรรมล้ำลึกเสียเอง[195] เมื่อนักบุญเปาโลคำนึงถึงพระธรรมล้ำลึกนี้ในพระศาสนจักร ท่านถึงกับร้องตะโกนว่า “การที่พระคริสตเจ้าทรงดำรงอยู่ในท่านเป็นความหวังเพื่อให้ท่านได้รับความรุ่งเรือง” (คส 1:27)

 773     ในพระศาสนจักร ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าอาศัยความรักซึ่ง “ไม่มีสิ้นสุด”(1 คร 13:8) เป็นจุดหมายที่ควบคุมทุกสิ่งซึ่งเป็นวิธีการทางศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรและเกี่ยวข้องกับโลกนี้ซึ่งกำลังผ่านพ้นไป[196] “โครงสร้างทั้งหมดของพระศาสนจักรมีจุดมุ่งหมายเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาคริสตชนที่เป็นเสมือนส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้า ยิ่งกว่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวยังวัดได้ตาม “พระธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่” ซึ่งสะท้อนการที่เจ้าสาวแสดงความรักตอบสนองความรักของเจ้าบ่าว”[197] พระนางมารีย์ทรงนำหน้าเราทุกคนในความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร ในฐานะที่(พระศาสนจักร)เป็นเจ้าสาวปราศจากมลทิน หรือตำหนิริ้วรอยใดๆ[198] เพราะเหตุนี้ “ลักษณะเหมือนพระนางมารีย์ของพระศาสนจักรจึงนำหน้าลักษณะที่เกี่ยวข้องกับเปโตร”[199]


พระศาสนจักร
เครื่องหมายและเครื่องมือความรอดพ้นของมวลมนุษย์

 774     คำภาษากรีกว่า “mysterion” แปลเป็นภาษาละตินได้สองแบบ คือแปลว่า mysterium (ความลับพระธรรมล้ำลึก) และ sacramentum (คำสาบาน) ในความหมายที่พัฒนาต่อมา คำว่า sacramentum มีความหมายมากกว่า คือหมายถึงเครื่องหมายของความรอดพ้น ซึ่งเป็นความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่และที่คำว่า mysterium หมายถึง ในความหมายนี้ พระคริสตเจ้าเองทรงเป็น “พระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้น” ดังที่นักบุญออกัสติน กล่าวไว้ว่า  “ไม่มีพระธรรมล้ำลึกอื่นใดของพระเจ้านอกจากพระคริสตเจ้า”[200]พระราชกิจประทานความรอดพ้นจากพระธรรมชาติมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์เป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” (คือ “เครื่องหมายและเครื่องมือ”) ความรอดพ้น ที่แสดงออกและทำงานใน  “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ของพระศาสนจักร (พระศาสนจักรตะวันออกยังเรียกศีลศักดิ์สิทธิ์ว่า “พระธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์” [sancta mysteria]) ศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือที่พระจิตเจ้าทรงใช้หลั่งพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “ศีรษะ” ลงในพระศาสนจักรซึ่งเป็นดังพระวรกายของพระองค์ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงมีพระหรรษทานที่เรามองไม่เห็นและถ่ายทอดพระหรรษทานที่พระศาสนจักรเป็นเครื่องหมาย ในความหมายเปรียบเทียบนี้ พระศาสนจักรจึงได้ชื่อว่าเป็น “sacrament” (เครื่องหมายและเครื่องมือ[ของพระหรรษทาน]) ด้วย

 775     ในพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเป็น “เสมือน ‘ศีลศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘เครื่องหมายและเครื่องมือ’ ความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่รวมมนุษยชาติเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า”[201] การเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ที่รวมมนุษย์ให้ชิดสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า นี้คือจุดประสงค์แรกของพระศาสนจักร เพราะความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันที่มนุษย์มีระหว่างกันนี้มีรากฐานอยู่บนการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้า พระศาสนจักรจึงเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) แห่งเอกภาพของมนุษยชาติด้วย เอกภาพนี้เริ่มขึ้นแล้วในพระศาสนจักร เพราะพระศาสนจักรรวบรวมมนุษย์ “จากทุกชาติ ทุกเผ่า ทุกประเทศและทุกภาษา” (วว 7:9) ในขณะเดียวกัน พระศาสนจักรเป็นทั้ง “เครื่องหมายและเครื่องมือ” ที่ทำให้เอกภาพนี้ที่จะต้องมาถึงสำเร็จเป็นไปโดยสมบูรณ์

 776     ในฐานะที่เป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” พระศาสนจักรเป็นเครื่องมือของพระคริสตเจ้า “ซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกอบกู้มนุษย์ทุกคน”[202] “เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรอดพ้น”[203] อาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์นี้พระคริสตเจ้า “ทรงสำแดงพระธรรมล้ำลึกความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์และทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้สำเร็จไป”[204] พระศาสนจักร “เป็นแผนการที่แลเห็นได้แห่งความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษยชาติ”[205] ที่อยาก “ทำให้มนุษยชาติทั้งมวลกลับเป็นประชากรหนึ่งเดียวของพระเจ้า รวมเข้าเป็นพระกายเดียวกันของพระคริสตเจ้า สร้างขึ้นเป็นพระวิหารหนึ่งเดียวของพระจิตเจ้า”[206]

 

[190] Catechismus Romanus, 1,10, 20: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 117.       

[191] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 11.     

[192] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium,  2: AAS (1964) 98.    

[193] Sanctus Bernardus Claraevallensis, In Canticum sermo 27,7,14: Opera, ed. J.Leclercq-C.H. Talbot-H.Rochais, v. 1 (Romae 1957) p. 191.  

[194] เทียบ อฟ 5:25-27.         

[195] เทียบ อฟ 3:9-11.           

[196] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.

[197] Ioannes Paulus II, Ep. ap. Mulieris dignitatem, 27: AAS 80 (1988) 1718.        

[198] เทียบ อฟ 5:27.             

[199] Ioannes Paulus II, Ep. ap. Mulieris dignitatem, 27: AAS 80 (1988) 1718, nota 55.

[200] Sanctus Augustinus, Epistula 187,11,34: CSEL 5, 113 (PL 33, 845).             

[201] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 1: AAS 57 (1965) 5.     

[202] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13.    

[203] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.  

[204] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 45: AAS 58 (1966) 1066.            

[205] Paulus VI, Allocutio ad Sacre Collegii Cardinalium Patres (22 iunii 1973): AAS 65 (1973) 391.    

[206] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 7: AAS 58 (1966) 956; cf. Ib., Const. dogm. Lumen gentium, 17: AAS 57 (1965) 20-21.  

สรุป

สรุป

 777      คำว่า “Ecclesia” (พระศาสนจักร) แปลว่าการเรียกมาชุมนุมกันหมายถึงชุมชนของผู้ที่พระวาจาของพระเจ้าเรียกมารวมกันเพื่อทำให้เป็นประชากรของพระเจ้า คนเหล่านี้ได้รับพระกายของพระคริสตเจ้าเป็นอาหาร จึงกลับเป็นพระกายของพระคริสตเจ้าไปด้วย

 778      ในขณะเดียวกัน พระศาสนจักรเป็นทั้งหนทางและจุดหมายแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า พระศาสนจักรนี้ถูกหมายไว้แล้วในการเนรมิตสร้าง ถูกเตรียมไว้แล้วในพันธสัญญาเดิม ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระวาจาและพระราชกิจของพระเยซูคริสตเจ้า สำเร็จเป็นจริงจากพระทรมานบนไม้กางเขนซึ่งไถ่กู้และจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ได้รับการเผยแสดงว่าเป็นพระธรรมล้ำลึกที่นำความรอดพ้นมาให้โดยการหลั่งพระจิตเจ้าลงมา  พระศาสนจักรจะบรรลุความสมบูรณ์ในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ในฐานะชุมชนของมวลมนุษย์ที่ได้รับการไถ่กู้ให้รอดพ้นจากโลกนี้[207]

 779      พระศาสนจักรเป็นสิ่งที่เราแลเห็นได้และไม่อาจแลเห็นได้ในเวลาเดียวกันเช่นเดียวกับจิต เป็นสังคมที่มีฐานันดรศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าด้วย พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็มีองค์ประกอบที่เป็นทั้งแบบของมนุษย์และแบบของพระเจ้าด้วย พระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรที่ความเชื่อเท่านั้นรับได้อยู่ที่ตรงนี้เอง

 780      พระศาสนจักรอยู่ในโลกนี้ในฐานะศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ของความรอดพ้น เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแสดงความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับมนุษย์

 

[207] เทียบ วว 14:4.             

วรรค 2

พระศาสนจักร-ประชากรของพระเจ้า

พระวรกายของพระคริสตเจ้า พระวิหารของพระจิตเจ้า

I. พระศาสนจักร – ประชากรของพระเจ้า

I.  พระศาสนจักรประชากรของพระเจ้า

 781      “ในทุกสมัยและในชนทุกชาติ ทุกคนที่ยำเกรงพระเจ้าและปฏิบัติความยุติธรรมย่อมเป็นที่ยอมรับของพระองค์ ถึงกระนั้นพระเจ้าไม่ทรงพอพระทัยที่จะบันดาลความศักดิ์สิทธิ์และความรอดพ้นให้แก่มนุษย์แยกกันทีละคนโดยไม่มีความสัมพันธ์อะไรระหว่างกัน แต่ทรงประสงค์ที่จะสถาปนาเขาให้เป็นประชากรที่ยอมรับพระองค์ในความจริงและรับใช้พระองค์ในความศักดิ์สิทธิ์ พระองค์จึงทรงเลือกประชากรอิสราเอลให้เป็นประชากรของพระองค์ ทรงทำพันธสัญญากับเขาและค่อยๆอบรมสั่งสอนเขา ทรงสำแดงพระองค์และพระประสงค์ของพระองค์แก่เขาในประวัติศาสตร์ และทรงบันดาลให้เป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระองค์ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นเพียงการเตรียมและภาพลักษณ์ของพันธสัญญาใหม่และสมบูรณ์ซึ่งจะทรงทำกับเขาในพระคริสตเจ้า [….] พันธสัญญาใหม่ที่พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้นนี้ นั่นคือพันธสัญญาใหม่ในพระโลหิตของพระองค์ พระองค์ทรงเรียกประชากรมาจากชาวยิวและชนต่างชาติ ซึ่งมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันเดชะพระจิตเจ้า ไม่ใช่ตามธรรมชาติมนุษย์”[208]


ลักษณะเฉพาะของประชากรของพระเจ้า

 782     ประชากรของพระเจ้ามีลักษณะเฉพาะที่ทำให้ประชากรนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากทุกกลุ่มชน ทั้งในด้านศาสนา เชื้อชาติ การเมือง และวัฒนธรรม

            - เป็นประชากรของพระเจ้า พระเจ้าไม่ทรงเป็นพระเจ้าเฉพาะของประชากรใดๆ แต่พระองค์ทรงเลือกเขามาเป็นประชากรสำหรับพระองค์จากผู้ที่ไม่เคยเป็นประชากรมาก่อน “เป็นชนชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (1 ปต 2:9)

            - ใครคนหนึ่งมาเป็นสมาชิกของประชากรนี้ไม่ใช่โดยการถือกำเนิดทางร่างกาย แต่โดยการบังเกิด “จากเบื้องบน” “จากน้ำและพระจิตเจ้า” (ยน 3:2-5) นั่นคืออาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้าและอาศัยศีลล้างบาป

            - ประชากรนี้มีพระเยซูคริสตเจ้า (ผู้รับเจิม พระเมสสิยาห์) เป็นศีรษะ  เพราะการเจิมเดียวกันคือพระจิตเจ้าหลั่งจากศีรษะลงมายังร่างกาย ซึ่งก็คือ “ประชากรของพระเมสสิยาห์”นั่นเอง

            - “ประชากรนี้มีศักดิ์ศรีและอิสรภาพของบุตรพระเจ้าเป็นเงื่อนไข พระจิตเจ้าประทับในจิตใจของเขาประหนึ่งประทับในพระวิหาร”[209]

            - “ประชากรนี้มีบัญญัติใหม่ให้รักกันเหมือนดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักเราเป็นกฎหมาย[210] นี่เป็นกฎหมาย “ใหม่” ของพระจิตเจ้า[211]

            - พันธกิจของประชากรนี้ คือต้องเป็นเกลือของแผ่นดินและแสงสว่างของโลก[212] “เป็นเมล็ดพันธุ์มั่นคงแห่งเอกภาพ ความหวังและความรอดพ้นสำหรับมวลมนุษยชาติ”[213]

            - ในที่สุด จุดหมายของประชากรนี้ก็คือ “พระอาณาจักรของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเริ่มไว้ตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลก จะต้องขยายตัวออกไป จนพระองค์จะทรงทำให้สมบูรณ์เมื่อสิ้นพิภพ”[214]


ประชากรสมณราชตระกูลและประกาศก

 783     พระบิดาทรงเจิมพระเยซูคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้า และทรงแต่งตั้งให้เป็น “สมณะ ประกาศกและกษัตริย์” ประชากรของพระเจ้าทุกคนจึงมีส่วนในบทบาททั้งสามประการนี้ของพระคริสตเจ้ารวมทั้งความรับผิดชอบต่อพันธกิจและศาสนบริการที่สืบเนื่องมาจากตำแหน่งเหล่านี้ด้วย[215]

 784     เมื่อบุคคลหนึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกในประชากรของพระเจ้าโดยอาศัยความเชื่อและศีลล้างบาป เขาก็มีส่วนแบ่งในกระแสเรียกหนึ่งเดียวของประชากรนี้ด้วย เขามีส่วนในกระแสเรียกเป็นสมณะของพระองค์ “พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า พระสมณะที่พระเจ้าทรงแยกมาจากมวลมนุษย์ ‘ทรงตั้งพระอาณาจักรและสมณะสำหรับพระเจ้าพระบิดาของพระองค์’ ทุกคนที่รับศีลล้างบาปแล้ว อาศัยการบังเกิดใหม่และการเจิมของพระจิตเจ้า ล้วนได้รับมอบถวายให้เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าและเป็นสมณภาพศักดิ์สิทธิ์”[216]

 785     “ประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ายังมีส่วนในหน้าที่ประกาศกของพระคริสตเจ้าอีกด้วย” โดยเฉพาะอาศัยความสำนึกเหนือธรรมชาติเรื่องความเชื่อ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประชากรทั้งหมด(ของพระเจ้า) ทั้งบรรดาฆราวาสและผู้มีฐานันดรศักดิ์สิทธิ์ เมื่อประชากรนี้ “ยึดมั่นโดยไม่เสื่อมคลายต่อความเชื่อที่พระเจ้าทรงเคยมอบไว้ครั้งหนึ่งแก่บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์”[217] เข้าใจความเชื่อนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าในโลกนี้

 786      ในที่สุด ประชากรของพระเจ้ายังมีส่วนในหน้าที่กษัตริย์ของพระคริสตเจ้าอีกด้วย  พระคริสตเจ้าทรงมีบทบาทเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ทุกคนเมื่อทรงดึงดูดมนุษย์ทุกคนเข้ามาหาพระองค์อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ[218] พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์และเจ้านายแห่งสากลโลก ทรงยอมเป็นผู้รับใช้ของทุกคน ในฐานะที่พระองค์ “มิได้เสด็จมาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) สำหรับคริสตชน “การรับใช้เป็นการครองราชย์”[219] พระศาสนจักรโดยเฉพาะ “ย่อมรับรู้ภาพลักษณ์ของพระผู้สถาปนาตนก็ในบรรดาผู้ยากจนและทนทุกข์”[220] ประชากรของพระเจ้าทำให้ “ศักดิ์ศรีการเป็นกษัตริย์” ของตนเป็นจริงก็เมื่อตนดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกให้เป็นผู้รับใช้พร้อมกับพระคริสตเจ้า

               “เครื่องหมายกางเขนมอบถวายให้ทุกคนที่บังเกิดใหม่ในพระคริสตเจ้าและได้รับเจิมจากพระจิตเจ้าได้เป็นสมณะ เพื่อคริสตชนทุกคนจะได้ยอมรับว่านอกจากศาสนบริการรับใช้ฝ่ายจิตตามเหตุผลที่ทุกคนมีอยู่แล้วนั้น ตนยังมีส่วนร่วมในบทบาทหน้าที่สมณราชตระกูลอีกด้วย อะไรเล่าเป็นอำนาจกษัตริย์ของวิญญาณมากกว่าการเป็นผู้ปกครองร่างกายของตนให้อยู่ใต้บังคับของพระเจ้า และอะไรเป็นบทบาทของสมณะมากกว่าการถวายมโนธรรมที่บริสุทธ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และถวายความศรัทธาไร้มลทินเป็นเครื่องบูชาจากดวงใจของตนซึ่งเป็นเสมือนพระแท่นบูชา”[221]

 

[208] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 12-13. 

[209] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13.    

[210] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13; เทียบ ยน 13:34.     

[211] เทียบ รม 8:2; กท 5:25.     

[212] เทียบ มธ 5:13-16.          

[213] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13.    

[214] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 9: AAS 57 (1965) 13.    

[215] Cf. Ioannes Paulus II, Litt.Enc. Redemptor hominis, 18-21: AAS 71 (1979) 301-320.

[216] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.   

[217] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 16.   

[218] เทียบ ยน 12:32.           

[219] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 36: AAS 57 (1965) 41.   

[220] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12.    

[221] Sanctus Leo Magnus, Sermo  4, 1: CCL 138, 16-17 (PL 54, 149).

II. พระศาสนจักร – พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า

II.  พระศาสนจักรพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า

พระศาสนจักรเป็นการร่วมชีวิตกับพระเยซูเจ้า

 787     ตั้งแต่เริ่มแรก พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์ให้มาอยู่กับพระองค์[222] ทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรแก่เขา[223] ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมพันธกิจและความยินดี[224] และร่วมพระทรมานกับพระองค์[225] พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่านี้ระหว่างพระองค์กับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “จงดำรงอยู่ในเราเถิด ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน […] เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน” (ยน 15:4-5) และยังตรัสถึงความสัมพันธ์ล้ำลึกแท้จริงระหว่าง พระกายของพระองค์กับของเราด้วย “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56)

 788     เมื่อพระเยซูเจ้าไม่ทรงอยู่กับบรรดาศิษย์อย่างที่เราแลเห็นได้แล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งเขาให้เป็นกำพร้า[226] พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทรงอยู่กับเขาตราบจนสิ้นพิภพ[227] ทรงส่งพระจิตของพระองค์มาให้เขา[228] ดังนี้ ความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าก็ยิ่งจะเข้มข้นยิ่งขึ้น “เมื่อประทานพระจิตของพระองค์แก่เขา พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งบรรดาพี่น้องที่ทรงเรียกมาจากนานาชาติ ให้เป็นเสมือนพระกายทิพย์ของพระองค์”[229]

 789     การเปรียบเทียบพระศาสนจักรกับพระกายเป็นเสมือนแสงสว่างที่ทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างพระศาสนจักรกับพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่เพียงแต่ถูกเรียกมาชุมนุมกันรอบๆ พระองค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการรวบรวมกันในพระองค์ ในพระกายของพระองค์ เราควรย้ำเป็นพิเศษถึงเหตุผลสามประการที่ทำให้พระศาสนจักรเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า – นั่นคือ เอกภาพระหว่างกันของบรรดาสมาชิก และความสัมพันธ์ของเขากับพระคริสตเจ้า พระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ คือพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือนเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า


พระกายหนึ่งเดียวกัน

 790     ผู้มีความเชื่อที่ตอบสนองพระวาจาของพระเจ้าและกลายเป็นส่วนต่างๆ ของพระวรกายของ  พระคริสตเจ้า รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าอย่างลึกซึ้ง “ในพระกายนี้ พระชนมชีพของพระคริสตเจ้าหลั่งไหลเข้ามาในบรรดาผู้มีความเชื่อ ซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงรับทรมานและทรงพระสิริรุ่งโรจน์อย่างแนบแน่นและแท้จริงอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ”[230] เรื่องนี้เป็นความจริงพิเศษเกี่ยวกับศีลล้างบาปที่รวมเรากับการสิ้นพระชนม์และการกลับคืน
พระชนมชีพของพระคริสตเจ้า[231] และเกี่ยวกับศีลมหาสนิทที่ทำให้เรา “มีส่วนร่วมแท้จริงกับพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ยกเราให้ร่วมสนิทสัมพันธ์กับพระองค์และระหว่างกันกับเพื่อนพี่น้อง”[232]

 791     การร่วมเป็นร่างกายเดียวกันนี้ไม่ทำให้ความแตกต่างของส่วนประกอบต่างๆ ของพระวรกายสิ้นสุดลง “ในการเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสตเจ้ายังคงมีความแตกต่างของส่วนประกอบและบทบาทของส่วนประกอบเหล่านั้น มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงแบ่งปันพระพรต่างๆ ตามความร่ำรวยของพระองค์และตามความต้องการเพื่อผลประโยชน์ของพระศาสนจักร”[233] เอกภาพของบรรดาผู้มีความเชื่อที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ก่อให้เกิดและส่งเสริมความรัก “ดังนั้น ถ้าส่วนประกอบส่วนหนึ่งเจ็บป่วย ส่วนประกอบทุกส่วนก็เจ็บป่วยร่วมกันด้วย หรือถ้าส่วนประกอบส่วนหนึ่งได้รับเกียรติ ส่วนประกอบทุกส่วนก็ร่วมยินดีด้วย”[234] ในที่สุด เอกภาพของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้ายังมีชัยชนะต่อการแบ่งแยกทุกอย่างของมนุษย์ “เพราะท่านทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปในพระคริสตเจ้า ก็สวมพระคริสตเจ้าไว้ ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีกอีกต่อไป ไม่มีทาสหรือมีไทย ไม่มีชายหรือมีหญิงอีกต่อไป เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู” (กท 3:27-28)


พระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระกายนี้

 792     พระคริสตเจ้า “ทรงเป็นศีรษะของร่างกาย คือพระศาสนจักร” (คส 1:18) พระองค์ทรงเป็นต้นตอของการเนรมิตสร้างและการกอบกู้ เมื่อทรงได้รับยกย่องไปอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา ก็ทรง “เป็นเอกในทุกสิ่ง” (คส 1:18) โดยเฉพาะในพระศาสนจักรที่ช่วยให้พระองค์ทรงแผ่ขยายพระอาณาจักรไปครอบคลุมทุกสิ่ง

 793     พระองค์ทรงรวมพวกเราเข้ากับปัสกาของพระองค์ องค์ประกอบทุกส่วนต้องพยายามทำตนให้ละม้ายคล้ายกับพระองค์ “จนกว่าพระคริสตเจ้าจะปรากฏอยู่ในท่านอย่างชัดเจน” ในเขาเหล่านั้น (กท 4:19) “ดังนั้น พระองค์ทรงรับเราเข้าไว้กับพระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพของพระองค์ [….] เรามีส่วนร่วมกับพระทรมานของพระองค์เหมือนกับร่างกายรวมอยู่กับศีรษะ และเมื่อร่วมรับทรมานกับพระองค์แล้ว เราก็รับสิริรุ่งโรจน์กับพระองค์ด้วย”[235]

 794     พระองค์ทรงบันดาลให้เราเจริญเติบโตขึ้น[236] พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระเศียรของเรา[237]ทรงจัดพระพรและศาสนบริการต่างๆ ไว้ในพระวรกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร เพื่อเราจะได้ใช้พระพรและศาสนบริการเหล่านี้ช่วยเหลือกันให้เจริญเติบโตขึ้นในหนทางแห่งความรอดพ้น

 795     พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรจึงรวมกันเป็น “พระคริสตเจ้าที่สมบูรณ์ (Christus totus) พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ล้วนสำนึกถึงเอกภาพนี้อย่างแจ่มแจ้ง

             “เพราะฉะนั้น เราจงยินดีและขอบพระคุณ ไม่เพียงเพราะเราได้เข้ามาเป็นคริสตชน แต่มาเป็น “พระคริสตเจ้า” พี่น้องทั้งหลาย ท่านเข้าใจพระหรรษทานของพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระเศียรแล้วใช่ไหม ท่านจงประหลาดใจและยินดีเถิด พวกเรากลายเป็นพระคริสตเจ้าแล้ว ถ้าพระองค์ทรงเป็นพระเศียร เราก็เป็นส่วนต่างๆ ของพระวรกาย พระองค์และเราเป็นมนุษย์ครบ […]  ดังนั้น ความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้าก็คือพระเศียรและส่วนต่างๆ ของร่างกาย พระเศียรและส่วนต่างๆ ของร่างกายคืออะไร คือพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรนั่นเอง”[238]

