ตอนที่หนึ่ง

“สรุปพระวรสารทั้งหมด”

2761    “อันที่จริง การสรุปพระวรสารทั้งหมดถูกรวมไว้ในบท ‘ข้าแต่พระบิดา’”[7] องค์พระผู้เป็นเจ้า “หลังจากทรงแสดงวิธีอธิษฐานภาวนาให้เห็นแล้วได้ตรัสว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ (ยน 16:24) และแต่ละคนมีสิ่งที่ต้องขอสำหรับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะ การอธิษฐานภาวนาขอตามปกติจึงถูกวางไว้ก่อนเป็นเสมือนพื้นฐานของความปรารถนาที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิทธิที่จะเพิ่มการวอนขอนอกเหนือต่อไปได้”[8]

 

[7]  Tertullianus, De oratione, 1, 6: CCL 1, 258 (PL 1, 1255).

[8] Tertullianus, De oratione, 10: CCL 1, 263 (PL 1, 1268-1269).

I. ที่ศูนย์กลางของพระคัมภีร์

I. ที่ศูนย์กลางของพระคัมภีร์

 2762   เมื่อนักบุญออกัสตินอธิบายให้เห็นว่าเพลงสดุดีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงการอธิษฐานภาวนาของคริสตชนอย่างไร และสอดคล้องกับคำขอต่างๆ ในบท “ข้าแต่พระบิดา” อย่างไรแล้ว ท่านกล่าวสรุปว่า
            “ถ้าท่านพิจารณาดูถ้อยคำวอนขอต่างๆ ในพระคัมภีร์ (หนังสือเพลงสดุดี) แล้ว ข้าพเจ้าไม่คิดว่าท่านจะพบอะไรที่ไม่มีรวมอยู่ไว้ในบท ‘ข้าแต่พระบิดา’”[9]

 2763  พระคัมภีร์ทั้งหมด (ธรรมบัญญัติ ประกาศก และเพลงสดุดี) เป็นความจริงในพระคริสตเจ้า[10] พระวรสารเป็น “ข่าวดี” นี้ นักบุญมัทธิวสรุปการประกาศข่าวดีนี้ของพระองค์ไว้ในบทเทศน์บนภูเขา[11] ดังนั้น บทภาวนาวอนขอพระบิดาของเราจึงอยู่ตรงกลางของการประกาศข่าวดีนี้ คำขอแต่ละข้อของบทภาวนาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เราบทนี้จึงรับการอธิบายในบริบทนี้

           “บทข้าแต่พระบิดาเป็นบทภาวนาที่สมบูรณ์ที่สุด […] ในบทข้าแต่พระบิดานี้เราไม่เพียงวอนขอทุกสิ่งที่เราอาจปรารถนาได้อย่างถูกต้อง แต่ยังเป็นสิ่งที่ทรงบัญชาสั่งให้เราปรารถนาด้วย บทภาวนาบทนี้จึงไม่เพียงแต่สอนเราให้วอนขอเท่านั้น แต่ยังสอนเราอีกด้วยว่าเราต้องปรารถนาวอนขออะไรบ้าง”[12]

 2764  บทเทศน์บนภูเขาเป็นคำสอนสำหรับชีวิต บทข้าแต่พระบิดาเป็นบทภาวนา แต่ในทั้งสองเรื่องนี้พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ความปรารถนาและอารมณ์ความรู้สึกของเรามีรูปแบบใหม่ พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้มีชีวิตใหม่และใช้บทภาวนาบทนี้อธิษฐานภาวนาวอนขอชีวิตนี้ ความถูกต้องของชีวิตของเราจะขึ้นอยู่กับความถูกต้องของการอธิษฐานภาวนาของเรา

 

[9] Sanctus Augustinus, Epistula 130, 12, 22: CSEL 44, 66 (PL 33, 502).

[10] เทียบ ลก 24:44.            

[11] เทียบ มธ บทที่ 5-7.           

[12] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 83, a. 9, c: Ed. Leon. 9, 201.

II. บท “ข้าแต่พระบิดา” (หรือ “บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า”)

II. บทข้าแต่พระบิดา” (หรือบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า”)

 2765  วลีที่ธรรมประเพณีเคยใช้เรียกบท “ข้าแต่พระบิดา” ว่า “บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” หมายถึงบทภาวนาต่อพระบิดาของเราที่พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนและประทานไว้ให้เรา บทภาวนาบทนี้ซึ่งมาถึงเราจากพระเยซูเจ้าเป็นบทภาวนาพิเศษทีเดียว เป็นบทภาวนา “ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ในด้านหนึ่ง พระบุตรเพียงพระองค์เดียวทรงใช้ถ้อยคำของบทภาวนานี้ประทานพระวาจาที่พระบิดาประทานแก่พระองค์ให้แก่เราจริงๆ[13] พระองค์ทรงเป็นครูสอนการอธิษฐานภาวนาให้เรา ในอีกด้านหนึ่ง พระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์ทรงทราบดีจากพระทัยมนุษย์ของพระองค์ถึงความต้องการที่จำเป็นของบรรดาพี่น้องของพระองค์ ทรงเปิดเผยความต้องการเหล่านี้ให้แก่พวกเรา พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างการอธิษฐานภาวนาของเรา

