พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์

(ดูประวัติเพิ่มเติมได้ที่นี่)

          การพัฒนางานด้านคำสอนต้องพัฒนาที่ “ต้องเกาให้ถูกที่คัน” ต้องส่งเสริมให้ครูคำสอนมีความรู้ มีปริญญาตรี มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับสำหรับโรงเรียนและตามวัด ทั้งพระสงฆ์ ทั้งในเมือง และต่างจังหวัด เป็นงานระดับประเทศ

          โครงการอบรมครูคำสอนปกติ 2 ปี และอบรมระยะสั้น 1 เดือน อบรมเพียง 2-3 วัน เพียงแค่ 1 วัน สำหรับพระสงฆ์ นักบวช ครู อาสาสมัคร นักศึกษา ทั้งจัดอบรม ทั้งประชาสัมพันธ์ และหาทุนให้

          เป็นเรื่องไม่ปกตินักที่ซิสเตอร์และนักศึกษาฆราวาสจะได้รับทุนไปเรียนคำสอนระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ที่กรุงโรมอย่างต่อเนื่อง 2-4 ปี แต่ละปีมี 1-2 คน วันเวลาผ่านไปแต่ละปีๆ วันนี้หลายสิบคนแล้วจากสังฆมณฑลต่างๆ และคณะนักบวช ฯลฯ

          ตลอดเวลาที่ผ่านมาภารกิจดั่งขุนเขาที่ขวางหน้า ถ้าใจไม่แกร่ง ความอดทนนานไม่มี การอุทิศตนไม่มาก ก็ไม่สามารถผลักดัน จูงมือ และลากสัมภาระทั้งหลายให้ผ่านมาได้ขนาดนี้

          วันนี้มีครูคำสอนที่สามารถสอนเด็กนักเรียนที่เป็นคนต่างประเทศ ต้องสอนด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาอิตาเลียน สามารถติดต่อเรียนได้ และได้สอนมาแล้วหลายปี ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย

          แรงผลักดันและติดตามอย่างต่อเนื่อง ค.ศ.2000 วิทยาลัยแสงธรรมได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาคริสตศาสนศึกษา เปิดรับนักศึกษาที่จะเรียนเป็นครูสอนคำสอน เมื่อครบ 4 ปี ได้รับปริญญาตรี มีสิทธิ์เท่ากับผู้จบปริญญาตรีทุกประการ

          จนเพื่อนๆ มอบฉายาให้คุณพ่อวีระว่า “ครูฟิลิป สีฟอง” ซึ่งเป็นครูคำสอนในภาคอีสาน ถูกฆ่าตายสมัยการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ และต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1989 ได้รับแต่งตั้งเป็น “บุญราศี” พร้อมคนอื่นๆ ที่ถูกฆ่าตายด้วย รวมเป็น 7 คน

          คุณพ่อต้องทำตั้งแต่จัดทำโครงการ หลักสูตร ประชาสัมพันธ์ ติดตามโดยตรง รับสมัคร เป็นอาจารย์สอน และเมื่อฝึกสอน ต้องไปนิเทศน์การสอนของนักศึกษา ประเมินการสอน จนกระทั่งอนุมัติ

          แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทั้งหมดหรือทุกเรื่องที่คุณพ่อทำอยู่เพียงคนเดียว แต่มีทีมงานที่เป็นทั้งพระสังฆราช พระสงฆ์ ซิสเตอร์ ครูคำสอน และเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมงานกันอีกหลายคน ทั้งเต็มเวลาและอาสาสมัคร แต่ทั้งหมดนี้ต้องบอกว่าคุณพ่อเป็นผู้นำที่ลงมือทำอย่างใกล้ชิด

          งานคำสอนเป็นเหมือนลมหายใจ!

