นักบุญโยเซฟิน บาคีตา เกิดที่ประเทศซูดาน ค.ศ. 1869 อายุ 7 ขวบ โดนลักพาตัวไปขาย 5 ครั้ง จนเธอจำชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ไม่ได้ คนลักพาตัวเป็นผู้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า บาคีตา (ภาษาอาหรับ) ซึ่งแปลว่า โชคดี กงสุลชาวอิตาเลี่ยนชื่อ กัลลิสโต เล็กญานี ซื้อบาคีตาที่คาร์ทุม นครหลวงของซูดาน

เมื่อสถานการณ์การเมืองบีบบังคับ ทำให้นายของบาคีตากลับไปประเทศอิตาลี ที่บ้านของกัลลิสโต บาคีตามีความสุขดีแม้จะคิดถึงครอบครัวที่ซูดาน แต่ก็ถูกดูหมิ่นเพราะเป็นทาสผิวดำ เธออยู่ที่เซียนีโก (Zianigo) ใกล้มีราโน เวเนโต ค.ศ. 1888 ที่สุดบาคีตาอยู่ในความดูแลของซิสเตอร์คานอสเซียน ที่เวนีซ ทำให้บาคีตารู้จักพระเจ้า ซึ่งตั้งแต่เด็กๆ เธอเคยคิดแล้วว่า “ใครสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ ใครเป็นผู้สร้างสิ่งงดงามเหล่านี้ ลูกอยากรู้จักพระองค์ อยากนมัสการพระองค์”

หลังจากเป็นคริสตังสำรองหลายเดือน วันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1890 เธอได้รับศีลล้างบาปเป็นคาทอลิก ชื่อ โยเซฟิน เป็นภาษาฮีบรู แปลว่า “เพิ่ม” เธอดีใจมาก กล่าว ณ ที่รับศีลล้างบาปว่า “ที่นี่ ลูกเป็นลูกสาวของพระเจ้าแล้ว” นายต้องการให้บาคีตากลับมารับใช้ตนดังเดิม แต่บาคีตาตัดสินใจเข้าบวชเป็นซิสเตอร์คณะคานอสเซียน ใน ค.ศ. 1893 จึงมีคดีต้องให้ศาลตัดสิน แต่บาคีตาชนะคดี เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอมีอิสระ และได้ถวายตัวแด่พระเจ้าตลอดไป ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1896

ตลอดเวลา 50 ปี เธออยู่ในอาราม ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น งานในครัว เย็บปักเสื้อผ้า เฝ้าประตู เธอรับใช้ด้วยความสุภาพ รอยยิ้ม เด็กๆ รักเธอ บรรเทาใจคนจน และสอนให้คนรักพระเจ้า เธอมักกล่าวว่า “จงเป็นคนดี รักพระเจ้า และสวดให้คนที่ยังไม่รู้จักพระองค์ วิเศษจริงๆ คือต้องรู้จักพระเจ้า”

เธอกล่าวว่า “หากฉันพบคนค้าทาสที่ลักพาตัวฉัน หรือแม้พบคนที่ได้ทรมานทารุณกับฉัน ฉันจะคุกเข่า จูบมือของเขา เพราะถ้าไม่เกิดเรื่องเช่นนี้ ฉันคงไม่ได้เป็นคริสตชน และไม่ได้เป็นนักบวช”

เมื่ออายุมากขึ้น เธอไม่สบาย ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ใครมาเยี่ยมก็จะยิ้มต้อนรับ เธอสิ้นชีวิตวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 (อายุ 78 ปี) ในคอนแวนต์ที่สกีโอ (Schio – เมืองในจังหวัดวีเชนซ่า แคว้นเวเนโต ภาคเหนือของอิตาลี) บรรดาซิสเตอร์ที่ล้อมรอบได้ยินเธอพูดก่อนสิ้นใจว่า “ข้าแต่พระแม่มารีย์ ข้าแต่พระแม่มารีย์” หลายพันคนที่ภาวนาขอเธอช่วย ต่างได้รับพระพร

