แปลโดย พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์

        ผมได้มีโอกาสไปแสวงบุญที่สักการสถานแม่พระลาวาง ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา  จึงขอแปลเอกสารประวัติแม่พระลาวางมาแบ่งปันกับแม่พระยุคใหม่ ซึ่งการประจักษ์ชื่อลาวางในปี ค.ศ. 1798 ก่อนแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ดอีก  ทำให้ผมรักชาวเวียดนามมากขึ้น

1. ประวัติการประจักษ์

        ใน ค.ศ. 1798 กษัตริย์ Canh thinh อยู่ที่  Phu Xuan ( thuan Hoa ) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวียดนามในสมัยนั้น ได้ยินว่า Nguyen Anh นด้วยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสบางคนที่ช่วยบริการพระองค์ได้ยึดครองเขต Nam ky และกำลังมุ่งมาที่ภาคกลางของเวียดนามในสภาพกำลังอลหม่าน กษัตริย์ได้ประกาศราชโองการ ห้ามชาวเวียดนามเข้านับถือศาสนาคริสต์ และทรงกล่าวหาชาวคริสต์ว่าเป็นคนสอดแนมให้ชาวฝรั่งเศส Nguyen Anh ได้ยึดภาคกลางของประเทศ ได้ขับไล่  Canh  thinh ออกไปให้มุ่งหน้าไปอยู่ภาคเหนือ  

        ระหว่างช่วงการกดขี่นั้น  ในแคว้น   Dinh Cat  ชาวคริสต์จำนวนเล็กๆได้หนีมาอยู่ในป่าลาวาง 6  กิโลเมตรจากนครกวางตรี ในที่อพยพนี้  พวกเขารวมตัวกันบ่อยๆ ในตอนเย็นใต้ต้น  Banyan  เพื่อภาวนาเงียบๆ หรือสวดสายประคำขอพระนางพรหมจารีมารีย์ให้ช่วยเหลือ ในระหว่างช่วงถูกกดขี่เบียดเบียนพระแม่จึงปรากฏองค์แก่พวกเขาด้วยแสงงดงามหาอะไรเปรียบมิได้ แม่พระทรงอุ้มเด็กเล็กๆ คนหนึ่งในอ้อมแขน  พระนางทรงแต่งกายธรรมดา  แต่ทรงสวมมงกุฎ  ทรงให้กำลังใจให้พวกเขาอดทนต่อความทุกข์ต่างๆ และให้มั่นคงในความเชื่อ มีหลายคนที่เจ็บป่วยพระแม่จึงสอนให้เก็บใบไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งในแถบนั้น  และให้มาทำคล้ายชา เพื่อรักษาอาการป่วยนั้น

        ในระหว่างการแห่ใหญ่ครั้งแรก (ค.ศ. 1901)โอกาสสมโภชแม่พระรับเกียรติยกสู่สวรรค์ คุณพ่อ Ninh (Bonin) เจ้าอาวาส แห่งวัด Co Vuu  และผู้ดูแลลาวาง ได้เริ่มการสอบสวน ไต่ถามบรรดาผู้อาวุโสเกี่ยวกับการประจักษ์นี้  ทุกคนได้เป็นพยานยืนยันว่า พระนางพรหมจารีย์ได้ประจักษ์มาจริงในศตวรรษที่ผ่านมา

2. ข่าวสารจากลาวาง

        การประจักษ์ที่ลูร์ด  ประเทศฝรั่งเศส  ค.ศ. 1858  พระนางกล่าวว่า     “ฉันคือการปฏิสนธินิรมล” และเรียกร้องในชาวคริสต์ทำพลีกรรมใช้โทษบาปและสวดภาวนาเพื่อให้คนบาปกลับใจ

        การประจักษ์ที่ฟาติมา ประเทศโปรตุเกส ค.ศ. 1917 พระนางมารีย์  กล่าวชัดเจนว่า “ฉันคือราชินีแห่งสายประคำ”  และทรงเรียกร้องให้ทำพลีกรรม และศรัทธาต่อดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์  และให้สวดสายประคำ

        ที่ลาวาง สาเหตุเพราะประชาชนกำลังถูกเบียดเบียนอย่างขมขื่น  พระนางพรหมจารีย์ได้บอกว่า “จงเข้มแข็ง  ยอมรับความทุกข์  เราตอบคำภาวนาอ้อนวอนของลูก  เราจะช่วยลูกให้ได้รับสิ่งที่จำเป็น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเมื่อลูกเข้ามาอยู่ต่อหน้าแม่ในสถานที่แห่งนี้   แม่จะประทานพระหรรษทานทุกประการดังที่ลูกวอนขอ”