          ถ้าจะพูดถึงคุณพ่อวีระ ภาพลักษณ์ที่ขึ้นมาทันทีคืองานคำสอน ถ้าจะพูดแล้วเชื่อมั่นว่าทุกคนคงเห็นด้วย

           “คุณพ่อวีระ คือ ผู้บุกเบิกงานคำสอนไทยคนหนึ่ง”

          รับไม้...งานคำสอน

          เมื่อผมบวชใหม่ๆ คุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย ได้ขอให้เป็นกรรมการคำสอนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีคุณพ่อสังวาลย์ ศุระศรางค์ (ขณะนั้น) ได้เริ่มจัดทำเป็นรูปเป็นร่าง วางระบบและปูทางไว้ให้ ต่อมาได้วางมือเหมือนกับนักบุญยอห์น บัปติสต์ และมอบให้คุณพ่อวีระ อาภรณ์รัตน์

          เมื่อสร้างคนก็ต้องทำสิ่งที่คู่กันคือสร้างสื่อคำสอน เพื่อให้ครูได้ใช้เป็นอุปกรณ์การสอน เป็นสื่อช่วยสอนคำสอน

          “ขณะที่เรียนวิชาคำสอนอยู่ที่กรุงโรม มีเวลาว่างสั้นๆ ช่วงปิดเทอม ก็ไปเข้าเรียนเรื่องสื่อมวลชนที่มหาวิทยาลัยของคณะซาเลเซียน เพราะคิดว่าสามารถช่วยและมีประโยชน์ต่องานด้านคำสอน”

          เริ่มแรกมีภาพโปสเตอร์เพียงไม่กี่ภาพ อาจจะใช้เพียงคนตัดกระดาษ ติดปะให้เป็นรูปร่าง จนเข้าโรงพิมพ์ เป็นร้อย เป็นพันแผ่น

          จากแผ่นพับธรรมดาๆ ที่พิมพ์เป็นพัน เป็นหมื่นๆ แผ่น กลายเป็นหนังสือเล่มบางๆ และเล่มหนาๆ ทีละเล่มสองเล่ม ทั้งแปลทั้งเขียนขึ้นมา หรือพิมพ์ซ้ำเล่มเก่าที่ขาดตลาดไปแล้ว

          หนังสือคำสอนที่เป็นเล่มใหญ่หนา ล่าสุดที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงประกาศใช้ ทันทีที่ออกมา คุณพ่อก็พยายามจัดหาคนแปลเพื่อให้คนไทยที่ภาษาต่างประเทศไม่แข็งแรงได้อ่านในภาษาไทยของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นผลงาน

          วีดีโอ ดีวีดี วีซีดี ต่างประเทศซึ่งจัดแปลและพากษ์ภาษาไทยเอง แม้จะต้องจัดหาคนแปล คนอัดเสียง ร้านจัดทำก๊อปปี้ ต้องขอลิขสิทธิ์ คุณพ่อก็ทำเองหมด

          ร้านที่ขายของเหล่านี้ไม่ว่าจะในห้างใหญ่ๆ หรือข้างถนน ถ้ามีเรื่องอะไรที่พอจะใช้สำหรับสอนคำสอนได้ คุณพ่อก็จะจัดซื้อมาใช้ ซื้อมาเพื่อจำหน่าย เผยแพร่ให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยครูสอน      คำสอน เพื่อให้คริสตังได้มีโอกาสรับรู้ ก็จัดทำ

          จนกระทั่งในสำนักงานคำสอนกลายเป็นเหมือนสำนักงาน “สื่อมวลชนคาทอลิกฯ” จนเกือบจะไม่มีที่นั่ง ทางเดิน

          ครูคำสอน แฟนพันธุ์ทัวร์

          เพื่อให้ครูคำสอนได้มีประสบการณ์ มีความมั่นใจ จึงพยายามขอทุนจากพระสังฆราช ส่งครูไปแสวงบุญที่กรุงโรม ที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศไทยที่สองคอน มุกดาหาร และประเทศลาว

          เท่าที่ทราบกลุ่มแรกที่ได้ไปแสวงบุญคือ ครูที่สอนคำสอนมานานครบ 25 ปี ได้ไปกรุงโรมโอกาสฉลองบุญราศีทั้ง 7 ค.ศ.1989 จำนวน 6 คน

          “ครูคำสอนไม่ค่อยมีสตางค์กัน ต้องพยายามหาทางช่วย ให้บางคนผ่อนได้ ไปก่อนจ่ายทีหลัง เพราะถ้ารอให้มีเงินแล้ว ชาตินี้ก็คงไม่มีโอกาส”

          ไม่รู้ว่ามีใครที่ยังผ่อนไม่หมดบ้าง...โปรดยกมือขึ้น!

