คำสอน 5 นาที - หมวดบทความ

ชุมชนเข้มแข็ง

         ช่วงต้นเดือนนี้  ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.  พวกเราคงติดตามข่าวคราวการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครฯ  ด้วยวิธีการหลากหลายตามสถานที่ชุมชนทั่วๆ ไป  ฟังวิสัยทัศน์และโครงการที่แต่ละคนต้องการเน้น
         ผมติดใจกับสื่อประชาสัมพันธ์  ที่ว่า " กทม. 8 ล้านคน คุณจำหน้าใครได้บ้าง " ในชีวิตประจำวันเราเดินผ่าน…นั่งรถผ่านคนมากมาย บางครั้งนั่งรถเบียดเสียดกันแต่เราไม่รู้จัก ไม่สนใจกัน บางครั้งเจอกันแทบทุกวัน
         บางครั้งพบเห็นคนถูกรถชน  ต้องการความช่วยเหลือ  มีแต่คนยืนมุงดู ไม่มีใครกล้ายื่นมือไปช่วยเหลือเท่าไร ถือว่าไม่ใช่ธุระของเรา…เสียเวลา…ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการดีกว่า เดี๋ยวเราถูกข้อหาไปอีก
         ฉะนั้นเมื่อมีผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์อยากพัฒนาคนให้รักที่ที่ตนอยู่ รักชุมชน หันมาร่วมมือพัฒนาชุมชน พัฒนาเมือง พัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่กว่านี้  จึงน่าสนใจติดตามว่า ถ้าได้เป็น ผู้ว่าฯ แล้วจะทำอย่างไร
         การพัฒนาประเทศ นอกจากพัฒนาประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ให้มีการศึกษาสูงขึ้น  มีรายได้มากขึ้น  สุขภาพดีขึ้น  เท่านั้นยังไม่พอแน่นอน  เพราะยังคงมีปัญหาสังคมอื่นๆ อีก เช่น ยาเสพติด การทุจริต ครอบครัวแตกแยก คนไร้น้ำใจ ไม่ถือศาสนา ฯลฯ  จึงต้องพัฒนาด้านจิตใจด้วย
         การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม  จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คือ  ให้ประชาชนสำนึกถึงปัญหา ร่วมวางแผน ตัดสินใจ ระดมทรัพยากร เทคโนโลยีในท้องถิ่น  ช่วยกันบริหารจัดการ และติดตามประเมินผล รวมทั้งรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ  โดยโครงการดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน (จากบทความเรื่อง บันไดก้าวสำคัญเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ใน มติชนรายวัน 28 มิถุนายน 2543  หน้า 12)
         หันมาพิจารณา คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ภาค 3 กล่าวถึง ชุมชน ว่า  มนุษย์จำเป็นต้องดำเนินชีวิตในสังคม…สัมพันธ์กับคนอื่น บริการซึ่งกันและกัน  และสนทนากัน (ข้อ 1897)
         สังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีผู้มีอำนาจที่ถูกต้อง  อุทิศตนทำงาน  และเอาใจใส่เพื่อความดีของทุกคน (ข้อ 1897)
         เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องไม่กำหนดความถูกต้องทางธรรมจากตัวเอง  ต้องไม่ประพฤติตนอย่างเผด็จการ แต่ต้องดำเนินการเพื่อ ความดีของส่วนรวม (ข้อ 1914)
         ชุมชนคันนายาว  ได้ร่วมมือกันผลัดเวรตอนกลางคืน  ตั้งด่านตรวจยาบ้า เพราะรอเจ้าหน้าตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ เป็นตัวอย่างชุมชนเข้มแข็งรูปแบบหนึ่ง
         ชุมชนจะเข้มแข็งได้ จึงต้องพัฒนาสมาชิกให้มีศาสนา เพื่อจะได้ปฏิบัติตามศรัทธา ตามคำสั่งสอน และแบบอย่างของศาสดา  และบรรดาศิษย์
         ในหนังสือกิจการอัครสาวก  นักบุญลูกาบันทึกว่า " ผู้มีความเชื่อทั้งหลายในขณะนั้นมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ไม่มีใครเรียกสิ่งของที่ตนมีว่าเป็นของตน แต่ของทุกอย่างเป็นของกลาง…ในหมู่เขาไม่มีคนขัดสน " (กจ.4:32 - 34)
         ชีวิตนักบวชจึงเป็นการเลียนแบบชุมชนเข้มแข็งยุคแรกๆ ของเรา หลายวัดมี สภาอภิบาล ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ หลายวัดมีกิจกรรฆราวาสแพร่ธรรม ช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็ง อาศัยความร่วมมือพัฒนาแบบมีส่วนร่วม มิใช่ตัวใคร…ตัวคุณ
         วันนี้ ขอให้คุณสนใจใครสักคนหนึ่ง  ช่วยให้เขายิ้มได้…นะครับ  ขอให้เราสังกัดชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และช่วยกันทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง  เอื้ออาทร ช่วยเหลือ  มีน้ำใจต่อกันมาขึ้นทุกวัน
                                                                                           (อุดมสารรายสัปดาห์  ฉบับที่ 29, ประจำวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม 2000)

HOME