คำสอน 5 นาที - หมวดบทความ

เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา

       ผมแวะไปเยี่ยมสำนักงาน "อุดมสาร" เห็นหนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น่าสนใจดีครับ  จึงขอประชาสัมพันธ์ในวันนี้
         คณะผู้เขียนประกอบด้วย
         รองศาสตราจารย์ ดร.วไล ณ ป้อมเพชร อาจารย์สุมิตรา พงศธร  คุณพ่อวิชัย โภคทวี รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีเพ็ญ ศุภพิทยกุล  คุณศราวุฒิ  ประทุมราช คุณอัจฉรา  สมแสงสรวง คุณชื่นสุข อาศัยธรรมกุล คุณนิตยา กฤษณานนท์
         คณะบรรณาธิการ คือ
         รองศาสตราจารย์ ดร.วไล ณ ป้อมเพชร รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา  สถาอานันท์  คุณนิตยา  กฤษณานนท์
         พิมพ์ครั้งแรก  ตุลาคม  2545  โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ,  พิมพ์ครั้งที่สอง  ธันวาคม 2546
         เนื้อหาประกอบไปด้วย 9 บทคือ  1.ศาสนธรรมกับสิทธิมนุษยชน 2.สิทธิมนุษยชนคืออะไร  3.ความเป็นมาของสิทธิมนุษยชน 4.สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย 5.สิทธิมนุษยชนของสตรี  6.สิทธิเด็ก 7.สิทธิมนุษยชนในโรงเรียน 8.การเขียนแผนการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน 9.ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
         ภาคผนวก
-ปฏิญญาสากล  ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
-คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
         ในบทนำกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  "ผู้บริหารโรงเรียน  ครู อาจารย์  นักการศึกษา ผู้สนใจ  ผู้ปฏิบัติ  และผู้ส่งเสริมศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน คงปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยในอนาคต  เป็นสังคมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ  การเบียดเบียนเอาเปรียบ  เป็นสังคมที่คนไทยมีเสรีภาพ มีความเสมอภาคในศักดิ์ศรีและสิทธิ มีความยุติธรรม มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนพื้นฐานของคุณธรรม  ไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่  มีความเป็นประชาธิปไตย อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและมีความสอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
         ถ้าเราต้องการให้สังคมไทยในอนาคตมีลักษณะดังกล่าว  เราต้องกระทำสิ่งต่อไปนี้คือ:
         ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยให้กระบวนการเรียนรู้  ทักษะ และการหล่อหลอมทัศนคติ  ก่อให้เกิดจิตสำนึกต่อศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งสิทธิมนุษยชนเกิดเป็นวิถีชีวิต อันจะนำไปสู่วัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
         ปลูกฝังค่านิยม ที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ค่านิยมที่จะต้องปลูกฝังอาจจะเป็นค่านิยมดั้งเดิมที่สั่งสมกันมาในสังคมไทย  ที่มีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนาเช่น  ความเมตตากรุณา  ความเอื้ออาทร การแบ่งปัน การเคารพในชีวิต  ความมีน้ำใจ เป็นต้น  ซึ่งล้วนแต่เป็นค่านิยมที่ส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน  นอกจากนั้นยังมีค่านิยมสากลที่สมควรปลูกฝัง เช่น ความยุติธรรม เสรีภาพ  ความเสมอภาค  ความรับผิดชอบ การเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่น  เป็นต้น ค่านิยมดังกล่าวนี้จะต้องได้รับการปลูกฝังให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนในสังคมไทย โดยเริ่มจากครอบครัว  โรงเรียน  สถาบันการศึกษาทุกระดับและสถาบันอื่นๆ ในสังคม
         เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมที่ถูกละเลยในสังคมไทย  อันเนื่องมาจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งมีผลทำให้ศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ด้อยลงและสิทธิมนุษยชนถูกละเมิด ให้คุณธรรมและจริยธรรมได้รับการเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนไทยอย่างลึกซึ้งจนสามารถแสดงออกมาเป็นการปฏิบัติกันอย่างถูกต้องยุติธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่เลือกปฏิบัติ  อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันและปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้องด้วยความสงบสุข
         อย่าลืมไปใช้สิทธิของท่านในการเลือกตั้ง เลือกคน  เลือกพรรคที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนะครับ

(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 5, 30 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2005)

HOME