             “พระผู้ไถ่ของเราทรงสำแดงพระองค์เป็นพระบุคคลเดียวกับพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงรับมาไว้กับพระองค์”[239]

             “ศีรษะและส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเสมือนพระบุคคลทิพย์ (persona mystica)”[240]

               คำตอบของนักบุญโยห์นแห่งอาร์คแก่บรรดาผู้พิพากษารวบรวมความเห็นของบรรดานักบุญนักปราชญ์และความเชื่อถูกต้องของผู้มีความเชื่อไว้ว่า “ความเห็นทั้งหมดเกี่ยวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและพระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว และต้องไม่มีความยุ่งยากใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้”[241]


พระศาสนจักรเป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า

 796     เอกภาพของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ของศีรษะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยังหมายความว่าทั้งสองมีความแตกต่างกันในความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ด้วย เรากล่าวถึงเรื่องนี้โดยใช้ภาพลักษณ์ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ความคิดเรื่องพระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้าบ่าวของพระศาสนจักรนี้ได้รับการจัดเตรียมไว้โดยบรรดาประกาศก และยอห์นผู้ทำพิธีล้างได้ประกาศแจ้งให้ทุกคนได้ทราบ[242] องค์พระผู้เป็นเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “เจ้าบ่าว” (มก 2:19)[243] นักบุญเปาโลอัครสาวกกล่าวถึงพระศาสนจักรและผู้มีความเชื่อแต่ละคนซึ่งเป็นส่วนต่างๆ ของพระวรกายว่าเขา “ถูกหมั้น” เหมือนเจ้าสาวไว้กับพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นจิตใจเดียวกันกับพระองค์[244] พระศาสนจักรเป็นเสมือนเจ้าสาวไร้มลทินของ “ลูกแกะไร้มลทิน”[245] ที่พระคริสตเจ้าทรงรัก ทรงมอบพระองค์สำหรับพระศาสนจักร เพื่อ “ทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 5:26) พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรด้วยพันธะนิรันดรและไม่ทรงเลิกเอาพระทัยใส่ต่อพระศาสนจักรเช่นเดียวกับที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อพระวรกายของพระองค์เอง[246]

              “พระคริสตเจ้าครบพระองค์ ประกอบด้วยศีรษะและพระวรกาย เป็นพระคริสตเจ้าองค์เดียวที่รวมมนุษย์ไว้หลายคน […] ไม่ว่าศีรษะพูด หรือส่วนของร่างกายพูด ก็เป็นพระคริสตเจ้าที่ตรัส พระองค์ตรัสในฐานะพระบุคคลที่เป็นศีรษะ พระองค์ตรัสในฐานะพระบุคคลที่เป็นพระวรกาย พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไร ‘ทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน ธรรมล้ำลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร’ (อฟ 5:31-32) พระองค์ยังตรัสในพระวรสาร อีกว่า ‘ดังนั้น เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน’ (มธ 19:6)  ท่านก็รู้แล้วว่าที่จริง (ทั้งสามีและภรรยา) เป็นสองคน แต่ก็รวมเป็นคนเดียวกันเมื่อแต่งงาน […]  พระองค์ตรัสว่าทรงเป็น ‘เจ้าบ่าว’ ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะ และตรัสว่าทรงเป็น ‘เจ้าสาว’ ในฐานะที่ทรงเป็นพระวรกาย”[247]

 

[222] เทียบ มก 1:16-20; 3:13-19. 

[223] เทียบ มธ 13:10-17.         

[224] เทียบ ลก 10:17-20.         

[225] เทียบ ลก 22 :28-30.       

[226] เทียบ ยน 14:18.           

[227] เทียบ มธ 28:20.           

[228] เทียบ ยน 20:22; กจ 2:33.  

[229] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 9.     

[230] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 9.     

[231] เทียบ รม 6:4-5; 1 คร 12:13. 

[232] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 9.     

[233] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 10.    

[234] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 10.    

[235] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 10.    

[236] เทียบ คส 2:19.            

[237] เทียบ อฟ 4:11-16.          

[238] Sanctus Augustinus, In Iohannis evangelium tractatus 21,8: CCL 36, 216-217 (PL 35, 1568).      

[239] Sanctus Gregorius Magnus, Moralia in Iob, Praefatio 6, 14: CCL 143, 19 (PL 75, 525)            

[240] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q. 48, a. 2, ad 1: Ed. Leon. 11, 464.             

[241] Sancta Ioanna de Arco, Dictum: Procès de condamnation, ed. P Tisset (Paris 1960) p. 166, (textus gallicus).        

[242] เทียบ ยน 3:29.            

[243] เทียบ มธ 22:1-14; 25:1-13.  

[244] เทียบ 1 คร 6:15-17; 2 คร 11:2.

[245] เทียบ วว 22:17; อฟ 1:4 ; 5:27.              

[246] เทียบ อฟ 5:29.            

[247] Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 74, 4: CCL 39, 1027 (PL 37, 948-949).

III. พระศาสนจักร – พระวิหารของพระจิตเจ้า

III.  พระศาสนจักรพระวิหารของพระจิตเจ้า

 797     “จิตหรือวิญญาณของเราเป็นอะไรสำหรับร่างกายส่วนต่างๆ ของเรา พระจิตเจ้าก็ทรงเป็นเช่นนั้นสำหรับพระวรกายส่วนต่างๆ ของพระคริสตเจ้า คือพระศาสนจักรด้วย”[248] “เราจะต้องกล่าวว่าพระจิตของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็นนี้ ก็มีบทบาทที่จะรวบรวมส่วนต่างๆของพระวรกายไว้ด้วยกันและทำให้ส่วนต่างๆ เหล่านี้รวมกับศีรษะที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด พระจิตนี้อยู่ทั้งหมดในศีรษะ และอยู่ทั้งหมดในแต่ละส่วนของพระวรกายด้วย”[249] พระจิตเจ้าทำให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์เป็น “พระวิหารของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (2 คร 6:16)[250]

               “พระเจ้าทรงมอบของประทานนี้ของพระองค์ไว้แก่พระศาสนจักร […] และยังทรงฝากความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า คือพระจิตเจ้า ไว้ในของประทานนี้ด้วย พระจิตเจ้านี้ทรงเป็นประกันความไม่เสื่อมสลายและความมั่นคงของความเชื่อของเรา และยังทรงเป็นบันไดขึ้นไปพบพระเจ้าด้วย […] พระศาสนจักรอยู่ที่ใด พระจิตของพระเจ้าก็อยู่ที่นั่นด้วย พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่ที่ใด พระหรรษทานทั้งหมดก็อยู่ที่นั่นด้วย”[251]

 798     พระจิตเจ้าทรงเป็น “ที่มาของกิจกรรมแห่งชีวิตและสุขภาพของส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยแท้จริง”[252] พระองค์ทรงปฏิบัติงานหลายอย่างเพื่อเสริมสร้างพระกายทิพย์ทั้งหมดด้วยความรัก[253] อาศัยพระวาจาของพระเจ้า “ที่สร้างพระศาสนจักร” (กจ 20:32) อาศัยศีลล้างบาปซึ่งทรงใช้เพื่อเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสตเจ้า[254] อาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งทำให้ส่วนต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้าเจริญเติบโตขึ้นและมีสุขภาพแข็งแรง อาศัยพระหรรษทานของบรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นของประทานชิ้นเอกจากพระองค์[255] อาศัยคุณธรรมต่างๆ ที่ช่วยให้ทุกคนทำดีได้ ในที่สุด อาศัย “พระพรพิเศษ” มากมายที่ทรงใช้เพื่อช่วยให้บรรดาผู้มีความเชื่อ “เหมาะสมและพร้อมที่จะรับบทบาทและหน้าที่ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างพระศาสนจักรให้เจริญเติบโตและทันสมัยยิ่งๆ ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”[256]

 

พระพรพิเศษ

 799     พระพรพิเศษ ทั้งที่ไม่ธรรมดาหรือที่ธรรมดาและไม่เด่นชัด เป็นพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่มีประโยนชน์สำหรับพระศาสนจักรโดยตรงหรือไม่โดยตรง ในฐานะที่ถูกจัดไว้เพื่อเสริมสร้างพระศาสนจักร เพื่อผลประโยชน์สำหรับมนุษย์และความจำเป็นของโลก

800      ผู้รับพระพรพิเศษเหล่านี้ต้องรับพระพรพิเศษด้วยความกตัญญูรู้คุณ รวมทั้งสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรด้วย อันที่จริง พระพรพิเศษเหล่านี้เป็นพระหรรษทานอุดมบริบูรณ์อย่างน่าพิศวงสำหรับความกระตือรือร้นในงานธรรมทูตและความศักดิ์สิทธิ์ของพระกายทิพย์ทั้งหมดของพระคริสตเจ้า เพียงแต่ว่าพระพรเหล่านี้ต้องเป็นของประทานที่มาจากพระจิตเจ้าจริงๆ และถูกนำมาใช้อย่างสอดคล้องสมบูรณ์กับแรงบันดาลใจแท้จริงของพระจิตเจ้า นั่นคือด้วยความรักซึ่งเป็นมาตรวัดแท้จริงของพระพรพิเศษเหล่านี้[257]

 801     ในความหมายนี้ จึงจำเป็นต้องใช้พระพรพิเศษแต่พอควร ไม่มีพรพิเศษใดได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีความสัมพันธ์และอยู่ใต้บังคับกับผู้อภิบาลของพระศาสนจักร ท่านเหล่านี้ “มีบทบาทพิเศษไม่ใช่เพื่อดับ(การดลใจของ)พระจิตเจ้า แต่เพื่อพิสูจน์ทุกสิ่งและยึดมั่นสิ่งที่ดีไว้”[258] เพื่อพระพรพิเศษทุกอย่างที่แตกต่างกันจะได้ทำงานร่วมกัน “เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” (1คร 12:7)[259]

 

[248] Sanctus Augustinus, Sermo 268, 2: PL 38, 1232.             

[249] Pius XII, Litt. Enc. Mystici corporis: DS 3808.

[250] เทียบ 1 คร 3:16-17; อฟ 2:21.

[251] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 24, 1: SC 211, 472-474 (PG 7, 966).        

[252] Pius XII, Litt. Enc. Mystici corporis: DS 3808.

[253] เทียบ อฟ 4:16.            

[254] เทียบ 1 คร 12:13.          

[255] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7: AAS 57 (1965) 10.

[256] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 16; cf. Id., Decr. Apostolicam actuositatem, 3: AAS 58 (1966) 839-840.

[257] เทียบ 1 คร 13.             

[258] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 17.   

[259] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 30: AAS 57 (1965) 37; Ioannes Paulus II, Adh. ap. Christifideles laici, 24: AAS 81 (1989) 435.             

สรุป

สรุป

 802      พระคริสตเยซูทรงมอบพระองค์เพื่อเรา เพื่อไถ่กู้เราจากอธรรมทั้งหลาย ชำระประชากรให้บริสุทธิ์เพื่อจะเป็นประชากรพิเศษของพระองค์” (ทต 2:14)

 803      “ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า” (1 ปต 2:9)

 804      ผู้หนึ่งเข้ามาอยู่ในประชากรของพระเจ้าโดยความเชื่อและศีลล้างบาปมนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้ามาอยู่ในประชากรใหม่ของพระเจ้า[260] เพื่อมวลมนุษย์จะได้มารวมกันเป็นครอบครัวและประชากรเดียวกันของพระเจ้า[261] ในพระคริสตเจ้า

 805      พระศาสนจักรเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า อาศัยพระจิตเจ้าและการกระทำของพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท พระคริสตเจ้าซึ่งสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงตั้งชุมชนผู้มีความเชื่อให้เป็นเสมือนพระวรกายของพระองค์

 806      ในพระวรกายหนึ่งเดียวนี้มีส่วนประกอบและหน้าที่ต่างๆ หลากหลาย ส่วนประกอบทุกส่วนรวมอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทนทุกข์ ยากจนและถูกเบียดเบียน

 807      พระศาสนจักรเป็นเสมือนร่างกายที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศีรษะ พระศาสนจักรมีชีวิตจากพระองค์ ในพระองค์ และเพื่อพระองค์ พระองค์ทรงพระชนม์อยู่กับพระศาสนจักรและในพระศาสนจักร

 808      พระศาสนจักรเป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงรักพระศาสนจักรและมอบพระองค์เพื่อพระศาสนจักร  ทรงหลั่งพระโลหิตชำระพระศาสนจักร ทำให้พระศาสนจักรเป็นมารดามีบุตรจำนวนมากของพระเจ้า

 809      พระศาสนจักรเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรงเป็นเสมือนวิญญาณของพระกายทิพย์ เป็นบ่อเกิดชีวิต เอกภาพของพระศาสนจักรที่มีของประทานและพระพรพิเศษแตกต่างหลากหลายจากพระเจ้า

 810      ดังนี้พระศาสนจักรสากลจึงปรากฏเป็นเสมือน ประชากรที่รวมกันจากเอกภาพของพระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้า’”[262]

 

[260] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 13: AAS 57 (1965) 17.   

[261] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 1: AAS 58 (1966) 947.

[262] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 4: AAS 57 (1965) 7; cf. Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 23: CCL 3A, 105 (PL 4, 553). 

วรรค 3

พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์

สากลและสืบเนื่องจากอัครสาวก

 

 811     “นี่คือพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า ที่เราประกาศในสูตรประกาศความเชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก”[263] คุณลักษณะทั้งสี่ประการนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ได้[264] และบอกถึงโครงสร้างและพันธกิจสาระสำคัญของพระศาสนจักร พระศาสนจักรมิได้มีคุณลักษณะดังกล่าวจากตนเอง โดยทางพระจิตเจ้า พระคริสตเจ้าทรงโปรดให้พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก พระองค์ยังทรงเรียกร้องพระศาสนจักรให้ทำให้ลักษณะเหล่านี้แต่ละประการเป็นจริงไปด้วย

 812     ความเชื่อเท่านั้นรับรู้ได้ว่าพระศาสนจักรมีคุณลักษณะเหล่านี้จากพระเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิด แต่การแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ให้ปรากฏในประวัติศาสตร์ยังเป็นเครื่องหมายที่กล่าวอย่างชัดเจนแก่เหตุผลของมนุษย์ สภาสังคายนาวาติกันที่ 1 บอกเราว่า “พระศาสนจักรโดยตนเอง อาศัยความศักดิ์สิทธิ์พิเศษ อาศัยเอกภาพสากลและความมั่นคงใหญ่หลวงที่ไม่มีสิ่งใดเอาชนะได้ เป็นเหตุผลและพยานยืนยันที่ไม่อาจหักล้างได้ถึงความน่าเชื่อถือและพันธกิจที่ตนได้รับจากพระเจ้า”[265]

 

[263] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 11.    

[264] Cf. Sanctum Officium, Epistula ad Episcopos Angliae  (14 septembris 1864): DS 2888.           

[265] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c. 3: DS 3013. 

I. พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว

I.  พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว

พระธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์เรื่องเอกภาพของพระศาสนจักร[266]

 813     พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวจากเหตุผลบ่อเกิดของตน “ตัวอย่างและบ่อเกิดสูงสุดของ พระธรรมล้ำลึกประการนี้คือเอกภาพของพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคล คือพระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้า”[267] พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวจากเหตุผลของพระผู้สถาปนาพระศาสนจักร “พระบุตรเองผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ […] ทรงใช้ไม้กางเขนของพระองค์ทำให้มนุษย์กลับคืนดีกับพระเจ้า […] ทรงคืนเอกภาพให้มนุษย์ทุกคนเป็นประชากรหนึ่งเดียวและร่างกายเดียวกัน”[268] พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวจากเหตุผลของวิญญาณของตน “พระจิตเจ้าผู้ประทับอยู่ในบรรดาผู้มีความเชื่อ ประทับอยู่ทั่วและปกครองพระศาสนจักร ทำให้พระศาสนจักรเป็นชุมชนผู้มีความเชื่อและรวมทุกคนไว้ให้ชิดสนิทกันในพระคริสตเจ้าเพื่อจะได้เป็นบ่อเกิดเอกภาพของพระศาสนจักร”[269] เอกภาพจึงเป็นสาระสำคัญของพระศาสนจักร

               “พระธรรมล้ำลึกน่าพิศวง พระบิดาแห่งสากลจักรวาลทรงเป็นหนึ่งเดียว พระวจนาตถ์แห่งสากลจักรวาลทรงเป็นหนึ่งเดียว พระจิตเจ้าก็ทรงเป็นหนึ่งเดียว พระองค์ประทับอยู่ทั่วไป พระมารดาพรหมจารีก็ทรงเป็นหนึ่งเดียว ข้าพเจ้าพอใจที่จะเรียกพระนางว่า ‘พระศาสนจักร’”[270]

 814    กระนั้นก็ดี พระศาสนจักรหนึ่งเดียวนี้ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วก็แสดงตนมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย ที่มาจากทั้งความแตกต่างของพระพรของพระเจ้าและจากความหลายหลากของผู้คนที่รับพระพรเหล่านี้ ประชากรและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันล้วนรวมเข้ามาอยู่ในเอกภาพของประชากรของพระเจ้า ในระหว่างบรรดาสมาชิกยังมีพระพร บทบาทหน้าที่ สถานภาพ และวิธีดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน “ในสัมพันธภาพของพระศาสนจักรยังเป็นการถูกต้องที่มีพระศาสนจักรท้องถิ่นซึ่งมีขนบประเพณีเฉพาะของตน”[271] ความแตกต่างกันที่มีอยู่มากมายนี้เป็นเสมือนความร่ำรวยที่ไม่ขัดกับเอกภาพของพระศาสนจักร ถึงกระนั้น บาปและผลของบาปมักคุกคามพระพรแห่งเอกภาพนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ ท่านอัครสาวกจึงต้องเตือนคริสตชนให้รักษา “เอกภาพแห่งพระจิตเจ้าด้วยสายสัมพันธ์แห่งสันติ” (อฟ 4:3) ไว้เสมอ

815     อะไรเป็นสายสัมพันธ์ของเอกภาพนี้? เหนือสิ่งใดทั้งหมดก็คือความรักซึ่ง “รวมเราไว้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์” (คส 3:14) แต่เอกภาพของพระศาสนจักรซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ยังขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ที่เราแลเห็นได้อีกด้วย คือ

           - การประกาศความเชื่อหนึ่งเดียวที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวก

           - การเฉลิมฉลองคารวกิจต่อพระเจ้า โดยเฉพาะการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

           - การสืบทอดจากบรรดาอัครสาวกทางศีลบวช ซึ่งคอยพยุงความสามัคคีเสมือนพี่น้องของครอบครัวของพระเจ้า[272]

 816     “นี่คือพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า[…] ซึ่งพระผู้ไถ่ของเราเมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ทรงมอบให้เปโตรเป็นผู้อภิบาลดูแล ทรงมอบให้ท่านและอัครสาวกคนอื่นๆ เป็นผู้เผยแผ่และปกครองดูแล […] พระศาสนจักรซึ่งถูกสถาปนาจัดให้เป็นสังคมที่มีระเบียบนี้ยังคงอยู่ในพระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งมีผู้สืบตำแหน่งจากเปโตรและบรรดาพระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับท่านเป็นผู้ปกครองดูแล”[273]

               พระกฤษฎีกาที่กล่าวถึงคริสตศาสนิกสัมพันธ์ของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ให้คำอธิบายว่า “อาศัยพระศาสนจักรคาทอลิกหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็น ‘ความช่วยเหลือนำความรอดพ้นมาให้มวลมนุษย์’ นี้ ทุกคนอาจเข้าถึงเครื่องมือทุกอย่างที่นำความรอดพ้นมาให้ได้ เราเชื่อว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบขุมทรัพย์ทุกอย่างของพันธสัญญาใหม่ไว้กับคณะอัครสาวกที่มีเปโตรเป็นประมุข ทุกคนจำเป็นต้องเข้ามารวมเป็นเสมือนร่างกายเดียวกันอย่างสมบูรณ์เพื่อสถาปนาพระกายหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของประชากรของพระเจ้าแล้วโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง”[274]


บาดแผลของเอกภาพ

 817     โดยแท้จริง “ในพระศาสนจักรหนึ่งเดียวนี้ของพระเจ้า ก็เคยเกิดมีความแตกแยกกันแล้วนับตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งนักบุญเปาโลอัครสาวกก็เคยกล่าวตำหนิอย่างรุนแรง ในศตวรรษต่อๆ มาก็ได้เกิดมีความแตกแยกกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และกลุ่มคริสตชนไม่เล็กหลายกลุ่มก็ได้แยกตัวออกไปจากความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิก และหลายครั้งมนุษย์ของทั้งสองฝ่ายก็ใช่ว่าจะไม่มีความผิดด้วย”[275] รอยร้าวที่ทำให้เอกภาพของพระวรกายของพระคริสตเจ้าต้องเป็นบาดแผลนี้ (ซึ่งแยกได้เป็น มิจฉาทิฐิ การปฏิเสธละทิ้งความเชื่อ และศาสนเภท)[276] ซึ่งล้วนเกิดจากความผิดของมนุษย์ทั้งสิ้น

               “ที่ใดมีบาป ที่ใดมีผู้คนจำนวนมาก ที่นั่นก็มีการแตกแยก ที่นั่นก็มีมิจฉาทิฐิ ที่นั่นก็มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ที่ใดมีคุณธรรม ที่นั่นก็มีความสามัคคีปรองดอง มีเอกภาพ ที่รวมทุกคนผู้มีความเชื่อให้เป็นใจเดียวจิตเดียวกัน”[277]

 818     ผู้ที่ทุกวันนี้เกิดมาในชุมชนที่เกิดขึ้นจากการแตกแยกเช่นนี้ “และมีความเชื่อของพระคริสตเจ้าไม่อาจถูกประณามว่ามีบาปแตกแยกไปจากพระศาสนจักร และพระศาสนจักรคาทอลิกก็ยังอ้อมกอดเขาไว้ด้วยความรักและความนับถือฉันพี่น้อง […] เขาได้รับความชอบธรรมจากความเชื่อในศีลล้างบาป รวมอยู่ในพระวรกายของพระคริสตเจ้า ดังนั้นจึงมีสิทธิจะรับนามว่า “คริสตชน” และถูกต้องแล้วที่บรรดาบุตรของพระศาสนจักรคาทอลิกจะยอมรับว่าเขาเป็นพี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้า”[278]

 819      นอกจากนั้น “องค์ประกอบหลายประการแห่งความศักดิ์สิทธิ์และความจริง”[279] ยังพบได้ภายนอกขอบเขตของพระศาสนจักรคาทอลิกที่เราแลเห็นได้ด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ได้แก่ “พระวาจาของพระเจ้าที่มีเขียนไว้ ชีวิตพระหรรษทาน ความเชื่อ ความหวังและความรัก และของประทานทั้งภายในของพระจิตเจ้า รวมทั้งองค์ประกอบที่เราแลเห็นได้ของพระพรเหล่านี้ด้วย”[280] พระจิตของพระคริสตเจ้าทรงใช้พระศาสนจักรและชุมชนคริสตชนเหล่านี้เป็นเครื่องมือประทานความรอดพ้น ประสิทธิผลของเครื่องมือเหล่านี้สืบเนื่องมาจากความสมบูรณ์ที่พระคริสตเจ้าทรงมอบไว้แก่พระศาสนจักรคาทอลิก พระพรเหล่านี้ทั้งหมดสืบเนื่องมาจากพระคริสตเจ้าและนำไปหาพระองค์[281] และโดยตัวเองก็เรียกทุกคนเข้ามาอยู่ใน “เอกภาพคาทอลิก”[282] ด้วย