 2766  แต่พระเยซูเจ้ามิได้ทรงทิ้งสูตรไว้ให้เรากล่าวซ้ำแบบเครื่องจักร[14] เช่นเดียวกับในบทภาวนาโดยเปล่งเสียงทั้งหลาย พระจิตเจ้าทรงสอนบรรดาบุตรของพระเจ้าโดยทางพระวจนาตถ์ของพระเจ้าให้อธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา พระเยซูเจ้าประทานไม่เพียงแต่ถ้อยคำของบทภาวนาในฐานะบุตรให้แก่เราเท่านั้น พระองค์ยังประทานพระจิตเจ้าเพื่อให้บทภาวนานั้นเป็น “จิตและชีวิต” (ยน 6:63) ยิ่งกว่านั้น บทภาวนาของเรามีลักษณะเป็นคำภาวนาของบุตรและเป็นไปได้ก็เพราะพระบิดา “ทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงดังว่า ‘อับบา พระบิดาเจ้า’” (กท 4:6) เนื่องจากว่าบทภาวนาของเราอธิบายถึงความปรารถนาของเราเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระบิดา “ผู้ทรงสำรวจจิตใจของมนุษย์ ทรงทราบความปรารถนาของพระจิตเจ้า เพราะว่าพระจิตเจ้าทรงอธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (รม 8:27) บทภาวนาต่อพระบิดาของเราจึงแทรกอยู่ในพันธกิจล้ำลึกของพระบุตรและพระจิตเจ้า

 

[13] เทียบ ยน 17:7.

[14] เทียบ มธ 6:7; 1 พกษ 18:26-29.

III. การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร

III. การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร

 2767    ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้ว พระศาสนจักรได้รับของประทานนี้ที่แยกจากกันไม่ได้ คือพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและของพระจิตเจ้าผู้ประทานชีวิตแก่พระวาจาเหล่านี้ในใจของบรรดาผู้มีความเชื่อ และได้นำพระวาจานี้เข้ามาในชีวิต กลุ่มคริสตชนในสมัยแรกสวดบทข้าแต่พระบิดา “วันละสามครั้ง”[15] แทน “คำอวยพรสิบแปดประการ” ที่ความศรัทธาของชาวยิวปฏิบัติกันอยู่

 2768   ตามธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวก บทข้าแต่พระบิดามีรากฝังอยู่ในบทภาวนาของพิธีกรรม

            องค์พระผู้เป็นเจ้า “ทรงสอนให้ภาวนาร่วมกันเพื่อบรรดาพี่น้อง พระองค์ไม่ตรัสว่า ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้า พระองค์สถิตในสวรรค์ แต่ตรัสว่า  ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็นการวอนขอสำหรับร่างกายร่วมกันของทุกคน”[16]

        ในทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรม บทข้าแต่พระบิดาเป็นส่วนประกอบสำคัญของบททำวัตรชั่วโมงสำคัญ (วัตรเช้าและวัตรเย็น) แต่ลักษณะสำคัญเกี่ยวกับพระศาสนจักรของบทภาวนาบทนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามศีลของกระบวนการการรับคริสตชนใหม่

 2769  ในศีลล้างบาปและศีลกำลัง พิธีมอบบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (หรือ “บทข้าแต่พระบิดา”)หมายถึงการบังเกิดใหม่มารับชีวิตพระเจ้า เนื่องจากว่าบทภาวนาของคริสตชนเป็นการใช้พระวาจาของพระเจ้าสนทนากับพระองค์  ผู้ที่ “บังเกิดใหม่  […]  จากพระวาจาที่ทรงชีวิตของพระเจ้า” (1 ปต 1:23) เรียนรู้ที่จะเรียกหาพระบิดาของตนด้วยพระวาจาที่พระองค์ทรงยินดีฟังเสมอเท่านั้น และตั้งแต่นี้ไปเขาจะทำเช่นนี้ได้ก็เพราะตราประทับที่ไม่อาจลบได้ของพระจิตเจ้าได้ถูกวางไว้ในหัวใจ ที่ใบหู บนริมฝีปาก และบนความที่เขาเป็นบุตรโดยแท้จริง เพราะเหตุนี้ คำอธิบายบท “ข้าแต่พระบิดา” ของบรรดาปิตาจารย์ส่วนใหญ่จึงมีเจตนาไว้สำหรับผู้เรียนคำสอนและคริสตชนใหม่   เมื่อพระศาสนจักรสวดบทข้าแต่พระบิดา ประชากร “บรรดาทารกแรกเกิด” จึงเป็นผู้ที่ภาวนาและรับพระเมตตาอยู่เสมอ[17]