          แต่ละครั้งที่ประกาศว่าจะจัดแสวงบุญ บรรดาครูคำสอนจะมาเป็นอันดับแรก และบรรดา “แฟนพันธุ์ทัวร์” ก็ไม่ผิดหวัง หลายๆ แห่งก็จัดไปหลายครั้ง โดยเฉพาะบุญราศีสองคอน จัดเป็นประจำทุกปี

          ระหว่างทางก็จะไม่ให้เสียเวลา บนรถทัวร์คุณพ่อจะเตรียมวีดีโอดีๆ ที่ส่งเสริมความเชื่อ ความศรัทธา และให้กำลังใจ เตรียมพร้อมไว้เป็นชุดๆ และสวดภาวนา สวดสายประคำ เป็นการเรียนคำสอนสัญจรนั่นเอง

          เจ้าของธุรกิจโรงแรมมีชื่อคุณพ่อวีระ อาภรณ์รัตน์ อยู่ในลูกค้าชั้นหนึ่ง

          งานคำสอนเป็นเหมือนลมหายใจ

          ครูคำสอนอยู่ในหัวใจเสมอ

          ตั้งแต่บวชเป็นพระสงฆ์ รู้สึกมีความสุขกับงานที่ได้ทำ ไม่รู้สึกมีความทุกข์ แม้ต้องนอนป่วยก็ตาม ผมอยู่ตามวัดไม่กี่ปี  ครั้งแรกอยู่ที่บ้านเณรยอแซฟกับคุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย

          ไปเรียนต่อที่กรุงโรม กลับมารับผิดชอบงานคำสอน และเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยแสงธรรม งานทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ผมไม่รู้สึกมีความทุกข์อะไร มีผู้คนช่วยเหลือ สนับสนุน ทั้งผู้ใหญ่

          “ผมพยายามทำสิ่งที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด!”

          ครั้งแรกที่เริ่มเขียนหนังสือ เมื่อครั้งไปเรียนต่อที่กรุงโรม ได้เขียนเรื่องที่ได้รู้ ได้เห็น ชีวิตผู้คน พระศาสนาจักรสากล ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดี เป็นพระพรอย่างหนึ่งที่ผมได้รับ ก็เริ่มต้นเขียนมาลง “อุดมสาร” จากวันนั้นมาถึงวันนี้กว่า 22 ปีแล้ว

          เมื่อมาทำงานคำสอน ก็ได้เขียน “คำสอน 5 นาที” ก็มีประโยชน์

          ย้อนหลังไปตอนบวชใหม่ๆ และมาทำงานด้านคำสอน เรามีหนังสือคาทอลิกน้อย เพียงไม่กี่เล่ม จึงตั้งใจว่าจะต้องพยายามหาสื่อต่างๆ พิมพ์หนังสือเก่า แปลหนังสือ และวีดีโอ ซีดี ฯลฯ จากต่างประเทศ และในประเทศไทยเราให้มากขึ้น มาถึงวันนี้ก็เห็นว่ามีหนังสือมากจากการพิมพ์คาทอลิกฯ จากคณะนักบวชและสังฆมณฑลต่างๆ ผมคิดว่าถ้าพระสงฆ์เราซึ่งได้เรียนกันมามากหลายปี ถ้าสนใจสักนิดหน่อยก็น่าจะเขียนได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อคริสตัง ต่อพระศาสนจักร และจะมีรุ่นต่อๆ ไป ต่อยอดไปเรื่อยๆ ผมได้เห็นแบบอย่างของพระคุณเจ้ายวง นิตโย พระคุณเจ้ารัตน์ บำรุงตระกูล ท่านได้เขียนและแปลหนังสือไว้หลายเล่ม และหนังสือคำสอนของ คุณพ่อชัชวาลย์ แสงแก้ว ก็เป็นหนังสือที่ใช้ได้ดี