หนทางไปสู่เอกภาพ

 820   “พระคริสตเจ้าทรงมอบเอกภาพนี้ให้แก่พระศาสนจักรของพระองค์แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม [...] เราเชื่อว่าเอกภาพนี้จะคงอยู่ไม่มีวันสูญหายไปในพระศาสนจักรคาทอลิกและหวังว่าจะเจริญเติบโตขึ้นทุกๆ วันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”[283] พระคริสตเจ้าประทานพระพรเอกภาพแก่พระศาสนจักรของพระองค์อยู่เสมอ แต่พระศาสนจักรก็ต้องอธิษฐานวอนขอและออกแรงทำงานเพื่อถนอมรักษา ส่งเสริม และทำให้เอกภาพที่พระคริสตเจ้าทรงประสงค์สำหรับพระศาสนจักรนี้สมบูรณ์ไป เพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าเองในช่วงเวลาแห่งพระทรมานจึงทรงอธิษฐานต่อพระบิดาและยังไม่ทรงหยุดยั้งที่จะอธิษฐานขอให้บรรดาศิษย์ของพระองค์มีเอกภาพ “...เพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์ เพื่อให้เขาทั้งหลายอยู่ในพระองค์และในข้าพเจ้า โลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” (ยน 17:21) พระประสงค์ที่จะทรงทำให้คริสตชนทั้งหลายกลับมามีเอกภาพอีกนั้นเป็นของประทานของพระคริสตเจ้าและเป็นการเรียกจากพระจิตเจ้า”[284]

 821   เพื่อตอบสนองพระประสงค์นี้ได้อย่างเหมาะสม จำเป็นต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้

          - พระศาสนจักรจำเป็นต้องปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลาให้มีความซื่อสัตย์ยิ่งขึ้นต่อกระแสเรียกของตน การปรับปรุงตนนี้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เอกภาพ[285]

          - การกลับใจ เพื่อแต่ละคน “จะได้พยายามดำเนินชีวิตของตนตามพระวรสาร”[286] เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของส่วนต่างๆ ของพระวรกายต่อของประทานจากพระคริสตเจ้าเป็นสาเหตุของความแตกแยก

          - การอธิษฐานภาวนาร่วมกัน เพราะ “การกลับใจและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต พร้อมกับการวอนขอทั้งส่วนตัวและทำร่วมกันเพื่อเอกภาพของบรรดาคริสตชนต้องนับว่าเป็นจิตวิญญาณของขบวนการทั้งหมดเพื่อเอกภาพของคริสตชน และยังสมจะเรียกได้ว่า ‘คริสตศาสนิกชนสัมพันธ์ด้านจิตใจ’”[287]

           - การยอมรับว่าเป็นพี่น้องกัน[288]

           - การตั้งสถาบันคริสตศาสนิกชนสัมพันธ์ ของบรรดาผู้มีความเชื่อและโดยเฉพาะของบรรดาพระสงฆ์[289]

           - การเสวนาระหว่างบรรดานักเทววิทยา และการประชุมระหว่างคริสตชนจากคริสตจักรและชุมชนต่างๆ[290]

           - การร่วมมือกัน ระหว่างคริสตชนในงานรับใช้ประชาชนด้านต่างๆ[291]

 822      “พระศาสนจักรทั้งหมด ทั้งผู้มีความเชื่อและผู้อภิบาลจำเป็นต้องสาละวนเอาใจใส่ในการรื้อฟื้นเอกภาพนี้”[292] แต่เราก็ต้องมีความสำนึกด้วยว่า “ความตั้งใจศักดิ์สิทธิ์ที่จะรวบรวมคริสตชนทุกคนเข้ามาอยู่ในเอกภาพเดียวและพระศาสนจักรเดียวนี้เป็นภารกิจที่เกินกำลังและความสามารถของมนุษย์” ดังนั้น เราจึงตั้งความหวังทั้งหมดของเราไว้ “ในคำอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้าสำหรับพระศาสนจักร ในความรักของพระบิดาเจ้าต่อเรา และในพลังของพระจิตเจ้า”[293]

 

[266] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 2: AAS 57 (1965) 92.      

[267] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 2: AAS 57 (1965) 92.      

[268] Concilium Vaticanum I, Const. Past. Gaudium et spes, 78: AAS 58 (1966) 1101. 

[269] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 2: AAS 57 (1965) 91.      

[270] Clemens Alexandrinus, Paedagogus 1,6, 42: GCS 12, 115 (PG 8, 300).          

[271] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 13: AAS 57 (1965) 18.   

[272] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 2: AAS 57 (1965) 91-92; Id., Const. dogm. Lumen gentium, 14: AAS 57 (1965) 18-19; CIC canon 205.         

[273] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 11-12.  

[274] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 94.      

[275] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 92-93.   

[276] เทียบ ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 751.

[277] Origenes, In Ezechielem homilia 9, 1: SC 352, 296 (PG 13, 732).

[278] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 93.      

[279] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12.    

[280] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 93; cf. Id., Const. dogm. Lumen gentium, 15: AAS 57 (1965) 19.

[281] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 93.   

[282] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12.    

[283] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 4: AAS 57 (1965) 95.     

[284] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 1: AAS 57 (1965) 90-91.

[285] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 6: AAS 57 (1965) 96-97.

[286] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 7: AAS 57 (1965) 97.      

[287] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 8: AAS 57 (1965) 98.      

[288] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 9: AAS 57 (1965) 98.  

[289] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 10: AAS 57 (1965) 99. 

[290] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 4: AAS 57 (1965) 94; Ibid., 9: AAS 57 (1965) 98; Ibid., 11: AAS (1965) 99.

[291] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 12: AAS 57 (1965) 99-100.

[292] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 5: AAS 57 (1965) 96.     

[293] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 24: AAS 57 (1965) 107.    

II. พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์

II.  พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์

 823     “เรามีความเชื่อว่าพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์โดยไม่เสื่อมคลาย ทั้งนี้เพราะพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งเราขับร้องประกาศว่า ‘พระองค์ผู้เดียวศักดิ์สิทธิ์’ ร่วมกับพระบิดาและพระจิตเจ้านั้น ทรงรักพระศาสนจักรเสมือนเป็น ‘เจ้าสาว’ ของพระองค์ ทรงมอบพระองค์เพื่อพระศาสนจักรเพื่อทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธ์ และทรงรวมพระศาสนจักรไว้กับพระองค์เสมือนเป็นพระวรกายของพระองค์ อีกทั้งยังประทานพระพรมากมายของพระจิตเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”[294] ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเป็น “ประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”[295] และสมาชิกของพระศาสนจักรก็ได้รับนามว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์”[296]

 824     พระศาสนจักรซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าจึงรับความศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์ และยังเป็นผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์และในพระองค์ด้วย เพื่อทำให้มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเจ้าและเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า “ภารกิจการงานทุกอย่างของพระศาสนจักรจึงมุ่งไปสู่การนี้เสมือนจุดหมาย”[297] พระเจ้าทรงมอบ “วิธีการทุกอย่างที่จะนำไปรับความรอดพ้น”[298] ไว้ในพระศาสนจักร “เรารับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้าได้”[299] ก็ในพระศาสนจักรนี้เอง

  825     “ตั้งแต่ในโลกนี้แล้วพระศาสนจักรมีความศักดิ์สิทธิ์แท้จริง แม้จะยังไม่สมบูรณ์”[300] เรายังต้องแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ในบรรดาสมาชิกของพระศาสนจักรอยู่อีก “คริสตชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพหรือฐานะใดล้วนมีวิธีการและเครื่องมือยิ่งใหญ่จำนวนมาก และได้รับเรียกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มุ่งหาความศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ตามวิถีชีวิตของแต่ละคน เช่นเดียวกับที่พระบิดาเองทรงความสมบูรณ์”[301]

  826     ความรักเป็นเสมือนวิญญาณของความศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนได้รับเรียกให้มุ่งหา ความรักนี้ “ควบคุม ให้รูปแบบ และนำวิธีการทุกอย่างให้บรรลุถึงจุดหมายของความศักดิ์สิทธิ์”[302]

               “ดิฉันเข้าใจว่า ถ้าพระศาสนจักรเป็นเสมือนร่างกายที่สมบูรณ์ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ย่อมจะขาดอวัยวะสำคัญและมีเกียรติที่สุดไม่ได้ ดิฉันเข้าใจว่าพระศาสนจักรมีหัวใจและหัวใจเช่นนี้ต้องมีความรักเป็นเสมือนไฟที่จุดอยู่ ดิฉันเข้าใจว่าความรักเท่านั้นทำให้สมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรทำงาน และถ้าความรักนี้ดับลง บรรดาอัครสาวกก็คงไม่ประกาศข่าวดีอีกต่อไป บรรดามรณสักขีคงไม่ยอมหลั่งโลหิตของตน.... ดิฉันเข้าใจว่าความรักนี้รวมกระแสเรียกต่างๆ ไว้ในตน ความรักเป็นทุกสิ่ง ครอบคลุมทุกเวลาและสถานที่.... พูดสั้นๆ ก็คือ ความรักคงอยู่ตลอดนิรันดร”[303]

 827     “พระคริสตเจ้า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไร้มลทิน ไม่เปื้อนหมอง’ ไม่ทรงรู้จักบาป แต่เสด็จมาเพื่อชดเชยความผิดของประชากร พระศาสนจักรซึ่งโอบอุ้มคนบาปไว้ในอ้อมอก ก็ศักดิ์สิทธิ์และต้องชำระตนให้บริสุทธิ์อยู่เสมอพร้อมกันไปด้วย จึงดำเนินในหนทางการกลับใจและปรับปรุงตนอยู่เสมอ”[304] สมาชิกทุกคนของพระศาสนจักร รวมทั้งศาสนบริกรด้วย จึงต้องยอมรับว่าตนเป็นคนบาป[305] ในทุกคนล้วนยังมีบาปซึ่งเป็นเสมือนข้าวละมานปะปนอยู่กับเมล็ดข้าวที่ดีคือพระวรสารตลอดไปจนสิ้นพิภพ[306] พระศาสนจักรจึงรวมคนบาปที่ถูกความรอดพ้นของพระคริสตเจ้าจับตัวไว้แล้ว แต่ยังดำเนินอยู่ในหนทางไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์

               พระศาสนจักร “จึงศักดิ์สิทธิ์ แม้ยังโอบอุ้มคนบาปไว้ในอ้อมอกของตน เพราะพระศาสนจักรเองก็ยังไม่มีชีวิตอื่นนอกจากชีวิตของพระหรรษทาน ซึ่งถ้าสมาชิกของพระศาสนจักรรับการหล่อเลี้ยงจากพระหรรษทานนี้ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าปลีกตนออกไปจากพระหรรษทานนี้ เขาก็ตกในบาปและมีวิญญาณที่แปดเปื้อนซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ความศักดิ์สิทธิ์ฉายแสงสว่างของตนได้ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงมีความทุกข์และชดเชยความผิดเหล่านี้ที่พระศาสนจักรมีอำนาจช่วยบุตรของตนให้พ้นจากบาปเหล่านี้อาศัยพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและพระพรของพระจิตเจ้า”[307]

 828    เมื่อพระศาสนจักร แต่งตั้งผู้มีความเชื่อบางคนเป็นนักบุญ นั่นคือประกาศอย่างสง่าว่าผู้มีความเชื่อเหล่านี้ได้ปฏิบัติคุณธรรมขั้นวีรกรรมและดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ต่อพระหรรษทานของพระเจ้า พระศาสนจักรก็ยอมรับพระอานุภาพของพระจิตเจ้าผู้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประทับอยู่ในพระศาสนจักร และพยุงความหวังของบรรดาผู้มีความเชื่อโดยเสนอท่านเหล่านี้ให้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและเป็นผู้วอนขอพระเจ้าแทนทุกคน[308] “ในสถานการณ์ยุ่งยากมากๆ ตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (นักบุญ) ชายหญิงเหล่านี้ได้เป็นต้นธารและบ่อเกิดของการปฏิรูปอยู่เสมอ”[309] “ความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรเป็นต้นธารลึกลับและมาตรการที่ไม่ผิดพลาดสำหรับงานประกาศข่าวดีและเป็นพลังผลักดันงานธรรมทูตโดยแท้จริง”[310]

 829    “ขณะที่พระศาสนจักรบรรลุถึงความครบครันแล้วในพระนางพรหมจารี ความครบครันที่ทำให้พระนางไร้มลทินและริ้วรอยแล้วนั้น บรรดาคริสตชนยังพยายามที่จะเอาชนะบาปเพื่อเจริญเติบโตขึ้นในความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงมองดูพระนางมารีย์”[311] พระศาสนจักรบรรลุความศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในพระนาง

 

[294] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 39: AAS 57 (1965) 44.  

[295] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 16.   

[296] เทียบ กจ 9:13; 1 คร 6:1; 16:1.

[297] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 10: AAS 56 (1964) 102.

[298] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 94.      

[299] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.  

[300] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.  

[301] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.   

[302] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42: AAS 57 (1965) 48.  

[303] Sancta Theresia a Iesu Infante, Manuscrit B, 3v: Manuscrits autobiographiques  (Paris 1992) p.299.

[304] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12; cf. Id., Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 92- 94; Ibid., 6: AAS 57 (1965) 96-97.            

[305] เทียบ 1 ยน 1:8-10.         

[306] เทียบ มธ 13:24-30.        

[307] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 19: AAS 60 (1968) 440.  

[308] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 40: AAS 57 (1965) 44-45; Ibid., 48-51: AAS 57 (1965) 53-58.          

[309] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Christifideles laici, 16 : AAS (1989) 417.           

[310] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Christifideles laici, 17 : AAS (1989) 419-420.       

[311] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 65: AAS 57 (1965) 64.   

III. พระศาสนจักรเป็น “คาทอลิก” หรือ “สากล”

III.  พระศาสนจักรเป็นคาทอลิกหรือสากล

คำว่าคาทอลิกหรือสากลหมายความว่าอย่างไร

 830     คำว่า “คาทอลิก” มีความหมายว่า “สากล” หรือ “อยู่ทั่วโลก” หรือ “ครบครัน” พระศาสนจักร เป็น “คาทอลิก” หรือ “สากล” ในสองความหมายพระศาสนจักรเป็น “คาทอลิก” หรือ “สากล” เพราะพระคริสตเจ้าประทับอยู่ในพระศาสนจักร “พระเยซูคริสตเจ้าประทับอยู่ที่ใด พระศาสนจักรคาทอลิกก็อยู่ที่นั่นด้วย”[312] ความบริบูรณ์ของพระวรกายของพระคริสตเจ้าที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับศีรษะคงอยู่ในพระศาสนจักรนี้[313] ซึ่งหมายความว่าพระศาสนจักรรับ “อุปกรณ์ทั้งหมดที่นำเราไปรับความรอดพ้น”[314] ตามที่ทรงประสงค์ นั่นคือ การประกาศความเชื่อที่ถูกต้องอย่างครบถ้วน ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิต รวมทั้งศาสนบริการตามพระฐานานุกรมที่ได้รับสืบต่อมาจากบรรดาอัครสาวก ในความหมายพื้นฐานเช่นนี้ พระศาสนจักรเป็น “สากล” ในวันเปนเตกอสเต[315] และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปตราบจนถึงวันที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จมา

 831     พระศาสนจักรยังเป็น “สากล” เพราะพระคริสตเจ้าทรงส่งไปสั่งสอนมวลมนุษยชาติ[316]

             “มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้ามาเป็นประชากรใหม่ของพระเจ้า ดังนั้น ประชากรหนึ่ง และยังคงเป็นหนึ่งเดียวนี้ ต้องแผ่ขยายไปทั่วโลกตลอดเวลาทุกศตวรรษ เพื่อทำให้แผนการพระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง ตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว พระองค์ทรงสถาปนาธรรมชาติมนุษย์เพียงหนึ่งเดียว และทรงตั้งพระทัยที่จะรวบรวมบรรดาบุตรของพระองค์ที่กระจัดกระจายไปนั้นเข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันอีกในที่สุด […] ลักษณะการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นความงดงามของประชากรของพระเจ้านี้เป็นของประทานขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระศาสนจักรคาทอลิกมุ่งมั่นอยู่ตลอดเวลาที่จะไปให้ถึงเพื่อจะนำมนุษยชาติทั้งหมดพร้อมกับพระพรทุกอย่างที่มนุษยชาติได้รับนั้นกลับเข้ามารวมอยู่ภายใต้พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะในเอกภาพของพระจิตของพระองค์”[317]


พระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่งก็เป็น
สากลด้วย

 832     “พระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าอยู่จริงในทุกกลุ่มผู้มีความเชื่อจากแต่ละท้องถิ่นที่มาชุมนุมกันอย่างถูกต้อง พันธสัญญาใหม่เรียกกลุ่มชนเหล่านี้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้อภิบาลของตนว่า “พระศาสนจักร” [...] บรรดาผู้มีความเชื่อมาชุมนุมกันในกลุ่มเหล่านี้โดยการประกาศสอนพระวรสาร และมีการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกการเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า [...] พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในชุมชนเหล่านี้ แม้บ่อยๆ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ และยากจน หรือกระจายกันอยู่ในที่ต่างๆ พระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ และสากลรวมกันอยู่ได้เดชะพระอานุภาพของพระองค์”[318]

 833     เมื่อกล่าวถึง “พระศาสนจักรท้องถิ่น” หรือ  “พระศาสนจักรเฉพาะ” ที่หมายถึง “สังฆมณฑล”(dioecesis หรือ eparchia) เราก็เข้าใจว่าหมายถึงชุมชนผู้มีความเชื่อและศีลศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพร้อมกับพระสังฆราชผู้ได้รับศีลบวชสืบตำแหน่งมาจากบรรดาอัครสาวก[319] พระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้จัดตั้งขึ้น “ตามรูปแบบของพระศาสนจักรสากล พระศาสนจักรคาทอลิกหนึ่งเดียวและเป็นเอกลักษณ์ก็ดำรงอยู่ในพระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้”[320]

 834     พระศาสนจักรท้องถิ่นเป็นพระศาสนจักรคาทอลิกอาศัยความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งหนึ่ง คือพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ซึ่ง “เป็นประธานความรัก”[321] “พระศาสนจักรทั้งหมด คือบรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งอยู่ทั่วไปทุกแห่งจำเป็นต้องมารวมอยู่กับพระศาสนจักรแห่งนี้เพราะความเป็นผู้นำอย่างเด่นชัด”[322] “นับตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อพระวจนาตถ์ของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์เสด็จลงมาอยู่กับเรา พระศาสนจักรทุกแห่งของบรรดาคริสตชนได้ยอมรับและยังถือว่าพระศาสนจักรซึ่งอยู่ที่นั่น (คือที่กรุงโรม) เป็นรากฐานมั่นคงหนึ่งเดียว และเป็นพระศาสนจักรใหญ่ที่สุด จนว่าประตูนรกไม่มีวันที่จะเอาชนะพระศาสนจักรนี้ได้ตามพระสัญญาของพระผู้ไถ่”[323]

 835     “เราต้องระวังอย่าคิดว่าพระศาสนจักรสากลเป็นผลลัพธ์หรือการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ของบรรดาพระศาสนจักรท้องถิ่น […] พระศาสนจักร โดยกระแสเรียกและพันธกิจสากล เมื่อหยั่งรากเข้าไปในสภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม สังคม และมนุษยธรรมในส่วนต่างๆ ของโลก จึงสวมรูปแบบและลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน”[324] พระศาสนจักรที่ร่ำรวยด้วยระเบียบแบบแผนต่างๆ จารีตการประกอบพิธีกรรมหลากหลาย ขุมทรัพย์ด้านเทววิทยาและชีวิตจิตเฉพาะของพระศาสนจักรในสถานที่ต่างๆ “ล้วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงให้เห็นความเป็นสากลของพระศาสนจักรที่แบ่งแยกมิได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น”[325]


ผู้ใดบ้างอยู่ในพระศาสนจักรสากล
(คาทอลิก)

  836     “มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้ามาอยู่ในเอกภาพสากลของประชากรของพระเจ้า […] ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าทั้งชาวคาทอลิก และผู้อื่นที่มีความเชื่อ(ในพระคริสตเจ้า)จึงอยู่ในเอกภาพนี้ด้วยวิธีการต่างๆ ในที่สุดมวลมนุษย์ทั้งหลายที่พระหรรษทานเรียกให้มารับความรอดพ้นด้วย”[326]

  837     “ผู้ที่เข้าร่วมอยู่ในสังคมพระศาสนจักรโดยสมบูรณ์ก็คือผู้ที่มีพระจิตของพระคริสตเจ้ารับระเบียบการทุกอย่างและวิธีการต่างๆ สำหรับความรอดพ้นที่กำหนดไว้ในพระศาสนจักร และมีสายสัมพันธ์ที่แลเห็นได้ของพระศาสนจักรกับพระคริสตเจ้าซึ่งทรงปกครองโดยทางพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราช สายสัมพันธ์เหล่านี้คือการประกาศแสดงความเชื่อศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และระบอบการปกครองและความสัมพันธ์ของพระศาสนจักร ถึงกระนั้น ผู้ที่แม้จะเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรแล้วก็ยังไม่รับความรอดพ้นคือผู้ที่ไม่ดำรงอยู่ในความรัก เขาเหล่านี้อยู่ในพระศาสนจักร ‘ทางกายภาพ’ เท่านั้น ไม่ได้คงอยู่ ‘ด้วยจิตใจ’”[327]

  838     “พระศาสนจักรยังรู้ด้วยว่าตนยังมีความสัมพันธ์จากเหตุผลหลายประการกับผู้ที่รับศีลล้างบาปได้ชื่อเป็นคริสตชนแล้ว แต่ไม่ประกาศความเชื่อทุกข้อหรือไม่รักษาเอกภาพความสัมพันธ์กับผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร”[328] “คนเหล่านี้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้าและรับศีลล้างบาปตามพิธีอย่างถูกต้องก็มีความสัมพันธ์แบบหนึ่งกับพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม”[329] ความสัมพันธ์นี้กับบรรดาพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์นับเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง “จนว่ายังขาดอยู่อีกนิดเดียวที่จะถึงความบริบูรณ์ซึ่งอนุญาตให้เฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้าร่วมกันได้”[330]


พระศาสนจักรและผู้ที่ไม่ใช่คริสตชน

 839   “...ผู้ที่ยังไม่ได้รับพระวรสารก็มีความสัมพันธ์กับประชากรของพระเจ้าด้วยเหตุผลต่างๆ”[331]ความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับชาวยิว เมื่อพระศาสนจักร ประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่ พิจารณาไตร่ตรองถึงธรรมล้ำลึกของตน ก็พบว่าตนมีพันธะเกี่ยวข้องกับประชากรชาวยิว[332] ที่ “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงมีพระดำรัสกับเขาเป็นกลุ่มแรก”[333] แตกต่างกับในศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่คริสตศาสนา ความเชื่อของชาวยิวเป็นการตอบสนองการเปิดเผยของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมแล้ว ประชากรชาวยิวนี้ “ได้เป็นบุตรบุญธรรม ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ ได้รับพันธสัญญา ธรรมบัญญัติ รวมทั้งศาสนพิธีและพระสัญญาต่างๆ พวกเขามีบรรพบุรุษเป็นต้นตระกูลของพระคริสตเจ้าตามธรรมชาติมนุษย์” (รม 9:4-5) “พระเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนพระทัยเพิกถอนทั้งของประทานที่ทรงให้เปล่าและพระกระแสเรียกของพระองค์” (รม 11:29)

 840     ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราพิจารณาถึงอนาคต ประชากรของพระเจ้าทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ต่างก็มุ่งสู่จุดหมายคล้ายกัน คือการรอคอยการเสด็จ(กลับ)มาของพระเมสสิยาห์ แต่สำหรับประชากรกลุ่มหนึ่งเป็นการรอคอยการเสด็จกลับมาของพระเมสสิยาห์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ ผู้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระเจ้า ส่วนประชากรอีกกลุ่มหนึ่งยังรอคอยการเสด็จกลับมาเมื่อสิ้นพิภพของพระเมสสิยาห์ซึ่งยังมีลักษณะไม่ชัดเจน เป็นการรอคอยที่ควบคู่กับความไม่รู้จักหรือไม่ยอมรับรู้พระเยซูคริสตเจ้าอย่างน่าเสียดาย

 841      ความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับชาวมุสลิม แผนการความรอดพ้นยังครอบคลุมคนเหล่านั้นที่ยอมรับพระผู้เนรมิตสร้างสรรพสิ่ง ก่อนอื่นโดยเฉพาะคือชาวมุสลิมผู้ประกาศว่าตนปฏิบัติตามความเชื่อของอับราฮัม นมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวผู้ทรงพระกรุณาและจะทรงพิพากษามวลมนุษย์เมื่อสิ้นพิภพพร้อมกับพวกเรา”[334]