 2770   ในพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณ บทข้าแต่พระบิดาปรากฏเป็นดังบทภาวนาของพระศาสนจักรทั้งหมด บทภาวนานี้เปิดเผยความหมายและประสิทธิผลของพิธีบูชาขอบพระคุณไว้ครบครัน การที่บทภาวนาบทนี้ตั้งอยู่ระหว่างบท Anaphora (บทขอบพระคุณ)และพิธีกรรมการรับศีลมหาสนิท ในด้านหนึ่งจึงรวมการวอนขอและการเชิญพระจิตเจ้าให้วอนขอแทนที่แสดงออกในบท Epiclesis (บทอัญเชิญพระจิตเจ้า) และในอีกด้านหนึ่งเป็นดังการเคาะประตูงานเลี้ยงของพระอาณาจักรที่การรับศีลมหาสนิทเป็นเสมือนการเกริ่นล่วงหน้า

 2771   ในพิธีบูชาขอบพระคุณ บทข้าแต่พระบิดายังแสดงลักษณะอันตกาล (escalological) ของคำวอนขอต่างๆ ให้ปรากฏด้วย บทภาวนาบทนี้ยังเป็นการวอนขอ “ของยุคสุดท้าย” โดยเฉพาะด้วย คือขอความรอดพ้นของช่วงเวลาที่พระจิตเจ้าทรงเริ่มหลั่งไว้ให้แล้วและจะสำเร็จบริบูรณ์เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จกลับมา คำวอนขอต่อพระบิดาของเราแตกต่างจากคำวอนขอของพันธสัญญาเดิม อิงอยู่แล้วกับพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นที่สำเร็จไปแล้วครั้งเดียวสำหรับตลอดไปในพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ

 2772   จากความเชื่อที่ไม่หวั่นไหวนี้จึงเกิดความหวังที่ปลุกคำวอนขอทีละข้อทั้งเจ็ดข้อ คำวอนขอทั้งเจ็ดข้อนี้แสดงการคร่ำครวญของยุคปัจจุบันนี้ออกมา ยุคนี้เป็นยุคของความพากเพียรและการรอคอย ในระหว่างยุคนี้ “ยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต” (1 ยน 3:2)[18] ศีลมหาสนิทและบทข้าแต่พระบิดากำลังรอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร 11:26)

 

[15] Didache, 8, 3: SC 248, 174 (Funk, Patres apostolici, 1, 20).     

[16] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In Matthaeum, homilia 19, 4: PG 57, 278.         

[17] เทียบ 1 ปต 2:1-10.           

[18] เทียบ คส 3:4.

สรุป

สรุป

 2773    พระเยซูเจ้าทรงตอบคำขอร้องของบรรดาศิษย์ (“พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเถิดลก 11:1) โดยทรงมอบบทภาวนาพื้นฐานของคริสตชน “บทข้าแต่พระบิดา” ให้แก่เขา

 2774    “พระวรสารทั้งหมดถูกสรุปรวมไว้ในบทข้าแต่พระบิดาโดยแท้จริง[19] บทภาวนาบทนี้ “เป็นบทภาวนาที่สมบูรณ์ที่สุด”[20] บทภาวนาบทนี้เป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์

 2775    บทภาวนาบทนี้ได้ชื่อว่า “บทอธิษฐานภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะมาถึงเราจากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นผู้สอนและแบบอย่างการอธิษฐานภาวนาของเรา

2776    บทข้าแต่พระบิดาเป็นการภาวนายอดเยี่ยมของพระศาสนจักร เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของชั่วโมงสำคัญในพิธีกรรมทำวัตร  และของศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับพิธีรับผู้สมัครเป็นคริสตชน ได้แก่ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิท   บทภาวนาบทนี้ยังแทรกอยู่ในพิธีบูชาขอบพระคุณ แสดงให้เห็นลักษณะ “อันตกาล” ของคำขอต่างๆ ของบทภาวนาบทนี้ ขณะที่รอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร 11:26)

 

[19] Tertullianus, De oratione, 1, 6: CCL 1, 258 (PL 1, 1255).        

[20] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, 83, 9, c: Ed. Leon. 9, 201.