งานพระเมตตาบนเส้นทางแห่งปีศักดิ์สิทธิ์
1.มารีย์ทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระศาสนจักรที่ทำการประกาศข่าวดีเพราะพระแม่ได้รับข่าวดี
ในสมณโองการว่าด้วยปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษแห่งเมตตาธรรม ข้าพเจ้าขอร้องให้  “ตลอดเทศกาลมหา-
พรตในปีแห่งพระเมตตานี้ ทุกคนจงดำเนินชีวิตอย่างเข้มข้น ในฐานะที่เป็นเวลาพิเศษที่จะทำการเฉลิม-ฉลองและมีประสบการณ์กับพระเมตตาของพระเจ้า” (Misericordiae Vultus, 17)  โดยเรียกร้องให้ตั้งใจฟังพระวาจาของพระเจ้าและสนับสนุนให้ริเริ่ม “24 ชั่วโมงเพื่อพระเจ้า” ช้าพเจ้าตั้งใจเน้นถึงความสำคัญในการสวดภาวนาพร้อมกับการฟังพระวาจาของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระวาจาที่เป็นคำพยากรณ์ของพระองค์ พระเมตตาของพระเจ้าเป็นการประกาศที่มอบให้กับโลก เป็นพระเมตตาที่เรียกร้องให้คริสตชนทุกคนมีประสบการณ์ด้วยตนเอง เพราะเหตุนี้ ในช่วงเทศกาลมหาพรต ข้าพเจ้าจะส่งบรรดาธรรมทูตแห่งพระเมตตาออกไปถึงทุกคน เพื่อเป็นเครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมของความใกล้ชิดและพระเมตตาของพระเจ้า

หลังจากได้รับข่าวดีจากอัครทูตสวรรค์คาเบรียลแล้ว ในบท Magnificat พระแม่มารีย์ก็ขับร้องสรรเสริญเชิงทำนายถึงพระเมตตาของพระเจ้าผู้ทรงเลือกพระแม่ สาวพรหมจารีแห่งนาซาเร็ธที่หมั้นกับชายที่ชื่อโจเซฟ จึงกลายเป็นรูปจำลองครบครันแห่งพระศาสนจักรซึ่งทำการประกาศข่าวดี เพราะพระแม่ได้เป็นและยังคงเป็นผู้ที่ได้รับการประกาศข่าวดีจากพระจิตเจ้า ผู้ทรงบันดาลให้ครรภ์พรหมจรรย์ของพระนางบังเกิดผล ในการตีความตามรากศัพท์ ความเมตตาจะมีความเชื่อมโยงกับครรภ์มารดา (rahamim) และความดี (hesed) ที่หมายถึงความใจกว้าง ความซื่อสัตย์ และความเห็นอกเห็นใจ ที่แสดงออกในการแต่งงานและความสัมพันธ์ในครอบครัว

2.พันธสัญญาของพระเจ้ากับมนุษย์: ประวัติศาสตร์แห่งความเมตตา
พระธรรมล้ำลึกพระเมตตาของพระเจ้า ได้รับการเปิดเผยในประวัติศาสตร์แห่งพันธสัญญา   ระหว่างพระเจ้ากับชนชาติอิสราเอลประชากรของพระองค์  พระเจ้าทรงแสดงพระองค์เป็นผู้ใจกว้างในพระ-เมตตาเสมอ  พร้อมเสมอที่จะปฏิบัติต่อประชากรของพระองค์ด้วยความเมตตาอ่อนโยน โดยเฉพาะอย่าง-ยิ่งในช่วงวิกฤตเมื่อความไม่ซื่อสัตย์ของมนุษย์ ทำให้สายสัมพันธ์แห่งพันธสัญญาขาดสะบั้น ซึ่งเมื่อถึงเวลาความยุติธรรมและความจริงจำต้องปรากฏ นี่เป็นเรื่องราวของความรักแท้ ที่พระเจ้าทรงแสดงบทบาทเป็นบิดาและสามีที่ถูกทรยศ ในขณะที่ชนชาติอิสาเอลแสดงบทบาทเป็นลูกและเจ้าสาวที่ไม่ซื่อสัตย์ เฉกเช่นกรณีของประกาศกโฮเชยา(เทียบ ฮชย 1-2) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะผูกพันพระองค์เองกับมนุษย์ขนาดไหน