 842     ความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับศาสนาที่ไม่ใช่คริสตศาสนา เป็นความสัมพันธ์โดยเฉพาะของผู้ที่มีต้นกำเนิดและจุดหมายร่วมกันเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล

               “มนุษย์ทุกชาติร่วมเป็นชุมชนเดียวกัน มีต้นกำเนิดเดียวกัน เพราะพระเจ้าทรงบันดาลให้มนุษยชาติทั้งมวลพำนักอยู่ทั่วโลก มีจุดหมายสุดท้ายเดียวกันด้วย คือพระเจ้าผู้ทรงเอาพระทัยใส่และทรงแผ่ความรักและแผนความรอดพ้นไปถึงทุกคน จนกว่าบรรดาผู้ที่ทรงเลือกสรรจะได้อยู่ร่วมกันในนครศักดิ์สิทธิ์”[335]

 843    พระศาสนจักรยังยอมรับการเสาะหาพระเจ้าที่เขาไม่รู้จัก แต่อยู่ใกล้ “ในเงาและรูปภาพต่างๆ” เพราะพระองค์ประทานชีวต จิตใจและทุกสิ่งแก่ทุกคน และยังทรงปรารถนาให้มนุษย์ทุกคนได้รอดพ้นด้วย ดังนั้น พระศาสนจักรจึงนับว่าความดีและความจริงใดๆ ไม่ว่าที่พบได้ในศาสนาต่างๆนั้นล้วนเป็นการเตรียมรับข่าวดี “เป็นของประทานจากพระองค์ผู้ทรงส่องสว่างมนุษย์ทุกคนให้ได้รับชีวิตในที่สุด”[336]

 844    ถึงกระนั้นมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตด้านศาสนาตามวิธีของตนก็ยังแสดงขอบเขตจำกัดและความผิดพลาดที่บิดเบือนภาพลักษณ์ของพระเจ้าในตัวเขา

             “แต่ทว่าบ่อยๆ มนุษย์ก็ถูกมารร้ายหลอกลวง มีความคิดผิดหลงไป และเปลี่ยนความจริงของพระเจ้ากับความโกหกหันไปรับใช้สิ่งสร้างมากกว่ารับใช้พระผู้สร้าง หรือดำเนินชีวิตและตายไปในโลกนี้โดยไม่มีพระเจ้า เผชิญกับความผิดหวังในวาระสุดท้าย”[337]

 845     แต่พระบิดาก็ยังทรงประสงค์ที่จะเรียกมนุษยชาติทั้งมวลเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรของพระบุตรของพระองค์  เพื่อทรงรวบรวมบุตรของพระองค์ทุกคนที่บาปทำให้เหินห่างและกระจัดกระจายไปพระศาสนจักรจึงเป็นที่ที่มนุษยชาติจะต้องได้รับเอกภาพและความรอดพ้นของตนกลับคืนมาพระศาสนจักรเป็น “โลกที่ได้รับการคืนดี(กับพระเจ้า)แล้ว”[338] พระศาสนจักรเป็นเสมือนเรือลำนั้น “ที่มีไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นใบเรือ และลมของพระจิตเจ้าพัดให้แล่นไปอย่างดีในโลกนี้”[339] หรือตามภาพเปรียบเทียบอีกภาพหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของบรรดาปิตาจารย์ พระศาสนจักรเปรียบเสมือนนาวาของโนอาห์ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากน้ำวินาศ[340]


ไม่มีความรอดพ้นนอกพระศาสนจักร

 846     เราต้องเข้าใจข้อความนี้ที่บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรเคยกล่าวไว้บ่อยๆ อย่างไร ถ้าจะกล่าวเป็นทางบวกก็หมายความว่าความรอดพ้นทั้งหมดจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะนั้นสืบเนื่องมาโดยทางพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์

               สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์ “สอน […] โดยอิงกับพระคัมภีร์และธรรมประเพณีว่าพระศาสนจักรที่กำลังเดินทางในโลกนี้จำเป็นสำหรับความรอดพ้น พระคริสตเจ้าทรงเป็นคนกลางเพียงคนเดียวและหนทางความรอดพ้น พระองค์ประทับอยู่สำหรับเราในพระวรกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร พระองค์ทรงย้ำอย่างชัดเจนด้วยพระวาจาถึงความจำเป็นของความเชื่อและศีลล้างบาป พร้อมกันนั้นยังทรงเน้นความจำเป็นของพระศาสนจักรที่มนุษย์ทุกคนเข้ามาโดยศีลล้างบาปซึ่งเป็นเสมือนประตู ดังนั้น คนเหล่านั้นที่รู้ดีแล้วว่าพระศาสนจักรคาทอลิกที่พระเจ้าทรงสถาปนาขึ้นโดยพระคริสตเจ้าเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับความรอดพ้น แต่หรือไม่ได้เข้าในพระศาสนจักร หรือไม่ยอมอยู่ในพระศาสนจักรนี้ ย่อมไม่อาจรอดพ้นได้”[341]

 847      ข้อความนี้ไม่ครอบคลุมถึงคนเหล่านั้นที่ไม่รู้จักพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์โดยไม่ใช่เพราะความผิดของตน

               “ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักพระวรสารของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์โดยไม่มีความผิด แต่ก็ยังแสวงหาพระเจ้าด้วยจริงใจ และพยายามปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ตามคำแนะนำของมโนธรรมโดยอิทธิพลของพระหรรษทาน ก็ยังบรรลุถึงความรอดพ้นนิรันดรได้ด้วย”[342]

 848     “ดังนั้น แม้ว่าพระเจ้าอาจทรงใช้วิธีการที่พระองค์เท่านั้นทรงทราบนำมนุษย์ที่ไม่รู้จักพระวรสารโดยไม่ใช่เพราะความผิดของตนเข้ามารับความเชื่อที่จำเป็นเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระองค์[343]  ได้ ถึงกระนั้นพระศาสนจักรก็ยังมีความจำเป็นและพร้อมกันนั้นยังมีสิทธิศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องประกาศพระวรสาร”[344]แก่มวลมนุษย์ด้วย


งานธรรมทูต
ความจำเป็นสำหรับสากลภาพของพระศาสนจักร

 849     พระบัญชาให้ทำงานธรรมทูต “พระเจ้าทรงส่งพระศาสนจักรตามความจำเป็นภายในเฉพาะของความเป็นสากลออกไปยังนานาชาติเพื่อให้เป็น ‘เครื่องหมายและเครื่องมือสากลที่บันดาลความรอดพ้น’ พระศาสนจักรจึงเชื่อฟังพระบัญชาของพระผู้ทรงสถาปนาของตน พยายามประกาศ พระวรสารแก่มนุษย์ทุกคน”[345] “ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:19-20)

  850     บ่อเกิดและจุดประสงค์ของงานธรรมทูต พระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ประกาศข่าวดีนั้นมีต้นกำเนิดสุดท้ายอยู่ในความรักนิรันดรของพระตรีเอกภาพ “พระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้โดยธรรมชาติแล้วจะต้องประกาศข่าวดี เพราะพระศาสนจักรเกิดขึ้นจากพันธกิจของพระบุตรและของพระจิตเจ้าตามพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดา[346] จุดประสงค์สุดท้ายของงานธรรมทูตก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากทำให้มนุษย์มีส่วนความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างพระบิดาและพระบุตรในพระจิตแห่งความรักของทั้งสองพระองค์[347]

  851     แรงบันดาลใจของงานธรรมทูต พระศาสนจักรรับหน้าที่และพลังผลักดันสำหรับงาน ธรรมทูตจากความรักของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์ “ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา...”   (2 คร 5:14)[348] อันที่จริง พระเจ้า “ทรงมีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1 ทธ 2:4) พระเจ้าทรงประสงค์ความรอดพ้นของทุกคนผ่านทางการรู้ความจริง ความรอดพ้นพบได้ในความจริง ผู้ที่เชื่อฟังการดลใจของพระจิตแห่งความจริงจึงอยู่ในหนทางแห่งความรอดพ้นแล้ว แต่พระศาสนจักรที่พระเจ้าทรงฝากความจริงนี้ไว้ให้ จึงต้องมาพบกับความปรารถนาของคนเหล่านี้เพื่อนำความจริงมาให้ พระศาสนจักรเชื่อในแผนการสากลแห่งความรอดพ้นเช่นนี้จึงต้องเป็นพระศาสนจักรธรรมทูต

 852     วิธีการของงานธรรมทูต “พระจิตเจ้าทรงมีบทบาทสำคัญของงานธรรมทูตทั้งหมดของพระศาสนจักร”[349]พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำในหนทางของงานธรรมทูตซึ่งยังดำเนินอยู่ต่อไป และตลอดมาในอดีต ก็ได้แผ่ขยายพันธกิจของพระคริสตเจ้าผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมาเพื่อประกาศข่าวดีแก่คนยากจน “พระศาสนจักรจึงต้องดำเนินในหนทางเดียวกันกับที่พระคริสตเจ้า เคยทรงพระดำเนินโดยมีพระจิตของพระคริสตเจ้าทรงผลักดัน นั่นคือในหนทางแห่งความยากจน ความเชื่อฟัง การรับใช้และการถวายตนเองยอมรับความตาย เพื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพจากความตายนี้ในฐานะผู้พิชิต”[350] ด้วยวิธีนี้ “โลหิตของบรรดามรณสักขีจึงเป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ให้กำเนิดบรรดาคริสตชน”[351]

 853     แต่พระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ยังมีประสบการณ์ด้วยว่า “ข่าวสารที่ตนประกาศนั้นช่างแตกต่างกันมากกับความอ่อนแอของบรรดาผู้ที่ได้รับมอบหมายข่าวดีนี้”[352] โดยดำเนิน “ตามแนวทางการกลับใจและฟื้นฟู” เท่านั้น[353] และ “โดยเดินตามหนทางแคบแห่งไม้กางเขน”[354]เท่านั้น ประชากรของพระเจ้าจึงสามารถขยายพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าได้[355] “พระคริสตเจ้าทรงทำให้งานกอบกู้สำเร็จโดยความยากจนและการถูกเบียดเบียนฉันใด พระศาสนจักรก็ได้รับเรียกให้เข้ามาเดินในหนทางเดียวกันเพื่อนำผลความรอดพ้นมาแบ่งปันแก่มวลมนุษย์ฉันนั้น”[356]

  854     โดยพันธกิจของตน พระศาสนจักร “ดำเนินไปพร้อมกับมวลมนุษยชาติและประสบชะตากรรมเดียวกันร่วมกับโลกและเป็นประดุจวิญญาณของสังคมมนุษย์ที่ต้องรับการฟื้นฟูในพระคริสตเจ้าและเปลี่ยนให้เป็นครอบครัวของพระเจ้า”[357] งานธรรมทูตจึงเรียกร้องให้มีความพากเพียร งานนี้เริ่มโดยการประกาศ พระวรสารแก่ประชากรและกลุ่มชนต่างๆ ที่ยังไม่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า[358] ดำเนินต่อไปโดยตั้งชุมชนคริสตชนซึ่งเป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก[359] และตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น[360] เริ่มกระบวนการเข้าสู่วัฒนธรรมเพื่อทำให้การประกาศข่าวดีอยู่ในวัฒนธรรมของประชากรเหล่านั้น[361] แต่ก็อาจต้องประสบผลตรงกันข้าม “ส่วนที่เกี่ยวกับกลุ่มชนและประชากรนั้น พระศาสนจักรค่อยๆ เข้าถึงและแทรกซึมเข้าไปได้เท่านั้น และดังนี้จึงอาจนำเขาเข้ามาเป็นสากลหรือคาทอลิกได้อย่างสมบูรณ์”[362]

  855     พันธกิจของพระศาสนจักรเรียกร้องความพยายามให้มีเอกภาพของบรรดาคริสตชน[363] จริงอยู่ “การแตกแยกของบรรดาคริสตชนเป็นอุปสรรคสำหรับพระศาสนจักรไม่ให้นำความเป็นสากลโดยสมบูรณ์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนมาให้แก่บรรดาบุตรที่มารวมอยู่กับตนโดยทางศีลล้างบาปแล้ว แต่ก็ยังแยกตนไปจากความสนิทสัมพันธ์เต็มเปี่ยมกับพระศาสนจักร ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการยากสำหรับพระศาสนจักรเองที่จะแสดงความเป็นสากลอย่างสมบูรณ์ในความเป็นจริงของชีวิตในทุกๆ ด้าน”[364]

  856     งานธรรมทูตรวมถึงการเสวนาด้วยความเคารพนับถือต่อกันกับผู้ที่ยังไม่ได้รับพระวรสาร[365] บรรดาผู้มีความเชื่ออาจรับประโยชน์สำหรับตนได้จากการเสวนานี้ โดยเรียนรู้ที่จะยอมรับ “ความจริงและพระหรรษทานใดๆไม่ว่าที่ซ่อนอยู่แล้วประหนึ่งเป็นความลับของพระเจ้าในชนชาติต่างๆ”[366] เขาเหล่านี้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ที่ยังไม่รู้เพื่อทำให้ความจริงและความดีที่พระเจ้าทรงแจกจ่ายไว้ในหมู่มนุษย์และประชากรต่างๆ นี้มั่นคง สมบูรณ์ และสูงส่งขึ้น และเพื่อทำให้เขาหลุดพ้นจากความหลงผิดและความชั่ว “เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ความอับอายของปีศาจและความสุขของมนุษย์”[367]

 

[312] Sanctus Ignatius Antiochenus,  Epistula ad Smynaeos 8, 2: SC 10bis, p. 138 (Funk 1, 282).       

[313] เทียบ อฟ 1:22-23.          

[314] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 6: AAS 58 (1966) 953.

[315] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 4: AAS 58 (1966) 950-951.       

[316] เทียบ มธ 28:19.            

[317] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 13: AAS 57 (1965) 17.    

[318] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 26: AAS 57 (1965) 31.   

[319] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Christus Dominus, 11: AAS 58 (1966) 677;  CIC  canones 368-369; CCEO canones 177, # 1, 312. 

[320] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 27.  

[321] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Romanos, Inscr.: SC 10bis, p. 106 (Funk 1, 252)        

[322] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 3, 2: SC 211, 32 (PG 7, 849); cf. Concilium Vaticanum I,Const. Dogm. Pastor aeternus, c. 2 : DS 3057.           

[323] Sanctus Maximus Confessor, Opuscula theologica et polemica: PG 91, 137-140.   

[324] Paulus VI, Adh. ap. Evangelii nuntiandi,  62: AAS 68 (1976) 52.

[325] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 29.  

[326] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 13: AAS 57 (1965) 18.   

[327] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 14: AAS 57 (1965) 18-19.

[328] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 15: AAS 57 (1965) 19.   

[329] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 93.      

[330] Paulus VI, Allocutio in Aede Sixtina, decem exactis annis a sublatis mutuis excommunicationibus inter Romanam et Constantinopolitanam Ecclesias (14 decembris 1975): AAS 68 (1976) 121 ; cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 13-18: AAS 57 (1965) 100-104.

[331] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20.   

[332] Cf. Concilium Vaticanum II, Decl. Nostra aetate, 4: AAS 58 (1966) 742-743.    

[333] Feria VI in passione Domini, Celebratio passionis Domini, Oratio universalia VI: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970)  p. 254.

[334] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20; cf. Id., Decl. Nostra aetate,  3: AAS 58 (1966) 741-742.

[335] Concilium Vaticanum II, Decl. Nostra aetate, 1: AAS 58 (1966) 740.           

[336] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20; cf. Id., Decl. Nostra aetate,  2: AAS 58 (1966) 740-741; Paulus VI, Adh. ap. Evangelii nuntiandi, 53: AAS 68 (1976) 41.   

[337] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20.   

[338] Cf. Sanctus Augustinus, Sermo 96, 7, 9 : PL 38, 588.        

[339] Sanctus Ambrosius,  De virginitate 18, 119: Sancti Ambrosii Episcopi Mediolanensis opera, v. 14/2 (Milano-Roma 1989) p. 96 (PL 16, 297).

[340] เทียบ 1 ปต 3:20-21        

[341] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 14: AAS 57 (1965) 18.   

[342] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20; cf. Sanctum Officium, Epistula ad Archiepiscopum Bostoniensem (8 augusti 1949); DS 3866-3872.        

[343] เทียบ ฮบ 11:6.             

[344] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 7: AAS 58 (1966) 955.             

[345] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 1: AAS 58 (1966) 947.

[346] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 2: AAS 58 (1966) 948.             

[347] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio, 23: AAS 83 (1991) 269-270.

[348] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 6: AAS 58 (1966) 842-843; Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio,  11: AAS 83 (1991) 259-260.

[349] Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio,  21: AAS 83 (1991) 268.     

[350] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 5: AAS 58 (1966) 952.             

[351] Tertullianus, Apologeticum, 50, 13: CCL 1, 171 (PL 1, 603).     

[352] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes,  43: AAS 58 (1966) 1064.

[353] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12; cf. Ibid., 15: AAS 57 (1965) 20.

[354] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 1: AAS 58 (1966) 947.

[355] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio,  12-20: AAS 83 (1991) 260-268.           

[356] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 12.    

[357] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes,  40: AAS 58 (1966) 1058.

[358] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio,  42-47: AAS 83 (1991) 289-295.           

[359] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 15: AAS 58 (1966) 964.         

[360] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio, 48-49: AAS 83 (1991) 295-297.            

[361] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio, 52-54: AAS 83 (1991) 299-302.            

[362] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 6: AAS 58 (1966) 953.             

[363] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio, 50: AAS 83 (1991) 297-298.

[364] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 4: AAS 57 (1965) 96.     

[365] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio,  55: AAS 83 (1991) 302-304.

[366] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 9: AAS 58 (1966) 958.             

[367] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 9: AAS 58 (1966) 958.              

IV. พระศาสนจักรสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก

IV.   พระศาสนจักรสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก

  857     พระศาสนจักรสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวกเพราะมีบรรดาอัครสาวกเป็นประดุจรากฐานในสามความหมายดังต่อไปนี้

- พระศาสนจักรได้สร้างขึ้นและยังคงสร้างอยู่เป็นอาคาร “โดยมีบรรดาอัครสาวกเป็นรากฐาน” (อฟ 2:20[368]) บรรดาอัครสาวกเหล่านี้เป็นพยานที่พระคริสตเจ้าทรงเลือกและส่งออกไป[369]

- พระศาสนจักรโดยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้าผู้ประทับอยู่ในพระศาสนจักร เก็บรักษาคำสอน[370] ซึ่งเป็นดังขุมทรัพย์ที่ถูกฝากไว้ เป็นถ้อยคำนำความรอดพ้นที่ได้ยินมาจากบรรดาอัครสาวก[371]และส่งต่อไป

- พระศาสนจักรได้รับคำสั่งสอน ความศักดิ์สิทธิ์ และยังคงรับการนำต่อมาจากบรรดาอัครสาวกจนถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้าอาศัยความช่วยเหลือของผู้ที่รับหน้าที่อภิบาลต่อ
จากท่าน อาศัยความช่วยเหลือของคณะพระสังฆราช “ซึ่งมีบรรดาพระสงฆ์คอยช่วยเหลือ ร่วมกับผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร ผู้อภิบาลสูงสุดของพระศาสนจักร”[372]

“พระองค์คือพระผู้อภิบาลสถิตนิรันดร มิได้ทรงทอดทิ้งประชากรซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะของพระองค์ แต่ทรงแต่งตั้งบรรดาอัครสาวกให้ปกป้องรักษาไว้ตลอดมา ท่านเหล่านี้จึงปฏิบัติงานแทนองค์พระบุตร ปกครองดูแลปวงประชาของพระองค์สืบมาจนทุกวันนี้”[373]


พันธกิจของบรรดาอัครสาวก

 858     พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น    “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21)[374] ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)[375]

  859     พระเยซูเจ้าทรงรับเขาเหล่านี้ให้มาร่วมพันธกิจที่ทรงได้รับมาจากพระบิดา เช่นเดียวกับที่ “พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดตามใจของตน” (ยน 5:19,30) แต่รับทุกสิ่งจากพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาฉันใด ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงส่งไปก็ไม่อาจทำอะไรโดยไม่มีพระองค์[376] ที่ประทานอำนาจให้เขาปฏิบัติพันธกิจที่ทรงมอบให้เขาทำได้ฉันนั้น ดังนั้น บรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าจึงรู้ว่าพระเจ้าทรงทำให้ตนเป็น “ผู้รับใช้พันธสัญญาใหม่” (2 คร 3:6) เป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” (2 คร 6:4) “เป็นทูตแทนพระคริสตเจ้า” (2 คร 5:20) “เป็นผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า เป็นผู้จัดการดูแลธรรมล้ำลึกของพระเจ้า” (1 คร 4:1) ได้อย่างเหมาะสม

  860     ในบทบาทของบรรดาอัครสาวก มีบางมิติที่ไม่อาจส่งต่อไปได้ นั่นคือการที่เขาเหล่านี้ได้รับเลือกไว้ให้เป็นพยานของการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นรากฐานของพระศาสนจักร แต่บทบาทของเขาเหล่านี้ก็ยังมีมิติอื่นที่ยังคงอยู่ตลอดไปด้วยพระคริสตเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงอยู่กับเขาตราบจนสิ้นพิภพด้วย[377] “พระคริสตเจ้าทรงฝากพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้นั้นไว้กับบรรดาอัครสาวก พันธกิจนี้จะคงอยู่ตราบจนสิ้นพิภพ เพราะพระวรสารที่เขาเหล่านี้จะต้องมอบต่อไปนั้นเป็นหลักการดำเนินชีวิตทั้งหมดสำหรับพระศาสนจักรตลอดไป เพราะฉะนั้น […] บรรดาอัครสาวกจึงเอาใจใส่ที่จะแต่งตั้งผู้สืบตำแหน่งต่อไป”[378]


บรรดาพระสังฆราชเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก

  861     “เพื่อให้พันธกิจที่ตนได้รับมอบหมายมานั้นได้ดำเนินต่อไปหลังจากที่เขาทั้งหลายสิ้นชีวิตแล้ว บรรดาอัครสาวกจึงถ่ายทอดพันธกิจการปฏิบัติงานที่ได้เริ่มไว้แล้วให้สำเร็จและคงอยู่ต่อไปแก่ผู้ร่วมงานใกล้ชิดของตนเป็นเสมือนพินัยกรรม มอบหมายให้เขาเหล่านี้เอาใจใส่ดูแลบรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะทั้งหมดที่พระจิตเจ้าทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้เลี้ยงดูพระศาสนจักรของพระเจ้า และดังนี้เขาจึงแต่งตั้งบุรุษเหล่านี้แล้วสั่งว่าเมื่อเขาสิ้นชีวิตจากไปแล้ว คนอื่นที่เหมาะสมจะต้องรับมอบศาสนบริการนี้สืบต่อไป”[379]

  862     “บทบาทหน้าที่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายแก่เปโตรผู้เป็นเอกในบรรดาอัครสาวกเป็นพิเศษคงอยู่และต้องถูกมอบต่อไปแก่ผู้สืบตำแหน่งของเขาฉันใด บทบาทของบรรดาอัครสาวกที่จะต้องอภิบาลดูแลพระศาสนจักรจึงต้องปฏิบัติสืบต่อตลอดไปโดยบรรดาผู้ดำรงตำแหน่ง   พระสังฆราชฉันนั้น” เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงสอนว่า “พระเจ้าทรงกำหนดให้บรรดาพระสังฆราชสืบตำแหน่งแทนที่บรรดาอัครสาวกปฏิบัติหน้าที่ผู้อภิบาล ผู้ใดฟังเขาเหล่านี้ก็ฟังพระคริสตเจ้า ผู้ที่ดูหมิ่นเขาก็ดูหมิ่นพระคริสตเจ้าและผู้ที่ส่งพระคริสตเจ้ามา”[380]


งานธรรมทูตเยี่ยงบรรดาอัครสาวก

  863     พระศาสนจักรทั้งหมดสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก โดยทางผู้สืบตำแหน่งของเปโตรและบรรดาอัครสาวก ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ร่วมความเชื่อและชีวิตกับต้นกำเนิดของตน พระศาสนจักรทั้งหมดสืบเนื่องมาจากอัครสาวกในฐานะที่ “ถูกส่งไป” ทั่วโลก สมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรล้วนมีส่วนร่วมพันธกิจนี้แม้ด้วยวิธีการแตกต่างกัน “กระแสเรียกการเป็น คริสตชน โดยธรรมชาติ ยังเป็นกระแสเรียกให้ปฏิบัติงานธรรมทูตเยี่ยงบรรดาอัครสาวก” “การออกแรงปฏิบัติงานของพระกายทิพย์ทั้งหมด” ได้ชื่อว่าเป็น “งานธรรมทูตเยี่ยงบรรดา     อัครสาวก” เพื่อแผ่ขยาย “พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าไปทุกแห่งทั่วโลก”[381]

  864     “เนื่องจากพระคริสตเจ้าที่พระบิดาทรงส่งมาเป็นบ่อเกิดและต้นกำเนิดของงานธรรมทูตทั้งหมดของพระศาสนจักร จึงเห็นได้ชัดว่าความสำเร็จของงานธรรมทูต” ทั้งของบรรดาศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชและของบรรดาฆราวาส “ล้วนขึ้นกับการที่เขามีชีวิตสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า”[382] งานธรรมทูตเยี่ยงบรรดาอัครสาวกมีรูปแบบหลายหลากมากตามกระแสเรียก ตามความต้องการของกาลเวลา ตามพระพรต่างๆ ของพระจิตเจ้า แต่ความรัก โดยเฉพาะความรักที่ตักตวงมาจาก    ศีลมหาสนิท “เป็นดังวิญญาณของงานธรรมทูตทั้งมวล” เสมอ[383]

  865     พระศาสนจักรเป็น หนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องจากอัครสาวก ในเอกลักษณ์ลึกซึ้งและสุดท้าย เพราะในพระศาสนจักรนี้มี “พระอาณาจักรสวรรค์” “พระอาณาจักรของพระเจ้า” อยู่แล้วซึ่งจะสำเร็จสมบูรณ์ในวาระสุดท้าย[384] พระอาณาจักรนี้มาถึงแล้วในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าและจิตใจของผู้ที่ร่วมพระวรกายเดียวกับพระองค์ ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นอย่างลึกลับจนถึงการปรากฏตัวอย่างสมบูรณ์ในอันตกาล เมื่อนั้นมนุษย์ทุกคนที่ได้รับการไถ่กู้จากพระองค์ กลายเป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินด้วยความรักเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า” ในพระองค์[385] จะมารวมกันเป็นประชากรหนึ่งเดียวของพระเจ้า เป็น “เจ้าสาวของลูกแกะ”[386] เป็น “นครศักดิ์สิทธิ์ที่ลงมาจากสวรรค์ มาจากพระเจ้า มีพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”[387] “และกำแพงเมืองตั้งอยู่บนฐานศิลาสิบสองฐาน บนฐานศิลานั้นมีชื่อของอัครสาวกทั้งสิบสององค์ของลูกแกะ” (วว 21:14)

 

[368] เทียบ วว 21:14.            