        ตั้งแต่นั้นมา  แม่พระลาวางได้ปรากฏกายอีกหลายครั้ง แม่พระได้ประทานพระหรรษทานทั้งฝ่ายกายและจิตใจแก่ทุกคนที่ภาวนาวอนขอจากพระแม่ด้วยหัวใจใสซื่อ

         3. ลาวาง ระหว่าง ยุคเบียดเบียน  Phan  Sap และ Van Than

        หลังจากยุค Canh  thinh พระศาสนจักรเวียดนามเข้าสู่ยุคจักรวรรดิ Nguyen เป็นช่วงเวลาเบียดเบียนโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรเวียดนาม

        ภายใต้รัชกาลกษัตริย์ Gia  Long (ค.ศ.1802-1819)  ไม่มีการเบียดเบียนชัดๆแต่พระองค์ได้ประกาศกฤษฎีกา  เพื่อป้องกันการสร้างวัดภายใต้รัชกาลกษัตริย์ Minh Mang (ค.ศ.1820-1940) ได้ประกาศกฤษฎีกาต่อเนื่อง 3 ครั้ง ค.ศ. 1833-1836-1838 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดศาสนาคริสต์จากทั่วประเทศ

        ชัดเจนที่สุด กษัตริย์  Thien Tri (ค.ศ.1841-1847) ไม่ทรงต้องการยกเลิกกฤษฎีกาที่พระราชบิดาทรงประกาศ   แต่หลังจากกองทัพเรือเวียดนามรบชนะ ใน ค.ศ.1847 ที่ Can Han พระองค์ได้ออกคำสั่งจับนักบวชชาวต่างชาติทุกคนที่ทำงานในเวียดนาม   และพระองค์ให้เงิน 30 เหรียญแก่คนปรักปรำพวกคริสตัง

        กษัตริย์ Tu Duc (ค.ศ.1847-1884)  ได้ประกาศกฤษฎีกาเบียดเบียนชาวคริสต์ (ค.ศ.1851-1855-1857-1859-1860) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  Phan sap ( แปลว่า แยก  และ ย้ายเพาะ) ในปลายปี ค.ศ. 1860 ซึ่งรุนแรงที่สุด ประกอบด้วย 5 ประการหลัก คือ

    1. ชาวคาทอลิกทุกคนต้องถูกแยกไปอยู่ในหมู่บ้านที่มิใช่คาทอลิก

    2. หมู่บ้านที่มิใช่ชาวคาทอลิกต้องรับผิดชอบจับตาดูชาวคาทอลิกแต่ละคน  โดย 5 คนที่มิใช่ชาวคาทอลิกจับตาดูชาวคาทอลิกแต่ละคน

    3. ต้องทำลายบ้านในหมู่บ้านคาทอลิก และแบ่งพื้นที่สวนให้คนที่มิใช่ชาวคาทอลิกยึดครอง

    4. ต้องแยกสมาชิกครอบครัวคาทอลิก ต้องแยกสามี-ภรรยาไปที่ต่างกัน  และแยกลูกให้ไปอยู่กับคนที่มิใช่คาทอลิก

    5. ก่อนการแยกชาวคาทอลิก ให้ทำรอยสักที่แก้มของผู้ชาย  สตรี  และบางครั้งเด็ก ว่าศาสนาประหลาด(ta dao) ชื่อสถานที่ที่ชาวคริสต์ถูกเนรเทศส่งไปก็สักที่ตัวพวกเขาด้วย

        จากวัดน้อยที่ลาวาง   ภายใต้ต้นไทรเก่าแก่ พระมารดาผู้เมตตาเห็นลูกๆร่ำไห้ไปตามถนน ซึ่งพาไปยังชะตากรรมที่เจ็บปวด  เด็กๆต้องจากพ่อแม่  ภรรยาจากสามี  พระสงฆ์ต้องทำงานเพื่อยังชีพ คือ ซักผ้า หรือ ส่งน้ำให้ตามครอบครัวต่างๆ  เช่น  คุณพ่อมารดิน Ngv yen Van Thanh  อย่างไรก็ตามก็เป็นโครงการให้ท่านไปเยี่ยมสัตบุรุษในคุก และที่ถูกแยกให้พลัดพรากจากครอบครัว

        การเบียดเบียน  Phan  sap ยาวนาน 11 เดือน จึงมีข้อตกลงสันติภาพ Nham Tuat (ค.ศ1862) กษัตริย์ Tu  Duc ได้ประกาศกฤษฎีกาให้ชาวคริสต์เป็นอิสระ

        พระศาสนจักรเวียดนามได้มีความสงบช่วงนั้น  จนกระทั่ง Van Than เบียดเบียนศาสนาอีกครั้งหนึ่ง