เรื่องราวของความรักบรรลุถึงจุดสูงสุด ด้วยการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์แห่งพระบุตรของพระเจ้า ในพระคริสต์เจ้า พระบิดาประทานพระเมตตาอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ จนถึงขนาดที่ทรงทำให้พระองค์เองเป็น “พระเมตตาที่เสด็จมาบังเกิด” (Misericordiae Vultus, 8)  ในฐานะมนุษย์พระเยซูแห่งนา-ซาเร็ธทรงเป็นบุตรแท้จริงแห่งชนชาติอิสราเอล    พระองค์ทรงกอปรด้วยคุณสมบัติเป็นผู้รู้จักฟังครบครัน อันเป็นคุณสมบัติที่ชาวยิวทุกคนต้องมีตามบัญญัติแห่ง Shema ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นหัวใจแห่งพันธสัญญาของพระเจ้ากับชนชาติอิสราเอล “อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา องค์พระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว ท่านจะต้องรักองค์พระเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณและสุดกำลังของท่าน” (ฉธบ 6:4-5) ในฐานะที่ทรงเป็นบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นเจ้าบ่าวที่ทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะใจเจ้าสาว ซึ่งพระองค์ทรงมีความผูกพันด้วยความรักที่ปราศจากเงื่อนไข จนกระทั่งเราสามารถเห็นได้ในงานเลี้ยงมงคลสมรสนิรันดร

นี่คือหัวใจของการประกาศเรื่องราวของพระเยซู (Kerigma) ซึ่งพระเมตตาของพระเจ้าต้องเป็นศูนย์กลางและเป็นพื้นฐาน  เป็น “ความสวยงามและความรักช่วยให้เรารอดของพระเจ้า ที่ปรากฎในองค์พระเยซูคริสต์เจ้าผู้สิ้นพระชนม์และเสด็จกลับคืนชีพจากความตาย” (Evangelii Gaudium, 36)   เป็นการประกาศครั้งแรกที่ “เราต้องฟังครั้งแล้วครั้งเล่าในรูปแบบต่างๆ และเป็นสิ่งที่เราต้องทำการประกาศด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตลอดเวลาแห่งช่วงที่มีการสอนคำสอนในทุกระดับและทุกกาลเวลา” (ibid., 164) ความเมตตา “แสดงให้เห็นถึงหนทางของพระเจ้าที่ต้องการเอื้อมพระหัตถ์มายังคนบาป ทรงมอบโอกาสให้คนบาปพิจาณาตนเอง  กลับใจและเชื่อ” (Misericordiae Vultus, 21)  นั่นคือ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของตนกับพระเจ้า  ในพระเยซูผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน พระเจ้าทรงแสดงความปราถนาของพระองค์ที่จะอยู่ใกล้ชิดกับคนบาป แม้เขาจะอยู่ห่างไกลจากพระองค์สักเท่าใดก็ตาม  ด้วยวิธีนี้พระองค์ทรงหวังที่จะทำให้ใจแข็งกระด้างแห่งเจ้าสาวของพระองค์อ่อนลง