[369] เทียบ มธ 28 :16-20; กจ 1:8; 1 คร 9:1; 15:7-8 ; กท1:1; ฯลฯ    

[370] เทียบ กจ 2:42.             

[371] เทียบ 2 ทธ 1:13-14.         

[372] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 5: AAS 58 (1966) 952.              

[373] Praefatio de Apostolis I: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 426. 

[374] เทียบ ยน 13:20; 17:18.     

[375] เทียบ ลก 10:16.            

[376] เทียบ ยน 15:5.             

[377] เทียบ มธ 28:20.            

[378] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 20: AAS 57 (1965) 23.  

[379] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 20: AAS 57 (1965) 23; Cf. Sanctus Clemens Romanus, Epistula ad  Corinthios, 42, 4: SC 167, 168-170 (Funk, 1, 152); Ibid., 44, 2: SC 167, 172 (Funk, 1, 154-156).   

[380] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 20: AAS 57 (1965) 24.  

[381] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 2: AAS 58 (1966) 838.

[382] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 4: AAS 58 (1966) 840; เทียบ ยน 15:5 . 

[383] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 3: AAS 58 (1966) 839.

[384] เทียบ วว 19:6.             

[385] เทียบ อฟ 1:4.              

[386] เทียบ วว 21:9.             

[387] เทียบ วว 21:10-11.          

สรุป

สรุป

 866      พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว - มีองค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว ประกาศความเชื่อหนึ่งเดียว บังเกิดจากศีลล้างบาปหนึ่งเดียว รวมเข้าเป็นร่างกายเดียว รับชีวิตจากพระจิตเจ้าองค์เดียว มุ่งสู่ความหวังประการเดียว[388]ซึ่งเมื่อการนี้สำเร็จลงความแบ่งแยกทั้งหลายก็จะถูกพิชิตไป

 867      พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทรงสถาปนาขึ้น พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนเจ้าบ่าวผู้ทรงมอบพระองค์เองเพื่อบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ พระจิตเจ้าผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ทรงบันดาลชีวิตให้ ถึงแม้ว่าพระศาสนจักรยังรวมบรรดาคนบาปไว้ แต่พระศาสนจักรก็ปราศจากบาปที่คนบาปทำไว้ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรฉายแสงอยู่ในบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของตน พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์แล้วอย่างสมบูรณ์ในพระนางมารีย์

 868      พระศาสนจักรเป็นสากลพระศาสนจักรประกาศความเชื่อทั้งหมดโดยสมบูรณ์ เก็บรักษาและแจกจ่ายเครื่องมือทุกอย่างที่จะนำความรอดพ้นมาให้มนุษย์ พระศาสนจักรถูกส่งไปพบชนทุกชาติ พระศาสนจักรมุ่งไปหามนุษย์ทุกคน ครอบคลุมเวลาทั้งหมด พระศาสนจักรจึงเป็นธรรมทูตโดยธรรมชาติ[389]

 869      พระศาสนจักรสืบเนื่องจากอัครสาวก – พระศาสนจักรถูกสถาปนาขึ้นบนรากฐานที่มั่นคง คืออัครสาวกทั้งสิบสององค์ของลูกแกะ[390] พระศาสนจักรไม่มีวันถูกทำลายได้[391] พระศาสนจักรถูกรักษาไว้ในความจริงหลงผิดไม่ได้ พระคริสตเจ้าทรงปกครองพระศาสนจักรผ่านทางเปโตรและบรรดาอัครสาวกอื่นๆ ซึ่งยังคงอยู่ในบรรดาผู้สืบตำแหน่งของเขาเหล่านี้ คือในสมเด็จพระสันตะปาปาและคณะพระสังฆราช

 870      “พระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า ซึ่งเราประกาศในสูตรประกาศความเชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากลและสืบเนื่องจากอัครสาวก […] นี้ดำรงอยู่ในพระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งมีผู้สืบตำแหน่งของเปโตรและบรรดาพระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับพระสันตะปาปาเป็นผู้ปกครอง ถึงกระนั้นภายนอกขอบเขตของพระศาสนจักรเรายังพบองค์ประกอบหลายประการของความจริงและการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ได้อีกด้วย[392]

 

[388] เทียบ อฟ 4:3-5.           

[389] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 2: AAS 58 (1966) 948.             

[390] เทียบ วว 21:14.            

[391] เทียบ มธ 16:18.            

[392] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 8: AAS 57 (1965) 11-12. 

วรรค 4

ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า

พระฐานานุกรม ฆราวาส ชีวิตถวายตนแด่พระเจ้า

 871     “คริสตชนผู้มีความเชื่อคือผู้ที่เข้ามารวมเป็นกายเดียวกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาอยู่ในประชากรของพระเจ้า และเพราะเหตุนี้จึงมีส่วนในหน้าที่สมณะ  ประกาศกและกษัตริย์ร่วมกับพระคริสตเจ้าด้วยวิธีการของตนตามฐานะเฉพาะของแต่ละคน  เขาได้รับเรียกให้มาปฏิบัติพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้พระศาสนจักรปฏิบัติจนสำเร็จในโลก”[393]

 872     “สืบเนื่องมาจากการที่คริสตชนผู้มีความเชื่อได้บังเกิดใหม่ในพระคริสตเจ้า ทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและกิจกรรมซึ่งทำให้ทุกคนต้องร่วมมือกันตามฐานะและบทบาทเฉพาะของตนเพื่อเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสตเจ้า”[394]

 873     ความแตกต่างที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จัดไว้ในอวัยวะส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายของพระองค์นั้นเองช่วยรักษาเอกภาพและพันธกิจของพระวรกายนั้น เพราะว่า “ในพระศาสนจักรมีศาสนบริการแตกต่างกัน แต่ก็มีพันธกิจหนึ่งเดียว พระคริสตเจ้าทรงมอบบทบาทให้แก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาให้มีอำนาจสั่งสอน บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และปกครองในพระนามของพระองค์ แต่บรรดาฆราวาสซึ่งมีส่วนร่วมในพันธกิจสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า ก็ทำให้บทบาทส่วนของตนในพันธกิจของประชากรทั้งหมดของพระเจ้าสำเร็จไปในพระศาสนจักรและในโลก”[395] ในที่สุด “ยังมีคริสตชนจากทั้งสองกลุ่ม (คือจากกลุ่มพระฐานานุกรมและจากกลุ่มฆราวาส) ซึ่งปฏิญาณตนจะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสาร ถวายตนเป็นพิเศษแด่พระเจ้าเพื่อช่วยเหลือ   พันธกิจกอบกู้ของพระศาสนจักร”[396]

 

[393]  CIC canon 204, # 1; cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 31: AAS 57 (1965) 37-38.        

[394] CIC canon 208; cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 32: AAS 57 (1965) 38-39.             

[395] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 2: AAS 58 (1966) 838-839.            

[396] CIC canon 207, # 2.       

I. การสถาปนาพระฐานานุกรมของพระศาสนจักร

I.  การสถาปนาพระฐานานุกรมของพระศาสนจักร

ทำไมต้องมีศาสนบริการของพระศาสนจักร

 874     พระคริสตเจ้าเองทรงเป็นบ่อเกิดของศาสนบริการในพระศาสนจักร พระองค์ทรงสถาปนา   พระศาสนจักร ประทานอำนาจและพันธกิจ ชี้แนะแนวทางและจุดหมายให้

              “พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดตั้งให้พระศาสนจักรมีศาสนบริการต่างๆ ซึ่งมุ่งหาความดีของร่างกายส่วนรวม บรรดาศาสนบริกรผู้มีอำนาจเป็นผู้รับใช้บรรดาพี่น้องเพื่อให้ทุกคนที่เป็นสมาชิกในประชากรของพระเจ้า […] บรรลุถึงความรอดพ้นได้”[397]

 875    “เขาจะเชื่อได้อย่างไรถ้าไม่เคยได้ยิน จะได้ยินได้อย่างไรถ้าไม่มีใครประกาศสอน จะมีผู้ประกาศสอนได้อย่างไรถ้าไม่มีใครส่งไป” (รม 10:14-15) ไม่มีใคร ทั้งปัจเจกชนและชุมชน อาจประกาศข่าวดีแก่ตนเองได้ “ความเชื่อมาจากการฟัง” (รม 10:17) ไม่มีใครจะออกคำสั่งและมอบพันธกิจประกาศข่าวดีแก่ตนเองได้ ผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งไปพูดและทำงานไม่ใช่ตามอำนาจส่วนตัวของตน แต่โดยอำนาจของพระคริสตเจ้า เขาพูดไม่ใช่ในฐานะสมาชิกของชุมชน แต่พูดกับชุมชนในพระนามของพระคริสตเจ้า ไม่มีผู้ใดประทานพระหรรษทานแก่ตนเองได้ แต่ต้องได้รับเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบให้เป็นของประทาน   การนี้จึงเรียกร้องให้มีศาสนบริกรของพระหรรษทานซึ่งมีอำนาจและความเหมาะสมที่พระคริสตเจ้าประทานให้ บรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์ได้รับพันธกิจและอนุญาต (“อำนาจศักดิ์สิทธิ์”) ให้ปฏิบัติงาน ในบุคคลขององค์พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ[แห่งพระกายทิพย์] (in persona Christi Capitis) ส่วนบรรดาสังฆานุกรได้รับพลังที่จะรับใช้ประชากรของพระเจ้าใน “การรับใช้” (“diaconia”) เกี่ยวกับพิธีกรรม พระวาจาและงานเมตตากิจร่วมกับพระสังฆราชและคณะสงฆ์ของท่าน ศาสนบริการซึ่งผู้ที่พระคริสตเจ้าทรงส่งไปกระทำและแจกจ่ายจากพระพรที่พระเจ้าประทานให้ แต่เขาเองไม่อาจทำและแจกจ่ายได้นี้ ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเรียกว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์” พระศาสนจักรมอบศาสนบริการให้แก่ผู้หนึ่งทางศีลศักดิ์สิทธิ์หนึ่งโดยเฉพาะ (คือ ศีลบวช)

 876    ธรรมชาติของศาสนบริการของพระศาสนจักรที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับศีลศักดิ์สิทธิ์ก็คือลักษณะการรับใช้ บรรดาศาสนบริกรซึ่งขึ้นอยู่กับพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบพันธกิจและอำนาจให้นั้นเป็น “ผู้รับใช้พระคริสตเจ้า” โดยแท้จริง[398]ตามรูปแบบของพระคริสตเจ้าผู้ทรงยินดีรับ “สภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) เพื่อเรา เนื่องจากว่าพระวาจาและพระหรรษทานที่เขาเป็นศาสนบริกรนั้นไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบให้เขาแจกจ่ายแก่ผู้อื่น เขาทั้งหลายจึงต้องสมัครใจยอมเป็นทาสของทุกคน[399]

 877    ในทำนองเดียวกัน ศาสนบริการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรมีธรรมชาติเป็นศาสนบริการร่วมกันเป็นหมู่คณะ อันที่จริง นับตั้งแต่เมื่อทรงเริ่มออกเทศนาสั่งสอนแล้ว พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งศิษย์สิบสองคนให้เป็น “เมล็ดพันธุ์ของอิสราเอลใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นของพระฐานานุกรม”[400]เขาเหล่านี้ได้รับเลือกพร้อมกัน และยังถูกส่งไปพร้อมกันด้วย เอกภาพการเป็นพี่น้องกันของเขาทั้งหลายจะต้องมีอยู่เพื่อรับใช้ผู้มีความเชื่อทุกคนซึ่งมีความสัมพันธ์กันฉันพี่น้อง ซึ่งจะเป็นเสมือนภาพสะท้อนและเป็นพยานยืนยันถึงความสนิทสัมพันธ์ของพระเจ้าทั้งสามพระบุคคล[401] เพราะเหตุนี้ พระสังฆราชแต่ละองค์จึงปฏิบัติศาสนบริการของตนภายในคณะพระสังฆราช ในความสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตรและเป็นประมุขของคณะพระสังฆราช บรรดาพระสงฆ์ก็ปฏิบัติศาสนบริการในคณะสงฆ์ของสังฆมณฑลภายใต้การปกครองดูแลของพระสังฆราชของตน

 878    ในที่สุด ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรยังมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลด้วย ถ้าบรรดาศาสนบริกรของพระคริสตเจ้าทำงานร่วมกัน เขาก็ยังทำงานเป็นการส่วนตัวด้วย เขาแต่ละคนได้รับเรียกมาเป็นการส่วนตัว “ท่านจงตามเรามาเถิด” (ยน 21:22)[402] เพื่อว่าในพันธกิจส่วนรวม เขาแต่ละคนจะได้เป็นพยานส่วนตัว รับผิดชอบเป็นการส่วนตัวเฉพาะพระพักตร์พระองค์ผู้ประทานพันธกิจให้เขาทำงาน “ในพระบุคคลของพระองค์” และเพื่อผู้อื่น “ข้าพเจ้าล้างท่านเดชะพระนามพระบิดา...” “ข้าพเจ้าอภัยบาปท่าน....”

 879     ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรจึงเป็นศาสนบริการที่ทำในพระนามพระคริสตเจ้า การนี้มีลักษณะเป็นส่วนตัวและส่วนรวม ลักษณะนี้สำเร็จเป็นจริงระหว่างคณะพระสังฆราชกับพระประมุขผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร และในความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบด้านอภิบาลของพระสังฆราชสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นของตนกับความเอาใจใส่ส่วนรวมที่คณะพระสังฆราชต้องมีต่อพระศาสนจักรสากล

 

คณะพระสังฆราชและสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ทรงเป็นประมุข

 880    เมื่อพระคริสตเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนนั้น “ทรงแต่งตั้งเขาไว้ให้เป็นกลุ่มหรือคณะถาวร และทรงเลือกเปโตรให้เป็นหัวหน้า”[403] “เช่นเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงแต่งตั้ง นักบุญเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ก็รวมกันเป็นคณะอัครสาวกกลุ่มเดียว ในทำนองเดียวกันสมเด็จพระสันตะปาปาผู้สืบตำแหน่งต่อจากเปโตรและบรรดาพระสังฆราชก็รวมกันเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อมาจากบรรดาอัครสาวกด้วย”[404]

 881    องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งให้ซีโมนคนเดียวที่ทรงให้นามว่า “เปโตร” เป็นศิลาตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ และทรงมอบกุญแจ(พระศาสนจักร)ให้เขา[405] ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้อภิบาลดูแลฝูงแกะทั้งหมด[406] “เห็นได้ชัดว่าบทบาทที่จะผูกและแก้ที่เปโตรได้รับนี้ยังได้ทรงมอบให้แก่   คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนอีกด้วย”[407] บทบาทผู้อภิบาลนี้ของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ เกี่ยวข้องกับรากฐานของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชสืบต่อบทบาทนี้โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นประมุข

 882    สมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชแห่งกรุงโรมและผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร “เป็นบ่อเกิดและเป็นรากฐานถาวรที่เราแลเห็นได้ของเอกภาพทั้งของบรรดาพระสังฆราชและของบรรดาผู้มีความเชื่อทั้งหลาย”[408] “สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอำนาจบริบูรณ์สูงสุดเหนือพระศาสนจักรตามบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้แทนของพระคริสตเจ้าและผู้อภิบาลดูแลพระศาสนจักรทั้งหมดและทรงใช้อำนาจนี้ได้อย่างอิสระเสรีเสมอ”[409]

 883     “ส่วนคณะพระสังฆราชมีอำนาจปกครองร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปา […] ในฐานะที่ทรงเป็นหัวหน้าคณะเท่านั้น” สภาพระสังฆราชนี้ในตนเอง “แม้จะอยู่ใต้บังคับ(ของพระสันตะปาปา)ก็ยังมีอำนาจสูงสุดและสมบูรณ์เหนือพระศาสนจักรสากล แต่อำนาจนี้อาจมีผลบังคับได้โดยที่พระสันตะปาปาทรงเห็นชอบด้วยเท่านั้น”[410]

 884     “สภาพระสังฆราชใช้อำนาจเหนือพระศาสนจักรสากลนี้ด้วยวิธีการอย่างสง่าในสภาสังคายนาสากล”[411] “แต่สภาสังคายนาสากลก็เป็นเช่นนั้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการรับรองหรืออย่างน้อยการรับรู้จากผู้สืบตำแหน่งของเปโตร”[412]

 885     “สภาพระสังฆราชในฐานะที่รวบรวมมาจากพระสังฆราชจำนวนมาก จึงแสดงให้เห็นความแตกต่างและความเป็นสากลของประชากรของพระเจ้า ในฐานะที่แสดงให้เห็นเอกภาพของฝูงแกะของพระคริสตเจ้าที่อยู่ใต้ปกครองของประมุขหนึ่งเดียว”[413]

 886    “พระสังฆราชแต่ละองค์เป็นที่มาและรากฐานที่แลเห็นได้ของเอกภาพภายในพระศาสนจักรท้องถิ่นของตน”[414] ในฐานะนี้บรรดาพระสังฆราช “ปฏิบัติงานอภิบาลปกครองของตนเหนือประชากรของพระเจ้าส่วนที่ถูกมอบหมายไว้ให้[415]ปกครองดูแล” โดยมีคณะสงฆ์และสังฆานุกรเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาพระสังฆราช พระสังฆราชแต่ละองค์จึงมีส่วนร่วมความเอาใจใส่ดูแลพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่ง[416] ซึ่งเขาทำได้โดยเฉพาะ “เมื่อปกครองพระศาสนจักรของตนอย่างดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรสากล” และทำเช่นนี้ “เพื่อผลประโยชน์ของพระกายทิพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นประหนึ่งพระศาสนจักร(ท้องถิ่น)ทั้งหลายที่รวมเป็นร่างกายเดียวกันด้วย”[417] ความเอาใจใส่ดูแลนี้จะต้องขยายโดยเฉพาะไปสู่คนยากจน[418] และผู้ที่ถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อ และยังขยายไปสู่บรรดาธรรมทูตผู้ทำงานอยู่ทั่วโลกด้วย

887     พระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันและมีวัฒนธรรมเดียวกันมักรวมกันเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ขึ้นซึ่งเรียกว่า “ภาคปกครองของพระสังฆัยกา” (Patriarchatus) หรือ “ภาค”[419] บรรดาพระสังฆราชของเขตปกครองเหล่านี้อาจมาร่วมประชุมสมัชชาหรือสภาสังคายนาประจำแคว้นได้ “โดยวิธีคล้ายกันนี้ สภาพระสังฆราชต่างๆในปัจจุบันจึงอาจช่วยเหลือได้อย่างมากและมีประสิทธิผลเพื่อทำให้จิตตารมณ์การรวมตัวกันถูกนำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจัง”[420]

 
หน้าที่สั่งสอน

 888     บรรดาพระสังฆราช พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ผู้ช่วยของท่าน “ก่อนอื่นมีหน้าที่ประกาศข่าวดีของพระวรสารของพระเจ้าแก่ทุกคน”[421] ตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า[422] ท่านเหล่านี้ “เป็นผู้ประกาศความเชื่อ นำศิษย์ใหม่ๆ เข้ามาหาพระคริสตเจ้า และเป็นผู้สั่งสอนความเชื่อของบรรดาอัครสาวกอย่างแท้จริงโดยอำนาจของพระคริสตเจ้าที่ได้รับมา”[423]

 889     พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงทรงประสงค์ให้พระศาสนจักรมีส่วนร่วมในความไม่รู้จักหลงผิดของพระองค์ เพื่อทรงรักษาพระศาสนจักรไว้ให้มีความเชื่อถูกต้องตามที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก ประชากรของพระเจ้า “ยึดมั่นในความเชื่ออย่างไม่ผิดพลั้งอาศัย ‘ความสำนึกในความเชื่อเหนือธรรมชาติ’ โดยมีผู้มีอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ”[424]

 890     พันธกิจของพระศาสนจักรผู้มีอำนาจสั่งสอนมีความสัมพันธ์กับลักษณะเด็ดขาดสมบูรณ์ของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงรื้อฟื้นกับประชากรของพระองค์ในพระคริสตเจ้า พระองค์ต้องป้องกันประชากรนี้ไว้จากการหลงทางและความผิดพลาด คอยดูแลรักษาให้ประกาศความเชื่อที่ถูกต้องได้โดยไม่หลงผิด ดังนั้น บทบาทด้านอภิบาลของพระศาสนจักรผู้มีอำนาจสั่งสอนจึงถูกจัดไว้เพื่อคอยดูแลให้ประชากรของพระเจ้ามั่นคงอยู่ในความจริงที่ช่วยให้รอดพ้น เพื่อจะปฏิบัติศาสนบริการประการนี้ได้สำเร็จ พระคริสตเจ้าจึงประทานพระพรพิเศษให้บรรดาผู้อภิบาลหลงผิดไม่ได้ในเรื่องความเชื่อและศีลธรรม การใช้พระพรพิเศษนี้อาจมีรูปแบบต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