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 แต่งตั้งเธอเป็นบุญราศี วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 และแต่งตั้งเป็นนักบุญ วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2000 เป็นนักบุญองค์แรกและองค์อุปถัมภ์ของประเทศซูดาน วันระลึกถึงคือ 8 กุมภาพันธ์ หรือ 8 ธันวาคม

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ในตอนเริ่มพระสมณสาส์นว่าด้วยเรื่องความหวังของคริสตชน (SPE SALVI) ข้อ 3 ได้กล่าวถึงชีวิตของเธอเป็นแบบอย่างความหวังคริสตชน

พระสมณสาส์นว่าด้วยเรื่องความหวังของคริสตชน บทนำ  ข้อ 3

ถึงกระนั้น ก็ยังมีคำถามขึ้นมาว่า  ความหวังนี้ประกอบด้วยอะไรบ้างที่เป็น “การกอบกู้” ในฐานะที่เป็นความหวัง?   คำตอบที่เป็นแก่นสำคัญนี้มีอยู่ในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัสดังที่ ได้อ้างถึงมาแล้วข้างต้น นั่นคือ  คริสตชนชาวเอเฟซัส ก่อนที่พวกเขาจะได้มาพบกับพระคริสตเจ้าก็ไม่มีความหวัง  เพราะว่าพวกเขา “อยู่ในโลกนี้โดยไม่มีพระเจ้า”  การได้มารู้จักพระเจ้า องค์พระเจ้าเที่ยงแท้ หมายถึงการได้รับความหวัง  พวกเราที่เจริญชีวิตอยู่เสมอกับความคิดแบบคริสตชนเรื่องพระเจ้าและคุ้นเคย กับความคิดนี้  ก็แทบจะไม่ได้สังเกตเห็นว่า  เราเป็นเจ้าของความหวังอันเป็นผลมาจากการพบปะจริงๆ กับองค์พระเจ้านี้ แบบอย่างของนักบุญองค์หนึ่งในยุคของเราสามารถจะช่วยเราให้เข้าใจว่า การได้พบปะจริงๆ กับพระเจ้าองค์นี้เป็นครั้งแรกนั้นมีความหมายอะไร  ข้าพเจ้ากำลังคิดถึงสตรีชาวอัฟริกันผู้หนึ่งที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2  สถาปนาขึ้นเป็นนักบุญ  คือ นักบุญโยเซฟิน  บาคีตา (St. Josephine Bakhita)

เธอเกิดเมื่อประมาณ ค.ศ. 1869  ตัวเธอเองไม่ทราบวันเกิดจริงๆ รู้แต่ว่าเธอเกิดที่ดาร์ฟูร์ (Darfur) ในประเทศซูดาน    ตอนอายุ 9 ขวบ  เธอถูกพวกพ่อค้าทาสลักพาตัวไป ถูกเฆี่ยนตีจนอาบเลือด  และถูกเร่ขายตามตลาดค้าทาสในซูดานถึงห้าครั้ง สุดท้ายเธอเป็นทาสรับใช้สตรีที่เป็นมารดาและเป็นภรรยาของนายพลคนหนึ่ง  และที่นี่เธอถูกเฆี่ยนตี เธอมีรอบแผลเป็นถึง 144 แห่งทั่วตัวเลยทีเดียว    ค.ศ. 1882 พ่อค้าชาวอิตาเลียนคนหนึ่งซื้อเธอไปให้กงสุลกัลลิสโต  เล็กญานี  ซึ่งเดินทางกลับประเทศอิตาลีเนื่องจากพวกมาห์ดิสต์ (Mahdists) ขยายอิทธิพลมากขึ้น  หลังจากที่บาคีตาต้องพบกับ “นาย” โหดร้ายน่ากลัวที่เป็นเจ้าของควบคุมตัวเธอมาแล้วหลายต่อหลายคน ที่อิตาลีเธอก็ได้มารู้จักกับ “นาย” ที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ตามภาษาถิ่นของชาวเมืองเวนิสที่เธอกำลังเรียนรู้อยู่ในตอนนั้น  เธอใช้คำว่า “ปารอน” (paron) สำหรับเรียกพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระเจ้าของพระเยซูคริสตเจ้า บาคีตาเคยรู้จักนายที่มีแต่ดูถูกเหยียดหยามและทำทารุณต่อเธอ  หรืออย่างดีที่สุดก็เพียงแค่ถือว่าเธอเป็นทาสที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