3.งานเมตตาธรรม
พระเมตตาของพระเจ้าเปลี่ยนใจมนุษย์ อาศัยประสบการณ์แห่งความรักที่ซื่อสัตย์ เราก็จะเป็นคนที่มีใจเมตตาเช่นเดียวกัน  ในอัศจรรย์ใหม่ต่างๆ พระเมตตาของพระเจ้าจะฉายแสงสว่างออกมาในชีวิตของเรา จะดลใจให้เราแต่ละคนรักเพื่อนบ้าน และยอมอุทิศชีวิตให้กับประเพณีปฏิบัติของพระศาสนจักร ที่เรียกร้องให้เรากระทำเมตตากิจทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต งานเมตตากิจเหล่านี้เตือนใจเราว่าความเชื่อที่แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมทุกวันนั้น หมายถึงการให้ความสงเคราะห์เพื่อนบ้านทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต โดยการให้อาหาร เยี่ยมเยียน ให้ความบรรเทาใจและให้คำแนะนำ เราจะถูกพิพากษาด้วยการกระทำเหล่านี้  เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงหวังว่า “คริสตชนจะไตร่ตรองพิจารณาเรื่องงานเมตตาทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต นี่เป็นหนทางหนึ่งที่จะปลุกจิตสำนึกของเราให้ตื่น ซึ่งบ่อยครั้งเย็นชาท่ามกลางความยากจน อีกทั้งจะช่วยให้เราเข้าไปถึงส่วนลึกของหัวใจแห่งพระวรสาร ซึ่งคนจนมีประสบการณ์พิเศษในพระเมตตาของพระเจ้า” (ibid.,15)  เหตุว่า ในคนจนนั้นเราสามารถเห็นพระวรกายของพระคริสตเจ้าที่ถูกทรมาน ถูกเฆี่ยน ไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ และถูกเนรเทศ ซึ่งจะต้องเป็นที่รับทราบ ได้รับการสัมผัส และการเอาใจใส่ดูแลจากเรา”(ibid.) เป็นรหัสธรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นที่สะดุดแห่งกาลเวลาอันยืดยาว สำหรับความทุกข์ทรมานของชุมพาน้อยผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นดุจพุ่มไม้ที่กำลังลุกไหม้แห่งความรักที่ทรงให้เปล่า ต่อความรักนี้เราสามารถทำดุจโมเสส คือถอดรองเท้าของเราออก (เทียบ อพย 3:5)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนจนคือพี่-น้องชายหญิงของเราในพระคริสต์เจ้าที่ต้องทนทุกข์เพราะความเชื่อของตน

ในพลังแห่งความรักซึ่งเข้มแข็งดุจความตาย (เทียบ พซม 8:6)  คนจนที่ถูกเผยให้เราทราบคือคนที่ไม่ยอมมองตนเองอย่างที่ตนเป็น พวกเขาถือว่าตนเองเป็นคนร่ำรวย แต่ความจริงก็คือพวกเขาเป็นคนที่ยากจนที่สุดในบรรดาคนจนทั้งหลาย นี่เป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นทาสของบาป ซึ่งนำพวกเขาให้ใช้ความมั่งมีและอำนาจไม่รับใช้พระเจ้าและผู้อื่น แต่เพื่อเพิ่มความแข็งกระด้างของจิตใจจนขาดสำนึกไปว่าพวกเขาเป็นแค่เพียงขอทานที่ยากจน ยิ่งจะมีอำนาจและเงินทองเพิ่มขึ้นเท่าไร ความหน้ามืดตามัวก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้น และความหลงผิดก็ยิ่งจะเพิ่มเป็นทวีคูณ จนถึงขั้นตาบอดต่อลาซารัสที่นั่งขอทานอยู่ที่ปากประตู (เทียบ ลก 16:20-21)  ลาซารัสคนจนเป็นรูปแบบของพระคริสตเจ้าผู้ที่ทรงขอให้เรากลับใจโดยอาศัยคนจน เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์จึงทรงแสดงให้เราเห็นว่าเป็นไปได้ที่เราจะกลับใจ ซึ่งพระเจ้าทรงเสนอหนทางที่เราอาจมองข้าม  อาการตาบอดดังกล่าวมักตามมาด้วยความเย่อหยิ่ง ด้วยภาพหลอนที่หลงว่าเรามีอำนาจทุกอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงเล่ห์เหลี่ยมของปิศาจ “ท่านจะเป็นเหมือนพระเจ้า” (ปฐก  3:3)  ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งบาปทั้งหลาย เช่นเดียวกันความหลงผิดนี้อาจมาในรูปแบบของสังคมและการเมือง ดังที่ปรากฏในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ยิ่สิบ  ในยุคสมัยของเราด้วยอุดมการณ์แห่งการผูกขาดโดยอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งมองว่าพระเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับลดฐานะมนุษย์ให้เหลือเป็นเพียงวัตถุที่ใครๆ ก็สามารถเอารัดเอาเปรียบได้  เรายังสามารถเห็นความหลงผิดนี้ได้ ในโครงสร้างชั่วร้ายที่เอาไปเชื่อมโยงกับรูปแบบของการพัฒนาจอมปลอม ที่ตั้งสมมุติฐานไว้กับการบูชาเงินทอง ซึ่งทำให้ปัจเจกชนและสังคมที่มีมากกว่าไม่สนใจใยดีในชะตากรรมของคนจน พวกเขาปิดประตูลั่นกลอนไม่ยอมแม้แต่ที่จะเห็นหน้าคนจน