891      “สมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขของคณะพระสังฆราช อาศัยบทบาทตามหน้าที่ผู้อภิบาลสูงสุดของคริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน เป็นผู้สั่งสอนที่จะต้องทำให้บรรดาพี่น้องมั่นคงในความเชื่อและประกาศคำสอนเรื่องความเชื่อและศีลธรรมอย่างเด็ดขาดเป็นทางการ มีความไม่รู้จักผิดหลงนี้ […] ความไม่รู้จักผิดหลงที่พระคริสตเจ้าทรงสัญญาไว้นี้ยังอยู่กับคณะพระสังฆราชทั้งหมดด้วยเมื่อคณะพระสังฆราชนี้ใช้อำนาจสั่งสอนสูงสุดของตนพร้อมกับผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร” โดยเฉพาะในสภาสังคายนาสากล[425] เมื่อพระศาสนจักรใช้อำนาจสั่งสอนสูงสุดของตนเสนอข้อความบางข้อ “ว่าเป็นข้อความเชื่อที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ต้องเชื่อ”[426] และเป็นคำสอนของพระคริสตเจ้าที่ทุกคน “ต้องยึดถือเป็นข้อความเชื่อที่กำหนดไว้”[427] ความไม่รู้จักผิดหลงดังกล่าวนี้ “แผ่ขยายครอบคลุมเนื้อหาการเปิดเผยทั้งหมดจากพระเจ้า”[428]

892      พระเจ้าประทานความช่วยเหลือทั้งแก่ผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวกที่สั่งสอนในความสัมพันธ์ร่วมกับผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตรด้วย โดยเฉพาะแก่พระสังฆราชของกรุงโรมซึ่งเป็นผู้อภิบาลพระศาสนจักรทั้งหมดเมื่อใช้อำนาจสั่งสอนตามปกติอธิบายคำสั่งสอนซึ่งช่วยให้เข้าใจความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยในเรื่องความเชื่อและศีลธรรมได้ดียิ่งขึ้น แม้เมื่อยังไม่ถึงกับให้  คำนิยามที่ไม่รู้จักผิดพลั้ง และไม่ต้องการให้เป็นคำสั่งสอน “อย่างเด็ดขาด” ก็ตาม บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ “ต้องยึดถือเชื่อฟังคำสั่งสอนตามปกตินี้ด้วยจิตใจที่เลื่อมใส”[429] ความเชื่อฟังเช่นนี้ แม้จะต่างจากการเห็นพ้องของความเชื่อ แต่ก็คล้ายๆ กัน


หน้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์

 893     พระสังฆราชยังเป็น “ผู้จัดการพระหรรษทานของสมณภาพสูงสุด” ด้วย[430] โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เขาถวายเองและที่เขาจัดให้มีการถวายโดยบรรดาพระสงฆ์ผู้ร่วมงาน พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นศูนย์กลางพิเศษของชีวิตพระศาสนจักร พระสังฆราชและบรรดาพระสงฆ์ยังบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ด้วยการอธิษฐานภาวนาและการปฏิบัติงานของตนผ่านทางศาสนบริการพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เขายังบันดาลความศักดิ์สิทธิ์(แก่พระศาสนจักร)ผ่านทางแบบอย่างชีวิตของตน “มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้อยู่ใต้ปกครอง แต่เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ” (1 ปต 5:3) และดังนี้ “เขาก็จะบรรลุถึงชีวิตนิรันดรพร้อมกับฝูงแกะที่เขารับฝากดูแล”[431]


หน้าที่ปกครองดูแล

 894     “บรรดาพระสังฆราชปกครองพระศาสนจักรท้องถิ่นที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลในฐานะผู้แทนและผู้ช่วยของพระคริสตเจ้า โดยคำแนะนำ คำตักเตือน แบบอย่าง และโดยอำนาจหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย”[432] ซึ่งเขาต้องใช้อำนาจนี้เพื่อเสริมสร้างด้วยจิตใจการรับใช้ ซึ่งเป็นจิตใจของพระอาจารย์ของเขา[433]

 895     “อำนาจนี้ที่เขาใช้ปฏิบัติหน้าที่ของตนส่วนตัวในพระนามของพระคริสตเจ้าเป็นอำนาจเฉพาะตามปกติของเขาโดยตรง แม้ว่าในที่สุดแล้วการใช้อำนาจนี้ต้องถูกควบคุมโดยอำนาจสูงสุดของพระศาสนจักร”[434] แต่ก็ต้องไม่คิดว่าบรรดาพระสังฆราชเป็นเพียงผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่อำนาจสามัญโดยตรงของพระองค์เหนือทั่วพระศาสนจักรไม่ยกเลิกอำนาจปกครองของบรรดาพระสังฆราช แต่ตรงกันข้าม ยังส่งเสริมและปกป้องด้วย พระสังฆราชต้องใช้อำนาจนี้ของตนร่วมกับพระศาสนจักรทั้งหมดโดยมีพระสันตะปาปาทรงคอยแนะนำ

 896     ผู้เลี้ยงแกะที่ดีจะต้องเป็นตัวอย่างและ “รูปแบบ” ของหน้าที่อภิบาลของพระสังฆราช พระสังฆราชต้องสำนึกถึงความอ่อนแอของตน “รู้จักเห็นใจผู้ที่ไม่รู้และหลงผิด ดูแลผู้อยู่ใต้ปกครองเสมือนบุตร […] ต้องไม่ปฏิเสธที่จะรับฟัง […] บรรดาผู้มีความเชื่อก็ต้องมีความใกล้ชิดกับพระสังฆราชเช่นเดียวกับที่พระศาสนจักรชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า และเหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงชิดสนิทกับพระบิดา”[435]

“ท่านทุกคนจงเชื่อฟังพระสังฆราชเช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเชื่อฟังพระบิดา และจงเชื่อฟังคณะสงฆ์เหมือนกับเชื่อฟังบรรดาอัครสาวก ท่านจงเคารพบรรดาสังฆานุกรเหมือนกับพระบัญชาของพระเจ้า อย่าให้ผู้ใดทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรโดยแยกจากพระสังฆราชเลย”[436]

[397] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 18: AAS 57 (1965) 21-22.

[398] เทียบ รม 1:1.

[399] เทียบ 1 คร 9:19.           

[400] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 5: AAS 58 (1966) 951.

[401] เทียบ ยน 17:21-23.         

[402] เทียบ มธ 4:19,21;  ยน 1:43.

[403] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 19: AAS 57 (1965) 22.  

[404] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 25; cf. CIC canon 330.

[405] เทียบ มธ 16:18-19.         

[406] เทียบ ยน 21:15-17.         

[407] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26.  

[408] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 27.                  

[409] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26; cf. Id., Decr. Christus Dominus, 2: AAS 58 (1966) 673; Ibid.,  9: AAS 58 (1966) 676. 

[410] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26; cf. CIC canon 336.

[411] CIC canon 337 # 1.        

[412] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 27.   

[413] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 22: AAS 57 (1965) 26.  

[414] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 27.   

[415] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 27.   

[416]  Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Christus Dominus, 3: AAS 58 (1966) 674.    

[417] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS  57 (1965) 28.  

[418] เทียบ กท 2:10.             

[419] Cf. Canones Apostolorum, 34 [Constitutiones apostolicae 8, 47, 34]: SC 336, 284 (Funk, Didascalia  et Constitutiones Apostolorum  1, 572-574).

[420] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 29.  

[421] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinia,  4: AAS 58 (1966) 995.   

[422] เทียบ มก 16:15.           

[423] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 29.  

[424] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 16;  cf. Id., Const. dogm. Dei Verbum, 10: AAS 58 (1966) 822.

[425] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 30; cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Pastor aeternus, c. 4: DS 3074.

[426] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 10: AAS 58 (1966) 822.    

[427] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 30.  

[428] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 30.  

[429] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 25: AAS 57 (1965) 29-30.

[430] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 26: AAS 57 (1965) 31.  

[431] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 26: AAS 57 (1965) 32.  

[432] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 27: AAS 57 (1965) 32.  

[433] เทียบ ลก 22:26-27.        

[434] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 27: AAS 57 (1965) 32.  

[435] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 27: AAS 57 (1965) 33.  

[436] Sanctus Ignatius Antiochenus,  Epistula ad Smyrnaeos 8, 1: SC 10bis, 138 (Funk 1, 282).         

II. ฆราวาสผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า

II.  ฆราวาสผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า

 897 คำว่า “ฆราวาส” หมายถึงทุกคนผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า นอกจากผู้ได้รับศีลบวชขั้นใดขั้นหนึ่งและผู้อยู่ในสถานะนักพรตในพระศาสนจักร นั่นคือผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าผู้ร่วมในพระวรกายกับพระคริสตเจ้าโดยศีลล้างบาป มีส่วนในบทบาทสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าตามวิธีการของตน และปฏิบัติพันธกิจของประชากรคริสตชนทั้งหมดในพระศาสนจักรและในโลกตามส่วนของตน”[437]


กระแสเรียกของฆราวาส

 898     “โดยกระแสเรียกเฉพาะของตน บรรดาฆราวาสมีหน้าที่แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าโดยปฏิบัติและจัดการกิจการทางโลกตามพระประสงค์ของพระเจ้า […] กิจกรรมทางโลกทุกอย่างจึงเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับบรรดาฆราวาสซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เขาต้องอธิบายความหมายและจัดการให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปและพัฒนายิ่งขึ้นตลอดเวลาตามแผนของพระคริสตเจ้าและเป็นการสรรเสริญพระผู้สร้างและพระผู้กอบกู้”[438]

 899     บรรดาคริสตชนฆราวาสมีหน้าที่เป็นพิเศษที่จำเป็นจะต้องริเริ่มงานถ้าเป็นเรื่องของการค้นคว้าหาให้พบวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้คำสอนและชีวิตคริสตชนแทรกซึมเข้าไปในสภาพความเป็นอยู่ด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ การริเริ่มเหล่านี้เป็นองค์ประกอบชีวิตของพระศาสนจักรตามปกติ

              “บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ โดยเฉพาะบรรดาฆราวาส อยู่ในแนวหน้าชีวิตของพระศาสนจักร อาศัยพวกเขานี้แหละพระศาสนจักรจึงเป็นหลักการชีวิตของสังคมมนุษย์ ดังนั้น เขาเหล่านี้โดยเฉพาะจึงต้องสำนึกอยู่เสมอให้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นว่าตนไม่เพียงแต่อยู่ในพระศาสนจักรเท่านั้น แต่เป็นพระศาสนจักร นั่นคือ เป็นชุมชนคริสตชนในโลกภายใต้ปกครองของผู้เป็นพระประมุขร่วมกัน นั่นคือสมเด็จพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชผู้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ เขาทั้งหลายเป็นพระศาสนจักร”[439]

 900    บรรดาฆราวาสโดยอำนาจของศีลล้างบาปและศีลกำลังได้รับมอบหมายงานธรรมทูตเช่นเดียวกับ คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน เขามีหน้าที่และสิทธิทั้งเป็นการส่วนตัวและเมื่อร่วมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ทุกคนทั่วโลกจะต้องรู้และยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา บอกข่าวความรอดพ้นให้ทราบ หน้าที่นี้ยิ่งเร่งรัดมากขึ้นเพราะมวลมนุษย์จะได้ยินพระวรสารและรู้จักพระคริสตเจ้าได้ผ่านทางพวกเขาเท่านั้น กิจกรรมของเขาในชุมชนของพระศาสนจักร จึงจำเป็นจนกระทั่งว่าถ้าไม่มีกิจกรรมนี้แล้ว งานธรรมทูตของบรรดาผู้อภิบาลส่วนใหญ่ก็จะไม่อาจบรรลุถึงประสิทธิผลสมบูรณ์ได้[440]


การที่ฆราวาสมีส่วนร่วมบทบาทสมณะของพระคริสตเจ้า

 901    “บรรดาฆราวาส ในฐานะที่ถวายตนแด่พระคริสตเจ้าและได้รับเจิมจากพระจิตเจ้า ย่อมได้รับเรียกและสั่งสอนเป็นพิเศษให้บังเกิดผลของพระจิตเจ้าอย่างอุดมสมบูรณ์ในตนอยู่เสมอ กิจการทุกอย่างที่เขาทำ การอธิษฐานภาวนา และงานธรรมทูต การดำเนินชีวิตสมรสและครอบครัว การงานประจำวัน การพักผ่อนจิตใจและร่างกาย ถ้าทำในพระจิตเจ้า ยิ่งกว่านั้น ความทุกข์ยากของชีวิตที่ต้องรับทนด้วยความพากเพียร ก็กลายเป็นเครื่องบูชาฝ่ายจิตซึ่งเป็นที่สบพระทัยพระเจ้าเดชะพระเยซูคริสตเจ้า (เทียบ 1 ปต 2:5) ซึ่งถวายอย่างศรัทธายิ่งในพิธีบูชาขอบพระคุณแด่พระบิดาพร้อมกับการถวายพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า และดังนี้บรรดาฆราวาสในฐานะผู้ประกอบพิธีถวายคารวะอย่างศักดิ์สิทธิ์อยู่ทั่วทุกแห่งหนจึงถวายโลกทั้งหมดแด่พระเจ้า”[441]

 902     ด้วยวิธีเฉพาะเป็นพิเศษ บรรดาบิดามารดาย่อมมีส่วนบทบาทใน “การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์โดยดำเนินชีวิตสามีภรรยาด้วยจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้าและจัดให้บรรดาบุตรได้รับการศึกษาอบรมแบบคริสตชน”[442]

 903    บรรดาฆราวาส ถ้ามีคุณสมบัติตามกำหนด อาจรับอนุญาตให้ปฏิบัติศาสนบริการผู้อ่านพระคัมภีร์และผู้ช่วยพิธีกรรมเป็นการถาวรได้[443] “ในที่ๆ พระศาสนจักรมีความจำเป็นเรียกร้อง ถ้าไม่มีศาสนบริกร แม้บรรดาฆราวาสที่ไม่เป็นผู้อ่านพระคัมภีร์หรือผู้ช่วยพิธีกรรมก็อาจปฏิบัติหน้าที่แทนเขาเหล่านี้ได้ นั่นคือศาสนบริการด้านพระวาจา เป็นผู้นำการภาวนาตามพิธีกรรม ประกอบพิธีศีลล้างบาปและแจกศีลมหาสนิทได้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย”[444]


การที่ฆราวาสมีส่วนร่วมบทบาทประกาศกของพระคริสตเจ้า

 904    “พระคริสตเจ้า […] ทรงปฏิบัติหน้าที่ประกาศกไม่เพียงโดยทางพระฐานานุกรมเท่านั้น […] แต่ยังทรงปฏิบัติหน้าที่นี้โดยทางฆราวาสด้วย พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นพยานและทรงให้มีความสำนึกในความเชื่อ (sensus fidei) และประทานพระหรรษทานด้านพระวาจาให้”[445]

              “การสอนให้ผู้อื่นกลับใจมารับความเชื่อต้องเป็นหน้าที่ของผู้เทศน์หรือผู้มีความเชื่อทุกคน”[446]

 905     บรรดาฆราวาสยังปฏิบัติพันธกิจประกาศกของตนโดยการประกาศข่าวดีด้วย “นั่นคือการประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าด้วยคำพูดและโดยการเป็นพยานด้วยชีวิต” สำหรับฆราวาส “การประกาศข่าวดีนี้มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งและมีประสิทธิภาพเฉพาะจากการนี้คือในสภาพการดำเนินชีวิตตามธรรมดาเหมือนกับทุกคน”[447]

             “ถึงกระนั้น งานธรรมทูตแบบนี้ก็มิได้ประกอบเพียงด้วยการเป็นพยานชีวิตเท่านั้น งานธรรมทูตแท้จริงย่อมแสวงหาโอกาสที่จะประกาศถึงพระคริสตเจ้าด้วยวาจาไม่ว่าแก่ผู้ไม่มีความเชื่อ […] หรือแก่ผู้มีความเชื่อ”[448]

 906     บรรดาฆราวาสเหล่านั้นผู้มีความสามารถและได้รับการอบรมให้ปฏิบัติงานเช่นนี้อาจช่วยเหลือในการอบรมผู้สอนคำสอน[449] ในการสอนวิชาการศักดิ์สิทธิ์ (เทววิทยา)[450] ในการใช้เครื่องมือสื่อมวลชนต่างๆ[451]

 907      “ฆราวาสมีสิทธิตามความรู้ ความถนัด และเชี่ยวชาญที่เขามี และยิ่งกว่านั้น บางครั้งยังมีหน้าที่จะต้องแสดงความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับพระศาสนจักรแก่บรรดาผู้อภิบาลศักดิ์สิทธิ์ โดยยังรักษาความเชื่อและศีลธรรม รวมทั้งความเคารพต่อผู้อภิบาลไว้ไม่ให้บกพร่อง และบอกให้คริสตชนผู้มีความเชื่อคนอื่นรู้ด้วย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและศักดิ์ศรีของบุคคลที่เกี่ยวข้อง”[452]


การที่ฆราวาสมีส่วนร่วมบทบาทปกครองของพระคริสตเจ้า

 908     พระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมรับแม้ความตาย[453] ทรงมอบอิสรภาพให้เป็นของประทานแก่บรรดาศิษย์เพื่อ “เขาจะได้ยอมสละตนเอง ดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์ เอาชนะอำนาจปกครองของบาปในตนเอง”[454]

             “ใครๆ ที่บังคับร่างกายของตนเอง เป็นผู้นำวิญญาณของตนอย่างเข้มแข็งไม่ยอมให้ถูกกิเลสตัณหามา รบกวน ก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจบังคับตนเอง เพราะเขารู้จักเป็นผู้นำตนเองและปกป้องสิทธิของตน ไม่ปล่อยให้ถูกชักนำไปทำผิด”[455]

 909    “นอกจากนั้น บรรดาฆราวาสอาจรวมพลังกันแก้ไขสถาบันและสถานการณ์ของโลกที่อาจชักนำให้ทำบาป เพื่อให้ทุกสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับหลักการความยุติธรรมและส่งเสริมการปฏิบัติคุณธรรมมากกว่าที่จะขัดขวาง โดยการทำเช่นนี้ เขาก็ทำให้วัฒนธรรมและการงานของมนุษย์มีคุณค่าทางศีลธรรม”[456]

 910    “บรรดาฆราวาสอาจรู้สึกว่าตนกำลังได้รับเรียก หรือได้รับเรียกแล้วให้ร่วมงานกับผู้อภิบาลในการรับใช้ชุมชนในพระศาสนจักรเพื่อให้เติบโตและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้นโดยปฏิบัติศาสนบริการต่างๆ ตามพระหรรษทานและพระพรพิเศษที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประทานให้”[457]

 911     ในพระศาสนจักร “บรรดาฆราวาสคริสตชนผู้มีความเชื่ออาจมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานปกครองได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้”[458] และดังนี้พระศาสนจักรยอมให้ฆราวาสเข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาท้องถิ่น[459] สมัชชาสังฆมณฑล[460] สภาอภิบาล[461] ในการปฏิบัติงานอภิบาลภายในเขตวัด[462] ในการร่วมงานของคณะกรรมการเศรษฐกิจ[463] การมีส่วนร่วมในสำนักวินิจฉัยคดีของพระศาสนจักร[464] ฯลฯ

 912    คริสตชนผู้มีความเชื่อ “ต้องเอาใจใส่แยกแยะระหว่างสิทธิและหน้าที่ที่เขามีในฐานะที่อยู่ในพระศาสนจักร สิทธิและหน้าที่ที่เขามีในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เขาต้องพยายามประสานทั้งสองสิ่งนี้ไว้ให้กลมกลืนกันโดยระลึกว่าในเรื่องทางโลกทุกเรื่อง ตนก็ต้องมีมโนธรรมแบบคริสตชนคอยนำ เพราะไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ รวมทั้งเรื่องทางโลกด้วย ที่อาจแยกตัวไปจากอำนาจปกครองของพระเจ้าได้”[465]

 913     “ดังนี้ฆราวาสทุกคนอาศัยพระพรที่ได้รับจึงเป็นทั้งพยานและเครื่องมือมีชีวิตแห่งพันธกิจของพระศาสนจักรในเวลาเดียวกัน ‘ตามสัดส่วนที่พระคริสตเจ้าประทานให้’ (อฟ 4:7)”[466]

 

[437] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 31: AAS 57 (1965) 37.   

[438] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 31: AAS 57 (1965) 37-38.

[439] Pius XII, Allocutio ad Patres Cardinales recenter creatos  (20 februarii 1946): AAS 38 (1946) 149; adductus a Ioanne Paulo II, Adh. ap.  Christifideles laici,  9: AAS 81 (1989) 406.    

[440] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 33: AAS 57 (1965) 39.

[441] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 34: AAS 57 (1965) 40; cf. Ibid., 10: AAS (1965) 14-15.

[442] CIC canon 835, # 4.      

[443] Cf. CIC canon 230, # 1.   

[444] Cf. CIC canon 230, # 3.   

[445] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 35: AAS 57 (1965) 40.  

[446] Sanctus Thomas Aquinas,  Summa theologiae 3, q. 71, a. 4, ad 3: Ed. Leon. 12, 124.             

[447] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 35: AAS 57 (1965) 40.  

[448] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 6: AAS 58 (1966) 843; cf. Id., Decr.  Ad gentes,  15: AAS 58 (1966) 965.

[449] Cf. CIC canones 774, 776, 780.             

[450] Cf. CIC canon 229.        

[451] Cf. CIC canon 822, # 3.   

[452] CIC canon 212, # 3.       

[453] เทียบ ฟป 2:8-9.           

[454] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 36: AAS 57 (1965) 41.  

[455] Sanctus Ambrosius, Expositio psalmi CXVIII 14, 30: CSEL 62, 318 (PL 15, 1476).

[456] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 36: AAS 57 (1965) 42.  

[457] Paulus VI, Adh. ap. Evangelii nuntiandi,  73: AAS 68 (1976) 61.

[458] CIC canon 129, # 2.       

[459] Cf. CIC canon 443, # 4.   

[460] Cf. CIC canon 463, # 1-2. 

[461] Cf. CIC canones 511-512, 536.

[462] Cf. CIC canon 517,  # 2.   

[463] Cf. CIC canones  492, # 1, 537            

[464] Cf. CIC canon 1421, # 2.  

[465] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 36: AAS 57 (1965) 42.  

[466] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 33: AAS 57 (1965) 39.  