        วันที่ 13 กรกฎาคม  ค.ศ. 1885 กษัตริย์ Han Nghi ได้ประกาศ Can  Vuong (กล่าวคือ สำหรับกษัตริย์) ทั่วประเทศ  ขบวนการ Binh Tay  Sat Ta  ทำลายชาวยุโรป และประหาร บรรดาชาวคริสต์ ได้เริ่มต้นด้วยคำสั่งจาก Ton  that  Thuyet  สำหรับกำจัดอย่างสิ้นเชิง ขบวนการนี้ได้ฆ่าชาวคาทอลิกซื่อๆ เป็นจำนวนมากในภาคกลางของประเทศ ในระยะเวลาสั้นมากๆ นั้นมีมรณสักขีถึง 60,000  คน

        การฆาตกรรมหมู่ที่รุนแรงที่สุด (Massacre) คือ วันที่ 7  กันยายน ค.ศ.  1885 ในเขต Dinh cat  (กวางตรี) ภายใต้คำสั่งของ Doi  Cu  วัด Tri Buu ได้ถูกยึด สัตบุรุษถูกขังภายในวัด และถูกไฟเผาขณะที่พวกเขายังมีชีวิต  ได้พบผู้เสียชีวิต 600 คนรวมทั้งเด็กๆ พร้อมกับคุณพ่อยอแซฟ    Le Buu Thong ต่อมาจึงมีการสร้างวัดหลังใหญ่  พร้อมหอสูง 15 เมตร  หน้าวัด Tri  Buu เพื่อรำลึกถึงบรรดามรณสักขีเหล่านี้

        ตามการประเมินโดยพระสังฆราช Loc (Caspar)  เริ่มวันที่ 7 กันยายน  ค.ศ. 1885 ผู้ถูกฆ่าที่วัด Dinh Cat มีพระสงฆ์  6 องค์ ซิสเตอร์มากกว่า 60 รูป คณะรักกางเขน  และสัตบุรุษประมาณ 7000 คน จาก 45 วัด

         4. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างสงคราม  ค.ศ. 1946

        วันที่ 19  ธันวาคม ค.ศ. 1946  เกิดสงครามอีกครั้งทั่วประเทศ  ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947  กองทัพฝรั่งเศสได้เริ่มยิงจากเว้ถึงเมืองกวางตรี  ประชาชนถูกบังคับให้หนีอีกครั้งหนึ่ง  ชาวคาทอลิกพยายามหาที่หลบภัย ภายใต้ความคุ้มครองของแม่พระลาวาง ใน ค.ศ.1951 เกิดความรุนแรงที่โหดร้าย ผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรได้ตัดสินใจย้ายรูปแม่พระจากสถานที่เคยตั้งรูปแม่พระลาวาง  ไปประดิษฐานที่วัด Tri Buu เพื่อฉลองการเปิดปีแม่พระ วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1953 วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1954 สัตบุรุษ 20,000  คน  พร้อมกับพระสงฆ์ 40 องค์ได้แห่รูปกลับสู่ลาวางและจัด 3 วัน ปิดปีศักดิ์สิทธิ์   พระสังฆราช Thi (Urrutia) ได้เป็นประธานฉลอง

         5. ความศรัทธาต่อพระนางพรหมจารี แห่งลาวาง 

        บรรดาสัตบุรุษ  พระสงฆ์และนักบวชมีความเชื่อและความศรัทธาภักดีต่อพระนางพรหมจารีแห่งลาวาง  มีข้อมูลดังต่อไปนี้

         5.1  ในสมัยแรกเริ่ม ค.ศ. 1886-1901

        ใน ค.ศ. 1886 หลังจาก 52 ปีของการเบียดเบียนศาสนา  พระสังฆราช  Loc  (Caspar) และบรรดาผู้รับผิดชอบพระศาสนจักร ได้ตัดสินใจสร้างวัดใหม่บนที่ดินวัดน้อยหลังเดิมใน    ลาวาง เนื่องจากมีสภาพลำบาก   ใช้เวลาถึง 15 ปี  จึงสร้างวัดหลังใหม่สำเร็จ จุได้ประมาณ 400 คน  พระแท่นอยู่ตรงสถานที่เดิมที่แม่พระได้ประจักษ์   การตัดสินใจนี้แสดงว่าสัตบุรุษมีใจศรัทธาภักดีต่อแม่พระแห่งลาวางมานานแล้ว

         5.2  การจาริกแสวงบุญครั้งแรก ค.ศ. 1901

        การจาริกแสวงบุญครั้งแรก  เริ่มต้นวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1901  และเสร็จสิ้นวันที่  8 สิงหาคม  นี่เป็นการเริ่มประเพณีฉลองแม่พระ เป็นเวลา 3 วัน ที่ลาวาง  วันที่ 8 สิงหาคม พระสังฆราช Loc (gaspar) ได้เป็นประธานการแห่แม่พระจาก Tri Buu สู่ลาวาง และเสกวัดหลังใหญ่ พระสังฆราชธรรมทูตองค์เดียวกันผู้ตัดสินใจจัดการจาริกแสวงบุญทุก 3 ปี และธรรมเนียมนี้ยังคงต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน

         5.3  วัดหลังใหญ่แห่งลาวาง  ค.ศ. 1925 – 1928

         เนื่องจากมีจำนวนผู้จาริกแสวงบุญเพิ่มขึ้น  พระสังฆราช Ly (Allys) ได้ตัดสินใจสร้างวัดอีกหลังหนึ่ง  ใหญ่กว่าและงดงามกว่า  คุณพ่อ Truug (เรอ เน  โมรีโน) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ เริ่มการก่อสร้างใน ค.ศ.1925 และเสร็จ ปี ค.ศ.1928 เมื่อพระสังฆราช LY (Allys)เสกวัดวันที่  20  สิงหาคม แต่ได้ถูกทำลายในระหว่างสงครามปี ค.ศ.1972

         5.4  อนุสาวรีย์และต้นไทร 3  ต้น

        ตามคำบอกเล่าต่อกันมา พระนางพรหมจารีมารีย์ได้ทรงประจักษ์ใต้ต้นไทรตรงสถานที่มีพระรูปแม่พระในปัจจุบัน   คุณพ่อ Jacques  Nguyen Linh Kinh ผู้ดูแลวัดในระหว่างสงครามตั้งแต่ ค.ศ.1945 ถึง ค.ศ.1954 ได้กล่าวว่าวัดน้อยหลังเดิมถูกย้ายในปี ค.ศ. 1925  คุณพ่อเป็นผู้ใส่เสาไม้ใต้พระแท่นตรงสถานที่แม่พระประจักษ์  และได้ปลูกต้นไผ่ต้นหนึ่งไว้

        วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ 1955  คุณพ่อ Le Van Thanh  ลูกวิญญาณของคุณพ่อ Kinh ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ารับผิดชอบจัดการจาริกแสวงบุญ  คุณพ่อได้ให้ขุดตรงพื้นที่ที่คุณพ่อ Kinh ได้ปลูกต้นไผ่ ก็ได้พบเสานั้นจริง  คุณพ่อได้ขอให้สถาปนิก Ho Van Hai  ออกแบบอนุสรณ์สถาน  เป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงแบบเอเชีย  บนที่ดินนั้น

        ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.1962 พระสังฆราชเปโตร Ngo Dinh Thuc ให้สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงชื่อ  Ngo Viet Thu ออกแบบสักการสถานทรงสมัยใหม่แทนสักการสถานทรงแปดเหลี่ยม  โชคไม่ดีสักการสถานนี้ประกอบด้วยต้นไทร 3 ต้น มีใบกว้าง  การก่อสร้างได้หยุดชะงักเป็นระยะใน ค.ศ. 1963 เพราะความลำบาก และสำเร็จหลายปีต่อมา   สงครามปี ค.ศ.1972 ได้ทำลายสักการสถานเกือบทั้งหมด ยกเว้นอนุสรณ์ต้นไทร สูง 20 เมตรทั้งสามต้นซึ่งยังคงอยู่จนทุกวันนี้

         5.5  วัด และศูนย์แม่พระระดับชาติ

        วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1961 สภาพระสังฆราชเวียดนามได้เลือกวัดแห่งลาวาง ให้เป็นสักการสถานถวายแด่ดวงหทัยนิรมลของพระนางมารีย์ และได้ประกาศให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นศูนย์แม่พระสำหรับประเทศ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1961  ที่ลาวางในวันเดียวกับที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ได้ประกาศวัด (Church)  นี้ให้เป็นระดับอนุมหาวิหาร (minor basilica)

        วันที่ 1  พฤษภาคม ค.ศ. 1980 การประชุมของสภาพระสังฆราชเวียดนาม ในกรุงฮานอยได้ยืนยันการตัดสินใจอีกครั้งเกี่ยวกับชื่อศูนย์ลาวางว่าเป็นศูนย์แม่พระระดับชาติ

        สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่  2 ได้ประทานอนุญาตสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์  ให้ชาวคริสต์ที่ไปแสวงบุญที่สักการสถานตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 1998 ถึง  15  สิงหาคม ค.ศ. 1999 ได้รับพระหรรษทานพิเศษ

        วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 2002 สมณกระทรวงว่าด้วยพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ ได้อนุญาตอย่างเป็นทางการให้มีวันฉลองแม่พระแห่งลาวางในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้  สักการสถานแม่พระระดับชาติแห่งลาวาง

Home

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120