เพราะฉะนั้น เทศกาลมหาพรตในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ สำหรับเราจึงเป็นเวลาเหมาะสมที่จะเอาชนะต่อความเพิกเฉยของเรา โดยการฟังพระวาจาของพระเจ้าและโดยการปฏิบัติเมตตากิจ  ในงานเมตตากิจฝ่ายกาย เราสัมผัสกับพระวรกายของพระคริสตเจ้าในพี่น้องชายหญิงที่ต้องการอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ การเยี่ยมเยียน ส่วนฝ่ายจิตนั้นได้แก่การให้คำแนะนำ สั่งสอน ให้อภัย ตักเตือน และอธิษฐานภาวนาให้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำให้เราสัมผัสกับความบาปของเราได้โดยตรงมากกว่า  เราต้องไม่แยกงานเมตตากิจฝ่ายกายและฝ่ายจิตออกจากกัน  อาศัยการสัมผัสกับพระวรกายของพระเยซูผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขนด้วยความทุกข์ทรมาน คนบาปสามารถได้รับพระพรที่จะเข้าใจว่า พวกเขาก็เช่นเดียวกันล้วนเป็นผู้ที่ยากจนและต้องการความช่วยเหลือ ด้วยการเดินในหนทางนี้ คน “เย่อหยิ่งจองหอง” “คนที่มีอำนาจ” และ “คนร่ำรวย” ที่ถูกกล่าวถึงใน Magnificat สามารถจัดอยู่ในจำพวกคนที่ได้รับความรัก แม้ไม่สมควรที่จะได้รับจากพระผู้ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน ซึ่งยอมสิ้นพระชนม์และเสด็จกลับคืนชีพเพื่อพวกเขาด้วย   ความรักนี้เท่านั้นคือคำตอบสำหรับการแสวงหาความสุข และความรักอันหาขอบเขตมิได้ที่เราคิดว่าเราสามารถพบได้จากความรอบรู้ อำนาจ และความมั่งมี  แต่มันก็มีอันตรายอยู่เสมอในการไม่ยอมเปิดประตูแห่งหัวใจให้กับพระคริสต์-เจ้าผู้ทรงเคาะประตูแห่งหัวใจเราในคนจน คนเย่อหยิ่ง คนรวย และคนที่มีอำนาจ จะลงเอยด้วยกาทำร้ายตนเองพร้อมกับดิ่งลงไปในเหวนิรันดรแห่งความโดดเดี่ยวซึ่งได้แก่นรก คำคมของอับราฮัมหมายถึงพวกเขาทุกคนและเราด้วย “พี่น้องของลูกมีโมเสสและบรรดาประกาศกอยู่แล้ว ให้เขาเชื่อฟังท่านเหล่านั้นเถิด”(ลก 16 : 29)การฟังอย่างตั้งใจดังกล่าวจะช่วยให้เราเตรียมตัวได้อย่างดีที่สุด ที่จะทำการฉลองชัยชนะเหนือบาปและความตายของเจ้าบ่าว ซึ่งเสด็จกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ และทรงปรารถนาที่จะชำระคู่หมั้นของพระองค์ให้สะอาด ซึ่งกำลังรอคอยการเสด็จมาของพระองค์

เราจงอย่าทำให้เทศกาลมหาพรตนี้สูญเปล่า เพราะเป็นเทศกาลเหมาะสมยิ่งที่จะกลับใจ เราวิงวอนทั้งนี้ โดยอาศัยการทูลเสนอของพระแม่มารีย์พรหมจารี ผู้ทรงได้รับพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระ-เจ้า พระเจ้าทรงเป็นพระองค์แรกที่ยอมรับความต่ำต้อยของพระแม่ (เทียบ ลก 1:48) และทรงเรียกพระแม่ว่าเป็นข้ารับใช้ต่ำต้อยของพระเจ้า (เทียบ ลก 1:38)

                                                               จากนครรัฐวาติกัน  วันที่ 4 ตุลาคม 2015
                                                                   วันสมโภชนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี
                                                                       สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส


พิจารณาไตร่ตรองประเด็นเด่นสาส์นมหาพรตของสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ปี 2016/2559
 

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120