III. ชีวิตถวายแด่พระเจ้า

III.  ชีวิตถวายแด่พระเจ้า

 914     “สถานภาพ […] ที่เกิดจากการประกาศว่าตนจะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสาร แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพระฐานานุกรมของพระศาสนจักร แต่ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตและความศักดิ์สิทธิ์ของพระฐานานุกรมด้วยอย่างที่จะปฏิเสธไม่ได้”[467]


คำแนะนำของพระวรสาร ชีวิตถวายแด่พระเจ้า

 915     พระคริสตเจ้าทรงเสนอแนะคำแนะนำหลากหลายตามพระวรสารแก่บรรดาศิษย์ทุกคน ความครบครันแห่งความรักที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกคริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนให้ปฏิบัตินั้น สำหรับผู้ที่รับการเรียกมาดำเนินชีวิตถวายแด่พระเจ้าโดยสมัครใจนั้นรวมถึงข้อบังคับให้ปฏิบัติความบริสุทธิ์โดยการถือโสด ความยากจนและการนบนอบเชื่อฟังเพื่อพระอาณาจักร การประกาศว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ในสภาพถาวรของชีวิตที่พระศาสนจักรให้การรับรองนี้เป็นเครื่องหมายเฉพาะของ “ชีวิตถวายตนแด่พระเจ้า”[468]

 916     สภาพชีวิตถวายแด่พระเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตวิธีหนึ่งโดยการถวายตนแด่พระเจ้าโดย “ชิดสนิทยิ่งขึ้น” ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ในศีลล้างบาปและถวายตนทั้งหมดแด่พระเจ้า[469] ในชีวิตที่ถวายแด่พระเจ้า ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าตั้งใจติดตามพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ถวายชีวิตแด่พระเจ้าที่ตนรักเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด และพยายามบรรลุถึงความรักอย่างครบครันในการรับใช้พระอาณาจักร เพื่อแสดงและประกาศถึงความหมายความรุ่งโรจน์ของโลกหน้าในพระศาสนจักร[470]

 

ต้นไม้ใหญ่มีหลายกิ่งก้าน

 917   “รูปแบบต่างๆ ของการดำเนินชีวิตโดดเดี่ยวหรือร่วมกันเป็นหมู่คณะ และครอบครัวต่างๆ เหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นเช่นเดียวกับบนต้นไม้ที่งอกขึ้นจากเมล็ดที่พระเจ้าทรงปลูกไว้อย่างน่าพิศวง มีกิ่งก้านจำนวนมากทวีขึ้นและแตกแขนงอยู่ในทุ่งนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งเพื่อความก้าวหน้าของบรรดาสมาชิกและเพื่อเพิ่มพูนความดีของพระกายทิพย์ทั้งหมดของพระคริสตเจ้า”[471]

 918    “นับตั้งแต่สมัยเริ่มแรกของพระศาสนจักรแล้ว มีชายหญิงหลายคนตั้งใจติดตามพระคริสตเจ้าอย่างอิสระเสรีและใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยแต่ละคนดำเนินชีวิตปฏิบัติคำแนะนำของพระวรสารตามวิธีการของตน ในบรรดาคนเหล่านี้ หลายคนได้รับการดลใจของพระจิตเจ้า ดำเนินชีวิตโดดเดี่ยวหรือรวมกันเป็นครอบครัวนักพรต ซึ่งพระศาสนจักรยินดีใช้อำนาจของตนยอมรับและให้การรับรอง”[472]

 919    บรรดาพระสังฆราชจะต้องพยายามอยู่เสมอที่จะแยกแยะพระพรใหม่ๆ ของวิถีชีวิตถวายแด่พระเจ้าที่พระจิตเจ้าประทานแก่พระศาสนจักรของตน แต่การรับรองรูปแบบชีวิตถวายตนแด่พระเจ้าแบบใหม่ๆ นั้นสงวนไว้สำหรับสันตะสำนัก[473]


ชีวิตสันโดษ

 920      บรรดาผู้ดำเนินชีวิตสันโดษ แม้จะไม่จำเป็นต้องประกาศคำปฏิญาณตนทั้งสามประการอย่างเปิดเผยเป็นทางการ “ถวายชีวิตของตนเพื่อพระเกียรติของพระเจ้าและความรอดพ้นของโลกโดยการปลีกตนจากโลกอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น อุทิศตนอยู่โดดเดี่ยวอย่างเงียบๆ อธิษฐานภาวนาและทรมานกายอย่างแข็งขัน”[474]

 921     เขาเหล่านี้แสดงให้ทุกคนเห็นลักษณะภายในประการนี้ของพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร คือความใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระคริสตเจ้า ชีวิตของผู้อยู่สันโดษ ที่ซ่อนตัวจากสายตาของเพื่อนมนุษย์ เป็นดังการเทศน์สอนของพระองค์ที่เขามอบถวายชีวิตให้ เพราะพระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งสำหรับเขา ที่นี่มีกระแสเรียกพิเศษเพื่อจะพบพระสิริรุ่งโรจน์ของพระผู้ทรงถูกตรึงกางเขนในที่เปลี่ยว ในการสู้รบด้านจิตใจ


หญิงสาวพรหมจารีและหญิงหม้ายผู้ถวายตน

 922     นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกแล้วได้มีหญิงสาวพรหมจารี[475] และหญิงม่ายคริสตชน[476] ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้อยู่ใกล้กับพระองค์โดยไม่แบ่งแยก ด้วยใจ ร่างกาย และจิตที่อิสระยิ่งขึ้น เขาเหล่านี้ได้รับคำแนะนำที่พระศาสนจักรรับรองเพื่อดำเนินชีวิตในฐานะพรหมจารีหรือความบริสุทธิ์อย่างถาวร “เพื่ออาณาจักรสวรรค์” (มธ 19:12)

 923     บรรดาหญิงสาวพรหมจารี “ซึ่งแสดงความตั้งใจศักดิ์สิทธิ์ที่จะติดตามพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น รับการมอบถวายตนแด่พระเจ้าโดยพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลตามจารีตพิธีกรรมที่พระศาสนจักรรับรองแล้ว เธอเหล่านี้เป็นเสมือนคู่หมั้นอย่างลึกล้ำทางจิตกับพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และถวายตนรับใช้พระศาสนจักร”[477] โดยพิธีสง่านี้ (Consecratio virginum) “สาวพรหมจารีคนหนึ่งรับแต่งตั้งให้เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระเจ้า เป็นเครื่องหมายยอดเยี่ยมของความรักที่พระศาสนจักรมีต่อพระคริสตเจ้า เป็นภาพลักษณ์แห่งอันตวิทยาของเจ้าสาวจากสวรรค์และของชีวิตในอนาคต”[478]

 924      พิธีที่คล้ายกับพิธีถวายตนแด่พระเจ้าในรูปแบบอื่น[479] ก็คือพิธีที่กำหนดให้หญิงคนหนึ่งดำเนินชีวิตในโลกด้วยการอธิษฐานภาวนา ทนทุกข์ชดเชยบาป รับใช้เพื่อนพี่น้อง และปฏิบัติงานธรรมทูตตามสภาพชีวิตและพระพรพิเศษที่ตนได้รับ[480] บรรดาสาวพรหมจารีที่ถวายตนแด่พระเจ้าเหล่านี้อาจรวมตัวกันได้เพื่อยึดถือข้อตั้งใจของตนได้อย่างซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น[481]


ชีวิตนักพรต

 925     ชีวิตนักพรต ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ ของคริสตศาสนาทางตะวันออก(กลาง)[482] ดำเนินอยู่ในสถาบันที่พระศาสนจักรได้ตั้งขึ้นเป็นทางการ[483] แตกต่างไปจากรูปแบบอื่นของชีวิตถวายตนแด่พระเจ้าด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม โดยการประกาศตนปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสาร รูปแบบการดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ของพระคริสตเจ้ากับ
พระศาสนจักร[484]

 926     ชีวิตนักพรตสืบเนื่องมาจากพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร ชีวิตเช่นนี้เป็นของประทานที่พระศาสนจักรรับมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า และที่พระศาสนจักรเสนอแนะให้เป็นสถานะถาวรแก่ผู้มีความเชื่อที่ได้รับเรียกจากพระเจ้าให้มาปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์ ด้วยวิธีนี้  พระศาสนจักรจึงอาจแสดงพระคริสตเจ้าให้ทุกคนเห็นและยอมรับว่าตนเป็นเสมือนเจ้าสาวของพระผู้ไถ่ ชีวิตนักพรตในรูปแบบต่างๆ ได้รับเชิญให้แสดงความหมายของความรักพระเจ้าเป็นภาษาในสมัยของเรา

 927     นักพรตทุกคน ทั้งที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ใต้บังคับของสมณะผู้ปกครองท้องถิ่นโดยตรงและที่ไม่ได้รับการยกเว้นเช่นนี้[485] ล้วนอยู่ในบรรดาผู้มีบทบาทร่วมงานของพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลในงานอภิบาลของท่าน[486] งานธรรมทูตเพื่อปลูกฝังและขยายพระศาสนจักรล้วนต้องการให้มีชีวิตนักพรตในทุกรูปแบบอยู่ด้วยเสมอนับตั้งแต่เริ่มงานประกาศข่าวดีแล้ว[487] “ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นบุญคุณของคณะนักพรตต่างๆ ในการเผยแผ่ความเชื่อและในการก่อตั้งพระศาสนจักรใหม่ๆ นับตั้งแต่สถาบันนักพรตต่างๆ ในสมัยก่อนและคณะนักพรตในสมัยกลาง รวมทั้งคณะต่างๆ ในสมัยของเราด้วย”[488]


สถาบันที่ดำเนินชีวิตแบบฆราวาส
(Secular institutes)

 928      “สถาบันที่ดำเนินชีวิตแบบฆราวาสเป็นสถาบันชีวิตที่ถวายตนแด่พระเจ้า ซึ่งคริสตชนผู้มีความเชื่อที่ดำเนินชีวิตในโลกมุ่งแสวงหาความรักที่สมบูรณ์และมุ่งทำให้โลกมีความศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะจากชีวิตภายใน”[489]

 929     สมาชิกของสถาบันเหล่านี้ “ดำเนินชีวิตถวายตนแด่พระเจ้าและบำเพ็ญความศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์”[490] “มีส่วนร่วมงานประกาศข่าวดีของพระศาสนจักรในโลกและจากโลก”[491] ที่ซึ่งความเป็นอยู่ของเขาทำหน้าที่เป็นเหมือนเชื้อแป้ง[492] การดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นพยานของเขาเหล่านี้มีเจตนาที่จะจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ที่ไม่จีรังยั่งยืนและเพื่อทำให้โลกได้รับอิทธิพลของพระวรสารตามแผนการณ์ของพระเจ้า เขาเหล่านี้รับคำแนะนำของพระวรสารมาผูกมัดตนเองและดำเนินชีวิตร่วมกันเสมือนพี่น้องอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางโลกเฉพาะของเขา[493]


คณะที่ดำเนินชีวิตธรรมทูต

 930      นอกจากรูปแบบต่างๆ ของชีวิตถวายตนแด่พระเจ้าแล้ว “ยังมีคณะผู้ดำเนินชีวิตธรรมทูตที่บรรดาสมาชิกปฏิบัติงานธรรมทูตเฉพาะของคณะโดยไม่ปฏิญาณตนดังเช่นบรรดานักพรต และดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องตามรูปแบบเฉพาะของตน มุ่งสู่ความรักที่สมบูรณ์โดยปฏิบัติตามธรรมนูญ ในบรรดาคณะเหล่านี้มีคณะที่สมาชิกนำคำแนะนำของพระวรสารมาปฏิบัติ” ตามธรรมนูญของตน[494]


การมอบถวายตนและพันธกิจ
การประกาศถึงพระมหากษัตริย์ผู้เสด็จมา

 931      ผู้ที่ศีลล้างบาปได้ถวายแด่พระเจ้าแล้ว เมื่อได้มอบตนแก่พระเจ้าผู้ที่เขารักอย่างที่สุดอีกจึงถวายตนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อรับใช้พระเจ้าและสละตนเพื่อความดีของพระศาสนจักร โดยสถานภาพการถวายตนแด่พระเจ้า พระศาสนจักรประกาศให้ทุกคนรู้จักพระคริสตเจ้าและแสดงให้เห็นว่าพระจิตเจ้าทรงทำงานอย่างน่าพิศวงในพระศาสนจักร ผู้ที่ปฏิญาณตนจะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสารมีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะดำเนินชีวิตตามพันธกิจการถวายตนที่ให้ไว้ “ในเมื่อโดยการถวายตนแด่พระเจ้า เขาได้มอบถวายตนเพื่อรับใช้พระศาสนจักรแล้ว เขาจึงมีพันธะผูกพันที่จะต้องช่วยเหลืองานธรรมทูตเป็นพิเศษตามลักษณะเฉพาะของสถาบันของตน”[495]

 932     ชีวิตนักพรตปรากฏเป็นเครื่องหมายพิเศษแห่งพระธรรมล้ำลึกเรื่องการกอบกู้ในพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” คือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่นำชีวิตของพระเจ้ามาให้มนุษยชาติ การติดตามพระคริสตเจ้า “อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น” และการปฏิบัติตามแบบฉบับของพระองค์ “อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น” การแสดงให้เห็นการสละพระองค์โดยสิ้นเชิงนี้นับได้ว่าเป็นการอยู่ในพระหทัยของพระคริสตเจ้าและในพี่น้องร่วมสมัยของตน “อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ผู้ที่อยู่ในหนทางนี้ “ที่แคบกว่า” ย่อมใช้ตัวอย่างของตนปลุกเร้าเพื่อนพี่น้องและ “เป็นพยานอย่างเด่นชัดและดีเลิศว่าเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงโลกและถวายแด่พระเจ้าได้โดยไม่มีเจตนารมณ์เรื่อง ‘ความสุขแท้’”[496]

 933     ไม่ว่าการเป็นพยานนี้จะเป็นไปอย่างเปิดเผย เช่นโดยสถานภาพการเป็นนักพรต หรือในรูปแบบที่เป็นส่วนตัวมากกว่า หรือเป็นความลับเสียด้วย การเสด็จมาของพระคริสตเจ้าก็ยังคงเป็นบ่อเกิดและยังคงเป็นแนวทางสำหรับผู้ถวายตนแด่พระเจ้าทุกคน

               “เนื่องจากว่าประชากรของพระเจ้าไม่มีนครที่พำนักในโลกนี้ […] [สถานภาพผู้ถวายตนเช่นนี้] ย่อมแสดงให้ผู้มีความเชื่อทุกคนแลเห็นว่าเขาสมบัติแห่งสวรรค์นั้นมีอยู่ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว และยังเป็นพยานยืนยันว่าเราได้รับชีวิตใหม่และนิรันดรแล้วโดยการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า และยังแจ้งล่วงหน้าถึงการ กลับคืนชีพและสิริรุ่งโรจน์ของอาณาจักรสวรรค์ในอนาคตด้วย”[497]

 

[467] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 44: AAS 57 (1965) 51.   

[468] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42-43: AAS 57 (1965) 47-50; Id., Decr. Perfectae caritatis, 1: AAS 58 (1966) 702-703.       

[469] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Perfectae caritatis, 5: AAS 58 (1966) 704-705.

[470] Cf. CIC canon 573.         

[471] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 43: AAS 57 (1965) 49.   

[472]  Concilium Vaticanum II, Decr. Perfectae caritatis, 1: AAS 58 (1966) 702.       

[473] Cf. CIC canon 605.        

[474] CIC canon 603, # 1.       

[475] 1 คร 7:34-36.             

[476] Cf. Ioannes Paulus II, Adh. ap. Vita consecrata,  7: AAS 88 (1996) 382.       

[477] CIC canon 604, # 1.       

[478] Ordo Consecrationes virginum,  Praenotanda, 1, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 7. 

[479] Cf. CIC canon 604, # 1.    

[480] Cf. Ordo Consecrationes virginum,  Praenotanda, 2, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 7.             

[481] Cf. CIC canon 604, # 2.   

[482] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 15: AAS 57 (1965) 102. 

[483] Cf. CIC canon 573.        

[484] Cf. CIC canon 607.        

[485] Cf. CIC canon 591.        

[486] Concilium Vaticanum II, Decr. Christus Dominus, 33-35: AAS 58 (1966) 690-692.

[487] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 18: AAS 58 (1966) 968-969; Ibid., 40: AAS 58 (1966) 987-988.

[488] Ioannes Paulus II,  Litt. Enc. Redemptoris missio,  69: AAS 83 (1991) 317.     

[489] CIC canon 710.            

[490] Pius XII, Const. ap. Provida Mater: AAS 39 (1947) 118.       

[491] CIC canon 713, # 2.       

[492] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Perfectae caritatis,  11: AAS 58 (1966) 707.  

[493] Cf. CIC canon 713.         

[494] CIC canon 713, # 1- 2.     

[495] CIC canon 783; cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris missio, 69: AAS 83 (1991) 317-318.

[496] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 31: AAS 57 (1965) 37.   

[497] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 44: AAS 57 (1965) 50-51.

สรุป

สรุป

 934      “ตามแผนที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ ในหมู่คริสตชนผู้มีความเชื่อในพระศาสนจักรมีศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกตามกฎหมายว่า “บรรพชิต”  ส่วนคนอื่นนั้นได้ชื่อว่า “ฆราวาส”” นอกจากนั้นจากทั้งสองกลุ่มนี้ยังมีคริสตชนผู้มีความเชื่อที่ประกาศตนปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสาร ถวายตนแด่พระเจ้าและดังนี้จึงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระศาสนจักร[498]

 935      พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาออกไปประกาศความเชื่อและสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ พระองค์ทรงตั้งเขาให้เป็นผู้ร่วมพันธกิจของพระองค์

 936      องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งเปโตรให้เป็นรากฐานที่แลเห็นได้ของพระศาสนจักรของพระองค์และทรงมอบกุญแจของพระศาสนจักรให้เขา พระสังฆราชของพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม  ผู้สืบตำแหน่งของเปโตรเป็นประมุขของคณะพระสังฆราช เป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้าและเป็นผู้อภิบาลพระศาสนจักรสากลในโลกนี้[499]

 937      สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพระอำนาจสูงสุด สมบูรณ์ โดยตรงและสากลในการอภิบาลดูแลวิญญาณ[500]

 938      บรรดาพระสังฆราชได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็นผู้สืบตำแหน่งจากบรรดาอัครสาวกพระสังฆราชแต่ละองค์เป็นบ่อเกิดและรากฐานของเอกภาพในพระศาสนจักรเฉพาะถิ่นของตน[501]

 939      บรรดาพระสังฆราชมีบรรดาพระสงฆ์เป็นผู้ช่วยมีหน้าที่สอนความเชื่อเป็นทางการโดยมีบรรดาสังฆานุกรคอยช่วยเหลือ มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ และยังมีหน้าที่ผู้อภิบาลที่แท้จริงปกครองพระศาสนจักรของตน เขายังมีหน้าที่เอาใจใส่ดูแลพระศาสนจักรทุกแห่งพร้อมกับสมเด็จพระสันตะปาปาและภายใต้อำนาจของพระองค์ด้วย

 940      “เนื่องจากเป็นบทบาทเฉพาะของสถานะฆราวาสที่จะดำเนินชีวิตอยู่กลางโลกและธุรกิจของโลกเขาได้รับเรียกจากพระเจ้าให้ประกอบงานธรรมทูตของตนเป็นเสมือนเชื้อแป้งในโลกด้วยจิตตารมณ์แบบคริสตชน[502]

 941      บรรดาฆราวาสมีส่วนร่วมพระสมณภาพของพระคริสตเจ้า รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์มากยิ่งๆ ขึ้น แผ่ขยายพระหรรษทานของศีลล้างบาปและศีลกำลังออกไปในทุกมิติของชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว สังคม และชีวิตของพระศาสนจักร และดังนี้จึงทำให้กระแสเรียกให้ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปต้องบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นจริงขึ้นมา

 942      เนื่องจากพันธกิจประกาศกของตน บรรดาฆราวาสยังได้รับเรียกให้เป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าในทุกเรื่องในท่ามกลางสังคมมนุษย์ด้วย[503]

 943      เนื่องจากพันธกิจกษัตริย์ของตน บรรดาฆราวาสอาจขจัดอำนาจของบาปในตนเองและในโลกออกไปได้โดยการสละตนเองและโดยความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของตน[504]

 944      ชีวิตถวายตนแด่พระเจ้าปรากฏเด่นชัดโดยการประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสารในเรื่องความยากจน ความบริสุทธิ์ และความเชื่อฟังในสภาพชีวิตถาวรที่พระศาสนจักรให้การรับรอง

 945      ผู้ที่ศีลล้างบาปทำให้เป็นที่รักของพระเจ้าแล้ว ยังถวายตนแด่พระเจ้าด้วยความรักสูงสุดในสภาพชีวิตที่ถวายตนแด่พระเจ้าเพื่อสละตนรับใช้พระเจ้าและสละตนเพื่อความดีของพระศาสนจักรทั้งหมดอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

[498] Cf. CIC canon 207, # 1-2.  

[499] CIC canon 331.            

[500] Concilium Vaticanum II, Decr. Christus Dominus, 2: AAS 58 (1966) 673.       

[501] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 27.   

[502] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 2: AAS 58 (1966) 839.

[503] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes,  43: AAS 58 (1966) 1063.

[504] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 36: AAS 57 (1965) 41.  

วรรค 5

ความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์

 

 946     หลังจากประกาศยืนยันความเชื่อถึง “พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล” แล้ว สูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวกยังประกาศยืนยันเพิ่มอีกถึง “ความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ข้อความนี้เป็นเสมือนการอธิบายข้อความก่อนหน้านั้นที่ว่า “พระศาสนจักรเป็นอะไรอื่นนอกเหนือจากการรวบรวมบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคนไว้ด้วยกันกระนั้นหรือ”[505] พระศาสนจักรก็คือความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

 947     “เนื่องจากว่าทุกคนที่มีความเชื่อรวมเป็นกายหนึ่งเดียว ความดีของคนหนึ่งก็แบ่งปันร่วมกับอีกคนหนึ่ง [...] ดังนั้น ในบรรดาข้อความต่างๆ ที่ต้องเชื่อ [...] จึงมีเรื่องการแบ่งปันความดีต่างๆร่วมกันในพระศาสนจักรด้วย [...] อวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายนี้คือพระคริสตเจ้า เพราะพระองค์ทรงเป็นศีรษะ [...] ความดีของพระคริสตเจ้าจึงถ่ายทอด[...]ไป ยังอวัยวะทุกๆ ส่วนด้วย และการถ่ายทอดความดีนี้เกิดขึ้นโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระศาสนจักร”[506]  “พระจิตเจ้าพระองค์เดียวกันซึ่งทรงนำพระศาสนจักร ทรงทำให้พระพรต่างๆ ที่พระเจ้าประทานให้พระศาสนจักรเป็นพระพรร่วมกันของทุกคน”[507]

 948     สำนวนภาษาละติน “sanctorum communionem” แปลความหมายได้สองแบบ คือ อาจแปลได้ว่า “ความสัมพันธ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sancta)” หรือ “ความสัมพันธ์ของผู้ศักดิ์สิทธิ์ (sancti)”

           ในพิธีกรรมจารีตตะวันออกส่วนมาก ประธานในพิธีมักประกาศเสียงดังเมื่อยกของถวายศักดิ์สิทธิ์ก่อนพิธีรับศีลมหาสนิทว่า “Sancta sanctis” (ซึ่งแปลว่า “ของศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ศักดิ์สิทธิ์”) คริสตชนผู้มีความเชื่อ (“ผู้ศักดิ์สิทธิ์”) รับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า(“สิ่งศักดิ์สิทธิ์”) เป็นอาหารเลี้ยงชีวิต เพื่อจะเติบโตในความสัมพันธ์กับพระจิตเจ้า (Koinonia) และแบ่งปันความสัมพันธ์นี้กับโลก

 

[505] Sanctus Nicetas Remesianae, Instructio ad competentes  5, 3, 23 [Explanatio Symboli, 10]: TPL 1, 119 (PL 52, 871).

[506] Sanctus Thomas Aquinas, In Symbolum Apostolorum scilicet “Credo in Deum” expositio, 13 : Opera omnia, v. 27 (Parisiis 1875) p. 224.

[507] Catechismus Romanus, 1, 10, 24: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 119.     

I. การมีพระพรด้านจิตใจร่วมกัน

I. การมีพระพรด้านจิตใจร่วมกัน

 949     ในกลุ่มคริสตชนสมัยแรกที่กรุงเยรูซาเล็ม บรรดาศิษย์ “ประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ร่วมพิธีบิขนมปังและอธิษฐานภาวนา” (กจ 2:42)

             ความสัมพันธ์ในความเชื่อ ความเชื่อของบรรดาผู้มีความเชื่อคือความเชื่อของพระศาสนจักรที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวก เป็นสมบัติที่ยิ่งทวีขึ้นเมื่อแบ่งปันกันมากขึ้น

 950     ความสัมพันธ์ร่วมกันในศีลศักดิ์สิทธิ์ “ผลของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นของผู้มีความเชื่อทุกคน ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นเสมือนพันธะศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกมัดเขาไว้กับพระคริสตเจ้าและระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลล้างบาปที่เป็นเสมือนประตูที่ทุกคนผ่านเข้ามาในพระศาสนจักร บรรดาปิตาจารย์อธิบายว่าเราต้องเข้าใจว่าความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์หมายถึงความสัมพันธ์ร่วมกันในศีลศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ […]  คำว่า “ความสัมพันธ์” (Communio) นี้ใช้ได้กับศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกศีล เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้รวมพวกเรากับพระเจ้า […] แต่มีความหมายโดยเฉพาะมากกว่าสำหรับศีลมหาสนิทซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมกันนี้”[508]

 951     ความสัมพันธ์ร่วมกันในพระพรพิเศษ ในความสัมพันธ์ร่วมกันของพระศาสนจักร พระจิตเจ้า “ทรงแจกจ่ายพระหรรษทานพิเศษต่างๆ ในหมู่บรรดาผู้มีความเชื่อในระดับต่างๆ ด้วย” เพื่อเสริมสร้างพระศาสนจักร[509] “พระจิตเจ้าทรงแสดงพระองค์ในแต่ละคนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” (1 คร 12:7)

 952     “ทุกสิ่งเป็นของส่วนรวมสำหรับพวกเขา” (กจ 4:32) “คริสตชนไม่มีอะไรเลยที่เป็นของตนจริงๆ เขาต้องไม่ถือว่าสิ่งที่เขามีร่วมกับคนอื่นทุกคนเป็นสมบัติของตน ดังนั้นเขาจึงต้อง  เตรียมพร้อมและกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่ขัดสน”[510] คริสตชนเป็นผู้จัดการทรัพย์สินขององค์พระผู้เป็นเจ้า[511]

 953      ความสัมพันธ์ด้านความรัก ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ “ไม่มีพวกเราคนใดที่มีชีวิตอยู่เพื่อตนเอง และไม่มีผู้ใดตายเพื่อตนเอง” (รม 14:7) “ถ้าอวัยวะหนึ่งเป็นทุกข์ อวัยวะอื่นๆทุกส่วนก็ร่วมเป็นทุกข์ด้วย ถ้าอวัยวะหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะอื่นๆ ทุกส่วนก็ร่วมยินดีด้วยเช่นเดียวกัน ท่านทั้งหลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า แต่ละคนต่างก็เป็นอวัยวะของพระกายนั้น” (1 คร 12:26-27)  ความรัก “ไม่เห็นแก่ตัว” (1 คร 13:5)[512]  การกระทำเล็กน้อยที่สุดของเรา ถ้าทำด้วยความรัก ย่อมมีผลสะท้อนเพื่อประโยชน์ของทุกคนทั้งผู้เป็นและผู้ตายในความสัมพันธ์ที่ทุกคนมีต่อกัน ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ บาปทุกบาปย่อมทำร้ายต่อความสัมพันธ์นี้

 

[508] Catechismus Romanus, 1, 10, 24: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 119.     