เวลานั้นเธอได้ยินมาว่ามี “ปารอน” ผู้หนึ่งเหนือนายทั้งหลาย  เป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย และเจ้านายท่านนี้เป็นคนดี  ตัวท่านเป็นความดี  เธอมารู้ว่าเจ้านายท่านนี้ก็รู้จักเธอ  รู้ว่าท่านได้สร้างเธอมา และรู้ว่าท่านนั้นรักเธอจริงๆ เธอเองก็ถูกรักด้วยมิใช่จากใครอื่นใด  แต่ถูกรักจาก “ปารอน” เจ้านายยิ่งใหญ่สูงสุดท่านนี้ ซึ่งนายอื่นทั้งหลายต่างก็ไม่เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นแค่คนใช้ต่ำต้อยต่อหน้า เจ้านายท่านนี้   นายท่านนี้รู้จักเธอ  รักเธอ  และคอยเธอ ยิ่งกว่านี้  เจ้านายท่านนี้ได้ยอมให้ตัวท่านเองรับชะตากรรมถูกเฆี่ยนตีด้วย และบัดนี้ท่านก็กำลังเฝ้ารอเธอ “อยู่ ณ  เบื้องพระหัตถ์ขวาของพระบิดา”    บัดนี้เธอมี “ความหวัง” มิใช่เป็นแค่ความหวังริบหรี่ที่จะได้พบนายที่คงจะโหดร้ายน้อยกว่าคนก่อนๆ แต่เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่กว่า “ฉันได้รับความรักแท้  และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฉัน ฉันก็เป็นที่รอคอยจากองค์ความรักนี้  เช่นนี้เองชีวิตของฉันจึงโชคดี”  ด้วยความหวังอันนี้เองที่เธอ “ได้รับการช่วยให้รอดพ้น”  ไม่เป็นทาสอีกต่อไป  แต่เป็นบุตรอิสระของพระเจ้า  เธอเข้าใจถึงสิ่งที่นักบุญเปาโลหมายถึง เมื่อท่านเตือนคริสตชนชาวเอเฟซัสให้ระลึกว่า ก่อนหน้านั้นพวกเขาอยู่ในโลกนี้ โดยไม่มีความหวังและไม่มีพระเจ้า คือไม่มีความหวังเพราะไม่มีพระเจ้า

ฉะนั้นเมื่อตอนที่เธอจะถูกพากลับไปยังประเทศซูดาน  บาคีตาจึงปฏิเสธ เธอไม่อยากให้ถูกแยกจาก “ปารอน” เจ้านายท่านนี้  วันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1890  บาคีตาได้รับศีลล้างบาป  รับศีลกำลังและรับศีลมหาสนิทครั้งแรกจากพระอัยกาแห่งเมืองเวนิส  เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1896 ที่เมืองเวโรนา บาคีตาก็ได้ทำพิธีปฏิญาณตัวเข้าคณะภคินีคานอสเซียน (Congregation of the Canossian Sisters) และนับจากนั้นเป็นต้นมา นอกเหนือจากการทำงานในหน้าที่ดูแลห้องสักการภัณฑ์และเปิดปิดประตูอารามแล้ว  ซิสเตอร์บาคีตาก็เดินทางไปทั่วประเทศอิตาลีเพื่อช่วยส่งเสริมพันธกิจต่างๆ คือ  การช่วยปลดปล่อยเป็นอิสระที่เธอได้รับมาจากการได้พบกับองค์พระเจ้าของพระ เยซูคริสต์  เธอรู้สึกว่าจะต้องเผยแพร่ จะต้องมอบต่อให้ผู้อื่น ให้แก่ผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ความหวังที่เกิดขึ้นในตัวเธอซึ่งได้ “ช่วยกอบกู้” เธอให้รอดนั้น เธอไม่สามารถเก็บเอาไว้กับตัวเองเพียงลำพัง  ความหวังนี้จะต้องไปถึงทุกคนด้วย

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120