          ตอนนี้คิดว่าเราต้องพยายามส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือศาสนาให้มากขึ้นโดยเฉพาะพระคัมภีร์ ประวัตินักบุญ ฯลฯ

          ผมรู้สึกละอายเหมือนกันที่ฝรั่งมาเขียนหนังสือไทย เรื่องของคนไทย ให้คนไทยอ่าน

          เมื่อตอนเป็นจิตตาธิการที่เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ รู้สึกว่าได้ประโยชน์มากกับชีวิตสงฆ์ ได้รู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับนักบวชหญิง กับนักเรียนหญิง ผมเรียนมากับนักเรียนชายตลอด ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ ได้อยู่ที่นี่ตลอด 8 ปี

          เมื่อดูแลศูนย์คริสตศาสนธรรม หรือศูนย์ซีซี. เป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยแสงธรรม ก็ตั้งใจทำหน้าที่รับผิดชอบเต็มที่ มีคนช่วยกัน ผมไม่รู้สึกลำบากอะไร สนุกมากกว่า ได้เรียนรู้งาน รู้จักคน ฯลฯ มากขึ้น

            คติพจน์ คือ ตัวบ่งชี้

          เมื่อเป็นพระสังฆราช ผมคิดถึงว่าช่วงนี้เป็นปีพระวาจา ปีนักบุญเปาโลซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เรา ก็คิดถึงคติพจน์ที่เกี่ยวกับการประกาศข่าวดี ผมดูจากนักบุญเปาโลที่พูดไว้ในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 บทที่ 9 ข้อที่ 22 ว่า “ข้าพเจ้าทำทุกอย่างเพราะเห็นแก่ข่าวดี” ภาษาอังกฤษ I do it all for the sake of the Gospel ภาษาละตินว่า “Omnia Facio Propter Evangelium” ซึ่งได้ปรึกษากับคุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส ท่านก็เห็นว่าดีและค้นภาษาละตินให้

          การทำงานด้านคำสอนผู้ใหญ่ที่นี่ เมื่อไปอยู่ทางเชียงใหม่ก็มีงานสอนคำสอน งานประกาศข่าวดีกับผู้ใหญ่ กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และผู้ใหญ่อีกมากมาย

          สำหรับคติพจน์วันบวชเป็นพระสงฆ์ สมัยนั้นชอบคำประพันธ์ที่ คุณพ่อประยูร พงษพิศ เพื่อนรุ่นพี่แต่งไว้ ผมอ่านแล้วชอบมาก ก็เลยขอเอาคำนี้มาเป็นคติพจน์วันบวช เพราะคติพจน์ก็เป็นเครื่องบ่งบอกความตั้งใจ บ่งบอกนิสัยของคนๆ นั้น ผมก็เลยเลือกข้อความนี้ซึ่งผมชอบคำว่า “รัก รับใช้”

          ผมก็พยายามทำตามคติพจน์ในวันที่บวชซึ่งผมเลือกไว้

          “เกิดมาครั้ง   หวังทำดี  ให้ที่สุด เพื่อมนุษย์  ทั้งผอง  ครองหรรษา

          ได้รู้จัก  รักรับใช้  เจ้าชีวา อีกพร้อมหน้า   สร้างสวรรค์   ณ แผ่นดิน”

          ชีวิตที่ผ่านมาเป็นขั้นตอนและเป็นบันไดที่พระเป็นเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ ผู้คนมากมายได้ช่วยกันหล่อหลอมและส่งเสริมประสบการณ์ สำหรับวันนี้และอนาคต เพื่อหน้าที่ให้คุณพ่อเป็นนายชุมพาบาลที่ดี “รักและรับใช้” ในตำแหน่งพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่

(โดย...โทนี่ไทยแลนด์)

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120