[509] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 12: AAS 57 (1965) 16.   

[510] Catechismus Romanus, 1, 10, 27: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 121.      

[511]  เทียบ ลก 16:1-3.           

[512] เทียบ 1 คร 10:24.          

II. ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรในสวรรค์กับพระศาสนจักรในโลกนี้

II.  ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรในสวรรค์กับพระศาสนจักรในโลกนี้

 954     สามสถานะของพระศาสนจักร “ก่อนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาในพระมหิทธานุภาพพร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ทั้งมวล จะทรงทำลายความตายและทรงปราบทุกสิ่งให้อยู่ใต้อำนาจแล้ว บรรดาศิษย์ของพระองค์บางคนยังกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ บางคนที่จบชีวิตแล้วกำลังรับการชำระให้บริสุทธิ์อยู่ ส่วนอีกบางคนได้รับสิริรุ่งโรจน์แล้วก็แลเห็นพระเจ้าหนึ่งเดียวเป็นสามพระบุคคลในความรุ่งโรจน์อย่างที่ทรงเป็นแล้ว”[513]

            “ถึงกระนั้น ตามวิธีการและระดับต่างกัน เราทุกคนก็มีส่วนร่วมในความรักเดียวกันต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ และขับร้องบทเพลงเดียวกันสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ถวายพระเจ้าของเรา เพราะทุกคนที่เป็นของพระคริสตเจ้าล้วนมีพระจิตเจ้าองค์เดียวกันและร่วมสนิทกันเป็นพระศาสนจักรหนึ่งเดียวในพระองค์”[514]

 955      “ความสัมพันธ์ของผู้ที่ยังเดินทางอยู่ในโลกนี้กับบรรดาพี่น้องที่นอนหลับในสันติกับพระคริสตเจ้าแล้วไม่ขาดตอนแม้แต่น้อย ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังเชื่อมั่นตลอดมาว่าความสัมพันธ์นี้ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเพราะการมีพระพรฝ่ายจิตร่วมกัน”[515]

 956     การช่วยวอนขอเพื่อเราของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ “จากความจริงที่ว่าบรรดาชาวสวรรค์ชิดสนิทกับพระคริสตเจ้ามากกว่าเรา จึงทำให้พระศาสนจักรมั่นคงในความศักดิ์สิทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น […] ท่านเหล่านี้จึงไม่หยุดยั้งที่จะอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเจ้าแทนเรา โดยถวายบุญกุศลที่ท่านได้มาในโลกนี้ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า คนกลางเพียงคนเดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ […] ดังนั้นความอ่อนแอของเราจึงได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากความเอาใจใส่เยี่ยงพี่น้องของท่านเหล่านี้”[516]

             “ท่านทั้งหลายอย่าร้องไห้ เพราะข้าพเจ้าจะทำประโยชน์แก่ท่านในที่ที่ข้าพเจ้ากำลังจะไปได้มากกว่าข้าพเจ้าทำได้ที่นี่”[517]

             “เมื่ออยู่ในสวรรค์ ดิฉันอยากทำดีต่อไปในโลกนี้”[518]

 957    ความสัมพันธ์กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ “ถึงกระนั้น พวกเราระลึกถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสวรรค์ด้วยความเคารพไม่ใช่เพื่อเป็นแบบอย่างเท่านั้น แต่ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้เอกภาพของพระศาสนจักรทั้งหมดเข้มแข็งขึ้นในพระจิตเจ้าโดยการปฏิบัติความรักฉันพี่น้อง ทั้งนี้เพราะความสนิทสัมพันธ์ของบรรดาคริสตชนซึ่งกำลังเดินทางในโลกนี้นำเราให้ใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้ามากยิ่งขึ้นฉันใด ความใกล้ชิดกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็รวมพวกเราเข้ากับพระคริสตเจ้าฉันนั้น พระหรรษทานทุกประการและชีวิตของประชากรของพระเจ้าล้วนหลั่งมาเสมือนจากต้นธารและศีรษะจากพระองค์นี้เอง”[519]

               “เพราะเรานมัสการพระคริสตเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็สมควรแล้วที่เรารักบรรดามรณสักขีในฐานะที่เป็นศิษย์และผู้ประพฤติตามพระแบบฉบับขององค์พระผู้เป็นเจ้าเนื่องจากความรักยอดเยี่ยมของท่านเหล่านี้ต่อพระมหากษัตริย์และพระอาจารย์ของตน เพื่อเราจะได้ร่วมเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าและเป็นเพื่อนร่วมชีวิตกับพระองค์เหมือนกับท่าน”[520]

 958     ความสัมพันธ์กับผู้ล่วงลับ  “พระศาสนจักรของผู้กำลังเดินทางในโลกนี้รู้ความสัมพันธ์ของพระกายทิพย์ทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นอย่างดี จึงระลึกถึงบรรดาผู้ล่วงลับไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งตลอดมานับตั้งแต่เริ่มแรกของคริสตศาสนาแล้ว เพราะ ‘ความคิดที่จะอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ล่วงลับเพื่อให้หลุดพ้นจากบาปนั้นเป็นความคิดที่ดีและศักดิ์สิทธิ์’ (2 มคบ 12:45) และยังถวายคำอธิษฐานภาวนาแทนเขาเหล่านี้ด้วย”[521] คำอธิษฐานภาวนาของเราไม่เพียงแต่อาจช่วยเขาได้เท่านั้น แต่ยังทำให้การช่วยวอนขอแทนเราของเขาต่อพระเจ้ามีประสิทธิผลอีกด้วย

 959     ในครอบครัวเดียวกันของพระเจ้า “เราทุกคนที่เป็นบุตรของพระเจ้าและรวมเป็นครอบครัวเดียวกันในพระคริสตเจ้า เมื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวในความรักต่อกันถวายสรรเสริญแด่พระตรีเอกภาพหนึ่งเดียว ก็ตอบสนองกระแสเรียกลึกซึ้งของพระศาสนจักรด้วย”[522]

 

[513] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 49: AAS 57 (1965) 54.  

[514] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 49: AAS 57 (1965) 54-55.

[515] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 49: AAS 57 (1965) 55.  

[516] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 49: AAS 57 (1965) 55.  

[517] Sanctus Dominicus, moribundus, ad suos fratres: Relatio iuridica  4 (Frater Radulphus de Faventia), 42: Acta Sanctorum, Augustus I, p. 636 ; cf. Iordanus de Saxonia, Vita 4, 69: Acta sanctorum,  Augustus I, p. 551.       

[518] Sancta Theresia a Iesu Infante, Verba (17 iulii 1897):  Derniers Entretiens  (Paris 1971) p. 270.    

[519] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 50: AAS 57 (1965) 56.  

[520] Martyrium sancti Polycarpi  17, 3: SC 10bis, 232 (Funk 1, 336).

[521] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 50: AAS 57 (1965) 55.  

[522] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 51: AAS 57 (1965) 58.  

สรุป

สรุป

 960      พระศาสนจักรเป็นความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์(sanctorum communio): วลีนี้(ในภาษาละติน)ก่อนอื่นหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (res sanctae) โดยเฉพาะศีลมหาสนิทซึ่งก่อให้เกิดและหมายถึงเอกภาพของบรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งรวมกันเป็นเสมือนร่างกายหนึ่งเดียวในพระคริสตเจ้า[523]

 961      วลีนี้ยังหมายถึงความสัมพันธ์ของบุคคลศักดิ์สิทธิ์” (sancti) ในพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคนจนว่าสิ่งที่แต่ละคนทำหรือทนในและเพื่อพระคริสตเจ้านั้นบังเกิดผลสำหรับทุกคนด้วย

 962      “เราเชื่อในความสัมพันธ์ของคริสตชนทุกคน นั่นคือของผู้ที่ยังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ ผู้ล่วงลับที่กำลังรับการชำระอยู่ และผู้ที่กำลังรับความสุขในสวรรค์ ทุกคนเหล่านี้รวมกันเป็นพระศาสนจักรหนึ่งเดียว เรายังเชื่อเช่นเดียวกันว่าในความสัมพันธ์นี้เรามีความรักทรงพระเมตตาของพระเจ้าและของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ซึ่งคอยฟังคำอธิษฐานวอนขอของเราอยู่เสมอ[524]

 

[523] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.     

[524] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei,  30: AAS 60 (1968) 445.

วรรค 6

พระนางมารีย์พระมารดาของพระคริสตเจ้า พระมารดาของพระศาสนจักร

 

 963     หลังจากที่เราได้กล่าวถึงบทบาทของพระนางพรหมจารีในพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้าแล้ว บัดนี้เราต้องพิจารณาว่าพระนางทรงอยู่ที่ไหนในพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรด้วย “พระนางพรหมจารีมารีย์ […] ทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับเกียรติเป็นพระมารดาของพระเจ้าและพระผู้ไถ่โดยแท้จริง […] ยิ่งกว่านั้น พระนางยังเป็นมารดาอย่างสมบูรณ์ของส่วนต่างๆของพระวรกาย(ของพระคริสตเจ้า)...เพราะพระนางทรงร่วมงานไถ่กู้นี้ด้วยความรักเพื่อให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้เกิดในพระศาสนจักร เป็นเสมือนส่วนต่างๆ ของ(พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น)ศีรษะ”[525]  “พระนางมารีย์พระมารดาของพระคริสตเจ้าจึงทรงเป็นพระมารดาของพระศาสนจักรอีกด้วย”[526]

 

[525] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 53: AAS 57 (1965) 57-58; cf.  Sanctus Augustinus, De S. Virginitate, 6 : PL 40, 399.         

[526] Paulus VI, Allocutio ad Conciliares Patres, tertia exacta Oecumenicae Synodi Sessione  (21 novembris 1964): AAS  56 (1964) 1015. 

I. การที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระศาสนจักร

I.  การที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระศาสนจักร

พระนางทรงเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์กับพระบุตรของพระนาง

 964     บทบาทของพระนางมารีย์ต่อพระศาสนจักรนั้นแยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ของพระนาง กับพระคริสตเจ้า และยังสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์นี้ด้วย “ความสัมพันธ์นี้ของพระนางมารีย์กับพระบุตรในงานไถ่กู้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เวลาที่พระคริสตเจ้าทรงปฏิสนธิจากพระนางพรหมจารีจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์”[527] ความสัมพันธ์นี้เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในเวลาที่ทรงรับทรมาน

                “พระนางพรหมจารียังทรงก้าวหน้าอยู่เสมอในวิถีทางแห่งความเชื่อ และทรงรักษาความสัมพันธ์ของพระนางกับพระบุตรไว้อย่างมั่นคงจนถึงไม้กางเขนที่ซึ่งพระนางทรงยืนอยู่ด้วยตามแผนการที่พระเจ้าทรงจัดไว้ (เทียบ ยน 19:25) ทรงร่วมทุกข์อย่างแสนสาหัสกับพระบุตรแต่องค์เดียวของพระนางและร่วมถวายตนด้วยจิตใจเยี่ยงมารดาเป็นบูชาร่วมกับพระบุตร เต็มพระทัยยอมถวายพระบุตรที่ทรงบังเกิดจากพระนางเป็นเครื่องบูชาด้วยความรัก และในที่สุดพระนางยังทรงรับเป็นมารดาของศิษย์ที่พระเยซูเจ้าซึ่งกำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนทรงมอบให้ด้วยพระวาจาที่ตรัสว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” (เทียบ ยน 19:26-27)”[528]

 965      หลังจากที่พระบุตรของพระนางเสด็จสู่สวรรค์แล้ว พระนางมารีย์ “ทรงอธิษฐานภาวนาคอยช่วยเหลือพระศาสนจักรในสมัยเริ่มแรก”[529] “เราจึงเห็นพระนางมารีย์พร้อมกับบรรดาอัครสาวกและบรรดาสตรี […] ร่วมอธิษฐานภาวนาวอนขอพระพรของพระจิตเจ้าซึ่งทรงแผ่เงาปกคลุมพระนางแล้วเมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้าแก่พระนาง”[530]


…..
เมื่อพระนางทรงได้รับยกขึ้นสวรรค์แล้วด้วย...

 966     “ในที่สุด เมื่อพระนางพรหมจารีนิรมลซึ่งพระเจ้าทรงพิทักษ์รักษาไว้ล่วงหน้าให้พ้นจากมลทินบาปกำเนิดจบพระชนมชีพในโลกแล้ว พระนางยังทรงได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งวิญญาณและร่างกายอย่างรุ่งโรจน์ ทรงได้รับการยกย่องจากองค์พระผู้เป็นเจ้าให้เป็นพระราชินีแห่งสากลจักรวาล เพื่อจะทรงคล้ายอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับพระบุตรของพระนาง เจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย ผู้ทรงพิชิตบาปและความตาย”[531] การที่พระนางพรหมจารีทรงได้รับพระเกียรติขึ้นสู่สวรรค์เป็นการที่พระนางทรงมีส่วนร่วมเป็นพิเศษกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตรของพระนาง และยังเป็นการเกริ่นถึงการกลับคืนชีพของบรรดาคริสตชนอื่นๆ ด้วย

               “ข้าแต่พระชนนีของพระเจ้า เมื่อทรงให้กำเนิดพระบุตร พระนางยังทรงรักษาพรหมจรรย์ไว้ เมื่อพระนางบรรทม (=สิ้นพระชนม์?) ก็มิได้ทรงละทิ้งโลกนี้ไป พระนางทรงได้รับบ่อเกิดแห่งชีวิต พระนางผู้ทรงปฏิสนธิพระเจ้าทรงชีวิต เมื่อทรงอธิษฐาน พระนางจะทรงช่วยวิญญาณของเราให้รอดพ้นจากความตาย”[532]


.....
พระนางทรงเป็นพระมารดาของเราในเรื่องพระหรรษทาน

 967     จากความชิดสนิทกับพระประสงค์ของพระบิดา กับงานกอบกู้ของพระบุตรของพระนาง และกับการดลใจทุกประการของพระจิตเจ้า พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นแบบอย่างของความเชื่อและความรักสำหรับพระศาสนจักร เพราะเหตุนี้ พระนางจึงทรงเป็น “ดังสมาชิกพิเศษที่โดดเด่นของพระศาสนจักร”[533] และยังทรงเป็น “ตัวอย่างกำเนิดรูปแบบของพระศาสนจักรอีกด้วย[534]

 968     แต่ทว่าบทบาทที่พระนางมีต่อพระศาสนจักรและมวลมนุษยชาติยังแผ่กว้างยิ่งขึ้นอีก พระนาง “ได้ทรงร่วมงานของพระผู้ไถ่อย่างพิเศษสุดนี้ด้วยความเชื่อฟัง ความเชื่อ ความหวังและความรักที่ลุกโชติช่วง เพื่อนำวิญญาณกลับมารับชีวิตนิรันดรอีกครั้งหนึ่ง เพราะเหตุนี้พระนางจึงทรงเป็นพระมารดาของเราในด้านพระหรรษทาน”[535]

 969     “การที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของเราในแผนการพระหรรษทานนี้คงอยู่ตลอดไปไม่จบสิ้น นับตั้งแต่ที่พระนางทรงยอมรับแผนการของพระเจ้าด้วยความเชื่อเมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าว และยังคงยอมรับอย่างยึดมั่นต่อไปโดยไม่ลังเลพระทัยภายใต้ไม้กางเขน จวบจนถึงวาระที่ผู้รับเลือกสรรทุกคนจะได้รับชีวิตนิรันดร เมื่อพระนางทรงได้รับเกียรติยกสู่สวรรค์แล้วก็มิได้ทรงละบทบาทนี้ แต่ยังทรงวอนขอความต้องการพระหรรษทานต่างๆ สำหรับความรอดพ้นนิรันดรแทนเราต่อไป [...] เพราะเหตุนี้พระนางพรหมจารีจึงทรงได้รับเรียกขานให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพระศาสนจักร เช่น ทนายผู้แก้ต่าง ผู้อุปถัมภ์ ผู้ช่วยเหลือคนกลาง”[536]

  970     “บทบาทมารดาของพระนางมารีย์ต่อมนุษย์ไม่ทำให้การเป็นคนกลางเพียงคนเดียวของพระคริสตเจ้านี้เจือจางหรือลดน้อยลงเลย แต่ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะอิทธิพลของพระนางพรหมจารีต่อมนุษย์เกี่ยวกับความรอดพ้นนี้ [...] สืบเนื่องมาจากพระทัยดีของพระเจ้าและจากบุญกุศลล้นเหลือของพระคริสตเจ้า อิงอยู่กับการที่พระองค์ทรงเป็นคนกลางของมนุษย์กับพระเจ้าขึ้นอยู่กับการนี้โดยสิ้นเชิง และได้รับประสิทธิผลทั้งหมดมาจากการนี้ด้วย”[537] “ไม่มีสิ่งสร้างใดจะเทียบเท่าพระวจนาตถ์และพระผู้ไถ่กู้ได้ แต่ทว่า เช่นเดียวกับที่บรรดาศาสนบริกรและประชากรผู้มีความเชื่อมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงหลั่งความดีของพระองค์ในบรรดาสิ่งสร้างอย่างแท้จริงด้วยวิธีการต่างๆฉันใด ความเป็นคนกลางแต่เพียงผู้เดียวของพระผู้ไถ่ก็ไม่ปฏิเสธ แต่กลับส่งเสริมให้บรรดาสิ่งสร้างได้ร่วมงานกันโดยมีส่วนร่วมด้วยวิธีการต่างๆ จากต้นธารหนึ่งเดียวกันนี้”[538]

 

[527] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 57: AAS 57 (1965) 61.   

[528] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 58: AAS 57 (1965) 61-62.

[529] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 69: AAS 57 (1965) 66.  

[530] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 59: AAS 57 (1965) 62.  

[531] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 59: AAS 57 (1965) 62; Cf. Pius XII, Const. apost. Munificentissimus,  1 Nov. 1950: AAS 42 (1950) ; Denz. 2333 (3903).        

[532] Troparium in die dormitionis  beatae Mariae Virginis: Horologion to mega (Romae 1876) p. 215.   

[533] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 53: AAS 57 (1965) 59.  

[534] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 63: AAS 57 (1965) 64.

[535] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 61: AAS 57 (1965) 63.  

[536] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 62: AAS 57 (1965) 63.  

[537] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 60: AAS 57 (1965) 62.  

[538] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 62: AAS 57 (1965) 63.  

II. ความศรัทธาต่อพระนางพรหมจารี

II.  ความศรัทธาต่อพระนางพรหมจารี

 971     “ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข” (ลก 1:48) “ความเลื่อมใสศรัทธาของพระศาสนจักรต่อพระนางพรหมจารีมารีย์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองของคารวกิจของคริสตชน”[539]  พระนางพรหมจารี “ได้รับความเคารพเป็นพิเศษจากพระศาสนจักร และนับตั้งแต่แรกเริ่มแล้วพระนางทรงได้รับความเคารพในตำแหน่ง ‘มารดาพระเจ้า’ และบรรดาผู้มีความเชื่อต่างพากันหลบมาขอความคุ้มครองของพระนางจากภยันตรายและในความต้องการต่างๆ [...] การแสดงคารวะเช่นนี้ [...] แม้จะเป็นการแสดงคารวะอย่างพิเศษ ก็ยังมีความแตกต่างในสาระสำคัญจากการแสดงคารวะต่อพระเจ้าที่พระศาสนจักรแสดงต่อพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ต่อพระบิดา และต่อพระจิตเจ้า ที่การแสดงคารวะต่อพระนางมารีย์นี้ช่วยส่งเสริมอย่างมากด้วย”[540] การแสดงคารวะเช่นนี้แสดงออกในการฉลองตามพิธีกรรมที่ถวายแด่พระมารดาของพระเจ้า[541] และในบทภาวนาแด่พระนางมารีย์ เช่น การสวดสายประคำ ซึ่งเป็นเสมือน “การย่อความพระวรสารทั้งหมด”[542]

 

[539] Paulus VI, Adh. ap. Marialis cultus, 56: AAS 66 (1974) 162.  

[540] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 66: AAS 57 (1965) 65.  

[541] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium,  103: AAS 56 (1964) 125.           

[542] Paulus Vi, Adh. ap. Marialis cultus, 42: AAS 66 (1974) 152-153.

III. พระนางมารีย์ – รูปภาพอันตกาลวิทยาของพระศาสนจักร

III.  พระนางมารีย์รูปภาพอันตกาลวิทยาของพระศาสนจักร

 972 หลังจากที่ได้กล่าวถึงต้นกำเนิด พันธกิจ และจุดหมายของพระศาสนจักรแล้ว เราคงไม่อาจกล่าวสรุปอย่างไรได้ดีกว่าหันมาหาพระนางมารีย์เพื่อพิจารณาในพระนางให้เห็นว่า พระศาสนจักร  จะเป็นอย่างไรในสวรรค์บ้านแท้เมื่อเดินทางมาถึงสุดปลายแล้ว ที่นั่น พระนางที่พระศาสนจักรให้ความเคารพเป็นพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและพระมารดาของตนกำลังรอคอยอยู่ “ในความสัมพันธ์ของผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคน”[543] “เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งและแบ่งแยกไม่ได้”

          “ในระหว่างนั้น พระมารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์แล้วทั้งกายและวิญญาณทรงเป็นภาพลักษณ์และจุดเริ่มที่พระศาสนจักรจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ในโลกหน้าแล้วฉันใด ในโลกนี้พระนางก็ทรงฉายแสงเจิดจ้าเป็นเสมือนเครื่องหมายถึงความหวังแน่นอนและความบรรเทาซึ่งประชากรของพระเจ้าที่กำลังเดินทางในโลกนี้มีอยู่จนกว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาถึงด้วยฉันนั้น”[544]

 

[543] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 69: AAS 57 (1965) 66-67.

[544] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 68: AAS 57 (1965) 66.  

สรุป

สรุป

 973      เมื่อพระนางมารีย์กล่าวตอบทูตสวรรค์ที่มาแจ้งข่าวแก่พระนางว่าขอให้เป็นไปเถิดและเห็นด้วยกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์นั้น พระนางก็ร่วมงานทั้งหมดกับพันธกิจที่พระบุตรจะต้องปฏิบัติให้สำเร็จ พระนางทรงเป็นพระมารดาในทุกแห่งที่องค์พระผู้ไถ่และศีรษะของพระกายทิพย์ประทับอยู่

 974      เมื่อพระนางพรหมจารีมารีย์ทรงผ่านช่วงเวลาพระชนมชีพในโลกนี้แล้วทรงได้รับพระเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ที่นั่นพระนางทรงร่วมพระสิริรุ่งโรจน์ของการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตรของพระนาง และเป็นประกันล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพของเราทุกคนที่เป็นส่วนประกอบพระกายทิพย์ของพระองค์

 975      “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อว่าพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า นางเอวาคนใหม่ มารดาของพระศาสนจักร บัดนี้ยังคงปฏิบัติภารกิจเยี่ยงมารดาเพื่อส่วนต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้าต่อไปในสวรรค์[545]

 

[545] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei.  15:  AAS 60 (1968) 439.